เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๖๐
เมษายน - มิถุนายน ๒๕๔๗

บทความหลัก
พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ลำน้ำโขง : ศรัทธา คุณค่า และความทรงจำ น.๕๗

ไปด้วยธรรม,, ธรรมยาตรา

 

หลายปีก่อน “ธรรมยาตรา” เกิดขึ้นในประเทศไทยด้วยความ “แปลก” ทั้ง ชื่อ รูปแบบ และวิธีการ มิพักจะต้องกล่าวถึง เนื้อหา สาระ และเป้าหมาย ที่ดูจะยิ่ง “แปลกแยก” และ “แตกต่าง” จากวิถีของชาวพุทธไทยในกระแสหลัก จนมักเป็นเหตุให้ “ขัดหูขัดตา” อยู่เสมอ เมื่อได้รับรู้จากข่าว ได้พบเห็น หรือบังเอิญได้มีส่วนร่วม…

          ภาพที่บรรพชิตและคฤหัสถ์ ซึ่งส่วนใหญ่มิใช่คนท้องถิ่น (มิหนำซ้ำ ส่วนหนึ่งยังเป็นคนต่างชาติ – ต่างภาษา แต่งเนื้อแต่งตัวไม่กลมกลืนกับ “ชาวบ้านทั่วไป”) จำนวนหลายสิบหรือนับร้อย ๆ คน เดินเรียงแถวไปด้วยกิริยาสงบดั่งกับ กำลังภาวนา บ้างถือธง ถือป้ายผ้า และบ้างก็ตีกลอง ดูราวเป็นขบวนมนุษย์ประหลาด ที่พลัดหลงผ่านเข้ามาในชุมชน

          ยิ่งเมื่อถึงยามค่ำ แทนที่นักเดินทั้งคณะ ซึ่งมักพักค้างคืนกันตามวัดหรือโรงเรียน จะรีบพักผ่อนนอนหลับ ก็กลับเชิญชวนผู้คนในชุมชนใกล้ไกล มาร่วมประกอบพิธีกรรม ทั้งทำวัตรสวดมนต์ ฟังเทศน์ฟังธรรม และร่วมกันทำสมาธิภาวนา กระทั่งชักชวนให้แบ่งกลุ่มย่อย ๆ ตั้งวงพูดคุยสอบถามแลกเปลี่ยน เกี่ยวกับวิถีชีวิต – วิถีชุมชน ตลอดจนจนปัญหาและทางออก ภายใต้สิ่งที่ “นักเดิน” เหล่านั้นเรียกกันว่า “หลักศาสนธรรม”

          อย่างไรก็ตาม แม้คนต่างถิ่นเหล่านี้จะแปลกแยกและแตกต่างในวิธีคิด วิถีชีวิต และวิธีปฏิบัติตัว – ปฏิบัติธรรม แต่แล้ว ความเป็นคนชนบทที่มากน้ำใจไมตรี ก็ทำให้ “ชาวบ้าน” ไม่ว่าจะเป็นพุทธหรือมุสลิม ในชุมชนรอบทะเลสาบสงขลา ต้อนรับขับสู้ “คณะธรรมยาตรา” ด้วยความร่วมมือ น้ำใจ รอยยิ้ม และข้าวปลาอาหารอย่างล้นเหลือในแทบทุกที่ ไม่ว่าจะมีการประสานงานกันมาก่อนล่วงหน้าหรือไม่ก็ตาม

          ต่อเมื่อร่วมกิจกรรมไปสักระยะ ตั้งวงคุยกันไปช่วงเวลาหนึ่ง “ระยะห่าง” ระหว่างผู้ร่วมคณะกับชาวบ้านก็แทบมิได้เหลืออยู่ สังเกตได้จากถ้อยคำที่พรั่งพรู และท่าทีที่ห่วงหาอาทร อย่างมิได้มีผลประโยชน์ใด ๆ แอบแฝง

          ยิ่งเมื่อขบวนธรรมยาตราผ่านมาเป็นคำรบที่ ๒ คำถามอันเนื่องด้วย นิยามและความหมาย ตลอดจนวัตถุประสงค์ ของ “ธรรมยาตรา” ก็แทบมิได้ออกจากปากของชาวบ้านร้านถิ่นในชุมชนอีกต่อไป

          น่าประหลาดก็ตรงที่ว่า “หน่วยงาน” และ “คน” ของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างหาก ที่กลับยังมีคำถามเหล่านั้นต่อเนื่องกันมาอีกหลายปี

          ดูเหมือนว่า กระบวนการเรียนรู้เชิงประจักษ์ โดยเอาตัวผู้เรียนผ่านเข้าไปเผชิญหน้ากับปัญหาในสถานการณ์จริง ด้วยความมีสติ ปัญญา สัมปชัญญะ และสมาธิ ตลอดจนร่วมแลกเปลี่ยนและเรียนรู้กับกัลยาณมิตร อย่างมิได้มีธงนำคำตอบไว้ล่วงหน้า ภายใต้กรอบคิดทางศาสนานั้น จะเป็นที่เข้าใจของผู้ร่วมเดินและชาวบ้านได้มากมาย กว้างขวาง และลึกซึ้ง ยิ่งกว่าผู้เกี่ยวข้องหรือมีหน้าที่รับผิดชอบ เช่น ข้าราชการ นักการศาสนา นักวิชาการ หรือนักพัฒนาเอกชน อันเป็น “คนชั้นกลาง” ในสังคมทุนนิยมบริโภค (แบบไทย ๆ) อย่างชัดเจนยิ่งนัก

          คล้ายกับว่า ด้วยวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนชาวนา และชาวประมง รอบ ๆ ทะเลสาบ การเผชิญหน้ากับ “ความจริง” แล้วหาข้อสรุป ข้อยุติ หรือทางออก เป็นเรื่องคุ้นเคย และเข้าใจได้ ยิ่งกว่าหรือง่ายกว่า ผู้ผ่านระบบการศึกษา “ไม่ติดดิน” ที่นับวันจะพากันลดทอนความจริงลงเหลือเพียงสัญลักษณ์ และดำเนินชีวิตภายใต้กรอบโครงสร้างที่ตนไม่มีส่วนร่วม

          ทั้งยังนิยมใช้ชีวิตแบบ “พิธีกรรม” ซึ่งมักมีเพียงรูปแบบ หากปราศจากเนื้อหาสาระเอาเลยก็ว่าได้

          ดังนั้น ไม่นานนัก “ธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลา” ก็ได้กลายเป็นกิจกรรมทางศาสนาของชาวบ้าน ในเส้นทางที่คณะฯ เดินผ่านไปอีกกิจกรรมหนึ่ง นอกเหนือจากที่เคยมีมาแต่อดีต

          หากยังมี “เครื่องหมายคำถาม” จากผู้มีสถานะทางสังคมสูงกว่าชาวบ้านอยู่นั่นเอง

          ถึงบัดนี้…แม้ธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลาจะจัดขึ้นเป็นปีที่ ๘ อีกทั้งยังมีคำว่า “ธรรมยาตรา” นำหน้ากิจกรรม “เดินเพื่อรณรงค์” “เดินเพื่อเรียนรู้” “เดินเพื่อต่อสู้ – เรียกร้อง” ฯลฯ ในประเทศไทยอีกหลายแหล่งแห่งที่แล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนว่า “สถานะ” ของธรรมยาตรา ก็มิได้ถูกจัดวางไว้เป็น “การศึกษาและปฏิบัติธรรม” แต่อย่างใด

          ทั้งยังมี “หลายคน” ทั้งฝ่ายผู้จัด ผู้เข้าร่วม และผู้เกี่ยวข้อง หรือมีส่วนในการศึกษา “ธรรมยาตรา” ที่พากันลดทอนกิจกรรมอันเนื่องอยู่ด้วยศาสนธรรมนี้ ให้เป็นเพียงกิจกรรมอันฉาบฉวย เพื่อสร้างภาพ สร้างข่าว ในระยะสั้นอยู่เสมอ ทั้งด้วยการเสนอข้อสรุปตามที่ตนเข้าใจ และที่นำรูปแบบไปใช้ตามที่ตนคิดเอาเอง…

จึงไม่แปลกใจนัก ที่เมื่อกลุ่มเสขิยธรรมตั้งใจจะจัด “ธรรมยาตรา...รักษาลำน้ำโขง” ขึ้น ด้วยการ “ล่องเรือ” จากเชียงของ (เมืองห้วยทรายในฝั่ง สปป.ลาว) ผ่านหลวงพระบาง ไปยังเวียงจันทน์ จึงยังมีคำถามเดิม ๆ จากหลายฝ่าย ไม่ต่างไปจากเกือบสิบปีก่อน ว่าจะมีประโยชน์อะไร จะแก้ปัญหาได้จริงหรือ…

          มิหนำซ้ำ บางคราวถึงกับมีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะจาก “ผู้รู้” ในสังคมเอาด้วยซ้ำ ว่า... “เก็บเงินด้วยหรือ แล้วใครเขาจะเข้าร่วม” และ “หากไปทางเรือ จะเรียกว่าธรรมยาตราได้อย่างไร…”

          ค่าที่ว่า กิจกรรมรูปแบบนี้ไม่เคยมีใครจัดขึ้นมาก่อน ยิ่งเมื่อทราบว่าผู้เข้าร่วมธรรมยาตราครั้งนี้ “ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง” ด้วยแล้ว ความไม่เข้าใจที่ว่า ทำไมคนร้อยพ่อพันแม่ จึงต้องมาลงแรงแสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน จึงยิ่งทวีความงุนงงขึ้นไปอีก

          ด้วยว่า “ธรรมยาตรา...รักษาลำน้ำโขง” คราวนี้ คือการ “ลงทุนลงแรง” ร่วมกันโดยแท้

          และความไม่เข้าใจเหล่านั้นอาจจะกลายเป็นความแปลกประหลาดมหัศจรรย์ไปก็ได้ หากคนที่เคยตั้งข้อสังเกตเอากับกิจกรรมประเภทนี้ได้รับทราบว่า ต่อมาหลังจากจบสิ้น “ธรรมยาตรา...รักษาลำน้ำโขง ครั้งที่ ๑” แล้ว กลุ่มผู้เข้าร่วมยังคงรวมตัวกันทำกิจกรรมอันเนื่องกับ “แม่น้ำโขง” และ “กลุ่มรักษ์เชียงของ” (ซึ่งเป็นองค์กรร่วมจัด) ตามมาอีกหลายรายการ

ในแง่หนึ่ง ธรรมยาตรา คือการสร้างโอกาส ให้ผู้คนจำนวนหนึ่งได้ร่วมใช้ชีวิต ภายใต้กรอบข้อตกลงที่เนื่องอยู่ด้วยหลักธรรมทางศาสนา อัน “พิเศษ” ไปกว่าการ “ปฏิบัติธรรม” ส่วนตัวตามปกติ ซึ่งหลายคน “เลือก” ที่จะปฏิบัติในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว

          อาจกล่าวได้ว่า ธรรมยาตรา คือการสร้าง “ชุมชน” ของผู้มีความสนใจร่วมกันขึ้นมาในชั่วระยะเวลาหนึ่ง โดยเน้นการใช้หลักธรรม และความเป็นกัลยาณมิตร เป็นวิธีปฏิบัติและเค้าโครงของกิจกรรมอันประกอบด้วยการดำเนินชีวิต การเรียนรู้ การพักผ่อน และการภาวนา ตลอดจนการบริโภค หรือใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ร่วมกัน

          ด้วยการยอมรับ กฎ กติกา และมารยาท ตลอดจนข้อวัตรต่าง ๆ ร่วมกันนี้เอง ที่ช่วยให้การร่วมใช้ชีวิต ร่วมเรียนรู้ ร่วมฝึกตน ได้ผลิดอกออกผลด้านต่าง ๆ ขึ้น อย่างไม่ง่ายนักที่จะมีได้ในวิถีชีวิตปกติ

          บางคนจึงได้ “เพื่อน” หรือ “คนรู้ใจ” ด้วยระยะเวลาเพียง ๕ วัน ๑๐ วัน หรือ ๑ เดือน ของการร่วมธรรมยาตรา ทั้งที่เขา และ/หรือ...เธอ เคยร่วมงานในองค์กรเดียวกันมาแล้วหลายปี แต่ที่ผ่านมา มิได้มีอะไรมากไปกว่า ความเป็น “คนร่วมงาน” อย่างผิวเผินเท่านั้น

          หรือกระทั่ง “คนเคยเห็นหน้า” ที่กลับกลายเป็น “เพื่อนสนิท” เพียงเพราะการ “ล้างจาน” หรือ “ทำกับข้าว” ด้วยกัน ในสถานการณ์เช่นที่กล่าวมาแล้ว

          ทั้งที่โอกาสดังกล่าว อาจไม่มีอะไรมากไปกว่าการเดินทาง หรือการเดินเท้าทางไกล “ร่วมกัน” ทำกิจกรรมรวมหมู่ ร่วมแลกเปลี่ยน – เรียนรู้ หรือแสวงหาประสบการณ์ร่วมกันชั่วเศษเสี้ยวสั้น ๆ ของชีวิต ด้วยการใฝ่ใจ และใส่ใจในการประยุกต์ใช้หลักธรรมมาเป็นวิถีแห่งการปฏิบัติ และความใฝ่ใจในศาสนธรรมนั่นเองกระมัง ที่ทำให้ทุกอย่างกลายเป็น การปฏิบัติธรรมร่วมกัน ได้โดยง่าย

หลักพุทธธรรม หรือหลักศาสนธรรมในพุทธศาสนานั้น แม้ว่าจะไม่จำกัดด้วยกาล คือ มิได้เสื่อมไปด้วยเวลาที่ล่วงผ่าน ด้วยว่าเป็นสัจจะแห่งธรรมชาติที่ศาสดาค้นพบ และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย (หากมีสติปัญญา และอุบายอันเป็นกุศลเป็นเครื่องช่วย) ก็ตาม แต่บ่อยครั้ง ที่มีเหตุให้สรุปความ ว่า “ธรรมะ” เป็นเรื่องยาก “การปฏิบัติธรรม” คือ ความลำบาก น่าอึดอัดขัดข้อง ก็ทำให้ “ศาสนิก” เข็ดขยาดและห่างเหินการพระศาสนาเชิงแก่นสาระออกไป เหลือไว้เพียงพิธีกรรมที่จำเป็นต้องมี หรือจำเป็นต้องข้องเกี่ยว ทั้งที่จะว่าไปแล้ว “วิถีแห่งพุทธธรรม” ก็คือ แนวการประพฤติปฏิบัติ อันช่วยให้คนเป็นอิสระจากอกุศล จากเหตุปัจจัยแห่งทุกข์ เพื่อมีกำลังและโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตน เพื่อประโยชน์ระดับบุคคลและส่วนรวม—นั่นเอง

          อาจกล่าวได้ว่า ด้านหนึ่ง ผู้ปฏิบัติธรรมผู้ยึดมั่นในศีลพรต และสำคัญตนว่าเป็น “คนดี” โดยหมิ่นแคลนผู้ที่เชื่อและปฏิบัติต่างจากตนว่า “เลว” หรือ “ด้อยกว่า” นั่นเอง ที่ใช้ทัศนะแบ่งแยกและเปรียบเทียบ อันเป็นเหตุให้เกิดการแข่งขัน ว่าใคร “เก่งกว่า” “ดีกว่า” และ “ยิ่งกว่า” กระทั่งทำให้ภาพของการปฏิบัติธรรมเกิดลำดับชั้นแห่งความยึดมั่นถือมั่นขึ้นในที่สุด ขณะที่อีกด้าน ผลประโยชน์ทางใดทางหนึ่ง ก็ทำให้เหล่านักบวชอันสมมติตัวเป็นเจ้าลัทธิ เจ้าคัมภีร์ และเจ้าสำนักปฏิบัติ ยิ่งวาดภาพให้สมมุติฐาน ทฤษฎี หรือแนวปฏิบัติที่ตนเชื่อ กลายเป็น “ทางสายเดียว” หรือ “ทางสายหลัก” ของการศึกษาและปฏิบัติธรรมไปเสีย ยิ่งเป็นเหตุให้เกิดความลังเลสงสัยในธรรมานุธรรมปฏิบัติในหมู่ผู้ใคร่ในธรรมยิ่งขึ้นไปอีก

          จึงไม่แปลก ที่ “ธรรมยาตรา...รักษาลำน้ำโขง” เริ่มเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ บางคนจึงตั้งคำถามว่า “นี่เป็นธรรมยาตราฯ หรือเรือสำราญกันแน่…” ค่าที่ว่า เมื่อผู้เข้าร่วมกิจกรรมเริ่ม “รู้จัก” กันและกัน เริ่มผ่อนคลายความเป็น “ส่วนตัว” แล้วหันมาทำกิจกรรม “รวมหมู่” อันเป็นกิจธุระของผู้ร่วมคณะ หรือกระทั่งร่วมมือกันแก้ปัญหาของ “บางคน” ฯลฯ มากขึ้นแล้ว น้ำเสียงสรวลเสเฮฮาของความสุข และไมตรีจิตมิตรภาพ ก็มักจะมีให้ได้ยินอยู่เป็นระยะ แทนที่จะมีข้อบังคับ กฎเกณฑ์ และวิธีปฏิบัติอันเคร่งครัด เคร่งเครียด และเคร่งขรึม

          ยิ่งเมื่อขบวนมีความยืดหยุ่น และสามารถผสานความเป็นส่วนตัวและส่วนรวมได้ในระดับหนึ่ง การ “เคลื่อน” ของขบวนธรรมยาตราฯ ก็ยิ่งปราศจากความบีบคั้นหรือกดดัน อันจะเป็นเหตุแห่งการกระทบกระทั่ง และต้องเสียเวลาเปรียบเทียบว่า ใคร “ดีกว่า” ใคร

          ด้วยบรรยากาศเช่นนี้มิใช่หรือ การเรียนรู้เชิงประจักษ์ ต่อสภาพการณ์ของลำน้ำโขง แล้วเปรียบเทียบกับข้อมูลจากวิทยากร ตลอดจนเพื่อนร่วมเดินทางที่เคยมีประสบการณ์มาก่อน จึงสอดคล้องไปกับความสุขและความแช่มชื่นจากการพักผ่อน ตลอดจนการงานส่วนตัว และการงานของหมู่คณะ ที่ตนอาสารับมาทำ…

          นี่มิใช่หรือ คือแบบจำลองเล็ก ๆ ของการดำเนินชีวิตที่หลายคนแสวงหา ที่ประกอบไปด้วยการเรียนรู้ การทำงาน และการพักผ่อนที่บรรสานสอดคล้องกัน ภายใต้บรรยากาศใกล้ชิดธรรมชาติ และไมตรีจิต – มิตรภาพเยี่ยงกัลยาณมิตร

          และนี่มิใช่หรือ ที่ศักยภาพส่วนตัว และศักยภาพของกลุ่มฯ ได้รับการสร้างเสริมขึ้น ด้วยพลวัตของการรวมหมู่ ภายใต้กรอบโครงของ “ศาสนธรรม” อันสอดแทรกอยู่กับกิจกรรม กิจวัตรประจำวัน และข้อตกลงที่ทุกคน (หรือส่วนใหญ่) เห็นพ้อง โดยมิได้รู้สึกว่าบีบคั้น และจำยอมต้องปฏิบัติ…

จริงอยู่ “ธรรมยาตรา” ย่อมมิใช่สูตรสำเร็จของการศึกษาและปฏิบัติธรรมในสังคมร่วมสมัย ทั้งยังมิใช่คำตอบสำเร็จรูปต่อการประยุกต์ใช้ศาสนธรรมกับการแก้ปัญหาชีวิตและสังคมอย่างรอบด้านและถึงที่สุด หากเป็นเพียง “ทางเลือก” หนึ่ง ที่เปิดโอกาสให้ผู้แสวงหาคำตอบ แสวงหาวิถีแห่งการดำเนินชีวิต และแสวงหากระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสม อันเนื่องอยู่ด้วยศาสนธรรม ได้ “ทดลอง” ใช้ชีวิตช่วงสั้น ๆ ร่วมกับผู้สนใจในแนวทางใกล้เคียงกัน ภายใต้บรรยากาศ และสถานการณ์อันเอื้ออำนวย

          และหากกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว เมื่อเจาะจงถึง “ธรรมยาตรา...รักษาลำน้ำโขง ครั้งที่ ๑” ที่ผ่านมา แม้จะถือได้ว่า เป็นพัฒนาการที่สืบเนื่องจาก “ธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลา” และการจัด “ธรรมยาตรา” ในเนื้อหา หรือรูปแบบอื่น ๆ แต่ก็ใช่ว่าจะมีความสมบูรณ์ หรือไร้ซึ่งข้อบกพร่อง กระทั่งคู่ควรกับการชื่นชมเพียงด้านเดียว หากเป็นเพียงประกายไฟอีกวาบหนึ่งที่หลายคนร่วมกันจุดขึ้น ภายใต้ข้อจำกัดหรือเงื่อนไขที่เป็นอยู่ และจะว่าไปแล้ว ช่วงเวลาสั้น ๆ ของ “ธรรมยาตรา” นั้น ก็เป็นแต่เพียง “จุดเริ่มต้น” จุดหนึ่งของการศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างสมสมัยเท่านั้น เรื่องราวหลังจากจบธรรมยาตรา หรือธรรมยาตราที่เหมาะควรกับประเด็นและสถานการณ์ครั้งต่อไปต่างหาก ที่จะเป็นตัวชี้วัดว่า ย่างก้าวที่ได้เดินทางร่วมกันนั้นมาถูกทางหรือไม่ และจะไปสู่จุดหมายใด

          อย่างไรก็ตาม คำถามและความสงสัยย่อมเกิดขึ้นกับ “สิ่งใหม่” หรือ “ความไม่คุ้นเคย” ได้เสมอ แต่เชื่อว่า ถึงบัดนี้ หลายคนที่เคยร่วมธรรมยาตรา คงมีคำตอบที่เหมาะสมของตนแล้ว ว่า…“ธรรมยาตรา” คืออะไร เพื่ออะไร โดยใคร และโดยวิธีใด เป็นเพียงงานรณรงค์ประจำปีแบบ “รวมญาติ”, แค่การเดินถือป้าย – ตีกลอง รอบทะเลสาบสงขลา, เป็น “เรือสำราญ” ของคนชั้นกลางหรือ เป็นการเคลื่อนไปโดยธรรม....

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :