ติช นัท ฮันห์ เป็นพระภิกษุชาวเวียดนาม ในพุทธศาสนา
ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดท่านหนึ่ง ในแถบประเทศตะวันตก
ท่านได้อุทิศชีวิต เพื่อส่งเสริมแนวคิด ของการไม่ใช้ความรุนแรง
และความกรุณา ปรับประยุกต์พุทธศาสนาเพื่อรับใช้สังคม
จนเป็นผู้นำเรื่อง Engaged Buddhist
ติช นัท ฮันห์ หรือไถ่ นัท ฮันห์ ได้รับนิมนต์จากรัฐบาล เวียดนามบรรยายธรรม ณ ประเทศบ้านเกิดเป็นเวลา ๔ เดือน นับแต่มกราคมเมษายน ๒๕๔๘ เดินทางไปบรรยายตามเมืองต่าง ๆ ได้แก่ ไซ่ง่อน โฮจิมินห์ เว้ ฮานอย ฯลฯ นับว่าเป็นนิมิตรหมายอันดี ยังความปลื้มปิติสู่พุทธบริษัท ไม่จำเพาะแต่ชาวเวียดนามเท่านั้น ยังรวมถึงผู้ปฏิบัติธรรมนานาชาติทั่วโลก ซึ่งเดินทางไปร่วมคณะท่านด้วย ประมาณ ๑๐๐ คน อาทิ สหรัฐ คานาดา ฝรั่งเศส อิตาลี สวิส เยอรมัน ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฯลฯ
ความน่าสนใจหรือถือได้ว่าเป็นเนื้อนาบุญในการร่วมบุญจาริกครั้งนี้ คือ การร่วมแสดงมุทิตาจิตต่อโอกาสพิเศษที่ติช นัท ฮันห์ได้กลับคืนสู่มาตุภูมิ หลังจากต้องลี้ภัยเป็นเวลานานถึง ๔๐ ปี อาจนับได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์โลกที่ชาวพุทธ ได้มีโอกาสหวลกลับมาแสดงจุดยืนต่อสาธารณชนทั่วโลก ประกาศคำสอนของพระพุทธเจ้าในประเทศที่เคยเบียดเบียนบีฑาต่อพุทธบริษัท ลูกศิษย์ติช นัท ฮันห์ เดินสมาธิอย่างช้า ๆ ร่วมกันไปตามท้องถนนเมืองเว้ ไม่พูดคุย เมื่ออยู่ในวัดตั้งใจปฏิบัติธรรมร่วมกัน ๑๒ วัน นั่งสมาธิ รับประทานอาหารอย่างพิจารณา ไม่พูดคุย จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมผู้คนจำนวนร้อย ๆ คน ดำรงอยู่อย่างสงบเงียบท่ามกลางความแออัดของชาวเวียดนามจำนวนมากเป็นร้อยเป็นพันได้ ด้วยความเพียรพยายามของติช นัท ฮันห์ฝึกฝนลูกศิษย์ให้พร้อมที่จะเป็นร่างกายเดียวกัน ที่ หมู่บ้านพลัม ไถ่พูดเสมอว่า นักปฏิบัติธรรมเปรียบเหมือนเสืออยู่ในถ้ำ เมื่อออกนอกถ้ำจะถูกฆ่าได้ทุกขณะ พวกเราจึงได้ฝึกสติอีกครั้งเมื่อมาอยู่ร่วมกันในคณะบุญจาริกครั้งนี้
นอกจากได้รับความประทับใจจากวิถีปฏิบัติธรรมตามแนวหมู่บ้านพลัม ปลุกมโนธรรมสำนึกคนทั่วโลกด้วยการรักษาศีล ฝึกสติ เพื่อรับใช้สังคมด้วยท่าทีอันอ่อนโยน ไม่ว่าจะต้องฝ่าฟันความยากลำบากจากสภาพแวดล้อมนานา ความคิดความสงสัยหวาดระแวงในแนวทางปฏิบัติของท่าน จากรัฐบาลเวียดนามที่ยังเป็นคอมมูนิสต์ อีกทั้งยังสภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวน แต่ละวันจะมีสามฤดู หนาว ร้อน ฝนตก ฯลฯ
และสิ่งที่น่าประทับใจมากไปกว่านั้นคือ นักปฏิบัติธรรมชาวอเมริกัน ได้มีโอกาสมาขออโหสิกรรมต่อบ้านเมืองเวียดนาม ที่รัฐบาลสหรัฐเคยทำทารุณกรรมเบียดเบียนต่อกันมาในอดีต ผู้ที่อยู่ในยุคร่วมสมัยสงครามเวียดนามนั้น ตั้งใจมาร่วมงานครั้งนี้ด้วยเหตุผลว่า เป็นบุญจาริกของผู้ที่ต้องการรักษาบาดแผลทางใจจากสงครามเวียดนาม
ผู้เกิดทันยุคสงครามเวียดนาม ช่วง ค.ศ. ๑๙๖๐๑๙๗๕ หรือผู้สนใจศึกษาบทเรียนจากสงครามเวียดนาม ย่อมร่วมเผชิญชะตากรรม สถานการณ์แห่งความยากลำบากของชาวพุทธในเวียดนาม การต่อสู้ทางลัทธิอุดมการณ์ของฝ่ายซ้ายขวา การช่วงชิงอำนาจระหว่างฝ่ายทุนนิยมและคอมมูนิสต์ บ้านเมืองที่เคยสวยงามถูกแบ่งแยกเป็นเหนือใต้ ผลที่ได้รับคือประชาชนและเยาวชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากถูกฆ่าตายด้วยฝีมือของรัฐบาล และกองทัพจากสหรัฐที่มีชื่อว่าสงครามนาปาล์ม ในยามคับขันนี้ ชาวพุทธผู้ไม่อุดหนุนการฆ่า ย่อมทำทุกวิถีทางอย่างดีที่สุดเพื่อรักษาชีวิตและยับยั้งการทำลายฆ่าฟันชีวิตผู้คน (ติดตามอ่านรายละเอียดจากปาจารยสาร ฉบับที่ ๑๗ มี.ค.เม.ย. ๒๕๑๙ จะได้รับอารมณ์ ความรู้สึกอันสะเทือนใจจากชะตากรรมของชาวพุทธในเวียดนาม เขียนโดยเจิงค็อง (ภิกษุณีเจิงค็องในบัดนี้) ได้เขียนจดหมายถึงชาวพุทธในประเทศไทย)
กิจกรรมหลักในช่วงสองสัปดาห์นี้ ตื่นเช้า รับประทานอาหารเวลา ๖.๐๐ น. แล้วไปร่วม ฟังการบรรยายธรรม เป็นภาษาเวียดนามของติช นัทฮันห์ ตามสถานที่ต่าง ๆ โดยได้รับความกรุณา จากหลวงพี่นิรามิสสา (ภิกษุณีชาวไทย ผู้ได้รับตะเกียงจากท่านนัทฮันห์) แปลเป็นภาษาไทย อย่างได้ใจความสละสลวย สถานที่แต่ละแห่งไม่ว่าจะที่วัด ตื่อ หิว และวัด Thuy Sn Ton จะมีชาวเวียดนามนับพันคน มารอฟังคำบรรยายธรรมอย่างแน่นขนัด พุทธบริษัท ๔ ร่วมกันรับประทาน ฝึกการทานอาหารอย่างพิจารณา ๕ ประการ สลับกับกิจกรรมปฏิบัติธรรมที่นำโดยฆราวาสชาวเยอรมัน ชาวอเมริกัน ชาวเวียดนาม อาทิเช่น พิธีทบทวนศีล การนั่งสมาธิ เดินช้า ๆ บรรยายธรรม กิจกรรมเพื่อการผ่อนคลาย การสนทนาธรรมกลุ่มย่อย พิธีเคารพบรรพชน การพูดคุยกับนักเรียนรุ่นแรกของโรงเรียน หนุ่มสาวเพื่อบริการสังคม (SYSS) ที่ติช นัท ฮันห์ก่อตั้งขึ้นในอดีต นักเรียนที่ยังมีชีวิตอยู่ ปัจจุบันอายุกว่า ๖๐ ปี เล่าเรื่องราวในอดีต เพื่อน ๆ หลายคนสาบสูญไป แม้จนบัดนี้ก็ยังไม่ทราบชะตากรรม นักเรียนทุกคนตั้งใจรอคอยการกลับมาของติช นัท ฮันห์ตลอดเวลาอันยาวนาน ผู้ฟังอดซาบซึ้งใจไม่ได้ ผู้ฟังหลายคนน้ำตาไหล วันที่ ๑๒ มี.ค. มีพิธีตักบาตรครั้งแรก โดยคณะภิกษุสงฆ์ ภิกษุณี สามเณร สามเณรี และเด็กน้อยโกนผม เตรียมบวช เดินเป็นแถวยาว เดินช้า ๆ ออกจากวัดตื่อ หิว พวกเราทั้งหมดชาวไทย ต่างประเทศได้เดินอย่างช้า ๆ นำคณะภิกษุ ไปยังแท่นที่ประทับหลวงชื่อว่า นัม เกียว ห่างออกไปราวครึ่ง ก.ม. มีประชาชนตั้งโต๊ะรอใส่บาตรพระอย่างเนืองแน่น เพื่อนชาวอเมริกันประทับใจมากกับพิธีเช้านี้ ติช นัท ฮันห์เป็นผู้นำสวดมนต์อวโลกิเตศวร เสียงเชิญระฆังใหญ่ ไพเราะ และสงบเย็น แม้จะต้องยืนกลางแดดกัน และเราก็นั่งลงใต้ต้นไม้หาร่มเงารับประทานอาหารอย่างเงียบ ๆ ผู้ที่ไม่มีอาหารก็จะได้รับการแบ่งปันจากพระผู้ได้รับบิณฑบาต แจกจ่ายกัน วันรุ่งขึ้นวันที่ ๑๓ ซึ่งเป็นวันสุดท้าย มีพิธีสวดมนต์แต่เช้า ๖.๐๐ น. อุทิศส่วนกุศลให้พระอาจารย์ และมีการพูดคุยรำลึกถึงพระอาจารย์อย่างเรียบง่ายและได้บรรยากาศ
ศูนย์กลางของกิจกรรมอยู่ที่วัดตื่อ หิว เป็นวัดที่ติช นัท ฮันห์ศึกษาปฏิบัติธรรมนับแต่เป็นสามเณร จะได้เห็นสภาพบรรยากาศของวัดมหายานตามแบบธรรมเนียมจีนโบราณผสมเวียดนาม มีความวิเวกและเรียบง่าย เต็มไปด้วยต้นไม้เขียวขจี ร่มรื่น มีบ่อน้ำอยู่ข้างหน้า ได้เยี่ยมชมสถานที่สำคัญต่าง ๆ ของวัด ได้แก่ ห้องสวดมนต์ทำพิธี แท่นบูชาพระพุทธรูป เครื่องเรือนที่พระอาจารย์ของติช นัท ฮันห์เคยใช้สอย อาทิ โต๊ะรับแขก โต๊ะรับประทานอาหาร ห้องทำสมาธิ ตลอดจนสถูปสักการะวิญญาณพระอาจารย์
การกลับมาเวียดนามของติช นัท ฮันห์คราวนี้ บ้านเมืองมีความสงบว่างเว้นจากภัยสงครามเหนือใต้แล้ว สิ่งที่ท้าทายอย่างใหม่คือ การไหลบ่าของความเจริญทางวัตถุ ลัทธิบริโภคนิยมกระตุ้นความอยากของประชาชน ความต้องการพัฒนาบ้านเมืองให้ทันสมัยตามแบบตะวันตก เป็นเรื่องที่น่าวิตกสำหรับผู้ที่ใฝ่ใจการปฏิบัติธรรม ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ติช นัท ฮันห์ได้สื่อสาระคำสอนแก่รัฐบาลเวียดนามชุดปัจจุบันให้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดจากลัทธิวัตถุนิยม ท่านเป็นห่วงเยาวชนและประชาชนชาวเวียดนาม
ตลอดระยะเวลากว่า ๔๐ ปีที่ท่านถูกเนรเทศ โดยความไม่ไว้ใจของผู้นำคอมมูนิสต์ฝ่ายเหนือและผู้นำฝ่ายใต้รับใช้สหรัฐเมื่อ ค.ศ. ๑๙๖๖ ผลจากการลี้ภัยก่อตั้งชุมชนปฏิบัติธรรม ณ หมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส ทำให้ท่านได้รับฟังปัญหาของชาวตะวันตกจำนวนมากและได้ข้อสรุปว่า ประชาชนที่อยู่ดีกินดีนั้น อุดมด้วยวัตถุ เครื่องใช้ทันสมัย นานาชนิด แต่ว่าชีวิตมีความสุขได้ยาก ครอบครัวไม่อบอุ่น ชีวิตคู่ประสบปัญหาการหย่าร้าง จนมีผู้สนใจหันเข้ามาศึกษาวิธีการปฏิบัติธรรมและขอบวชกับท่านจำนวนมากขึ้นทุกที ไม่เพียงแต่ผู้ผ่านโลกมีวัยวุฒิแล้วเท่านั้น ยังรวมถึงคนหนุ่มสาวจากนานาชาติที่เบื่อชีวิตในสังคม หันมาพึ่งร่มกาสาวพัสตร์ ชาวตะวันตกจำนวนมากที่ปฏิบัติธรรมตามแนวคำสอนของท่านจนเห็นผล มีความอ่อนน้อมถ่อมตน พร้อมที่จะรับศีล ๑๔ ข้อเป็นลูกศิษย์ ทำหน้าที่บรรยายธรรมเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คน เป็นหลักพึ่งพิงทางใจของสมาชิกในชุมชนของตน ขจัดปัญหาเรื่องความโดดเดี่ยว และชีวิตที่เศร้า เหงาในสังคมตะวันตกได้
ติช นัท ฮันห์ อายุ ๘๗ พรรษา สิ่งที่ยังคงท้าทายคือสถานภาพของชาวพุทธในเวียดนาม ท่านยังคงถูกจำกัดเสรีภาพในประเทศบ้านเกิดของท่าน บรรยายธรรมได้เพียงชั่วคราว รัฐบาลอนุญาตให้ตีพิมพ์หนังสือของท่านได้เพียง ๔ เล่ม ขณะที่มีการตีพิมพ์เผยแพร่ทั่วโลกมากกว่า ๘๐ เล่ม จำนวนตีพิมพ์มากกว่า ๑.๕ ล้านเล่ม เวียดนาม เป็นประเทศหนึ่งในบัญชีรายชื่อประเทศที่รัฐบาลสหรัฐพิจารณาเป็นพิเศษ ถึงเสรีภาพในการนับถือศาสนา เช่นเดียวกับอิหร่านและเกาหลีเหนือ การบรรยายธรรมแต่ละครั้งตามสถานที่ต่าง ๆ จะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐและสายสืบคอยติดตาม
แม้ ติช นัท ฮันห์ พระอาจารย์เซน จะมีอายุล่วงเลยมาจนบัดนี้ เป็นผู้ยืนหยัดในการรักษาคำสอนของพระพุทธเจ้า รักษาจิตวิญญาณแห่งบรรพบุรุษ ผู้หลอมรวมจิตใจผู้ปฏิบัติธรรมจากทั่วโลกมาเป็นหนึ่งเดียว เป็นร่างกายเดียวกัน ท่านก็ยังคงได้รับการท้าทายในเรื่องเสรีภาพของพุทธศาสนิกชน ณ บ้านเกิดของท่านเอง ท่านกล่าวเน้นว่า เป็นหน้าที่ของชาวพุทธต้องช่วยกันขจัดความกลัว ความเข้าใจผิด และอคติ ที่ดำรงอยู่ในสังคม สันติภาพที่แท้จริงจึงจะเกิดขึ้นได้..