ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตการณ์ขึ้นในด้านจริยธรรม คุณธรรม หรือในแวดวงพระพุทธศาสนา นอกเหนือจากบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ที่มีความผิดและถูกชี้ชัด หรือจำนนต่อหลักฐาน ว่าเป็นต้นเหตุของ เรื่อง ที่เกิดขึ้นแล้ว สถาบันสงฆ์มักตกเป็น จำเลยที่หนึ่ง ของสังคมเสมอมา ด้วยภาพลักษณ์แห่งความหย่อนยาน เชื่องช้า ล้าหลัง และขาดประสิทธิภาพ ทั้งที่จะแก้ไข ปัญหา อันเกิดขึ้นจากสมาชิกในชุมชนของตนโดยตรง หรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของสังคม ในฐานะที่ตนเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ และเคยมีบทบาทในฐานะ ผู้นำ หรือ ต้นเงื่อน แห่งภูมิปัญญาของชุมชน มาแต่ครั้งอดีต
ดูเหมือนว่า พุทธศาสนิกชนหลายคนได้หลงลืมไปเสียแล้วว่า นอกเหนือจากการเป็นสมาชิกของสังคมแล้ว ตนเองก็ยังเป็น หุ้นส่วน หนึ่งแห่งความเป็นพุทธบริษัทอีกด้วย ซึ่งโดยฐานะนี้ จะว่าไปแล้ว ก็ไม่สามารถจะปฏิเสธความรับผิดชอบต่อปัญหาดังที่กล่าวมาได้แต่อย่างใด!
เสขิยธรรม มีโอกาสได้ใช้ปรากฏการณ์ธรรมกายเป็นกรณีศึกษา พูดคุยกับอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก ซึ่งปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์พิเศษ สาขาปรัชญาศาสนา มหาวิทยาลัยศิลปากร และเป็นราชบัณฑิต สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ประเภทปรัชญา สาขาศาสนศาสตร์ ในวิกฤตการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาของประเทศไทยโดยรวม ทั้งเรื่องปัญหา สาเหตุ และแนวทางแก้ไข
ด้วยเวลากว่าสองชั่วโมงและความเป็นกันเองที่ อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก มอบให้กับ เสขิยธรรม การพูดคุยในเช้าวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๒ ณ ห้องประชุมชั้น ๒ อาคารหนังสือพิมพ์ข่าวสด จึงสลับไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะอยู่บ่อยครั้ง แม้ว่าหลายประเด็นจะลงลึก และเป็นเรื่องเคร่งเครียดจริงจังก็ตามที...