เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๖๑
กรกฎาคม - กันยายน ๒๕๔๗

บันทึกตู้หนังสือ
สุเนตร รุ่งแจ้งสุวรรณ

เล่าเรื่องหนังสือเล่มเล็ก

ธรรมโฆษณ์
มรดกธรรมพุทธทาสภิกขุ

พระไพศาล วิสาโล
สุลักษณ์ ศิวรักษ์
สุวรรณา สถาอานันท์
อรศรี งามวิทยาพงศ์
สุเนตร รุ่งแจ้งสุวรรณ –บรรณาธิการ
จัดพิมพ์โดย กลุ่มเสขิยธรรม
พิมพ์ครั้งแรก เมษายน ๒๕๔๗
ราคา ๔๐ บาท

ถ้าให้เขียนถึงความรู้สึกที่ได้ทำหนังสือ ธรรมโฆษณ์ : มรดกธรรมพุทธทาสภิกขุ เล่มนี้ ก็คงต้องขอย้อนถึงเมื่อครั้งแรก ที่ได้รับโอกาสให้ทำหน้าที่บรรณาธิการหนังสือ ทศวรรษแห่งการจากไป ของ...พุทธทาสภิกขุ จำได้ว่าตอนนั้นรู้สึกตื่นเต้น ดีใจ คิดว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ที่น่าลองทำ ถึงแม้จะรู้สึกขัดเขินกับคำว่า บรรณาธิการ อยู่บ้าง แต่ก็รับที่จะลองทำงานนี้ และเมื่อลงมือทำงานก็ไม่ได้ตั้งความหวังไว้มากมาย คิดเพียงว่าทำให้เต็มที่ เมื่อไม่ตั้งความหวังก็ไม่ค่อยกังวลใจ ไหน ๆ หลวงพี่กิตติศักดิ์ให้โอกาสแล้ว ก็ต้องลองดูสักตั้ง

          พอมาถึงหนังสือ ธรรมโฆษณ์ : มรดกธรรมพุทธทาสภิกขุ หลวงพี่ได้ให้โอกาสอีกครั้ง แต่แค่เริ่มต้นกลับมีความกลัวและลังเลที่จะรับทำงาน ทั้ง ๆ ที่เมื่อทำหนังสือเล่มแรกเสร็จแล้ว ก็ได้รับคำแนะนำจากคนรอบข้างในหลาย ๆ เรื่อง และคิดว่าเป็นประโยชน์ถ้ามีโอกาสได้ทำหนังสืออีกครั้ง แต่พอถึงเวลากลับไม่แน่ใจ และต้องย้อนถามตัวเองเพื่อให้เกิดความมั่นใจ มาถึงตอนนี้ก็ดีใจที่เลือกคำตอบว่าจะทำหนังสือเล่มนี้ เพราะสิ่งหนึ่งที่ได้ก็คือในการทำงานทุกครั้งเราจะได้ความรู้ ความคิด และประสบการณ์ใหม่ ๆ เสมอ

          เมื่อมาย้อนนึกดูก็คิดว่าตัวเองโชคดีมากทั้งในเรื่องของเวลาและโอกาส เพราะขณะที่ทำต้นฉบับและต้องติดต่อกับวิทยากรที่ร่วมเสวนาให้ตรวจดูต้นฉบับนั้น แต่ละท่านก็มีการงานมากมายเหลือเกิน ทั้ง พระไพศาล วิสาโล, อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์, อาจารย์สุวรรณา สถาอานันท์ และคุณอรศรี งามวิทยาพงศ์ ทุกท่านนั้นเปี่ยมด้วยคุณวุฒิและมีชื่อเสียงเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไปทั้งนั้น แต่ท่านก็ให้ความสำคัญและสละเวลามาตรวจแก้ต้นฉบับนี้ให้ เพื่อความสมบูรณ์และถูกต้องของเนื้อหาภายในเวลาที่เร่งด่วนอีกด้วย เพราะบางท่านก็ต้องเตรียมตัวเดินทาง ถ้าท่านไม่ยอมสละเวลาตรวจแก้เนื้อหาให้ก็ต้องรออีกนานทีเดียวกว่าท่านจะเดินทางกลับ บางท่านไม่มีเวลาและต้องเดินทางแล้ว ก็กรุณาเอาต้นฉบับติดตัวไปตรวจให้ สิ่งนี้ทำให้รู้สึกว่า ตัวเองโชคดีที่ได้มีโอกาสทำงานให้ผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีเมตตากับคนทำงานเล็ก ๆ อย่างเรา

          เสร็จจากส่วนเนื้อหาเข้าสู่การจัดรูปเล่ม หลวงพี่สุพจน์ก็เร่งจัดรูปเล่มให้อย่างเต็มที่ และระหว่างการทำงานหลวงพี่กิตติศักดิ์ก็เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำโดยตลอด ส่วนแบบปกคนในครอบครัวอย่างน้องชายมาช่วยออกแบบให้ เมื่อทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยลงตัวแล้วเหลือเพียงส่งงานเข้าโรงพิมพ์ ตรงนี้จำได้ว่าสำหรับตัวเองความกังวลและความเครียดที่เกิดขึ้น หลายวันที่ผ่านมาค่อยคลายไป เพราะหน้าที่ที่รับมอบหมายมาใกล้จะเสร็จสิ้นแล้ว อีกไม่นานหนังสือเล่มนี้จะออกมาเป็นรูปเล่มอวดโฉมให้ได้เห็นกัน ก็อยากจะขอบคุณทุกท่านที่กล่าวมาทั้งหมด รวมถึงทีมงานที่ร่วมแรงร่วมใจจัดงานเสวนาครั้งนี้ขึ้นมาด้วย

          ทีนี้ขอเล่าถึงในส่วนของเนื้อหาบ้างเพราะมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ หนังสือชุด ธรรมโฆษณ์ นั้นมีความสำคัญอยู่ตรงที่เป็นหนังสือธรรมะของท่านอาจารย์พุทธทาส ที่รวบรวมไว้อย่างเป็นระบบ และเป็นหลักฐานอ้างอิงได้ โดยความตั้งใจของท่านอาจารย์พุทธทาสนั้นตั้งใจที่จะนำเสนอแนวคิดหลัก ๆ ของท่านลงไปในหนังสือชุด ธรรมโฆษณ์ แต่หนังสือชุดนี้ไม่ใช่เป็นหนังสือธรรมะของท่านเพียงอย่างเดียว ส่วนหนึ่งจะเป็นการคัดสรรพุทธวจนะมาจากพระไตรปิฎก แล้วรวบรวมขึ้นมาเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้มีหนังสือธรรมะใช้ศึกษากัน เมื่อท่านอาจารย์พุทธทาสได้ทุ่มเทเวลา เพื่อรวบรวมทำเป็นหนังสือชุด ธรรมโฆษณ์ ขึ้นไว้ให้ได้อ่านศึกษากันแล้ว ก็สมควรที่จะได้นำมาใช้ศึกษาให้เกิดประโยชน์ มิใช่ว่าเมื่อมีเก็บไว้ครบเป็นชุดแล้วก็สวยงามดี เก็บไว้ตั้งโชว์ไม่กล้าเปิดอ่าน เดี๋ยวจะชำรุด เสียหายไป อะไรทำนองนั้น

          ทีนี้เราจะศึกษาหนังสือชุด ธรรมโฆษณ์ กันอย่างไร ท่านอาจารย์พุทธทาสนั้นมีคุณลักษณะสำคัญที่เด่นที่สุดก็คือ ความผสมผสานกันระหว่างปฏิบัติ กับปริยัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยากในกระแสของคณะสงฆ์ ณ ขณะนี้ ข้อคิดที่สำคัญคือ เวลาที่เราจะศึกษาหนังสือชุด ธรรมโฆษณ์ หรือแม้แต่จะศึกษาเรื่องอะไรก็แล้วแต่จะต้องเข้าใจแล้วก็จับประเด็น ไม่ไปยึดติด แม้กระทั่งตัวความเป็นพุทธศาสนาในแง่ของสถาบัน หรือความมีตัวตน เราต้องข้ามไปให้พ้นจากสิ่งยึดติดเหล่านี้ เพื่อที่จะเข้าสู่รูปแบบที่ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ไปพ้นจริง ๆ ก็คือความไม่มีพรมแดนทางศาสนา เมื่อพุทธศาสนิกชนสามารถเข้าใจแก่นแท้ของตัวเอง ก็จะสามารถเข้าใจในศาสนาอื่น ๆ ด้วย

          ในการศึกษาธรรมะนั้น เราควรศึกษาเพื่อเปิดใจของเราให้กว้างขึ้น ไม่ใช่เพื่อติดอาวุธทางปัญญาสำหรับไปเชือดเฉือนใคร หรือเพื่อยกตัวตนให้สูงขึ้นเด่นขึ้น อันนี้เป็นปัญหาของนักปริยัติและนักปฏิบัติจำนวนไม่น้อย พอเข้าใจธรรมะหรือมีศีลมากขึ้นก็จะรู้สึกว่า ตัวเองสูงกว่าคนอื่น เกิดความหลงตัวคิดว่าตัวเองวิเศษ ส่วนคนอื่นไม่เข้าท่า

          ยิ่งในปัจจุบันนี้ก็ยิ่งเห็นชัดเจนมากขึ้นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะทุกวันนี้เราไม่เข้าใจศาสนาของตัวเอง เราถึงเอาศาสนามาเป็นเครื่องมือในการห้ำหั่นซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดความร้าวฉานกันระหว่างศาสนา ตอนนี้ศาสนาเป็นตัวแบ่งแยกที่สำคัญ ไม่ใช่เฉพาะในระดับประเทศ แต่กลายเป็นปัญหาระดับโลก แม้กระทั่งในประเทศไทยเวลานี้ความแตกแยกระหว่างศาสนา ก็เป็นสิ่งที่เห็นชัดมากขึ้น

          เราจะเห็นว่าปัจจุบันศาสนากลายเป็นตัวสร้างวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังมากขึ้น ในขณะที่บริโภคนิยมเป็นตัวสร้างวัฒนธรรมแห่งความละโมบ วัฒนธรรม ๒ ประเภทนี้มีความสำคัญมากในโลกยุคโลกาภิวัตน์ วัฒนธรรมแห่งความละโมบนั้นมีบริโภคนิยมเป็นตัวแทน ส่วนวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังนั้น แสดงออกในรูปของลัทธิชาตินิยมและลัทธิเคร่งจารีต คลั่งศาสนา วัฒนธรรม ๒ ประเภทนี้ เป็นอันตรายที่คุกคามมนุษย์ทั้งโลก ดังนั้นการทำความเข้าใจในแก่นของศาสนาจึงเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับสันติภาพของโลก เพราะว่าศาสนากำลังจะถูกใช้ไปในด้านที่ตรงกันข้าม ดังเช่นกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางภาคใต้ ก็กำลังเน้นย้ำให้ทุกฝ่ายได้เห็น และตระหนักถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นแล้วว่า ก่อให้เกิดความรุนแรงและส่งผลกระทบมากมายเพียงไร

          ดังนั้นในการที่เราจะศึกษาพุทธศาสนานั้น ต้องศึกษาเพื่อที่จะสามารถนำมาใช้เป็นมุมมองในการมองโลกและสังคมได้ พุทธศาสนาไม่ใช่เพียงเป็นแค่เรื่องของการฝึกฝนตนเอง หากยังเน้นการสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมให้เกื้อกูลต่อชีวิตที่ดีงามอีกด้วย

          ที่เขียนมานี้ ก็เป็นเพียงเนื้อหาบางส่วนที่น่าสนใจ ยังมีอีกหลากหลายแง่มุมที่นำเสนอไว้ ซึ่งหาอ่านได้ในหนังสือ ธรรมโฆษณ์ : มรดกธรรมพุทธทาสภิกขุ

          ทั้งหมดก็คือความเป็นมาและความรู้สึกที่ได้ทำงานหนังสือเล่มนี้ และคือความภูมิใจที่ได้เห็นงานชิ้นนี้เสร็จเป็นรูปเล่ม หวังว่าหนังสือ ธรรมโฆษณ์ : มรดกธรรมพุทธทาสภิกขุ จะเป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ ที่ได้ทำหน้าที่นำเสนอความคิดออกไปในวงกว้าง...

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :