|
|
ณ วัดกองลม อำเภอเวียงแหง
วันที่ ๘ เมษายน เวลา ๑๔.๑๐ ๑๕.๐๐ น.
|
เภอเวียงแหงอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ ๑๕๐ กิโลเมตร โดยทางหลวงหมายเลข ๑๐๗ ผ่านอำเภอแม่ริม อำเภอแม่แตง และอำเภอเชียงดาว ก่อนจะแยกออกไปทางด้านซ้าย เข้าทางหลวงหมายเลข ๑๓๒๒ ที่คดเคี้ยวข้ามภูเขาสูง มุ่งตรงไปยังอำเภอเวียงแหง และสิ้นสุดถนนสายนี้ที่บ้านหลักแต่ง ตำบลเปียงหลวง ด่านเล็ก ๆ ประตูสู่ประเทศพม่า เพื่อนบ้านด้านตะวันตก ซึ่งถึงบัดนี้ก็ยังหาข้อยุติเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอันสมประโยชน์กับไทย ไม่ได้
ในอดีต หากข้าราชการคนใดถูกย้ายไปรับหน้าที่ที่ เวียงแหง กล่าวกันว่า คำสั่งนั้นให้ความรู้สึกถึงการลงโทษ ไม่ต่างจากการเนรเทศสักเท่าใดนัก ด้วยเหตุว่าเวียงแหงนั้นไกลปืนเที่ยง ขนาดเมื่อชาวบ้านจะออกมาทำธุระที่อำเภอเชียงดาว ซึ่งอยู่ใกล้ที่สุด ก็ยังต้องรอนแรมผ่านป่าเต็งรังรกทึบบนดอยสูงนานถึง ๒ วัน ๒ คืน
แม้กระทั่งบัดนี้ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ รถประจำทางจากเชียงใหม่ไปเวียงแหง และจากเวียงแหงมาเชียงใหม่ ก็มีเพียงวันละ ๒ เที่ยวเท่านั้น
ถนนสู่เวียงแหงในปัจจุบันราดแอสฟัลท์อย่างดี ตัดผ่านเขตอุทยานแห่งชาติเชียงดาวทั้งพื้นที่ราบและภูดอย เมื่อไต่ระดับไปถึงรอยต่อระหว่างเชียงดาวกับเวียงแหง หากฟ้าโปร่ง จะเห็น ดอยหลวงเชียงดาว อยู่ซ้ายมือ ความสูง ณ จุดนั้นไล่เลี่ยกันกับยอดดอยหลวงทีเดียว
ต่อเมื่อลดระดับลงไปได้ระยะหนึ่ง ก็จะพบศาลาเล็ก ๆ อยู่ริมทาง เป็นจุดชมทิวทัศน์มุมกว้างของ เวียงแหง ซึ่งจะปรากฏให้เห็นเป็น แอ่งกระทะ ขนาดใหญ่ โอบล้อมไปด้วยเทือกเขาสูง
จากดินแดน ลับแล ในอดีต ไม่นานมานี้ ก็มีความพยายามจากภาครัฐหลายต่อหลายครั้ง ที่จะ ขาย อำเภอเล็ก ๆ แห่งนี้ให้กับ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเสกสรรปั้นแต่งเรื่องราวของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ให้ผูกโยงกับดินแดนแห่งนี้ให้ได้
หรือกระทั่ง พยายามผลักดันให้ นางพญาเสือโคร่ง กลายเป็นไม้ประจำเมือง ทั้งที่ชาวบ้านแทบจะทั้งอำเภอ เพิ่งพบเห็นต้นไม้ชนิดนี้เข้ามางอกงามในเวียงแหงได้ไม่กี่ปีมานี้เอง
แต่แล้ว ความพยายามแบบลองผิดลองถูกดังกล่าว ก็ถูกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยลบออกไป จากนโยบายของทุกหน่วยงาน เมื่อรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ ค้นพบว่า เวียงแหง อุดมไปด้วยถ่านหินลิกไนต์ปริมาณนับสิบนับร้อยล้านตัน ทั้งยังอยู่ในระดับตื้นชนิดที่แทบไม่ต้องขุดเจาะ เพราะหลายจุดสำรวจมีลิกไนต์อยู่ในระนาบเดียวกับผิวดินเท่านั้น
วันนี้ยังไม่มีความชัดเจนใด ๆ จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ว่าจะสร้างเหมืองลิกไนต์ขึ้นที่เวียงแหงหรือไม่ ทราบกันแต่ว่า ในระยะ ๘๙ ปีมานี้ โครงการพัฒนาเหมืองลิกไนต์เวียงแหง มีของใช้และยามาแจกชาวเวียงแหงอยู่บ่อยครั้ง บางคราว ก็มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกมาตรวจรักษาโรคให้ชาวบ้านโดยไม่คิดมูลค่า
กระทั่งเมื่อพุทธบริษัทชาวเวียงแหงจะบูรณปฏิสังขรพระบรมธาตุแสนไห ศาสนสถานคู่บ้านคู่เมือง รัฐวิสาหกิจผู้เชี่ยวชาญการสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้า ก็รับอาสาเป็นเจ้าภาพ
แถมด้วยการขนอิฐตัวหนอนที่ทำจากเถ้าลิกไนต์ข้ามดอยสูงมาปูลานพระบรมธาตุ เพื่อแสดงคุณประโยชน์ของถ่านหินชนิดนี้แก่สายตาชาวเวียงแหง
ชีวิตของชาวเวียงแหงกำลังจะเปลี่ยนไปหรือไม่ก็สุดที่จะคาดเดา... แต่ภาพวัวคู่เทียมเกวียนบรรทุกตับใบตองตึง ที่ได้พบเห็นบนถนนคอนกรีตหน้าวัดกองลม หรือภาพของตัวเมืองเล็ก ๆ ที่ยังไม่มีมินิมาร์ท ไม่มีร้านขายรถยนต์ แต่กลับมีแปลงนาขั้นบันไดไล่ระดับอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอไม่มากนัก อาจจะไม่มีให้เห็นอีกต่อไปแล้ว
เมื่อในอนาคตอันใกล้ดินแดนในหุบเขาแห่งนี้จะต้องถูกกดดันให้เสียสละ ทั้งทรัพยากรในท้องถิ่น และวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของตน ด้วยข้ออ้างอันศักดิ์สิทธิ์จากหน่วยงานของรัฐหลายฝ่าย ว่าต้องยอมให้สร้างเหมืองลิกไนต์ เพื่อชาติ และ เพื่อส่วนรวม
อ่านบทสัมภาษณ์
|