เสขิยธรรม
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๖๒
ตุลาคม - ธันวาคม ๒๕๔๗

เสขิยทัศน์
กองบรรณาธิการ สัมภาษณ์ / ถ่ายภาพ
จัน - เจ้า - ค่ะ * ภาพประกอบ

งานบอกตัวตน

 

-> ชื่อ, ความหมาย, ความเป็นมา, และแนวคิดหลักของโครงการ – แผนงาน

          ชุดโครงการนี้ชื่อ “ชุดโครงการพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ” ครับ เรื่องสุขภาพหรือสุขภาวะนั้นไม่ได้หมายถึงการปราศจากโรคเท่านั้น แต่หมายถึงดุลยภาพ หมายถึงการที่ระบบต่างๆ สอดคล้องกันอย่างมีสมดุล มีความเป็นปรกติ โดยเราอาจพิจารณาว่ามีสี่มิติเชื่อมโยงกัน คือ สุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางจิต สุขภาวะทางสังคม และสุขภาวะทางปัญญา แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพนั้นเน้นเรื่องมิติสุขภาวะทางปัญญาครับ บางคนอาจใช้กันอีกชื่อหนึ่งก็คือสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ก็มีผู้เห็นชอบที่จะเรียกใช้ต่างกัน ทางชุดโครงการเรียก “การพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ” เพราะคิดว่าใช้สื่อความหมาย สื่อสารได้ดีครับ โดยให้ความหมายกว้างๆ ไว้ว่า สุขภาวะทางปัญญา (หรือสุขภาวะทางจิตวิญญาณ) เป็นสุขภาวะที่เกิดจากสติและปัญญา จากการเข้าถึงการดำเนินชีวิตที่ดีงาม สงบเย็น เป็นประโยชน์ มีน้ำใจไม่เบียดเบียนตนเองและคนอื่น หรืออาจกล่าวได้ว่า สุขภาวะทางปัญญาเป็นผลจากการยกระดับจิตใจและเป็นหนทางสู่การพัฒนาสุขภาพองค์รวม การพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพเป็นการส่งเสริมการเข้าถึงความสุขอันประณีต และการยกระดับสู่ความมีจิตใจสูงทั้งประเทศ คำว่า “ความสุขอันประณีต” เป็นคำที่หลวงพี่ไพศาล วิสาโล นำมาใช้ในปาฐกถาโกมลคีมทองและหนังสือ แสวงหารากฐานของชีวิตจากโลกกิจกรรม ที่ครบรอบสองทศวรรษปีนี้พอดีครับ

 

-> เกิดขึ้นได้อย่างไร

          สังคมไทยเป็นมีพื้นฐานหลักเป็นสังคมพุทธ มีศาสนา แต่ปัจจุบันสังคมเราอยู่ในกระแสการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับโลก มีการพัฒนาอย่างผิดทิศผิดทาง ทำให้หลายๆ อย่างมุ่งเน้นเป็นเรื่องของการพัฒนาเรื่องของวัตถุ และมุ่งเน้นทางการบริโภค ก่อให้เกิดการทรุดโทรมทางสุขภาพในทุกด้าน ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต สุขภาพสังคม และทางจิตวิญญาณ ดังนั้นพอมาพูดถึงเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ เราไม่สามารถเน้นเรื่องของสุขภาพทางกายหรือสุขภาพทางสังคมโดยที่ไม่มองเรื่องข้างในได้ ทีนี้ถ้าถามว่า เอ๊ะ! ถ้าเกิดว่าเราอยากจะส่งเสริมสุขภาพที่เป็นมิติของปัญญาหรือจิตวิญญาณ ซึ่งมีความเป็นองค์รวมอยู่นี้ จะส่งเสริมเรื่องข้างในควรทำอย่างไร ต้องตั้งคำถามว่า แล้วโครงสร้างหรือระบบการส่งเสริมสุขภาวะทางปัญญานี้เป็นอย่างไร พบว่าเป็นโจทย์ค่อนข้างใหม่ทีเดียว ถึงแม้เรื่องสุขภาวะทางปัญญาซึ่งเป็นเรื่องของการเรียนรู้ เติบโตภายในมีมานานแล้วในสังคมไทยก็ตาม แต่ว่าการส่งเสริมให้เป็นกระบวนการทั้งระดับสังคมนี้ สังคมไทยยังมีความรู้ในเรื่องนี้ค่อนข้างจำกัด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งมีหน้าที่หลักในการผลักดัน กระตุ้น สนับสนุน และร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในสังคม ในการขับเคลื่อนกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพ จึงเห็นความสำคัญที่ควรจะให้มีชุดโครงการนี้ขึ้น โครงการอยู่ในระยะเตรียมการโดยได้มีกิจกรรมบางส่วนดำเนินการเบื้องต้นมาได้ไม่ถึงปี ขณะนี้กำลังมีการปรับกระบวนการและคณะบริหารจัดการ โดยจะเริ่มระยะถัดไปในเดือนตุลาคม ๒๕๔๗ นี้

 

-> องค์ประกอบ ลักษณะ และโครงสร้าง

          ชุดโครงการนี้ทาง สสส. ได้ขอให้ทางมูลนิธิสดศรี–สฤษดิ์วงศ์ ช่วยบริหารจัดการ โดยมีคณะกรรมการอำนวยการชุดโครงการที่เชื่อมโยงกับคณะกรรมการอำนวยการของ สสส. มีทีมบริหารจัดการ มีคณะที่ปรึกษา และคณะประเมินผลภายใน เน้นการทำงานเชิงรุก และการทำงานเป็นเครือข่าย โดยจะมีการพัฒนาโครงการร่วมกันกับเครือข่าย โดยเชื่อว่าเป็นการทำงานร่วมกัน งานนี้ไม่ใช่งาน “ของ” สสส. แต่เป็นของสังคมไทย คิดว่าสังคมจะต้องก้าวข้ามการทำงานแบบจิตเล็ก คิดจากฐานการเป็นเจ้าเข้าเจ้าของว่างานนี้ของฉัน งานนี้ของเธอ แล้วก็มาขีดเส้นขีดวงกัน แต่ว่างานนี้เป็นงานซึ่ง สสส. ในฐานะหนึ่งในภาคีร่วมกัน อยากช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ หรือการที่สังคมมีสุขภาวะ จากการมีจิตใจสูงทั้งประเทศเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นเราเอาเนื้องานเป็นตัวตั้ง จากนั้นเราลองไปชวนคนมาร่วมฝันและชวนคนร่วมสร้างจินตนาการ ดูว่าใครอยากร่วมสร้างสังคมที่ดี มีความสุขจากการมีจิตใจสูง สสส. ช่วยสร้างเวทีและชักชวนคนซึ่งมีจริตร่วมกันหรือมีความสนใจร่วมกันแล้วก็มาคุยกันว่า เอ๊ะ! ถ้าอยากจะส่งเสริมงานด้านนี้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง

 

-> เกิดจาก สสส. มี สสส. ให้การสนับสนุน โดยที่กระบวนการทำงานเป็นของมูลนิธิสดศรี–สฤษดิ์วงศ์ ใครเป็นคนต้นคิด

          ต้นคิดนี้มันมาจากใคร? ถ้าหากว่าเราจะมองว่าโลกและสังคมเป็นองค์รวม เราจะพูดได้ยากว่าชุดโครงการนี้มันเป็นความคิดของคนๆ หนึ่ง แม้ว่าคนใดคนหนึ่งจะพูดขึ้นมาก่อน เราก็ยังจะบอกยากว่าเป็นคนๆ นี้เป็นคนคิด เพราะอันที่จริงความคิดของแต่ละคนเป็นผลรวมของหลายๆ คนรวมกัน หรือถ้าจะมองทางพุทธก็อาจพูดได้ว่ามีเหตุมีปัจจัยให้เกิด พูดได้ว่าสังคม หรือคนในสังคม หรือผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านในเมืองได้เห็นว่า สังคมมีปัญหาด้านจิตวิญญาณ น่าจะมีกระบวนการส่งเสริมสุขภาวะในมิตินี้ขึ้นมา มีความสนใจของสังคมเป็นพื้นฐาน และ สสส. ก็เห็นว่ามีความสำคัญจึงเข้ามาสนับสนุน เพราะฉะนั้นจะถามว่าเหตุเกิดจากใคร ถ้าจะตอบแบบกึ่งๆ กวนๆ นิดๆ ตอบว่าเกิดจากเหตุปัจจัย โดยผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายคน ทั้งที่ไม่ได้เป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ สสส. และที่เป็นด้วย หลายท่านแล้วก็ร่วมกันคิด แต่ถ้าตอบในระดับองค์กรก็จะเป็น สสส.

 

-> โครงการเช่นนี้ เป็นอย่างที่นักการเมืองบางคนพูดหรือเปล่า ว่าคนที่มีส่วนอยู่ใน สสส. ชอบคิด ชอบทำ แล้วชอบดึงงบฯ ไปทำอย่างนั้นอย่างนี้

          เรื่องนี้คงต้องดูในเรื่องของการร่วมกันทำความดี ผมคิดว่าสังคมนี้กำลังตกอยู่ในภาวะของการมองโลกอย่างแยกส่วน และลดทอนย่อส่วน มองไม่เห็นว่าความจริงมีหลายระดับและซับซ้อน ตัวอย่างผู้นำโลกผู้นำประเทศมหาอำนาจบางคนมองเรื่องราวในโลกเป็นขาวกับดำ ตัวอย่างคำพูด “คุณไม่อยู่ข้างเรา คุณก็เป็นศัตรูเรา” อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งในความเป็นจริงของโลกมันไม่ได้เป็นแบบนั้น การทำงานของ สสส. นั้นโปร่งใสและตรวจสอบได้ในทุกระดับ ไม่ได้ทำงานเป็นรายบุคคลแต่ว่าทำเป็นทีม แม้แต่ในท่านทรงคุณวุฒินี้ยังทำเป็นกลุ่ม เวลาคิดงานก็ร่วมกันคิดแล้วก็เอาเข้าที่ประชุมและพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เพราะฉะนั้นการคิดงานเดี่ยวๆ นั้นมันคงจะไม่ใช่ คิดร่วมกันปรึกษาเป็นคณะ เวลา สสส. หรือคณะผู้ทรงคุณวุฒิเห็นว่า มีเรื่องราวทำนองไหนมีความสำคัญหรือมีความเหมาะสม ก็เอาเข้าไปคุยในที่ประชุมแล้วก็มีการเสนอว่าน่าจะทำเรื่องนั้นๆ และทำเรื่องสนับสนุนแผนงานหรือว่าชุดโครงการประเภทไหน สุขภาวะทางปัญญาเป็นเรื่องที่แม้เข้าถึงง่าย แต่การส่งเสริมอย่างเป็นระบบและทั่วถึงทั้งสังคม ในสภาพการณ์และกระแสการพัฒนาอย่างปัจจุบันทำยากและซับซ้อน ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย อันที่ถูกคือทุกๆ คนควรมีจิตสาธารณะมาร่วมกันทำความดีครับ

 

-> พูดง่ายๆ ว่าเกิดขึ้นโดยเหตุปัจจัยที่จำเป็นและน่าจะเกิด มิใช่เป็นของเล่นของผู้ใหญ่ สสส.อย่างที่เขามักจะวิพากษ์วิจารณ์กัน

          เกิดขึ้นโดยเหตุปัจจัยที่จำเป็นจริงครับ เป็นงานที่ สสส. ในระดับองค์กรทั้งองค์กร ร่วมกันกับคณะกรรมการที่ปรึกษาซึ่งก็เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เห็นความสำคัญและจำเป็น เห็นพ้องต้องกันว่าจะควรมีงานเช่นนี้ ก็เลยสนับสนุนให้งานนี้เกิดขึ้น ชุดโครงการพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพไม่ใช่เป็นงานที่มีผู้ขอมาทำนะครับ ทางผมหรือมูลนิธิสดศรีฯ ก็ไม่ได้เป็นผู้เสนอไป แต่เป็น สสส. ที่มาติดต่อให้ช่วยบริหารจัดการชุดโครงการให้ ชุดโครงการนี้เป็นแผนงานเชิงรุกของ สสส. ครับ ขออนุญาตอธิบายว่างาน สสส. มีสองประเภทครับ คือ โครงการเชิงรุก และโครงการเปิดรับทั่วไป (Open Grant) ครับ โครงการที่เปิดรับทั่วไปก็จะเปิดรับโครงการที่มีภาคีต่างๆ เสนอโครงการเข้ามายัง สสส. ซึ่งนับเป็นส่วนน้อยและไม่ใช่งานหลัก งานหลักของ สสส. เป็นงานเชิงรุก โดย สสส. จะมีคณะที่ปรึกษา คณะกรรมการอำนวยการดำเนินการที่เห็นว่าในสังคมไทย ถ้าหากเราต้องการสร้างงานส่งเสริมสุขภาพให้เป็นจริงเป็นจัง คงจะคอยตั้งรับให้เขาเสนอโครงการไม่ได้ แต่เราควรจะทำงานเชิงรุก pro–active เช่น การลดปัจจัยเสี่ยง เหล้า–บุหรี่ และการสร้างปัจจัยเสริม งานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพก็ถือเป็นเรื่องปัจจัยเสริม เป็นการสร้างโอกาส สร้างช่องทางให้คนมีสุขภาวะที่ดี การเกิดขึ้นของชุดโครงการเกิดจากหลายฝ่าย ไม่ใช่ของคนกลุ่มเล็กๆ ที่คิดอ่านไม่กี่คน แต่มีคณะกรรมการผู้อำนวยการ มีคณะที่ปรึกษา และภาคีต่างๆ เห็นพ้องว่าน่าจะเกิดโครงการทำนองนี้ขึ้น

 

-> หากแบ่งงาน สสส. เป็นงานด้านสุขภาพทางกายและสุขภาพทางจิตวิญญาณ โครงการนี้อยู่ในสัดส่วนเท่าไร

          ข้อนี้ตอบได้หลายแบบครับ งานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพเป็นงานใหม่ของทั้ง สสส. และสังคมไทย ระยะนี้เป็นระยะเริ่มต้นเท่านั้น แต่ สสส. เห็นว่างานนี้เป็นงานสำคัญ เป็นงานหลักที่เป็นพื้นฐานและเชื่อมโยงงานต่างๆ เข้าด้วยกัน การส่งเสริมสนับสนุนสุขภาพทางกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นทางกาย–จิต–สังคม ล้วนแต่พัฒนาได้ถึงระดับหนึ่งเท่านั้น เรื่องทางเทคนิคนั้นมีข้อจำกัด คนที่ทำงานย่อมทราบกันดี นักพัฒนาและสหธรรมิกก็ทราบกันดี การส่งเสริมสุขภาวะทางกายโดยไม่พิจารณาถึงความสุขด้านในก็เท่านั้น หากมนุษย์ไม่รู้จักการเข้าถึงความสุขอันประณีตแล้ว ก็จะโยงไปถึงสุขภาพทางกายภาพในที่สุด เช่น อาจไปมีพฤติกรรมที่ทำให้เกิดเจ็บป่วย ถ้าดูสัดส่วนจากวงเงินงบประมาณสนับสนุนอาจให้ภาพที่จำกัด ไม่รอบด้าน พวกเราต้องออกจากความคุ้นชินเดิมของสังคมปัจจุบัน และระบบทุนนิยมที่ใช้ตัวเลขตัวเงินในการวัดเทียบค่า สิ่งใดที่ราคาต่ำก็อาจมีมูลค่าสูงก็ได้ ในทางกลับกันสิ่งใดที่ราคาสูงอาจไม่มีคุณค่าก็ได้ สสส. พิจารณาขนาดการสนับสนุนโดยดูเหตุผล ดูความเหมาะสมครับ

 

-> ภาพฝันของโครงการ ทั้งภายในโครงการ และส่วนที่หวังให้เกิดขึ้นกับสังคม หรือทำให้เกิดขึ้นกับคนไทย

          ขอบพระคุณอย่างยิ่งที่ถามคำถามนี้ ผมคิดว่าภาพฝันมีความสำคัญมาก เด็กๆ มีความฝันมีจินตนาการเยอะ แต่ผู้ใหญ่โดยทั่วไปสูญเสียความสามารถในการฝัน ในการจินตนาการ พอโตขึ้นมาเรากลับสูญเสียความสามารถนี้ไป ทำให้เราไม่สามารถมีสิ่งดีๆ ต่างๆ ออกมาได้ ติดอยู่กับเรื่องทางเทคนิค ถ้าจะยกตัวอย่างว่าใครที่มีความฝันที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง ผมนึกถึงพระพุทธเจ้า ท่านมีจินตนาการว่ามนุษย์นี้สามารถพ้นทุกข์ได้ เป็นฝันที่เหลือเชื่อ ในสมัยพุทธกาลนั้นการเชื่อว่ามนุษย์พ้นทุกข์ได้ในโลกในเวลานี้เป็นความฝันที่ยิ่งใหญ่ ความฝันนี้มีความสำคัญมาก ผมดีใจที่ถามว่าชุดโครงการนี้จินตนาการไว้ว่าอย่างไร เรามีจินตนาการหรือที่ภาษาปัจจุบันเรียกวิสัยทัศน์ ว่าเราจะมีสังคมที่ดีงาม สงบเย็น เป็นประโยชน์ มีน้ำใจไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น มีช่องทางเข้าถึงความสุขอันประณีตได้อย่างมากมาย หลากหลาย ทั่วถึง และมีสุขภาวะจากการมีจิตใจสูงทั้งประเทศ และฝันก็ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ เป็นการคิดร่วมกันของภาคี เป็นการปักธงเอาไว้ในระยะยาวว่าเราจะเดินทางไปสู่เป้าหมายร่วมกัน นอกจากนี้ชุดโครงการยังฝันว่าสังคมจะมีความเข้าใจใหม่ต่อเรื่อง สุขภาวะทางปัญญา หรือสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ในปัจจุบัน ที่มักคิดว่าเป็นเรื่องเข้าใจยาก หน้าที่หลักของพวกเราคือ การสร้างความเข้าใจกับสังคมว่า การพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ หรือสุขภาวะทางจิตวิญญาณ นั้น ๑) เข้าใจง่าย ๒) มีรูปธรรมชัดเจน มากมาย หลากหลาย และ ๓) มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน

 

-> เป็นภาพฝันที่ใหญ่และเป็นนามธรรมพอสมควร อยากทราบว่าจะมีกระบวนการอย่างไรเพื่อไปให้ถึง และตัวโครงการนี้จะมีความยั่งยืนแค่ไหน มีขอบเขตระยะเวลาดำเนินการอย่างไร

          กระบวนการ คือ เราเริ่มจากภาพฝันหรือจากจินตนาการก่อนที่ว่าอยากจะเห็นสังคมที่ดีเป็นอย่างไรขึ้นมา โดยไปชักชวนภาคีมาร่วมกันจินตนาการ ดังที่ได้เรียนไว้ตอนต้นว่าเรื่องสุขภาวะทางปัญญา สุขภาวะทางจิตวิญญาณนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เรื่องใหม่ก็คือการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณนี้ต่างหาก แปลว่ามีคนที่คิดทำคิดอ่านเรื่องนี้อยู่แล้ว เราไปสำรวจเบื้องต้นดูว่ามีใครบ้างที่ทำเรื่องทำนองนี้ เราได้ลองไปทำกระบวนการพูดคุยและค้นหาคนที่ทำงานจริง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของศิลปะ เรื่องอาสาสมัคร เรื่องของการประยุกต์ศาสนธรรม เรื่องของเกษตร เรื่องของธรรมชาติ เรื่องของการทำงานที่ดีอะไรต่างๆ เราไปชวนคิดชวนถามว่าเขาเข้าใจเรื่องของสุขภาวะที่เกิดจากปัญญาอย่างไร เขามีวิธีการให้คนเข้าถึงสุขภาวะทางปัญญาอย่างไร

          ส่วนตัวแล้วเชื่อว่ามนุษย์ทุกคน ไม่เว้นแม้แต่คนเดียว เคยมีประสบการณ์ตรงจากการมีสุขภาวะทางปัญญามาก่อน ยกตัวอย่างง่ายๆ จากการที่เราให้อะไรกับใครโดยไม่หวังอะไรตอบแทน ผมเชื่อว่านี่เป็นตัวอย่างง่ายๆ ของความสุขอันประณีต สุขจากการมีจิตใหญ่ เป็นสุขภาวะทางปัญญา ถ้าหากมีคนตั้งคำถามว่าสุขภาวะทางปัญญาเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ขอให้ลองถามว่าในชีวิตคุณเคยให้อะไรกับใครโดยไม่หวังอะไรกลับมาไหม? เชื่อว่าทุกคนได้เคยทำมาก่อน ความรู้สึกที่คุณมีหลังจากทำเช่นนั้น นั่นแหละเขาเรียกสุขภาวะปัญญา เป็นความสุขที่ประณีต ไม่ได้เอาตัวเองเป็นตัวตั้ง อีกตัวอย่างง่ายๆ เวลาเราได้ไปเห็นธรรมชาติที่งดงาม การเดินไปชมสวน ชมป่าเขา เห็นแดด เห็นสายลมพัดต้นไม้ไหว เห็นทิวทัศน์ที่งดงาม ก่อให้เกิดความสุขที่เป็นพื้นฐาน ธรรมดา เรียบง่าย ไม่ได้เกิดจากการเสพอย่างหยาบๆ อีกตัวอย่างคือการได้ทำงานที่ดี คนที่ทำงานที่เห็นว่าเป็นสัมมาชีพ ทำแล้วเกิดประโยชน์กับคนอื่นได้อย่างไร นี้ก็เป็นสุขภาวะทางจิตวิญญาณ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าตัวอย่างที่แม้เล็กๆ แต่ว่ายิ่งใหญ่ของการเข้าถึงในความสุขนั้น มีเยอะแยะเลย แต่ว่าเรายังขาดกระบวนการที่จะไปส่งเสริมช่องทาง หรือกิจกรรมอันดีงามเหล่านี้ให้เต็มแผ่นดินขึ้นมา

          เพราะฉะนั้นแนวทางการทำงานก็คือ เราไปชักชวนภาคีซึ่งมีประสบการณ์ หรือว่ามีความคิดที่ดีงามว่าจะไปบ่มเพาะสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ ให้คนเข้าถึงสุขภาวะทางปัญญาได้โดยง่าย และมากมายได้อย่างไร มาลองสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้วยกัน และมาลองคิดร่วมกันในเชิงนโยบาย ในเชิงยุทธศาสตร์ว่า เราจะขยายงานที่เราเห็นพ้องต้องกันว่าดีๆ ให้เกิดขึ้นมาเต็มประเทศได้อย่างไร และมาดูว่าจะสร้างกระบวนการขยายสิ่งต่างๆ เหล่านี้อย่างไร

 

-> โครงการผ่านมาเกือบปีแล้ว ถึงขณะนี้มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ทั้งภายในโครงการเอง และส่วนที่ปรากฏออกไปสู่ภายนอก

          ส่วนที่ได้ดำเนินการไปแล้วยังมีค่อนข้างจะจำกัด เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้น และเรายังไม่ได้ทำเรื่องการสื่อสารสาธารณะมากนัก แต่ในปีที่จะถึงนี้ ผมและคณะที่เป็นทีมจัดการชุดใหม่จะทำในหลายรูปแบบครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างความรู้ เรื่องของการสื่อสาร และเรื่องของการสร้างเครือข่าย ตัวอย่างที่สังคมพอจะรู้จักบ้างก็มี เช่น กลุ่มจิตวิวัฒน์ ซึ่งหมายถึงเรื่องของวิวัฒนาการหรือพัฒนาการทางจิต เป็นการก้าวข้ามจากการมีจิตเล็ก จิตแคบ ละวางอัตตาของตัวเองไป มีจิตใหญ่ กลุ่มจิตวิวัฒน์เป็นกลุ่มที่เน้นเรื่องของการประมวลความรู้ ทั้งจากทั่วโลกและในประเทศ ว่าขณะนี้เขาทำอะไรกันอยู่ในเรื่องการพัฒนาจิตใจ กลุ่มจิตวิวัฒน์ได้รับความสนใจมาก มีผู้สนใจอยากจะขยายเครือข่ายอยู่ไม่น้อย และก็มีการตีพิมพ์ผลงานผ่านสื่อต่างๆ มีบทความรายสัปดาห์ลงหนังสือพิมพ์ มีการเขียนและแปลหนังสือ มีการสัมภาษณ์ ออกรายการต่างๆ อยู่พอสมควรเหมือนกัน กลุ่มจิตวิวัฒน์มีคุณหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ เป็นประธาน และผมเป็นผู้ประสานงาน ตัวอย่างอื่นๆ นอกจากเรื่องการสร้างเวทีพูดคุยเรื่องสุขภาวะทางจิตวิญญาณแล้ว ทางชุดโครงการได้ไปสนับสนุนกิจกรรมบางประเภท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องละครธรรมะ เช่นละครเรื่องปฏิจจสมุปบาท หรือเรื่องการส่งเสริมกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ กล่าวคืองานดีๆ ต่างๆ เหล่านี้ เราพยายามไปส่งเสริมให้ทำได้ดียิ่งขึ้น และในขณะเดียวกัน ก็ไปส่งเสริมศักยภาพให้มีเครือข่ายกระจายมากขึ้น พร้อมกับให้คนทำงานสามารถอธิบายเรื่องราวของเขา ในมิติของสุขภาวะที่เกิดจากการใช้สติและสติปัญญามากขึ้น

 

-> มีปัญหา – อุปสรรค อะไรบ้าง

          ยังตอบยาก คือผมเองเพิ่งจะเข้ามารับเป็นผู้จัดการชุดโครงการ โดยเริ่มงานผู้จัดการเต็มตัวในเดือนตุลาคมนี้ เพราะฉะนั้น ปัญหาและอุปสรรคของระยะที่แล้ว ผมเองก็กำลังศึกษาอยู่ โดยส่วนตัวแล้ว ทั้งชีวิตและงานไม่ค่อยมี “ปัญหา” เรื่องที่คนมักมองว่าเป็นปัญหา ผมเห็นว่าที่เป็นปัญหาจริงๆ มีน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย มันเป็นเช่นนั้นเองของมันอยู่แล้ว ตามเหตุตามปัจจัย ผมมักเรียกว่าข้อจำกัดหรือข้อเท็จจริงมากกว่า ไม่อย่างนั้นชีวิตเราจะมีแต่ปัญหา

          ชุดโครงการพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพนี้ หากมองไปในอนาคตจะพบว่ามีข้อจำกัดและประเด็นที่ท้าทายอยู่พอสมควร ที่ท้าทายที่สุดคือความเชื่อดั้งเดิมว่า เรื่องสุขภาวะทางปัญญา/สุขภาวะทางจิตวิญญาณเป็นเรื่องนามธรรม ทั้งเข้าใจยาก แล้วก็วัดผลยาก นี้เป็นประเด็นที่ชุดโครงการจะต้องพาสังคมเรียนรู้และก้าวข้ามไปด้วยกัน ไปพร้อมกัน อธิบายและสร้างตัวอย่างให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีรูปธรรมเยอะแยะ เข้าใจได้ง่าย แถมทุกคนเคย สามารถมีประสบการณ์ทางตรงมาแล้วทั้งสิ้น และก็สามารถวัดได้ด้วย

 

-> สังคมปัจจุบันเป็นสังคมวัตถุ เป็นสังคมบริโภค บางครั้งบางภาคส่วนของสังคมก็พยายามที่จะพัฒนาเรื่องจิตวิญญาณ เพื่อให้คนสามารถใช้ชีวิตร่วมกับทุนนิยมบริโภคนิยม พูดง่ายๆ ว่าทำงานอย่างมีความสุข โดยมิได้ก้าวพ้นไปกว่านั้น เทียบเคียงกับโครงการนี้แล้ว มีวัตถุประสงค์มากไปกว่านั้นหรือไม่

          เรื่องนี้เราสามารถไปเรียนจากความรู้ที่มีในอดีต จากศาสนาทุกศาสนาโดยเฉพาะศาสนาพุทธก็มีองค์ความรู้ตรงนี้อยู่มาก เวลาเราไปชักชวนคนให้มาทำดี ให้เขาเรียนรู้ที่จะลดอัตตา เราก็จะเห็นว่าคนนั้นมีหลายระดับ และการก้าวข้ามของเขา การพัฒนาของเขาก็มีหลายระดับเช่นกัน อาจจะเรียกว่าโลกียธรรม และโลกุตรธรรมก็ได้ แต่ว่าที่แน่ๆ คือทุกคน ไม่เว้นแต่คนเดียว สามารถพัฒนาขึ้นมาได้ ตามระดับ ตามความพร้อม ตามภูมิธรรม ภูมิปัญญา ความเข้าใจของตัวเอง เพราะฉะนั้นผมมองว่าคนซึ่งเน้นเรื่องทุนนิยม สุดๆ เน้นเรื่องบริโภคนิยมสุดๆ เราก็อยากจะให้เขาลองชิมดูว่าความสุขที่มันละเอียด มันประณีต เป็นอย่างไร เหมือนอย่างนิพพานชิมลอง พอเขาติดใจก็อาจจะหันเหมามีชีวิตที่ดีงาม ละวางอะไรต่างๆ มากขึ้น ในขณะเดียวกัน คนซึ่งอยู่ในกระแสนี้แล้ว มีความคุ้นเคยกับข้อความกับแนวคิดนี้แล้ว งานที่เราจะทำก็เป็นการเปิดโอกาสให้เขาได้พัฒนามากขึ้น และมีวิถีชีวิตซึ่งเป็นไปในทางนี้มากขึ้นๆ เรื่อย จนสามารถเป็นต้นแบบได้ โดยเราจะสนับสนุนให้เขาและกลุ่มของเขาสามารถเชื่อมโยงและพาคนอื่นไปเรียนรู้ด้วยกัน กล่าวโดยสรุป ชุดโครงการพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพเชื่อว่า สุขภาวะทางปัญญานี้สามารถเข้าถึงได้ โดยประสบการณ์ตรงของคนทุกคน ไม่กีดกั้นใดๆ ทั้งสิ้น ไม่กีดกั้นเรื่องเพศ เรื่องอายุ เรื่องสถานะทางสังคม เรื่องสถานะทางเศรษฐกิจ หรือเรื่องสุขภาพ ว่าเป็นผู้ป่วย หรือไม่ป่วย มีเงินหรือไม่มีเงิน ทำเดี่ยว มีคนเดียวก็ได้ เป็นกลุ่มก็ได้ ติดคุกก็ได้ อยู่ข้างนอกก็ได้ ทำงานก็ได้ คนที่ทำงานตั้งแต่เช้า ตื่นมาตั้งแต่ตีสี่ ทำงานขายของจนกระทั่งทุ่มหนึ่ง คุณก็สามารถมีสุขภาวะทางจิตวิญญาณได้ เป็นพระก็ได้ เป็นฆราวาสก็ได้ เป็นโสด แต่งงาน หรือมีลูกก็ได้ ไม่มีลูกก็ได้ ไม่มีขาเลยก็ได้ มีขาพร้อมก็ได้ เป็นตำรวจ เป็นทหารก็ได้ ทำงานราชการที่อยู่ในกฎระเบียบต่างๆ มากมายก็ได้ เป็นศิลปิน มีอารมณ์อาร์ตติสมากๆ ก็ได้ เป็นสุขภาวะที่เด็กๆ มีได้ จนกระทั่งเฒ่าชะแรแก่ชรา นอนป่วยทางกายอยู่กับบ้านก็ยังมีสุขภาวะทางปัญญาได้ ประเด็นคือ ทำอย่างไรเราจึงจะสร้างช่องทางเข้าถึงความสุขอันประณีตที่มากมายคือจำนวนเยอะ หลากหลายคือหลายรูปแบบ และทั่วถึงคือเข้าถึงทุกคนได้น่ะครับ

 

-> ฟังดูเน้นเรื่องคนเป็นประเด็นหลัก ในแง่ของโครงสร้างไม่ทราบว่าจะต้องไปแก้ที่โครงสร้างเพื่อให้เป็นเหตุปัจจัยที่ดีต่อสุขภาพ สุขภาวะทางจิตวิญญาณด้วยหรือไม่

          ไม่เพียงแต่เราจะส่งเสริมสุขภาวะทางปัญญา แต่เราจะต้องทำงานโดยใช้ปัญญาด้วยครับ ต้องทำงานเป็นยุทธศาสตร์ ทำน้อยได้มาก เราทำงานตามเหตุตามปัจจัย ถ้าหากว่ามีโครงสร้างอะไร มีเงื่อนไขอะไรทางสังคมซึ่งไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญา แล้วเราไปเปลี่ยนได้และเหมาะสม เปลี่ยนแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง ก็ควรจะเปลี่ยน แต่อันไหนซึ่งเปลี่ยนไม่ได้และใช้กำลังมากเกินไปก็จะไม่ทำตรงนั้น ซึ่งตรงนี้ไม่มีหลักเกณฑ์แน่นอนตายตัวว่าต้องทำ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องของการทำงานเป็นกลุ่ม เป็นภาคี และภาคีต้องช่วยกันคิดว่าจะควรทำอะไรบ้าง โดยมีคณะกรรมการอำนวยการและคณะที่ปรึกษาคอยช่วย การเปลี่ยนแปลงระบบและโครงสร้างเป็นเรื่องใหญ่ และสำคัญ แต่การทำงานต้องค่อยๆ ทำ โดยใช้ปัญญา

          ยกตัวอย่างผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของโลก ไม่มีใครเป็นผู้มีความสามารถเหนือมนุษย์ แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ยังบอกว่าตนเองเป็นมนุษย์ธรรมดาๆ เพียงแต่ไปค้นพบความจริงเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น การทำงานตรงนี้ การไปสร้างเหตุสร้างปัจจัยก็ต้องดูว่าจะไปทำงานอะไรกับในเรื่องอะไร ผมยกตัวอย่าง อย่างนโปเลียนมหาราชเป็นนักรบซึ่งมีความสามารถมาก กองทัพของนโปเลียนมีพลานุภาพ มีแสนยานุภาพมาก บุกไปตีดินแดนต่างมากมาย แต่นโปเลียนไปตกม้าตาย แพ้รัสเซีย ถ้าถามว่าไปแพ้กองทัพรัสเซียหรือเปล่า? ก็เปล่า! แต่แพ้ฤดูหนาวของรัสเซียต่างหาก รัสเซียไม่ได้เอาทหารมาให้ทหารนโปเลียนฆ่า แต่ใช้วิธีล่อให้กองทัพนโปเลียนบุกลึกเข้ามาในประเทศเรื่อยๆ พอลึกมากพอก็เผาเมืองและถอยหนีหายไป ปรากฏว่ากองทัพนโปเลียนติดอยู่กลางประเทศรัสเซียท่ามกลางฤดูหนาวอันรุนแรง ไม่มีอาหาร ทหารก็ล้มป่วยตาย และพ่ายแพ้ในที่สุด ตรงนี้เรานำมาเรียนรู้ได้ โดยเทียบกับการทำงานกับสภาพปัจจุบัน ว่าเราทำอะไรได้บ้าง เพราะอะไรหลายๆ อย่างก็เป็นกระแสซึ่งแรง เป็นเรื่องของการใช้กำลัง ใช้ความรุนแรง ในปัจจุบันมีปัญหาและความรุนแรงในระบบมาก มีในส่วนที่เป็นประเด็นร้อน ประเด็นอุ่นๆ และประเด็นเย็น เราควรจะเน้นเรื่องของงานปูฐานระยะยาวมากกว่า วงจิตวิวัฒน์และรวมถึงผมด้วยเชื่อว่าโครงสร้างที่มีอยู่ในปัจจุบัน อยู่ในกระบวนทัศน์เก่า โครงสร้างและระบบเก่านี้จะไปต่อไม่ได้ ทำงานไม่ได้ แล้วจะล่มสลายไป ชุดโครงการพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพจะทำงานทั้งส่วนปัจจุบัน คือเยียวยาและพยายามให้คนที่อยู่ในปัจจุบันไม่มีความทุกข์มากนักและมีความสุขได้บ้าง และในขณะเดียวกันทำงานระยะยาว ในอนาคต สร้างทางเลือกให้แก่สังคมว่า จะทำอย่างไรให้สังคมในแนวกว้างสามารถเข้าถึงความสุขอันประณีตได้

 

-> ถ้ามีทั้ง ร้อน อุ่น และเย็น โครงการนี้จะอยู่ทั้งใน ๓ ส่วน หรือจะให้น้ำหนักในส่วนไหน?

          ตรงนี้จะไม่ใช่ผมคนเดียวตัดสินใจ จะเป็นการร่วมกันของภาคี โดยจะมาช่วยกันคิดว่าเราทำงานส่งเสริมเรื่องสติปัญญาและเราใช้สติปัญญาด้วยว่า ถ้าเรามีทรัพยากรคน ทรัพยากรความรู้ ทรัพยากรเวลา ทรัพยากรเงิน อันจำกัดจำนวนหนึ่ง เราอยากจะใช้ไปในเรื่องใดบ้าง ผมคิดว่าการตัดสินใจเป็นของกลุ่ม โดยการร่วมให้แนวทางของคณะกรรมการอำนวยการ และคำปรึกษาจากผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ

 

-> หลายคนเรียกคุณทักษิณว่าเป็น อัศวินคลื่นลูกที่สาม ในเชิงสัญลักษณ์ก็คือคุณทักษิณเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จของสังคมทุนนิยมบริโภคในปัจจุบัน เป็นนักธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จ เป็นผู้นำรัฐที่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น หากมองว่าสิ่งที่โครงการกำลังทำอยู่ ก็คือการส่งเสริมสุขภาวะทางจิต เรื่องสติ เรื่องปัญญา ซึ่งหลายเรื่องอยู่คนละฟากกับบริโภคนิยม ทุนนิยม หรือแนวทางที่รัฐในปัจจุบันกำลังจะเดินไป ภายใต้สภาพขัดแย้งเชิงแนวคิดพื้นฐาน โครงการจะให้คุณทักษิณไปเจอฤดูหนาวที่ไหน

          อันนี้เป็นประเด็นสำคัญครับ สังคมที่ดี ที่แข็งแรง ก็คือสังคมที่คนหันหน้าเข้ามาหากัน และพูดจาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ก้าวข้ามตัวตนออกไป สังคมโดยรวมร่วมกับโครงการ ควรจะนำเป้าหมายและความเชื่อของเรามาตรวจสอบ หรือมาเชื่อมโยงกับสิ่งที่เราทำ อย่างเช่นคุณทักษิณหรือรัฐบาลบอกว่าสังคมไทยเป็นสังคมพุทธ ว่าเราต้องเน้นเรื่องความสุขด้านในต่างๆ เพราะฉะนั้นควรช่วยกันพิจารณา ใช้ปัญญาดูว่านโยบาย กระบวนการ หรืองานต่างๆ ที่รัฐบาลคิด รัฐบาลทำ มันสอดคล้องกับเป้าหมายและความเชื่อของสังคมอย่างไร ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งซึ่งโครงการและสังคมสามารถทำได้ก็คือช่วยให้แนวคิด ร่วมกันสร้าง “ปัญญาใหญ่” จากการที่มีจิตใหญ่ อย่างเช่น สังคมสงฆ์ก็สามารถช่วยได้ คือลองใช้มุมมองทางศาสนาเข้ามาอธิบายว่านโยบายต่างๆ ไม่ว่านโยบายเรื่องกระจายที่ดิน นโยบายต่างประเทศ ว่าสอดคล้องกับแนวความคิดทางศาสนาอย่างไร ที่ผ่านมาเราเห็นการแลกเปลี่ยนตรงนี้ค่อนข้างจำกัด แล้วไม่ได้อยู่ในช่องทางที่จะรับฟังกันสักเท่าไร อย่างทางฝรั่งเขามีคำถามที่ว่า What would Jesus do? คือถามให้นักการเมืองได้ฉุกคิดว่า ถ้าคุณเชื่อในพระเยซู ไหนคุณลองคิดดูซิว่าในสถานการณ์ที่คุณเผชิญอยู่ พระเยซูจะทำอย่างไร ผมคิดว่าคนไทยอาจลองตั้งคำถามก็ได้นะครับว่า What would Buddha do? ว่าถ้าหากเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจะให้ความเห็นหรือตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนั้นว่าอย่างไร

          แต่ประเด็นสำคัญไม่แพ้กันคือ การสร้างทางเลือก เพราะว่าพระพุทธเจ้าเองท่านก็ไม่ได้ใช้เวลามากมาย เรียกว่าไม่ได้ใช้เลยก็ว่าได้ ในการที่จะไปบอกว่าความเชื่อลัทธิอื่นไม่ดีอย่างไร มุ่งสร้างตัวอย่าง สร้างทางเลือกไว้เลยว่า ในบทสวดมนต์ก็บอกเลยว่า เชิญเลย เชิญมาดู เราเองก็ควรให้คนได้มาทดลองทางเลือกแบบนี้ ให้เห็นจริง ได้มีประสบการณ์ตรงว่าตัวอย่างแบบนี้เป็นความสุข เป็นตัวเลือกที่ดีกว่าอย่างไร ให้เขาพิสูจน์ด้วยตัวเองว่ามันดีกว่าความสุขของการเสพอย่างหยาบๆ อย่างไร

          ดังนั้น ประเด็นหัวใจของชุดโครงการพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพอยู่ตรงนี้ โครงการเชื่อว่าเรายังมีช่องทางสนับสนุนและส่งเสริมให้คนมีประสบการณ์ตรง จากการมีสุขภาวะทางปัญญา มีความสุขอันประณีต ไม่พอ น้อยเกินไป เราต้องสร้างช่องทางที่มันหลากหลาย มากมาย และทั่วถึงให้มากกว่านี้ ซึ่งก็นับว่าเป็นปัญญาของรัฐบาลครับที่ยังคงให้มีหน่วยงานอย่าง สสส. อยู่ เงินทุนของ สสส. ยังใช้อยู่น้อยมาก เคยมีผู้รู้เปรียบเทียบไว้ว่าเป็นเนื้อมดกับเนื้อช้าง ว่างบประมาณที่รัฐบาลมีอยู่เยอะมากเป็นเนื้อช้าง แต่งบที่ สสส. น้อยมาก เปรียบเสมือนเนื้อมด หากว่าช้างฉลาดพอก็จะไม่เอาเนื้อมดไปปะเนื้อช้าง ให้มดได้ทำงานที่มดชอบ แล้วมดก็สามารถทำได้ดีด้วย ซึ่งงานที่มดทำได้ดีก็จะไปส่งเสริมงานของช้างอยู่แล้ว

 

-> ภาพฝันกับงานที่ทำมีสัดส่วนที่เหมาะสมหรือไม่ โดยเฉพาะระหว่างขนาดกับวัตถุประสงค์

          คำถามนี้คงต้องตอบแบบหลายแบบ แบบที่ ๑ เป็นเรื่องภาษาคน–ภาษาธรรมสักหน่อย คืองานนี้เป็นการทำงานเพื่องาน พยายามทำให้ดีที่สุด โดยไม่ได้ “คาดหวัง” (แบบโลกๆ) ว่าต้องเกิดไอ้นั่น ไอ้นี่ แต่ขณะเดียวกันก็ทำโดยใช้ปัญญาและ “คาดว่า” (แบบทางธรรม) น่าจะเกิดอะไรดีๆ ขึ้นบ้าง จากการใช้ความรู้และการจัดการที่ดีที่สุดที่เรามีในการทำงาน งานที่เราทำมีเป้าหมายใหญ่ ต้องพึงมีสติอยู่เสมอว่าเราทำอะไรได้บ้าง แล้วก็ทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด และมีความสุขให้ได้ ไม่ควรไปคาดหวังอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูว่าจะเปลี่ยนโลกเช่นนั้นเช่นนี้ เพราะพอคาดหวังปุ๊บ ถ้าไม่เกิดก็จะผิดหวังและเป็นทุกข์ มีตัวอย่างองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอเยอะมากในเมืองไทย ที่ทำงานแล้วก็มีความทุกข์ ทั้งๆ ที่เป็นคนดี ตั้งใจทำความดี และก็ทำงานหนักด้วย ทำไปทุกข์ไป เหมือนอย่างในหนังสือที่หลวงพี่ไพศาลเขียนไว้ พวกเราต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้ได้ ว่าสุขภาวะทางจิตวิญญาณหรือสุขภาวะทางปัญญาที่เกิดจากการมีจิตใจสูง เกิดจากการทำความดีนั้นเป็นอย่างไร ฉะนั้นจงทำงานเพื่องาน ใช้สติปัญญาทำในสิ่งที่คิดว่าสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีได้มากที่สุด แล้วก็ทำให้ดีที่สุด แค่นี้ก็พอ

          ตอบแบบนี้บางคนคงงงๆ ลองอีกแบบ ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะเข้าใจง่ายขึ้นหรือเปล่า คือว่าหากถามว่าทำไปแล้วมันเป็นสัดส่วนอย่างไร มันจะไปถึงไหม ชุดโครงการนี้เชื่อว่าเราใช้ความรู้ที่เป็นความรู้ที่ใหม่ที่สุดในโลก หมายความว่าเราพยายามประสานชุดภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น ซึ่งหมายรวมถึงภูมิปัญญาศาสนธรรม เข้ากับชุดความรู้วิทยาศาสตร์ วิทยาการกระแสหลักทางตะวันตกเข้าด้วยกัน เราใช้ความรู้สองชุดด้วยกันกอปรเป็น “ความรู้กระบวนทัศน์ใหม่” เรียก New Paradigm หรือ New Science ก็ได้ ในขณะที่ความรู้กระบวนทัศน์เก่า (เช่นวิทยาศาสตร์กระแสหลัก)นั้นแยกส่วน และลดทอนย่อส่วน มองว่าทำหนึ่ง แล้วเป็นสอง แล้วเป็นสาม เป็นสี่ เป็นห้า ถามว่าอีกห้าปีจะเป็นเท่าไร มันก็ต้องเป็น หก เจ็ด แปด เก้า สิบ เราก็จะได้แค่สิบ เพราะฉะนั้นความจริงกับฝันมันจะห่างกันมาก แต่กระบวนทัศน์ใหม่มีคำอธิบายและแนวทางที่อธิบายโลกได้มากกว่า

 

-> คุณกำลังจะทำให้เป็น E = MC2

          อะไรทำนองนั้น อันที่จริง E = MC2 ก็เป็นกระบวนทัศน์เก่า ที่เป็นรอยเชื่อมกับกระบวนทัศน์ใหม่ ในปัจจุบันความรู้ในวิทยาศาสตร์ใหม่ ซึ่งหมายความรวมถึง ทฤษฎีควอนตั้ม (Quantum Theory) และทฤษฎีไร้ระเบียบ (Chaos Theory) บอกว่าโลกไม่ได้เป็นแบบนั้น ความสัมพันธ์ไม่ได้เป็นเชิงเส้นหนึ่งสองสามสี่ห้า ตรงไปตรงมา หากแต่มีความสัมพันธ์ ต่อเนื่องเชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อน มีความเป็นไปได้ที่การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ เมื่อสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อถึงจุดๆ หนึ่งที่มากพอ ถึง คริติคอลแมส (Critical Mass) หรือที่เรียกว่า มวลวิกฤต ซึ่งทางโลกอาจหมายถึงการที่มีชุมชนที่เข้มแข็งมากพอ มีคนที่มีสุขภาวะทางจิตวิญญาณจำนวนที่มากพอ มันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด โดยที่เป็นการเปลี่ยนแปลงโดยพื้นฐาน เปลี่ยนโดยเข้าไปอยู่ในเนื้อในตัว แถมไม่ได้เป็นแค่ในเชิงปริมาณอย่างเดียว แต่เป็นในเชิงคุณภาพด้วย และก็เปลี่ยนทั้งหมดเลย เพราะฉะนั้น เรามองว่างานที่ทำนี้ไม่ได้ทำแค่หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า แล้วก็จะไปแค่ หก เจ็ดแปด หากแต่เชื่อว่าสิ่งที่ทำอาจนำไปสู่ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า แล้วก็จะเปลี่ยนไปทั้งหมดทีเดียวเลย งานที่ทำไม่ได้ทำแค่โครงการเล็กๆ ที่ทำแค่ให้ได้ทำนิดหน่อย แต่ทำเพื่อเป็นการปูพื้น เพื่อการเปลี่ยนแปลงโดยฐานรากของสังคม ของคนทั้งหมด

          ชุดโครงการมีความเชื่อและและจริยธรรมพื้นฐานอยู่ ๘ ข้อ หนึ่งในนั้นคือ เชื่อว่าการพ้นทุกข์ไม่ได้เป็นการพ้นทุกข์เดี่ยวๆ แต่เชื่อว่า มนุษย์พ้นทุกข์ร่วมกันได้ เพราะว่าแต่ก่อนอยู่ไกล การสื่อสารจำกัด ความคิดดีๆ กว่าจะแพร่ไปในประเทศหรือในชุมชน บางที่ต้องใช้เวลาสี่ห้าปี ปัจจุบันโลกเล็กลงเข้ามาสื่อสารได้กันโดยง่ายขึ้น และการเรียนรู้ของคนเป็นไปได้เร็วมากขึ้น แม้ว่าจะมีอุปสรรคขวากหนามในการเรียนรู้อยู่เยอะ แต่ว่าพอคนเรียนรู้แล้วก็เรียนรู้ได้เร็ว เชื่อมโยงกันได้ มนุษย์สามารถจะเปลี่ยนในเชิงพื้นฐานในระดับกลุ่มได้ นี่เป็นความเชื่อพื้นฐานของชุดโครงการ ว่าเรานี้ทำงานเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคม สังคมสามารถเปลี่ยนด้วยกัน พร้อมกันได้ เราจึงเน้นเรื่องการทำงานด้วยกัน เรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงด้วยกัน คือส่งเสริมทั้งปัจเจกพุทธะแล้วก็โพธิสัตว์ด้วยกันเลย เป็นทั้งยานเล็กและยานใหญ่รวมกันหมด


-> บทนำ

-> อ่านบทสัมภาษณ์

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ๑๒๔ ซอยวัดนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๘๖๓๑๑๑๘, ๐๖-๗๕๗๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๔๓๗๙๔๔๕
... e-mail :