เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๖๑
กรกฎาคม - กันยายน ๒๕๔๗

ชีวิตแห่งการภาวนา
วดีลดา เพียงศิริ

โรคชอบปรุงแต่ง

 

เรามักหาคำล้อเลียนคนอื่นได้เก่งกาจ อย่างเรื่องการพูดไม่ชัดของชนเผ่าบางกลุ่ม เราล้อเขาได้ล้อเขาดี ฉันเองเมื่อได้ยินเรื่องเล่าอย่าง “โสน้าหน้า” เข้า ก็พาลไปขำกับเขาด้วย อาจจะเพราะเราชอบคิดว่า เราอยู่เหนือคนอื่นตลอดเวลากระมัง

          แต่เวลานี้ ฉันอยาก ‘โสน้ำหน้า’ คนชอบอวดเก่งแต่ขี้กลัวจับใจอย่างตัวฉันเองมากกว่า

 

ฉันมีโรคประจำตัวมาแต่เด็ก หรืออาจจะแต่ปางไหนไม่ทราบได้อยู่โรคหนึ่ง นั่นคือ ‘โรคชอบปรุงแต่ง’ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ฉันจะยิ่งหาคำมาปรุงรสเวลาเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้เพื่อน ๆ ฟัง ยิ่งกองเชียร์หัวเราะครื้นเครง ฉันยิ่งได้ใจสรรหาคำมาทำให้เกิดภาพ เสียง กลิ่น รส สัมผัสให้มันยิ่ง ‘ถึงใจ’ และ ‘ถูกใจ’ คนฟัง รุ่นพี่ที่เฝ้ามองฉันจัดทอล์คโชว์บ่อยครั้งเข้าชักเลี่ยนเลยวิจารณ์ตรง ๆ ว่า นี่คืออาการของคน ‘นี้ดเลิฟ’ และอยากได้รับ ‘การยอมรับ’ อย่างหนักมาก

          ทีนี้ไอ้อาการปรุงแต่งที่ว่า เรื่องดี ๆ ก็ยังพอทำเนา แต่ส่วนใหญ่ฉันมักชอบปรุงแต่งในเรื่องร้าย ๆ เช่นเป็นอะไรนิดหน่อย ก็มักจะปรุงไปเสียไกล

          อย่างเรื่องญาติผู้หญิงทางฝ่ายพ่อของฉัน ตั้งแต่ป้าสองป้า คุณอา ลูกของป้า ฯลฯ มักเป็นมะเร็งหรือเนื้องอก ไม่ที่มดลูกก็ที่เต้านม ตัวฉันเองก็เคยเจอเนื้องอกเล็ก ๆ ที่มดลูกถึง ๒ ครั้ง ฉันจึงหวาดผวากับเรื่องนี้อยู่นานครัน จนวันหนึ่งการสะกดจิตตัวเองให้กลัว เริ่มคลี่คลาย เมื่อมาพบคุณป้าหมอวัยเกือบหกสิบปีท่านหนึ่ง หลังจากตรวจภายในให้ฉัน ท่านพูดเรียบ ๆ ว่า “ปรกติดีนี่จ๊ะ ทำไมหนูกังวลขนาดนี้ล่ะจ๊ะ” และทำหน้าส่งซิกแนลว่า ถ้าจะเป็น ก็เป็นเพราะความกังวลของหนูนี่แหละ

          ฉันนึกถึงเพื่อนที่ชื่อ ‘เจ้าหน่อย’ หมับ หล่อนเคยว่า “ถ้าเธอรักษาโรคประสาทหาย เธอก็หายจากทุกโรค !” อย่างกะนโยบาย ๓๐ บาทเปี๊ยบ

          หลังป้าหมอรับรู้ประวัติครอบครัวของฉัน ท่านย้อนถามว่า “หน้าอกหนูเหมือนใคร เหมือนทางแม่ หรือญาติทางพ่อ”

          นี่คือสิ่งที่ฉันไม่เคยได้ยินมาก่อน ฉันบอกท่านว่า เหมือนทางคุณแม่ เพราะญาติฝั่งนี้ ตั้งแต่อายุ ๑๕ จนแก่เฒ่าก็เข้าแผนกเฟิร์สบราตลอด ไม่เคยมีโอกาสได้เปลี่ยนไซส์กับใครเขาเลย ยกเว้นตอนท้องเท่านั้น ส่วนญาติทางพ่อนั้นอยู่ในระดับ ขวัญภิรมย์ หลิน, มรกต มณีฉาย ทั้งสิ้น ยิ่งคุณย่านั้นแม้ท่านจะจากไปนานนักหนา แต่ฉันยังจำถุงกาแฟที่ฉันชอบไปคลึงเล่นได้เสมอ คิดทีไรก็อบอุ่นทีนั้น

          “จำไว้นะหนู ใครเขาเป็นอะไร หนูไม่ต้องคิดไปเป็นกับเขาด้วย ไม่งั้นอาจจะเป็นขึ้นมาจริง ๆ จากความวิตกกังวลของเรานี่แหละ”

          ช่างเป็นคำเตือนที่มีค่าอะไรเช่นนี้ แต่ก็อย่างที่บอก นิสัยปรุงแต่งมันขุดรากถอนโคนยากเสียจริง

 

สามีฉันดูเหมือนจะเอือมที่สุด ดังนั้นเวลาฉันคิดสะระตะว่าตัวเองเป็นโน่นเป็นนี่ ฉันมักจะไปหาหมอคนเดียวหรือไม่ก็กับเพื่อนที่บ้าจี้ตาม เพราะยังไม่รู้นิสัยฉันดีพอ

          เรื่องปรุงต่อมาก็คือ วันหนึ่งฉันเกิดคลำไปเจอก้อนเล็ก ๆ วิ่งไปวิ่งมาแถว ๆ คอ ขณะพิมพ์ต้นฉบับนี้ ฉันลองเอื้อมมือไปคลำดูอีกที มันก็ยังอยู่แถมวิ่งขึ้นวิ่งลงได้อย่างกับลูกกระเดือก แต่เม็ดมันแค่ครึ่งเซ็นต์เท่านั้น

          ฉันรีบให้เพื่อนฝูง สามีและลูกจับดู โดยตนเองเอานิ้วโป้งและนิ้วชี้คีบไว้ก่อน พวกเขาจะได้ไม่เสียเวลาหา เพราะมันกลิ้งขึ้นลงตลอดเวลา

          สามีปั้นหน้าไม่ให้เอือมอย่างโจ่งแจ้ง “ป๊าพาไปตรวจมั้ย”

          ฉันส่ายหน้า เย็นนั้นพอเลิกงานรีบขับรถไปคลินิกหู คอ จมูก ที่เพื่อนแนะนำว่า มีอาจารย์หมอจากโรงพยาบาลใหญ่มาตรวจ– –เพียงลำพัง

          ฉันจอดรถหน้าคลินิก นึกถึงเพื่อนนักแปลเลื่องลือนามผู้จากไปหลายปีก่อน เพื่อนคนนี้เป็นโรคมะเร็งที่หลอดอาหาร คราวนี้ก็ปรุงสิคะ ยังลงรถไม่ได้ สวดมนต์ค่ะ ถามตัวเองค่ะ ว่าถ้าหมอวินิจฉัยว่าเป็นอะไรน่ากลัว ๆ จะรับมือไหวมั้ย

          ชีวิตมนุษย์เราคงจะมี ‘นาทีประหาร’ กันคนละครั้ง สองครั้ง แต่ของฉันน่ะมีเป็นโหล สามีของเพื่อนเคยแซว ทั้งภรรยาตัวเองและฉันว่า ‘พวกชอบนึกว่าตัวเองมีความสำคัญ พวกนึกว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล’ เอาง่าย ๆ คือพวก ‘อีโก้’ จัดกว่าเขาอื่นนั่นเอง

