เสขิยธรรม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์
ลิกไนท์ที่เวียงแหง . เหมืองลิกไนต์เวียงแหง
ทำไม? และ เพื่อใคร?

บทสัมภาษณ์ พระฐานี €ิตวิริโย
ณ วัดกองลม อำเภอเวียงแหง
วันที่ ๘ เมษายน เวลา ๑๔.๑๐ – ๑๕.๐๐ น.

 

? ทราบเรื่องการมาสร้างเหมืองลิกไนต์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตตั้งแต่เมื่อไร

          ข่าวการสร้างเหมืองลิกไนต์ของการไฟฟ้านี่ จริงๆ แล้วมีมาหลายปี แต่ที่ทราบ ก็คือช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ชาวบ้าน รวมถึงคนในอำเภอเวียงแหงเริ่มจะตื่นตัวกันมาก เกี่ยวกับข่าวการสร้างเหมืองลิกไนต์ที่เวียงแหง

? ทราบเพราะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเข้ามาประชาสัมพันธ์ ให้ข่าวสารข้อมูลกับชาวบ้าน หรือว่าได้ทราบข่าวจากทางใด

          ทราบหลังจากที่ได้เรียนจบแล้วก็มาอยู่ในพื้นที่ประมาณ ๒ ปี ก่อนนี้ไป ๆ มา ๆ ได้เห็นและได้ทราบข่าวว่าจะมีกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการไฟฟ้าบ้าง ส่วนหนึ่งก็บอกว่า มาจากโครงการที่จะมีการขุดเหมืองลิกไนต์ที่เวียงแหง ก่อนนี้ก็ไม่มีความชัดเจนเท่าไรนัก แต่พอนานเข้าๆ ก็เป็นที่แน่ชัดขึ้น

          ช่วงสองปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ผมเองได้ทราบจากชาวบ้าน และจากที่การไฟฟ้าเองมาให้ความรู้ มาประชาสัมพันธ์ในหมู่บ้าน..ในพื้นที่

พระธาตุแสนไห

? การไฟฟ้าฝ่ายผลิตทำการประชาสัมพันธ์ในลักษณะใด

          ต้องบอกว่าผมเองไม่ได้สนใจกับการกับการประชาสัมพันธ์ของการไฟฟ้าฯ เท่าไรนัก สิ่งที่ทำให้ผมสนใจ และต้องเริ่มต้นติดตามเรื่องนี้ ก็เพราะว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัว และเป็นสิ่งที่เราเองก็ต้องร่วมรับผิดชอบ ร่วมรับรู้กับชาวบ้าน ในฐานะที่เราเป็นคนเวียงแหง

          และอีกส่วนก็คือ ตลอดเวลาที่ผมออกพบปะกับชาวบ้าน หรือผมมีกิจกรรมอะไรในพื้นที่อำเภอเวียงแหงนี่ พบว่าชาวบ้านมีข้อสงสัยตลอดมาว่า ที่ผ่านมาการไฟฟ้าฯ เข้ามาทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย การเอาของมาแจก หรือแม้กระทั่ง การนำเจ้าหน้าที่แพทย์เคลื่อนที่มาในพื้นที่นี่...

          ชาวบ้านเกิดความเคลือบแคลงใจ..สงสัย ว่าเข้ามาทำอย่างนั้นทำไม ก็ถามผมส่วนหนึ่ง ผมเองก็พยายามที่จะหาคำตอบ โดยการที่เราก็พยายามหาความรู้ในเรื่องของลิกไนต์บ้าง พยายามที่จะหาข้อมูลความเคลื่อนไหวของการไฟฟ้าบ้าง

? การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเคยชี้แจงกับชาวบ้านอย่างเป็นกิจลักษณะบ้างไหม ว่าจะมาสร้างเหมืองถ่านหินลิกไนต์ และบอกหรือไม่ ว่าการทำเหมืองลิกไนต์ จะมีผลดี–ผลเสีย มีคุณมีโทษอย่างไร ชาวบ้านจะได้อะไร และสูญเสียอะไร?

          เท่าที่ผมทราบ และชาวบ้านก็ทราบกันดีทุกคนก็คือ ไม่มีการชี้แจงในลักษณะที่ถามเลย ตรงกันข้าม ที่ผ่านมาสิ่งที่การไฟฟ้าฯ ทำก็คือ นำผู้นำชาวบ้าน นำตัวแทนของชาวบ้าน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง..ส่วนน้อยเท่านั้นเอง ไปศึกษาดูงาน กึ่งดูงานกึ่งท่องเที่ยว พาไปที่แม่เมาะบ้าง พาไปเชียงม่วนจังหวัดพะเยาบ้าง และก็แน่นอน การที่พาไปดูงานนี่ เท่าที่ผมสอบถามผู้ที่ไปดู–ไปทัศนศึกษามา ก็บอกว่า เขาได้เห็นแต่สิ่งที่ดี ๆ ส่วนสิ่งที่เป็นข้อมูลอีกด้านหนึ่ง หรือด้านที่เป็นผลกระทบนี่จะไม่ได้รับรู้เลย

          สิ่งที่สำคัญ และเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดก็คือ ชาวเวียงแหงเราทุกคนเห็นว่า การไฟฟ้าฯ เองให้ข้อมูลในลักษณะเหรียญด้านเดียว ในอีกด้านหนึ่งชาวบ้านไม่ได้รับทราบ

          นี่เป็นความไม่สบายใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอยู่ ผมเองไม่สบายใจในฐานะที่เราเป็นพระสงฆ์ในพื้นที่ ว่าการที่การไฟฟ้าทำอย่างนี้น่ะ เสมือนหนึ่งเป็นการโฆษณาชวนเชื่อหรือเปล่า? ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจ เพราะถ้าหากการไฟฟ้าฯ เองคิดว่าชาวบ้านเป็นพวก หรือว่าเป็นพวกเดียวกับชาวบ้านนี่ สิ่งที่การไฟฟ้าฯ ที่จะต้องทำก็คือ เขาจะต้องบริสุทธิ์ใจ แล้วก็นำเสนอข้อมูลทั้งสองด้าน

          แต่ที่ผ่านมาไม่ใช่อย่างนั้น ชาวบ้านจะได้รับรู้ข้อมูลในด้านที่เป็นลักษณะที่เป็นผลดีเท่านั้น ว่า..ชาวบ้านจะมีงานทำ ชาวบ้านจะมีรายได้ แต่ในสิ่งที่เป็นมลภาวะหรือผลกระทบต่าง ๆ การไฟฟ้าฯ ไม่ได้พูดถึงเลยแม้แต่น้อย ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบเป็นความต้องการของชาวบ้านเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่รู้ว่าจะไปรับทราบได้จากที่ไหน

? หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง นอกเหนือไปจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เคยมาพบปะชาวบ้าน ให้ข้อมูลชาวบ้านโดยตรงบ้างหรือเปล่า?

