เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๖๑
กรกฎาคม - กันยายน ๒๕๔๗

ผู้กำกับ :เอ็ดเวิร์ด เซวิค (Edward Zwick)
ดารานำแสดง :ทอม ครุยส์ (Tom Cruise) รับบท ร.อ. นาธาน อัลเกรน
เคน วาตานาเบ้ (Kan Watanabe) รับบท คัทซึโมโตะ

ซามูไรคนสุดท้าย

          ช่วงหลังปี ค.ศ. ๑๘๐๐ (พ.ศ. ๒๓๔๓) เป็นต้นมาเป็นช่วงที่ประเทศญี่ปุ่นกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางการปกครอง ซึ่งเปลี่ยนจากยุคโตกุกาวาที่ปกครองประเทศโดยยึดกฎซามูไร ไปสู่การปกครองยุคเมจิ ซึ่งยึดหลักความรู้สมัยใหม่ที่รับมาจากตะวันตก

          ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านเช่นนั้น ทำให้เหล่าซามูไรไม่พอใจแล้วรวมตัวกันต่อต้านการเข้ามาของความรู้ ความคิด และค่านิยมแบบตะวันตก

          ในกระแสไหลบ่าเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตก วัฒนธรรมซามูไรของญี่ปุ่นได้กลายเป็นวิถีที่ไร้ความหมาย ค่านิยมแบบซามูไรถูกมองว่าไร้คุณค่า เหล่าซามูไรที่ยังยึดมั่นอยู่ในวิถีแห่งซามูไรได้กลายเป็นบุคคลไม่พึงปรารถนา และตกอยู่ในฐานะ “ผู้ก่อการร้าย” ของสังคม

          ปี ค.ศ. ๑๘๗๖ (พ.ศ. ๒๔๑๙) ร.อ.นาธาน อัลเกรน นักรบเดนตายชาวอเมริกัน ได้ถูกว่าจ้างโดยโอมูระ ตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่นให้เดินทางมาสู่ญี่ปุ่นเพื่อทำหน้าที่เป็นครูฝึกการใช้อาวุธปืน และทำหน้าที่ปราบปรามเหล่าซามูไรผู้ก่อการร้าย

          ไม่นานหลังจากเหยียบแผ่นดินญี่ปุ่น อัลเกรนก็ต้องนำเหล่าทหารที่ยังไม่พร้อมออกสู่สนามรบ เพื่อปราบปรามซามูไร ซึ่งมีคัทซึโมโตะ เป็นหัวหน้าที่ออกมาขัดขวางและทำลายการสร้างทางรถไฟ

          ในสมรภูมิแรกบนแผ่นดินญี่ปุ่น อัลเกรนได้เผชิญหน้ากับเหล่าซามูไรผู้กล้าหาญ อาวุธปืนของชาวตะวันตกได้ปะทะกับดาบของซามูไร ในที่สุดความทันสมัยของตะวันตกก็พ่ายแพ้แก่จิตใจอันกล้าหาญของซามูไร อัลเกรนถูกจับเป็นเชลย และถูกนำตัวไปกักขังไว้ที่หมู่บ้านซามูไร ในชนบทอันห่างไกล

          ณ หมู่บ้านอันเป็นที่ตั้งของชุมชนซามูไร ซึ่งมีคัทซึโมโตะเป็นหัวหน้า อัลเกรนถูกควบคุมตัวไว้โดยมีโนบุทาดะ บุตรชายของคัทซึโมโตะเป็นผู้ควบคุม และมีทากะ น้องสาวของคัทซึโมโตะ ซึ่งกลายเป็นหญิงหม้ายเพราะสามีเพิ่งถูกอัลเกรนฆ่าตายในสนามรบ เป็นผู้ดูแล

          อัลเกรนไม่ได้ถูกควบคุมด้วยเครื่องพันธนาการใด ๆ นอกไปจากสายตาของเหล่าสมาชิกแห่งชุมชนซามูไรที่จับจ้องอยู่ที่ตัวเขาตลอดเวลา เขาพยายามที่จะสื่อสารกับมนุษย์ที่รายล้อมอยู่รอบตัวเขา แต่ก็ไม่สามารถจะสื่อความหมายใด ๆ ได้ อุปสรรคในการสื่อสารไม่ได้อยู่ที่ว่าอัลเกรนพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ ขณะที่เหล่าซามูไรก็พูดภาษาอังกฤษไม่เป็น หากแต่อุปสรรคสำคัญคือความแตกต่างทางวัฒนธรรม ที่ทำให้อัลเกรนไม่รู้ ไม่เข้าใจในสิ่งที่เหล่าซามูไรคิดและทำต่อเขา

          ในฤดูหนาวที่มีหิมะปกคลุมอยู่ทั่วไปบรรยากาศที่เงียบสงบท่ามกลางธรรมชาติแห่งขุนเขา อัลเกรนปล่อยเวลาให้ผ่านไปด้วยการสังเกตวิถีชีวิตของบุคคลที่อยู่รอบ ๆ

          ทากะ หญิงหม้ายที่สามีตาย เพราะน้ำมือของศัตรูและเธอต้องมามีหน้าที่ดูแลศัตรูผู้สังหารสามีเธอ

          เหล่าซามูไรที่มีชีวิตสมถะ เงียบง่าย แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยระเบียบวินัย และไม่ยอมแพ้ถ้าหากศัตรูยังมีอาวุธอยู่ในมือ

          คัทซึโมโตะ หัวหน้าซามูไร ผู้ซึ่งในสนามรบดูโหดเหี้ยม แต่ในชีวิตปกติกลายเป็นบุคคลที่นุ่มนวล อ่อนโยน เรียบง่าย และเต็มไปด้วยอารมณ์สุนทรีย์

          เพียงเวลาที่ผ่านไปไม่นาน อัลเกรนก็ได้สัมผัสกับความหมายแห่งซามูไร

          ซามูไรที่หมายถึง “ผู้รับใช้” มิใช่ “ผู้ก่อการร้าย” โดยเฉพาะคัทซึโมโตะ หัวหน้าซามูไร ผู้ซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณแห่งซามูไร เพราะทุก ๆ ขณะแห่งการมีชีวิตอยู่ของเขา เป็นช่วงเวลาแห่งการ

          ทำหน้าที่เพื่อรับใช้ผู้อื่น เขาไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายหากแต่เป็นผู้รับใช้ขององค์พระจักรพรรดิ์

          การได้สัมผัสรับรู้วิถีแห่งซามูไร ทำให้ความรู้สึกเป็นปรปักษ์กับเหล่าซามูไร ได้หมดไปจากจิตสำนึกของอัลเกรน ยิ่งเมื่อได้มีโอกาสฝึกฝนวิทยายุทธ์ร่วมกับบรรดาซามูไร ยิ่งทำให้อัลเกรนได้ประจักษ์ชัดว่า จิตวิญญาณของซามูไรนั้นสูงส่งยิ่งนัก

          เมื่อฤดูหนาวผ่านไป ฤดูใบไม้ผลิเข้ามาแทน อัลเกรนถูกปล่อยตัวให้เป็นอิสระ เขาได้เดินทางออกจากหมู่บ้านซามูไรพร้อม ๆ กับที่คัทซึโมโตะและเหล่าซามูไรได้เดินทางเข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระจักรพรรดิ์

          การเข้าเฝ้าพระจักรพรรดิ์ของคัทซึโมโตะ ได้กลายเป็นการก้าวเข้าไปสู่กับดักของโอมูระ ที่ต้องการกำจัดพวกซามูไรให้หมดไปจากแผ่นดินญี่ปุ่น คัทซึโมโตะถูกควบคุมตัวไว้ แต่ด้วยความช่วยเหลือของอัลเกรน เขาจึงสามารถหลบหนีออกมาจากการถูกควบคุมตัวไว้ได้ แต่ก็ต้องสูญเสียโนบุทาดะบุตรชายไปในการต่อสู้กับทหารของรัฐบาลญี่ปุ่น

          อัลเกรนและคัทซึโมโตะ ได้กลับมาสู่หมู่บ้านซามูไรอีกครั้ง พร้อม ๆ กับกองกำลังทหารที่ติดตามมาเพื่อปราบซามูไรให้หมดสิ้น

          ด้วยกองกำลังซามูไรเพียง ๕๐๐ คน ที่มีอาวุธเพียงแค่ดาบและธนู ทั้งอัลเกรนและคัทซึโมโตะ ต่างทราบดีว่าไม่มีทางที่จะต่อสู้ต้านทานกองทัพที่มีอาวุธปืนยาวและปืนกลได้ การออกไปต่อสู้กับกองทัพที่มีอาวุธอันทันสมัยเช่นนั้นก็คือการออกไปตายนั้นเอง แต่ซามูไรทุกคนยินดี พอใจที่จะออกไปตาย เพราะนั้นคือวิถีแห่งซามูไร ที่พร้อมจะตายได้ในกาลทุกเมื่อ

          การเผชิญหน้ากันระหว่างเหล่าซามูไรที่มีเพียงดาบและธนูเป็นอาวุธ กับกองทัพที่มีปืนยาวและปืนกลเป็นอาวุธ นับเป็นการต่อสู้กันระหว่างความทันสมัยของตะวันตกกับจิตใจที่กร้าวแกร่งของตะวันออก และในที่สุดแห่งการสู้รบ ซามูไรทุกคนก็จบชีวิตลงในสนามรบตามที่เขาเลือก

          คัทซึโมโตะ ได้ก้าวเดินไปในวิถีแห่งซามูไรอย่างมีเกียรติ สมศักดิ์ศรี เขาถูกกระสุนปืนกลตกลงจากหลังม้าพร้อม ๆ กับอัลเกรน ดาบหลุดจากมือ แต่เขาก็ยังพยายามหยิบดาบมาทำฮาราคีรี ตามวิถีแห่งซามูไร โดยอัลเกรนได้รับเกียรติให้เป็นผู้ช่วยเหลือ

          อัลเกรน ซึ่งรอดชีวิตมาจากการสู้รบได้นำดาบของคัทซึโมโตะ กลับมาถวายคืนแด่องค์พระจักรพรรดิ์ และพร้อมกันนั้นพระจักรพรรดิ์ก็ตัดสินพระทัยยุติการเซ็นสัญญาซื้ออาวุธปืนจากอเมริกา

 

ซามูไรที่เหลืออยู่

          ภาพยนตร์เรื่อง The Last Samurai ที่ชื่อเรื่องหมายถึง ซามูไรคนสุดท้าย ได้ทำให้เกิดคำถามขึ้นในใจของผู้ชมว่า ใครคือซามูไรคนสุดท้าย ?

          คัทซึโมโตะ หรือ

          อัลเกรน

          ถ้าหากซามูไรคนสุดท้ายคือคัทซึโมโตะ ก็แสดงว่าพวกซามูไรได้หมดสิ้นไปแล้ว เพราะซามูไรคนสุดท้ายคือคัทซึโมโตะ ได้ตายไปแล้วในสนามรบ

          แต่ถ้าหากว่าซามูไรคนสุดท้ายคืออัลเกรนนั้นก็แสดงว่า ซามูไรยังคงมีชีวิตเหลือรอดอยู่

          ไม่ว่าซามูไรคนสุดท้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นใคร แต่ความเป็นซามูไรในใจของผู้ชมควรจะมีเหลืออยู่ โดยเฉพาะผู้ชมที่นับถือพระพุทธศาสนา

          จิตวิญญาณแห่งซามูไร (The Spirit of Samu-rai) เป็นจิตวิญญาณของชาวพุทธโดยแท้ เพราะเป็นจิตวิญญาณของบุคคลผู้เกิดมาเพื่อปฏิบัติธรรมด้วยการทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่มวลมหาชน

          ภาพยนตร์เรื่องซามูไรคนสุดท้ายได้สื่อความหมายของซามูไรผ่านเรื่องราวของคัทซึโมโตะ ซามูไรผู้บอกกล่าวแก่เพื่อนต่างวัฒนธรรมคืออัลเกรนว่า

          “เรากำลังจะตาย เพื่อเรียนรู้ชีวิตทุกขณะแห่งลมหายใจ”

          แม้อัลเกรนจะไม่เข้าใจความหมายแห่งข้อความนี้ในตอนแรกของการได้รับฟัง แต่เขาก็เข้าใจในเวลาต่อมา เมื่อได้เรียนรู้การมีชีวิตอยู่ของคัทซึโมโตะ ดังที่เขาได้กราบทูลองค์พระจักรพรรดิ์ เมื่อเขาได้นำดาบของคัทซึโมโตะมาถวายคืนแก่องค์พระจักรพรรดิ์ และพระองค์ตรัสถามว่า

          “คัทซึโมโตะตายอย่างไร”

          อัลเกรนได้กราบทูลว่า

          “หม่อมฉันไม่ทราบว่า เขาตายอย่างไร หากทราบเพียงแต่ว่า เขามีชีวิตอยู่อย่างไรเท่านั้น”

          ชีวิตของคัทซึโมโตะในความรู้ของอัลเกรน เป็นชีวิตที่เขาเลือกที่จะตายอย่างมีความหมาย ประดุจดังการเขียนบทกวี บทกวีที่ผู้เขียนบรรจงเลือกถ้อยคำ แล้วนำมาร้อยเรียงเพื่อให้เป็นบทกวีที่มีความไพเราะแห่งถ้อยคำ และมีความงดงามแห่งความหมาย

          “ดอกไม้ไร้ตำหนิเป็นสิ่งที่หาได้ยาก อาจจะต้องใช้เวลาทั้งหมดของชีวิต เพื่อจะได้สัมผัสดอกไม้ที่แสนงามเพียงหนึ่งดอก”

          นี่เป็นคำพูดของคัทซึโมโตะที่กล่าวกับอัลเกรน ขณะที่ทั้งคู่ยืนสนทนากันใต้ร่มซากูระที่กำลังมีดอกผลิบานทั่วทั้งต้น

          คำบอกเล่าของคัทซึโมโตะที่ใต้ต้นซากูระ

          ภายในวัดแห่งพระพุทธศาสนา มีความหมายแจ่มชัดแก่อัลเกรน เมื่อเขาได้ร่วมรบกับคัทซึโมโตะในสมรภูมิสุดท้าย

          ทั้ง ๆ ที่รู้ว่ากำลังก้าวไปสู่ความตาย แต่คัทซึโมโตะก็ควบม้าทะยานเข้าหาปืนกลด้วยจิตที่กล้าหาญและเบิกบาน เมื่อตกลงจากหลังม้า เพราะพลังแห่งกระสุนปืนกล เขาก็ยังพยายามหยิบดาบคู่กายมาเพื่อปลิดชีพของตนเองตามวิถีแห่งซามูไร สายตาเพ่งมองไปที่ต้นซากูระที่ผลิบานทั่วทั้งต้น และบางดอกกำลังร่วงหล่นจากต้น ภาพดอกซากูระที่ร่วงจากต้นขณะที่ดอกอื่น ๆ บานสะพรั่งทั่วทั้งต้นเป็นภาพที่แสนงดงาม คำสุดท้ายที่คัทซึโมโตะเอ่ยออกมาก่อนสิ้นชีวิตคือ

          “ไร้ตำหนิ”

          ดอกซากูระบานที่ร่วงจากต้น เป็นดอกไม้ที่แสนงาม เป็นดอกไม้ที่ต้องใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อจะได้สัมผัสชีวิตที่มีอยู่เพื่อรับใช้ผู้อื่น และได้มีโอกาสมาร่วงลับดับไปในสนามรบ เพื่อธำรงไว้ซึ่งคุณธรรมและจริยธรรมอันดีงาม ดังเช่นที่คัทซึโมโตะเป็นอยู่ ช่างเป็นชีวิตที่สวยงาม เป็นชีวิตที่ไร้ตำหนิ ในความรู้สึกของอัลเกรน

          นี้คือความหมายของถ้อยคำที่ว่า..... “ทราบเพียงแต่ว่าเขามีชีวิตอยู่อย่างไรเท่านั้น” ซึ่งอัลเกรนได้กราบทูลแด่องค์พระจักรพรรดิ์

          กว่าจะมาถึงการรับรู้ดังกล่าวมานั้น อัลเกรนได้เรียนรู้ว่า จิตวิญญาณแห่งซามูไรมิใช่จะเกิดขึ้นได้โดยง่ายในบุคคลทั่ว ๆ ไป แต่จะเกิดขึ้นได้เฉพาะในบุคคลที่ผ่านการฝึกฝนมาอย่างยากลำบาก มิใช่เพียงแค่ฝึกฝนให้อยู่ในระเบียบวินัยที่เคร่งครัดเท่านั้น หากแต่ต้องฝึกใจให้เข้าถึงความว่าง (no–mind)

          ว่างจากความโลภ ความโกรธ และความหลง

          จิตที่ถูกปรุงแต่งด้วยความโลภ ความโกรธ และความหลง เป็นจิตที่วุ่นวายและหวั่นไหวไปตามกระแสแห่งโลกธรรม

          ความโลภทำให้จิตวุ่นวายและหวั่นไหวเพราะกลัวว่า จะได้มา หรือ สูญเสียไป
          ความโกรธทำให้จิตวุ่นวายและหวั่นไหว เพราะกลัวว่า จะชนะ หรือ พ่ายแพ้
          ความหลง ทำให้จิตวุ่นวายและหวั่นไหว เพราะกลัวว่า จะเป็น หรือ ตาย

          ซามูไรจะต้องฝึกฝนให้เกิดจิตว่าง โดยไม่ถูกปรุงแต่งด้วยอกุศลธรรม และจิตที่ขจัดอกุศลธรรมออกไปได้แล้วทำให้เกิดกุศลธรรมขึ้น

          เมื่อความโลภ หมดไป จาคะ ก็เกิดขึ้น
          เมื่อความโกรธ หมดไป เมตตาก็เกิดขึ้น
          เมื่อความหลง หมดไป ปัญญาก็เกิดขึ้น

          จาคะ เมตตา ปัญญา ที่งอกงามในจิตของซามูไร จะทำให้เขาดำรงอยู่อย่างไม่วุ่นวาย และไม่หวั่นไหว เป็นชีวิตเพื่อเรียนรู้ที่จะสัมผัสดอกไม้ที่สวยงาม และเข้าสู่ความตายด้วยจิตที่เบิกบาน

          จิตวิญญาณแห่งซามูไร ที่อัลเกรนได้สัมผัสรับรู้เป็นเนื้อหาสาระของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ต้องการสื่อไปสู่ผู้ชม

          ในสังคมปัจจุบันที่จิตวิญญาณซามูไรเหือดแห้งไปเกือบหมดสิ้นแล้ว การได้รับรู้อะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับจิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่ของซามูไร ย่อมนับได้ว่าเป็นโอกาสอันประเสริฐที่ได้สัมผัสความงดงามของความเป็นมนุษย์ แม้จะเป็นเพียงแค่จากภาพยนตร์

          เมื่อพระพุทธศาสนานิกายเซน เข้าไปสู่ญี่ปุ่นนั้น ชาวญี่ปุ่นทั่ว ๆ ไปไม่สนใจ เพราะพุทธศาสนานิกายเซนไม่มีพิธีกรรมที่จะจูงใจให้ประชาชนศรัทธา มีแต่พวกซามูไรเท่านั้นที่ได้หยั่งถึงคุณค่าแห่งพระพุทธศาสนา แล้วได้นำเอาหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาไปกล่อมเกลาจิตใจของพวกซามูไร ให้เกิดจิตวิญญาณแห่งซามูไรที่งอกงามขึ้นบนหลักพุทธธรรมที่มองเห็นความโลภ ความโกรธ และความหลง เป็นอาสวะมลทินที่ต้องขจัดออกไป การฝึกฝนของพวกซามูไรจึงมิใช่เพียงแค่ฝึกฝีมือในเพลงดาบหรือการยิงธนู หากแต่รวมถึงการฝึกจิตให้ปลอดพ้นจากอาสวะมลทินด้วย

          วิถีชีวิตของพวกซามูไร จึงเป็นไปในแนวทางเดียวกับวิถีชีวิตของพระภิกษุในพุทธศาสนา กล่าวคือมีชีวิตอยู่เพื่อเรียนรู้ชีวิตทุกขณะแห่งลมหายใจ เรียนรู้เพื่อกำจัดความโลภ ความโกรธ และความหลงให้หมดสิ้นไปจากจิตใจ เหลือไว้แต่การรับรู้ที่ประกอบด้วย จาคะ เมตตา และปัญญา

          จาคะ เป็นกำลังภายในให้ซามูไรเสียสละทุกสิ่ง ทุกอย่างได้ เพื่อความดีงามของสรรพสิ่ง

          เมตตา เป็นกำลังภายในให้ซามูไรมุ่งมั่นพยายาม เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์

          ปัญญา เป็นกำลังภายในให้ซามูไรหยั่งรู้ถึงความหมายที่ดีงามของการมีชีวิตอยู่...... การมีชีวิตอยู่ที่มีความตายปรากฏอยู่ทุกช่วงขณะ เพราะชีวิตคือความตาย และความตายคือชีวิต ชีวิตที่กลัวตายคือชีวิตที่บกพร่องมีตำหนิ

          ซามูไรมองเห็นความตายเป็นความหมายที่ดีงามของชีวิต และเจริญมรณสติ อยู่ทุกช่วงขณะ

          ซามูไรไม่หวั่นไหว เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่จะต้องเลือกว่าจะอยู่หรือตาย เพราะซามูไรพร้อมที่จะเลือกทำสิ่งที่ดี ไม่ว่าจะเกิดผลคือเป็นหรือตาย เพราะเมื่อทำสิ่งที่ดี การมีชีวิตอยู่หรือตายจากไปก็มีค่าเหมือนกัน

          นี้คือจิตวิญญาณของซามูไร ที่เราได้สัมผัสรู้แล้วจะมีใครบ้างปรารถนาจะเป็นซามูไร เพื่อให้สังคมเรายังมีซามูไรคนสุดท้ายยังเหลืออยู่ ....

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :