เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์
บัญชา เฉลิมชัยกิจ

ชีวิต ธรรมะ และการเมือง

(ตอนจบ)  

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๗

๑๐๐ ปี พุทธทาส ๒๗ พฤษภาคม ๒๔๔๙ - ๒๕๔๙ กองบรรณาธิการ สัมภาษณ์ และถ่ายภาพ
สัมภาษณ์ คุณบัญชา เฉลิมชัยกิจ เจ้าของและผู้จัดการสำนักพิมพ์สุขภาพใจ
ที่สำนักพิมพ์สุขภาพใจ วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖
เวลา ๑๐.๑๕ - ๑๒.๓๐ น.

--> ต่อจากฉบับที่ ๕๖ ...


๏ แล้วในครอบครัวที่บ้านมีใครสนใจเรื่องการเมือง เรื่องความเป็นธรรม

          พวกน้อง พวกพี่ จะมีน้อยกว่า พวกน้องนี้เขาจะเรียนอยู่ที่รามคำแหง อยู่จุฬาฯ แต่พวกเขาจะไม่รุนแรง พวกเขาจะรักความเป็นธรรม แล้วหลายคนมองผมเป็นตัวอย่าง ก็เห็นด้วย ส่วนคุณพ่อเคยเตือนว่า เราเป็นพ่อค้า เราเป็นลูกจีน เราไม่มีสิทธิจะไปเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หรือว่าจะไปบริหารประเทศเขา เราเป็นพลเมืองดี แล้วก็คอยบำรุงศาสนาก็พอแล้ว เพราะฉะนั้นเราก็ต้องหาเงินและบำรุงศาสนาแต่ไม่ไปทำงานการเมือง และ “รูปเช กูวารา ที่แขวนอยู่ในห้องนอนนี้เป็นใครเอาลงเถอะ เพราะเราไม่รู้จักเขาเลย...”

๏ สนใจการเมืองเพราะกระแสโดยทั่วไป หรือเป็นเพราะว่ามีแรงบันดาลใจอย่างอื่น

          มันคงสะสม เพราะว่าเมื่อสมัยผมเป็นเด็กเล็กอายุไม่ถึง ๑๐ ขวบ อะไรนี่นะ ช่วงนั้นนะ ในซอยพระยาโชฎึกอยู่ตลาดน้อย ถนนเจริญกรุง เป็นซอยเล็ก ๆ พวกเด็ก ๆ ในซอยนี้ก็มาอุปโลกน์ให้ผมเป็นหัวหน้า เนื่องจากว่าผมเป็นคนรูปร่างใหญ่และอ้วนกว่าคนอื่น แล้วก็เลยดูว่ามันกล้า ๆ ตั้งแต่เด็ก เวลามีอะไรผมก็มักจะออกหน้า เช่น จะไปหาหลวงตาที่วัดปทุมคงคา เพื่อขอตะกรุด ผมก็จะเป็นคนรวบรวมตังค์ คนละสลึง ห้าสิบตังค์ แล้วไปซื้อแตงโมใบใหญ่ ไปถวายหลวงตาเพื่อขอตะกรุดกันผีน้ำ

๏ เรื่องผีน้ำมีความเป็นมาอย่างไร

          ที่ตลาดน้อยมีโรงเจนะครับ และที่โรงเจจะมีงิ้วฉลองทุกปี ช่วงเทศกาลกินเจเป็นช่วงน้ำหลาก และเด็ก ๆ จะถือโอกาสถอดกางเกงกระโดดน้ำกัน และทุกปีจะมีเด็กจมน้ำตายที่ท่าน้ำ ที่โรงเจ เขาเลยบอกว่า นี้แหละผีน้ำจะมาเอาเด็กทุกปีอยู่แล้ว เป็นธรรมเนียมต้องมีตัวตายตัวแทน คือผีน้ำจะได้ไปผุดไปเกิดได้

"

ผมกำลังมีความคิดใหม่อยู่อันหนึ่ง และลงมือปฏิบัติไปบ้างแล้ว ก็คือ ผมจะเร่งส่งเสริมให้มีการแปลธรรมะของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะแนววิทยาศาสตร์อย่างนี้ เป็นภาษาจีน และภาษาอังกฤษให้มาก แล้วส่งเข้าไปยังประเทศจีนเป็นหลัก

          ประเทศจีนขณะนี้ ถอยหลังเข้าคลอง กำลังถูกฝรั่งมอมเมาบริโภคนิยม และคนจีนก็ไม่ได้มีความหนักแน่นทางพระพุทธศาสนา คน ๑,๓๐๐ ล้านคน ประมาณ ๑ ใน ๕ ของโลกใบนี้ ถ้าคนจำนวนมหาศาลนี้เดินทางผิด มันจะทำให้โลกทั้งใบปั่นป่วน

          อนาคตอันไม่นานนัก อาจจะในช่วงชีวิตนี้ น่าจะเห็นก็คือใครที่มีชีวิตอยู่อีกสัก ๑๐ ปี ๒๐ ปี จะเห็นว่า ประชากรพันสามร้อยล้านกลุ่มนี้ ได้เอาสันดานอเมริกาออกมาใช้เลย ก็คือไปเที่ยวกดขี่ขูดรีดประเทศเพื่อนบ้าน แล้วพวกเราอยู่รอบ ๆ จีนนี้ เดือดร้อนแน่ เพราะเขาต้องมากดขี่ข่มเหงเราแน่ ๆ เพราะนี่เป็นเรื่องของกิเลส ตัณหา อุปาทาน อุดมการณ์หายไป

          เมื่อท้องมันหิว แล้วก็กิเลสมันแรง มันต้องการบริโภครถบีเอ็ม รถเบ๊นซ์ รถวอลโว่ มันก็ต้องมาเอาจากประเทศแถบนี้ แถบแหลมทอง สุวรรณภูมินี้ แล้วชาวสุวรรณภูมิต้องลำบากเข้าไปอีก เราลำบากกับฝรั่ง และญี่ปุ่น มาหลายสิบปี เราทำท่าจะดีขึ้นเมื่อเราหูตาสว่าง แต่เดี๋ยวคนจีนพันกว่าล้านจะมาทำตัวเหมือนญี่ปุ่น และฝรั่ง

          เพราะฉะนั้นสุขภาพใจตั้งเป้า จะทำหนังสือภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ป้อนเข้าไปยังแผ่นดินใหญ่ ซึ่งก็หมายถึงป้อนไปทุกแห่งเท่าที่จะป้อนได้ แต่เป้าหมายใหญ่อยู่ที่แผ่นดินใหญ่

          นี่คงเป็นความคิดคิดฝัน แต่คงไม่ใช่เพ้อฝัน ขอให้ทุกคนที่ทราบข่าวนี้ช่วยกัน ต่างคนต่างทำก็ได้ จะรวมตัวทำก็ได้ รวมตัวทำมันยุ่งนัก ก็ต่างคนต่างทำ

๏ หลังจากที่สุขภาพใจริเริ่ม ในการพิมพ์หนังสือธรรมะ ออกวางตลาดในระบบธุรกิจมาแล้ว บัดนี้สุขภาพใจกำลังจะริเริ่มทำหนังสือธรรมะ เป็นหนังสือภาษาต่างประเทศ ส่งออกไปยังต่างประเทศ

          ครับ ในที่สุดถ้ามีภาษาลาว ภาษาเขมร ภาษาพม่า ก็จะทำ ขอให้ท่านผู้รู้ภาษาเหล่านี้ และก็รู้ธรรมะด้วย ติดต่อกันเข้ามา แล้วก็มาทำกัน

"

๏ อาชีพทำหนังสือเริ่มต้นอย่างไร

          พอเรียนพ้นมาจากมหาวิทยาลัยแล้ว ไปอยู่กมลสุโกศล ทำอยู่ ๑๑ เดือน ก็ไม่มีความสุข รู้สึกมันไม่ใช่มันไม่ใช่สิ่งที่ชีวิตจะต้องทำอย่างนั้น ไปขายเทป ไปพิมพ์ดีด มาสด้า สั่งมาสด้า เป็นพนักงานพิมพ์ดีด อะไรนี่ มันไม่ใช่ ก็มาของานอาจารย์สุลักษณ์ที่ท่าพระจันทร์

          อาจารย์สุลักษณ์พอรู้จักผมอยู่ เพราะตอนนั้นผมทำชมรมพุทธฯ ก็ตาม อยู่วิทยาลัยกรุงเทพ มีความขัดแย้งกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยก็ตาม ผมก็จะไปพบอาจารย์สุลักษณ์ ที่วงเสวนาของอาจารย์ ที่ชั้นสามศึกษิตสยาม ที่สามย่าน ไปขอคำปรึกษาในฐานะเป็นนักศึกษา

          อาจารย์ก็จะให้กำลังใจ ว่าอย่าท้อถอย ทำไปเถอะ สิ่งที่ถูกต้องทำไป เพียงแต่รู้ว่าเวลาไหนควรทำอะไร อย่าถึงกับหัวชนฝา

๏ เพราะอะไรจึงได้รู้จักอาจารย์สุลักษณ์

          ผมเป็นแฟนหนังสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ทุกวันนี้ยังเก็บอยู่ครับเป็นลัง หลายสิบเล่มครับ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ เงินค่ารถ ค่าอาหาร จากทางบ้านไปวิทยาลัยกรุงเทพ ผมจะประหยัดมาก จะเก็บไว้ซื้อหนังสือ และก็บางทีเงินนี้ คนมักจะมาขอ ผมก็มักจะให้เสมอ ตั้งแต่เป็นนักเรียน

๏ ในสายตาของนักเรียน นักศึกษา สมัยนั้น อาจารย์สุลักษณ์เป็นอย่างไร

          เรียกว่าเป็นปัญญาชน เป็นปัญญาชนที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นปกครอง เป็นตัวแทนของความรู้สึกด้านจิตใจ ของนักศึกษาและประชาชน เป็นผู้กล้าที่เดินหน้าแล้วเราเดินตามหลัง

๏ ขณะนั้นนักศึกษาเริ่มมีกระแส ความเป็นซ้าย ความเป็นขวา มีกระแสสังคมนิยม ดูเหมือนอาจารย์สุลักษณ์ มีท่วงทำนองอนุรักษ์นิยมอยู่มาก ในแวดวงนิสิต นักศึกษา ไม่รู้สึกรังเกียจหรือ

          มีเหมือนกัน ในแวดวงที่พวกหัวเอียงมาก ๆ นะครับ พวกเอียงซ้ายมากนี่ ก็จะพูดไปในทางไม่ดีเข้าหูผมเหมือนกัน แต่ผมมีหลักของท่านอาจารย์พุทธทาส อย่างเช่น เอาแต่ส่วนดี อะไรอย่างนี้แหละครับ

๏ หลังจากไปอยู่ที่กมลสุโกศล แล้วทำอะไรต่อ

          มาอยู่กับอาจารย์สุลักษณ์ ก็เป็นช่วงปี ตุลา ๑๖ พอ ตุลา ๑๖ ผมก็ยิ่งร้อนวิชาเลย ผมก็ไปขอลาออก จากสยามปริทัศน์ สายส่งสารสยาม มีอาจารย์เชาวลิต ปัญญาลักษณ์ มีคุณพิภพ ธงไชย เป็นผู้จัดการ และผมไปขอลาออกจากอาจารย์สุลักษณ์ ผมจะไปพิมพ์หนังสือเอง ชื่อ ปุถุชน

          อาจารย์บอกว่า “เอ็งระวังพวกซ้ายแฟชั่นก็แล้วกัน เอ็งมันซื่อ”

๏ ดูเหมือนปุถุชนก็เป็นแหล่งรวมจุดหนึ่ง

          ใช่ครับ ตอนนั้นก็มีคุณสถาพร ศรีสัจจัง คุณวินัย อุกฤษฏ์, คุณเกียรติ ปรัชญาวุฒิศิลป, คุณคมทวน คันธนู, คุณคมศร คุณะดิลก, คุณจรัญ หอมเทียนทอง, คุณหริน สุขวัจน์, คุณสมคิด สิงสง, คุณเจษฎา ทองรุ่งโรจน์ และอีกหลายท่าน ที่ขณะนี้ก็ยังทำงานด้านนี้อยู่

๏ ระหว่างนั้นสายงานของพรรค ไม่ได้ติดต่อขอให้ช่วยเหลืองานให้เต็มที่หรือ

          มี แต่ก็มองผมว่ายังไม่ใช่ผู้ที่จะดึงไป ก็มีประสานอยู่โดยผมไม่รู้ตัว แต่ผมจะถูกมองว่าเป็น เป็นคนมีตังค์ เป็นนายทุน เห็นหน้าขาว ๆ เลยคิดว่าต้องมีตังค์เยอะ ในความจริงไม่มีเลย ผมเป็นคนประสานงานและก็หาทุน ก็บอกบุญไปเรื่อย ๆ และก็ความตรงไปตรงมาทำให้คนบางคนเขาเอาตังค์มาให้ โดยที่เขาไม่คิดหวังผลตอบแทนส่วนตัวเลย

๏ ปุถุชนอยู่ต่อเนื่องกันมาอีกกี่ปี

          หลัง ๑๔ ตุลาใหม่ ๆ พอประชาชนได้รับชัยชนะ ก็จดทะเบียนการค้า ตั้งแต่ปี ๑๗ พอถึงปี ๑๙ เราก็ย่ำแย่แล้วเพราะว่าการค้าการขายนั้นไม่ใช่ง่าย การหาทุนหารอนก็ยากเข้า ค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้น เราก็แทบจะอยู่ไม่ได้แล้ว แต่พอเหตุการณ์ ๖ ตุลาระเบิดขึ้น การเข่นฆ่าประชาชนเกิดขึ้น เราก็ปิดตัวทันที พร้อมทั้งคนมาทวงหนี้กันตลอดเวลา

๏ หลายคนคงเข้าป่า

          ใช่ มีคนชวนผมเข้าไป ผมก็บอกว่าผมยังไม่ถึงเวลา แล้วผมก็หลบภัย หลังจากตำรวจสันติบาล กับทหารใช้รถดัมพ์ มาขนหนังสือของสำนักพิมพ์ไปจนหมดเกลี้ยงนะ ไม่เหลือหรอเลย

๏ มากแค่ไหน

          เขาใช้รถดัมพ์ของทหารมาขนสามคัน เขาไปจ้างรถสองแถวหกล้ออีก ๒ – ๓ คัน มาขน ผมบอกว่า ผมชี้นะครับอันนี้เป็นหนังสือวรรณกรรม อันนี้เป็นหนังสือความรู้ อันนี้เป็นหนังสือสุขภาพ อันนี้เป็นหนังสือศาสนา อย่าเอาไปได้มั้ยครับ เอาเฉพาะที่เป็นหนังสือแนวสังคมไปได้มั้ยครับ ไม่ฟังเสียงครับ เขาขนทุกอย่างไปเลยครับ

๏ ตอนนั้นปุถุชน ทำหนังสือหลายแนว

          หลายแนวครับ ว่าไปแล้วก็มีทุกแนวเหมือนกัน คล้าย ๆ กับสุขภาพใจตอนนี้ คือเราทำหลายแนว เพราะมีความรู้สึกว่าการทำมาหากินนั้นต้องมีหลายทางถึงจะพอกิน พอจะเลี้ยงคนได้หลาย ๆ คน

๏ ท่ามกลางการล้อมปราบและขวาพิฆาตซ้าย คุณบัญชาลี้ภัยอย่างไร

          ผมก็ไปหลบที่โรงงานเหล็กเส้นของพี่ชายคุณสุพล โล่ห์ชิตกุล ที่พระประแดง แล้วเกรงใจพี่ชายคุณสุพล เพราะว่าไปนอนไปกินอยู่ตั้งเกือบเดือน ก็รู้สึกเกรงใจ ผมก็มาหลบที่บ้านญาติผู้ใหญ่ที่พระโขนง เสร็จแล้วญาติพี่น้องก็ชอบมาถามปัญหาผม แล้วเวลาผมอธิบายปัญหาทางการเมือง ผมก็ไม่ยั้ง ผมก็พูดเสียงดัง ข้างบ้านเขาได้ยิน เขาโทรศัพท์ไปบอกตำรวจว่า ที่บ้านนี้มีคอมมิวนิสต์อยู่ เพราะช่วงนั้นวิทยุก็ยังประกาศอยู่ตลอดเวลาที่ว่าที่ไหนมีเบาะแส เห็นใครก็ต้องแจ้งเพื่อชาติ อะไรอย่างนี้นะครับ

          ตำรวจมาล้อมบ้าน เอารถเก๋งมาจอด แล้วก็ ๓ – ๔ คน ขึ้นไปประกบผม ผมกำลังอ่านหนังสือวิภาษวิธีทางวิทยาศาสตร์ของเลนินอยู่พอดีเลย ผมรีบพับหนังสือยัดเข้าใต้หมอน แต่เค้าก็ไม่ได้ค้น ไม่ได้ยกหมอน (ยิ้ม) เขาดูหนังน้อยไปหน่อย (หัวเราะเบา ๆ) ถ้ายกหมอนก็เจอ เขาไปเที่ยวดูตามหิ้งหนังสือ กับลิ้นชัก แล้วก็เจออะไรก็หยิบไปหมดเลย ผมก็ว่านี่ไม่ใช่ของผมนะนี่ของน้องสาวผม ของผมมีแต่เสื้อผ้าไม่มีอะไร

          เขาบอกว่ามีคนแจ้งว่าที่นี่มีนักปลุกระดมอยู่ ผมถามตำรวจที่มาจับ เขาก็สุภาพกับผมนะ เขาบอกว่าคุณชื่อบัญชา ใช่มั้ย ผมว่าใช่ แล้วเค้าบอกว่าผมไม่แต่งตำรวจมานะ ผมให้เกียรติคุณ และข้างบ้านก็ไม่มีใครรู้หรอก แต่ผมมาแบบมาเยี่ยมเพื่อนและจะพาเพื่อนขึ้นรถ

๏ แล้วก็นำตัวไป

          นำไป สน.พระโขนง สอบปากคำอยู่ครึ่งวัน ข้าวเที่ยงก็ไม่ต้องกิน นายพันเอก หรือพันโท ก็สอบครั้งสุดท้าย หลังจากนายร้อยสอบปากคำนะครับ ตีพิมพ์ดีดใบประวัติของผมยิบยับเลยนะ เขาก็เอาไปสอบในห้องของนายตำรวจใหญ่ จะมีทหารระดับจ่า เพ่นพ่านอยู่ ในโรงพัก เพื่อจะคอยดูว่า มีคอมมิวนิสต์ตัวร้ายมาบ้างมั้ย ก็มาเจอได้ตัวหนึ่งแล้ววันนี้ (หัวเราะ) เขาก็พลุกพล่านนะ พอถึงจุดที่ผมคุยกับนายตำรวจชั้นนายพัน ในห้องประชุมสองต่อสอง นายพันท่านก็บอกว่า คุณทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ก็คือพยายามสอนว่าไม่ควรเป็นอย่างนี้ ควรจะช่วยกันดูแลบ้านเมือง ทำไมถึงทำลายกัน ผมบอกผมไม่รู้เรื่อง ผมเป็นพ่อค้า ผมขายหนังสือทำมาหากินของผม ผมก็มีหนังสือธรรมะ เขาเอามาให้ผมขาย ผมก็ขายทั้งนั้น หนังสือสังคมอะไรต่ออะไร ผมก็ไม่เข้าใจว่ามีปัญหาอะไร

          เขาพูดอะไรต่อมิอะไร เขาก็มีเหตุมีผลของเขาอยู่ ก็นั่นแหละทำลาย อย่างโน้นอย่างนี้ เสร็จแล้วจ่าคนนั้นนะ บัตรประชาชนผมก็วางอยู่ที่โต๊ะ จ่าทหารบกนี่ก็เอื้อมมือจะมาหยิบบัตรประชาชนผม เพื่อจะไปสร้างความดีความชอบ เพื่อจะหมุนโทรศัพท์ นายพันตำรวจคนนั้นเขาก็เอาบัตรประชาชนนั้นกวาดลงลิ้นชัก เจ้าจ่าก็ไม่กล้าเรียกร้องที่จะหยิบ แต่ก็หมุนโทรศัพท์ต่อหน้านายพัน “บัดนี้ที่ สน.พระโขนง นายบัญชา เฉลิมชัยกิจ อย่างนั้น ๆ ๆ ๆ อย่างนี้” สักอึดใจใหญ่ เขาก็วางหูแล้วเขาก็หันมาบอกกับนายพันตำรวจ คือเขาสั่นหัวทำนองว่าที่กลาโหมไม่เอา ผมแอบเหลือบตาดูเห็น

          เขาสั่นหัว ก็คิดว่ามันควรจะเป็นอย่างนั้น (ยิ้ม)

๏ ช่วงนั้นมีครอบครัวแล้ว

          มี ลูกสาวคนแรกเพิ่งเกิดได้ ๑ เดือนพอดีเลย เพราะลูกสาวผมเกิด ๙ กันยา ๖ ตุลาก็เกิดเรื่อง พอลูกสาวผมอายุ ๑ เดือน ผมก็ระเห็จออกจากบ้านไป

๏ ลี้ภัยนานหรือเปล่า

          เดือนกว่า ผมอยู่ข้างนอกเดือนกว่า จนกระทั่งมาถูกตำรวจมาจับไปสอบปากคำ จากนั้น เขาก็ให้ไปรายงานตัวอีกสัปดาห์หนึ่ง “อีก ๗ วันมารายงานตัว ความคับแค้นครั้งนี้คงไม่แปรเป็นพลังนะ” ผมบอก ไม่ละครับ ผมไม่แค้นครับ ผมไม่มีความคับแค้น (ยิ้มกว้าง)

๏ ได้กลับมาทำธุรกิจต่อ

          ครับ จากนั้นก็มีคนมาถามผมว่าจะเข้าป่าไปมั้ย ผมว่าผมประเมินว่าไม่ต้องนะ เพราะผมจะทำงานในเมืองดีกว่านะ

๏ ตอนนี้ทำอะไร

          ทำหนังสือพับลิคเพรส สำนักพิมพ์ปัจจุบันนี้คือ พับลิคโฟโต้ที่ถนนนเรศ ซอยสันติภาพ ซอยบ้านอาจารย์สุลักษณ์ อยู่ที่นั้นได้ปีเศษ คุณสัมพันธ์ ผลเสวก ก็เชิญผมไปเป็นฝ่ายตลาด ของพรีเมียร์ พับลิชชิ่ง หนังสือชื่อเดินทางท่องเที่ยว มีคุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม เป็นผู้จัดการ ผมไปทำตลาด จากนั้นคุณอ๊อด (หริน) ซึ่งอยู่เคล็ดไทย ก็เป็นลูกน้องเก่า ปุถุชน ที่ผมไปฝากคุณพิภพ สมัยปุถุชนเจ๊ง ก็มาชวนผมกลับมาอยู่ที่เคล็ดไทย

๏ ในยุคที่เป็นเคล็ดไทยแล้ว

          เคล็ดไทย ที่สันติภาพ และผมมาอยู่เคล็ดไทยได้ประมาณ ๑๓ เดือนมั้ง ผมก็มาทำสุขภาพใจ ทำ “สุขภาพ” เฉย ๆ ก่อน แล้วเมื่อพิมพ์หนังสือธรรมะเล่มแรก ไปขออนุญาตจากท่านอาจารย์ ท่านอาจารย์ก็ชี้แนะว่า ถ้าพิมพ์หนังสืออื่น ๆ ก็ใช้สุขภาพก็ดีอยู่แล้ว เพราะผมพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับสุขภาพ ของพันเอกหญิงศรีนวล ท่านจะบอกว่าถ้าหากพิมพ์หนังสือธรรมะ ก็เติม “ใจ” เป็นสำนักพิมพ์สุขภาพใจ แล้วก็พิมพ์บ้าง แจกบ้าง ขายบ้างนะ ช่วงนี้ผมจะแจกหนังสือเยอะ

๏ ช่วงแรก ๆ ที่คุณบัญชาไปขออนุญาตท่านอาจารย์ ทำหนังสือธรรมะของท่าน สมัยนั้นท่านอาจารย์มีแนวทางในการทำหนังสือธรรมะของสวนโมกข์อย่างไร

          เท่าที่ทราบก็มีมี พี่วิโรจน์ ศิริอัฐ ทำอยู่แถวถนนอัษฎางค์ ร้านธรรมบูชา แล้วก็มีคุณสะอาด ทำอยู่สุวิชานน์ ที่สามยอด วังบูรพา แล้วก็ ผมไปถามพี่วิโรจน์ พี่วิโรจน์บอกว่าทั่วประเทศผมส่งอยู่ ๓๗ แห่ง

          ผมเป็นมือสายส่งของอาจารย์สุลักษณ์ ผมมีตั้ง ๓๐๐ แห่ง ผมส่งมัน ๓๐๐ แห่ง คือไม่ฟังเสียง มีจดหมายแนบพร้อมกับหีบห่อไปเลย บอกว่านี้คือหนังสืออย่างนี้ ๆ แล้วก็เอามาฝากขาย อีกประมาณ ๒ – ๓ เดือนค่อยมาเก็บเงิน

๏ ช่วงที่ทำปุถุชนทำหนังสือธรรมะออกมาด้วยหรือเปล่า

          ปุถุชนนี่ไม่ได้เน้น จะหนักไปทางวรรณกรรม กับการเมือง แต่ครูไสวก็อยู่ในอาคารเดียวกัน ครูไสวจะทำหนังสือธรรมะ ทำพวกสมาธิ วิปัสสนา ทำอานาปานสติ นิพพาน... อะไรพวกนั้นนะครับ ซึ่งครูไสวทำอยู่แล้ว และครูไสวให้ปุถุชนจัดจำหน่ายให้ แต่ผมเงินทุนมีจำกัด ผมก็มุ่งไปทางกอง บก. ที่เขาผลิตหนังสือ แนววรรณกรรมและการเมือง

๏ ระหว่างที่คุณบัญชาทำปุถุชน ยังไปมาหาสู่ท่านอาจารย์พุทธทาสหรือเปล่า

          ห่างออกไปแล้ว แต่ว่าการอ่านหนังสือของท่านอาจารย์ กับซื้อหนังสือเก็บไว้ที่บ้านยังมีสม่ำเสมอ

๏ เริ่มทำสุขภาพใจประมาณปี พ.ศ. อะไร

          สุขภาพใจนี้ ปี ๒๕๒๔ แล้วปี ๒๕๒๕ ไปขออนุญาต คือทำอยู่หลายเดือนแล้วก็มีคุณสุพล โล่ห์ชิตกุล, คุณไสว สุนทร, พระธรรมรักษา ๓ ท่าน มาสร้างแรงกระตุ้นให้ผมพิมพ์หนังสือท่านอาจารย์ และผมเห็นด้วยทันที

๏ งานของท่านอาจารย์นอกจากสำนักพิมพ์สุวิชานน์ ร้านธรรมบูชา แล้วก็ไม่มีที่อื่น

          ไม่มีครับ มีแต่สวนอุศรม และคนโน้น คนนี้พิมพ์แจก

๏ ก็พอจะเรียกได้ว่า…

          (แทรกโดยเร็ว) สุขภาพใจเป็นสำนักพิมพ์แรกที่พิมพ์หนังสือท่านอาจารย์โดยใช้ปกสี่สี แล้วตั้งราคาธุรกิจ และกระจายทั่วไปในระบบสายส่ง ในยุคนั้น คือไม่ฟังเสียงส่งไปให้ ฝากไปให้…

๏ ตลาดหนังสือธรรมะขณะนั้นเป็นอย่างไร

          เขามองเห็นหนังสือ เขาว่าโอ๊ย หนังสือนี้เขาแจกทำไมเอามาขาย และบางคนก็บอก โอ๊ย… นี่หากินกับพระ โอ๊ย… นี่เสือปืนไว หากินกับพระ

๏ ทำไมเขาคิดอย่างนั้น

          ก็เพราะว่า มองว่าไม่ต้องจ่ายลิขสิทธิ์ได้เหนาะ ๆ อะไรอย่างนี้…

๏ พูดได้ไหมว่า คุณบัญชา เห็นลู่ทาง…

          (แทรกโดยเร็ว) ที่จะทำเงินได้ และได้ทั้งการเผยแพร่ที่กว้างขวาง

          ครับ คือผมเห็น คือผมคิดด้วยสูตรง่าย ๆ ว่าของดีทำไมไม่ให้มันออกไปกว้างขวาง ของไม่ดีมันขายเป็นเงินกันอยู่ ของดีทำไมไม่กล้าขายเป็นเงินเล่า หนังสืออิเหละเขละขละไร้สาระ บางเล่มมีพิษด้วยซ้ำไป เขาทำเงินกันอยู่ หนังสือโป๊ หนังสือว๊อบ ๆ แวม ๆ หนังสือมอมเมา เขาทำขายเอาเงินกันอยู่ แล้วหนังสือดี ๆ ของท่านอาจารย์ ทำไมไม่กล้าไปเอาเงินมา ทำออกไปเผยแพร่มาก ๆ

          แต่ว่าไปเอาเงินมานั้นไม่ได้เป็นเป้าหมายหลัก เป้าหมายหลักคือไปกระจายมันซะ เอาทุนมาต่อทุนซะ เอาทุนมาสร้างเล่มใหม่ซะ ทำให้มันออกมาเป็นหมื่นเล่ม เป็นล้านเล่มโดยเร็ว ไม่ใช่ชาตินี้ทั้งชาติยังพิมพ์ไม่ถึงแสนเล่มเลย กระจายไม่ถึงแสนเล่มเลย…

๏ ใช้เวลานานหรือเปล่า กว่าที่หนังสือธรรมะ จะเป็นที่ยอมรับในตลาดหนังสือ

          ไม่นาน ผมรู้สึกว่าประสบความสำเร็จแล้ว…โดยเฉพาะ ท่านธรรมรักษานะ เป็นพระที่ไม่ได้จบ ป.๔ แล้วเป็นบุรุษไปรษณีย์ แล้วก็มีปัญหาเยอะแยะทางความคิดทางจิตใจ แต่เมื่อมาบวชแล้วมีความแรงกล้าทางศรัทธา ความคิด และความเชื่อมั่นบางอย่าง ได้ย่นย่อ เรียบเรียงพระไตรปิฎก ออกเป็นเล่ม ๆ แล้วก็พิมพ์ด้วยทุนขอเขามาบ้างอะไรบ้าง แล้วมาให้สุขภาพใจจัดจำหน่าย

          นี่ประสบความสำเร็จ พระไตรปิฎกฉบับดับทุกข์ ท่านก็มอบให้สุขภาพใจพิมพ์ขายเลย ท่านไม่รับลิขสิทธิ์ และผลประโยชน์ใด ๆ ทางวัตถุ

๏ ก่อนหน้านั้นที่สุวิชานน์ ทำหนังสือท่านอาจารย์อยู่แพร่หลายหรือเปล่า

          ไม่แพร่หลายเท่าที่ควร อยู่ในวงแคบ เพราะว่าการทำการตลาดนั้น มันไม่ใช่เป็นการทำการตลาดที่ถูกต้องตามหลักการตลาด เขาจะถูกวางในที่แคบ ๆ ที่อยู่ในวงแคบแล้วก็รอคนมารับไป รอคนมารู้จัก รอคนสอบถาม รอคนมาซื้อไป มาหาไป แต่ผม ในฐานะที่กระจายหนังสือให้อาจารย์สุลักษณ์ ในรูปแบบที่ว่า ๓๐๐ กว่าแห่งทั่วประเทศ ห่อมาแล้วส่งไปเลย ห่อ ๆ ๆ ๆ แล้วส่งไปเลย ส่งไปแล้วอีก ๒ – ๓ เดือน ค่อยโผล่ไปถามไปว่าขายได้กี่เล่ม เอาตังค์มา ก็ทำแบบเดียวกัน

๏ ปี พ.ศ. อะไร

          ช่วงนั้นก็ถอยไปสัก ๒ ปี ก็สัก ปี ๒๕๒๒ – ๒๕๒๓ พอ ๒๕๒๔ ผมก็ลาออกจากเคล็ดไทย ๒๕๒๕ ผมก็พิมพ์หนังสือธรรมะเล่มแรก โดยขอจากท่านอาจารย์

๏ ท่านอาจารย์วางวิธีปฏิบัติไว้ยังไงบ้าง กับการขออนุญาต

          ท่านอาจารย์บอกว่า หาผู้ที่รู้ตรวจตราให้ดี ผมก็เสนอชื่อคุณสุพล โล่ห์ชิตกุล, ครูไสว สุนทร, ท่านอาจารย์ก็รู้จักสองท่านนี้ดี เพราะทั้งสองท่านนี้ก็ทำงานอย่างนี้ได้ ทำงานด้วยความถูกต้องเรียบร้อยได้

๏ มอบหนังสือให้กับทางสวนโมกข์เมื่อพิมพ์เสร็จ

          ใช่ครับ ได้เขียนเอาไว้ในหนังสือขออนุญาต ในตอนท้ายว่า ทุกครั้งที่พิมพ์จะนำหนังสือมาถวายที่วัด สิบเปอร์เซ็นต์ของยอดพิมพ์ แล้วก็แจกไปตามที่ต่าง ๆ ตามสมควร

๏ ที่มอบหนังสือให้สิบเปอร์เซ็นต์ เป็นเกณฑ์ที่ทางท่านอาจารย์วางไว้หรือคุณบัญชาเป็นผู้เสนอ

          ผมเป็นผู้เสนอเอง

          ท่านอาจารย์ไม่พูด ท่านพูดอยู่คำเดียวว่า ก็พิมพ์ขายบ้าง แจกบ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องมาแจกสวนโมกข์หรือแจกใครทั้งสิ้น คือให้คิดเอาเอง ก็คือขายบ้าง แจกบ้าง ท่านบอกพิมพ์แล้วก็ขายบ้าง แล้วก็แจกบ้าง ผมก็บอกครับ แล้วในจดหมายผมก็เขียน ต่อมาผมก็เขียนอย่างนี้เลย

          เพราะว่าในวงการเขาให้สิบเปอร์เซ็นต์ลิขสิทธิ์ งั้นสิบเปอร์เซ็นต์ก็แล้วกัน สิบเปอร์เซ็นต์ก็ได้บำรุงวัด บำรุงมูลนิธิ ตามอัธยาศัย ตามกำลัง ตามโอกาส

๏ ท่านอาจารย์พูดถึงเรื่องลิขสิทธิ์หนังสือธรรมะ ไว้ว่าอย่างไรบ้าง

          ท่านอาจารย์พูดประโยคหนึ่งว่า “ลิขสิทธิ์ เป็นของธรรมชาติ” คงจะใช้ภาษาธรรมะมากกว่า ว่าอย่าไปยึดมั่นถือมั่น แต่ว่าการปฏิบัติตามธรรมเนียม ตามประเพณี ตามความเหมาะสม สมควร อะไรนี้ ก็คงเป็นสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณา และปฎิบัติด้วย

๏ ท่านอาจารย์พูดกับคุณบัญชาส่วนตัว หรือว่าพูดไว้เป็นหลักการทั่วไป

          คงเป็นหลักการทั่วไปมากกว่า แต่ว่ามีข้อสังเกตว่า ทุกครั้งที่สำนักพิมพ์สุขภาพใจ ไปขออนุญาตพิมพ์หนังสือ ทางสำนักพิมพ์เองก็มีที่ปรึกษาช่วยกันไตร่ตรอง และกลั่นกรองว่าควรจะพิมพ์เล่มไหนก่อนหลังอย่างไรดี ตามที่ตรองเอาไว้ แล้วก็หนังสือทุกฉบับที่ทำไปเพื่อจะให้ท่านอาจารย์อนุญาตนั้น ท่านก็มีเมตตา เขียนอนุญาตให้พิมพ์ได้เสมอทุกครั้ง

          อ้อ...ที่พิมพ์ไม่ได้มีอยู่ฉบับเดียว ขอไป ๓ – ๔ รายการ แล้วท่านอาจารย์มีเขียนไว้ที่ตรงช่องว่างของหนังสือว่า “เล่มธรรมะกับนักศึกษา เห็นคุณวิโรจน์ยังพิมพ์อยู่ให้ไปถามดูก่อน..”

๏ ขณะนั้นก็มีหลายคนที่เอางานท่านอาจารย์ไปพิมพ์ในลักษณะนี้

          ใช่ครับ

๏ สวนโมกข์พิมพ์บ้างหรือเปล่า

          ทางธรรมทานก็ดูเหมือนไม่ค่อยได้พิมพ์ ธรรมทานมุ่งไปที่เล่มธรรมโฆษณ์ กับนาน ๆ มีใคร ทำพิเศษ สักเล่มหนึ่ง แต่มุ่งพิมพ์ออกเพื่อมาเผยแพร่อย่างต่อเนื่องแบบไม่ขาดสาย มีแบบนั้น

๏ ธรรมทานทำหนังสือพิมพ์พุทธสาสนา ทำธรรมโฆษณ์

          ครับ เล่มพิเศษก็นาน ๆ ตามความเหมาะสมที่จะทำ

๏ เรื่องการทำหนังสือท่านอาจารย์เคยแนะนำคุณบัญชาเจาะจงเป็นพิเศษหรือเปล่า

          ท่านอาจารย์ก็มีแต่ให้กำลังใจ คือเวลาผมรู้สึกว่ามีความยากลำบากในการทำธุรกิจ ก็มักจะไปเล่าสู่ท่านฟังว่าเดี๋ยวนี้มันยากอย่างนั้น มันอย่างนี้ และก็สินค้าฝากขาย แล้วก็หนังสือชำรุด เขาก็คืนมา หนังสือเขาไม่ช่วยดูแลเสียหายก็มาก อะไรทำนองนั้นนะครับ

          ท่านอาจารย์พูดอยู่ประโยคหนึ่ง “คุณทำอาชีพที่เป็นกุศล” ท่านอาจารย์จะพูดสั้น ๆ “คุณทำอาชีพที่เป็นกุศล” ..ก็ทำให้มีกำลังใจมาก

๏ ที่ท่านอาจารย์พูดถึงว่า คุณทำอาชีพเป็นกุศล คุณบัญชาได้ขอให้ท่านขยายความหรือเปล่า ว่ามันมีความหมายกว้างขวางเพียงใด

          ไม่ได้ถามต่อครับ ก็ได้ศึกษาต่อจากหนังสือของท่านอาจารย์ว่า คำว่าบุญ คำว่ากุศล อยู่บ้าง ก็ตามที่เข้าใจ บุญก็ยังเป็นเรื่องที่ติดดี ติดการตอบแทนอยู่นะ ถึงแม้นว่าจะใฝ่ดี ถ้าไม่ติดได้ก็ดีกว่า ซึ่งถ้าไม่ติดได้เลยนี่ก็เป็นกุศล คือทำตามกำลังไม่หวังผลตอบแทน เพื่อประโยชน์โดยละส่วนตนออกไปได้ ก็จะดียิ่งกว่า

๏ ตลาดหนังสือธรรมะในปัจจุบัน แตกต่างไปจากครั้งที่คุณบัญชาเริ่มต้นทำหนังสือธรรมะ เป็นสำนักพิมพ์แรก ๆ อย่างไร

          ช่วงฟองสบู่แตก ที่เราเรียกว่าฟองสบู่แตกเมื่อ ๔ – ๕ ปี ที่แล้ว ก็มีบรรยากาศออกมาว่า เออนะ..

          ประเทศไทยเรามีความยากลำบากทางเศรษฐกิจ เราได้เผลอเรอสะสมความไม่ถูกต้อง ความพลาดพลั้งทางระบบเศรษฐกิจ ซึ่งมาจากความคิดที่พลาดออกไปมากมายก่ายกอง จนกระทั่งเป็นอย่างนี้ รวมทั้ง ชนชั้นปกครองที่ไม่ได้รักประชาชน กระทำผิดพลาดขึ้นมามากมายก่ายกองนี่ ก็ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “แสวงหา” ผู้คนก็มาแสวงหาทางด้านธรรมะ แสวงหาทางด้านความรู้สึกทางจิตใจมากขึ้น

          หนังสือธรรมะหลังฟองสบู่แตก เขาก็บอกว่าขายได้มากขึ้น ก็ดูเหมือนจะเป็นจริง และก็ยังมีการวิจัยว่าเมื่อเศรษฐกิจทรุด หนังสือทรุดไม่มาก สินค้าอื่นทรุดกันเยอะแยะไปหมด แต่หนังสือทรุดไม่มาก ข้อมูลอย่างนี้เป็นต้น แล้วก็ความทุกข์ยากลำบาก ของสังคมและชีวิตทำให้มีการแสวงหา และสิ่งหนึ่งของการแสวงหามาก ก็คือ ธรรมะในพระพุทธศาสนา

          ที่ไปแสวงผิด ๆ ก็มีนะครับ ที่ไปติดอะไรพวกที่มันเฉโก ออกไปก็สร้างความลำบากเพิ่มขึ้นเช่นกัน

๏ กว่า ๒๐ ปี ของการอยู่ในแวดวงของผู้ทำหนังสือธรรมะออกมาวางตลาดในระบบธุรกิจ คุณบัญชามองอนาคตของหนังสือธรรมะอย่างไร

          ผมว่ายิ่งนับวัน ยิ่งจะต้องมีบทบาท และทำบทบาท

          มีบทบาทก็หมายถึงคน ว่าจะเสาะแสวงหา ทำบทบาทก็คือต้องปฏิบัติ ผลิต และก็ทำให้มีคุณภาพ มีแนวทางให้สอดคล้องกับสังคม

          คือหยิบยกเอาธรรมะมาประยุกต์ มาเรียบเรียง มาเขียนให้มันช่วยสังคมให้ได้ ทำให้มันเป็นของง่ายที่จะทำให้สังคมนั้นยึดเป็นข้อปฏิบัติ แก้ปัญหาทั้งชีวิต และก็ทั้งประเทศชาติให้ได้ และจะต้องได้ด้วย เพราะถ้าเราคิดว่าไม่ได้ มันก็ไม่ได้ทำ แล้วก็ไม่เกิดขึ้น แต่เราต้องเชื่อมั่นว่าต้องได้และต้องทำให้ได้ ต้องช่วยกันทำให้ได้ คือเสนอแนวพุทธนี่แหละ ให้เป็นทางเดินของสังคมไทย ท่านอาจารย์บอกว่า “ให้สอนโลกุตตรธรรมตั้งแต่อนุบาลเถิด ๆ ๆ” สอนเรื่องไตรลักษณ์ ขันธ์ห้า และปฏิจจสมุปบาทให้หนักหน่วงเถิด จะแก้ปัญหาได้ทั้งหมดทั้งสิ้นในสังคมโลกเชียว. ขอรับรอง.

๏ หลังจากที่ท่านอาจารย์มรณภาพไปแล้ว หนังสือธรรมะของท่านอาจารย์ได้การตอบสนองจากผู้คนในสังคม ในระดับเดิม ลดลง หรือเพิ่มขึ้น

          มากขึ้น เพราะว่า สิ่งที่ท่านอาจารย์สอนไว้เป็นสัจจธรรม และเป็นประโยชน์ ถึงอย่างไรมนุษย์ก็ยังต้องการเป็นสัตว์ประเสริฐอยู่ มนุษย์ยังเลือกเป็นอยู่ แต่บ่อย ๆ จะเผลอไปยังทางต่ำ ๆ ก็กลับขึ้นมาได้

๏ ในสายการผลิต ขณะนี้หนังสือธรรมะของท่านอาจารย์เป็นสัดส่วนสักเท่าใด และในการจัดจำหน่ายยังมีสักเท่าใด

          สุขภาพใจในช่วงนี้กำลังเติบโตขึ้นอีกแบบหนึ่ง

          หลังจากผมทำตัวเหมือนเต่า คือค่อย ๆ ต้วมเตี้ยมไปเรื่อย ๆ ๒๐ ปี ผมต้วมเตี้ยมมา ๒๐ ปี ต่อไปนี้ก็จะมีพวกกระต่ายเขามาช่วยกันผลักช่วยกันทำ

๏ รุ่นที่ ๒ หรือ

          หรือจะเป็นเต่าคอมพ์พิวเตอร์ก็ไม่รู้นะ (หัวเราะ) และก็ช่วยกันทำ ผมก็สนับสนุน และได้ผลิตสินค้าแปลก ๆ ใหม่ ๆ ขึ้นมาอีกหลายแนว ก็ทำให้อัตราส่วนของแนวธรรมะดูว่าลดลง

          เมื่อก่อนนี้ผมมองว่าธรรมะนั้นเป็น สี่สิบเปอร์เซ็นต์ ของหนังสือทั้งหมด แต่ปัจจุบันนี้ พวกเขาทำตัวเลขกันว่าเหลือ สิบเปอร์เซ็นต์ ของหนังสือทั้งหมด แต่พูดถึงจำนวนเล่ม ยังไม่น้อยกว่าเดิม

๏ สัดส่วนอาจจะน้อยลง

          ตัวเลขเปอร์เซ็นต์น้อยลง แต่ตัวข้าวของไม่น้อย

๏ ท่านอาจารย์พุทธทาสมักจะบอกว่า “ไม่ทำตามที่สอนอย่ามาออดอ้อนเรียกอาจารย์” ในฐานะที่ได้รู้จักท่านอาจารย์มายาวนาน ประเมินตัวเองว่าตัวเองเป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์หรือเปล่า

          ผมยังไม่ใช่ลูกศิษย์ที่ดี เพราะว่าผมก็ยังเป็นปุถุชน แล้วก็สภาวะจิตก็ยังขึ้น ๆ ลง ๆ แต่ก็มีจุดยืนที่ไม่เปลี่ยน รายละเอียดต่าง ๆ นั้น ยังไม่มั่นคง แต่คิดว่าตั้งใจจะให้มันหลุดมากที่สุด

          เริ่มจากปล่อยวัตถุออกไปเรื่อย ๆ ความจริงวัตถุก็ไม่ได้มีอะไรมาก แต่ก็ปลดปล่อยไป แล้วก็สภาวะจิตมันก็บอก บอกว่าเป็นเช่นนั้น และผมก็เรียนรู้ สิ่งที่ต้องเรียนรู้ประการสุดท้ายก็คือ การตาย การตายของขันธ์ห้า ของตัวเบญจขันธ์ การสลายของเบญจขันธ์ ก็เรียนรู้ไว้ และก็พอใจที่ได้เรียนรู้ว่า ถึงเวลานั้น อย่างที่ท่านสอนไว้ว่าการตายเป็นหน้าที่ของสังขาร แล้วก็ใคร่ครวญพิจารณาแล้วก็เสาะแสวงที่จะตายอย่างมีศิลปะอย่างที่ท่านอาจารย์สอน ว่าให้ตายอย่างมีศิลปะ

          คุณธีรทาส ก็บอกผมว่า การตายของชาวพุทธ มี ๔ วิธี ทางมหายานอธิบายไว้ ๔ วิธี เขาว่ากำลังรวบรวมมาเผยแพร่กัน วิธีหนึ่งที่ผมชอบใจคือว่า เมื่อถึงเวลาแล้วนี่ ร่างกายร่วงโรยไปมากแล้วนี่ ภารกิจต่าง ๆ ก็วางไปได้เยอะแล้วนี่ แล้วมันก็อยู่ไม่ค่อยจะสะดวกแล้วนี่ ก็ไม่ต้องไปอยู่ เพราะว่าจะไม่เป็นประโยชน์เท่าไหร่แล้ว ให้ทานอาหารให้น้อยลง ๆ ค่อย ๆ น้อยลง ๆ ดูแลจิตให้เข้มแข็ง ให้มากที่สุด ตลอดเวลา เฝ้าดูมันตลอดเวลา ให้เข้มแข็งตลอดเวลา แล้วก็ทานอาหารให้น้อยลง ๆ ถึงจุดหนึ่งหลับแล้วก็ไม่ต้องตื่นขึ้นมา โดยทำสิ่งอื่น ๆ ให้เรียบร้อย แล้วก็หลับไม่ต้องตื่น

          อย่าไป feed. ฝรั่งเขาเรียก feeds คือไปบำรุงบำเรออะไร ให้มันอยู่ ให้มันกระเสือกกระสนอยู่ ในทุกรูปแบบที่เขากระเสือกกระสนกัน ไม่ต้องไปทำอย่างนั้น

บัญชา เฉลิมชัยกิจ

บัญชา เฉลิมชัยกิจ ปัจจุบันอายุ ๕๗ ปี
สมรสกับ จินตนา (สุขวัฒน์) เฉลิมชัยกิจ
มีบุตร – ธิดา คือนางสาวโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ
นางสาวอลีน เฉลิมชัยกิจ
เด็กชายชวิน เฉลิมชัยกิจ


๏ คุณบัญชาสมรสกับคุณจินตนา เมื่อประมาณปี พ.ศ.

          ๒๕๑๘

๏ บุตรธิดา

          มีลูกสาว ๒ คน คนโต ตอนนี้ก็อายุ ๒๖ ปี จบคอมพิวเตอร์ธรรมศาสตร์ มาช่วยสำนักพิมพ์อยู่ ลูกสาวคนรองก็อายุ ๒๔ ปี หลังจากจบนิเทศน์จุฬาฯ เกียรตินิยมอันดับ ๑ เหรียญทอง ก็สอบชิงทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ไปทำปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยโตเกียว และมีลูกหลงเป็นเด็กชายอายุ ๑๒ ขวบ

๏ ตอนนี้เรียนอยู่ที่

          โรงเรียนรุ่งอรุณ บางมด

๏ ลูกสาวคนโตมาช่วยสำนักพิมพ์

          ช่วยสำนักพิมพ์ เขามีความชำนาญเรื่องคอมพิวเตอร์ แล้วเขาก็สนใจไปทางด้านตลาด ซึ่งเป็นจุดอ่อนของผม ผมหน้าตาเหมือนพ่อค้า แต่ว่าค้าขายไม่เก่ง ทำแต่หนังสือ แต่ขายไม่เก่ง

๏ ก็เริ่มเป็นรุ่นที่สองของสุขภาพใจ

          ผมเลี้ยงลูกแบบให้อิสระเขา ตั้งแต่เขาเป็นเด็ก ๆ จะให้อิสระเขามาก และให้เขาเรียนหลายภาษา ลูก ๆ ก็จะรู้ภาษาจีน เชิญคุณครูมาสอนภาษาจีน ตั้งแต่พวกเขาอยู่ชั้นประถม

๏ เขาก็ยินดีที่จะมาช่วยงาน

          ครับ เขาก็มองผมอยู่ตลอดเวลาว่าผมคิดอะไร ทำอะไร และเขาก็มองว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ มีคุณค่า

๏ เขาสนใจที่จะสืบทอดแนวคิดคุณบัญชาเกี่ยวกับเรื่องศาสนา เกี่ยวกับเรื่องทำหนังสือธรรมะอย่างไรบ้าง

          เขาก็คงสืบทอด แต่ขณะนี้ก็ยังดูไม่ชัดเจน ผมก็ได้พูดทีเล่นทีจริงในที่ประชุมว่าถ้าผมไม่อยู่แล้ว ด้วยประการใดก็ตาม จะเป็นว่าตายไปหรืออะไรก็ตาม ถ้าสำนักพิมพ์นี้ไม่พิมพ์หนังสือธรรมะท่านอาจารย์ก็ขอให้จู๊ด ๆ ๆ (ยิ้มกว้าง)

๏ เขาก็ยินดีที่จะสืบทอดแนวคิดนี้

          อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน...

 

 

๏ ใช้คำสอน หรือคำแนะนำอะไรของท่านอาจารย์เป็นหลัก ในการดำเนินชีวิต การบริหารงาน การทำธุรกิจ

          ครับ หลักใหญ่ก็คือ ใคร่ครวญไตรลักษณ์ แล้วทำงานด้วยจิตว่าง ถึงแม้จะไม่สามารถว่างตลอด แต่ก็ยึดเอาไว้ ว่าทำงานด้วยจิตว่าง เอาแต่แง่ดี เมตตา ให้อภัย ความจริงพอเข้าใจไตรลักษณ์แล้ว ทุกอย่างก็จบ เกิดความเข้าใจในขันธ์ห้า การที่จะไปรับรู้ปฏิจจสมุปบาท ก็จะง่ายเข้า พอใคร่ครวญไตรลักษณ์ให้หนักแล้ว อย่างอื่นก็ง่ายไปหมด

๏ การดำเนินชีวิต และการบริหารธุรกิจด้วยธงนำทางศาสนา ทำให้ยากลำบาก ที่จะอยู่ท่ามกลางระบบทุนหรือเปล่า

          บางครั้งก็ยาก แต่นั่นเป็นสิ่งถูกต้อง เพราะว่าลำบากหนัก ๆ หลายครั้งหลายหนก็ผ่านพ้นไป ก็ด้วยหลักธรรมนี้แหละ แล้วก็หลักธรรมที่มีความสม่ำเสมอ ช่วยอยู่ในตัว พอมีคลื่นลมใหญ่ ๆ มันก็พอจะต้านได้ คือได้ปักหลักเอาไว้พอสมควร เช่น อยู่อย่างเรียบง่าย ประหยัด ไม่เกลือกกลั้วกับอบายมุข แล้วก็ช่วยเหลือคนตามกำลังตลอดเวลา บ่อย ๆ

          เราไม่ได้หวังว่าจะได้รับผลตอบแทน แต่ผลมันก็มาตอบแทน และผลที่มาตอบแทนนั้นเราไม่ได้ยึดมั่นถือมั่น มันก็เป็นกิริยาของมัน ที่จะทำให้กรรม และกิริยาหมุนไปอย่างราบรื่น

๏ พอใจกับชีวิตและการงานของตัวเองหรือยัง

          ยังมีสิ่งที่ต้องทำ แล้วไม่ได้ทำ แล้วอยากทำ มากเหลือเกิน คือ...ผมไม่เห็นด้วยกับระบบทุนนิยม ที่เป็นเสรีนิยมแบบนี้เลย ผมอยากให้สังคมเป็นสังคมนิยม และก็เพื่อให้ชัดเจน ผมขอใช้ศัพท์ธรรมิกสังคมนิยม คือ การจัดระบบสังคมนิยม ที่เป็นสังคมนิยมโดยมีความเมตตา โดยรู้จักปล่อยวาง หรือจะเรียกว่า จิตว่างก็ได้

          ฟังกันไม่รู้เรื่องก็ฟังกันไปก่อน จำเอาไว้ก่อนก็แล้วกัน แล้วมันก็ค่อย ๆ เข้าใจ ดีกว่าไม่ได้ยินแล้วก็ไม่จำเอาไว้ ไม่ท่องเอาไว้ ท่องเอาไว้ก่อน แล้วก็ดี มันก็ค่อย ๆ ดีขึ้น

๏ ในฐานะที่เป็นคนที่ทำหนังสือธรรมะ มาครึ่งค่อนชีวิต คุณบัญชามีอะไรจะแนะนำ สำหรับผู้ที่สนใจที่จะทำหนังสือธรรมะ หรือเผยแผ่ธรรมะ ในรูปแบบวิธีการต่าง ๆ บ้างว่าน่าจะเป็นอย่างไร น่าจะทำอย่างไร เพื่อที่จะให้ธรรมะสื่อสารออกไปได้ ในสังคมวงกว้าง กับสาธารณะ และเป็นประโยชน์กับพระศาสนา

          บ่อย ๆ ที่คนในวงการธุรกิจเดียวกัน มาถามว่ามันขายได้รึ ผมก็จะยุไปว่าทำสิ ขายดีนะ ผมเป็นที่ปรึกษาให้ หลายคนก็ได้ทำและก็หยุดไป ก็จะเป็นด้วยเหตุผลว่า อิทธิบาทสี่ ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แล้วก็สินค้าตัวอื่น หรือหนังสือแนวอื่นนั้นได้ทำเงินมากกว่า

          ผมก็อยากจะบอกว่าหนังสือที่ทำเงินมากท่านก็ทำไป แต่ท่านเจียดกำไรสักสัดส่วนหนึ่ง ที่ไม่ทำให้เกิดความเดือดร้อน มาทำหนังสือธรรมะ อาจจะไม่ต้องพุทธศาสนาก็ได้ถ้าหากว่าจะเป็นแนวอื่น แต่ให้เป็นธรรมะ อย่างนี้เป็นต้น

          แล้วก็ขณะเดียวกัน ขอร้องว่าหนังสือที่ทำเงินมาก แต่มันมอมเมาสังคมก็ขอให้อย่าทำดีกว่า ทำเล่มที่ได้เงินไม่มากแล้วท่านไปประหยัดค่าใช้จ่าย แล้วท่านไปทำหนังสือที่คิดว่าทำเงินไม่มากแล้วให้ประโยชน์มากสักหน่อย แล้วค่อยหาวิธีทางการตลาดเอา เพราะหนังสือที่ดี ไปทำตลาดดี ๆ ก็ได้ทำเงินเหมือนกัน

          แต่หนังสือที่มอมเมาให้โทษ เป็นพิษ ถึงแม้ทำเงินมาก อย่าทำดีกว่า ของสุขภาพใจเอง ผมก็คุยกับคนที่ทำหนังสือก้าวหน้าซึ่งเหลือน้อยเต็มประดาแล้ว คำว่าหนังสือก้าวหน้าไม่ใช่หนังสือคิดร้ายทำลายชาติ เป็นหนังสือที่เสนอแนวคิด ทางเลือกที่ดีงาม แต่ว่าของยาก เป็นของยาก ยากที่จะมองเห็น และยากที่จะปฏิบัติ และยากที่จะเสียสละที่จะไปปฏิบัติ คือหนังสือแนวสังคมนิยม ผมก็บอกคนในวงการว่าต้องให้มันมีบ้างเพื่อเป็นทางเลือก เพื่อมาคานกับทุนนิยม และทุนนิยมจะได้เอาหลักการของสังคมนิยมหลาย ๆ หลักการไปใช้ประโยชน์

          ซึ่งก็ใช้อยู่หลายข้อแล้ว สามสิบบาท (รักษาทุกโรค) อย่างนี้ เป็นต้น อีกเยอะแยะที่เขาไปใช้ ซึ่งก็ต้องขออนุโมทนาสาธุว่าได้เอาแนวทางสังคมนิยมไปใช้ในทุนนิยม แต่ไม่พอครับ เพราะมันจะไม่เด็ดขาด มันจะผิวเผิน ไม่เด็ดขาด เพราะว่าระบบทุนนิยมเปิดกว้างให้คนเห็นแก่ตัว จัดได้ไม่มีขอบเขตเลยนะ แต่ก็ดีกว่าไม่ทำ

          ก็จะอยากเสนอว่า เดินกันไปถึงสังคมนิยมดีกว่า ธรรมิกสังคมนิยมนี่แหละ จะดีกว่า เพราะฉะนั้นสุขภาพใจจึงเจียดเงินที่จะไม่ได้กำไรจากหนังสือแนวสังคมนิยมหนัก ๆ ที่จะเป็นทางเลือกนี้

          พรรคพวกเขาอนุญาตให้ผมพิมพ์เดือนละ ๑ เล่ม ห้ามเกิน ๑ เล่ม แต่อย่างอื่นกี่สิบเล่มก็ได้ แต่สังคมนิยมห้ามเกินหนึ่งเล่ม ผมก็ว่าไม่เป็นไร หนึ่งเล่มดีกว่าไม่มี

๏ แสดงว่าคุณบัญชายังมีความหวังกับสังคมนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมิกสังคมนิยม

          ครับ เพราะหลักการใหญ่มันถูกต้องครับ ข้อเดียวที่เขาเขียนไว้ว่า มนุษย์ควรจะจำกัดการยึดถือวัตถุที่ไม่สิ้นสุด คือการถือครองวัตถุที่ไม่สิ้นสุดนี่ ไม่ดีเลย เพราะว่ามนุษย์นั้น ไม่ใช่อริยบุคคลมาจากไหน เป็นอย่างปุถุชน บางคนก็โง่เขลาเหลือประมาณ แต่ว่าเหี้ยมโหด จะยึดครองวัตถุเอาไว้แต่ผู้เดียว เอาไว้แต่กลุ่มเดียวจำนวนมหาศาล แล้วคนอีกจำนวนมากไม่สามารถใช้สอยตามควร ก็เกิดความทุกข์ยากลำบาก

          เราเรียกว่า ช่องว่าง เราควรจะลดช่องว่างโดยเสียสละ ถ้าพูดตามภาษาธรรมะก็คือ ให้ทุกคนมาเป็นพระโพธิสัตว์กันเถิด ให้ทุกคนมาฝึกจิตเป็นพระโพธิสัตว์กันเถิด โพธิ คือ ความรู้แจ้ง รู้แจ้งที่จะปล่อยวางเสียสละ มีเมตตา ให้โดยไม่หวังผลตอบแทน แล้วเมื่อถึงเวลานั้นท่านเห็นว่า โอ… เมื่อท่านตายไปแล้วนี้ สิ่งที่ท่านครอบครองเอาไว้มหาศาลนั้น มันไม่ได้เป็นประโยชน์เลย แต่ถ้าคุณปล่อยออกไปได้ มันเป็นประโยชน์มาก

          ถ้าคุณปล่อยโดยคุณปล่อยแบบทำบุญทำกุศล เหมือนกับควักไปบริจาคก็ดี แต่ยังไม่ดีพอ ต้องจัดเป็นรัฐธรรมนูญ มาขีดเส้นไม่ให้ครอบครอง มาขีดเส้นให้ปัจจัยสี่กระจาย และขีดเส้นให้สิ่งแวดล้อมไม่ถูกทำลาย และขีดเส้นให้ส่งเสริมจริยธรรม ให้ครูมีเงินเดือนมากที่สุด มากกว่าหมอ คนเป็นครูต้องมีเงินเดือนมากกว่าหมอสังคมถึงจะอยู่ได้ ถึงจะเกิดสิ่งที่ดี ๆ ขึ้นมาได้เร็ว.. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :