ทีมข่าวบันเทิงสำนักข่าวไทย ได้รับอนุญาต ให้เข้าไปพูดคุยกับผู้ที่มีประสบการณ์ตรง คนล่าสุด ที่หนังในความดูแล ถูกกองเซ็นเซอร์ระงับการเข้าฉาย ทำไมองคุลีมาลจึงถูกระงับ และอีกหลายความคิดเห็น ที่แสดงออก ในลักษณะขัดแย้งกัน ตลอดระยะเวลาที่เกิดเรื่อง แต่ทั้งหมดนี้คือคำต่อคำของผู้ที่บอบช้ำกับ "องคุลีมาล"
เริ่มต้นกันที่อังเคิล - อดิเรก วัฏลีลา ระบายความคับข้องใจ กับเหตุการณ์แบนหนังของกองเซ็นเซอร์ ที่ทำให้เงินกำไรในการเข้าฉายหายไปในพริบตากว่า ๔๐ ล้าน โดยเจ้าตัวกล่าวว่า "กระบวนการ ในการพิจารณาของกองเซ็นเซอร์ที่ถูกเขียนขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๓ ซึ่งมันครอบคลุมด้วยเหตุการณ์บ้านเมือง
ในสมัยนั้น มันก็เหมาะสม แต่ปัจจุบันนี้ ๑๐๐ กว่าปีผ่านมาแล้ว มันก็น่าจะปรับให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ เช่น สื่อทุกอย่างทุกคนสามารถรับรู้ข่าวได้หมดแล้ว อยากดูวีซีดีก็ไปซื้อมาดูได้ง่าย ๆ สื่อหนังสือ ทีวี ก็อิสระที่จะนำเสนอ จะคิดจะพูดได้หมด แต่หนังนี้ยังไม่ได้ หนังสือเขียนอะไรได้ทำอะไรได้หมด แต่เราเอาหนังสือมาทำไม่ได้ เช่น หนังสือเรื่อง งู ของวิมล ไทรนิ่มนวล เขียนแล้วดี ให้อะไรกับสังคม สะท้อนสังคม มีคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม เราเอาหนังสือมาทำหนังไม่ได้ หนังฝรั่งทำเรื่องเคเนดี้ ทำเรื่องจี เอฟ เค ได้ แต่ถ้าเราทำเรื่องใครสักอย่างที่เป็นนายกของเรา ทั้งในอดีตหรือปัจจุบันมันทำไม่ได้ เลยทำให้ในแง่ของสื่อของศิลปะอย่างหนึ่ง มันถูกกรอบบีบบังคับมากไป สำหรับในยุคนี้ที่โลกเปิดกว้าง"
นั่นคือประเด็นแรกที่ผู้สร้างหนวดงามเล่าให้ฟัง แต่ยังไม่หมด เท่านี้ยังเปิดใจอีกหลายเรื่องให้ได้ฟังกัน โดยเฉพาะเรื่อง "องคุลิมาล" หนังเจ้าปัญหาของวงการภาพยนตร์ไทยในปัจจุบัน "อย่างเรื่ององคุลิมาลที่ถูกต่อต้าน โดยองค์กรศาสนาพุทธ ผมไม่เห็นว่าเป็นเรื่องที่ผิดเขามีสิทธิของเขา แต่คนทำก็มีสิทธิพูดสิทธิคิดเหมือนกัน แล้วความถูกต้องอยู่ตรงไหน ความถูกต้องคือในกรณีที่ ถ้าหากว่าเขาเสียหาย เขามีสิทธิฟ้องร้องได้ ตำรวจก็จับถ้าหากว่าเค้าถูกต้องจริง ๆ มันเป็นสิทธิของคุณจริงก็ฟ้องร้องได้ แต่คุณไม่มีสิทธิห้ามหนังฉาย ห้ามมาตัดหนัง จะประท้วงจะฟ้องก็ทำไป ซึ่งที่จริงการตัดหนังก็ไม่ใช่สิทธิของเขาเป็นสิทธิของกองเซ็นเซอร์ แต่กองเซ็นเซอร์ก็ไม่น่าเอาความคิดที่เขาประท้วงมาตัดสินหนัง เพราะคนที่ประท้วงเขายังไม่ได้ดูหนัง ยังไม่ได้พิสูจน์ ตกลงยังไง ใครถูกต้อง ต้องให้ศาลพิสูจน์ก่อนว่าถูกต้องจึงค่อยตัด
การพูดของอังเคิลเริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่มระบายกรณีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกองเซ็นเซอร์ ยังไม่ทันซักถามอะไรเจ้าตัวก็พูดออกมาด้วยความอึดอัด "สำหรับกองเซ็นเซอร์ผมยืนยันว่าถ้าไม่มีคนกลุ่มนี้มาประท้วง กองเซ็นเซอร์จะต้องให้ผ่านและให้รางวัลด้วย เพราะหนังเรื่องนี้เชิดชูศาสนา มันจะใช้วิธีใดสื่อด้วยวิธีใดก็ตาม เป้าหมายคือให้คนศรัทธาในศาสนา ทำความดีเข้าไว้ มันมาถึงเป้าหมายไหม ถ้าใช่ก็น่าจะอนุโลม เพราะกลวิธีสมัยโน้นกับสมัยนี้มันต่างกัน การสื่อสารต่อคน เมื่อ ๓ แสนกว่าปีก่อน เราพูดภาษาไม่เหมือนกัน เราพูดภาษาอะไรก็ไม่รู้ เกิดไม่ทัน ปัจจุบันเราพูดแบบนี้ พูดอเมริกันก็อีกภาษาหนึ่ง เปลี่ยนไปตามโลเกชั่นนั้น ๆ ภาษาอย่างนี้ก็ต้องพูดอย่างนี้ แต่นี่คือหนังไม่ใช่พระไตรปิฎก ตำราเรียน หนังมันมีวิธีนำเสนอของมัน ดีไม่ดีค่อยว่ากันอีกที
ด้วยความที่กองเซ็นเซอร์จะเซ็นเซอร์ เข้าใจว่าเขาถูกส่งขึ้นมาด้วยเจตนาดีจากกฎ ข้อหนึ่งคือข้อ ๔ ว่าด้วยเรื่องหนังต้องไม่ก่อให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง ข้อนี้ข้อเดียวกว้างไปหมดเลย คือหนังเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้เกิดความเสื่อมเสียของศีลธรรมอันดีงาม แต่มันมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรชาวพุทธ แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธของภาครัฐ เพราะหนังเรื่องนี้ได้รับรางวัลจากคณะกรรมาธิการศาสนาและศิลปวัฒนธรรมว่า เป็นหนังส่งเสริมศาสนา แต่นี่เป็นอีกองค์กรหนึ่ง
อย่างนี้เราจะตั้งอีกกี่ร้อยองค์กรก็ได้แล้วแต่ เรามองว่าอย่าก่อเลยอย่าก่อม็อบขึ้นมา แล้วกองเซ็นเซอร์ก็ไม่อยากให้เกิดความไม่สงบ ก็เลยตัด ๆ หนังเข้าไปเถอะหรือไม่ก็แบนไปเถอะทำยังไงก็ได้ ถ้าเกิดฝั่งเรายอมเท่าไหร่เราก็จะไม่บีบคั้น ไม่ฉายเลยดีมั้ย เขาก็บอกไม่ฉายเลยดี แต่พอเราไม่ยอม ถกกันไปก็ถกกันมา เขาไปพิจารณา ก็เลยลด ๆ อะไรไปบ้าง ตัด ๆ อะไรไปบ้างแล้วกัน วิธีนี้ก็ดีไม่ทำให้เกิดการประท้วงอะไร แต่ถ้าหากว่าหนังเรื่องนี้เหมือนเป็นลูกของคุณ แล้ววันหนึ่งลูกคุณถูกคนข้างบ้าน องค์กรอะไรสักองค์กรหนึ่งกล่าวหาว่า ไปปากระจกบ้านเขาแตก ต้องไปติดคุกให้ตำรวจจับประหารชีวิตหรือว่าติดคุกสัก ๓ ปีก็ได้ แต่เราบอกว่าไม่ได้ลูกเราเลี้ยงมาเองตั้งแต่เล็ก เรารู้ว่ามันไม่ได้มีนิสัยอย่างนั้น เราเลยทะเลาะไปว่าไม่จริง
เมื่อวานนี้ปาแตกเขาว่าไอ้คนนี้แน่ ๆ เขาไม่ชอบขี้หน้ามัน แต่เราบอกก็เมื่อวานนี้เราพาไปเที่ยวบางแสนด้วยกัน ไปอยู่ค้างคืนแล้วเพิ่งกลับมาเมื่อเช้านี้ จะมาว่าลูกผมได้ไง ผมไม่ยอม ด้วยคณะกรรมการที่ลงคะแนนโหวต ๑๒-๑๓ คน เขาเลยให้เหตุผลว่า อ๋อไปเที่ยวบางแสนกับคุณ ก็จริงนี่ โหวตกันผมก็ชนะ แต่ประธานเขาบอกว่า ไม่ได้เดี๋ยวเขาประท้วง คือถึงโหวตชนะให้ฉาย เดี๋ยวเขาก็ประท้วง มันไม่จบ ยอมเขาเถอะ ติดคุกสัก ๓ เดือน แล้วกัน พบกันครึ่งทาง เพื่อให้บ้านเมืองสงบ เป็นคุณจะยอมไหม อย่างนี้ผมประท้วงว่าคุณไม่ควรยืนอยู่บนโลกนี้ ผมประท้วงแล้ว ทำให้บ้านเมืองไม่สงบ ให้คุณฆ่าตัวตาย คุณจะยอมไหม
ความในใจของอังเคิลกำลังเข้มข้นเลยทีเดียว ไม่ต่างจากสถานการณ์ขององคุลีมาลที่เข้มข้นไม่แพ้กัน โดยผู้สร้างหนังยังเอ่ยความในใจต่อว่า "ผมทำหนังเรื่องพรางชมพู ว้ายบึ้มฯ แล้วผมตั้งองค์การชาวตุ๊ดขึ้นมาประท้วงว่า ตุ๊ดไม่ได้พูดกันแบบนี้ พอผมประท้วงแล้วจะให้แบนหนังมั้ย ผมจึงคิดว่าเราไม่น่าจะเอากฎหมู่มาตัดสิน ว่ากันด้วยเหตุด้วยผลดีกว่าคณะกรรมการก็มีตั้งหลายคนก็มาโหวตกันไม่ควรจะยอม แต่โหวตแบบนี้มันก็ไม่จบ เดี๋ยวก็ออกไปประท้วง ด้วยความที่เจตนาดีกลัวว่าเรื่องจะไม่จบก็เลยมาตัดสินยิงเป้า มันตายไปเลย แต่ถ้าถามว่าแค่ตัดแขน ๒ ข้าง ขา ๒ ข้าง มันตายมั้ย มันไม่ตายแต่มันพิการ ออกไปแล้วใครจะแต่งงานด้วย ตอนนี้มันเป็นแบบนี้ไง ออกไปมันก็ทุเรศไปแล้ว หนังไม่ใช่คนแล้ว หนังเราไม่ใช่คนแล้วถ้าเป็นคนก็เป็นคนอัปลักษณ์ ลูกสาวผมจะขายออกหรือ ต่อไปจะทำมาหากินยังไง ใครจะเลี้ยงมัน นี่คือความปรารถนาดีในการดูแลบ้านเมืองแต่มันไม่ได้อยู่ในกฎกติกา แล้วกติกาที่ว่ามันก็กว้างมาก มันควรจะปรับเปลี่ยนได้แล้ว
เจ้าของเงินเจ้าของทุน ที่กำลังชอกช้ำกับกฎกติกาในการผลิตหนัง กล่าวต่อไปว่า หนังลงทุนทำไปด้วยความมุ่งมั่น ด้วยเจตนาที่ดีที่ดันทุรังทำเรื่องสรรเสริญเชิดชูศาสนา ส่งเสริมศาสนา ส่งเสริมสังคม ไม่ได้ไปทำหนังผี หนังตุ๊ด บ้าบอ วิ่งไล่ลงตุ่ม เราทำหนังที่หลายคนไม่อยากทำ เพราะลงทุนสูงด้วย แต่วันนี้มาเจอแบบนี้มันท้อ คนต่อ ๆ ไปอย่าว่าแต่ผมเลยก็คงไม่กล้าแล้ว ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นศาสนาหรืออะไรก็แล้วแต่ มันจะนิ่งอยู่อย่างนี้แหละ มันจะไม่เติบโต จะไม่พัฒนา มันจะตายอยู่แค่นี้เอง เพลงศิลปะประเทศไทย ลิเก
ก็จะอยู่อย่างนี้แหละ เมืองนอกมันจะเป็นแร็พ เป็นอะไรมันก็มีการพัฒนา เพราะมันไม่ได้มีการห้ามอะไร ของเราโขนก็อยู่แค่โขน ลิเกก็อยู่แค่ลิเก บางวันบูมหน่อย ฝรั่งร้องลิเกก็ไปดูกันเยอะแยะก็แค่นั้น คือถ้าอะไรเวิร์กมันก็เติบโตได้ อะไรไม่เวิร์กมันก็เลิกใช้ เหมือนกับภาษาที่ทุกวันก็จะมีคำแสลงเกิดขึ้นมากมาย แต่พอมันไม่เวิร์กก็เลิกใช้ไป คือภาษามันมีการพัฒนา ศิลปะทุกชนิด ศาสนาหรืออะไรก็ตาม ถ้าเราไม่ได้แตะมัน ไม่ได้พัฒนา
อังเคิลย้ำความคิดของตัวเองให้ฟังว่า วันหนึ่งถ้ามีปัญหาถกเถียงกัน เราปล่อยให้เขาถกเถียงกันไม่เป็นไร ไม่ผิด แล้วสังคมจะเป็นคนกำหนดเองว่าใครถูกใครผิด แล้วทุกคนที่เริ่มสงสัย ก็จะเริ่มเอาตำราเอาพระไตรปิฎกมาดู เออใครถูกใครผิด ก็มาดูกัน เมื่อเริ่มฉายทุกคนก็จะเริ่มอ่านประวัติ เอออันนี้บิดเบือน แก้ไข ไม่เห็นเป็นไร มันก็ทำให้เด็กสนใจขึ้นมา
กลับตอนนี้อยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น พวกเขาไม่ได้มองมาในวงนี้ สำหรับคนที่เสียหายหรือว่าเรื่องศาสนา แต่ปัญหาคือว่าเมื่อเขารู้สึกอย่างนั้น มันก็กลายเป็นการทำลายตัวเอง เข้ามากดดัน กองเซ็นเซอร์ก็พยายามจะให้บ้านเมืองสงบ ก็เลยตัดนี่ ตัดนั่น แต่ถ้าพูดถึงความรุนแรง ก็ไปออกข่าวมันรุนแรง โหดร้าย บิดเบือน ฆ่ากันทั้งเรื่อง คนฟังก็เออว่าจะพาลูกไปดู ไม่พาไปดูแล้วดีกว่า เดี๋ยวเป็นบ้าตาย แต่ไปดูวันที่ฉายเบ๊บฮาร์ท แก๊งออฟนิวยอร์ก ไฟนอลเดสสิเนชั่น คอขาด ตัวขาด ไส้ขาด บันไดแทงลูกนัยน์ตา รุนแรงกว่าเยอะ อันนี้ฆ่าอาจารย์ องคุลีมาลเงื้อดาบ พอจะฟันแล้วฉายไปที่กำแพง เอาสีสาดเป็นเลือด บอกว่าโหด จะเป็นลม แต่ไปดูแก๊งออฟนิวยอร์ก ไฟนอลเดสสิเนชั่น กันได้
ส่วนคำถามที่มันจะเกี่ยวเนื่องกับการเซ็นเซอร์หนังคือ การจัดเรตติ้งของหนังและโรงหนัง เพื่อให้ขจัดปัญหาต่าง ๆ อังเคิล กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า น่าจะมีการจัดเรตหนังได้แล้ว ทุกวันนี้หนังฝรั่งบางเรื่องที่น่ากลัว ไม่เหมาะกับเด็ก แต่เด็กก็ยังได้ดูอยู่ เพราะว่าพ่อแม่พาเข้าไปดู ถ้าหากว่ามีการห้ามเด็กเข้าไปดูในบางเรื่อง แล้วแต่ผู้ปกครองพาเข้าไปเอง ก็เรื่องของเขา แต่มันควรจะมีการจัดเรต จะได้เป็นการบังคับว่าเด็กดูเรื่องไหนไม่ได้ หรือบางเรื่องอาจจะให้เด็กดูได้แต่ผู้ปกครองควรอธิบาย และผมก็ไม่เชื่อว่าองคุลีมาล เด็กอายุ ๗ ขวบ จะตีตั๋วเข้าไปดู คงจะไปดูการ์ตูนมดเอ็กซ์ มดแดงมากกว่า ถ้าจะมีเด็กเข้าไปดูองคุลีมาล ก็น่าจะเพราะผู้ใหญ่พามา แต่มันก็ไม่น่าจะหนักหนา แต่ว่าทำร้ายหนังไทยกันใหญ่เลย หนังไทยสูบบุหรี่ไม่ได้ (ส้มแบงค์) แต่หนังฝรั่งทำได้ ถามว่ามันไม่เหมือนกันหรือ เขาบอกว่าเรื่องนั้นคณะกรรมการคนละชุด แล้วผมเลือกชุดคณะกรรมการก็ไม่ได้ มันก็เลยเกิดกลายเป็นว่า ในแง่ของธุรกิจ ศิลปะ สินค้าอะไรของประเทศไทยก็ตาม ต่างก็ถูกกีดกัน เราน่าจะส่งเสริมกันเองให้ธุรกิจ ให้ศิลปะเราเติบโต อุตสาหกรรมเราไปทำรายได้เข้าประเทศ
มาถึงคำถามกว้าง ๆ ที่หลายคนคงอยากทราบ ว่าหนังที่ไม่ผ่านเซ็นเซอร์มีหนังแนวไหน อย่างไรบ้าง สำหรับกรณีหนังไม่ผ่านเซ็นเซอร์ ผมก็ไม่รู้ว่าจะแก้ยังไงบางเรื่องทั้งโป๊ ทั้งเปลือย แต่ก็ผ่านเซ็นเซอร์ บางเรื่องก็ไม่ผ่าน มันไม่เท่ากัน ที่สมาพันธ์เขาก็พูดว่าเป็นกรรมการเซ็นเซอร์ชุดเดียวได้ไหม แต่ผมว่าไม่ได้ เขาคงดูกันอ้วกแตก ดูไม่ไหว แต่มันมีการเปลี่ยนกติกาให้ชัดเจนมากขึ้นได้ไหมอย่างกฎข้อ ๔ มันกว้างไป มันกลายเป็นว่า ทุกวันนี้ที่เขามีเรื่องกันก็เพราะความอะลุ่มอล่วย ความรู้สึกว่าไม่เห็นเป็นไรใค รๆ เขาก็ดู ก็เลยให้ แต่บางเรื่องมันเกิดมีผลทางลบขึ้นมา คณะกรรมการในชุดเขาเกิดเฮี้ยบขึ้นมาเขาก็ไม่ให้ผ่านมันก็ตามกติกา แต่ปัญหาคือ เราไม่รู้ว่าแค่ไหนคือผ่าน
ในเรื่องของการแบ่งเรต ก็น่าจะแบ่งเป็นเรต ๑ เรต ๒ หรือเรต ๒ ๓ ก็พอ หรือว่าหนังเรื่องไหนอายุเท่าไหร่ไม่ควรดูก็ว่ากันไป ถ้าจะถามว่าควบคุมได้ไหม ก็ทำไปสิ แต่อย่าไปปิดกั้นสิทธิในการพูดในการคิดของคน ยังมีเรื่องตู้แสตนที่ฉายตัวอย่างหน้าโรงหนังอีก ซึ่งตัวอย่างที่ฉายก็เหมือนกับที่ฉายทางทีวี เราเอามารวมกันและทำเป็นสกู๊ปเบื้องหลังบ้าง ก็โดนจับยึดไปหมด เพราะเขาว่าเทปพวกนี้ไม่ได้ผ่านเซ็นเซอร์ก่อน ก็ทีวีมันก็ฉายเหมือนกัน แต่มันไม่เคยโดนจับ ปัญหาคือก่อนจะจับน่าจะทำจดหมายแจ้งมาก่อน ว่าคุณผิดกฎหมายนะ แจ้งไปถึงสมาพันธ์ให้ไปดูแลก่อน ไม่อย่างนั้นทางการจะนำจับ เหมือนอย่างตอนที่เขาจะจับเรื่องคาเฟ่ เรื่องอะไรที่เปิดเกินตี ๒ เขาก็ต้องทำจดหมายแจ้งไปทางพวกนั้น ประกาศลงหนังสือพิมพ์ว่าห้ามเปิดเกินเท่านี้นะ เดี๋ยวเกินแล้วจับ แต่นี่ไม่ทำ จับเลย พอเจอหลาย ๆ ครั้ง สมาพันธ์เขาก็คงรู้สึกว่า โอย ตกลงจะเอาอย่างไรกัน มันห้ามไปทุกอย่างเลย ในเวลาวันต่อวันเลยในตอนนี้ เราก็เลยงงไปหมดแล้วที่ทำอยู่ตอนนี้อะไรผิดอะไรถูก จะโดนจับเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ถ้าบอกว่าผิดต้องบอกมาด้วยว่าผิดอย่างไร เช่น ถ้าห้ามสูบบุหรี่ก็ต้องห้ามทุกเรื่อง หนังฝรั่งก็สูบบุหรี่ไม่ได้ หนังเรื่องความรักครั้งสุดท้ายก็สูบบุหรี่ไม่ได้ แต่นี่ฉากแรกมานางเอกก็สูบบุหรี่แล้ว
แต่ส้มแบงค์สูบบุหรี่ไม่ได้ มันก็ต้องเหมือนกันสิ แต่ไม่เป็นไร ผมไม่ได้ปฏิเสธว่าทำอะไรได้หรือไม่ได้ ผมไม่ได้เรียกร้องว่าจะต้องเห็นนม เห็นคนสูบบุหรี่หรืออะไร ผมไม่ทำ เท่าที่คณะกรรมการกำหนดมาแล้วว่าห้ามอะไร ผมก็ทำตามนั้นทุกอย่าง ผมไม่ได้เรียกร้องว่าจะทำนะ แต่ต้องทำทุกเรื่องเท่ากัน เพราะผมเองเห็นว่าถ้าเรื่องนั้นเรื่องนี้ทำแบบไหนดี ผมก็ทำบ้าง คือน่าจะมีมาตรฐานของกองเซ็นเซอร์ที่เหมือนกัน แต่ตอนนี้มันไม่เท่ากัน แล้วพอเราถามไปว่าทำไมเรื่องนั้นทำได้ เขาก็บอกว่าคณะกรรมการคนละชุด หนังฝรั่งบางเรื่องเห็นนมอันเท่ากระด้ง หนังกลุ่มอเมริกันพาย นักศึกษาเปิดนมให้อาจารย์ดูเต็มจอเลย ยังทำได้ แล้วนมส้มแบงค์มันตรงไหน แทบจะมองไม่เห็นเลย แล้วก็เป็นนักศึกษาขายตัวที่ดูเครียด ๆ ดูแล้วก็แย่ ชีวิตของเขาไม่ดี เป็นการนำเสนอของสังคมด้านหนึ่งให้เห็นว่า มันไม่ดีนะ แต่โดนตัด หนังฝรั่งไม่โดน หนังไทยโดน มันก็เลยทำตัวไม่ถูก แล้วหนังเราก็ไม่ได้ไปมอมเมาแบบเขา หนังเราให้ความรู้สึกว่าอย่าไปเดินขายยาบ้า อย่าขายตัวมันไม่ดี เพราะอย่างนี้ ๆ นะ หดหู่จะตาย โดนตัดแต่หนังที่ดูแล้วเกิดอารมณ์ไม่โดน ผมก็เลยแค่อยากจะขอว่ามาตรฐานมันประมาณไหน คนทำงานจะได้ทำงานถูก ปัญหาคือตอนนี้ไม่รู้จริง ๆ ไม่รู้ทิศทาง ถ้าจะทำเป็นไม่ทำอะไรเลย ทำตัวโง่ ๆ ปัญญาอ่อน ทำหนังแม่ผัวลูกสะใภ้ตบตีกันบ่อย ๆ แล้วหนังเขาก็ดูเรื่องอื่นที่ได้อะไรอีกเยอะแยะ แล้วถามว่าทำไมเขาไม่ดูหนังผม พอหันกลับไปดู อ๋อ หนังผมปัญญาอ่อน ไม่รู้เรื่องอะไรเลย แต่พอเราทำดี ๆ มันก็โดนไง
นอกจากนั้น ยังกล่าวว่า คำที่มีปัญหาของหนังเรื่องนี้ก็คือ ศาสดาฆาตกร ๑ คมดาบ ฆ่า ๑ พันชีวิต สู่ทางแห่งนิพพาน แต่สื่อเขาเขียนไปว่า "สู่ธรรมแห่งนิพพาน" โอเค ตรงจุดนี้ตีว่าผิดทั้งคู่ แต่สู่ทางมันผิดน้อยกว่าสู่ธรรม สู่ธรรมมันมุ่งสู่นิพพานเลย แต่สู่ธรรมมันจะหมายถึง กำลังจะเดินทางไปทางนี้แต่อาจจะเดินไม่ถึง เดินผิดได้ แล้วเป็นความคิดขององคุลีมาลที่ผิดอยู่แล้ว แล้วองคุลีมาลก็ไม่ใช่พุทธ บอกหนังเรื่องนี้ไม่ใช่พุทธ แล้วใครว่าพุทธล่ะ หนังไม่ได้ทำเรื่องพุทธ ศาสนาพุทธยังไม่เกิด พระพุทธเจ้าก็สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าตอนกลาง ๆ เรื่อง และก็ยังไม่ได้เจอองคุลีมาล องคุลีมาลก็ยังคงเป็นศาสนาอื่นอยู่ เป็นพราหม์ มาเจอพระพุทธเจ้าแล้วจึงเปลี่ยนเป็นพุทธ เพราะฉะนั้นการที่
จะคิดไม่เหมือนพุทธมันก็เป็นไปได้ ตอนแรกพระพุทธเจ้ายังเคยไปทรมานตนเลย ซึ่งนั่นก็ผิด บิดเบือนเหมือนกัน แต่วันหนึ่งมีคนบอกสิ่งที่ดีกว่า ถูกต้องกว่า ก็ลดละเลิกปล่อยวางสิ่งที่เลวร้าย เหมือนกับเราทำหนังให้เห็นว่าสังคมเลวร้ายได้ กลุ่มคนไหนที่เดินทางผิด ก็กลับตัวได้ เลือกทางชีวิตที่ถูกต้องได้ แล้วก็คำสุดท้ายที่ว่า ไม่ควรแบ่งแยกเขาเรา (นี่เอาคำพระตอนบวชมานะ) ทุกชีวิตก็เหมือนหยดน้ำที่ตกมาจากฟ้าเดียวกัน แล้วไหลลงมาก็ไหลลงไปรวมที่เดียวกัน เขาหาว่ามันไม่ใช่พุทธ หนังเรื่องหนึ่งสอนให้คนเป็นคนดีก็พอแล้ว พระไตรปิฎกก็ไปอ่านกันอีกทีหนึ่ง หนังก็เป็นหนัง ซึ่งเราก็ขึ้นให้แล้วว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีการแต่งเติม มีการจินตนาการเพิ่มขึ้นมา ก็พอแล้ว ทำไมจะต้องว่าตรงนี้ไม่ใช่พุทธอีก ดูดเสียงของเราออก แล้วถามว่ารู้เรื่องอะไรคือพุทธไม่ใช่พุทธ คณะกรรมการแทบจะไม่มีใครรู้เลย มีอยู่ ๒ คน คือคนที่มาจากองค์กร กับคนที่กรรมาธิการศาสนา ซึ่งก็เถียงแทนเราแต่เถียงไม่ขึ้น เพราะองค์กรเขามีคนมาประท้วงอยู่อีก ๑๐๐ กว่าคน มันก็กดดัน ซึ่งทำให้หนังแบบนี้แทนที่จะมีการส่งเสริมอะไรอีกหลาย ๆ เรื่องที่คนอยากจะทำ ก็ไม่กล้าทำอีกแล้ว
ด้านความเสียหาย ในการไม่อนุญาตให้หนัง องคุลีมาล เข้าฉาย เจ้าของหนังกล่าวว่า องคุลีมาลตอนนี้ก็ขาดทุนไปไม่ต่ำกว่า ๔๐-๕๐ ล้าน ๔๕ ล้านขึ้นลงแน่ ๆ คือในส่วนของโปรดักชั่นก็อยู่ประมาณ ๓๐ ล้าน ในส่วนของโฆษณาก็ไม่ต่ำกว่า ๒๕-๓๐ ล้าน แล้วการที่เราต้องเพิ่มโฆษณาเข้าไปใหม่ เพราะว่าต้องเลื่อนฉาย การที่เราไปตัดใหม่ ทำโฆษณาใหม่ พิมพ์โปสเตอร์ใหม่ ทำตัวอย่างใหม่ เพื่อให้แก้คำ ที่ตอนแรกมีปัญหาเรื่องคำที่บิดเบือน เราต้องจ้างเขาทำใหม่ทุกครั้ง ทำใหม่หมดเลย แล้วยังต้องวิ่งไปจัดแถลงข่าว เพื่อให้คนที่เขายังไม่ได้ดูว่า ที่จริงแล้วหนังมันเป็นยังไง เราเชิญมาหมดไม่ว่าจะเป็นพระพยอม กรรมาธิการศาสนา เชิญมาดูเสร็จ เขาก็บอกว่าหนังดี เอารางวัลไป ถ้าใครมีอีโก้สูงหน่อย ก็จะบอกว่า ก็โอเคนะ ดีกว่าทำหนังผี ดีกว่าหนังนางนาก แล้วถามว่าบิดเบือนไหม ก็บอกว่าจะว่าบิดเบือนก็ไม่บิดเบือน
นั่นคือเบื้องหลังความรู้สึกที่คุณต้องวิเคราะห์ความเหมาะสมเองว่าเป็นจริงอย่างนี้หรือไม่ และเหตุการณ์แบบนี้ใครต้องรับผิดชอบในความเสียหาย อนาคตผู้เกี่ยวข้องควรดำเนินการแก้ไขอย่างไร เพื่อไม่ให้ศิลปะในแง่ธุรกิจ กลายเป็นปัญหาในการถกเถียงของสังคม ..
|