ผ้าป่าสามัคคีแบบไทย ๆ จะเกิดขึ้นแต่ครั้งไหน โดยวิธีใด หรือใครเป็นคนริเริ่ม... ไม่ใช่ประเด็น และไม่เป็นปัญหาทางวิชาการ จน นักวิชาเกิน ต้องลงทุนลงแรง วิจัย หาคำตอบ (ขออภัยไว้ ณ โอกาสนี้ หากเคยมีใครวิจัย หรือทำวิทยานิพนธ์, สารนิพนธ์ ประเด็นนี้ไว้ แต่ผู้เขียนไม่ทราบ...และบังเอิญไม่อยากทราบฮา ! !)
แต่ถึงบัดนี้ สำหรับ คนชั้นกลาง คำว่า ผ้าป่า กลายเป็น คำหยาบ (นัยว่าไม่น่าฟัง ไม่น่าพูดถึง) ไปเรียบร้อยแล้ว
ส่วนคำว่า ซองผ้าป่า นั้นถึงขนาด หยาบมาก หรือ หยาบที่สุด ชนิด ฟังไม่ได้..ไม่เอา..ไม่พูดดดด (ยกมือปิดหู หลับตาปี๋ หย่อนตัวลงนั่งยอง ๆ พลางส่ายหน้าส่ายหัว..ผมกระจายยย
)
ถ้าใครสักคนบอกเพื่อนในออฟฟิศชั้นยี่สิบกว่าบนอาคารริมถนนสีลม ว่าลองวีคเอนด์นี้จะไปเที่ยวกับคณะทอดผ้าป่าที่วัดบ้านโคกอีโด่ย เพื่อนร่วมสนทนาอาจเบิกตาโพลง เศษแฮมเบอร์เกอร์ที่กำลังเคี้ยวร่วงจากปาก
หรือไม่งั้นก็เหลือบมองเหยียดด้วยหางตา ค่าที่มัน นอกเทรนด์ ขนาดหนัก
คล้ายกับว่า ณ พ.ศ.นี้ สำหรับ คนรุ่นใหม่คนชั้นกลาง จำนวนมาก ผ้าป่า เป็นเรื่อง หลังเขา นอกวงการต่างวิถีชีวิต เอาเสียเหลือเกิน
หลายคนคงบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า แท้ที่จริงแล้วก็ไม่ถึงกับรังเกียจรังงอนอะไรนักดอก โทนเสียงมันออกไปในทางเบื่อหน่ายเสียมากกว่า ประมาณว่า โดนบ่อยอ่ะ..เดือนนี้แปดซองแล้วอ่ะ อะไรทำนองนั้น
ดูเหมือนคำว่า ทำบุญ หรือ ร่วมทำบุญ จะถูกภาพของการ บังคับขืนใจ ด้วยวิธี ยื่นซองไปตรงหน้า สบตานิ่ง พยักหน้าน้อย ๆ กลบทับไปเสียหมด
ขณะเดียวกัน ภาพของการ ร่วมแรงร่วมใจร่วมลงขันร่วมสามัคคี (ในงานบุญแบบไทย ๆ) ดูจะไม่มีอยู่ในพจนานุกรมของ คนชั้นกลางคนรุ่นใหม่ อีกต่อไปแล้ว เหลืออยู่แต่ อเมริกันแชร์ (ซึ่งแม้จะจ่ายเท่ากันแต่คิดดี ๆ ก็ไม่ แฟร์ เท่าไหร่) ผุดขึ้นมาแทนที่
บางคนบอกว่า น่าจะเป็นเพราะคนรุ่นใหม่ต้องการ การมีส่วนร่วม เมื่อตนไม่ได้ ร่วมคิด ตั้งแต่ต้น แต่มาถูกบีบทางอ้อมให้ ร่วมทำบุญ จึงรู้สึกอึดอัดขัดข้อง ด้วยความ เกรงใจ แบบไทย ๆ ที่ยังตกค้างอยู่ในดีเอ็นเอ
ขณะเดียวกัน ผู้สันทัดกรณี บางคน ก็วิพากษ์ว่า เป็นเพราะ คนรุ่นใหม่ มีความเป็นปัจเจกสูง ขาดจิตสาธารณะ ไร้สำนึกของการรวมหมู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรวมหมู่ ที่ไกลหูไกลตา นอกรัศมีของครอบครัว คนรัก หรือเพื่อนร่วมงาน
ว่าง่าย ๆ ก็คือ อะไรที่ไม่เกี่ยวกะกู กูไม่ยุ่ง.. ว่างั้นเถอะ ผู้สอดรู้สอดเห็นอีกท่านหนึ่งสอดขึ้นเบา ๆ
จะอย่างไรก็แล้วแต่ เมื่อเหลียวมองให้ถ้วนทั่ว ก็พบเห็นได้ไม่ยาก ว่ามี ประโยชน์สาธารณะ ที่เกิดขึ้นได้ด้วย วิธีระดมทุนระดมบุญแบบไทย ๆ ที่เรียกว่า ผ้าป่า อยู่เป็นจำนวนมาก ไม่นับโบสถ์วิหารศาลาการเปรียญ ก็ยังมีอาคารเรียน ตึกผู้ป่วยในโรงพยาบาล ศาลาอเนกประสงค์ประจำท้องถิ่น หรือกระทั่งเครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์การศึกษา ตลอดจนทุนการศึกษาของนักเรียนนักศึกษาผู้ด้อยโอกาสฯลฯ
หากนับวัน คนรุ่นใหม่ ทั้งหลายพากันรังเกียจรังงอน วิธีการ เช่น ผ้าป่าสามัคคี ไปเสียแล้ว จะมีวิธีการใดบ้างเล่า ที่จะรองรับ การระดมทุน เพื่อ ประโยชน์สาธารณะ อันเกิดจาก จิตสำนึกร่วม ชนิดที่ไม่ต้องรอ ภาครัฐ หรือผู้มีอำนาจเข้ามาบงการ
ไม่ต้องอิงพิธีกรรมศาสนาก็ได้ โพสต์โมเดิร์น ทั้งหลายช่วยออกเสียงที...