          หมอตรวจยกใหญ่ มีการใช้แผ่นสแตนเลสกดลิ้นไว้เสียสุดแรง ไม่ได้กดนิดหน่อยเหมือนเวลาเราเป็นหวัด แล้วให้ฉันเปล่งเสียง อา........ให้สุดเสียง ใครจะเอาเรี่ยวแรงที่ไหนมาเปล่ง แต่ด้วยความกลัว ฉันจึงหลับหูหลับตาเปล่งออกมาเต็มที่

          “ปรกติดีนี่” หมอสรุปอย่างน่าเชื่อถือ

          “แต่ก้อนมันอยู่ตรงนี้ค่ะ” ฉันเอานิ้วคีบค้างไว้ให้หมอดูจะ ๆ

          หมอจับแล้วจับอีก ถ้ามันจะอักเสบและติดเชื้อ ก็เพราะฉันเร่ให้คนจับมาสองวันแล้วก่อนจะถึงมือหมอ

          หมอกลั้นยิ้มอย่างแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ “นี่คือ ก้อนไขมัน มันคือก้อนไขมัน เพราะมันอยู่ตื้นมาก อยู่ในระดับผิวหนัง ถ้าเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งมันจะอยู่ลึกกว่านี้”

          ‘นี่มันเสียงสวรรค์นี่นา...’ ฉันบอกตัวเองพร้อมแขม่วพุง

          ไม่ให้หมอเน้นคำว่า ก้อนไขมันอีกต่อไป

          ฉันเก็บงำคำวินิจฉัยของหมอไว้ไม่บอกใครอยู่หลายวัน อันเป็นการผิดวิสัยคนปากสว่างอย่างฉัน ก็ใครเล่า จะอยากประจานตัวเองว่าอ้วนเสียจนมีก้อนไขมันวิ่งไปวิ่งมาที่คอ และแค่ยังไม่เล่า ฉันก็จินตนาการเห็นภาพสามีหัวเราะก๊ากล่วงหน้าด้วยซ้ำ !

 

ดูเหมือนเจ้าหน่อย จะรำคาญฉันรองจากคุณสามี แต่พอฉันขอให้เธอขับรถพาไปหาหมอ (แผน) จีนเพื่อแมะดูซิว่าเป็นอะไร ทำไมถึงอ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง ตายซาก เธอก็หลวมตัวพาไป

          ฉันรีบอธิบายระหว่างทาง “พูดตามตรงนะ ไม่ได้กลัวตายหรอก ชีวิตนี้กลัวพิการที่สุด เป็นอะไรก็อยากจะเจอเร็ว ๆ”

          ที่แท้น่ะกลัวตายจนหัวหดแต่ทำฟอร์ม พูดเรื่องนี้ ทำให้นึกถึงที่ท่านพุทธทาสว่าไว้ “คนกลัวผีน่ะ ที่แท้แล้วกลัวตาย” นับประสาอะไรกับการกลัวไม่มีเรี่ยวแรงที่ยกมาอ้าง !

          พอไปถึง หมอเห็นหน้าฉันก็ยิ้มแล้ว ตรวจเสร็จยิ่งยิ้มมากขึ้น “ออกกำลังกายบ้างหรือเปล่า”

          “ไม่เคยเลยค่ะ ไม่ชอบ ชอบแต่นอนอ่านหนังสือ อยากให้เขาทำเครื่องดึงแขนดึงขาให้เลือดหมุนเวียน หัวใจเต้นเร็วเหมือนออกกำลังตอนเรานอนอ่านหนังสือจังค่ะหมอ”

          “เย็นนี้เริ่มออกกำลังเลยนะ เดินก็ได้ เดินรอบหมู่บ้านสักยี่สิบนาทีหรือครึ่งชั่วโมง พออายุมากขึ้นต้องหัดดูแลตัวเอง”

          ไหน ๆ ก็ไหน ๆ เจ้าหน่อยผู้ไม่เชื่อแพทย์ทางเลือกใดใดมาก่อน ก็เลยลองให้หมอแมะตัวเองดูบ้าง ทีนี้หมอหน้านิ่วคิ้วขมวด ไม่ยิ้มเลย

          “โอ้โห ทำไมโรคชุกชุมอย่างนี้ล่ะ ทั้งกระเพาะ สำไส้ไม่ดีเลย ท้องผูกหรือเปล่า”

          เจ้าหน่อยเริ่มจ๋อย “ผูกมากค่ะ ถ้าไม่กินชา ที่เป็นยาระบายไม่เคยถ่ายเลย กินมาได้ สามปีแล้วค่ะ”

          หมอทำหน้า ‘โอ๊ย...ตาย’ แต่ไม่ได้พูด “ตับ ไต ไม่ดีสักอย่าง กินยาต้มได้มั้ยนี่ ต้องรีบรักษาอย่างหนักเลยนะนี่ มีอาการปวดหัวมั้ย”

          เพื่อนพยักหน้า “ยาแก้ปวดธรรมดา ๆ เอาไม่อยู่เลยค่ะ”

          หมอเขียนใบสั่งยาต้มตั้งหลายชุดแถมกำกับให้กินเป็นอาทิตย์ ๆ แถมมียาลูกกลอน บำรุงตับไต ไส้พุง บำรุงสมองและอื่น ๆ อีกเป็นกระตั้ก

          ส่วนของฉันว่างเปล่า ฉันจึงกระแอมอย่างคนชอบมีส่วนร่วมว่า “คือ หมอคะ ถ้าเป็นไปได้ ดิฉันอยากได้ยาสักอย่าง ไม่ได้อะไร ขอยาบำรุงก็ยังดี”

          เรื่องนี้เป็นโจ๊กระหว่างฉันกับเพื่อนมาอีกหลายปีทีเดียว

 

แล้วก็สมหวังค่ะ หลังจากนั้นไม่นาน ขณะกำลังทำค่ายเด็กให้ลูกกับเพื่อน ๆ ช่วงปิดเทอม ฉันสนุกเสียจนลืมว่าตัวเอง เริ่ม ‘อ้วนแก่ ๆ ๆ’ (กรุณาทำเสียงเหมือนเวลาเพื่อน ๆ ล้อเจ้าแจ็คในเรื่อง ‘แฟนฉัน’ ว่า อ้วนดำ ๆ ๆ ประกอบ) อันทำให้หัวเข่าเริ่มปวด เพราะรับน้ำหนักมาก แต่ฉันไม่ได้เจียมเลาค่ะ ถอดรองเท้าวิ่งลุยเล่นกับเด็ก ๆ อย่างลืมตัว แล้วจู่ ๆ ฉันก็เหยียบไปบนอะไรไม่ทราบ เจ็บแปล๊บเหมือนไฟช็อตจนต้องทรุดลงไปกองกับพื้น

          เมื่อคลายเจ็บ ก็เริ่มสำรวจว่าเหยียบโดนอะไร ไม่มีอะไรนอกจากอิฐแบบตัวหนอนที่มันเรียงเขย่งไม่เสมอกัน โรคชอบคิดเอง เออเอง ของฉันกำเริบ ณ บัดนั้น โดยวินิจฉัยโรคเองว่า คงสะดุดพื้นหรือไม่อาจโดนแมงป่องต่อย อันหลังนี่ไม่รู้คิดได้ไงนะคะ

          จากนั้น ฉันก็เฮฮาปาจิงโกะกับเด็ก ๆ ต่อจนเย็น จึงขับรถกลับบ้าน โดยไม่เฉลียวใจสักนิดว่า ตื่นขึ้นมาใต้ฝ่าเท้าช่วงที่อยู่ต่ำลงมาจากนิ้วโป้งขวาจะปูดออกมาเท่าลูกมะนาว (ไม่ใช่ก็ใกล้เคียง)

          รีบโปะโอสถทิพย์แล้วก็กระเด๊ก...ก...กระเด๊ก ขับรถไปทำกิจกรรมกับเด็ก ๆ ต่อ เพราะคิดว่าเดี๋ยวบ่าย ๆ ก็หาย ที่ไหนได้ มันปวดบวมและเดินไม่ได้ไปหลายวัน

          สามีรีบพาไปหาหมอกระดูก หมอบอกว่า ปลอกหุ้มเอ็นอักเสบ เพิ่งรู้นี่แหละว่าเส้นเอ็นคนเรามีปลอกหุ้ม พร้อมฉีดยาเข็มที่เจ็บที่สุดในโลกให้ สมใจคนหาโรคมาใส่ตัวเองเสียจริง ๆ นอกจากนั้นหมอให้ยาแก้อักเสบอีกถุงใหญ่ พร้อมให้แผ่นกันไม่ให้ส่วนที่เอ็นอักเสบสัมผัสพื้นมา ๑ คู่ แผ่นนี้เป็นรูปวงรียาว ๓ นิ้วกว้าง ๒ นิ้ว มียางยืดติดสองข้าง เพื่อรัดเท้าไว้ให้สูงจากพื้นเวลาเหยียบลงไป เจ้าแผ่นนี้จะกระทบพื้นแทน ระหว่างรอให้เอ็นฟื้นคืนชีพอย่างเก่า

          ฉันกินยาจนหมดถุงก็ไม่ดีขึ้น คราวนี้เจ้าหน่อยอดรนทนไม่ไหว จึงพาไปหาหมอที่หล่อนเรียกว่าหมอเทวดา หมอคนนี้เข้าไปในห้องเอกซเรย์ด้วย เพื่อจับเท้าให้อยู่ในท่าที่จะเห็นกระดูกบริเวณนั้นชัด ๆ ซึ่งได้ผลดีเยี่ยม เพราะทำให้เห็นว่ากระดูกอ่อนที่ทำให้นิ้วโป้งงอได้ยืดได้ แตกเป็นสองเสี่ยงแบบเราตัดเค้กลงไปตรงกลาง แสงผ่านขาวจ๋องเลยค่ะ

          หมอแนะนำวิธีรักษาทันที “ผ่าแล้วเอาทิ้งไปเลย”

          โอ้โห ทำไมฟังดูง่ายจัง เอางั้นเลยหรือหมอ

          ฉันคิดในใจ แต่ไม่กล้าพูด เวลาเราไปโรงพยาบาล หมอใหญ่ที่สุด พอเห็นฉันหน้าซีด หมอก็แนะว่า

          “ถ้าอยากรู้ให้ละเอียดไปเลย ว่ามันเป็นมากน้อยแค่ไหนก็จะส่งไปทำ โบนสแกน” คือการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่ละเอียดซับซ้อนเห็น

          ทุกอณูกระดูก แต่เสียสตางค์เยอะ “โอเคมั้ย”

          ฉันพยักหน้า ไม่เป็นไร ถึงคราวเสียก็ต้องเสีย ให้มันรู้ จะ ๆ จะได้หายคลุ้มคลั่ง (เพราะขับรถไม่ได้) เสียที เรื่องขับรถนี้ ฉันโมโหคนออกแบบรถเกียร์ออโต้ ที่เขาไม่ยักเอาเบรคและคันเร่งมาไว้กลาง ๆ เพราะฉันลองไขว่ห้างขับ เพื่อใช้เท้าซ้ายทำหน้าที่แทนเท้าขวา ทำอย่างไร ๆ ๆ มันก็ไม่เวิร์ค จนสามีสมเพชขอร้องให้เลิกตะแบงขับไปไหนมาไหน ด้วยไม่อยากทนเลี้ยงภริยาพิการ !

          หมอให้ไปเอกซเรย์พรุ่งนี้ เสร็จจากตรวจส่งไปทำแผ่นรองใต้เท้าอีกหนึ่งคู่ มันคงจะเหม็นมาก ฉันรู้นึกแปลกใจว่า ไอ้เจ้าแผ่นนี้เขาต้องไปทำที่แผนกขาเทียม แต่ไม่เป็นไร ไปถึงเจ้าหน้าที่ยื่นใบโอพีดีการ์ดมาให้กรอก

          บรรทัดแรก นามผู้พิการ .................. ฉันรีบขีดคำแสลงใจ ‘พิการ’ ออก เหลือแต่นาม กรอกเสร็จก็ยื่นกลับคืน ที่ไหนได้ เจ้าหน้าที่รีบเอาลิขวิดลบตรงที่ฉันขีดทิ้ง พลางเป่าให้แห้ง แล้วเขียนคำว่า ผู้พิการลงไปใหม่

          “ใครเข้ามาใช้บริการตึกนี้ พิการหมดแหละค่ะ ไม่ยังงั้นเราก็ทำอุปกรณ์ช่วยเหลือให้ไม่ได้”

          “เหรอคะ” ฉันกลืนน้ำลายดังเอื๊อก

          วันรุ่งขึ้นฉันใส่แผ่นรองคู่ใหม่หอมฉุยไปฉายเอกซเรย์ มีผู้ป่วยเฉพาะโรคกระดูก ๔ ราย นั่งรถเข็นมา ๒ ราย นอนบนเตียงอีก ๑ ราย ฉันเป็นคนสุดท้ายที่จะได้ตรวจ

          คุณลุงที่นอนอยู่บนเตียงตรวจเป็นรายแรก ออกจากห้องมาปั้บลูกสาวที่นั่งคุยกับฉันระหว่างรอ ก็มากระซิบแบบกลั้นน้ำตาว่า ‘พ่อหนูเป็นมะเร็งกระดูก

          จริง ๆ ด้วยพี่’ เอาล่ะซี่...งานนี้ไม่ปรุงไม่ได้แล้วหรือ...หรือเราเป็นอะไรมากแล้วหมอไม่ยอมบอก หือ...

          คุณหมอประจำห้องนี้ อ่านผลการตรวจง่ายเหมือนแม่มดมองลูกแก้ว ท่านว่า “คุณไม่ได้เป็นอะไรมากนี่ แค่กระดูกอ่อนที่เท้าขวาแตกเท่านั้น สามรายก่อนหน้าคุณน่ะ มะเร็งกระดูกทั้งนั้น ทำไมต้องมาทำโบนสแกนล่ะคะ หมอไหนส่งคุณมาเนี่ย”

          ความกลัว ส่งฉันมาทำค่ะ ฉันไม่ได้ตอบหรอก ได้แต่ทำตาปริบ ๆ ไม่เป็นอะไรมากก็เลยอารมณ์ดี

          ใช้เวลาสองปีเต็ม เท้าฉันก็หายโดยไม่ต้องผ่าตัด แต่ไม่ใช่ไม่ทรมานนะคะ ถึงขั้น ‘หยดหยอง’ เลยทีเดียว เพราะวิธีสุดท้ายที่ทำให้หายสนิทคือ วิธีเรียงกระดูกใหม่หมด โอ๊ย...ย น่ากลัวมาก...ก

          ช่วงนั้น “มาม้า” คุณแม่สามีฉันไม่สบายอยู่โรงพยาบาล ฉันเพิ่งออกจากไปอยู่วัดมาหลายวัน ออกมาถึงก็ไปเยี่ยม เข้าไปถึงก็พบซิงแซท่านหนึ่งกำลังนวดให้มาม้าอยู่ มาม้าเลยแนะนำว่า นี่ไงลูกสะใภ้ที่กระดูกเท้าแตก แล้วหมอแผนปัจจุบันบอกให้ผ่าตัดเอาออกไปเสีย

          “ถ้าเอาออกจะเดินไม่สวย” ซิงแซพูดภาษาจีน มาม้าคอยแปล “ไม่สวยแบบว่าขาเป๋”

          ทั้งห้องหัวเราะครืน ฉันก็ต้องทำใจกว้างหัวเราะตามไปด้วย

          ซิงแซละมือจากมาม้า บอกว่า วันนี้พอก่อน หันขวับมาหาฉัน ท่านให้ฉันนั่งบนเก้าอี้ที่สบายที่สุด และให้ถอดรองเท้าออกมา เมื่อเห็นแผ่นรองไม่ให้เท้าสัมผัสพื้นท่านก็ยิ้ม “ปลายเหตุทั้งนั้นเลยนะ ใส่มานานแค่ไหน”

          หกเดือนฉันตอบ ท่านเริ่มลงมือนวดเพื่อเช็คอาการ แต่มันเจ็บเกินบรรยาย นี่แค่เช็คเองหรือ ไล่หัวเข่า “มันล้มไปตั้งแต่ตรงนี้” ไปถึงข้อเท้าและตาตุ่ม “ดูซี่ล้มไปหมดแล้ว ต้องเรียงใหม่”

          ฉันอยากร้องห้ามว่า เดี๋ยวก่อน แต่ไม่ทันการณ์ ท่านเรียกสามีให้มาจับตัวฉันไว้ไม่ให้ตกเก้าอี้ จากนั้นก็ลงมือที่รสชาติความแข็งเท่ากับคีมเหล็ก กดลงบนหัวเข่า ไล่ไปช้า ๆ จนถึงตาตุ่ม จนถึงฝ่าเท้า เสียงกระดูกถูกเรียงใหม่ดัง แก่ก... แก่ก...แก่ก...ได้ยินชัดเจนกันทุกคน แล้วก็มาถึงจุดที่ฉันหวาดเสียวที่สุดคือตรงที่กระดูกที่แตก ฉันทำอะไรไม่ได้นอกจากใช้วิชา “ตามรู้” ความเจ็บปวดทุกขณะ ที่เพิ่งไปเรียนมาจากที่วัด ไม่มีขาของฉัน มีแต่อาการปวดที่เกิดแล้วดับ ๆ ๆ ต่อเนื่องกันไป

 

ซิงแซส่งภาษาจีน มาม้ารีบแปลทันที “ทำใจว่าง ๆ จะใช้กำลังภายในดันกระดูกเข้าไปให้”

          ฉันเจ็บจนคำไหน ๆ ก็เอามาเปรียบไม่ได้ คือถ้าไม่หายก็คงเดินไม่ได้ไปตลอดชีวิต มันน่ากลัวเสียจนฉันบอกตนเองว่า ต่อไปให้เลิกฝันร้ายว่าเข้าห้องสอบผิดเวลา มาเป็นเรื่องนี้เถอะ ! และฉันยังไม่กล้าถามว่า ที่บีบให้ฉันน่ะมือหรือคีมเหล็ก

          รู้แต่ว่า เท้าฉันแนบพื้น และเดินเหินเป็นปรกติทันที ซึ่งขณะนี้ห่างไกลจากผู้พิการ แต่ถ้าประมาทก็คงใช้ใกล้ชิดได้โดยไม่ยากค่ะ

 

ร่างกายคนเรานี้ เป็นที่ชุมนุมของโรค แม่นแล้ว เพราะทันทีที่เจ้าหน่อยมารายงานว่า เพื่อนเก่าของฉันคนหนึ่งเป็นโรคประสาทควบคุมใบหน้าเส้นที่ ๗ อักเสบ เธอเป็นไข้อยู่ ๒–๓ วัน จู่ ๆ ใบหน้าด้านขวาก็เบี้ยว ตาก็ปิดไม่ได้ โดยมีอาการเริ่มต้นจาก หน้าชาก่อน

          “ฉันก็เป็น !”

          เจ้าหน่อยแทบจะวิ่งหนี

          “จริง ๆ นะ ทั้งมุมปากทั้งลิ้นข้างขวาชามาเป็นปี ๆ แล้ว แต่ฉันนึกเอาเองว่าแพ้ผงชูรส”

          ก่อนที่จะปรุงแต่งไปไกลกว่านี้ ฉันรีบไปหาหมอจีน หมอแมะให้แล้วสันนิษฐานว่า เป็นปลายประสาทที่มาเลี้ยงใบหน้าอักเสบ ฝังเข็มให้ อาการชาไปได้สองชั่วโมงแล้วก็กลับมาชาอีก

          ฉันลองไปหาหมอสมัยใหม่ที่เชี่ยวชาญทาง (เส้น) ประสาทดูบ้าง หมอเอาไม้จิ้มฟันมาจิ้มตามใบหน้าแล้วถามว่า รู้สึกแหลมเหมือนกันมั้ย แน่นอนย่อมไม่เหมือน ก็ด้านขวามันชาออกอย่างนั้นนี่นา

          หมอส่งไปทำ MRI หรือการเอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ชนิดละเอียดลออ เพราะมีการฉีดสีเข้าไปดูเส้นประสาทยิบ ๆ ย่อย ๆ ได้ด้วย หมอบอกว่า คงไม่มีอะไรร้ายแรง แต่ถ้าไปทำจะเห็นหมดว่ามีเนื้องอก หรือเส้นเลือดโป่งพองทำท่าจะแตกเปล่า พร้อมบอกราคาค่าทำ MRI ประมาณ หนึ่งหมื่นบาท ตกลงไหม

          คนขี้กลัวอย่างฉันมีหรือจะไม่ตกลง

          ก่อนจะเข้าเครื่องเอกซเรย์ที่เหมือนอุโมงค์ หรือบางคนบอกเหมือนโลง แถมมีเสียงกวนประสาทดังสนั่นหวั่นไหวตลอด ๕๐ นาทีนี้ ฉันก็ได้สั่งเสียลูกและสามีราวกับจะไปเข้าเครื่องประหารหัวมังกรเป็นที่เรียบร้อย

          “ที่จริงชีวิตที่แม่อยู่มากับลูก ๆ และป๊ามันก็ดี๊ดีนะ ถ้าจะมีอะไร แม่ก็ไม่เสียใจ จริง ๆ นะ”

          ผลออกมา น่าทึ่ง ฉันมองพ่อมดสมัยใหม่ที่ชื่อ MRI แล้วนึกถึงนิ้วมือที่แมะของหมอจีน คำตอบเป็นอันเดียวกันเปี๊ยบ นั่นคือ ปลายประสาทเส้นที่ ๕ อักเสบ !

          เจ้าหน่อยหัวเราะก๊ากสมใจ “ฉันบอกเธอแล้ว แค่เธอหยุดพูดไม่ดี ปากเธอก็หายชาแล้ว ไม่ต้องเสียเงินเป็นหมื่นนี่หรอก นี่มันโรคเวรโรคกรรมรู้หรือเปล่า”

          “ขอบใจเพื่อน” ฉันหัวเราะตาม “จริงของเธอ ที่ผ่านมาวาจาฉันคึกคะนอง คงทำร้ายคนอื่นตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว ให้โอกาสฉันกลับตัวกลับใจแล้วกันนะ”

          ฉันหมายความตามนั้นจริง ๆ

          แต่หลังจากเอาผล MRI กลับไปให้หมอสมัยใหม่ดูเท่านั้นล่ะ เรื่องใหญ่ที่ก็ตามมา และนั่นคือที่มา ของการโสน้าหน้าตนเอง ถ้ายังไม่เบื่อ ฉบับหน้าจะเล่าให้ฟังค่ะ....

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :