เสขิยธรรม -
ความเคลื่อนไหว
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์
สาเหตุหนึ่งที่ต้องจัดธรรมยาตรารักษาลำน้ำโขง

--> ธรรมยาตรารักษาลำน้ำโขง

--> โครงการระเบิดแก่งและขุดลอกแม่น้ำโขง

          โครงการระเบิดแก่งและขุดลอกลำน้ำโขง เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาพื้นที่สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (Joint Economic Quadrangle) ของสี่ประเทศคือ จีน (ยูนนาน), พม่า, ไทย และลาว โดยมีการลงนามข้อตกลงร่วมกันในเรื่องการเดินเรือเสรีของทั้งสี่ประเทศ เมื่อเดือนมิถุนายน ปี ๒๕๔๔ โครงการนี้มัวัตถุประสงค์ที่จะปรับปรุงเส้นทางการเดินเรือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าเพื่อการพานิชย์ และเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยว แต่ถ้าหากมองประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องรอบด้านของโครงการนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม ที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชนสองฟากฝั่งลำน้ำโขง และต่อประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว จะพบว่ายังมีหลายประเด็นที่สำคัญ ๆ ที่ถูกละเลยและมองข้าม การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ และการศึกษาผลกระทบของโครงการ ไม่ได้ครอบคลุมถึงผลกระทบสำคัญ ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศวิทยาของลำน้ำโขง วงจรชีวิตและที่อยู่อาศัยของพันธุ์ปลาในลุ่มน้ำ และวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นที่พึ่งพิงลำน้ำ ในขณะเดียวกัน ผลเสียหายโดยรวมต่อประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ก็ยังคงเป็นคำถามใหญ่ที่ผู้รับผิดชอบโดยตรงหลายฝ่ายยังไม่สามารถตอบคำถามได้

--> เดินเรือเสรีเพื่อการค้าเสรี

          ที่ผ่านมา ประเทศจีนเป็นตัวหลักในการประสานงานอีกสามประเทศในเขตลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน คือ พม่า ไทย และลาว โดยจีนได้สนับสนุนงบประมาณ ๕.๓ ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ ๒๐๐ ล้านบาท เพื่อทำการสำรวจพื้นที่และออกแบบโครงการ โดยมีการวางแผนโครงการออกเป็นสองระยะใหญ่ ๆ คือ ในระยะแรก จะทำการขุดลอกสันดอนและระเบิดแก่งในฤดูแล้ง โดยจะใช้เวลา ๒ ปี ในระยะที่สอง จะดำเนินการควบคุมและปรับปรุงลำน้ำ ซึ่งแบ่งออกเป็นสามระยะ โดยระยะที่หนึ่งนั้น เพื่อให้เรือขนาด ๑๐๐ ตันสามารถแล่นผ่านได้ตลอดทั้งปี จากปกติที่เรือ ๑๐๐ ตันสามารถเดินเรือได้สะดวกในช่วงฤดูน้ำหลากเท่านั้น ในระยะที่สอง เรือขนาด ๓๐๐ ตันสามารถแล่นได้เกือบตลอดทั้งปีภายในปี ๒๕๔๘ และระยะสุดท้ายจะปรับปรุงลำน้ำให้เรือขนาด ๕๐๐ ตันแล่นได้เกือบตลอดทั้งปี ภายในปี ๒๕๕๐

          สำหรับในระยะแรกของโครงการ จะทำการระเบิดแก่งขุดลอกลำน้ำโขงเป็นระยะทาง ๓๓๑ กิโลเมตร โดยเริ่มต้นจากแม่น้ำหลายซาง หรือแม่น้ำโขงตอนบนบริเวณพรมแดนจีน-พม่า ถึงบ้านห้วยทราย ประเทศลาว เป็นระยะทาง ๓๓๑ กิโลเมตร (และระยะต่อไปคือ ระหว่างซือเหมาของจีน พม่า ลาว และไทย ไปจนถึงหลวงพระบางเป็นระยะทาง ๘๘๖ กิโลเมตร เพื่อให้เรือบรรทุกสินค้าและเรือท่องเที่ยวขนาด ๓๐๐-๕๐๐ ตัน สามารถแล่นผ่านได้อย่างสะดวด) โดยตามแผนที่หมดที่วางไว้นั้น จะมีแก่งที่ต้องระเบิดทั้งหมดมากกว่า ๑๐๐ แก่ง และสันดอนอีกกว่า ๕๐ แห่ง ส่วนการขุดลอกลำน้ำนั้นจะทำให้ลำน้ำมีความลึก ๓ เมตรเป็นอย่างต่ำ

          มีการรายงานความคืบหน้าของโครงการในขณะนี้ว่า รัฐบาลจีนได้มีการระเบิดแก่งต่าง ๆ ในเขตประเทศจีน และตรงรอยต่อของพรมแดนพม่าและลาวไปแล้ว ส่วนในเขตประเทศไทย มีการวางแผนที่จะระเบิดแก่งในบริเวณ อ.เชียงแสน, อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ทั้งหมด ๑๓ จุด ประมาณปลายปีนี้ แต่โครงการนี้ยังเป็นที่รับรู้ของคนจำนวนน้อยมาก แม้กระทั่งชาวบ้านตามชุมชนลำน้ำโขงตอนบนของประเทศไทย ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการ มีเพียงบางคนเท่านั้นที่เพิ่งจะทราบข่าวเมื่อปีนี้เอง ทั้ง ๆ ที่มีความเป็นไปได้อย่างมากกว่า โครงการนี้จะสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศของลำน้ำโขง ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งวางไข่ของปลา รวมถึงวิถีชีวิตของชุมชนในลุ่มน้ำโขงทั้งหมด

--> ลำน้ำโขง ลำน้ำชีวิต

          แม่น้ำโขง เป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่สุดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นหนึ่งในแม่น้ำที่ยิ่งใหญ่ของโลก นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า แม่น้ำโขงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดของโลกแห่งหนึ่ง เป็นรองแต่เพียงแม่น้ำอะเมซอนในอาฟริกาใต้ ซึ่งปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ ในลุ่มน้ำโขงมีความสำคัญยิ่งต่อความมั่นคงในวิถีชีวิตของประชาชนกว่า ๖๐ ล้านคนที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำโขง เพราะฉะนั้นการระเบิดทำลายเกาะแก่งตามธรรมชาติในลำน้ำโขง จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของลำน้ำ และถูกคุกคามต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางอาหาร และความมั่นคงของวิถีชีวิตชุมชนในลุ่มน้ำนี้อย่างแน่นอน

          โครงการระเบิดแก่งและขุดลอกแม่น้ำโขง จะทำให้ระบบนิเวศของลำน้ำทั้งหมดต้องเปลี่ยนแปลงไป สภาพเกาะแก่งที่การศึกษาของโครงการระบุเป็นว่า "แก่งอันตราย และหินโสโครก" แต่ในทางนิเวศวิทยานั้น ถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์พืชน้ำและสัตว์น้ำในลำน้ำโขง เพราะแก่งเหล่านี้มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชน้ำที่เป็นอาหารทั้งของปลาและของคน นอกจากนี้วงจรชีวิตและการอยู่รอดของปลาในแม่น้ำโขงต้องพึ่งพาการไหลตามฤดูกาลของน้ำในแม่น้ำ, ต้องพึ่งพาแก่ง, แอ่งลึก และพื้นที่ชุ่มน้ำในลำน้ำที่จะรองรับการอพยบ ใช้เป็นแหล่งอาศัย แหล่งหลบภัย วางไข่และผสมพันธุ์ รวมทั้งแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญต่อการขยายพันธุ์อีกด้วย ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าแก่งต่าง ๆ ตามลำน้ำเหล่านี้มีควาสำคัญต่อการดำรงอยู่ของแหล่งประมงลุ่มน้ำโขง รวมถึงคนที่ต้องพึ่งพาแหล่งประมงในเรื่องอาหารและความมั่นคงในการดำรงชีพ

          นอกจากนั้น การที่เกาะแก่งตามธรรมชาตหายไป จะทำให้การไหลของกระแสน้ำเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากโดยทางธรรมชาติ ดอน แก่ง และแง่งหินในลำน้ำ จะเป็นตัวช่วยควบคุมกระแสน้ำและทิศทางการไหลของน้ำในแม่น้ำโขง แก่งจะทำหน้าที่ช่วยป้องกันไม่ใไห้กระแสน้ำไหลเชี่ยวกรากในหน้าฝน และช่วยป้องกันและลดทอนการพังทลายของชาวฝั่งอีกด้วย

          สิ่งที่ชาวบ้านตามชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขงในประเทศไทยพูดเป็นเสียงเดียวกัน เมื่อทราบข่าวว่าจะมีการระเบิดแก่งก็คือ วิถีชีวิตของชุมชนที่พึ่งพิงลำน้ำโขงจะตกอยู่ในภาวะวิกฤต และล่มสลายไปในที่สุด เพราะการระเบิดแก่งและปรับปรุงลำน้ำจะทำลายแหล่งหาปลาของชางบ้าน ทำให้ภาวะทางเศรษฐกิจของครอบครัวฝืดเคือง แต่ชาวบ้านริมฝั่งลำน้ำโขงของไทยได้สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้ว

          "ในขณะนี้ โครงการปรับปรุงเส้นทางการเดินเรือในแม่น้ำโขง ได้เริ่มระเบิดเกาะแก่งตามลำน้ำในเขตประเทศจีนแล้ว ชาวบ้าน อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของลำน้ำ เช่น มีดินตะกอนพัดพามามากขึ้น สังเกตเห็นได้เลยว่า น้ำโขงที่เชียงของขุ่นมาก และระดับน้ำก็ขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่ตรงตามฤดูกาล การเปลี่ยนแปลงตรงนี้ได้กระทบกับชีวิตของคนหาปลาเป็นอย่างมาก ลำพังการเดินเรือสินค้าในขณะนี้ ที่มีเรือสินค้าไทย-ลาว ขนาด ๕๐ ตันวิ่งผ่านในเขตเชียงของ เวียงแก่น ก็ถือว่าว่งผลกระทบกับการหาปลาอยู่แล้ว เพราะเรือสินค้าขนาดใหญ่มักจะทำให้เรือหาปลาพลิกคว่ำ และสร้างคลื่นขนาดใหญ่ที่ยากลำบากต่อการหาปลา ถ้าหากเรือขนาดใหญ่ถึง ๑๐๐-๕๐๐ ตันที่จะแล่นผ่านในอนาคตหากโครงการนี้สำเร็จ ทั้งปลาและเรือหาปลาก็คงหายไปหมด" นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา จากโครงการแม่น้ำและชุมชน กล่าว

          นอกจากการหาปลาที่เป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนลำน้ำโขงแล้ว รายได้เสริมที่เป็นกอบเป็นกำจากการทำเกษตรก็จะสูญหายไปเช่นกัน "ไก" หรือสาหร่ายน้ำจืดที่เป็นอาหารของคนและปลา และเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของชุมชนริมฝั่งโขง ก็จะถูกผลกระทบอย่างชัดเจน ชาวบ้านบอกว่า พวกเขาจะเก็บไกตามก้อนหิน และแก่งหินในแม่น้ำโขงบริเวณที่น้ำมีความลึกไม่มาก พวกเขาจะต้องสูญเสียพื้นที่การทำเกษตรริมตลิ่งสองฝั่งแม่น้ำโขงไป เพราะนอกจากน้ำที่ไหลเชี่ยวกรากโดยไม่มีแก่งเป็นตัวชลอ จะทำให้ริมตลิ่งเกิดการพังทลายแล้ว ในอนาคตทางราชการมีโครงการสร้างถนนเลียบริมฝั่งโขงอีกด้วย ฉะนั้น ในอนาคตแหล่งอาหารและแหล่งรายได้ที่สำคัญเหล่านี้จะสูญเสียหายไปในที่สุด

--> กระบวนการไม่โปร่งใส ไร้ประชาพิจารณ์

          หากพิจารณากระบวนการการดำเนินการของโครงการนี้จะพบว่า การลงนามข้อตกลงให้ความร่วมมือในแผนการพัฒนาลำน้ำโขง เพื่อการพาณิชย์และการท่องเที่ยวนี้ เป็นไปอย่างไม่โปร่งใส เพราะชุมชนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงไม่ได้เข้าไปอยู่ในกระบวนการรับรู้ และแสดงความคิดเห็นใด ๆ การตัดสินใจดำเนินการโครงการไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ ได้ระบุไว้ในมาตรา ๔๖ ว่าชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการใช้และจัดการทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนของตน นอกจากนี้การทำรายงานผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการ ก็มิได้ครอบคลุมถึงประเด็นทางสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ๆ และละเลยสิทธิชุมชนหลาย ๆ ด้าน เช่น สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการ สิทธิในการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจ ว่าโครงการนี้มีประโยชน์ต่อพวกเขาแท้จริงหรือไม่

          ท้ายสุด เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบความจำเป็นของโครงการ กับผลได้กับผลเสียที่ประเทศไทยจะได้รับ จะเห็นว่าโครงการระเบิดแก่งยังไม่สามรถตอบคำถามนี้ได้อย่างชัดเจน การประโคมข่าวว่าโครงการจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านการค้าและการท่องเที่ยวของไทย ดูจะเป็นข้อถกเถียงที่ชาวบ้านยังคลางแคลงใจ

          นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว แกนนำกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า "โครงการนี้มีประเทศจีนได้ผลประโยชน์ฝ่ายเดียว เพราะเมื่อเรือจากจีน ๓๐๐-๕๐๐ ตัน สามารถแล่นผ่านเชียงของไปถึงหลวงพระบาง ประเทศไทยจะสูญเสียการค้าที่มีอยู่ในขณะนี้ และจีนจะเจาะตลาดเข้ามาแทนที่ไทย ในขณะที่เรือสินค้าจากจีนก็มาถึงเชียงแสนก็เพียงพออยู่แล้ว และถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าโครงการนี้ไม่มีความจำเป็น เพราะประเทศไทยจะต้องสูญเสียตลาดการค้าที่สำคัญให้จีน ยิ่งกว่านั้น เราจะต้องสูญเสียแม่น้ำโขง สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของคนในชุมชนริมฝั่งโขงไปโดยไม่มีวันเรียกกลับได้".. .


๑ แผนพัฒนาพื้นที่สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ถือเป็นแผนพัฒนาที่อยู่ภายใต้แผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Subregion หรือ GMS) ที่ครอบคลุม ๖ ประเทศในลุ่มน้ำโขง คือ จีน (ยูนนาน) , พม่า, ลาว, ไทย, กัมพูชาและเวียดนาม ซึ่งแผน GMS นี้เกิดจากการผลักดันจากหลายฝ่ายด้วยกัน เช่น ธนาคารพัฒนาเอเซีย หรือเอดีบี, the United Nations Development Program (UNDP), the Economic and Social Commission for Asia and the Pacific (ESCAP) และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Committee) เช่น เอดีบี ให้เงินช่วยเหลือสำหรับโครงการสร้างท่าเรือตามลำน้ำโขงตอนบนของทั้งสี่ประเทศ เป็นต้น

--> ธรรมยาตรารักษาลำน้ำโขง

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม |> ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :