นิรมล มูนจินดา : รายงาน
สารคดี ปีที่ ๑๙ ฉบับที่ ๒๑๗ มีนาคม ๒๕๔๖
"นักข่าวคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า ตามขบวนสมัชชาคนจนที่เดินไปหัวลำโพงเพื่อขึ้นรถไฟกลับบ้าน ตอนที่เดินผ่านป้ายรถเมล์ คนรอรถเมล์ยกมือขึ้นปิดจมูก บอกว่าเหม็น บางคนเปิดกระจกรถลง แล้วตะโกนใส่ขบวนคนจนว่า "ไปแล้วอย่ากลับมาอีก"
ในงานเสวนา "สิทธิ น้ำใจ และเมตตาธรรม : ถามหา...จากโอกาสในการชุมนุม" ที่กลุ่มเสขิยธรรมจัดขึ้นเมื่อปลายเดือนก่อน นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้พูดถึงสิ่งที่ชาวบ้านแม่มูนมั่นยืนประสบ ภายหลังจากถูกกรุงเทพมหานคร นำโดยนายสมัคร สุนทรเวช รื้อถอนหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๖
คำถามที่ว่า ทำไมคนในสังคมไทยจึงได้แสดงความรังเกียจ ไม่รับฟังและไม่เข้าใจถึงทุกข์ร้อนของคนยากคนจนนั้น ย่อมเชื่อมโยงกับการไม่ตั้งคำถามว่า ทำไมคนจนจึงต้องมาชุมนุมกันที่หน้าทำเนียบ
แม้รัฐธรรมนูญจะรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ทว่า "การชุมนุมไม่ได้เกี่ยวกับสิทธิอย่างเดียว" พระไพศาล วิสาโล หนึ่งในผู้เข้าร่วมเสวนา กล่าว "แต่เกี่ยวกับความเอื้ออาทร การชุมนุมไม่ได้เป็นเรื่องของสิทธิเท่านั้น แต่เป็นความจำเป็นของคนยากคนจน"
ทำไมจึงจำเป็น
"เพราะคนจนไม่สามารถแสดงออกผ่านทางรัฐสภา ซึ่งสมาชิกไม่ได้เป็นตัวแทนของคนจนเท่าไร คนจนก็ไม่สามารถล็อบบี้อย่างที่คนเมืองทำได้ แม้กระทั่งการยื่นจดหมาย เพราะคนจนมีโอกาสน้อยกว่า" และความด้อยโอกาสของคนจน การเข้าถึง "พื้นที่ต่อรองทางการเมือง" จึงเป็นเรื่องยาก
อาจารย์นิธิ อธิบายว่า พื้นที่ต่อรองทางการเมือง คือพื้นที่ทางการแบบประชาธิปไตยตะวันตก เช่น สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ครม. อบต. ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คนหลายล้านคนเข้าไม่ถึง กรรมกร ชาวนา และเกษตรกรรายย่อย ไม่มีพรรคการเมืองอันเป็นพื้นที่ทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย แม้แต่สื่อก็ไม่พร้อมจะแบ่งพื้นที่ให้คนเหล่านี้ เว้นแต่สื่อคิดว่าจะขายได้ แม้แต่ระบบการศึกษาและวัดก็ไม่ได้ทำหน้าที่สื่อให้ชนชั้นกลางรู้จักคนจนและคนด้อยโอกาส
การชุมนุมสาธารณะนั้น นอกจากจะเป็นสิ่งจำเป็นในการบอกกล่าวถึงเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจจากคนด้อยโอกาสแล้ว "การชุมนุมยังจำเป็นสำหรับสังคมด้วย เพราะสื่อถึงความเดือดร้อน ทำให้เกิดความโอนอ่อนเข้าหากัน การชุมนุมเป็นสื่อเป็นเสียงที่เราเชื่อว่าจะนำไปสู่ความเห็นใจ ความอาทร และความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การปิดกั้น ปิดล้อมทางสื่อมวลชน เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หรืออินเตอร์เนต ทำให้คนในสังคมไม่รู้ว่า คนยากจนเดือดร้อนอย่างไร และไม่สามารถเข้าใจว่า ทำไมจึงต้องมาชุมนุม จนกลายเป็นความเกลียดชัง ขาดการปะติดปะต่อ ทำให้ช่องว่างกว้างขึ้น และทำให้สังคมน่าอยู่ " พระไพศาลกล่าว
"สังคมไทยในปัจจุบัน มีแนวโน้มว่าสิทธิอย่างอื่นก็ถูกปฏิเสธด้วย เช่น สิทธิของผู้ต้องหาในกระบวนการยุติธรรม เพราะมีการฆ่าตัดตอน สิทธิการร่วมกับป่าของชุมชน สิทธิเรื่องคลื่นความถี่ก็ถูกแกล้งลืม สิทธิของประชาชนกำลังถูกลดทอน ปฏิเสธและล่วงละเมิด โดยเฉพาะเมื่อรัฐอ้างเสียงข้างมากในการแก้ไขปัญหา เช่น การตัดสินปัญหาเรื่องการเปิดประตูเขื่อนปากมูล หรือการอ้างประโยชน์ส่วนรวมในกรณีฆ่าตัดตอนผู้ค้ายาบ้า รวมทั้งข้อหาไม่รักชาติ เอ็นจีโอที่เคลื่อนไหวก็ถูกกล่าวหาว่ารับเงินต่างชาติ ชาวบ้านเองก็ถูกข้อกล่าวหานี้ด้วย ทำให้ความเห็นใจลดทอนลงทุกที และถูกรังแกหนักขึ้น"
พระไพศาลได้เสนอคำว่า "สิทธิทางศิลธรรม" หรือสิทธิที่คนทุกข์ร้อน คนยากไร้จะได้รับความเอื้อเฟื้อจากคน สังคมไทยเองก็รับรองสิทธินี้มานานแล้ว จึงปล่อยให้มีขอทาน คนป่วยมีสิทธิฝ่าไฟแดง มีสิทธิจะได้รับความช่วยเหลือจากสังคม แม้ว่าจะทำให้คนส่วนใหญ่เดือดร้อน แต่ก็จำเป็น
"ถ้าคนจนใช้ถนนในการชุมนุม สังคมก็ควรยอมรับได้ แต่คนใช้สิทธิก็ต้องพร้อมรับกับความเดือดร้อนและเจ็บปวดด้วย" ..
|