          ข้อมูลในลักษณะของการทำเหมือง แล้วก็ผลกระทบต่าง ๆ นี่นะฮะ สำหรับหน่วยงานในราชการในอำเภอเวียงแหงนี่ ผมเข้าใจว่าอย่างนี้ คือ การกระจายข้อมูล การทำความเข้าใจกับชาวบ้านนี่ ยังเป็นลักษณะ TOP DOWN อยู่ คือเรียกผู้นำไปประชุม แล้วพูดกับผู้นำ โดยหวังว่าผู้นำจะมาพูดกับชาวบ้าน

          ซึ่งก็มีส่วนน้อยที่ผู้นำเองจะมาพูดกับชาวบ้านจริง ๆ บางทีข้อมูลเหล่านี้ก็ไม่ได้ถึงชาวบ้านอย่างแท้จริง

          ผมมักจะได้ยินทางหน่วยงานราชการ..ทางอำเภอ พูดกันนักหนา มักจะพูดเสมือนหนึ่งเป็นตัวแทนของชาวบ้านว่า ๗๐% บ้าง ๘๐% บ้างของประชาชนของชาวอำเภอเวียงแหง ที่มีความเห็นอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งเมื่อเราอยู่ในพื้นที่จะเห็นได้ว่าไม่ใช่ความจริงเลย

          สิ่งที่แท้จริงก็คือว่า ชาวบ้านอีกจำนวนมากยังไม่ได้รับข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่จากการไฟฟ้าเองหรือข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ขาดไปในพื้นที่

ป้ายการไฟฟ้า? เคยมีการสำรวจประชามติ หรือมาสอบถามความคิดเห็น เข้ามารับฟังข้อมูล – แลกเปลี่ยนข้อมูล หรือในลักษณะของประชาพิจารณ์ บ้างหรือเปล่า?

          ไม่เคยมีนะครับ แต่ที่มีนี่คือช่วงสองสามเดือนก่อน ทางการไฟฟ้าฯ เองเคยนำเจ้าหน้าที่ของเขา และนัดผู้สื่อข่าวเข้ามา แล้วก็ทำในลักษณะที่เอาชาวบ้าน เอาประชาชนไปที่ที่ว่าการอำเภอ ซึ่งชาวบ้าน ประชาชนที่ไปก็เป็นตัวแทนในหมู่บ้าน ที่ไปกันไม่กี่คนนะฮะ ไม่กี่คนที่ไป

          สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ชาวบ้านไม่ค่อยที่จะได้รู้อะไรมากนักนะครับ เพราะว่าข้อมูลต่าง ๆ นั้นเขาก็ไม่ค่อยจะได้รับอย่างเต็มที่ บางทีก็ถาม ๆ กันว่า เอ๊ะ!…จะมีการทำประชาพิจารณ์ไหม การไฟฟ้าฯ เขาจะมาถามความเห็นของชาวบ้านไหม? เขาก็รอกันอยู่ แต่ก็ยังไม่เคยเห็นในลักษณะที่มีการจัดเวที

          ที่ผ่านมาจะเป็นเวทีอีกแบบหนึ่ง คือการไฟฟ้าฯ เองเป็นผู้ที่จัด ในลักษณะที่จะต้องเชิญชาวบ้านมารับของ แล้วในช่วงที่รับของ ก็จะบอกว่า นี่คือของจากโครงการพัฒนาเหมืองนะ แล้วจะบอกว่าจะมาทำนั่นทำนี่ ในลักษณะที่เขาต้องการ

          อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า เท่าที่ผมทราบมา ไม่มีหมู่บ้านไหนเลยที่มีการประชุมแล้วพูดกันในเรื่องลิกไนต์โดยเฉพาะ ไม่เคยมีเวทีไหน...

          เวทีอำเภอก็อย่างที่ผมบอก ว่าชาวบ้านส่วนหนึ่งเขาก็ยังคงตะขิดตะขวงใจ แล้วก็ไม่กล้าแสดงออกที่จะถาม ถึงความเป็นไปเป็นมา เพราะว่าในลักษณะการประชุมอย่างนั้น เป็นการประชุมอย่างเป็นทางการ ชาวบ้านก็ได้แต่ไปนั่งฟัง และชาวบ้านที่ไปก็เป็นเพียงตัวแทนไม่กี่คน และไม่กี่หมู่บ้านที่ได้ไป

? เมื่อสภาพการณ์เป็นไปอย่างนั้นชาวบ้านมีปฏิกิริยาอย่างไร ทั้งที่เป็นตัวแทนชาวบ้านอย่าง อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือว่าชาวบ้านในระดับที่เป็นประชาชนทั่วไป มีความสนใจกับเรื่องนี้ มีปฏิกิริยากับเรื่องนี้อย่างไร

          ตามความเห็นของผมพอจะแบ่งชาวบ้านออกเป็น ๓ ประเภท คือ ประเภทที่หนึ่งคือ ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ที่จะทำเหมืองฯ ซึ่งชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ที่ทำการนี่ส่วนหนึ่งเค้ามีที่ดิน การไฟฟ้าเองก็ไปพูดกับชาวบ้านพวกนี้ว่าจะได้รับการตอบแทน จะได้ขายที่ดินซื้อที่ดิน ลูกหลานของเจ้าของที่นี่แหละ จะได้รับการพิจารณาว่าจะได้ทำงานในเหมืองเป็นอันดับแรก

          ชาวบ้านส่วนนี้เมื่อได้รับข้อมูลอย่างนี้ไปนี่ก็ แน่นอน... เขาก็ต้องการ และมีความหวังที่จะทำงานหรือเชื่อตามข้อมูลที่การไฟฟ้าฯ บอก เพราะฉะนั้นพวกนี้ก็รู้สึกว่า...เชื่อตามที่การไฟฟ้าบอก ก็บอกว่าคงไม่มีผลกระทบอะไรนะฮะ

          ส่วนที่สองก็คือ ส่วนที่เป็นแกนนำ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แล้วก็ อบต. ต่าง ๆ ซึ่งพวกนี้แน่นอนว่าเขาได้ไปดูงานมานะครับ การที่ไปดูงานมา การที่เค้าไปแล้วกลับมานี่เค้าก็มีความเห็นส่วนหนึ่งว่า “...ก็ไม่มีปัญหาอะไรนะที่เขาไปดูมา...” แต่หลายคนก็พูดเหมือนเสียงเดียวกันว่า ที่ไปดูนี่เค้าก็บอกว่าเหมือนจะเอาของที่ดีให้ดูสิ่งที่ไม่ดีนี่เค้าก็อยากทราบอยากรู้ แต่ในขณะที่เข้าไปนั้นบางทีเค้าก็ไม่กล้าที่จะแสดงความเห็นอะไรออกมามากนัก

          และก็เป็นที่น่าสังเกตอีกอย่างก็คือว่า ชาวบ้านพวกนี้เนี่ยเข้าไปก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปต่อรองว่าจะต้องไปขอดูที่นั่นที่นี่ ซึ่งการโปรแกรมการไปดูแต่ละที่ การไฟฟ้าฯ เป็นฝ่ายจัดขึ้น และคนที่เขามาต้อนรับก็เป็นคนที่การไฟฟ้าฯ จัดมา...นะครับ

          ซึ่งสองประเภทที่ผมบอกไปนี่ ถ้าคิดเป็นร้อยละก็ไม่มากเท่าไหร่...

          แต่ชาวบ้านที่อยู่ธรรมดา ชาวบ้านที่ทำมาหากินอยู่ทั่วไป และก็ไม่ได้อยู่ใกล้พื้นที่ที่เค้าจะขุดเจาะนี่นะครับ แล้วก็ไม่ได้มีที่ดินมีอะไรที่จะไปขายไปอะไรนี่ ชาวบ้านส่วนนี้มีความวิตกกังวลเป็นส่วนมาก ความวิตกกังวลของเขาก็ทั้งเรื่องของอากาศ ทั้งเรื่องของน้ำ ทั้งเรื่องของมลพิษ หรือผลกระทบต่าง ๆ ซึ่งเขาก็บอกว่าเขาไม่ได้ทราบเลย ความเห็นของชาวบ้านเหล่านี้นี่มีอีกเป็นจำนวนมาก ที่ยังวิตกกังวลอยู่

? ทราบมาว่ามีความพยายามที่จะบอกกับชาวบ้านว่าลิกไนต์เป็นทรัพยากรของชาติ ชาวบ้านจะต้องเสียสละกับเรื่องนี้ เพื่อส่วนรวม ที่มาที่ไปของข้อมูลนี้ ของข่าวนี้นี่เป็นอย่างไร

          อย่างที่ผมบอกนะครับ ว่าการไฟฟ้าเองพยายามหาความชอบธรรมที่จะดำเนินการโครงการนี้ให้ ได้เนื่องจากว่าลงทุนมามาก เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่ผมเห็นและเป็นกังวลก็คือ การฉวยโอกาสของการไฟฟ้าในฐานะผู้ที่คิดว่าตัวเองรู้กฎหมาย นี่ประการที่หนึ่งนะฮะ

          ประการที่สองก็คือว่า หาสบช่องโอกาส เพื่อที่จะเอาเหตุผลต่าง ๆ มาอธิบาย อย่างกรณีที่ถามนี่ก็คือ การอ้างว่าลิกไนต์เป็นทรัพย์สมบัติของสาธารณะ ซึ่งต้องนำไปใช้เพื่อประเทศชาติ ซึ่งจริง ๆ แล้วชาวบ้านเองส่วนหนึ่งก็คงคิด แล้วเกิดความระอาใจอยู่เหมือนกัน ว่าทำไมต้องมาอ้างอย่างนี้ ทำไมต้องเอาเหตุผลนี้มาอ้าง

          ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วหน่วยงานของราชการหรือการไฟฟ้านี่ต้องเปิดกว้าง คำว่าเปิดกว้างก็คือว่า ต้องบอกให้ประชาชนที่นี่รู้ว่าไอ้ลิกไนต์ที่อยู่ในพื้นที่ของเขา

          จริง ๆ แล้วมันเป็นทรัพย์สมบัติของท้องถิ่น ท้องถิ่นและชุมชนก็มีอำนาจและมีสิทธิที่จะมาจัดการในเรื่องนี้

          แต่สิ่งนี้ก็แสดงให้เห็นว่า การไฟฟ้าฯ ก็โกหกนะฮะ เอาความชอบธรรมที่ชาวเวียงแหงไม่ค่อยจะได้รับความยุติธรรมเท่าไหร่นักมาพูด และสิ่งหนึ่งที่การไฟฟ้าอ้างมาตลอดก็คือว่า อ้างว่าหนึ่ง อำเภอเวียงแหงนั้นเป็นประชากรมีน้อย

          สอง ห่างไกลชุมชนเมือง ซึ่งในกรณีที่เกิดผลกระทบอะไรก็เคลื่อนย้ายราษฎร เคลื่อนย้ายประชาชนได้ง่าย

          ซึ่งนี่ก็แสดงให้เห็นว่าการไฟฟ้ากำลังคิดอะไรอยู่ และก็กำลังดูถูกชาวอำเภอเวียงแหง ทั้งที่ว่ามีประชากรน้อย(จะทำอย่างไรก็ได้..ไม่มีกำลังจะคัดค้าน) และก็เพื่อให้ทำเพื่อประเทศชาติ(โดยมิได้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของชาวเวียงแหง หรือสิทธิต่อทรัพยากรของชุมชน)

          การไฟฟ้าฯ เอาความชอบธรรมนี้มาอ้างซึ่งผมเองก็คิดว่ามันไม่ค่อยถูกต้องนัก

? มีแนวโน้มในลักษณะอย่างนี้ ตัวแทนชาวบ้าน เช่น อบต. หรือ กำนันผู้ใหญ่บ้าน มีปฏิกิริยาอย่างไร?

          สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้นำของอำเภอเวียงแหง ไม่ว่าจะเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและก็อบต. ก็คือ...

          ส่วนหนึ่งผมเข้าใจว่า การครอบงำจากหน่วยงานของรัฐ เช่น ทางอำเภอนี่ยังมีอยู่ เพราะฉะนั้นปฏิกิริยาบางครั้งก็ยากที่จะแสดงออกว่าไม่เห็นด้วย ผมเคยคุยกับผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านหนึ่งนะฮะ ท่านก็คุยให้ฟังว่า “..จริง ๆ แล้ว ผมนี่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะว่าบ้านผมอยู่ใกล้พื้นที่มากที่สุด แล้วผมก็เป็นห่วงลูกหลาน แต่ผมพูดไม่ได้ เพราะผมทำงานกับอำเภอ...”

          และการทำงานกับอำเภอนั้น โดยลักษณะของประชากรในพื้นที่อำเภอเวียงแหง ในบางหมู่บ้านของอำเภอเวียงแหงจะมีประชากรที่ใช้บัตรประจำตัวประชาชนของผู้อยู่ในพื้นที่สูง(ชนเผ่า)บ้าง มีประชากรที่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนบ้าง ซึ่งในกรณีเช่นนี้เมื่อผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำหมู่บ้านต้องไปติดต่อกับทางอำเภออยู่เสมอ บรรดาผู้นำชาวบ้านจึงบอกว่า เขาอึดอัดใจที่จะแสดงจุดยืน เพราะว่าถ้าทางอำเภอ ทางฝ่ายปกครอง บอกให้สนับสนุน เขาก็จำเป็นที่จะต้องทำอย่างนั้น (เพื่อความสะดวกในการติดต่อเรื่องอื่น ๆ ให้กับลูกบ้านและตนเอง)

          นี่เป็นเรื่องที่น่าห่วงใยอย่างหนึ่ง เรามองว่าผู้นำหมู่บ้านเองก็ไม่กล้าที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นของตนในเรื่องนี้มากนัก

          มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมได้ยินจากเจ้าหน้าที่ของทางอำเภอเลย เขาเล่าว่าเคยมีการกล่าวในที่ประชุมที่อำเภอ เป็นการประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้าน และหัวหน้าส่วนราชการ ว่า...ท่านนายอำเภอเป็นคนพูดเอง ว่า... “....ถ้าหากมีหน่วยงานข้างนอก หรือหน่วยงานไหนก็ตาม ผู้สื่อข่าวที่ไหนก็ตาม มาถามความเห็นเรื่องลิกไนต์ในอำเภอเวียงแหง ขอให้แนะนำมาถามที่ผม แล้วผมจะเป็นคนเดียวเท่านั้นที่จะตอบคำถามนี้...” นี่แสดงให้เห็นว่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน บางทีเค้าก็ไม่กล้าแสดงออกเท่าไหร่นัก

          และที่เจอด้วยตนเองก็คือ เคยมีผู้สื่อข่าวขึ้นมาในเวียงแหง แล้วผมเองก็เป็นคนพาไปเยี่ยมในท้องที่ แต่พอไปสัมภาษณ์เข้าจริง ๆ พอเขารู้ว่า..มาถามเรื่องลิกไนต์ ก็ไม่กล้าพูด

          นี่แสดงให้เห็นว่า ความเข้าใจของชาวบ้านส่วนหนึ่งยังคลาดเคลื่อน และยังถูกครอบงำจากหน่วยงานของรัฐ หรือแม้กระทั่งอำนาจกระแสของการเงิน หรืออะไรก็แล้วแต่ ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าที่จะแสดงออก

? หากจะพูดในแง่ของชาติพันธุ์ หรือเผ่าพันธุ์ อำเภอเวียงแหงมีองค์ประกอบของสมาชิกในชุมชนอย่างไร?

          ในพื้นที่อำเภอเวียงแหงมีความหลากหลายด้านเผ่าพันธุ์มาก แม้ประชากรส่วนมากเป็นไทยใหญ่ก็จริง แต่ในพื้นที่ต่าง ๆ ประกอบไปด้วย ลีซอ คนเมือง (คนล้านนา–เชียงใหม่) กะเหรี่ยง ฯลฯ.

          แม้ชาวไทยใหญ่เอง ก็ยังถูกแบ่งออกเป็นหลายประเภทนะครับ คือ เป็นไทยใหญ่ที่มีบัตรประจำตัวประชาชน..เป็นคนไทยตามทะเบียนราษฎร์นะครับ ซึ่งในภาษาท้องถิ่นเนี่ยเราบอกว่ามี ทร.๑๔ ส่วนหนึ่งก็เป็นไทยใหญ่ที่เป็น ทร.๑๓ ก็คือว่าพวกนี้ถือบัตรคนพื้นที่สูงบ้าง ผู้อพยพบ้าง ถือบัตรผู้ที่หนีภัยสงครามบ้าง ซึ่งก็มีอยู่จำนวนหนึ่ง นี่เป็นประชากรในอำเภอเวียงแหง นี่เป็นคนไตและส่วนหนึ่งก็เป็นชาวจีนฮ่อ

          เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าความหลากหลายของเผ่าพันธุ์ในอำเภอเวียงแหงนี่มีมาก แต่อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าความหลากหลายของเผ่าพันธุ์ในคนในอำเภอเวียงแหงนี่ ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการที่จะให้เขามาแสดงความคิดเห็นอะไร ในการลักษณะการรวมกลุ่มก็เป็นหนึ่งเดียว เพราะว่าที่ที่ผ่านมาเคยมีปรากฏการณ์ว่าการประชุมชุมนุมอะไรเนี่ยนะฮะ หรือว่าการแสดงความคิดเห็นนี่ เค้าก็ออกมาอยู่

          แต่ในลักษณะโดยรวมแล้ว ถ้าพูดถึง... ถ้าเราย้อนไปถึงศึกษาถึงลักษณะนิสัยหรือว่าความเป็นอยู่ของคนในเวียงแหงจริงเนี่ยนะฮะ ส่วนหนึ่งเค้าชอบความสงบ ไม่ชอบการทะเลาะวิวาทหรือขัดแย้งบาดหมาง โดยเฉพาะแล้วการที่จะไปขัดแย้งกับหน่วยงานของรัฐหรือทางหน่วยงานใดหน่วยงายหนึ่งนี่ บางทีเขาก็ไม่อยากแสดงความคิดเห็น และเท่าที่ผ่านมาไม่เคยมีความขัดแย้งหรือการแสดงออกในลักษณะนั้นนะครับ

          เพราะฉะนั้นคนไต(ไทยใหญ่)นี่ เขาบอกว่า ที่ส่วนหนึ่งอยู่ได้ เพราะว่าหลีกหนีการทะเลาะวิวาทขัดแย้ง เขาไม่ชอบ เข้าใจว่านี่เป็นพื้นเพลักษณะของคนเวียงแหงจริง ๆ

? ข้อมูลจากภาครัฐที่ว่าประชากรในเวียงแหงมีไม่มากนักนั้น หมายถึงเฉพาะคนที่มีบัตรประจำตัวประชาชนหรือมีหลักฐานกับทางราชการ ไม่ได้นับรวมถึงชนเผ่าหรือเป็นผู้ที่ลี้ภัยสงครามเข้ามา ใช่หรือไม่?

           แน่นอนครับ ที่การไฟฟ้าพยายามอ้าง หรือที่พยายามบอกอยู่ตลอดเวลาว่า จะมีการจ้างงาน จะมีผู้ที่ได้ทำงาน มีสิทธิ์ที่จะไปทำงานในเหมืองในกรณีที่เปิดเหมือง ก็หมายถึงผู้ที่มีทะเบียนราษฎร์หรือผู้ที่เป็นคนไทยเท่านั้น ที่บอกว่าอำเภอเวียงแหงมีประชาการน้อย ก็มาจากตัวเลขเฉพาะผู้ที่มีทะเบียนราษฎร์เท่านั้น

? ในความหลากหลายเผ่าพันธุ์มีวัฒนธรรมร่วมกันอย่างไร?

          หมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านก็มีความเป็นอยู่ของเขา ทำมาหากินของใครของมัน แต่เวลามีกิจกรรม เช่น งานบุญ หรือเป็นงานอะไรที่เป็นงานส่วนรวม ก็จะมีตัวแทนของแต่ละฝ่าย ของแต่ละเผ่า แต่ละที่ มารวมกัน มาช่วยกัน จะเป็นลักษณะอย่างนั้น

          การติดต่อ การไปมาหาสู่ ก็มีอยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่าง เช่น มีอยู่สองสามหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยง ก็ติดอยู่กับบ้านคนพื้นเมือง ก็ไปมาหาสู่หรือแม้กระทั่งช่วงหลังมานี่ก็มีการแต่งงานกัน หรืออยู่ด้วยกันในลักษณะข้ามหมู่บ้าน ก็มีวิถีชีวิตร่วมกันตลอดมา

? มีกิจกรรมทางศาสนาหรือมีกิจกรรมในเชิงประเพณีวัฒนธรรมที่หลาย ๆ เผ่าพันธุ์ได้มาทำร่วมกันหรือเปล่า?

          มีอยู่สามถึงสี่งานที่เป็นกิจกรรมทางศาสนา ยกตัวอย่างเช่น งานสรงน้ำพระธาตุแสนไห ซึ่งเป็นมติของประชาคมอำเภอเวียงแหง ว่าทุกหมู่บ้านจะต้องเข้าร่วม เพราะฉะนั้นแต่ละฝ่ายแต่ละบ้านก็จะเอาการแสดงของแต่ละเผ่า เอาอะไรมาร่วมกัน แล้วพระสงฆ์ ฆราวาส กำนันผู้ใหญ่บ้าน ทุกส่วนก็จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของงานวันนั้นหรือกิจกรรมที่ทางราชการทางอำเภอ ยกตัวอย่างเช่น งานวันพ่อ งานวันปิยมหาราช อะไรอย่างนี้ ก็จะมีอย่างที่บอกว่าเป็นตัวแทนของแต่ละหมู่บ้าน มาร่วมกัน

? บทบาทของพระสงฆ์ในอำเภอเวียงแหง กับชุมชน และญาติโยมศรัทธาต่าง ๆ มีความสัมพันธ์กันเพียงใด และอย่างไร?

          ความสัมพันธ์ของพระสงฆ์กับชาวบ้านนี่มีมาก ในแง่ของการเป็นผู้นำด้านพิธีกรรม จะสังเกตเห็นว่าเวลาจะมีงานอะไรก็แล้วแต่ พระสงฆ์จะเป็นที่ปรึกษาของชาวบ้านในหมู่บ้านนั้น ๆ

          แต่อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ในอำเภอเวียงแหงนั้นต้องยอมรับอยู่อย่างหนึ่งว่า พระสงฆ์ที่อยู่ในพื้นที่จริง ๆ นี่จำนวนหนึ่งเป็นพระที่มาจากรัฐฉาน คือมาจากพม่า นี่ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็คือพระหลวงตา เป็นพระที่มีอายุพรรษาน้อย คือบวชเมื่อแก่ แล้วมาปฏิบัติธรรม

          ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพระสงฆ์อย่างที่ว่ามานี้ ซึ่งถ้าจะพูดถึงความลึกซึ้งในด้านหลักธรรมคำสอนที่จะนำมาใช้กับชาวบ้านจริง ๆ หรือว่าการที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาชาวบ้าน พัฒนาพื้นที่ พัฒนาชุมชนนี่ ในแง่ที่จะเป็นโครงการต่าง ๆ นี่มีน้อย

          แต่จะเด่นในลักษณะที่ท่านยังมีความสัมพันธ์กับชาวบ้าน เวลามีกิจกรรม มีพิธีกรรมอะไรนี่ท่านยังมีส่วนร่วมตลอด เป็นที่ปรึกษาได้ ยังนำชาวบ้านได้

? คณะสงฆ์ในอำเภอเวียงแหง หรือพระสงฆ์ตามวัดวาต่าง ๆ ท่านมีปฏิกิริยาในเรื่องเหมืองลิกไนต์อย่างไรบ้าง?

          คณะสงฆ์เคยนำเรื่องนี้เข้าสู่ในที่ประชุม แล้วมีมติออกมาว่า สิ่งหนึ่งที่พระสงฆ์เองจะต้องทำ ก็คือ หน้าที่ในการนำเอาข่าวสารข้อมูลไม่ว่าจะเป็นด้านบวกหรือด้านลบ มาบอกกับชาวบ้าน

          หลวงพ่อเจ้าคณะอำเภอเอง ท่านก็ย้ำอยู่ตลอด เรื่อง ความเป็นกลาง คือไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ในลักษณะที่จะเป็นฝักฝ่าย ของฝ่ายไหนก็แล้วแต่ ไม่ให้พระสงฆ์ยุ่งเกี่ยวในลักษณะนั้น

          สิ่งที่พระสงฆ์ทำได้ และควรกระทำก็คือ ให้ความรู้ ให้ข้อมูลข่าวสารเท่าที่ตัวเองทราบ...ให้กับชาวบ้าน

? ญาติโยมได้มาพูดคุยปรึกษาหารือกับพระสงฆ์ ในเรื่องเหมืองลิกไนต์หรือเปล่า?

          ผมเป็นครูสอนอยู่ที่นี่ อาทิตย์หนึ่งผมจะอยู่ข้างบนนี่(หมายถึงในพื้นที่อ.เวียงแหง)ประมาณ ๕ วัน พอเสาร์ อาทิตย์ก็ต้องลงไปเชียงใหม่ ตลอดระยะเวลาที่อยู่ที่นี่ ไม่ว่าเราจะไปร่วมกิจกรรม ร่วมงานอะไร ก็จะมีชาวบ้านถามเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา

          ส่วนหนึ่งผมเข้าใจว่า ชาวบ้านคงคิดว่าผมเป็นผู้ที่... บางทีเราไปทางเชียงใหม่หรือว่าในเมืองนี่นะครับ แล้วกลับขึ้นมา เราก็มีโอกาสได้รับข้อมูลข่าวสาร หรือเราสามารถติดต่อกับคนข้างนอกได้ เขาก็อยากจะรู้ความเคลื่อนไหว

          เพราะฉะนั้นกับตัวผมเอง หรือแม้กระทั่งกับพระหลายรูปนะครับ...พระท่านก็มาคุยให้ฟังว่า ชาวบ้านจะถามเรื่องนี้ตลอดเวลา แต่ก็มีพระบางรูปที่คุยให้ฟังว่าเวลาชาวบ้านมาถามแล้วตัวท่านก็ไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร เพราะไม่มีข้อมูล

? ทราบมาว่าที่เวียงแหงรับข้อมูลข่าวสารจากภายนอกค่อนข้างลำบาก

          เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ครับ หนังสือพิมพ์ที่เข้ามาก็ไม่กี่ฉบับ จำนวนช่องสัญญาณโทรทัศน์ที่จะรับได้ตามปกติ หรือรายการโทรทัศน์ ซึ่งเป็นข้อมูลข่าวสารเองก็น้อย แม้กระทั่งข้อมูลที่เป็นบุคคล หมายความว่าบุคคลภายนอกนี่นะครับก็มีน้อย

          ต้องเข้าใจอีกอย่างหนึ่งว่า อุปสรรคส่วนหนึ่งก็คือปัญหาเกี่ยวกับการเดินทาง การติดต่อกันระหว่างชุมชนข้างนอกกับอำเภอเวียงแหงนี่ค่อนข้างไกลนะครับ ประการที่สองก็คือ ชาวบ้านเองนี่นะครับ บางทีเจอบุคคล กลุ่มบุคคลภายนอกเข้ามา ก็ไม่ค่อยที่จะกล้าสอบถามเท่าไรนัก บางทีไม่กล้าพูดด้วยด้วยซ้ำไป ถ้าหากเจอบุคคลภายนอกที่ไม่เคยจะเห็นหน้าน่ะนะครับ ที่จะมาพูดเรื่องลิกไนต์ เรื่องอะไรนี่นะฮะ

          แต่สิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านฝากผมอยู่ตลอดเวลาก็คือว่า เวลาผมไปมหาวิทยาลัยหรือไปเรียน ไปที่ไหน เขาก็บอกว่าถ้าเจอผู้รู้ เจอนักวิชาการ เจอผู้ที่มีข้อมูล รู้ข้อมูลเรื่องนี้แล้ว ช่วยมาจัดประชุมให้หน่อย ช่วยมาทำความเข้าใจให้หน่อยในเรื่องของลิกไนต์

          เพราะชาวบ้านบางที่เขาก็บอกว่า เค้าฟัง กฟผ. ฟังการไฟฟ้ามามากแล้ว เขาไม่ค่อยเชื่อในข้อมูลที่เขาฟังมาสักเท่าไร...นะครับ

? ในอนาคตข้างหน้าถ้าหากสถานการณ์ของการสร้างเหมืองลิกไนต์ ยังดำเนินการต่อไปท่านจะทำอย่างไร?

          ผมคิดอยู่ตลอดเวลานะครับ ว่าถ้าโครงการพัฒนาเหมืองเกิดขึ้นจริง ที่เป็นห่วงก็คือ ความขัดแย้งในชุมชน ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดก็คือ ความบาดหมาง – ทะเลาะวิวาทกัน ระหว่างกลุ่มที่เห็นด้วยกับกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย กลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์ กับที่กลุ่มไม่ได้รับผลประโยชน์ สิ่งนี้น่าเป็นห่วงมาก

          นั่นแสดงว่าโครงการเหมืองฯ กำลังมาทำลายความสัมพันธ์ ทำลายมิติทางด้านจิตใจ ความเป็นพี่เป็นน้องในชุมชน...ผมเป็นห่วงสิ่งเหล่านี้ และในฐานะที่เราอยู่ในพื้นที่ ก็ปฏิญาณตนไว้ว่า สิ่งที่เราจะต้องทำให้ดีที่สุด ก็คือการเข้าไปลดความขัดแย้งและทำความเข้าใจให้เกิดขึ้นให้ได้

          เราเองเป็นพระสงฆ์ก็ต้องพูดความจริง แล้วก็ทำทุกอย่างด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพราะฉะนั้นโอกาสที่เราจะทำสิ่งไหนที่เราทำได้ เพื่อที่จะให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แล้วก็เกิดความเข้าใจตรงกัน ก็เป็นสิ่งที่ผมเองคิดว่า...คือแนวทางที่ถูกต้อง

? ถ้าจะทำโครงการลักษณะนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตหรือฝ่ายรัฐ ควรจะให้ข้อมูลข่าวสารระดับใดกับชาวบ้าน?

          นี่เป็นสิ่งที่การไฟฟ้าฯ เองต้องฟังมากที่สุดนะครับ เพราะว่าเป็นความเห็นของชาวบ้านส่วนหนึ่งเขาฝากผมมา

          สิ่งที่การไฟฟ้าควรทำมากที่สุด คือ...เริ่มต้นด้วยความจริงใจ แล้วเปิดเผยข้อมูลทุกอย่างให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วม แม้กระทั่ง ยกตัวอย่างเช่น การไฟฟ้ากำลังไปทำเรื่องศึกษาผลกระทบ ทำ EIA แล้วก็ไปจ้างคนโน้นคนนี้เข้ามาทำ โดยไม่ให้โอกาสชาวบ้านมีส่วนร่วม และท้ายที่สุดถ้าหากผลการศึกษานั้นออกมา ผลของการศึกษานั้นจะเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง?

          หรือถ้าเกิดปัญหาขึ้นมา ก็จะเป็นเหมือนหลาย ๆ กรณีที่เกิดขึ้นในเมืองไทยของเรา ก็คือ สิ่งที่การไฟฟ้าชอบมุบมิบ หรือชอบที่จะแอบซ่อนเร้นอะไรไว้ พอถึงห้วงระยะเวลาที่ปัญหาปรากฏขึ้น ก็กลายเป็นว่าการไฟฟ้าเองเป็นผู้ที่สร้างเงื่อนไขนั้น ๆ ขึ้นมา แล้วสิ่งนั้นเองจะเป็นปัญหากับชุมชน

          เพราะฉะนั้น สิ่งที่การไฟฟ้าควรจะทำมากที่สุดก็คือ การให้ชาวบ้านจริง ๆ มีส่วนร่วมในทุกกระบวนการและมีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร

          ผมเองมีความเป็นห่วงเพราะเคยทราบมาว่า มีอีกหลายอย่างที่การไฟฟ้ารู้แต่ชาวบ้านไม่รู้ เป็นข้อมูลในลักษณะที่เป็นด้านลบ ซึ่งผมเองก็ไม่แน่ใจว่ามันเป็นความจริงหรือไม่ แต่ถ้ามันมีจริง ๆ การไฟฟ้าก็ควรที่จะเปิดเผย

? เช่นอะไร?

          เช่น อดีตผู้ที่เคยทำงานการไฟฟ้าฯ เองบอกว่า พื้นที่ของอำเภอเวียงแหงเป็นแอ่งกะทะ และเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำสาละวิน เพราะฉะนั้น จึงมีความอุดมสมบูรณ์มากมาแต่เดิม เป็นไปได้ที่จะขุดพบก๊าซธรรมชาติ หรือ ที่ว่าอาจจะมีแผนฯ มีนโยบายที่จะตั้งโรงงานไฟฟ้า ในพื้นที่อำเภอเวียงแหง ฯลฯ

          สิ่งเหล่านี้จะเป็นจริงหรือไม่เป็นจริงก็แล้วแต่ การไฟฟ้าต้องออกมาชี้แจง และก็ทำความเข้าใจให้กับชาวบ้าน อย่างน้อยต้องมีฉันทามติหรือมีมติตกลงกันเบื้องต้น ว่า ในกรณีถ้ามันเป็นอย่างนี้เกิดขึ้นจริง ๆ การไฟฟ้าจะรับผิดชอบอย่างไร

          ผมเองเคยร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย มีการเสนอสิบสี่คำถาม ประเด็นส่วนหนึ่งก็คือ ในเรื่องของการตั้งโรงงานไฟฟ้า การไฟฟ้าฯ เองก็ไม่สามารถให้คำตอบในเรื่องนี้ได้ แสดงให้เห็นว่า การไฟฟ้ายังไม่ค่อยมีความจริงใจกับประชาชนเท่าไร

? นักวิชาการในท้องถิ่น เช่น จากมหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ หรือฝ่ายองค์กรพัฒนาเอกชนอื่น ๆ ให้ความสนใจกับกรณีเวียงแหงนี้บ้างหรือไม่ ...เพียงไร?

          มีกลุ่มนักวิชาการอยู่หลายกลุ่มนะครับ ที่ให้ความสนใจ แม้แต่คนในพื้นที่อำเภอต่าง ๆ นะครับแถวข้างล่าง (ที่ราบต่ำลงไปกว่าเขตเวียงแหง) ก็ให้ความสนใจ แต่ความสนใจนั้น ก็เป็นลักษณะการสอบถามความเคลื่อนไหว หรือสอบถามความเป็นไปของโครงการฯ ที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นหรือมาร่วมกับชาวบ้านจริง ๆ นี่ไม่ค่อยมี ส่วนหนึ่งบอกว่ารอดูสถานการณ์ เพราะชาวบ้านในพื้นที่ยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็น ยังไม่ออกมาอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นเขาก็ขอดูสถานการณ์ไปก่อน

          แต่ก็ในกรณีที่ผมมีโอกาสได้เจออาจารย์มหาวิทยาลัยต่าง ๆ หลาย ๆ ท่าน ท่านก็ให้ความเป็นห่วงและก็แนะนำในลักษณะที่ว่า มันคงมีผลกระทบ และสิ่งที่เราน่าจะทำมากที่สุดก็คือ เราทำอย่างไรที่จะนำเสนอข้อมูลให้ชาวบ้านได้รู้ ในลักษณะที่ว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากมีโครงการนี้...

? คิดว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะสร้างเหมืองแน่หรือเปล่า?

          การไฟฟ้าเองก็บอกว่า จะสร้างหรือไม่สร้างขึ้นอยู่กับการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม หรือที่เราเรียกกันว่า EIA และผลกระทบของทางด้านสังคม

          นี่เป็นขั้นตอนหรือกระบวนการที่การไฟฟ้าฯ ชอบอ้าง ที่ไหนก็อ้างอย่างนี้อยู่เสมอ แต่ถ้ามองในอีกแง่หนึ่งก็คือ สี่ห้าปีที่ผ่านมานี่การไฟฟ้าเขาลงทุนมากนะครับ เพราะฉะนั้น ถ้าเรามองในแง่ที่ว่าการไฟฟ้าคือบริษัท ๆ หนึ่งซึ่งต้องการแสวงหากำไร ผมคิดว่าสิ่งที่ลงทุนไป เขาก็ต้องเอากลับคืน และก็คงจะต้องทำทุกวิถีทาง เพื่อที่จะให้เหมืองเกิดขึ้นให้ได้

? ได้ยินมาว่า มีพื้นที่บางส่วนที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตซื้อไปจากชาวบ้านแล้ว มีจริงหรือเปล่า?

          มีจริงครับ ส่วนหนึ่งในพื้นที่ดังกล่าว ก็คือที่การไฟฟ้าอ้างว่าซื้อเพื่อจะใช้เป็นที่พักลิกไนต์

          และสิ่งที่น่าเป็นห่วง และเห็นว่ากำลังเกิดขึ้นก็คือ การไฟฟ้าฯ เองไปทำความเข้าใจ ไปให้ความหวังกับชาวบ้าน, กับประชาชนที่มีที่ดิน–ที่นา ในบริเวณที่การไฟฟ้าฯ จะไปขุดลิกไนต์ ว่าจะได้ขายที่ดินในราคาที่แพงกว่าราคาประเมินบ้าง ขายได้แพงกว่าราคาในท้องตลาดทั่วไปบ้าง

          นี่เป็นการสร้างกระแสความเคลื่อนไหวที่รุนแรงในช่วงระยะหนึ่ง ทำให้ชาวบ้านเกิดความไขว้เขว ชาวบ้านหลายคนที่มีฐานะหน่อย ก็เข้าไปซื้อที่ ในที่ดินที่จะมาขุดลิกไนต์ แต่เจ้าของที่หลายคนก็ลังเลใจว่า เอ๊ะ!..เราจะขายดีไม่ขายดี หรือวันดีคืนดีเขาจะมายึดที่ดินไปหรือเปล่า หรือว่าจะได้ขายเองและได้ราคาสูง

          ผมเคยได้ยินชาวบ้านคนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินนะฮะ เขาบอกว่าได้ยินมาจากเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฯ บอกว่าที่ดินของคุณนี่รับรอง...คุณอยู่ในที่นี่น่ะ คุณจะได้เป็นเศรษฐีเงินล้าน

          นี่เป็นคำกล่าวที่เราต้องบอกว่า มันทำความสับสนให้กับชาวบ้าน และผมยังไม่แน่ใจ ว่าทำไมการไฟฟ้าฯ ถึงได้พูดอย่างนั้นได้ เพราะคนเราเวลาพูดอะไรก็ต้องรับผิดชอบในคำพูดนั้น ๆ เพราะฉะนั้น น่าจะเอาความจริงมาพูดกัน

          เราเคยเห็นหลายกรณีตัวอย่าง ที่ดินในโครงการพัฒนาต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งที่แม่เมาะเองปัจจุบันนี้ชาวบ้านก็มีความขัดแย้งกัน ถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาล เนื่องจากไม่ได้รับค่าเวนคืน หรือค่าตอบแทนที่ดิน ซึ่งก็แสดงให้เห็นตัวอย่างหนึ่ง ว่ามันเป็นปัญหาขึ้นในเรื่องของที่ดิน และการให้ค่าตอบแทน

? ถ้าสร้างเหมืองที่เวียงแหงแล้วเกิดสภาพการณ์อย่างแม่เมาะจะทำอย่างไร?

          ถึงแม้จะไม่เกิดสภาพอย่างแม่เมาะ ผมเองก็ไม่อยากจะให้สร้างครับ

          เหตุผลเพราะการที่จะขุดลิกไนต์ออกไปนี่ พื้นที่โดยรอบของอำเภอเวียงแหงไม่ได้เหมือนในพื้นที่อื่น ๆ ที่นี่มีสภาพเป็นแอ่งกระทะ เพราะฉะนั้นบริบทของอำเภอเวียงแหง สภาพแวดล้อมของพื้นที่ ผมว่าจะเป็นปัญหา สิ่งที่จะกระทบจะมากกว่าแม่เมาะด้วยซ้ำไป

          แม่เมาะเป็นโรงงานไฟฟ้า ซึ่งผมเข้าใจว่าเขาทำมาหลายสิบปีแล้ว ปัญหามันเกิดขึ้นกับชาวบ้านที่นั่น ที่ต้องย้ายบ้านบ้าง ต้องซื้อออกซิเจนมาใช้บ้างนี่นะครับ พอเราเห็นอย่างนี้นี่ ผมยังคิดเลยว่า...เคยคุย ๆ กันไว้ว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ โดยที่เวียงแหงเป็นอำเภอปิด เราคงไม่มีสิทธิ์ที่จะไปอยู่ไหน ๆ แล้ว นอกจากว่าต้องหนีกลับไปอยู่พม่า

          และเมื่อพูดถึงพม่า ผมมีความเห็นเพิ่มเติมนะครับ ว่าทางพม่าด้านฝั่งแม่สายนี่ก็มีลิกไนต์ เมื่อทางพม่าเขาจะขุด ทางการไทยไปต่อต้าน ไทยไม่อยากให้ขุดนะครับ

          เพราะฉะนั้นจะสังเกตได้ว่า แม้แต่ฝั่งพม่าเอง ห่างจากชายแดนไทย ๑๓ กิโลเมตร ยังไม่ให้เขาสร้าง ผมจึงแปลกใจ ว่าทำไมเวียงแหง ที่เป็นดินแดนประเทศไทยแท้ ๆ ทำไมจึงอยากให้สร้าง

          คนเวียงแหงเองก็น่าคิดเหมือนกัน ว่าคนเวียงแหงกำลังถูกมองว่าเป็นอะไรของสังคมไทย

? พอจะทราบบ้างไหมว่า กรมทรัพย์ฯ กับกรมป่าไม้คิดอย่างไรกับเรื่องนี้?

          ก็ทราบพอ ๆ กับชาวบ้านทราบ คือ ที่ผ่านมานี่ เราจะเห็นรถของหน่วยงานราชการที่ติดข้างรถว่า นี่คือรถกรมทรัพย์ฯ นี่คือรถการไฟฟ้าฯ นี่คือของทหาร เข้ามาแล้ว เขาก็ไปทำกิจกรรมของเขา บางทีเค้าก็จะมาสำรวจพื้นที่หรือมาทำอะไรก็แล้วแต่ แต่ชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วม ชาวบ้านเองก็ได้แต่สงสัยว่ามาทำไม

? ชาวบ้านได้มีส่วนรู้เห็นกับการขุดเจาะสำรวจ และเก็บตัวอย่างลิกไนต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตหรือไม่?

          นอกจากจะไม่มีส่วนรู้เห็น ยังไม่มีส่วนร่วม แม้กระทั่งที่จะรู้ว่าสิ่งที่เค้าเอาไปนี่มันคืออะไร...นะครับ

          หรือแม้กระทั่งลิกไนต์นี่ ผมเข้าใจว่าชาวบ้านอีกจำนวนมากยังไม่เคยเห็นลิกไนต์ และที่การไฟฟ้ามาทำอะไรหลาย ๆ อย่าง บางทีมาเจาะเอาตัวอย่าง เอาอะไรไปนี่ ชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วม .. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
> นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ๑๒๔ ซอยวัดนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๘๖๓๑๑๑๘, ๐๖-๗๕๗๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๔๓๗๘๘๗๕
... e-mail :