เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๘
๑๐๐ ปีพุทธทาส
ร่วมเสวนาโดย อรศรี งามวิทยาพงศ์ และ ประชา หุตานุวัตร
ดำเนินรายการโดย ไตรภพ ลิมปพัทธ์
วันอังคารที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๖ เวลา ๑๒.๐๐ – ๑๙.๐๐ น.
ณ ห้องประชุมศรีอยุธยา หอวชิราวุธ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ

ประชา หุตานุวัตร, ไตรภพ ลิมปพัทธ์, อรศรี งามวิทยาพงศ์

ศึกษาชีวิตและผลงาน พุทธทาสภิกขุ ผ่าน "เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา"

 

ไตรภพ : กราบนมัสการพระคุณเจ้า ท่านอาจารย์ ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านครับ วันนี้เราจะมาเสวนากันในหัวข้อ “ศึกษาชีวิตและผลงานของท่านอาจารย์พุทธทาส ผ่านหนังสือเล่าไว้เมื่อวัยสนธยา” แต่ก่อนที่จะเสวนากันก็คงต้องให้ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านได้ทราบก่อนว่าบุคคลสองท่านที่อยู่ข้าง ๆ ผมนี่เป็นใคร

          หลายท่านที่รู้จักแล้วก็ต้องขอประทานโทษด้วย บางท่านอาจจะยังไม่รู้จัก จึงต้องขอแนะนำทั้งสองท่านให้รู้จักก่อน ว่าเป็นใคร มีประวัติความเป็นมาอย่างไร เหตุใดถึงได้สามารถพูดถึงท่านอาจารย์ได้

          ขอเริ่มจากทางด้านขวามือของผมก่อนนะครับ ท่านสุภาพบุรุษ ท่านคือ อาจารย์ประชา หุตานุวัตร ประวัติของท่านก็เป็นคนที่น่าสนใจมาก ๆ เริ่มแรกเรียนมัธยมจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เป็นหนึ่งในกลุ่มยุวชนสยาม แล้วก็เข้ามาศึกษาต่อที่คณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะศึกษาอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เข้าร่วมทำกิจกรรมหลายอย่างด้วยกัน แต่กิจกรรมที่ท่านให้ความสนใจมาก คือ กิจกรรมเชิงความคิด ความอ่าน ในกระบวนการนักศึกษา หลังจากจบออกมาแล้ว ท่านก็ได้เข้าสู่เพศบรรพชิตและพำนักอยู่ในหลายแห่งหลายที่ แต่ที่หนึ่งที่ท่านพำนักอยู่ด้วยก็คือสวนโมกข์เก่า ที่ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีโอกาสได้ใกล้ชิดกับท่านอาจารย์พุทธทาส ได้เรียน ได้ซักถามเรื่องราวต่าง ๆ จากท่านอาจารย์พุทธทาสอย่างสม่ำเสมอ

          อาจารย์ประชามีผลงานแปลและเขียนหนังสือหลายเล่ม อาทิเช่น ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ ศาสตร์แห่งการดำเนินชีวิต อยู่อย่างขบถ ความรักในชีวิตขบถ รวมถึง “เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา” ซึ่งเป็นหนังสือที่รวมอัตชีวประวัติของท่านอาจารย์พุทธทาสและหนังสืออื่น ๆ อีกหลายเล่ม ภายหลังจากลาสิกขาแล้วก็ได้ช่วยงานขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสังคม และปัจจุบันก็ยังทำงานเพื่อสังคมอยู่มากมายหลายอย่าง ท่านบอกว่าท่านเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มของนักปลุกระดม แต่เป็นการปลุกระดมความคิดของคนให้ตื่นขึ้นมา

          อาจารย์เป็นคนที่โดดเด่นมากในองค์กรพัฒนาเอกชน ให้ความสนใจในด้านพุทธศาสนาและสังคมมาโดยตลอด และได้รับเลือกเป็นปาฐกแสดงปาฐกถาประจำปีของมูลนิธิโกมลคีมทองเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้รับเชิญไปเรียนหลักสูตรสำหรับนักฝึกอบรมจนจบชั้นสูงจาก A Movement for a New Society ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วก็ทำงานด้านการฝึกอบรมมานับครั้งไม่ถ้วน ให้กับคนไทยและคนต่างประเทศ รวมถึงเพื่อนบ้านของเรา

          ปัจจุบันยังทำงานอยู่กับเสมสิกขาลัยหลายโครงการ อาทิเช่น โครงการการเมืองสีเขียว โครงการอบรมผู้นำระดับรากหญ้า และเป็นวิทยากร เป็นล่าม ให้กับเสมสิกขาลัยในหลาย ๆ รายการ นี่คือประวัติของท่านอาจารย์ประชานะครับ

          ส่วนสุภาพสตรีอีกท่านหนึ่งที่นั่งอยู่ข้าง ๆ ผมนี้นะครับ ท่านเป็นคนสำคัญอีกคนหนึ่งของเราในวันนี้ จริง ๆ แล้วนามท่านถ้าเรียกเต็ม ๆ ต้องเรียกท่านว่า ดร. อรศรี งามวิทยาพงศ์ งานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาชีวประวัติของท่านอาจารย์พุทธทาส คือ เป็นบรรณาธิการหนังสือ “เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา” ฉบับปรับปรุงล่าสุด พ.ศ. ๒๕๔๖ นอกจากนั้นยังเป็นบรรณาธิการและเรียบเรียงหนังสือ “เกร็ดธรรมะจากเกร็ดชีวิตของพุทธทาสภิกขุ” ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ และ พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นบรรณาธิการ “สมุดภาพช่วงสุดท้ายแห่งชีวิตของพุทธทาสภิกขุ” ปี ๒๕๓๗ เป็นบรรณาธิการและผู้เรียบเรียง “พุทธทาสภิกขุคนไข้ที่ผมรู้จัก บันทึกจากแพทย์ผู้ถวายการรักษา” ปี ๒๕๓๖ เป็นบรรณาธิการ “อนุทินภาพ ๖๐ ปี สวนโมกข์ ประทีปธรรมแห่งสยาม” ปี ๒๕๓๕

          นั่นเป็นงานส่วนหนึ่งของทั้ง ๒ ท่านเท่านั้นครับ

          สำหรับประเด็นสำคัญที่เราจะพูดคุยกันในวันนี้ก็คือ เสวนาว่าด้วยเรื่องราวชีวิตของท่านอาจารย์ เป็นอย่างไร ผลงานของท่านอาจารย์มีอะไรบ้าง...

          ผมเชื่อว่าลูกศิษย์ลูกหาหลาย ๆ ท่านที่นั่งอยู่ที่นี่ พระคุณเจ้าที่นั่งอยู่ตรงนี้คงจะทราบกันดีอยู่แล้ว แต่ถึงแม้จะทราบกันดีอยู่แล้ว ถ้าเรามาพูดคุยกันโดยมารื้อฟื้นแล้วลองดูสิว่าสิ่งที่เราทรงจำ และสิ่งที่อาจารย์ท่านได้สอนเราไว้ เราจำได้ดีแค่ไหน เราได้ใช้ในชีวิตปัจจุบันมากขนาดไหน อย่างไร ตัวท่านอาจารย์เอง กว่าที่ท่านอาจารย์ใหญ่จะมาถึงตรงนี้ เป็นอย่างนี้ได้ ท่านเป็นอย่างไรมาบ้าง...

          เพราะฉะนั้นประเด็นที่จะพูดคุยกันประเด็นแรกในวันนี้ก็คือ ความสำคัญของท่านอาจารย์ ว่าท่านอาจารย์มีความสำคัญอย่างไร คนที่เป็นลูกศิษย์ลูกหาก็เรียกท่านต่าง ๆ นานา ท่านพุทธทาสภิกขุก็มี ท่านอาจารย์ใหญ่ก็มี ท่านอาจารย์ก็มี แต่วันนี้เราจะมาพูดคุยกันเรื่องความสำคัญของท่านอาจารย์พุทธทาส ว่าท่านมีความสำคัญอย่างไร ในประเด็นนี้ขอเรียนเชิญอาจารย์ประชาก่อนครับ เชิญครับ

 

ประชา : นมัสการพระคุณเจ้า เพื่อนสหธรรมิกทุกท่าน ผมมีความยินดีนะครับที่ได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับท่านทั้งหลาย ในเรื่องความสำคัญของท่านอาจารย์

          ก่อนอื่นผมขอทวนนิดหนึ่งว่าผมเรียนที่จุฬาฯ จริงแต่ไม่จบนะครับ การไม่จบผมถือว่าเป็นเกียรติประวัติ

          ผมว่าประเด็นแรกที่สำคัญที่สุดที่ท่านอาจารย์มีคุณต่อสังคมไทยและสังคมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมไทยก่อนนะครับ ก็คือ การที่ท่านทำให้ศาสนาพุทธมีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง

          ก่อนที่ท่านจะมีงานเผยแพร่ออกมานั้น ศาสนาพุทธในเมืองไทยเป็นศาสนาพุทธที่ตายแล้ว คือเป็นเพียงคำสอนทางด้านจริยธรรม เป็นเพียงคำสอนทางด้านศีลธรรมและพิธีกรรม ส่วนแก่นสาระในทางปรมัตถ์อันเป็นชีวิตของพุทธศาสนานั้น คนทั่วไปเชื่อว่าไม่เป็นจริงอีกต่อไป อันนี้ก็เป็นผลพวงมาจากการปฏิรูปคณะสงฆ์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปการศึกษาของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ก็ทำให้ความเชื่อลึกซึ้งด้านปรมัตถธรรมและการภาวนาค่อย ๆ หดหายไปจากสังคมไทย

          เพราะฉะนั้นคนรุ่นผมเวลาเติบโตขึ้นมา เราเรียนศาสนาพุทธในโรงเรียนก็เป็นเรื่องศีลธรรมที่น่าเบื่อ ท่านอาจารย์ทำให้ศาสนาพุทธมีชีวิตชีวาในแง่ที่ว่า ศาสนาพุทธไม่ใช่หลักจริยธรรมเท่านั้น ศาสนาพุทธเป็นเรื่องของการเข้าถึงชีวิตอย่างลึกซึ้ง การเข้าถึงการเป็นอารยชน ซึ่งเป็นไปได้จริงในชีวิตปัจจุบัน ไม่ใช่ต้องรอหลายภพหลายชาติในภายหน้า ในแง่นี้ท่านมีความสำคัญกับคนรุ่นใหม่ คนรุ่นผม และคนรุ่นต่อ ๆ มาอย่างยิ่ง

          คำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาสมีอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่รุ่นก่อนหน้าผมด้วย คือรุ่นอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ คำสอนของท่านมีเสน่ห์ ในแง่ที่ว่าท่านพูดความจริงกับเรานะครับ ท่านไม่ได้ใช้ศาสนาพุทธเป็นเพียงเครื่องประดับตกแต่งให้ทุกอย่างแลดูดีแบบคนหัวเก่าทั้งหลาย ท่านทำให้ศาสนาพุทธเป็นส่วนหนึ่งของความคิดฝ่ายก้าวหน้า ท่านพูดถึงปัญหาต่าง ๆ ที่ศาสนาพุทธเผชิญอยู่ซึ่งเราก็เห็นอยู่ ท่านพูดถึงความเสื่อมของคณะสงฆ์ ท่านพูดถึงปัญหาพระออกนอกลู่นอกรอยต่าง ๆ นี่ ผมว่าท่านสำคัญในแง่นี้

          ที่ท่านสามารถทำอย่างนี้ได้เพราะว่าท่านเองตัดสินใจกลับไปสวนโมกข์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ หลังจากที่พยายามมาศึกษาปริยัติธรรมในกรุงเทพฯ และเกิดความผิดหวังกับสภาพการณ์คณะสงฆ์ในกรุงเทพฯ ขณะนั้น

          เมื่อท่านกลับไปอยู่สวนโมกข์ท่านได้แกะรอยว่าอารยชนในสมัยก่อนตามพระไตรปิฎกว่าอยู่กันอย่างไร และท่านพยายามดำเนินชีวิตอยู่อย่างนั้น เอาหลักธรรมที่จะทำให้คนปรับตัวเองจากปุถุชน ค่อย ๆ ขึ้นมาเป็นกัลยาณชน ค่อย ๆ ก้าวขึ้นมาเป็นอารยชนนี่ทำอย่างไร อาศัยประสบการณ์ของท่านเอง อาศัยการทดลองอย่างยิ่งยวดด้วยชีวิตทั้งชีวิตของท่าน ความมั่นใจของท่านก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ที่จะถ่ายทอดธรรมะขั้นสูงและบอกว่ามันเป็นจริงได้ในโลกปัจจุบัน ธรรมะขั้นสูงไม่ใช่เรื่องที่ต่อเมื่อตายไปแล้วถึงไปถึง ไม่ใช่เรื่องต้องรอหลายภพหลายชาติ แม้การดับทุกข์ในปัจจุบันนี้ สำหรับปุถุชนถ้าเราสามารถเข้าใจหลักในเรื่องอนัตตาก็สามารถเอามาใช้ได้ ในปัจจุบัน ในชีวิตของฆราวาส ในชีวิตของคนที่ทำงานทำการ

          เพราะฉะนั้นท่านพูดฟันธงว่า “นิพพานอยู่ในวัฏฏสงสาร” ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด แล้วก็เป็นเรื่องที่ทำให้ชีวิตของศาสนาพุทธนี่กลับคืนมาครับ นี่เป็นประเด็นแรก ที่ผมว่าเป็นเรื่องสำคัญของท่าน

          แต่ท่านไม่ได้หยุดแค่นี้ ท่านไม่ได้ทำให้คนหนุ่มสาวรุ่นผมนี่เห็นว่าศาสนาพุทธมีความหมาย ให้เรารู้จักตัวเราเองอย่างลึกซึ้งเท่านั้น การทดลองของท่านยังเป็นฐานในการที่ท่านนำหลักธรรมในศาสนาพุทธมาวิพากษ์วิจารณ์ระบบสังคมที่เป็นอยู่ และเสนอระบบสังคมอย่างใหม่ ผมว่าอันนี้คุณของท่านนี่ใหญ่หลวงมหาศาล

          ท่านทั้งหลายศึกษาศาสนาพุทธที่เผชิญกับโลกสมัยใหม่ในรอบสองสามร้อยปีที่ผ่านมา ท่านจะเห็นว่าส่วนใหญ่นักคิดทางสายศาสนาพุทธจะบอกเราว่า ศาสนาพุทธเข้ากับสังคมสมัยใหม่ได้เพราะศาสนาพุทธเป็นวิทยาศาสตร์ ศาสนาพุทธมีเหตุมีผล คือเอาความคิดแบบฝรั่งเป็นตัวตั้ง เอาระบบคุณค่าความทันสมัยแบบฝรั่งเป็นตัวตั้ง แล้วบอกว่าเรานี่ดีเข้ากับเขาได้ อันนี้เป็นภาวะที่นักคิดฝ่ายศาสนาพุทธนี่มีปมด้อยมาตลอด

          ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายพุทธ ฝ่ายขงจื้อที่เมืองจีนก็มีปัญหาแบบนี้ตลอด ต้องพยายามอธิบายว่าขงจื้อดียังไง ๆ เพราะมันเข้ากับสมัยใหม่ได้

          อันนี้เป็นความต่างที่สำคัญและเป็นคุณอุปการะที่สำคัญที่สุด ที่ท่านอาจารย์มีต่อศาสนาพุทธ และมีต่อโลก ท่านบอกว่า “ไม่ใช่” เวลาท่านวิจารณ์สังคมสมัยใหม่ท่านเอาศาสนาพุทธเป็นตัวตั้ง เอาระบบคุณค่าของศาสนาพุทธเป็นตัวตั้ง แล้วบอกว่าอะไรบ้างในสังคมสมัยใหม่ใช้ได้ อะไรใช้ไม่ได้ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในทางสังคม

          ในแง่นี้ถ้าพวกเราได้ศึกษาติดตามความคิดร่วมสมัย เราจะเห็นว่าปัจจุบันมีการพูดถึงโพสโมเดิร์นนิสม์กันมาก..ความคิดหลังสมัยใหม่ ท่านอาจารย์นี่ท่านคิดเรื่องนี้มาก่อน ท่านเห็นเรื่องนี้มาก่อนคนอื่น พ.ศ. ๒๔๗๕ นี่นานนะครับ ความคิดเรื่องหลังสมัยใหม่เพิ่งมาเกิดหลังจากนั้นอีกสิบกว่ายี่สิบปี แล้วค่อย ๆ ขยายมาจนเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในปัจจุบันนี้ในนามของกระบวนทัศน์ใหม่ ในแง่ของการที่ชี้ให้เห็นว่า โลกตะวันตกกำลังเปลี่ยนขั้นพื้นฐานความคิด ออกจากสิ่งซึ่งถือกันว่าเป็นความคิดสมัยใหม่ กล่าวคือสมัยที่เราเรียกกันว่า ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการของฝรั่ง ที่เคยเชื่อวิทยาศาสตร์ เชื่อเหตุผล เชื่อว่าความรู้ สามารถทำให้มนุษย์เอาชนะธรรมชาติได้ ทำให้มนุษย์สามารถผลิตและบริโภคอย่างไม่มีที่สิ้นสุดได้ ท่านอาจารย์เห็นว่าความเชื่อเหล่านี้เป็นปัญหามาก่อนคนร่วมสมัยของท่าน

          พูดภาษาฝ่ายพุทธคือ ตั้งแต่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการเป็นต้นมามนุษย์เกิดความอหังการ เกิดความเชื่อว่าตัวเองจะสามารถครอบครองเอาชนะธรรมชาติได้ ท่านบอกว่า “โง่” นี่เป็นความคิดที่โง่ ท่านตีเป้งลงไปที่หัวใจของความทันสมัย และท่านยังบอกอีกว่า ความสุขนี่ไม่ใช่การวิ่งตามสนองตัณหา ซึ่งความคิดแบบทันสมัยทั้งหมดเชื่อในเรื่องนี้ เชื่อในเรื่องการขุดค้นทรัพยากรขึ้นมาเผาผลาญ อย่างไม่มีที่สิ้นสุดเพื่อสนองตัณหาของมนุษย์ ท่านบอก “ไม่ใช่ ! ความสุขอยู่ที่การหยุดตัณหา หยุดความโลภ ความโกรธ ความหลง”

          อันนี้ผมว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก แล้วเวลาท่านจับฐานคิดอันนี้ ซึ่งอยู่นอกกรอบความคิดที่อยู่ในกระแสหลักของสังคมไทยและสังคมโลกในปัจจุบันนี้ ท่านก็มาวิเคราะห์ระบบการศึกษาว่าระบบการศึกษาของเราผิดอย่างไร ทั้งท่านมาวิเคราะห์ระบบสังคมการเมืองด้วย

          สมัยที่ท่านยังมีกำลังวังชานี่ ในสังคมไทยมีการถกเถียงกันอย่างจริงจังระหว่างฝ่ายทุนนิยมกับสังคมนิยม ท่านก็ร่วมถกเถียงด้วย แต่ข้อแตกต่างก็คือว่า ท่านให้ “คำนิยามใหม่” กับคำเหล่านี้ รวมทั้งคำว่าสังคมนิยมด้วย ท่านให้คำนิยามใหม่ ตีความใหม่ด้วย เอาหลักพุทธเข้าไปตีความ ซึ่งเป็นขบวนการที่แยบยลและน่าสนใจมาก

          ผมว่าเราอาจจะยังศึกษาเรื่องอย่างนี้น้อยไป และที่สำคัญที่สุดก็คือ ท่านวิเคราะห์วิพากษ์ระบบบริโภคนิยม ระบบที่ว่าชีวิตที่ดีต้องบริโภคมาก ๆ ต้องใส่เสื้อผ้ายี่ห้อนั้น ต้องมีรถยนต์ยี่ห้อนี้ ต้องมีเครื่องใช้ เช่น นาฬิกายี่ห้อนั้น คำสอนพื้นฐานของท่านบอกว่านี่เป็นมายา นี่เป็นหนทางที่ผิด นี่ไม่ใช่ความใฝ่ฝันที่มนุษย์ควรจะก้าวไป ผมว่าอันนี้เป็นเรื่องที่เป็นคุณยิ่งใหญ่ของท่าน

          ท่านเสนอความคิดทางออกว่าต้องใช้ระบบ “ธรรมิกสังคมนิยม” ท่านใช้คำว่า “สังคมนิยม” นี่คนละความหมาย คนละแบบ คนละบริบทกับสังคมนิยมแบบฝรั่ง สังคมนิยมแบบจีน แบบรัสเซีย นี่คนละบริบทกันโดยเด็ดขาด แล้วก็สิ่งที่ท่านเสนอ ท่านไม่ได้เสนอเป็นโครงสร้างสังคมแบบใหม่ แต่ท่านเสนอ “คุณค่าพื้นฐานแบบใหม่” ว่าเป็นอย่างไร นี่เป็นประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง

          การเสนอของท่านก็กว้างพอที่จะนำไปใช้ตีความ เพื่อเอาธรรมะเข้าไปประยุกต์กับระบบสังคมที่มีอยู่หลายรูปแบบได้ ผมว่านี่เป็นความสำคัญของท่านประการที่สองนะครับ คือประยุกต์ธรรมเพื่อสังคม

          และประการที่สาม ท่านช่วยให้พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทของเรานี่ใจกว้างขึ้น

          โดยธรรมชาติของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทของเรานี่ ตามพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ เราเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม เราเป็นฝ่ายรักษาของเก่า ซึ่งเป็นของดี แต่มันดีด้านเดียว ดังนั้นท่านอาศัยพื้นฐานของฝ่ายเถรวาทขยายออกไปหามหายานขยายออกไปหาวัชรยาน ขยายออกไปหาคริสต์ศาสนา ขยายออกไปหาการเสวนาที่เข้าใจสังคมสมัยใหม่และใช้ภาษาอย่างใหม่ ใช้กระบวนการเรียนการสอนอย่างใหม่ แม้จะตั้งฐานอย่างมั่นคงอยู่ในสถาบันเดิมในแบบเถรวาทก็ตาม

          เพราะฉะนั้นคำสอนของท่านนี่ จับเอาความเฉพาะในสังคมไทย จับเอาความเฉพาะของเถรวาทก้าวไปสู่ความเป็นสากล อันนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สถาบันสอนศาสนาพุทธในตะวันตก ซึ่งเดี๋ยวนี้มีจำนวนมาก แล้วก็เกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา จะต้องใช้หนังสือของท่านที่แปลเป็นภาษาอังกฤษมาเป็นหลักสูตรในเกือบทุกสถาบัน โดยเฉพาะที่อาจารย์โดนัล สแวร์เรอร์ เป็นผู้แปลและเรียบเรียง

          นี่เป็นประการที่สาม ที่เป็นความสำคัญของท่าน คือ ท่านทำให้ศาสนาพุทธแบบเถรวาทพ้นจากความคับแคบไปสู่ความเป็นสากล และพ้นจากความเป็นไทยไปสู่นานาประเทศ

          โดยสรุปนะครับ ความสำคัญของท่านคือ ท่านทำให้นักแสวงหาร่วมสมัย มีกุญแจที่จะไขไปสู่การมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมายในบริบทของวัฒนธรรมของเราเอง หาความสุขที่ถาวรให้กับชีวิตได้ และทั้งความหมายและความสุขนั้นไม่ได้เฉพาะปัจเจกบุคคล ท่านเสนอให้สังคมต้องเปลี่ยนแปลง สังคมต้องปรับปรุง สังคมต้องแก้ไขตัวเองให้ดีขึ้น และท่านได้ขยายฐานนี้จากความเป็นไทย เป็นพุทธเถรวาทไปสู่ความเป็นสากลและนานาชาติ ผมขอยุติช่วงแรกเพียงเท่านี้ครับ

 

ไตรภพ : ขอบคุณท่านอาจารย์ประชาเป็นอย่างยิ่งนะครับ ความจริงแล้วคำถามที่ถามไปเมื่อสักครู่ถามว่า “ความสำคัญของท่านอาจารย์มีอะไรบ้าง” ท่านอาจารย์ประชาพูดได้มากมายกว่าที่ผู้ถามคิดไว้ว่าจะถามอีกนะครับ และผู้ฟังก็คงระลึกได้ด้วยเช่นเดียวกันนะครับ ว่าจริง ๆ แล้วเวลาที่เรานั่งอยู่ในที่นี้ เราเห็นว่าความสำคัญของพุทธศาสนามีอย่างไร เราเห็นเพื่อตัวเองอย่างเดียวโดยส่วนใหญ่

          เรามักจะคิดว่าเราจะต้องทำอย่างไรให้ตัวเราหลุดพ้น ทำให้ตัวเราเป็นอย่างไร และคิดอย่างไรกับตัวเรา แล้วก็คนรอบข้าง แต่ท่านอาจารย์นำศาสนาพุทธมาไม่ใช่แค่เพื่อตัวตนของท่านให้หลุดพ้นอย่างเดียว ท่านต้องการให้ทั้งสังคม ทั้งโลก หลุดพ้นออกไปจากสิ่งที่เกาะกุม หรือสิ่งที่ปิดบังอยู่

          ท่านเป็นคนที่เผยความลับของการดำรงชีวิต หรือการมีชีวิตอยู่อย่าง “ผู้รู้” และ “รู้” อย่างถูกต้อง รู้ด้วยปัญญาที่แท้จริง รู้ได้ว่าอยู่อย่างสามัคคี รู้ให้โลกอยู่อย่างสามัคคีได้ เพราะฉะนั้นสิ่งต่าง ๆ ที่ท่านอาจารย์ทำทุกอย่างมาตลอดเวลาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ จนมาถึงตรงนี้นะครับ จะมองเห็นว่าหนังสือทุกเล่ม ทุกขบวนการ ทุกอย่างที่ท่านอาจารย์มีอยู่ตรงนี้ เป็นไปเพื่อสิ่งเหล่านี้ทั้งนั้น เป็นไปเพื่อสันติธรรมโดยแท้จริง นั่นเป็นส่วนหนึ่งของความสำคัญที่ท่านอาจารย์มีต่อพวกเรา มีต่อศาสนาพุทธ และก็มีต่อหลายสิ่งหลายอย่างในโลกนี้

          แต่คราวนี้อยากจะมาคุยกับท่านอาจารย์อรศรีบ้างนะครับว่า เวลาเราทำหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งคงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำหนังสือของคนซึ่ง... อันนี้ขอคุยกับอาจารย์ก่อน กับคนที่ไม่ใช่เป็นแค่คนธรรมดา เป็นคนที่แม้เราไปนั่งคุยด้วย เราพูดอยู่ด้วย หรือเราได้ฟังสิ่งที่ท่านพูดออกมาคำหนึ่งเป็นธรรมะหมด อะไรก็ตามที่ท่านพูดมาเราก็สะดุ้ง อะไรก็ตามที่ท่านพูดมาเราก็สั่นไหวหมด เราจะต้องระวัง

          ยากมากไหมครับในการทำหนังสือเล่มนี้...

 

อรศรี : นมัสการพระคุณเจ้า และท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

          จริง ๆ เวลาทำหนังสือเล่มนี้นี่นะคะ ในส่วนนี้อาจจะต้องถามคุณประชา เพราะคุณประชาจะเป็นผู้สัมภาษณ์เป็นหลัก แต่ว่าดิฉันจะทำหน้าที่คล้าย ๆ บรรณาธิการ ดูว่าคำถามตรงนี้ขาดตกบกพร่องตรงไหน ตรงไหนน่าจะถามเสริม แต่ว่าเท่าที่ได้ไปคลุกคลี เพราะว่าเราทำหนังสือหลายเล่ม เล่มสุดท้ายที่ได้ทำแล้วก็เป็นสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่คือ สมุดภาพ ๖๐ ปี สวนโมกข์ ซึ่งตรงนั้นต้องไปขออนุญาตท่านหลายเรื่อง เราก็จะได้เห็นสิ่งที่อยู่ระหว่างบรรทัด ซึ่งไม่สามารถนำมาเสนอได้ในหนังสือ ตรงนี้ค่ะดิฉันคิดว่าตัวเองได้ประโยชน์มาก

          เราได้เห็นความบากบั่น ความอดทนการทุ่มเทของท่าน ได้เห็นกระบวนการเรียนรู้ของท่าน ว่าท่านกว่าจะมาถึงตรงนี้ได้ ท่านต้องอุทิศตัวเองหรือว่ามีผู้ช่วยมากน้อยแค่ไหนอย่างไร

          เราได้เห็นภาพรวมของกระบวนการที่เกิดขึ้นของพุทธทาสไม่ใช่เพียงผ่านหนังสือ แต่ผ่านสิ่งที่เป็นวิถีชีวิตท่าน ผ่านกุฏิซึ่งเป็นกุฏิหลังเดิมที่เราเข้าไปเพื่อรื้อค้นภาพเก่า ๆ หรือค้นหนังสือของท่าน เราจะพบว่าท่านอ่านหนังสือเยอะมาก ท่านเป็นคนที่สนใจใฝ่รู้สารพัดเรื่อง เพราะฉะนั้นเราจะได้ประโยชน์ตรงนี้มากกว่า

          แต่ถามว่ามีความรู้สึกว่าเกร็งหรือไม่ว่าเราจะผิดพลาด นี่ไม่รู้สึกนะคะ เพราะว่าท่านเป็นผู้มีความเมตตาและขันติ ท่านมอง “ความเป็นธรรมดา” ของเรา คือ วัน ๆ นี่... ดิฉันเคยเรียนผู้ที่เคยมานั่งฟังอภิปรายว่า ท่านนั่งอยู่ตรงม้าหิน แล้วก็มีคนเอาเรื่องสารพัดมาเล่าให้ท่านฟัง เพราะฉะนั้นท่านก็คงน่าจะมีความอดทนกับดิฉันอยู่บ้างพอสมควร

 

ไตรภพ : ครับผม ทีนี้มาพูดถึงเรื่องของหนังสือ “เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา” นี่นะครับ ได้เรียนรู้อะไรจากหนังสือเล่มนี้บ้างครับ

 

อรศรี : ประเด็นที่อยากเสริมคุณประชาก่อนที่จะมาสู่ประเด็นที่คุณไตรภพพูดก็คือว่า ดิฉันคิดว่านอกจากคุณูปการที่ท่านอาจารย์พุทธทาสมีอย่างที่คุณประชาเรียนให้ทุกท่านทราบแล้ว ดิฉันคิดว่าอีกประเด็นหนึ่ง ถ้าพูดในแง่ของรูปธรรมหรือปัจเจกแล้ว มันมีผลต่อตัวดิฉันเอง ซึ่งดิฉันเชื่อว่าคงมีผลต่อหลาย ๆ ท่านหรืออาจจะทุกท่านที่นั่งอยู่ในที่นี้ ก็คือ ท่านอาจารย์พุทธทาสเป็น “แรงบันดาลใจ” ที่ทำให้เราเชื่อว่าพุทธศาสนามีชีวิตได้จริง

          คืออย่างที่คุณประชาพูดมานี่มันใช่นะคะ ถูกต้องเลย ถ้าเรามองในแง่ภาพรวม กระบวนการเคลื่อนไหวทั้งหมดของสังคม แต่ถ้าเราถามตัวเราล่ะ ดิฉันคิดว่าเราได้เห็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมคือ “ถ้ามีผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ โลกไม่เคยว่างเว้นจากพระอรหันต์” แต่เราไม่ได้ตีความว่าท่านเป็นพระอรหันต์หรือเปล่านะคะ นี่เป็นประเด็นที่ท่านไม่พอใจที่จะให้มีการพูดถึง แต่ว่าธรรมะที่พูดไว้เมื่อ ๒,๕๐๐ ปีก่อนหลายอันเลย ที่เราเห็นได้ในวิถีชีวิตหรือในสิ่งที่ท่านเอามาสอน ในสิ่งที่ท่านปฏิบัติให้ดู ทำให้เรารู้ว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นจริงได้ มันยาก แต่ว่าไม่ใช่ทำไม่ได้

          ดิฉันคิดว่า คำว่ามัน ยาก กับการ ทำไม่ได้ มันต่างกันนะคะ ถ้าทำไม่ได้หมายถึงปิดประตูไม่ต้องไปพูดไม่ต้องไปรื้อฟื้น แต่ท่านทำให้เห็นว่า มันทำได้ แต่มันยาก และความ “ยาก” หรือ “ง่าย” มันขึ้นอยู่กับว่าเราจับประเด็น เงื่อนไข สาเหตุได้พบหรือเปล่า ซึ่งท่านก็แสดงให้เราดูว่า ถ้าเราต้องการมีวิถีชีวิตที่ประเสริฐ วิถีชีวิตอย่างเมื่อ ๒,๕๐๐ ปีที่พระศาสดาสอนไว้นี่เราต้องไปตามนี้ แล้วท่านก็อุทิศตัวท่านเองแจกแจงแสดงให้ดูแล้วก็สอนด้วย

          ดิฉันคิดว่าตรงนี้เป็นคุณูปการสำคัญ ในระดับที่เวลาเราพูดถึงตัวปักเจกบุคคล

          ตอนนี้ถ้าถามว่าดิฉันเองได้ศึกษาเรียนรู้อะไรจากการทำหนังสือ... ไม่ใช่เฉพาะเล่มนี้นะคะ ดิฉันคิดว่าหลายเล่มที่ทำ ดิฉันพยายามประมวล แล้วก็คิดว่าเวลานำเสนอนี่มันไม่ใช่เป็นด้าน ๆ แต่ดิฉันคิดว่าสิ่งที่ดิฉันได้เรียนรู้แล้วก็อยากให้ท่านผู้อ่านลองไปตั้งข้อสังเกตก็คือว่า ดิฉันคิดว่าได้ “วิธีการมองโลก” กับ “วิธีคิด”

          อันนี้เป็นเรื่องสำคัญนะคะ

          เรา “เชื่อ” ว่าโลกเป็นยังไงนี่เราจะ “ทำ” ไปตามนั้น ถ้าเราเชื่อว่าโลกแบนเราก็จะเดินหน้าไปเรื่อย ถ้าเราเชื่อว่าโลกกลม เราก็จะเชื่อว่าเราเดินแล้วมันต้องหมุนกลับที่เดิม ถ้าเราเชื่อว่าชีวิตมันเป็นเส้นตรงตายแล้วดับ เราก็จะดิ้นรนที่จะมีชีวิตอยู่ให้นาน แต่ถ้าเราเชื่อว่าชีวิตเป็นวัฏฏะแบบพุทธศาสนาสอน เราจะไม่กลัวความตาย

          เพราะฉะนั้นการมองโลกธรรมชาติให้ถูกต้องหรือมีสัมมาทิฐิเป็นเบื้องต้นนี่เป็นสิ่งสำคัญที่สุด

          ซึ่งดิฉันคิดว่าท่านอาจารย์พุทธทาสเริ่มขบวนการสวนโมกข์จากการทำตรงนี้ให้ชัดเจนขึ้น ให้คนได้มองโลกที่เราอยู่นี่ให้ถูกต้อง แล้วก็ด้วยภาษาที่ง่าย ด้วยภาษาที่เข้าใจ ว่าโลกมันเป็นอย่างนี้ “โลกมันเป็นเช่นนั้นเอง” คำพูดเหมือนง่าย ๆ นะคะ แต่ความเป็นเช่นนั้นเองของท่านหมายถึงอย่างไร ท่านแสดง แล้วท่านก็ สอน ว่าโลกทั้งหมดมันสัมพันธ์กัน

          ท่านพูดในเรื่องของ “ธรรมิกสังคม” ธรรมชาตินี่เป็น “สังคมนิยม” นะคะ มันอยู่ร่วมกัน สรรพชีวิตนี้ไม่ได้แยกกัน ไม่มีนายทุน ไม่มีการกดขี่ ทุกอย่างพึ่งพิงอาศัยกัน

          เพราะฉะนั้น เมื่อปรมัตถ์สัจจะ หรือความจริงของโลกมันเป็นอย่างนี้ เราในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เราจะต้องเรียนรู้ แล้วก็จัดปรับชีวิตของเราให้สอดคล้องไปกับกฎเกณฑ์อันนี้ ซึ่งนั่นก็คือการที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น

          แล้วท่านก็เอาการมองโลกนี่มาอยู่ในวิธีคิดของท่าน ถ้าเราไปอ่านหนังสือเราจะพบตลอดเวลา ว่าความคิดของท่านอาจารย์นั้น ท่านคิดถึงเรื่องของการอยู่อาศัยร่วมกัน การพึ่งพาอาศัยกัน การมีชีวิตที่สอดคล้องไม่ทำลาย ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ แล้วก็ทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้นด้วย ก็คือ ใช้ทุกอย่างด้วยความประหยัด

          แล้วท่านก็มีจิตใจที่จะให้อภัยมนุษย์ธรรมดานี่ได้สูง เหมือนที่คุณไตรภพถามว่าเวลาเข้าไปแล้วเราเกร็งไหม เรากลัวว่าจะทำผิดอะไรอย่างนี้ ดิฉันมีความเข้าใจอย่างนี้นะคะ ว่าเวลาศึกษางานท่าน ดิฉันเชื่อว่าความที่ท่านเข้าใจความเป็นธรรมดาของโลก ท่านก็เข้าใจว่ามนุษย์มีธรรมชาติทั้งฝ่ายที่ดีแล้วก็ฝ่ายที่ไม่ดี ฝ่ายที่ดีต้องช่วยกันขัดเกลา ฝ่ายที่ไม่ดีต้องหากระบวนการทางสังคม หรือชุมชน หรือสังฆะ เข้ามาควบคุมสิ่งที่ไม่ดีนั้นไว้ จึงต้องมีกัลยาณมิตรนั่นเอง เพื่อที่ว่าเราจะได้ปรับปรุงสิ่งที่ไม่ดีให้ดีขึ้นมา

          เพราะฉะนั้นเวลาที่ท่านมองอะไร หรือคนที่เข้ามาหาท่านนี่ ท่านก็จะมองคนเหล่านั้นในแง่ว่าคนเหล่านั้นคือเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย คือ สัตว์โลกซึ่งยังไม่ได้ขัดเกลา สิ่งที่เข้ามาหาท่านคือกิเลสแบบหนึ่ง คือโทสะแบบหนึ่ง คือโมหะแบบหนึ่ง ไม่ได้มองเราในฐานะบทบาทสมมุติเท่านั้น

          ท่านจึงมีเมตตาเสมอ เพราะท่านไม่ได้มองเราในฐานะของนาย ก นาย ข ท่านจึงปฏิบัติต่อบุคคลต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับเจ้าจนกระทั่งถึงตาสีตาสา ปฏิบัติกับทุก ๆ ชนชั้นด้วยความพอเหมาะพอดี เพราะท่านเชื่อ และไม่มีวิธีคิดที่แบ่งแยก ท่านมองว่าทุกคนสำคัญหมด มนุษย์เหมือนกันเพราะว่ามนุษย์มีปลายทางคือการไปสู่พระนิพพาน แล้วก็มนุษย์มีศักยภาพที่จะไปตรงนั้นเหมือนกัน วิธีคิดของท่านตรงนี้มันเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตของท่านหลายเรื่อง

          เอาเรื่องที่สอดคล้องกับที่คุณประชาพูดก่อนก็ได้ ขออนุญาตยกตัวอย่างนะคะ จะได้เป็นรูปธรรม คุณประชาพูดว่าท่านมองเห็นอะไร ๆ ก่อนคนอื่นได้เยอะ ดิฉันคิดว่ามาจากการที่ท่านมีความชัดเจนในเรื่องการมองโลก ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า มีเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้มากราบเรียนท่าน ว่าจะขอถวายรางวัลนักอนุรักษ์ธรรมชาติดีเด่นให้กับท่าน แล้วท่านก็ปฏิเสธไป ก็กราบเรียนถามท่านว่าทำไมท่านปฏิเสธ ท่านบอกว่าท่านไม่ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะว่าท่านได้ห้ามชาวบ้านรอบสวนโมกข์ทั้งหมด หรือในเขตไชยานี่ ไม่ให้ถางป่าเพื่อปลูกสวนยางตามนโยบายของรัฐ ตามกระแสอยากรวย “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข”

          ตอนนั้นกระแสมาแรง ท่านก็พยายามค้านว่า “อย่าทำนะ ทำแล้วจะทำให้ป่าหมด น้ำจะหมด...” เพราะว่าท่านเข้าใจเรื่องของธรรมชาติ ท่านเข้าใจความสัมพันธ์ของธรรมชาติ เพราะฉะนั้นท่านรู้ว่า ถ้ามนุษย์ไปกระทำย่ำยีต่อธรรมชาติผลมันจะกลับมาสู่ตัวเองอย่างไร ท่านเห็นก่อนคนอื่นมาก แล้วท่านก็เตือน แต่ชาวบ้านไม่ฟัง เพราะฉะนั้นก็นำมาสู่วิกฤตในเรื่องน้ำของเขตพื้นที่นั้น ซึ่งสุดท้ายก็ต้องมาขอใช้น้ำในพื้นที่ ๓๐๐ กว่าไร่ที่สวนโมกข์รักษาไว้

          เพราะฉะนั้น ดิฉันยกรูปธรรมให้เห็นว่าท่านมีวิธีการมองโลกที่ทำให้ท่านเข้าใจ แล้วก็สามารถมองเห็นได้ไกลกว่าคนอื่น ตรงนี้เป็นรูปธรรมหนึ่ง ในแง่ของวิถีชีวิต ดิฉันเชื่อว่าวิธีการมองโลกส่วนหนึ่งที่ดิฉันได้เรียนแล้ว เรื่องการที่ท่านจัดความสัมพันธ์กับบุคคลเป็นอีกอันหนึ่งที่ชัดเจนมาก ดิฉันเชื่อว่าเรื่องของการใช้ทรัพยากรเป็นประเด็นที่ดิฉันเรียนรู้จากท่านค่อนข้างเยอะ แล้วก็รู้สึกละอายใจหลาย ๆ ครั้ง เหมือนกับมีท่านคอยเตือนอยู่ เวลาเราจะใช้ทรัพยากร

          ความที่ท่านมองโลกสัมพันธ์กัน ท่านตระหนักรู้ว่ามนุษย์ต้องใช้ทรัพยากรแค่ไหนอย่างไร แต่ท่านไม่ได้คิดว่าทุกคนต้องเหมือนท่าน ท่านรับได้ว่ามีหลาย ๆ รูปแบบ เพราะท่านเข้าใจความเป็นมนุษย์ ว่าแต่ละคนมีฐานมาไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นท่านก็จะมีความยืดหยุ่น ไม่ใช่มีไม้บรรทัดอันหนึ่งที่ไปวัดว่าใครใช่ไม่ใช่ ดีไม่ดี อะไรอย่างนี้นะคะ

          ท่านเข้าใจผู้อื่นสูงมาก แต่ว่าในแง่การปฏิบัติของท่านเอง ถ้าเราไปดูเราจะเห็นว่าการคิดการมองโลกของท่านที่ท่านเชื่อว่าทุกอย่างมันสัมพันธ์กัน ทรัพยากรทั้งหมดถ้ามนุษย์ใช้อย่างไม่ถูกต้องมันส่งผลกระทบกลับมา เหมือนกับเรื่องน้ำที่ดิฉันยกเป็นตัวอย่าง ดังนั้นเวลาท่านใช้ทรัพยากรเพื่อตัวท่านเองนี่ ในฐานะของพระท่านใช้เหมือนเดิมหมด

          ถนนสายเอเซียตัดผ่านสวนโมกข์เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๒๐ พระอุปัฏฐากเล่าว่า ท่านอาจารย์ยังใช้ข้าวของวิถีชีวิตเหมือนกับพระป่าทุกประการ ท่านยังอาบน้ำจากน้ำในโอ่ง ท่านยังนอนกุฏิแคบ ๆ ตามพระวินัย แต่ถ้าหากว่าท่านมีเงื่อนไขเรื่องเจ็บป่วยท่านก็จะยืดหยุ่น ไม่ใช่ตรงเป๊ะทุกอย่าง

          แล้วท่านก็ใช้ทรัพยากรทุกอย่างอย่างประหยัดมาก ท่านยังอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ไก่ยังมาไข่บนโต๊ะทำงานของท่านได้ เหมือนกับตอนที่ท่านอยู่สวนโมกข์ยุคบุกเบิกเมื่อ ๕๐ ปีก่อน หมายความว่า ๕๐ ปีในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านนั่งทำงาน มีชีวิตอยู่กับแย้ กับสารพัดอย่าง

          ท่านเรียนรู้... ถ้าเราได้ลองอ่านหนังสือเล่มนี้ในภาคแรกนะคะ เราจะเห็นเลยว่าท่านเรียนรู้จากธรรมชาติเยอะมาก อันนี้นี่เองที่ทำให้ท่านเข้าใจเรื่องการมองโลก ซึ่งอันนี้สังคมปัจจุบันเสียเปรียบ เพราะว่าเราห่างไกลธรรมชาติ เราไม่มีโอกาสที่จะได้เรียนรู้การมองโลกแบบของท่าน เราก็จะเรียนรู้ผ่านจอคอมพิวเตอร์ ไปเวบไซต์ไหน มีสอนเรื่องธรรมชาติไหม ซึ่งอันนั้นมันเป็นแค่ความจริงแบบหลอก ๆ เป็น “ความจริงเสมือน” ที่ไม่ใช่ความจริงของแท้

          วิธีคิดอีกอันหนึ่งที่เห็นชัดเจนตอนเจ็บป่วย เกี่ยวกับเรื่องการใช้ทรัพยากรของท่าน ซึ่งดิฉันคิดว่ากำลังวิกฤต ณ ขณะนี้ ในสังคมของโลก คือเรื่องการใช้ทรัพยากร ดิฉันถึงอยากเน้นประเด็นนี้เพราะว่ามันมีคนจำนวนหนึ่งใช้ทรัพยากร ในขณะที่คนอีกจำนวนหนึ่งไม่มี หรือมีไม่พอ แต่บางครั้งเราก็คิดไปว่าถ้าทำให้มนุษย์มีพอปัญหามันจะหมด ก็ไม่ใช่... มนุษย์มีพอแต่มนุษย์อาจไปเบียดเบียนเอาจากคนอื่นมาก็ได้ เพราะฉะนั้น ดิฉันเชื่อว่าวิธีคิดของท่านอาจารย์นี่ ท่านคิดไม่ใช่เฉพาะความมีอยู่มีกินของมนุษย์ แต่คิดไปถึงสรรพชีวิตอื่น สรรพสัตว์อื่นด้วย

          ตอนที่ท่านอาพาธนะคะ หมอที่มารักษาพยายามจะพูดบอกให้ท่านเข้าโรงพยาบาล อย่างนั้นอย่างนี้นะ ท่านไม่เข้า ถ้าอย่างนั้นจะย้ายเครื่องตรวจคลื่นหัวใจ เครื่องโน่นเครื่องนี่ มาที่สวนโมกข์ มาที่กุฏิของท่าน เพื่อให้มารักษาท่าน ประเด็นที่น่าสนใจคือ ท่านเคยปรารภบอกว่า ทำไมต้องเอาทรัพยากรมากมายมาให้กับคนอายุ ๘๐ ซึ่งอยู่เกินพระพุทธเจ้าไปแล้ว เพราะฉะนั้นอยู่เกินนี่ก็ถือว่าละอายใจต่อพระพุทธเจ้าแล้ว

          คือท่านไม่ได้ถือว่าตัวท่านเองสำคัญ แต่ท่านถือว่าทรัพยากรมันต้องแบ่งปันกันหมด เพราะฉะนั้นในวิธีคิดของท่านเราจะพบเรื่องพวกนี้เยอะ เรื่องการที่ท่านพยายามสอนให้เราเรียนรู้มองโลกแล้วก็มีวิธีคิดของคนอื่นเข้ามาอยู่ในความคิดของเรา

          ก่อนจบ ถ้าเราจำได้นะคะ ในเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์ ดิฉันคิดว่าท่านสอนมาก เราคงจำข้อความซึ่งท่านพิมพ์มา เป็นลายมือท่าน ที่เขียนว่า คนนั้นมีสิทธิ คนอื่นเขามีสิทธิ ที่จะแสวงหาเหมือนกับเรา คนอื่นเขามีสิทธิที่จะโลภเหมือนกับเรา คนอื่นมีสิทธิที่จะอย่างนั้นอย่างนี้นะคะ เพื่อให้เราเข้าใจมนุษย์ผู้อื่น หรือว่าคำที่ถูกยกมาพูดบ่อยก็คือ “เขามีความเลวบ้างช่างหัวเขา จงเลือกเอาส่วนที่ดีเขามีอยู่” ท่านพยายามที่จะให้เราเอาธรรมะนี่เข้ามาปรับระบบความสัมพันธ์ เพราะตราบใดก็แล้วแต่นะคะ ปัญหาทั้งหมดแก้ไขไม่ได้ถ้ามนุษย์ไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ดิฉันเชื่อว่าท่านไม่ได้สอนพุทธศาสนาในระดับของปัจเจก ให้คนคนเดียวดี นี่ท่านไม่... ดิฉันตีความเอาเอง

          แต่ดิฉันเชื่อว่าท่านให้ความสำคัญกับการที่มนุษย์ต้องปรับความสัมพันธ์เข้าหากัน มนุษย์ต้องมองมนุษย์ในฐานะใหม่ เพื่อที่เราจะร่วมกันแก้ไขปัญหา เพราะขนาดของปัญหามันใหญ่เกินกว่าจะมีคนดีสักคนเดียว สองคน สามคน หรือสิบคนก็แก้ไม่ได้

          เราต้องแก้ปัจจัยสิ่งแวดล้อม... ซึ่งถ้าอ่านหนังสือเล่มนี้ท่านจะเห็นว่า “ความเป็นพุทธทาส” ที่ยิ่งใหญ่ได้นั้น ต้องอาศัยโยมแม่ อาศัยโยมพ่อของท่าน อาศัยกัลยาณมิตร ตารวย ตาอะไรอีกหลายคนนะคะ รวมทั้งโยมน้องของท่านคือ คุณธรรมทาส รวมทั้งท่านเจ้าคุณที่เป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ รวมทั้งพระผู้ใหญ่อีกมากมาย ที่เข้ามามีส่วนร่วม

          ก็ขออนุญาตสรุปโดยสั้น ๆ ตรงนี้ไว้ก่อนว่า เรา...ในแง่ของการอ่านหนังสือตรงนี้นี่นะคะ สิ่งที่เราจะได้เห็นคือ... ดิฉันอยากให้ท่านที่อ่านแล้วพยายามมองให้เห็นถึงวิธีการมองโลก แล้วก็วิธีคิดของท่าน ในคำตอบที่ท่านตอบ แล้วคุณอาจจะเห็น หรืออาจจะไม่เห็นเหมือนกับที่ดิฉันเสนอมาก็ได้นะคะ ขอบคุณค่ะ

 

ไตรภพ : ครับ อาจารย์อรศรีก็ได้ชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่อาจารย์อรศรีได้ทราบและคิดว่าเป็นเช่นนั้น เช่นนี้ นะครับ คราวนี้เมื่อพูดไป พูดมา มาพูดถึงอาจารย์ประชาว่าอาจารย์ประชาน่าจะทราบตรงนั้นได้มากกว่า เพราะอาจารย์ประชาเป็นคนไปสัมภาษณ์ เป็นคนที่มีโอกาสได้ทราบความคิดเห็นของท่านอาจารย์ใหญ่

          ตรงนี้ก็คงต้องเรียนถามอาจารย์ประชา อาจารย์ประชาเล่าให้พวกเราฟังสักนิดสิครับว่า สิ่งที่อาจารย์ได้รับรู้ – เรียนรู้มา อะไรบ้างครับ...

 


• อ่านต่อฉบับหน้า

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :