เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๖๑
กรกฎาคม - กันยายน ๒๕๔๗

แด่... เจริญ วัดอักษร
เรื่องจากปก ไทยโพสต์ แทบลอยด์ ฉบับ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๗

 

เจริญ วัดอักษร นักสู้สามัญชน

"เราคุยกันมาตั้งแต่แรกแล้วว่าจะไม่มีลูก... คือรู้ว่าสักวันต้องเกิดเรื่องอย่างนี้ แต่ไม่คิดว่าจะเกิดไวอย่างนี้ เราจะได้ไม่ต้องมีภาระอะไรไว้ให้ใคร ไม่ต้องมีห่วง พะวงหน้าพะวงหลัง"

 

นี่คงเป็นงานศพงานเดียว ที่มีคนใส่เสื้อเขียว สัญลักษณ์ของ กลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก–กุยบุรี มาร่วมงานจำนวนมาก ไม่เว้นแม้ กรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยาของเจริญ วัดอักษร “นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่” ที่ใครบางคนให้คำนิยาม พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ เล่นดนตรีอยู่บนเวทีหน้าศพ ท่ามกลางผู้มาร่วมงานนับพัน จำนวนหนึ่ง เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน กฟผ. นำโดย ศิริชัย ไม้งาม และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แห่งชาติ ที่เป็นเจ้าภาพ แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นชาวบ้าน คนธรรมดาสามัญ คนเฒ่าคนแก่ คนหนุ่มสาว เด็กเล็ก ที่มาร่วมรำลึก และอาลัยผู้นำการต่อสู้ ผู้เสียสละชีวิตปกป้องท้องถิ่น แผ่นดิน ทะเล และธรรมชาติ ที่เป็นสมบัติล้ำค่าของพวกเขา

          “นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่”–ก็ไม่ปฏิเสธ แต่ถ้าจะนิยามให้เห็นภาพ ก็ต้องบอกว่าเจริญ วัดอักษร คือนักสู้สามัญชน ผู้มาจากคนธรรมดาสามัญคนหนึ่ง ที่ไม่ได้เรียนรู้อุดมการณ์อันล้ำเลิศ หรือถ้อยคำสวยหรูใด ๆ เพียงแต่มีหัวใจอันเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ สู้แล้วต้องสู้ให้ถึงที่สุด เพื่อปกป้องสิทธิของตนเองและชุมชน แบบคนที่เกิดมากับดิน และตายไปกับดิน

 

ผู้นำจากการต่อสู้

ที่จริงเจริญไม่ใช่คนบ่อนอก บ้านเกิดของเขาอยู่ที่ ต.เกาะหลัก อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ เป็นลูกคนที่ ๘ คนสุดท้องของพ่อชั้น แม่วิเชียร วัดอักษร ซึ่งมีอาชีพขายของในตลาด แต่พอดีพระครูวิทิตพัฒนวิธาน พี่ชายคนที่ ๒ มาเป็นเจ้าอาวาสวัดสี่แยกบ่อนอกตั้งแต่ปี ๒๕๒๖ เจริญก็ตามมาอยู่ด้วย จากที่ไป ๆ มา ๆ ตอนโรงเรียนปิดเทอมก็มาอยู่ประจำจนกลายเป็นคนบ่อนอก โดยเฉพาะเมื่อเขาอยู่กินกับ “กระรอก” กรณ์อุมา ลูกสาวอดีตกำนันซึ่งรักกันมาตั้งแต่วัยรุ่น

          พระครูกล่าวถึงน้องชายว่าเป็นคนดี ไม่เที่ยว เหล้าไม่กิน บุหรี่ไม่สูบ การพนันไม่เล่น เมื่อถามว่าทำไมเขาถึงเป็นผู้นำชาวบ้าน “เพราะเป็นคนใจเย็นมั้ง สุขุม ชอบพูดขำ ๆ แหย่คนโน้นบ้างคนนี้บ้าง คนแก่รัก” บอกด้วยว่าเขาไม่ใช่คนก้าวร้าว “นอกจากตอนขึ้นเวทีเท่านั้น ดุเดือดหน่อย แต่อยู่ข้างล่างนี่ไม่มี พวกแม่ครัวรักทุกคนแหละ”

          กระรอกเล่าว่าเจริญไม่ได้เป็นผู้นำตั้งแต่แรก ตอนแรกก็เพียงแต่เข้ามามีส่วนร่วมเป็นทีมงานคัดค้านโรงไฟฟ้า

          “พอตอนหลังพวกเรามีการผลักดันเรื่องการเมืองท้องถิ่น เพราะจะได้เอาอำนาจตรงนี้ไปคานด้วย ที่ผ่านมาเป็นฝ่ายตรงกันข้ามเขายึดครองการเมืองท้องถิ่นตรงนี้ ที่สู้เรื่องโรงไฟฟ้ากันมาเรารู้ว่าการเมืองท้องถิ่นมีบทบาทในการกำหนดเหมือนกันว่าจะสร้างหรือไม่สร้าง เราก็เลยต้องช่วงชิงกลับมา แล้วเราก็ทำได้สำเร็จ พี่ชิน (สุชิน ช่อระหงส์) ก็เข้าไปเป็นประธาน (หมายถึงประธาน อบต. ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นนายก อบต.) แล้วพวกเราก็ไปเป็นทีมงานหลายคน เลยต้องมาคิดกันว่าใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำ”

          “ตอนแรกเจริญเขาก็พูดไม่เป็น แต่สมัยเริ่มการต่อสู้เวลาประสานสื่อมวลชน สมัยก่อนเจริญคนเดียวที่มีโทรศัพท์มือถือ ตอนนั้นเครื่องหนึ่งก็ ๓–๔ หมื่น แต่เราค้าขายเราต้องมี เราก็เลยเป็นผู้ประสานมาโดยตลอด แต่เวลาขึ้นเวทีเจริญยังพูดไม่ได้ จนถึงวันที่พี่ชินกับหลาย ๆ คนไปอยู่ อบต. เราก็ต้องมาคิดว่าเราจะชูใคร ทุกคนก็โหวตเอาเจริญนั่นแหละ เหมาะสมที่สุด หนูยังพูดเล่นว่าจะมีความสามารถได้ยังไงพูดยังไม่เป็น แล้วเขาจะขี้เล่น–ยังแกล้งบอกเขาว่าบุคลิกเหมือนลิงที่โดนหมามุ่ย ยุกยิก ๆ ไม่นิ่ง จะเป็นได้ยังไง เขาเป็นคนขี้เล่น ชอบอำ ดูแล้วไม่ค่อยเป็นโล้เป็นพายเท่าไหร่ ก็ค่อย ๆ เรียนรู้ตอนหลัง”

          เจริญกลายเป็นผู้นำที่ชาวบ้านรักและศรัทธา ท่ามกลางการต่อสู้นั่นเอง พระกบ เพื่อนร่วมอุดมการณ์บอกว่า “เจริญกับครูตุ้ยจะเป็นคนที่ชาวบ้านให้ความนับถือมาก เขาจะเคารพความคิดเห็นเวลาประชุม จะไม่เอาความเห็นเขาเป็นใหญ่ ถ้าคนไหนคิดว่ามาทำแล้วได้ดี เขาก็จะถอยไปโดยปริยาย เพราะเขาไม่ได้ทำงานเพื่อหวังผลการเมือง เราให้ความไว้เนื้อเชื่อใจกันมาก” นั่นอาจจะต่างกับภาพบนเวที ซึ่งพระกบเล่าว่าเจริญจะมีวิธีการพูดที่ชาวบ้านสะใจ “บนเวทีเขาจะเหมือนไม่กลัวใคร เพื่อแสดงให้ชาวบ้านมั่นใจ”

          จะดูเจริญต้องดูจากกระรอก ผู้หญิงแกร่งคนนี้เข้มแข็งเกินคาด ปกติเธอไม่เคยออกหน้า แต่เมื่อสูญเสียสามี กระรอกตัดสินใจทันทีว่าต้องเอาศพเข้ากรุงเทพฯ และไปออกรายการทีวีพูดจาฉะฉานอย่างไม่กลัวใคร

          “คู่นี้เขาใจเหมือนกัน ใจนักเลง ต่อสู้ ถ้าเทียบว่าให้กระรอกขึ้นเวทีแบบจินตนา (แก้วขาว) ก็พอ ๆ กันนั่นแหละ เพราะกระรอกเขามีนิสัยตั้งแต่วัยรุ่นแล้ว ไม่กลัวใคร เด็ดเดี่ยวเหมือนผู้ชาย” พระกบเล่าให้ฟัง

          “เจริญ กระรอก ตอนเป็นวัยรุ่นก็เก มีพรรคพวกเยอะ ไม่ใช่ผ้าพับไว้เสียทีเดียว ผมยังโตมาอีกอย่าง ร่างกายเราไม่แข็งแรงสมบูรณ์ หิ้วปิ่นโตตามแม่ไปวัดตั้งแต่เด็ก ๆ”

          บอกว่าเจริญไม่สูบบุหรี่ไม่กินเหล้าจริง แต่สมัยรุ่น ๆ เรื่องเพื่อนแล้วยอมไม่ได้เหมือนกัน “พวกเยอะ คือเจริญไม่ได้ทำเอง แต่ถ้าเพื่อนเป็นอะไรนี่ไม่ทิ้งเพื่อน เจริญไม่ใช่หัวโจกนะ แต่หมายถึงเพื่อนไปมีเรื่อง เจริญหรือกระรอกจะไม่ยอม แม้กระทั่งในงานวัดยังไม่ยอมถ้าเพื่อนโดน–ขนาดเป็นงานของเจ้าอาวาสพี่ชายยังไม่ยอมเลย เพื่อเพื่อน เป็นคนแบบนั้น”

          น่าจะเป็นเพราะนิสัยเช่นนี้เอง ที่เมื่อเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขุมขึ้น เจริญจึงกลายเป็นที่รักศรัทธา พระกบซึ่งมาร่วมขบวนภายหลัง ก่อนจะกลายมาเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ใกล้ชิด กล่าวตอนหนึ่งว่า “ผมรักเจริญมากกว่าพี่น้องผมอีก ตั้งแต่ทำงานกันมาเรายอมตายแทนกันได้” บอกว่าขนาดที่เจริญรู้ตัวเองว่าเป็นเป้าอยู่ตลอดมา ในช่วงสถานการณ์ร้อนแรงถ้าวันไหนพระกบมาประชุมแล้วต้องขี่มอเตอร์ไซค์กลับบ้าน เจริญก็จะขับรถส่องไฟตามหลังไปส่งจนถึงบ้าน “ถ้าผมยังไม่เปิดประตูบ้านเขาก็ยังไม่ไป”

 

ชีวิตที่พร้อมสละ

กระรอกยืนเคียงข้างเจริญมาตลอดในการต่อสู้ เจริญออกหน้า เธออยู่ข้างหลัง แต่ก็ปรึกษาหารือกัน

          “เป็นคนที่มีความคิดตรงกัน มีนิสัยคล้ายกันในเรื่องความคิด อุดมการณ์ แต่ถ้าเรื่องนิสัยทั่วไปเจริญเขาจะสุขุม ถ้าเทียบกันหนูจะใจร้อนกว่า ความรอบคอบเขาจะมีมากกว่า แต่เรื่องความคิดโดยรวมแล้วเหมือนกัน”

          เธอไม่เคยคัดค้านแม้รู้อยู่แก่ใจว่า สักวันจะต้องมีวันนี้

          “เรารู้แล้วว่าเราเล่นอยู่กับอะไร ตั้งแต่ประท้วงโรงไฟฟ้า การสูญเสียมันต้องมี ต้องเตรียมว่าสักวันหนึ่งมันต้องพลาด เรื่องนี้ต้องเกิด ทางกลุ่มก็เตรียมรองรับตรงนี้ สมมติเจริญล้มเราจะต้องมีคนต่อไป ก็ไม่ได้มีผลกระทบกับขบวนเท่าไหร่ แต่ว่าทางด้านจิตใจก็เสียใจเสียดายกัน แต่การทำงานไม่มีผลกระทบ และการทำงานหนูคิดว่าต้องเข้มแข็งกว่าเดิมเมื่อมีการสูญเสียเกิดขึ้น”

          ผัวเมียคู่นี้เตรียมพร้อมมาตั้งแต่แรกแล้ว ถึงขั้นตกลงกันว่าจะไม่มีลูก

          “เราคุยกันมาตั้งแต่แรกแล้วว่าจะไม่มีลูก คือเรื่องลูกเป็นอุปสรรค เอาง่าย ๆ เวลาคุยกันก็จะมองพี่หน่อย (จินตนา แก้วขาว ผู้นำชาวหินกรูด) เป็นอันดับแรก พี่หน่อยนี่หญิงเหล็กจริง ๆ ขนาดมีภาระเยอะแยะแต่แกก็สู้ เราดีกว่าพี่หน่อยร้อยเท่าพันเท่าที่ไม่มีลูก ถ้ามีลูกเราคงไม่มาถึงจุดนี้”

          “คือรู้ว่าสักวันมันต้องเกิดเรื่องอย่างนี้ แต่ไม่คิดว่าจะเกิดไวอย่างนี้ เราจะได้ไม่ต้องมีภาระอะไรไว้ให้ใคร ไม่ต้องมีห่วง พะวงหน้าพะวงหลัง”

          “ตั้งแต่แรกที่จับตรงนี้ก็รู้อยู่แล้วว่าชนกับอะไร เล่นอยู่กับอะไร ก็คุยกันมาตลอดกับเจริญว่าไม่แกก็ข้า–แต่สงสัยจะเป็นแกก่อน อะไรอย่างนี้ ก็คุยกัน เพราะบทบาทเขาจะเด่นกว่าเรา เรากับเขาทำงานร่วมกัน แต่การออกหน้าจะเป็นเขาเป็นหลัก ปกติจะเป็นคนที่ไม่ชอบพูดคุยกับนักข่าว พูดไมค์ไม่เป็น”

          แม้หลังจากโรงไฟฟ้าถอยไปแล้ว เธอกับเจริญก็รู้ว่าสักวันต้องมีความขัดแย้งเรื่องอื่น โดยเฉพาะที่ดินสาธารณะ ซึ่งก็เป็นกลุ่มอิทธิพลกลุ่มเดียวกันนั่นเอง

          “เรื่องที่ดินสาธารณะนี่จริง ๆ มีมานานแล้ว ควบคู่กันมาตั้งนานแล้วกับโรงไฟฟ้า แต่ก็คุยกันว่าเฮ้ย เจริญโรงไฟฟ้านี่เป็นปัญหาเร่งด่วนนะ มันต้องได้รับการแก้ไขก่อน ถ้าจับทั้ง ๒ เรื่องไม่ไหว โดยเฉพาะเรื่องที่ดินมันเป็นอิทธิพลท้องถิ่นเราก็พอจะรู้อยู่ว่าใคร เพราะเราโตมาในชุมชนเราก็น่าจะรู้อะไรเห็นอะไรมาบ้าง เรื่องที่สาธารณะเอาให้จบโรงไฟฟ้าก่อนแล้วค่อยมาว่ากัน”

          “จริง ๆ มันเกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กัน ช่วงประท้วงโรงไฟฟ้าเรื่องออกโฉนดที่ดิน ๕๓ ไร่ยังไม่ได้ข่าว แต่ว่าปัญหาเรื่องการบุกรุกมีควบคู่กันมา มันเป็นกลุ่มคนที่มีอิทธิพลเชื่อมโยงกับเรื่องโรงไฟฟ้า คนที่มีอิทธิพลในพื้นที่ร่วมกัน ผลประโยชน์เกี่ยวพันกัน”

          แม้แต่หลังกรณีโรงไฟฟ้า กลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอกก็ยังไม่รีบรุกเรื่องนี้ จนกระทั่งมีการออกโฉนดที่ดิน ๕๓ ไร่

          “เรารู้ข่าวมาจากกำนันฉอยว่าจะมีการออกโฉนดอีก ๗ วัน ก็ปรึกษากันก่อน เจริญบอกว่ากำนันฉอยโทร.มาคุย ก็คุยกันว่าจะปล่อยให้ออกโฉนดกันก่อนจะได้ชัดเจน หนูบอกว่าขั้นตอนแค่นี้มันก็เอาคนติดคุกได้แล้ว ถ้าปล่อยให้เลยไปถึงขั้นนั้นแก้ไขยาก ถ้าไปคัดค้านให้เพิกถอนตอนนี้มันง่ายกว่าปล่อยให้ออกมาเป็นโฉนด สรุปก็คือทำเลย”

          ไม่ใช่ไม่รู้ว่ามีอันตราย “ความจริงก็คิด คือจับเรื่องนี้เราก็บอกกันว่าเล่นเรื่องนี้นะตายเร็ว คุยกันมาตั้งแต่แรก เพราะเรารู้ว่ากลุ่มที่มีอิทธิพลที่ผ่านมาเขาเป็นยังไงกัน เคยคุยกับเจริญว่าคนพวกนี้ไม่มีสมอง มันไม่คิดอะไรหรอกคนพวกนี้ คิดแต่จะได้ เรื่องอะไรที่เราคาดไม่ถึงมันก็ทำได้ทุกเรื่องแหละไอ้พวกนี้”

          “ก็ไม่รู้จะระวังยังไง เราก็คนทำมาหากิน เราเซฟตัวเองไม่ได้ จะอยู่กับที่ก็ไม่ได้ ไปไหนมาไหนอาวุธเราก็พกไม่ได้ แล้วคนจ้องจะทำกับคนที่ระวังมันเทียบกันไม่ได้ เจริญเองเขาก็ทำงานส่วนรวมหลายเรื่อง อย่างวิทยุชุมชนเขาก็ทำ อยู่กับที่ไม่ได้ ต้องเดินทาง เขาเป็นคนระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย การต่อสู้เราใช้เงินของเราตลอด ไปกรุงเทพฯ ทำไมต้องไปรถทัวร์ ปกติถ้าไปหลายคนคำนวณแล้วว่าค่าน้ำมันรถคุ้มกว่าจะไปนั่งรถทัวร์ก็เอารถไป แต่เดินทางคนเดียวสองคนไปรถทัวร์ดีกว่า ประหยัด”

          “ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราจะพูดกัน ถ้าตอนนี้ก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นมงคล–ก็พูดกันมาตลอด ช่วงเดือนที่แล้วก็ยังคุยกันอยู่ว่าจะบวชหลาน เป็นเจ้าภาพ หลาย ๆ คนก็บอกดีแล้วจะได้เก็บซองเอามาทำทุนกันบ้าง ที่ผ่านมามึงสองคนช่วยคนเยอะมาก ลูกมึงก็ไม่มีกัน มึงจะได้เก็บตรงนี้เอามาทำทุนต่อกัน ก็บอกว่าไม่เอาหรอก ตั้งใจแล้วว่าบวชไม่เก็บซองใคร เพราะเราบวชหลานไม่ใช่บวชลูก เอาหลานมาบวชแล้วมานั่งเก็บเงินก็เท่ากับเราหาเงิน มันเป็นกิจกรรมหาเงินไม่ใช่ความตั้งใจของเรา”

          “ก็ยังพูดเล่นในหมู่ญาติพี่น้องกัน ไม่เป็นไรหรอกเรื่องซองไม่ต้องรีบ เดี๋ยวไม่กูตายก็เจริญตาย เดี๋ยวเขาก็มาช่วยซองกันเอง พูดมาตลอดในช่วงที่ผ่านมาเนี่ย เจริญก็บอกถ้าข้าตายซองที่มาช่วยแกก็ตั้งมูลนิธิข้าก็แล้วกันนะ หนูยังพูดเล่นว่าตั้งทำห่าอะไรเป็นหนี้เขาเยอะแยะก็เอามาช่วยใช้หนี้สิ ถ้าแกตายข้าก็ลำบากสิ ก็พูดเล่นกันอย่างนี้”

          เรื่องที่พูดเล่นกันของผัวเมียใจเด็ดคู่นี้กลายเป็นจริง ซึ่งตอนนี้กระรอกบอกว่าคนที่รับรู้เจตนารมณ์ของเจริญก็จะช่วยกันตั้งมูลนิธิให้เขา มีการประชุมเบื้องต้นกันแล้ว และคงจะเอาทุนจากมูลนิธินี้ไปเคลื่อนไหวต่อ

          “ตอนอยู่ด้วยกันมาก็คุยกัน ถ้าข้าตายแกก็คงอยู่ได้ เพราะข้ารู้ว่าแกเข้มแข็ง รู้อุปนิสัยซึ่งกันและกัน

          ยังไงแกก็ต้องสานงานต่อ–แกอย่าทิ้งชาวบ้านนะ สืบสานภารกิจตรงนี้ให้สำเร็จลุล่วง–เขาก็พูดอยู่”

 

อำนาจทมิฬที่น่ากลัว

อย่างน้อยเราก็เชื่อว่าเธอคงสานต่อภารกิจของเจริญได้ เพราะผู้หญิงคนนี้เข้มแข็งจริง ๆ มีความเด็ดเดี่ยวภายใต้ความเป็นผู้หญิงชาวบ้านธรรมดากล้าตัดสินใจและมีไหวพริบ อย่างที่เธอเล่าว่าครั้งหนึ่งเจริญเคยถูกข่มขู่ เธอก็ไปตามสืบเองจนรู้ว่าเป็นใคร

          “ช่วงนั้นมีครั้งหนึ่งเราไปเคลื่อนขบวนที่จังหวัด เสร็จเราก็กลับบ้าน เป็นขบวนชาวบ้านกลับมา ระหว่างทางก็มีโทรศัพท์เข้ามาขู่เจริญ–พวกมึงไปด่านายกูทำไม ก็ออกชื่อ นายสุรเกียรติ เพ็ชรศรี ซึ่งเป็นผู้จัดการโรงไฟฟ้า แล้วก็บอกว่าระวังตัวให้ดีกูจะฆ่าพวกมึง กูรู้นะพวกมึงอยู่กันในวัด ทำนองนี้–เจริญก็บอกให้หนูฟัง หนูก็บอกมันตรวจสอบได้ว่าเป็นใคร เจริญเขาก็ล็อกเบอร์ ไปแจ้งความว่าถูกขู่ฆ่า ความจริงวันนั้นมีรถตำรวจอำนวยความสะดวกให้เราพอมีการขู่ รถตำรวจก็ยังนำขบวนเรากลับไปแจ้ง ตอนแจ้งความถามเจ้าหน้าที่ว่าจะติดตามเรื่องได้เมื่อไหร่ เราก็พอจะมีความรู้อยู่ว่าเบอร์มันพอจะเช็กได้ เจ้าหน้าที่ก็เออ อา เออ–อ้างกฎระเบียบ พูดจนเรารู้สึกรำคาญ นึกในใจยังไงกูพึ่งมึงไม่ได้แน่ ไม่เป็นไรเดี๋ยวจัดการเอง”

          “ชวนเจริญไปที่เทเลวิซ ไปเสียเงินสิรู้อยู่แล้วว่าเบอร์อะไร เจริญบอกเสียดายเงิน ความที่เขาประหยัด เราก็แหม แกนี่ประหยัดเรื่องไม่เข้าเรื่อง แกไม่อยากรู้แต่ข้าอยากรู้ แกไปส่งข้าหน่อยเดี๋ยวข้าจัดการเอง ก็เข้าไปฟอร์มเสียค่าโทรศัพท์ของตัวเอง แล้วบอกว่าพอดีเพื่อนกันฝากมาเสียเบอร์นี้ จำชื่อจริงนามสกุลจริงไม่ได้รู้แต่ชื่อเล่นจำเบอร์เขาได้ เขาก็คงเชื่อเราปรินท์ใบเสร็จออกมาให้ ประมาณ ๑,๖๐๐ เป็นน้องอดีต ส.จ.ทศจริง ๆ เขาทำงานให้โรงไฟฟ้า ชื่อ นามสกุล พอเห็นปุ๊บก็รู้เลยว่าน้องอดีต ส.จ.ทศ ก็กลับไปโรงพัก–เนี่ย ได้ชื่อแล้ว ตำรวจก็พูดแบบเก้อ ๆ เก่งนะ อะไรอย่างนี้ ถามเขาว่าแล้วจะรู้เรื่องได้เมื่อไหร่ หายไปหลายวันเจริญเล่าให้ฟังว่าร้อยเวรโทร.มาบอกว่าเรียกน้องอดีต ส.จ.ทศไปแล้วยอมรับสารภาพ เปรียบเทียบปรับไปแล้ว ๕๐๐ บาท เราก็ตกใจร้อง–หะ เจริญมันขู่ฆ่าพวกเราเนี่ยนะโดนปรับ ๕๐๐ บาท เราเสียไปตั้ง ๑,๖๐๐ มันคุ้มกันมากเลยนะ จริง ๆ เรื่องนี้มันต้องถึงศาล คดีขู่ฆ่า เราก็พูดกับเจริญแต่ไม่ได้ใส่ใจจะไปติดตามเรื่อง”

          อดีต ส.จ.ทศ เป็นอดีต ส.จ.รุ่นเก่าแล้ว แต่ใคร ๆ ก็รู้จัก โรงไฟฟ้าก็รู้จักจึงดึงไปร่วมงานด้วย ช่วงนั้นมีชาวบ้านหลายรายแจ้งความว่าถูกข่มขู่คุกคามโดยคนของอดีต ส.จ.ทศ

          “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขบวนการเราเยอะมาก แต่ถามว่ามีความคืบหน้าอะไรไหม แทบจะไม่มีอะไรคืบหน้าเลย เหมือนวันนั้นที่สื่อมวลชนถามว่าไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่เหรอถึงเอาเจริญไปที่โน่น เลยบอกว่าเรามีบทเรียนหลาย ๆ เรื่องในช่วงที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ในส่วนท้องถิ่นเขาทำงานให้เรายังไง เราจึงต้องไปหาความช่วยเหลือจากที่อื่น คือไม่รู้ว่าเป็นเพราะตัวเขาไม่ใส่ใจงานด้วยตัวเขาเอง หรือเขาโดนอะไรบีบลงมาหรือเปล่า”

          แน่นอนเธอมองเหมือนทุกคนว่าถ้าไม่ใช่อิทธิพลใหญ่ก็คงไม่สามารถออกโฉนด ๕๓ ไร่ทับที่ดินสาธารณะ

          “เอาง่าย ๆ นะ เราชาวบ้านไปติดต่อ สมมติมี สค.๑ แค่ไร่เดียว ไปหาที่ดินว่าเราจะออกโฉนด สมมติที่เราไม่ได้ไปทับซ้อนที่หลวง แค่อยู่ใกล้เคียงกับป่าชายเลน จะได้รับการปฏิเสธทันทีว่าไม่ได้ ติดป่าชายเลน ถามว่าที่ตรงนี้ สค.๑ แค่ ๖ ไร่ ออกเป็นโฉนด ๕๓ ไร่ มันเลยเถิดกันไปถึงไหน แล้วมันบ่งบอกถึงอะไร–ถึงการฉ้อฉล การร่วมมือของเจ้าหน้าที่รัฐ กลไกรัฐ กลุ่มนายทุน เรามองด้วยตัวเราเองว่า ถามว่าที่ ๕๓ ไร่ที่เกินมาถึงจะไม่ทับที่หลวง สมมติ สค.ตรงนี้ถูกต้องตามกฎหมาย ที่บอกว่าคนสมัยก่อนแจ้งเรื่องครอบครองสิทธิ์กลัวเรื่องภาษีก็ไม่ใช่ว่าหัวไร่ปลายนาจะเกินกันขนาดนี้ ๖ ไร่อย่างมากหัวไร่ปลายนาก็เพิ่มมาเป็นสัก ๑๐ ไร่”

          “ขั้นตอนของเขาที่เราไปคัดค้านมันเลยเถิดขนาดว่าจะแจกโฉนดแล้ว มันบ่งบอกถึงอะไร แสดงว่าขบวนการของมันไม่ธรรมดา ไม่ใช่แค่ว่านายทุนคนหนึ่งมีเงินมหาศาลแล้วจะเข้าไปทำด้วยตัวเขาเองได้ มันบ่งบอกถึงความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ของรัฐหลาย ๆ ส่วน อย่างเจ้าพนักงานที่ดินที่เขามีอำนาจในการเซ็น ที่ ๕๓ ไร่ เขารู้อยู่เต็มอกเพราะเอกสารสิทธิ์ นสล.มันอยู่กับเขา ก่อนหน้าจะมาถึงขั้นตอนนี้ก็มีการรังวัด กำนันเขาก็ค้าน ตัวหนูเองก็เห็นบันทึกถ้อยคำที่แนบระหว่างมารังวัดว่ากำนันไม่ยอมชี้เขต บันทึกต่อว่ากำนันบอกว่าเท่าที่รู้มาเป็นที่สาธารณะ เอกสารตัวนี้ก็แนบไปด้วย แล้วถามว่าที่ดินจังหวัดเขาไม่อ่านตรงนี้เหรอ แสดงว่ามันเตรียมพร้อมไว้ทุกอย่างแล้ว ถามว่าที่ ๕๓ ไร่

          เจ้าพนักงานที่ดินถ้าเทียบแล้วเขาก็ไม่ได้ใหญ่โตอะไรมากมาย ถ้าไม่มีระดับผู้ใหญ่กว่าเขาออกคำสั่ง

          ประเมินได้เลยว่าเขาก็ไม่กล้าเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงตรงนี้ ให้ได้เป็น ๑๐๐ ล้านก็ไม่กล้าเสี่ยง เขารู้อยู่แล้วว่าเป็นเรื่องต้องติดคุก ถ้าเขาไม่มั่นใจว่าขบวนการนี้เขาปลอดภัย ต้องมีคนมารับรองเขาเขาถึงกล้าทำ”

          เธอยืนยันว่านี่เป็นเรื่องที่ต้องเรียกร้องให้เอาผิดทุกคนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการนี้ “ถึงเจริญจะไม่เสียชีวิตความตั้งใจของเราก็มีอยู่แล้ว เราไม่ต้องการว่าคุณถอนโฉนดจบ ไม่ใช่ ขั้นตอนนี้คุณสามารถเอาผิดได้ทั้งขบวน แล้วเรื่องนี้มันเกิดในประเทศไทยตั้งหลายแห่ง ทำไมถึงปล่อยให้เกิดครั้งแล้วครั้งเล่า ก็มีความตั้งใจว่าให้มันยุติตรงนี้เป็นบทเรียนเป็นบรรทัดฐานของคนพวกนี้ ให้ขบวนชั่วร้ายมันหยุดตรงนี้เป็นที่สุดท้าย เพราะกี่ที่ ๆ คัดค้านก็เพิกถอนแล้วจบ ไม่ได้สาวถึงอะไร”

          ถามว่ามั่นใจจะจับคนร้ายได้ไหม กระรอกตอบอย่างน่าฟัง

          “ตลอดเวลาก็จะมีคนตั้งคำถามอย่างนี้กับเรา คือยังไม่มีความคิดว่าจะมีความหวังตรงนั้น แต่ว่ามีความหวังว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ มีความตั้งใจจริงพยายามทำงานให้เรามากแค่ไหน แล้วความหวังว่าจะจับผู้ร้ายได้ไหมถึงจะตามมาได้ เราจะไปหวังตรงนั้นไม่ได้ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่มีความหวังให้เราว่าเขาปฏิบัติงานจริงเขาตั้งใจทำงานจริง”

          เธอบอกว่าการที่นายกรัฐมนตรีขึงขังจริงจังก็ดูมีความหวังขึ้นบ้าง “อาจจะมีความหวัง เห็นว่าเขามีความตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่ก็มีความหวังขึ้นมาบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ว่า ๑๐๐% ต้องติดตามดูด้วยว่ามันเป็นแพะหรือเปล่า คือตลอดเวลาเจ้าหน้าที่จะมาจี้ถามเราว่าเป็นใคร คือบอกตรง ๆ เลยว่าไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นใคร ถ้าเราบอกว่าเป็นนาย ก. นาย ข. ถ้ามันไม่ใช่ เราก็รู้อยู่ประเทศไทยก็จับแพะกันอยู่”

          “ถ้าจับไม่ได้มันก็เป็นการประจานผลงานของเจ้าหน้าที่ เพราะเห็นมากันแทบจะหมดกรมตำรวจแล้วถ้ายังทำไม่ได้ก็คงบ่งบอกถึงอะไร”

          อย่างไรก็ดี กระรอกเกรงว่าอาจมีการตัดตอนไม่ให้ถึงผู้บงการ และถึงอย่างไรการต่อสู้ระหว่างชาวบ้านกับผู้มีอิทธิพลก็ต้องมีต่อไป

          “ยังไงหนูก็ไม่ยอม หนูยืนยันได้เลยว่าหนูจะเดินหน้าต่อ”

          แต่ไม่มีเจริญแล้วจะต่อสู้ไหวไหม “ต้องไหว ถ้าเกิดจะมีการสูญเสียตามขึ้นมาอีกก็สู้ ต้องสู้ให้ถึงที่สุด”

          เธอบอกว่าชาวบ้านก็สงสาร อาจจะมีบ้างบางคนที่กลัว แต่เชื่อว่าไม่มีผลต่อทั้งขบวน

          “ดูง่าย ๆ จากการที่เจริญตาย พอหนูประกาศว่าจะต้องเรียกร้อง จะไปส่วนกลาง ไม่เรียกร้องพี่น้อง แต่ถ้าใครอยากจะไปร่วมก็ไป ถ้าไม่มีใคร คนเดียวฉันก็ไป สรุปแล้วพอสว่างชาวบ้านก็มา ที่เข้ากรุงเทพฯ ได้แค่นั้นคือเราติดต่อรถได้แค่นั้น แล้วมันก็สายมากแล้ว ก็เลยบอกว่าที่เหลือก็คอยในพื้นที่เราจะไปกันแค่นี้ก่อน ชาวบ้านพอรู้ข่าวก็ไปกระจายข่าว กระรอกมันจะไปกรุงเทพฯ นะ”

          เธอตัดสินใจทันทีในคืนนั้นหลังจากเจริญเสียชีวิต

          “ระหว่างรอเจ้าหน้าที่ชันสูตรเรามองเห็นการทำงานของเจ้าหน้าที่ ยืนมองอยู่แต่ไม่พูดอะไร การชันสูตรศพเนี่ยถามว่ามันเป็นคดีความขนาดนี้ทำไมไม่เสนอเราว่าศพคุณเจริญต้องส่งนิติเวชนะ ผ่าพิสูจน์วิถีกระสุน เราไม่จบกฎหมายเรายังรู้เลย ก็บอกเขาว่าจะเอาศพกลับบ้านคืนนี้ขอให้ทำให้เสร็จ เขาก็ถ่ายรูปแล้วก็ยืนมอง ถามเจ้าหน้าที่อาบน้ำศพโดนตรงไหนบ้าง กี่รู อะไรอย่างนี้ ทำงานแบบซังกะตาย เรามองแล้วมันไม่ผ่านสำหรับเรา ในการทำงานตรงนี้เรามีเซนส์สัมผัสได้ เราเจอมาเยอะ เราก็กลับมาที่วัดก็ตัดสินใจเลยว่าเราต้องดำเนินการให้มากกว่านี้”

          อย่างไรก็ดีที่บอกว่าจะเอาไปเผาหน้าทำเนียบฯ นั้นเป็นคำพูดที่ออกมาจากความรู้สึกเท่านั้น

          “ถ้าคนอื่นเป็นตัวหนูก็คงมีความรู้สึกไม่แตกต่าง มันเกิดการสูญเสีย อยากจะหาอะไรที่มันมาทดแทนให้มันสมค่า แต่จริง ๆ ก็คงไม่สามารถทำอะไรได้ตามอำเภอใจ ยังไงก็ต้องเอาเรื่องนี้ปรึกษาหารือกับชาวบ้าน เพราะที่ผ่านมาเราต้องยึดมติชาวบ้าน”

 

ส่วนตัวเพื่อส่วนรวม

ถามว่าจะเอาศพไว้กี่วัน พระครูบอกว่าต้องถามชาวบ้าน “เหมือนศพสาธารณะ เราจะมาตัดสินใจว่าเออ ๗ วันต้องเผานะ ไม่ใช่ เดี๋ยวชาวบ้านเขาจะคุยกันว่าจะเอายังไง เราไม่ได้เข้าไปตัดสินใจอะไรเลย”

          ต่อมาเมื่อถามกระรอก เธอบอกว่ามีการหารือกันเบื้องต้นแล้วจะสวดศพ ๑๕ วัน แล้วก็ตั้งศพไว้โดยสวดทุกอาทิตย์ อาทิตย์ละครั้ง เพื่อให้ชาวบ้านได้พักทำมาหากินบ้าง เพราะตอนนี้ทุกคนก็มาช่วยงานจนไม่ได้ไปไหน

          เบื้องหลังการต่อสู้ที่ต่อเนื่องมาเกือบ ๑๐ ปี คนข้างนอกไม่ได้รับรู้ว่า เจริญ กระรอก และแกนนำคนอื่น ๆ ต้องเสียสละมากเพียงไหน นอกจากจะไม่ได้ทำมาหากินเพราะต้องทำกิจกรรมการเคลื่อนไหวแล้ว หลาย ๆ เรื่องก็ต้องควักกระเป๋าตัวเองออกมาใช้จ่ายด้วย

          ก่อนจะเข้ามาเป็นแกนนำ เจริญกับกระรอกทำไร่สนและไร่ว่านหางจระเข้อยู่ในที่ดิน ๗๐ ไร่ของพ่อกระรอกซึ่งเป็นอดีตกำนัน นอกจากนั้นก็เลี้ยงไก่พันธุ์เนื้อและรับซื้อพืชไร่ โดยมีภาระหนี้สินอยู่ก่อนแล้วเพราะเอาที่ดินไปเข้าธนาคารกู้เงินมาทำทุน

          แต่พอเคลื่อนไหวจนไม่มีเวลาทำมาหากิน ที่ดินก็ถูกยึดไป ๒๙ ไร่–บ้านไร่ที่เคยถูกผู้ประสงค์ร้ายลอบเผานั่นเอง นอกจากนี้ยังมีที่ดินของพ่อเจริญที่เกาะหลัก ก็โดนยึดไปอีกแปลงหนึ่ง

          หลังโรงไฟฟ้าถอยไป เจริญกับกระรอกก็ไปทำร้านอาหารและที่พักริมทะเล บนที่ดินของพ่อเธอ จุดนี้คนที่ไปพักจะเห็นปลาวาฬลอยตัวขึ้นมาในทะเล ซึ่งเคยเป็นปราฏการณ์ที่ฮือฮาเมื่อปี ๒๕๔๔ จึงมีคนตั้งชื่อให้ว่า “ครัวชมวาฬ”

          “รายได้โดยรวมก็ถือว่าอยู่ได้ ไม่ได้เน้นเรื่องธุรกิจ สมมติบ้านหลังละ ๕๐๐ เจอเพื่อนกันก็ ๒๐๐ นอนฟรี ลักษณะอย่างนี้ตลอด”

          ปัจจุบันนี้ปลาวาฬก็ยังมีให้เห็น “แต่ช่วงหลังมีเรือคราดหอย เขาถูกรบกวนเลยไม่ค่อยได้เห็น ยังเห็นอยู่แต่ไม่ถี่เหมือนเมื่อก่อน โดยเฉพาะปี ๒๕๔๔ เหมือนเขาตั้งใจมาให้เห็น ที่จริงก่อนนั้นเขาก็อยู่มาก่อนแต่ไม่ถี่ ทุกคนบอกเขามาช่วยเรา”

          ธุรกิจนี้เป็นทุนที่ช่วยการเคลื่อนไหวในระยะหลัง แต่เจริญก็ใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ประหยัด เข้ากรุงเทพฯ ถ้าไปคนเดียวสองคนคำนวณแล้วไม่คุ้มก็ไม่เอารถไป จนมาถูกยิงเมื่อลงจากรถทัวร์หลังไปร้องเรียนต่อกรรมาธิการ

          “ตอนเช้ามีเงินอยู่ ๒ หมื่น เจริญเขาจะเป็นคนไม่พกเงิน ไม่เก็บเงิน เวลาเขาจะไปไหนทีหนูจะเป็นคนให้เขา ไปใกล้ก็ติดตัวไปพันหนึ่ง คือประหยัด ล่าสุดเขาจะไปกรุงเทพฯ ก็บอกเจริญว่าวันนี้มีเงินอยู่ ๒ หมื่นนะ เจริญเอาไป ๒,๕๐๐ นะ ที่เหลือจะไปเคลียร์ค่าของ แล้วก็จะไปใช้หนี้เขาบางส่วน เจริญก็บอกเฮ้ยให้ทำไมตั้งเยอะ พันเดียวก็พอ หนูก็บอกไม่เป็นไรหรอกเผื่อมีธุระต้องทำ ถ้าไม่ได้ใช้แกก็เอากลับมาคืนข้า ปกติสนิทกันก็จะพูดแกพูดข้า แล้วแต่ว่าอารมณ์ไหน ที่เขากลับมา... (อึ้งไปนิดหนึ่ง) ที่เขาค้นตัวก็เหลือเงินกลับมา ๒ พันกว่าบาท ก็แทบจะเสียแค่ค่ารถอย่างเดียว ไม่ได้ไปใช้จ่ายอย่างอื่น”

          เงินของกลุ่มก็มีแต่ไม่มากนัก “ช่วงหลังก็จะมีเงินอยู่ก้อนหนึ่ง คือเรามาระดมทุนกัน ใช้จ่าย ตอนนี้ก็เหลือ ๓ หมื่นกว่าบาท ในเรื่องกิจกรรมของกลุ่ม เราก็จะมีงานมวลชนของเรา สมมติใครตายเราก็จะไปร่วมเป็นเจ้าภาพในนามของกลุ่ม แล้วแต่ว่าใครจะช่วย แต่ที่ผ่านมามันไม่เพียงพอหรอก ชาวบ้านก็รับรู้ว่าไม่เพียงพอ ภาระอยู่กับเรา อย่างร้านค้าขายเครื่องสังฆทาน ก็โทร.สั่ง จะบอกกับเขา ถ้าผมสั่งหรือกระรอกสั่งของถวายพระ พวงหรีด ก็จัดให้ แล้วลงบัญชีไว้นะ พอผมมีเงินหรือกระรอกมีเงินจะมาเคลียร์”

          ไม่ใช่แค่เจริญคนเดียวที่ประสบปัญหา พระกบเล่าว่าแกนนำแทบทุกคนก็เป็นอย่างนี้ อย่างเช่น “โจ” จารึก หอมจันทร์ ก็มาช่วยงานส่วนรวมจนครอบครัวมีปัญหา

          “โจเขาคนไม่มีเงิน แย่กว่าผมอีก เดิมเขารับจ้าง หนี้สินที่เคยเป็นหนี้ ธ.ก.ส.ไม่กี่หมื่น พอมาทำงานตรงนี้ครอบครัวก็กระจัดกระจาย ที่ของเมียก็ใกล้โดนยึด ไม่มีเวลาทำงาน ช่วงค้านโรงไฟฟ้าใกล้จะสำเร็จ กิจกรรมเราทำถี่มาก แทบไม่มีเวลาทำมาหากิน แกนนำต้องวางแผนกันทุกวัน ผมก็อ้างกับแฟนผมว่าเราเป็น อบต. เรารับเงินเดือนชาวบ้านเดือนละ ๔ พันบาท จะให้มาเอางานบ้านเป็นหลักผมไม่เอา เพราะฉะนั้นจะมาเอาผมเป็นตัวหลักในครอบครัวไม่ได้”

          “ผมยังดีแฟนยังค้าขายเก่ง โจเขาฐานะพื้นฐานไม่ดีอยู่แล้ว ทำไร่ก็ขาดทุน” พระกบซึ่งเป็นเจ้าของร้านชำบอกว่าปัจจุบันโจต้องไปเป็นเด็กรถสายระนอง–กรุงเทพฯ แต่ก็ยังช่วยงานอยู่เสมอ เช่น มีธุระที่กรุงเทพฯ ต้องไปประชุมหรือไปงานเรื่องอะไร ถ้าโจอยู่กรุงเทพฯ เจริญก็จะให้โจไปแทน แต่ถ้าโจอยู่ระนอง เจริญก็จะไปเอง “ถ้ามาเมื่อคืนจะเห็นแกอ่านกลอนให้เจริญ แกชอบแต่งกลอน–หัวใจ เรื่องกลอน คำคม คำพูดที่เขาเขียนเป็นคำพูดที่เจริญพูดกับผมตลอด เจริญเป็นคนที่ไม่ทิ้งเพื่อน เรารู้ใจกัน คนเราจะรู้ใจกันตอนลำบาก”

          ที่จริงเจริญกับกระรอกไม่ได้แต่งงานกัน แต่อยู่ด้วยกันด้วยใจ มีคนบอกว่าหลังจบเรื่องโรงไฟฟ้าชาวบ้านจะจัดพิธีแต่งงานให้ทั้งคู่เป็นการฉลอง แต่ก็ไม่ได้แต่งในที่สุด

          “จริง ๆ แล้วเรื่องแต่งงานมันเป็นความคิดเห็นตรงกันมาตั้งแต่แรกว่าไม่ต้องการจะมีพิธี” กระรอกบอก “แต่พอดีพี่ ๆ น้อง ๆ เขาก็บอกเดี๋ยวถือโอกาสฉลองกัน บางคนเขาเป็นช่างตัดเสื้อเขาก็แซว–เฮ้ย เมื่อไหร่จะได้ตัดชุดให้ เราก็จะยิ้มตลอด แต่คงไม่ทำ มันไม่ได้อยู่ในความตั้งใจของเรา แต่ชาวบ้านเขามีความตั้งใจอยากให้เกิดตรงนี้”....

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :