เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๖

บัญชา เฉลิมชัยกิจ
ชีวิต ธรรมะ และการเมือง

๑๐๐ ปี พุทธทาส ๒๗ พฤษภาคม ๒๔๔๙ - ๒๕๔๙ กองบรรณาธิการ สัมภาษณ์ และถ่ายภาพ
สัมภาษณ์ คุณบัญชา เฉลิมชัยกิจ เจ้าของและผู้จัดการสำนักพิมพ์สุขภาพใจ
ที่สำนักพิมพ์สุขภาพใจ วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖
เวลา ๑๐.๑๕ - ๑๒.๓๐ น.

บ้า คิดๆๆ แต่เรื่องที่จะจัดการหยั่งรากให้ชมรมฯ อยู่คนเดียว จะจบแล้วกระมัง คนเดินห่าง มองดูป้ายชื่อ แล้วก็หัวเราะ คิกๆๆ หลายคนว่า เอาชมรมพุทธบังหน้า แท้จริง communism บ้าจริง บ้าหลาย แต่ใครกันแน่ - ริมโกดัง ใต้ต้นหูกวาง ณ ชมรมพุทธฯ หลังตึก 1 29 ม.ค. 2515

๏ อะไรเป็นสาเหตุให้คุณบัญชาได้รู้จักท่านอาจารย์พุทธทาส

          ผมเป็นนักเรียนอำนวยศิลป์ ช่วงเที่ยงหลังจากรับประทานอาหารแล้วก็มักจะไปนั่งในห้องสมุด หนังสือวารสารพุทธศาสนา และหนังสือธรรมะอีกหลาย ๆ เล่ม ก็จะเป็นที่สนใจด้วย มีอยู่วันหนึ่ง ได้อ่านพบข้อความเขียนไว้ว่า “กายคือฟองน้ำ จิตเหมือนลม พุทธทาสภิกขุ”

          คล้าย ๆ กับว่ามัน เฉลยปัญหาที่อยู่ในใจเด็กอายุ ๑๗ – ๑๘ ว่า เอ๊ะ…ใช่นะ เพราะว่าเราดูหนังดูละครนี่ วิญญาณมันเป็นดวง ๆ ไปหลอกหลอน ปอบผีฟ้า ผีกระสืออะไรนี่น่ะ มันไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น แม้กระทั่งไปฟังคำบรรยายของ อาจารย์พร รัตนสุวรรณ เกี่ยวกับโอปปาติกะ ก็ให้รู้สึกว่ามันไม่ควรเป็นอย่างนั้น มันควรจะเป็นนี้แหละ “กายเป็นฟองน้ำ จิตเป็นลม” อันนี้น่าจะใช่ โดยเฉพาะมีชื่อพุทธทาสภิกขุนี่ มันศรัทธาอยู่แล้ว จากการอ่านหนังสือในห้องสมุดมาตลอด ก็เลยมั่นใจว่า ต้องศึกษาหลักพุทธศาสนาที่ท่านอาจารย์ชี้แนะออกมาให้มาก

          นี่คือจุดเริ่มต้น…

๏ สนใจเรื่องศาสนามาก่อนหน้านั้นหรือเปล่า ?

          สนใจ อยู่ชั้นประถม ๓ คุณอาไปงานศพแล้วก็ได้หนังสือมาเล่มหนึ่งจากงานศพ หนังสือเล่มนั้นชื่อ “พรในสวรรค์” ก็เห็นชัดว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เพราะว่ามีเทวดา มีนางฟ้า มีพระพุทธรูปอะไรนี่นะฮะ ก็ตามประสาเด็กอยู่ชั้นประถม ๓ ก็จับอ่าน ไปอย่างนั้นแหละ

          ก็ปรากฏว่าเกิดความ... เขาเรียกว่าความอะไรนะ... “ความปีติ” เกิดความศรัทธาแล้วเกิดความนับถือ ว่ามีคนแบบนี้ด้วยหรือ มีทรัพย์สมบัติ มีบุญญาบารมี จะได้เป็นจักรพรรดิ แต่ว่าก็ทิ้งวัง ทิ้งลูก ทิ้งเมีย ทิ้งสมบัติ ทิ้งลาภยศ สรรเสริญทั้งหมด แล้วก็ไปเสาะแสวงหาด้วยรูปแบบที่เรียบง่ายที่สุด


อ่านหนังสือ “บรมธรรม” ขณะเป็นนักเรียนมัธยม

          ก็ซาบซึ้งว่า โอ..ถ้าคนจิตใจขนาดนี้ มันยอดเยี่ยม และถ้าจิตของเราเป็นอย่างนี้ คงจะทำอะไรได้มาก

          ก่อนถึงอำนวยศิลป์นี่ อยู่โรงเรียนกุหลาบวิทยา กับเพื่อน ๆ ที่อยู่มัธยม อยู่ ม.ศ. ๑ – ๒ – ๓ ก็ไปเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ที่วัดมหาธาตุฯ ที่ไปเรียนก็เพราะว่า นิทรรศการของโรงเรียนคาทอลิคที่เรียนอยู่ เป็นโรงเรียนเครืออัสสัมชัญ เราขัดแย้งกับเขา เพราะว่าเขาเอาเวลาสอนศีลธรรม หน้าที่พลเมืองและศีลธรรม สมัยก่อนเขาเรียกว่า “วิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม” เอาชั่วโมงหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม ซึ่งมีเพียงสัปดาห์ละชั่วโมงเดียวนี่ ไปเรียนคำสอน เขาเรียกว่า “คำสอน” ผมก็คัดค้าน

          ผมบอกว่าวิชานี้อาทิตย์หนึ่งก็มีเพียงครั้งเดียว และก็สอน พระพุทธศาสนากับสอนหน้าที่พลเมือง ทำไมเอาไปสอน “คำสอน” ซึ่งเป็นเรื่องของพระเยซู กับพระเจ้า ซึ่งไม่ได้มีข้อสอบ เขาบอกว่า (ครูผู้สอนซึ่งเป็นคาทอลิค) เขาบอกว่า วิชานี้มัน ๑๐ คะแนนเอง หนังสือหน้าที่พลเมืองศีลธรรม เล่มบาง ๆ ไปอ่านเอง แล้วเขียนสอบก็ได้แล้ว ๑๐ คะแนน แต่เรียนคำสอนนี้มีประโยชน์มาก เพราะถ้าใครเรียนไม่ขาดทุกชั่วโมงจะพาไปเที่ยวศรีราชา ไปค้างคืนศรีราชา ไปเที่ยวทะเลกัน (หัวเราะ)

          ผมไม่ยอม ผมบอกว่าไม่ยอม เขาเลยแยกเด็กคริสต์ ในห้องเรียนมีเด็กอยู่ ๓๐ กว่าคน เป็นเด็กคริสต์ไม่ถึง ๑๐ คน เป็นเด็กพุทธเสีย ๒๐ กว่า ก็ต้องให้เด็กพุทธเรียนพุทธ เด็กคริสต์ไปเรียนคริสต์

๏ มาเริ่มแยกเอาช่วงนั้นหรือ

          เขาทำอย่างนี้มาตลอด แต่ว่ามาเจอผม ก็ถึงจุดนั้นผมก็ประท้วงขึ้นมา ผมก็เลยกลายเป็นคนแบบนี้ (หัวเราะเสียงดัง) แล้วช่วงอยู่มัธยมต้น ผมเห็นโปสเตอร์ของรัฐบาลสฤษดิ์ มีโปสเตอร์มาติดในโรงเรียน ผมก็ไม่เห็นด้วย พ่อแม่ผมเป็นคนจีนแถวเยาวราช – เจริญกรุง คนจีนผู้เฒ่าผู้แก่ก็ล้วนแต่ใจดี ล้วนแต่สอนเรื่องคุณธรรม เรื่องกตัญญู เรื่องการทำงานหาเลี้ยงชีพที่สุจริต ทำไมโปสเตอร์บอกว่าที่เมืองจีนเขาเอาคนแก่มาไถนา ใครทำงานไม่ได้ก็ฆ่าทิ้งเสีย ถ้าใครหมดแรงแล้วก็จะถูกฆ่าทิ้ง

๏ หมายถึงโปสเตอร์ต่อต้านคอมมิวนิสต์

          พิมพ์โปสเตอร์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ก็ของอเมริกันมาทำให้นั่นแหละ ผมก็เขียนโปสเตอร์ของผมบ้าง ไปติดข้าง ๆ โปสเตอร์ใบนั้น (หัวเราะ)

๏ เขียนว่าอย่างไร ?

          เขียนว่า..ไม่จริง ไม่น่าจะจริง เพราะว่า ข้าพเจ้ามีพ่อแม่เป็นจีน ปู่ย่าตาทวดเป็นจีน แล้วย่าก็เป็นคนจีน ผมไม่เคยเห็นอย่างนี้ ผมฟังเขาเล่าก็ไม่ได้เป็นอย่างนี้ มีแต่ว่า พ่อของลูกจ้างผม ที่ร้านขายยาผมนี่เขาต้องหลบออกหลังร้าน เพราะว่ารัฐบาลเจียงไคเช็คมาจับคอมมิวนิสต์ เพราะพ่อเขาเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ คอมมิวนิสต์มีแต่จะทำความดี แล้วต้องหนีตาย ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ไปเที่ยวฆ่าคนอื่น (หัวเราะ) เขียนโปสเตอร์ติด คุณครูรีบไปฉีกออก แล้วก็ว่า “บัญชา เดี๋ยวตำรวจจับเธอไปแน่ถ้าเกิดเธอขืนทำอย่างนี้”

๏ ตอนนั้นอายุเท่าไร ?

          ก็คงสัก ๑๔ – ๑๕ ปี มัธยมต้น

๏ ในครอบครัวคุณบัญชามีความสนใจเรื่องศาสนาเพียงใด

          มีครับ คุณพ่อเป็นสมาชิกโรงเจ กับมูลนิธิพุทธธรรมการกุศลอยู่หลายแห่ง แล้วก็มักจะร่วมประชุม ไปร่วมสวดมนต์ และก็บริจาค เมื่อมีสิ่งที่ต้องบริจาคก็พาผมไป แล้วก็ให้ผมเป็นสมาชิกด้วย คุณพ่อใกล้จะเสียก็สั่งผมไว้เลยว่า “มีอะไรก็มาประสานกับพวกผู้ใหญ่คณะนี้ได้..”

๏ ได้ไปเจอตัวท่านอาจารย์พุทธทาสเมื่ออายุเท่าใด ?

เมื่ออยู่วิทยาลัยกรุงเทพ ปี ๓ ผมเองติดตามท่านอาจารย์ตลอด โดยการอ่านหนังสือ ผมจะเป็นลูกค้าประจำของสุวิชานน์ ที่สามยอด ไปพบคุณสะอาดเป็นประจำ แต่งตัวนักเรียนนะครับ มี ห้าบาท สิบบาท ยี่สิบบาท ก็ไปที่ร้านนั้นก่อนล่ะ ไปหาซื้อหนังสือ เล่มที่ชื่อนิพพาน เล่มที่ชื่อตามรอยพระอรหันต์ ซื้อหลายเล่มครับ

          แล้วก็ต่อมาก็เป็นลูกค้าประจำของพี่วิโรจน์ ศิริอัฐ ที่ธรรมบูชาก็ไปซื้อประจำ แล้วก็เป็นลูกค้าประจำของครูไสว สุนทร ครูไสว สุนทรเปิดแผงโต๊ะพับขายในวัดมหาธาตุ ไปซื้อหนังสือหนึ่งเล่ม แล้วก็ยืนดูคุณไสวพูดได้เป็นชั่วโมง (หัวเราะ)

๏ ขณะนั้น ที่วิทยาลัยกรุงเทพ มีชมรมเกี่ยวกับศาสนาบ้างหรือไม่ ?

          เขามีแต่ชมรมจริยและประเพณี ผมอยู่ปี ๑ ก็เสนอเลยว่าขอให้มีชมรมพุทธศาสตร์ เพราะว่าจริยและประเพณี ผมเข้าไปศึกษาดูแล้ว เขาไม่มีการสนทนาธรรม เขามีแต่พิธีรีตองต่าง ๆ เช่น จัดผ้าป่า สอนวิธีกราบพระให้ถูกวิธี สอนวิธีกราบผู้ใหญ่ในระดับต่าง ๆ ด้วยวิธีที่ถูกต้องตามประเพณี และเขาไม่ได้สนใจที่จะสนทนาธรรม หรือค้นคว้าพุทธธรรม ถ้าเช่นนั้นให้บรรจุสิ่งเหล่านี้ลงไป หรือไม่เช่นนั้นต้องมีชมรมพุทธ

          อาจารย์ที่ปรึกษาไม่เห็นด้วย เขาบอกว่าไม่ต้องหรอก มีแค่นี้พอแล้ว ผมก็เลยตั้งชมรมเถื่อนของผมขึ้นมา ที่โน่นเขาเรียกว่า “ชุมนุม” ชุมนุมจริยประเพณี ชุมนุมฟุตบอล ชุมนุมบาสเกตบอล ชุมนุมภาษาอังกฤษ ชุมนุมค่ายอาสาพัฒนา แต่ผมเรียกตัวเองว่าชมรมพุทธศาสตร์ และก็หาทุนรอนเอง ทำอะไรเอง ทำหนังสือเอง และก็จัดสนทนาธรรมที่ใต้ต้นไม้


ชมรมพุทธศาสตร์ วิทยาลัยกรุงเทพ พ.ศ. ๒๕๑๕

          ตอนแรกท่านที่ปรึกษาก็บอกว่า “เอาล่ะ ทำไปก่อนเดี๋ยวเขาจะจัดงบประมาณให้” ก็ไม่จัดสักที “ทำไปก่อนเดี๋ยวจะหาห้อง หาโต๊ะ หามุมห้องให้ที่สโมสร แล้วจะหางบประมาณให้” ก็ไม่ได้ทำสักที ผมก็ต้องไปขโมยโต๊ะพับที่โรงอาหาร ยกไปตั้งไว้ที่ใต้ต้นหูกวางข้าง ๆ ห้องส้วม เพราะต้นหูกวางมีร่มเงามาก และข้างห้องส้วมเป็นที่ ๆ คนเขาไม่สนใจ และไม่ได้รบกวนใคร นั่งหลบหูหลบตาชาวบ้านไม่ไปสร้างจุดเด่น มีโต๊ะพับหนึ่งตัว มีตู้ไม้หนึ่งใบ มีกระดานไม้ฉำฉา ๑ แผ่น ใช้ปากกาเขียนไว้ว่า “ชมรมพุทธศาสตร์” และตู้ไม้ใบนั้น ก็นำหนังสือของท่านอาจารย์มาวางให้มาก แล้วก็ใช้แผ่นพลาสติกคลุมไว้ เอาก้อนหินมาทับไว้ตอนที่ฝนตก

๏ ประมาณ พ.ศ. ?

          ผมอยู่วิทยาลัยกรุงเทพ ปี ๒๕๐๙ – ๒๕๑๐

๏ ในขณะนั้นความสนใจของนักศึกษาเกี่ยวกับเรื่องศาสนาเป็นอย่างไร

          น้อยครับ อย่างผมทำโปสเตอร์ติดทั่ววิทยาลัย แล้วก็บอกว่า วัน เวลา นั้น จะมีสนทนาธรรม โดยคุณครูไสว สุนทร จะมานั่งสนทนาธรรมที่ใต้ต้นหูกวาง... ก็ตาม มีหนังสือของห้องสมุด ชมรมพุทธศาสตร์ ก็คือกล่องไม้ใบเดียวนั้นแหล่ะ ให้ยืม ก็ไม่มีใครมายืม สนทนาธรรมใต้ต้นไม้ก็ไม่มีใครมา มีแต่พวกเพื่อนนักศึกษาหญิงที่เดินไปเดินมาแล้วก็มอง มองนายบัญชานั่งอยู่ข้างสนามหญ้าแล้วก็ปิดปาก เอาผ้าเช็ดหน้าปิดหน้าแล้วก็หัวเราะ คงจะคิดอยู่ในใจว่าไอ้หมอนี่มันบ๊องส์ ๆ (หัวเราะ) แต่ก็มีเสียงลือออกมาอยู่เสียงหนึ่ง เขาบอกว่า “ไอ้นี่เป็นคอมมิวนิสต์ เอาศาสนาบังหน้า”

๏ ขณะนั้นสภาพการณ์ทางการเมือง เรื่องคอมมิวนิสต์เริ่มเป็นที่สนใจแล้วหรือ ?

          ใช่ครับ เพราะว่า ๑๐, ๑๒ อะไรนี่นะครับ ช่วงนั้นผมจบ เรียกว่า จบ ปี ๑๔ เป็นรุ่น ๑๓ หรืออะไรนี่นะครับ ผมใช้คำว่าจบก็ไม่ถูก ผมเลิกเรียนนะฮะ เพราะว่าผมตกอยู่วิชาหนึ่ง คือวิชาบัญชี แล้วก็ไปซ่อมหนึ่งครั้งก็ยังไม่ได้ ก็เลยเลิกไปเลย

๏ นอกเหนือจากชมรมพุทธคุณบัญชาเข้าร่วมกิจกรรมศึกษากับกลุ่มอื่น ๆ อีกบ้างหรือเปล่า

          ผมจะสนใจเรื่องพวกหนังสือพิมพ์กับถ่ายภาพ พอดีมีเพื่อนคนหนึ่ง บ้านเขามีฐานะ เขาไปเรียนไต้หวัน ก่อนที่จะมาเรียนที่กรุงเทพ เขาไปเรียนวิชาหนังสือพิมพ์ที่ไต้หวันและรู้ภาษาจีนดี พอมาคบกับคน ๆ นี้ก็รู้เรื่องทำหนังสือพิมพ์ เรื่องถ่ายภาพ มีชมรมถ่ายภาพและศิลปกรรม ผมเป็นรองประธาน รองประธานก็คือเบ๊ของประธานนั่นเอง (หัวเราะเบา ๆ) คือประธานนี่จะสำอางค์มาก แต่นายบัญชานี่จะเป็นกรรมกร (หัวเราะ)

๏ เหตุผลที่ไปพบท่านอาจารย์เมื่อเรียนอยู่ปี ๓

          เพราะว่ามีคน ๆ หนึ่ง คือ คุณสุพล โล่ห์ชิตกุล ซึ่งหลังจากจบมัธยม ก็มาเข้าวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นรุ่นน้อง ๑ ปี และเมื่ออยู่วิทยาลัยกรุงเทพ ๑ ปี เค้าก็ไปสอบเอ็นทรานซ์เข้านิเทศน์จุฬา ไปเป็นรุ่นน้องของนายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ๑ ปี แล้วเขาก็ไปเป็นประธานชมรมพุทธจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานชมรมพุทธก็ความคิดตรงกันอยู่แล้ว ตอนที่คุณสุพล อยู่วิทยาลัยกรุงเทพ เขาก็ฉายแวว ว่าเขาคือนักการศาสนาที่โดดเด่น ที่ขยันที่จะพูดคุยเรื่องพุทธศาสนาอยู่เนือง ๆ

          มาจากคนละทิศคนละทาง อยู่กันคนละปี แต่ก็คบกันอย่างสนิทใจ จากบัดนั้นจนบัดนี้ เขาเป็นประธานชมรมพุทธฯ จุฬาฯ ผมเป็นผู้ก่อตั้งชมรมพุทธเถื่อน วิทยาลัยกรุงเทพ ก็ไปพึ่งชมรมพุทธจุฬาฯ

          ผมประกาศจัดบวชไม่จำกัดจำนวนตอนซัมเมอร์กับเด็กวิทยาลัยกรุงเทพทุกคน มีนักศึกษามาสมัคร ๗ ราย ผมไปปรึกษาท่านปัญญานันทะ ว่าจะต้องใช้งบประมาณยังไงบ้าง ท่านปัญญานันทะ ท่านบอกว่า “หัวละแปดร้อย ถ้าหากว่า หนูหาไม่ครบ อาตมาจะออกเอง” แต่ผมก็หาจนครบ...หาจนครบเลย ใช้จดหมายพันกว่าฉบับส่งไปถึงผู้ปกครองของนักศึกษาวิทยาลัยกรุงเทพ ผมไปซุ่มกับภารโรง บอกภารโรงว่าช่วยขโมยกระดาษ และขโมยซองวิทยาลัยมาให้ผมพันกว่าใบ ผมจะทำการกุศล (หัวเราะเสียงดัง)


ฝึกสมาธิที่หน้าโรงหนังสวนโมกข์ หลังเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙
โดยมี พระวรศักดิ์ วรธมฺโม เป็นผู้สอน

          ก็ได้เงินมาก้อนหนึ่ง และผมก็ทำหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ “วารสารชมรมพุทธศาสน์เฉพาะกิจ เพื่อบวชเพื่อนนักศึกษา” ใช้ภาพปริศนาธรรมต่าง ๆ และ ไปขอบทความนายแพทย์ตันม่อเซี้ยง ขอบทความท่านปัญญานันทะ แล้วผมก็เขียนบทความผมเอง โดยปรับปรุงจาก บทความของท่านอาจารย์พุทธทาส เช่นฤาษีลวงเหี้ย อ้ายชาติคน อะไรพวกนี้ ที่ผมอ่านแล้วชอบใจ ก็มาต่อเติมของผมเอง (หัวเราะ) แล้วก็รวมเป็นเล่ม หาโฆษณา... ได้เงินมาจนครบบวชเพื่อน ๗ คน

๏ ไปบวชที่ไหน

          บวชที่วัดชลประทานฯ แล้วก็เดินทางไปซัมเมอร์กันที่สวนโมกข์ มีเงื่อนไขว่า “จะต้องบวชวัดชลประทานฯ นะ แล้วต้องเดินทางไปสวนโมกข์ จนกระทั่งใกล้ ๆ เปิดเทอมถึงจะสึกได้นะ” ซึ่งเขาก็รับเงื่อนไขกัน ๗ คน

๏ คุณบัญชาบวชด้วยหรือเปล่า

          ไม่บวชครับ เป็นกรรมกรตลอด

๏ ประมาณ พ.ศ. ?

          ก่อนจบสักปีหนึ่ง ก็ปี ๒๕๑๓ ประมาณนั้น

๏ คุณบัญชาอยู่กับคณะตลอด เมื่อลงไปสวนโมกข์

          ครับ ขอแทรกนิดหนึ่ง ช่วงนั้น ผมเคยนิมนต์ท่านปัญญานันทะ ไปเทศน์ที่วิทยาลัยกรุงเทพนะครับ พอผมนิมนต์ได้สำเร็จ วิทยาลัยกรุงเทพถึงจะรีบยื่นมือออกมาจัดอะไรต่ออะไรให้พอสมควร ท่านก็ไปเทศน์ และไปบอกบุญ ว่า “เด็ก ๆ ทำกิจกรรมอย่างนี้มีประโยชน์ ผู้ใหญ่ก็ควรช่วยเหลือตามกำลัง” ช่วงนั้นไปโดยขบวนรถไฟเดินทางไปพร้อมกัน มีพี่ไขแสง สุกใส บวชด้วย

๏ คุณไขแสง สุกใส บวชแล้วไปสวนโมกข์ด้วย

          พอถึงที่นั่งพักสนทนาธรรม ตรงก่อนขึ้นเขาพุทธทองนะฮะ หลังจากไปถึงสวนโมกข์แล้วนี่ ท่านอาจารย์ก็ปฐมนิเทศ ก็บอกว่า “คนที่พูดมาก พูดไม่เป็นกาละเทศะ พูดเพ้อเจ้อ เป็นพวกคนโง่ชนิดหนึ่ง” ซึ่งตอนที่คุณพี่ไขแสงอยู่บนรถไฟ แกพูดทั้งคืน (หัวเราะ)

๏ นี่เป็นครั้งแรกที่คุณบัญชาได้พบท่านอาจารย์

          ใช่ครับ

๏ รู้สึกอย่างไงบ้าง

          ผมได้อ่านหนังสือท่านอาจารย์ “สัพเพธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ” และเกี่ยวกับเรื่องจิตว่าง เรื่องอนัตตา เรื่องนิพพาน เรื่องตัวตนอะไรทั้งหลายนะครับ ล้วนแต่เป็นหลักคิดทางวิทยาศาสตร์ และเป็นหลักคิดที่เป็นตัวของตัวเองสูงมาก เป็น “อัตตา หิ อัตโน นาโถ” แบบภาษาธรรมทีเดียว ก็จะให้รู้สึกว่า ความวิเศษก็คือความ ธรรมดา ความเรียบธรรมดานั้นแหละวิเศษ

๏ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจ เมื่อเจอท่าน..

          ก็ให้รู้สึกว่า นี่แหละคือ พุทธศาสนา นี่แหละคือสิ่งที่เป็นที่พึ่งของประชาชน แล้วก็นี่แหละที่เราควรเจริญรอยตาม และจะต้องช่วยกันผลักดัน โดยเฉพาะเครื่องหมายของธรรมทาน เขาเรียกว่าสัญลักษณ์ของธรรมทาน ซึ่งเป็นกงล้อธรรมจักร และก็มี พุทธ--บริษัททั้ง ๔ ช่วยกันผลักดัน ผมก็รู้สึกว่าผมอยู่ในกงล้อนั้นด้วย และก็จะพยายามอยู่ในกงล้อนั้น เพื่อผลักกงล้อนี้ไปเรื่อย ๆ นี่ก็ผลักมาจนถึงอายุใกล้ ๖๐ แล้ว (ยิ้ม)

๏ คุณไขแสงพูดถึงท่านอาจารย์ว่าอย่างไรบ้าง

          ไม่ได้มีโอกาสสนทนาละเอียดถี่ถ้วน แต่พี่ไขแสงจะบรรยายบนรถไฟนะครับ ถึงหลักทางการเมืองเสียส่วนใหญ่ บรรยายถึงการต่อสู้ทางการเมืองของท่านบ้าง และก็เทคนิคของการเอาตัวรอดในสังคม หรืออะไรต่ออะไรนี่แหละ ช่วงนั้นมีพระจากจุฬาฯ วิทยาลัยกรุงเทพ ถ้าจำไม่ผิดก็มีเกษตรด้วย ก่อนที่เกษตรจะถูกพวกธรรมกายเข้ายึดด้วยเงินนะฮะ ไปกันเยอะครับ จำไม่ผิดก็เกือบร้อย

          มีนักศึกษามหาวิทยาลัยหลายสถาบัน รวมทั้งพี่ไขแสง พอพระนิสิต นักศึกษา คอตก คอพับ พี่ไขแสงก็จะเงียบไปก่อน แต่พอพี่ไขแสงเห็นว่า มีหัวเงยขึ้นมา พี่ไขแสงก็จะบรรยายต่อ สิ่งที่พี่ไขแสงบรรยายมีประโยชน์ แต่ก็รู้สึกว่า “แหม.. มันเยอะ” (หัวเราะยิ้มกว้าง)

๏ ช่วงนั้นคุณไขแสงเองสนใจแนวทางสังคมนิยมแล้ว

          ใช่ครับ

๏ สภาพในสวนโมกข์ขณะนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

          นอนพักกันที่โรงธรรม สิ่งปลูกสร้างมีน้อย ทำให้รู้สึกดีมาก รู้สึกสิ่งปลูกสร้างยิ่งน้อย ยิ่งใช่ เป็นสิ่งที่จะช่วยทางด้านจิตใจ

๏ ท่านอาจารย์ได้จัดหลักสูตรพิเศษให้กับพระนิสิตนักศึกษาที่ไปหรือเปล่า

          ใช่ครับ จัดครับ ผมคิดว่าท่านอาจารย์คงเตรียมไว้อย่างดี สำหรับพระนิสิตนักศึกษา ก็ตื่นกันตีสามกว่า ผู้บวชตื่นเพื่อไปเตรียมพร้อมทุกอย่าง ส่วนพวกผมก็ไปร่วมฟังธรรม ไปร่วมสวดมนต์ ได้ฟังธรรมก่อนที่จะออกบิณฑบาต

๏ การที่หลายสถาบันหันมาสนใจกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ทำให้เกิดเครือข่ายของนิสิต นักศึกษาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาอย่างไรบ้าง

          ความชัดเจนในพุทธศาสนาที่เป็นวิทยาศาสตร์อย่างนี้ ทำให้กล้าที่จะแสดงออก และพร้อมที่จะทำงานหนัก มีความเสียสละสูง ท่านอาจารย์จะสอนเรื่องละตัวตน ท่านใช้คำว่าจิตว่าง ทำงานด้วยจิตว่าง เมื่อละตัวตนได้ การทำงานส่วนรวมจึงจะได้ผล ถ้าตัวตนจัด การทำงานส่วนรวมก็จะเสีย ผมเชื่อว่ามีผลพวงต่อขบวนการประชาธิปไตยขณะนั้นด้วย

๏ กระแสที่นักศึกษาสนใจพุทธศาสนากับความตื่นตัวทางการเมือง ในขณะนั้นไปกันได้ หรือมีความขัดแย้ง

          ผมไม่รู้สึกว่าเป็นความขัดแย้ง ไปกันได้...แต่ก็มีเหมือนกัน อย่างเช่นกลุ่มนักทำกิจกรรมบางคนเขาก็ไม่รับหลักพระพุทธศาสนา เขาก็จะศึกษาแต่หลักสังคมศาสตร์ของเขาล้วน ๆ เขาก็มองเห็นว่า หลักพระพุทธศาสนานั้นดี แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาถึงที่สุดได้

๏ หลังจากที่พระนิสิต นักศึกษา ได้ไปฝึกตัวเองอยู่ที่สวนโมกข์ ยังมีการทำกิจกรรมร่วมกันต่อมาอีกหรือเปล่า

          ผมว่าหลวม ๆ นะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคของผมช่วงนั้น หลังจากนั้นเพียงแค่ปี สองปี เท่านั้นละฮะ ทางธัมมชโยเขาก็บุกหนัก ขนาดหนังสือในชมรมพุทธศาสตร์ของจุฬาฯ ก็ถูกนำเอาไปเผา และไปทิ้งถังขยะ คุณสุพลเองเป็นพวกอหิงสา ผมต่างหากที่มีบุคลิกเป็นกรรมกรอยู่มาก

๏ พอเกิดเหตุการณ์อย่างนั้นคุณบัญชาเองมีปฏิกิริยาอย่างไร

          ที่วิทยาลัยกรุงเทพเองไม่มีคนสืบทอด ผมพยายามจะปั้นคนสืบทอดก็ไม่สำเร็จ

๏ ตอนนั้นเป็นชมรมอย่างเป็นทางการแล้วหรือยัง

          ไม่เป็นทางการ ไม่เป็นที่รับรองของวิทยาลัย เพราะว่าระหว่างผมทำชมรมพุทธ ผมก็สมัครเข้าเป็นกรรมการสโมสร ในตำแหน่งกรรมการประเมินผล ซึ่งเป็นกรรมการอิสระ ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล และประเมินผลงานทุกชมรม และผมก็ตีชมรมทุกชมรมที่คอรัปชั่น ที่ใช้เงินผิดประเภท ที่ใช้เงินแบบไม่ค่อยมีสติ ทุกชมรมเลย โดยเฉพาะชมรมฟุตบอลนี่ถูกผมตีหนัก ตีหนักจนกระทั่ง ผู้มีชื่อเสียงในชมรมฟุตบอลนะ ซึ่งมีทีมชาติอยู่ด้วย มีทีมจากคลองเตยอยู่ด้วย แข้งใหญ่ ๆ (หัวเราะ) ทั้งนั้นนะ ๔ – ๕ คน จะกระทืบผมพร้อม ๆ กัน (หัวเราะ)

๏ หลังจาก ที่พบท่านอาจารย์ครั้งแรกแล้ว มีการติดต่อไปมาหาสู่กันอย่างไร


นำหนังสือที่พิมพ์แล้วไปถวาย และขออนุญาตพิมพ์เล่มใหม่ เมื่อปี ๒๕๓๒

          สม่ำเสมอครับ (ตอบเร็ว) เพราะว่า บังเอิญผมมาจับอาชีพทางพิมพ์หนังสือขาย ก็ไปปรึกษาท่านอาจารย์ ไปโอดครวญความยากลำบาก ให้ท่านฟังอยู่เนือง ๆ และหนังสือทุกเล่มที่พิมพ์ ผมก็จะทำจดหมายขออนุญาตจากท่านอาจารย์ ให้ท่านอาจารย์เซ็นชื่อว่าอนุญาตให้พิมพ์ได้... ทำนองนั้น

๏ ครอบครัวคุณบัญชา ทำธุรกิจด้านหนังสือหรือเปล่า

          เปล่าเลยครับ ครอบครัวผมจากประเทศจีน มีรากเหง้าผมเป็นพวกขายยา ปู่ย่า ตาทวดผมเก่งยาเป็นหมอยาหมดเลยครับ

๏ อะไรเป็นเหตุจูงใจให้คุณบัญชามาสนใจเรื่องทำหนังสือ

          พอ เช กูวารา จากเป็นหมอก็ไปจับปืน หลู่ซิ่นจากหมอถือเข็มฉีดยาก็ไปถือป้ายประท้วงร่วมกับนักศึกษา ผมก็รู้สึกว่า เออ.. จริงนะ ยามันรักษาคนป่วยไม่กี่คนหรอกนะ ซึ่งมีคนเขารักษากันอยู่ แต่จะหาคนที่จะทิ้งเข็มฉีดยาซึ่งเป็นเงินเป็นทอง แล้วมาถือป้ายประท้วงสังคม ประท้วงชนชั้นปกครอง ที่เผด็จการไม่เป็นธรรมนี่มันยาก ผมน่าจะเดินทางนี้ดีกว่า (หัวเราะเบา ๆ)

๏ สนใจการเมือง เรื่องความเป็นธรรมในสังคมควบคู่ไปกับเรื่องศาสนา

          ใช่ครับ คู่กัน แต่ดูเหมือนว่า เรื่องศาสนาจะนำมากกว่าการเมือง ผมมีความรู้สึกว่ามันต้องศาสนา เพราะว่ามันเป็นตัวจิต ซึ่งจิตใจมันจะเป็นตัวบอกให้สิ่งอื่น ๆ เป็นไป

๏ แนวคิดอย่างนี้ เมื่อถกกันในแวดวงของคนที่สนใจการเมือง คุณบัญชาไม่ถูกโจมตีว่าเป็นพวกอัตตวิสัยหรือ ?

          ถูกโจมตีบ่อย แต่เรื่องจับปืนผมก็เห็นด้วยในระดับหนึ่ง จับเพื่อไว้ป้องกันตัวเองและปะทะตอบโต้ เมื่อฝ่ายอธรรมเขาเข่นฆ่า ก็ต้องป้องกันตัว

อ่านต่อฉบับหน้า.. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :