งานเปิดหอสมุดในวันนี้ มีสามประเด็นที่สำคัญอันควรที่จะต้องตราไว้ คือ
(๑) พิธีในวันนี้เป็นนิมิตหมายแห่งการบูชาบุคคลที่ควรบูชา เราทุกคนควรขอบใจลูกหลานของท่านมหา ที่แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบุพการี และเชิญชวนให้พวกเรามาร่วมงานบุญ เพื่อบูชาคุณท่าน ซึ่งไม่แต่อุทิศตนในการกู้เอกราชให้บ้านเมือง หากยังอุทิศตนให้แก่วิทยากรอย่างที่ควรแก่การเอาเยี่ยง ทั้งวิถีชีวิตของท่านก็เป็นไปอย่างสัตบุรุษ พุทธบริษัท ซึ่งมีคุณงามความดีประกอบไปกับความรู้ ฉะนั้น การที่เรามาบูชาบุคคลเช่นนี้ ไม่ได้มีจำเพาะแต่กับพวกเราที่มาร่วมพิธีในวันนี้เท่านั้นก็หาไม่ หากใครก็ตาม แม้จะเป็นอนุชนรุ่นถัด ๆ ไป ถ้าเขารู้จักบูชาบุคคลเช่นนี้ เขาก็จะพลอยได้อุดมมงคลด้วยเช่นกัน เพราะสมัยนี้ เรามีบุคคลกึ่งดิบกึ่งดีมากมายเสียเหลือเกิน โดยเฉพาะก็คนที่มีอำนาจวาสนา ยศศักดิ์ เงินทอง การที่ได้บูชามนุษย์ที่แท้ ที่เป็นบุคคลที่ควรบูชา จึงเป็นอุดมมงคลอย่างแน่นอน
(๒) หอสมุดแห่งนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งธรรมทาน คือการให้ความรู้ในทางสัจจะ ทั้งทางโลกและทางธรรม นับว่าเป็นการให้ที่มีคุณค่าเหนืออามิสใด ๆ และการให้ที่ว่านี้ไม่มีการซื้อขายเข้ามาเกี่ยวข้อง หากใครก็ตามที่ต้องการความรู้ ไม่แต่จากงานเขียน งานแปล ของท่านมหาสีลาเท่านั้น หากยังมีบทนิพนธ์ของท่านอื่น ๆ อีกด้วย เช่นของท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสยาม และของคุณอุทิน บุนยวงส์ แห่งสาธารณรัฐประชาชนลาว รวมถึงคนอื่น ๆ ในสมัยโบราณและร่วมสมัย หอสมุดแห่งนี้มีทั้งที่เป็นภาษาลาว ภาษาไทย ภาษาบาลี และภาษาฝรั่ง หวังว่าหอสมุดแห่งนี้จะมีปริมาณหนังสือเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมีคุณภาพที่เป็นเลิศยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย โดยที่ถ้ามีผู้เห็นดี เห็นงามในการบูชาบุคคลที่ควรบูชาอื่น ๆ ด้วยการตั้งหอสมุดเช่นนี้ขึ้นในที่อื่น ๆ อีก เราก็จะเพิ่มโอกาสในทางอุดมคติยิ่ง ๆ ขึ้น และเราจะขยายธรรมทานให้กว้างขวางไปยิ่ง ๆ ขึ้นอีกด้วย เพื่อให้สัจจะเอาชนะอาสัตย์ ให้ความจริงเอาชนะความเท็จ ให้ความเป็นเลิศเอาชนะความด้อย หรือความกึ่งดิบกึ่งดี ซึ่งมักเป็นไปกับระบบทุนนิยมและบริโภคนิยม ที่มักใช้คำว่าโลกาภิวัตน์เป็นตัวกำหนด
(๓) ก็ท่านมหาสิลา วีรวงส์นั้น มีชีวิตและผลงานไปพ้นความเป็นประชาชาติ หรือประเทศชาติ ท่านเป็นที่ยกย่องและเทิดทูน ทั้งทางฝั่งไทยและฝั่งลาว แม้ชาติกำเนิดของท่านจะอยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ด แต่ท่านก็จบชีวิตลงที่ฟากแม่น้ำโขงฝั่งนี้ แม้นี่จะเป็นสองประเทศเอกราชในทางการเมือง แต่ในทางวรรณศิลป์แล้วไซร้ เราเป็นหนึ่งเดียวกัน แม่น้ำโขงไม่อาจขวางกั้นความสัมพันธ์ฉันท์ญาติมิตร อันสืบสายกันมาอย่างสนิทหลายต่อหลายชั่วคน ยังงานเขียนของท่าน งานแปล และงานชำระอมตนิพนธ์อย่าง ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง ของท่านนั้น มีคุณค่าอย่างมหาศาล ดุจเพชรน้ำหนึ่งในทางอักษรศาสตร์และประวัติศาสตร์ของชนชาติไทลาว หรือชุมชนที่อยู่ในตระกูลภาษาและวัฒนธรรมดังกล่าว ไม่แต่ที่ราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนลาวเท่านั้น หากยังรวมไปถึงไทลื้อที่สิบสองปันนาในสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึง ไทใหญ่ในสหภาพพม่า ไทดำ ไทแดง ที่เวียดนาม และไทอาหมที่อินเดียอีกด้วย
บัดนี้ ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง มีปรากฏเป็นภาษาไทยและภาษาลาวแล้ว ต่อไปจักมีปรากฏในภาษาไทยต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วอีกด้วย มิใยต้องเอ่ยถึงว่าจักต้องมีปรากฏเป็นภาษาฝรั่ง ภาษาจีน และภาษาอื่น ๆ ในทวีปเอเชีย ทั้งนี้ก็เพราะวิชาความรู้อันประเสริฐนั้นปราศจากพรมแดน พูดตามทางภาษาอังกฤษ ถือได้ว่านี่เป็น Republic of Letters กล่าวคือ อักษรศิลป์นั้น อาศัยภาษาและวิชาการเป็นสื่อ ไปพ้นอาณาจักร หรืออาณาเขตใด ๆ หากเป็นขอบเขตและพรมแดนอันพิเศษ เหนือการเมืองและการเศรษฐกิจ ซึ่งจำกัดแวดวงไว้แต่ในปัจจุบันเท่านั้น หากวรรณศิลป์ที่เป็นสัจจะ ย่อมเป็นอกาลิโกและเป็นอมตพจน์
ท่านมหาสิลาสืบทอดมรดกทางศิลปศาสตร์และทางศาสนธรรม มาแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าเจ้ากรุงสยามก็ว่าได้ โดยที่พระองค์ท่านก็มีพระราชประสูติกาลครบสองศตวรรษเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๗ นี้เอง ชนชั้นปกครองของไทยไม่เข้าใจได้ลึกซึ้ง ถึงพระกิตติคุณอันวิเศษพิสดารของพระองค์ท่าน เพราะความเป็นเลิศนั้นเข้าถึงได้แต่คนที่ตามีแววเท่านั้น
ก็พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ นั้น ทรงผนวชอยู่ถึง ๒๗ พรรษา ทรงมีสมณฉายาว่า ภิกขุวชิรญาณ และทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ให้อุปสมบทแด่ท่านเทวธัมมี ม้าว ซึ่งอยู่ในลำดับต้นๆ ของพระธรรมยุตสายอีสาน ตลอดจนทางจัมปาศักดิ์ของลาว โดยมีท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) แห่งจังหวัดอุบลราชธานี เป็นหลักที่สำคัญในการสืบสมณวงศ์เรื่อยมาจนถึงที่สมเด็จพระมหาวีรวงส์ (อ้วน ติสโส) และสมเด็จองค์นี้เองที่เป็นพระอาจารย์ของท่านมหาสิลา วีรวงส์ เมื่อบวชอยู่ในพระบวรศาสนา ทั้งยังอนุญาตให้ท่านมหาใช้ราชทินนามของพระคุณท่าน มาตั้งเป็นนามสกุลของท่านอีกด้วย
นี่คือการสืบทอดในทางธรรมมาสู่ทางโลก จากขัตติยราชสู่สามัญชน ผ่านวงการแห่งพระธรรมจักร ซึ่งไม่มีพรมแดนในทางอาณาจักรมาขีดคั่น
ใช่แต่เท่านั้น การที่เมืองไทยหันเข้าหาความทันสมัย โดยรักษาสาระในทางธรรมไว้ได้อย่างไม่ตกอยู่ใต้อาณานิคมของฝรั่ง ก็เพราะความรู้ทั้งทางสกสมัยและปรสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ นั่นเอง ดังเมื่อเมืองไทยตั้งหอสมุดสำหรับพระนครขึ้นเป็นครั้งแรก ก็นำพระสมณฉายามาตั้งชื่อว่าหอพระสมุดวชิรญาณ ยิ่งเมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์หนึ่งของพระองค์ มาทรงบัญชาการหอพระสมุดแห่งนี้ ได้ทรงสามารถทำให้หอสมุดเป็นสถาบันหลักของบ้านเมือง ในการปลูกฝังความภูมิใจในภาษาและวัฒนธรรม ตลอดจนประวัติศาสตร์และประเพณีของไทย นับเป็นรากฐานของ Republic of Letters ที่สำคัญยิ่ง
แม้พระยาอนุมานราชธน จะไม่มีเชื้อสายในทางขัตติยราช แต่ก็ทรงโปรดปราน จนทรงถือเอาว่าท่านเจ้าคุณเป็นดังทายาทของพระองค์ทางด้านอักษรศิลป์ หรือ Republic of Letters เอาเลยก็ว่าได้
โดยที่ท่านมหาสิลา วีรวงส์ก็เคยทำงานอย่างใกล้ชิดมากับท่านเจ้าคุณพระยา และสืบทอดมรดกทางศิลปศาสตร์ ไม่แต่จากท่านเจ้าคุณ หากจากสมเด็จกรมพระยาเอาเลยด้วยซ้ำ ดังประวัติศาสตร์ลาวของท่านก็ดี และการที่ท่านเรียบเรียงเรื่องประเพณีและนิทานพื้นบ้านของลาว รวมถึงการที่ท่านชำระวรรณคดีลาว ทั้งทางโลกและทางธรรม นับว่าเป็นการสืบสายไปหาสกุลดำรงราชานุภาพ และอนุมานราชธนเอาเลยก็ว่าได้ หากท่านก็ไม่ได้ถูกครอบ เพราะท่านมีความเป็นตัวของตัวเอง ดังที่ท่านร่วมอยู่กับเจ้าเพชรราช ในการเรียกร้องต้องการเอกราชนั่นแล
เอกราช ไม่ได้หมายเพียงแต่ทางการเมือง หากหมายถึงในทางความรู้ ซึ่งควรควบคู่ไปกับคุณงามความดี ดังสัจจธรรมย่อมเป็นเนื้อหาสาระของสันติธรรม ฉะนั้นหอพระสมุดวชิรญาณเป็นรากฐานให้เกิดความตื่นตัวทางวิทยาการอย่างใหม่ของไทย เฉกเช่น Royal Society เป็นตัวกระตุ้นทางวิทยาการที่สำคัญของอังกฤษ หรือ Academie des Sciences แห่งกรุงปารีส เป็นตัวกระตุ้นทางวิทยาการที่สำคัญของฝรั่งเศส ฉะนั้น ขอให้เรามาร่วมกันตั้งความหวังว่า หอสมุดมหาสิลา วีรวงส์แห่งนี้ จักมีคุณค่าในอนาคต ไม่น้อยไปกว่าสถาบันทั้งสามที่เอ่ยนามมาแล้วนั้นเลย หอพระสมุดวชิรญาณมีความหมายในทางความเป็นเลิศ เพราะได้บุคคลอย่างสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และพระยาอนุมานราชธนมาสานต่อฉันใด หอสมุดมหาสิลา วีรวงส์ ก็ต้องมีอนุชนมาสานต่อไปอย่างไม่น้อยหน้าไปกว่าที่ เอื้อยดารา กัลยา และเอื้อยดวงเดือน บุนยวงส์ เริ่มไว้ด้วยเช่นกัน
หวังว่าอนุชนชาวลาว และอนุชนในตระกูลภาษาและวัฒนธรรมไทลาว จะมาร่วมกันปลุกปั้นให้หอสมุดแห่งนี้มีคุณค่า เป็นดังมณีรัตนของภาษาและวัฒนธรรมไทลาวในอนาคต เฉกเช่นที่ท่านมหาสิลา วีรวงส์เป็นรัตนมณีในทางศิลปศาสตร์มาแล้ว ด้วยชีวิตและผลงานของท่านนั้นแล
ขอให้ปณิธานที่ว่านี้ จงสัมฤทธิ์ด้วยเทอญ
และด้วยความปรารถนาดีดังกล่าว ข้าพเจ้าขอเชิญชวนท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายได้ร่วมกันเปิดหอสมุดมหาสิลา วีรวงส์ ในขณะที่พระคุณเจ้าทั้งหลายจักสวดสังวัธยายชัยมงคลคาถา เพื่อคุณพระศรีรัตนตรัย จะได้ช่วยให้เราเข้าถึงชัยชนะของพระและของสัจจธรรมโดยแท้
๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๗
[วันเกิดครบร้อยของท่านจริงๆ นั้น วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๘]..