เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๙
มกราคม - มีนาคม ๒๕๔๗

แวดวงเสขิยธรรม

ส.ศิวรักษ์
แสดงปาฐกถาเนื่องในงานฉลองครบศตวรรษชาตกาล ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ)
ณ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามคำเชิญของผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาเขตขอนแก่น
เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๖

บทเรียนจากชีวิตและผลงานของ อาสภเถระ

          เมื่อสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) มีชนมายุครบศตวรรษนั้น ข้าพเจ้าได้เสนอความเห็นไปยังสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) ให้จัดมหกรรมถวาย ท่านตอบว่า การจัดงานวันเกิดให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วไม่ใช่ธรรมเนียมไทย ข้าพเจ้าแย้งไปว่า การจัดงานวันเกิดให้คนเป็น ๆ เดิมก็เป็นประเพณีฝรั่ง ที่เราเอาอย่างมาเริ่มโดยรัชกาลที่ ๔ เป็นทีแรก ก็ถ้าเราเอามาประยุกต์ให้เป็นกุศลกรรมก็น่าจะเป็นอุบายอันแยบคาย พระคุณท่านเห็นด้วย จึงโปรดให้จัดงาน ๑๐๐ ปีองค์อดีตอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ และอดีตนายกมหาธาตุวิทยาลัย ผู้เคยดำรงตำแหน่งประธานสังฆสภารูปแรกของไทย และทรงพระคุณอื่น ๆ อีกเป็นเอนกปริยาย จนพระคุณท่านดูจะเป็นพระสังฆเถระรูปแรกที่มีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งชื่อเป็นอนุสรณ์อยู่ ทางจังหวัดนครสวรรค์ สู่จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งเป็นชาติภูมิของท่าน แต่กว่าจะได้ชื่อสะพานที่ตั้งชื่อถวายพระสังฆเถระ ก็ต้องแสดงบทบาททางการเมืองกันมิใช่น้อย หาไม่สถานที่ต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นจากภาษีอากรของราษฎรนั้น มีแต่ชื่อเจ้ากับชื่อนักการเมืองแทบทั้งนั้น

          เมื่อพระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทัตโต) อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุองค์ถัดมา และสภานายกผู้ก่อตั้งมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีชนมายุครบร้อยนั้น เจ้าคุณสมเด็จอาจสิ้นอายุขัยไปแล้ว ข้าพเจ้าเสนอไปยังวัดนั้นและมหาวิทยาลัยแห่งนั้น ให้จัดงานการกุศล เพื่อแสดงกตเวทิตาธรรม แต่ไม่ได้รับการตอบสนองใด ๆ หากทางบัณฑิตวิทยาลัยแก้หน้า ด้วยการเชิญให้ข้าพเจ้าไปแสดงปาฐกถาเรื่อง “รำลึกถึงปฐมสภานายก ฯลฯ” ณ วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๔๑

          ด้วยเหตุผลดังกล่าวมา ข้าพเจ้าจึงมีความยินดีที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทั้งที่กรุงเทพฯ และขอนแก่น จัดงานทางวิชาการขึ้น เนื่องในโอกาสชาตกาลครบศตวรรษของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) เพื่อเป็นการแสดงกตเวทิตาธรรมต่อพระคุณท่าน แต่อามิสบูชาที่แสดงด้วยถ้อยคำต่าง ๆ แม้จนพิธีกรรม รวมถึงการหล่อรูปเคารพ ยังไม่มีคุณค่าได้ใกล้เคียงกับปฏิบัติบูชา ปาฐกถาของข้าพเจ้าวันนี้จึงใคร่ขอเสนอแนวคิดสำหรับปฏิบัติบูชาแด่พระคุณท่าน

          ตามที่ท่านตั้งหัวข้อให้พูดในเรื่อง “สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ) ในทัศนะของข้าพเจ้า” นั้น แสดงว่าท่านเปิดโอกาสให้พูดได้ตามใจคือไทยแท้ แท้ที่จริง ข้าพเจ้าได้ใช้ชื่อทำนองนี้และเขียนขึ้นเป็นครั้งแรกแต่ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาแล้ว ในเรื่อง “พระภัทรมุนีที่ข้าพเจ้ารู้จัก” โดยที่พระคุณเจ้ารูปนั้นเป็นปิยาจารย์ของข้าพเจ้าที่วัดทองนพคุณ มีสมณฉายาและราชทินนามตรงกัน แม้จะได้เลื่อนขึ้นเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ ก็ยังใช้ราชทินนามเดิม ต่อมา ข้าพเจ้ายังเขียนในทำนองเดียวกันนี้อีก โดยเจาะจงไปที่พระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน) แห่งวัดทองนพคุณด้วยเช่นกัน หากท่านผู้นี้ ข้าพเจ้าขยายชื่อเรื่องออกไปด้วยว่า พระผู้ใหญ่ที่ไม่กะล่อน น่าเสียดายที่สมัยนี้เรามีพระผู้ใหญ่ที่กะล่อนมากมายเสียเหลือเกิน

          สำหรับฆราวาสที่เขียนถึง ในทัศนะของข้าพเจ้านั้น ก็มีนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งได้ขยายความออกไปคล้าย ๆ กับกรณีของพระธรรมเจดีย์ ว่า นายป๋วย ผู้ใหญ่ที่ไม่กะล่อน อีกเรื่องหนึ่งนั้นว่าด้วย นายปรีดี พนมยงค์ ตามทัศนะของข้าพเจ้า โดยไม่มีคำอธิบายขยายความไปยิ่งกว่านี้ เล่มหลังนี้มีแปลออกเป็นภาษาต่าง ๆ ค่อนข้างมาก และแสดงจุดยืนทางการเมืองของข้าพเจ้าที่เปลี่ยนไปจากดำเป็นขาวเอาเลยก็ว่าได้

          ว่าไปทำไมมี เจ้าคุณสมเด็จอาจกับอาจารย์ปรีดี ออกจะมีความสำคัญปาน ๆ กัน โดยประสบกับโลกธรรมทั้งทางอิฏฐารมย์และอนิฏฐารมย์ปาน ๆ กันด้วย ท่านหนึ่งในทางธรรม ท่านหนึ่งในทางโลก ซึ่งโยงใยถึงกัน ฉะนั้น ข้าพเจ้าจะขอบรรยายไปในแนวนี้

          โดยที่เจ้าคุณสมเด็จอาจ ได้รับสุพรรณบัตรแล้ว ดำรงชีวิตอยู่อีกไม่กี่ปี ก็มรณภาพล่วงลับไป หากท่านดำรงสมณศักดิ์ในราชทินนามว่าพระพิมลธรรมนานที่สุด จนถูกถอดและถวายสมัญญาคืน แม้จนมีการกล่าวขานกันว่า จะให้ล้มเลิกราชทินนามนี้ไปพร้อมกับการหมดสภาพของพระคุณท่านไปกับตำแหน่งเจ้าคณะรองที่ว่านี้ แต่ก็ไม่จริง ดังได้เลื่อนพระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) ขึ้นดำรงราชทินนามนี้เป็นท่านสุดท้าย โดยที่ต่อไป จะมีใครได้เป็นพระพิมลธรรมอีกหรือไม่ ไม่อาจทราบได้ เพราะทางการบ้านเมืองและทางการคณะสงฆ์สมัยนี้ อ่อนแอในเรื่องประวัติความเป็นมาของตน จนเลอะเทอะเหลวเละอย่างน่าสงสาร อย่างน้อยในทางสมณฐานันดร

          นอกไปจากนี้แล้ว เจ้าคุณสมเด็จอาจยังได้รับราชทินนามอื่น ๆ อีกก่อนจะได้เป็นพระพิมลธรรม เริ่มแต่พระศรีสุธรรมมุนี ไปจนพระธรรมไตรโลกาจารย์ ซึ่งล้วนเป็นตำแหน่งที่เก่าแก่และสำคัญมาแต่โบราณกาลทั้งนั้น

          สำหรับปาฐกถาของข้าพเจ้าคราวนี้ จะเรียกขานไปที่สมณฉายาของท่านว่าอาสภเถระ โดยไม่มุ่งไปที่สมณฐานันดร เพราะแม้เขาจะถอดท่านออกจากยศช้างขุนนางพระของท่าน เขาก็ถอดความเป็นสมณะของท่านไม่ได้ รวมถึงการกลั่นแกล้งจนจับสึกท่าน นั่นก็เป็นการกระทำอันอนาจารอย่างขัดพระธรรมวินัยของพระผู้ใหญ่ที่กะล่อนในสมัยนั้นเท่านั้นเอง และการเอาท่านไปคุมขังไว้ โดยไม่ให้ห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ในสันติปาลาราม เป็นเวลาถึง ๕ ปี นั่นก็เป็นเพียงรูปแบบภายนอก หากความจริงแท้ของอาสภเถระ หาได้ปลาสนาการไปไม่ จำเดิมแต่ท่านบวชได้ ๑๐ พรรษา เป็นต้นมา และความเป็นเถระนั้นพอเพียงแล้วสำหรับท่านผู้เป็นหลักในทางเถรวาท เพราะให้อุปสมบทได้แล้ว โดยไม่จำต้องขยายเถรภูมิออกไปถึงความเป็นมหาเถระก็ยังได้ ยิ่งความข้อหลังนี้เอามาใช้กับสถาบันการปกครองสูงสุดที่เรียกว่ามหาเถรสมาคม ทำให้ข้าพเจ้าออกสลดใจเอาเลยด้วยซ้ำ

          ผู้ที่ครองผ้ากาสายะเป็นอันมากในบัดนี้ต่างหาก แม้จะทรงสมณศักดิ์สูงส่งเพียงใด ความเป็นอลัชชีและความเป็นสมีของท่านนั้น ๆ มีอยู่กันมิใช่น้อย โดยที่ท่านนั้น ๆ ได้เคยเจริญปัจจเวกขณธรรมเพื่อเข้าถึงหิริและโอตตัปปะกันบ้างหรือไม่ น่าสงสัยนัก

          ความจริง ข้าพเจ้าเคยพูดถึงและเขียนถึงท่านเจ้าคุณอาสภเถระไว้หลายครั้งหลายหน ที่สำคัญคือ “กรณีพระพิมลธรรม (อาจ) วัดมหาธาตุ” ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ แต่เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ โดยที่ในฉบับดังกล่าว มีตีพิมพ์บทสัมภาษณ์สมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณณโก) วัดจักรวรรดิ์รวมอยู่ด้วย พระคุณท่านรูปนี้ก็เป็นพระผู้ใหญ่ที่ไม่กะล่อน แม้จะมีอาจาระอันสุภาพราบเรียบและใช้มธุรสวาจาเป็นเจ้าเรือน หากพระคุณท่านไม่เลี่ยงความจริง ดังท่านได้สรรเสริญอาสภเถระมาโดยตลอด ข้าพเจ้าทราบจากนิตยสารฉบับนั้นว่า ถ้าเขาไม่ได้ลงพิมพ์บทสัมภาษณ์พระคุณท่าน ในฉบับเดียวกับที่ลงบทความของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเองย่อมต้องถูกจับและนิตยสารฉบับดังกล่าวก็ย่อมถูกปิดไปด้วยเช่นกัน อย่างน้อยก็ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

          อนึ่ง การที่จะเข้าใจถึงความสำเร็จและความล้มเหลวของอาสภเถระในฐานะแห่งความเป็นพระสังฆาธิการของท่าน จำต้องตระหนักถึงความเป็นมาของวัดมหาธาตุ ต้นสังกัดของพระคุณท่านด้วย ว่ามีส่วนได้ส่วนเสียกับทางการบ้านเมืองอย่างไร ในสมัยราชาธิปไตยและในสมัยประชาธิปไตย โดยโยงใยไปถึงคณะธรรมยุต และความแตกแยกกันของฝ่ายมหานิกาย ความข้อนี้ ข้าพเจ้าก็ได้เคยเขียนเป็นความเรียงไว้แล้วในเรื่อง “บทวิเคราะห์สถานะเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ กับความเป็นไปของคณะสงฆ์”

          แม้ข้อเขียนนี้จะตีพิมพ์ครั้งแรกแต่ปี ๒๕๓๓ ข้าพเจ้าขอตัดตอนมาอ่านให้ฟังที่นี่สักเล็กน้อย ซึ่งเป็นเนื้อหาสาระที่สำคัญอันโยงใยถึงเจ้าคุณอาสภเถระ

จำเดิมแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุเข้าได้กับผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นอย่างดี ดังที่เคยเข้าได้ด้วยดีกับเจ้านายในสมัยราชาธิปไตยมาแต่สมัยสมเด็จพระวันรัตทั้งสององค์ ในรัชกาลที่ ๕ ถึงที่ ๗ นั้นแล้ว แม้จนตราบถึงสิ้นสมัยพระพิมลธรรม (ช้อย) ความสัมพันธ์กับคณะธรรมยุตก็เป็นไปอย่างใช้กุศโลบายเข้าหากัน วิธีนี้ก็คล้าย ๆ กับท่าทีที่มีต่อรัฐด้วย ซึ่งละเอียดอ่อน ควรแก่การศึกษายิ่งนัก จะอย่างไรก็ตาม วัดมหาธาตุได้ครองความเป็นเลิศได้ในฝ่ายมหานิกายอ ย่างที่แทบทุกวัดยอมรับความเป็นผู้นำของวัดนั้นและเจ้าอาวาสนั้น ๆ โดยที่คณะสงฆ์ทั้งหมด จนตราบเท่าเวลานั้น แทบไม่ยอมคิดอะไรแปลกใหม่ออกไปจากที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงวางไว้แต่ในรัชกาลที่ ๕ และ ๖ นั้นเลย

          ครั้นพระพิมลธรรม (อาจ) มาเป็นเจ้าอาวาส ความเป็นผู้นำของท่านเริ่มได้รับการท้าทายจากฝ่ายมหานิกายด้วยกันเอง เพราะ (๑) ท่านพรรษาอายุน้อยกว่าพระมหาเถระอื่น ๆ โดยมาก (ท่านเป็นพระพิมลธรรมเมื่ออายุเพียง ๔๗ ปี) (๒) ท่านมาจากตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดอยุธยา เรียกว่าอยู่นอกแวดวงเมืองกรุงออกไป แล้วไปได้ดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีองค์การปกครอง ซึ่งถือว่ามีอำนาจมากที่สุด ดังว่าการกระทรวงมหาดไทยฉะนั้น ที่ร้ายก็คือท่านออกจะติดยศศักดิ์อัครฐานอยู่มิใช่น้อยเสียด้วย แต่นั่นก็ยังไม่สำคัญเท่า (๓) ชาติภูมิของท่านอันถือกันว่าเป็นลาว (ขอนแก่น) ซึ่งจะให้เป็นใหญ่เหนือพวกไทยที่มีชาติภูมิอยู่ทางภาคกลางไม่ได้ (สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน) เป็นลาว (อุบลฯ) ก็จริง แต่ได้บารมีธรรมยุตคุ้มกัน จึงได้เป็นถึงสังฆนายก) (๔) ท่านมีความคิดก้าวหน้า ไกลเกินตัว หรือเกินคณะสงฆ์ในเวลานั้นออกไป ทั้งยังได้รับเกียรติคุณมากมายเกินหน้าพระมหาเถระอื่น ๆ เกินไป จากมหาชน ทั้งในและนอกประเทศอีกด้วย การที่พระผู้ใหญ่อิจฉาริษยาท่านก็เป็นของธรรมดา แต่ความก้าวหน้าจนเลิกกฎระเบียบอันเคร่งครัดของวัด ซึ่งเริ่มคลายมาแต่สิ้นสมเด็จพระวันรัต (เฮง) นั้น เป็นเหตุให้วัตรปฏิบัติภายในวัดมหาธาตุย่อหย่อนลง (๕) ท่านมีความสามารถ แต่รู้ว่ามีความสามารถ ในขณะที่เจ้าอาวาสก่อนท่านทั้ง ๓ องค์ แม้จะสามารถขนาดไหน ก็เก็บกดความสามารถไว้ภายใน สมกับความเป็นสมณะ (ดังสมเด็จพระวันรัต (ฑิต) โยนตำราบาลีไวยากรณ์ของท่านลงสระน้ำในวัดมหาธาตุไปเลย เพราะเกรงว่าถ้าแพร่หลายออกไป จะกลายเป็นว่าท่านเรียบเรียงหนังสือแข่งบารมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ เป็นต้น) ในการแสดงพระธรรมเทศนา บางทีท่านตีโวหารในทางปรมัตถ์จนกำกวม เป็นเหตุให้คนหาเหตุโจมตีท่านได้ (๖) นอกไปจากนี้แล้ว ท่านยังกล้าหมิ่นเหม่พระธรรมวินัย ซึ่งทางเถรวาทสายอนุรักษ์นิยมอย่างเมืองไทยถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ แม้ตามข้อเท็จจริงอาจเป็นเรื่องเล็กก็ได้ เช่นใส่เครื่องแต่งตัวฆราวาสทับหรือแทนผ้ากาสาวพัสตร์ ตอนลงเหมืองถ่านหินที่เมืองนอก เหยียบผมสุภาพสตรีพม่าที่สยายต้อนรับท่านด้วยความเคารพ จนเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในข้อนี้และ ข้อ (๕) ที่ท่านถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และต้องอาบัติปาราชิกเอาเลย มิใยว่าท่านจะทำความดีมามากมายเพียงไรกับการปกครองคณะสงฆ์ กับการบริหารวัดมหาธาตุ ให้เกิดพระปริยัติศึกษาควบคู่ไปกับพระปฏิบัติศึกษาขึ้นมาอีก ดังการศึกษาพระอภิธรรมและกรรมฐานแบบพม่าก็น่าสนใจยิ่งนัก นอกเหนือไปจากการอุดหนุนมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยให้ก้าวไกลไปกว่าที่พระพิมลธรรม (ช้อย) ก่อรากไว้มากนัก รวมถึงการส่งพระนักศึกษาไปเรียนต่างประเทศ โดยที่ก่อนหน้านี้ แม้เรียนภาษาต่างประเทศ นอกเหนือบาลีศึกษา ก็ถือกันว่าเป็นอันตรายเสียแล้ว (ความข้อนี้ มีทั้งคุณและโทษอย่างไร โดยเฉพาะกับการส่งพระไปเรียนอินเดียและอัษฎงคต จะยังไม่ขอเอ่ยถึงในที่นี้)

          หากข้อที่นำมาเอ่ยถึงนี้เป็นเพียงสมุฏฐานที่สำคัญ อันจะไม่ขอเอ่ยถึงข้อปลีกย่อยอื่น ๆ แต่ตราบที่ผู้นำทางการเมืองเห็นคุณค่าของท่าน และคณะสงฆ์ส่วนใหญ่ในพระอารามและในคณะมหานิกายสนับสนุนท่าน ท่านย่อมดำเนินการต่าง ๆ ไปได้ แม้จะมีอุปสรรค ก็เอาชนะอุปสรรคนั้น ๆ ได้มาเกือบจะตลอด ครั้นทางการบ้านการเมืองที่อุดหนุนท่านอ่อนกำลังลง แม้นายปรีดี พนมยงค์ จะปลาสนาการไปจากอำนาจแล้ว จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ยังอุดหนุนฝ่ายมหานิกายอยู่ แต่พอมาถึงสมัยรัฐประหาร ๒๔๙๐ วัดสามพระยาได้เบ่งบานขึ้นมาแข่งบุญกับคณะธรรมยุตก่อน แล้วต่อมาได้ใช้ธรรมยุตเป็นเครื่องมือประหารวัดมหาธาตุอีกที โดยเจ้าอาวาสวัดสามพระยาเข้าหาหัวหน้าคณะรัฐประหาร ซึ่งได้แก่บิดาของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน และเข้าหาจอมพล ป. พิบูลสงครามอีกด้วย

          นายกรัฐมนตรีในปี ๒๕๓๓ คือชาติชาย ชุณหวัณ และผู้ที่สนใจอ่านการประหัตประหารพระคุณท่าน จากถ้อยคำและเอกสารหลักฐานของท่านเอง อาจหาอ่านเอาได้จากเรื่อง ผจญมาร ซึ่งสร้างขึ้นเป็นมังคลานุสรณ์ งานฉลองชนมายุครบ ๘๐ ปีของพระคุณท่านในปี ๒๕๒๖

          ที่ข้าพเจ้าเปรียบท่านอาจารย์อาสภเถระกับอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ก็ตรงที่ทั้งสองท่านนี้มีส่วนร่วมสร้างสรรค์ศาสนาจักรและอาณาจักรให้รุ่งเรืองขึ้นอย่างมีธรรมเป็นอำนาจ ปลดปล่อยพันธนาการทางขัตติยาธิปไตยไปได้มิใช่น้อย หากศาสนาจักร ไม่ได้สลัดตนออกจากระบบสมณศักดิ์ แม้พระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ จะเอื้ออาทรได้บ้างในทางประชาธิปไตย แต่สมณฐานันดรอุดหนุนระบบเจ้าขุนมูลนายในวงการพระ ที่เอาอย่างมาจากเจ้าอย่างไม่ยอมประกาศอิสรภาพเอาเลย แม้ฝ่ายขุนนางข้าราชการจะเลิกบรรดาศักดิ์ต่าง ๆ เสียสิ้น แต่ก็มีระบบศักดินาอย่างใหม่มาแทนที่ ทางยศ (ที่เริ่มแต่รัชกาลที่ ๕) และทางศักดิ์ (ที่เอาอย่างอเมริกันมา) ให้เป็น ผศ. รศ. และ ศ. ในทางวิชาการ ซึ่งก็เทียบเท่าหลวงพระและพระยาอย่างเดิม หาไม่ซีต่าง ๆ ก็เทียบได้แต่รองอำมาตย์ไปจนมหาอำมาตย์นั้นเอง

          อาจารย์ปรีดีต้องการความเสมอภาค ภราดรภาพ และเสรีภาพ โดยนี่อาจมีอิทธิพลมาจากการศึกษาของท่านที่ฝรั่งเศสก็ได้ แต่เสมอภาคที่แท้มีอยู่ในคณะสงฆ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ก่อนการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศสกว่า ๒๐๐๐ ปีมาแล้ว และคณะสงฆ์เป็นภราดรภาพที่แท้จริง โดยมุ่งไปที่เสรีภาพจากโลภ โกรธ หลง ท่านอาจารย์อาสภเถระก็เป็นผู้ซึ่งพยายามเข้าหาสาระแห่งคณะสงฆ์ โดยท่านเคยยกย่องอาจารย์ปรีดีว่าเป็นผู้พลิกแผ่นดิน ให้คนที่เคยเป็นไพร่ฟ้าหรือฝุ่นเมือง ได้กลายมาเป็นราษฎร ผู้เป็นเจ้าของประเทศชาติบ้านเมือง โดยที่พระคุณท่านและอาจารย์ปรีดีเห็นตรงกันว่า การศึกษาคือหัวใจที่จะช่วยให้ผู้คนได้เป็นไทแก่ตัวอย่างแท้จริง ถ้าเราตัดเอาอาสัตย์ อาธรรม์ ออกเสียได้ ใคร ๆ ก็มีโอกาสได้เข้าถึงความงาม ความดี และความจริง

          ทั้งสองท่านนี้อิงองคาพยพของรัฐ พยายามปรับระบอบที่เคยครอบงำประชาราษฎร รวมถึงพระหนุ่มเณรน้อย ที่อยู่ปลายอ้อมปลายแขม ให้เกิดความเข้มแข็งทางความรู้ ดังอาจารย์ปรีดีตั้งและใช้มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นแกนที่สำคัญ นอกเหนือไปจากระบบรัฐสภา และการกระจายอำนาจออกสู่เทศบาลตามท้องถิ่นต่าง ๆ เพื่อกำกับระบบราชการ โดยที่ทางคณะสงฆ์ก็มีสังฆสภา และระบบการศึกษาอย่างใหม่ที่กลายมาเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ในบัดนี้ ในกรณีของสงฆ์นั้น ท่านอาจารย์อาสภะมีส่วนอย่างสำคัญทางด้านโยงปริยัติมาหาปฏิบัติ ดังท่านไม่เห็นเป็นข้อเสียหายในการส่งพระเณรไปเรียนจิตสิกขาและพระอภิธรรมที่สหภาพพม่า แม้จนส่งพระภิกษุออกไปเรียนยังประเทศอินเดีย แม้พวกชาตินิยม ทั้งฝ่ายพระและฆราวาสของไทยจะรับความข้อนี้ไม่ได้ เพราะสองประเทศนั้นเพิ่งได้รับเอกราชมา ในขณะที่ไทยเราเป็นเอกราชอย่างจอมปลอมมาโดยตลอด ส่วนการที่เราส่งฆราวาสไปเรียนเมืองฝรั่ง แล้วเลื่อมใสวิธีวิทยาอย่างตะวันตก ยิ่งกว่าของเราเอง เราไม่เห็นเป็นมิจฉาทิฏฐิเลยหรือ ยังในสมัยก่อนเกิดลัทธิชาตินิยมด้วยแล้ว พระภิกษุผู้แสวงธรรมย่อมจาริกไปศึกษาและปฏิบัติยังนานาประเทศด้วยกันทั้งนั้น พระฟาเหียนและพระเหี้ยนจังไปยังชมพูทวีป พระจากอินเดียไปศึกษาที่ชวาและสุมาตรา พระไทย มอญ พม่าไปศึกษาและบวชแปลงที่ลังกา ฯลฯ

          อาจารย์ปรีดีเป็นผู้ที่ยอมรับกันว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในทุก ๆ ทาง และบริหารราชการแผ่นดินด้วยความเสียสละทุกอย่าง เพื่อประราษฎร แต่แล้วท่านก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และเป็นผู้วางแผนลอบปลงพระชนม์พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ ซึ่งท่านเป็นตัวตั้งตัวตีที่ช่วยให้ได้รับราชสมบัติ

          แม้ท่านอาจารย์อาสภเถระก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ดังความบริสุทธิ์ของท่าน ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นปาราชิกในทางเวจมรรค แม้ท่านจะไม่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ก็มีพวกที่ใช้เลศหาเหตุเอาว่าวัดมหาธาตุเป็นวัดของวังหน้า ย่อมเป็นเสนียดกับวังหลวง จนในหลวงรัชกาลนี้แทบไม่ยอมเสด็จไปทอดผ้าพระกฐิน ณ วัดมหาธาตุเอาเลย แม้จะเสด็จไปพระราชทานเพลิงศพท่าน ก็เลือกเอาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทั้งนี้เป็นเพราะมีการกลัวเกรงกันว่าถ้านอกเหนือโอกาสนั้นแล้ว พระสงฆ์องคเจ้าและชาวประชาจากชนบทต่าง ๆ คงต้องแห่กันไปงานศพท่านกันอย่างล้นหลาม จะได้หรือไม่ ในขณะที่พระบรมศพพระราชชนนีต้องใช้อุปายวิธีนานัปการ เพื่อให้ประชาราษฎรเข้าไปถวายบังคมพระบรมศพ

          นอกไปจากนี้แล้ว เมื่อ คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้พูดออกมาชัดเจนว่า ในหลวงไม่โปรดให้เลื่อนท่านอาจารย์อาสภเถระขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ เพราะดวงพระชันษาไม่ต้องกับดวงชะตาของพระคุณท่าน และคน ๆ นี้เองมิใช่หรือที่จ้างคนไปตะโกนในโรงภาพยนตร์ว่าปรีดีฆ่าในหลวง อนึ่งที่ ส. ธนรัชต์ หาทางทำลายล้างพระคุณท่านก็เพราะความอิจฉาริษยาที่ชาวขอนแก่นเคารพนับถือพระคุณท่านยิ่งกว่าเขา ผู้ซึ่งมีอำนาจเต็มเปี่ยมในทางอธรรมหรือมิใช่

          จำเดิมแต่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์สิ้นไปจากอำนาจในปี ๒๔๙๐ อธรรมได้ย่ำยีธรรมะยิ่ง ๆ ขึ้น เริ่มแต่ทางโลก โดยขยายมาถึงทางธรรมอีกด้วย และการถอดถอนและจำคุกท่านอาจารย์อาสภเถระในปี ๒๕๐๓ นั้น พระผู้ใหญ่แสดงความเป็นอธรรม โดยสนิทแนบกับบ้านเมืองอันอยู่ในเอื้อมมือเอื้อมเท้าของทรราชอย่างสฤษดิ์ ธนรัชต์ อย่างเต็มที่ และศาสนาจักรยังไม่ฟื้นคืนชีพมาสู่หนทางแห่งธรรมอีกเลย แต่นั้นเป็นต้นมา แม้พระเถระรุ่นเก่า ๆ จะคงความเป็นธรรมไว้ได้ ก็ในแวดวงอันจำกัดของพระคุณท่าน ไม่ว่าจะสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทัย) หรือสมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณณโก) ครั้นพระคุณท่านรุ่นนั้นล่วงลับไปแล้ว รุ่นใหม่ ๆ ไม่ว่าจะสมเด็จหรือไม่ ก็ล้วนอยู่ใต้อำนาจมารกันแทบทั้งนั้น หาไม่ก็แทบไม่มีจุดยืนทางคุณธรรมเอาเลย

          กล่าวอย่างสั้น ๆ ก็ได้ว่า อาจารย์ปรีดีขึ้นถึงจุดสูงสุดได้ ก็เพราะระบบราชการ แล้วก็หล่นลงมาโดยระบบดังกล่าวนั้นเอง มิใยต้องเอ่ยถึงด้วยว่ามีอภิมหาอำนาจภายนอกประเทศเป็นกลไกที่เกี่ยวข้องด้วย

          ในกรณีของท่านอาจารย์อาสภเถระก็คล้าย ๆ กัน แม้ท่านจะขึ้นไม่ถึงจุดสูงสุดในทางสถาบันสงฆ์ ก็เกือบสุดยอด แล้วก็ตกลงมา โดยมีระบบราชการบ้านเมืองเป็นองคาพยพที่สำคัญ โดยพระสังฆาธิการที่เป็นศัตรูของท่านเป็นเพียงตัวประกอบเท่านั้น และพระสังฆาธิการนั้น ๆ ได้เป็นต้นแบบแห่งความเสื่อมสลายของสถาบันสงฆ์ในระดับชาติแต่นั้นมาจนบัดนี้

          ที่น่าสังเกตก็ตรงที่ท่านอาจารย์อาสภเถระคืนเข้ามาสู่สมณศักดิ์ก็ดี แม้จนได้เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะก็ดี ระบบราชการไม่ได้เป็นตัวเอื้อเอาเลย หากมาจากพลังของมหาสงฆ์ โดยเฉพาะก็ยุวสงฆ์ในกรุงกับพระสังฆเถระทางภาคอีสานเป็นแรงผลักดันที่สำคัญ

          ท่านอาจารย์อาสภเถระนั้น ท่านมีคุณวิเศษหรือมีอัจฉริยภาพไม่น้อยไปกว่าท่านอาจารย์อินทปัญโญ หรือพุทธทาสภิกขุ ข้อเด่นและข้อด้อยของท่านอาจารย์อาสภเถระคือ ท่านอุทิศชีวิตส่วนใหญ่ให้หมดไปกับระบบราชการของวงการคณะสงฆ์ ไม่ว่าจะในฐานะเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ในฐานะเจ้าคณะจังหวัด ในฐานะสังฆมนตรีและในฐานะสภานายก มหาวิทยาลัยสงฆ์ เบ็ดเสร็จเป็นเวลาหลายทศวรรษ แล้วเหลือคุณค่าอะไรในทางที่เป็นคุณธรรมที่ควรให้แลเห็นบ้าง มีไหม

          ในทัศนะของข้าพเจ้านั้น ความสำเร็จในฐานะพระสังฆาธิการของพระคุณเจ้าคือความล้มเหลว ทั้งนี้รวมถึงพระสังฆาธิการรูปอื่นด้วย พระเรามีคุณค่าอยู่ตรงที่ความเป็นสมณะ ผู้เรียบง่าย อยู่ที่ความเป็นครู ผู้อุทิศเวลาให้ศิษย์ อยู่ที่ความเป็นกัลยาณมิตร ที่เป็นดังเสียงแห่งมโนธรรมสำนึกสำหรับเวไนยนิกร ความข้อนี้ ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านได้รับความสำเร็จอย่างแทบปราศจากความล้มเหลว เพราะความเป็นพระสังฆาธิการของท่าน มีเพียงการเป็นเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ซึ่งท่านก็เป็นอย่างเล่น ๆ โดยไม่ได้ไปจำพรรษาที่วัดนั้นเอาเลยด้วยซ้ำ ท่านใช้อัจฉริยภาพทางด้านการริเริ่มต่าง ๆ อย่างสามารถโยงใยให้พระปริยัติศึกษากับพระปฏิบัติศึกษารวมตัวกัน จนอาจนำทางไปได้สู่พระปฏิเวธ คือโมกษธรรม แม้ท่านจะล้มเหลวในการสร้างสังฆบริษัทที่เข้าใจเนื้อหาสาระหรือแก่นแห่งความเป็นทาสของพระพุทธเจ้า แทนการเป็นทาสของวัตถุนิยม อำนาจนิยม และกามนิยมก็ตามที หากท่านตีแผ่ความคิดของท่านทางด้านไตรสิกขาออกไปได้อย่างกว้างขวาง ดังควรที่จะได้รับไปตีความกันให้เหมาะสมกับกาลสมัยยิ่ง ๆ ขึ้น

          ดังได้กล่าวแล้วว่าท่านอาจารย์อาสภเถระมีอัจฉริยภาพมาก หากใช้เวลาให้หมดไปกับการรับใช้ราชการของคณะสงฆ์อย่างเกินพอดีไป ถ้าท่านใช้เวลาทั้งหมดเพื่อการพระศาสนา นอกรูปแบบของสถาบันหลัก เราจะได้รับคุณประโยชน์จากพระคุณท่านไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าที่เราได้รับจากท่านอาจารย์พุทธทาสเอาเลย แม้กระนั้นเวลาที่ท่านเจียดให้กับการศึกษาของคณะสงฆ์นั้น สำคัญยิ่งนัก เพราะหัวใจของพระศาสนาคือการศึกษาหรือไตรสิกขานั้นเอง

          พระคุณท่านเห็นว่าจิตสิกขาของคณะสงฆ์ไทยหย่อนยาน ท่านจึงส่งพระเณรไปเรียนที่พม่า แล้วตั้งสำนักวิปัสสนาธุระขึ้นแทบทั่วประเทศ เพื่อให้ควบคู่ไปกับสำนักคันถธุระ ซึ่งได้รับการฟื้นฟูมาแต่สมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส นั้นเอง โดยที่วิปัสสนาธุระได้อับเฉาแต่สมัยของพระองค์ท่านเป็นต้นมา

          ถ้าธุระทั้งสองที่ท่านอาจารย์อาสภเถระริเริ่มไว้ ไม่ไปผนวกกับความเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองของพระคุณท่าน แม้ท่านหลุดจากตำแหน่งไปแล้ว สำนักวิปัสสนาธุระต่าง ๆ ก็น่าจะตั้งอยู่และงอกงามต่อไปได้ ความข้อนี้ พระคุณเจ้าย่อมตระหนักดี ดังจะเห็นได้ว่า พอท่านพ้นออกจากสันติปาลาราม ในขณะที่ไม่มีตำแหน่งทางพระสังฆาธิการใด ๆ ท่านได้เริ่มขบวนการด้านวิปัสสนาและธุดงควัตรอย่างน่านิยมยกย่องยิ่ง ถ้าศิษย์หาของท่านที่มีสมรรถภาพ อาจนำเอาธุระทั้งสองมาผนวกกันและผลึกกำลังกัน นี่จะเป็นพลังทางพระศาสนา ซึ่งอาจเอาธรรมจักรมานำอาณาจักรได้อีกด้วย

          เมื่อยุวสงฆ์และพระสังฆาธิการในชนบทรวมตัวกันเรียกร้องสิทธิและศักดิ์ศรี รวมถึงสมณศักดิ์และตำแหน่งหน้าที่ ถวายท่านพระอาจารย์อาสภเถระ แล้วได้รับความสำเร็จด้วยความชอบธรรมฉันใด ถ้าผู้ทรงศีลาจารวัตรอันประกอบไปด้วยจิตสิกขาและปัญญาสิกขา รวมพลังกัน อาจเรียกร้องความยุติธรรม ตามสายธารแห่งธรรมาธิปไตย ให้สมัชชาคนจน และคนปลายอ้อปลายแขมอื่น ๆ ให้บ้านนี้เมืองนี้ลดความเป็นทุนนิยม บริโภคนิยม และอำนาจนิยม จนเข้าสู่บุญนิยมและกุศลนิยมตามทิศทางของไตรสิกขาได้ด้วย

          การที่พระอาจารย์อาสภเถระเป็นรูปแรกที่ส่งพระภิกษุไปศึกษาที่ภารตประเทศ ตามแนวทางของอาจารย์กรุณา กุศลาศัยนั้น นับว่าเป็นการแหวกแนวของสังคมสงฆ์อย่างสำคัญ แต่ข้อบกพร่องของพระที่ไปเรียนอินเดียนั้น แม้เข้าถึงภารตวิทยาเท่าอาจารย์กรุณาก็มีน้อยนัก และยิ่งจะรู้จักชุมชนชาวพุทธที่ถูกกดขี่อย่างเลวร้ายเพราะเป็นจัณฑาลมาเดิมด้วยแล้ว แทบไม่มีเลย ยังภารตศึกษาที่ลึกลงไป รวมถึงขบวนการของคานธีด้วยแล้ว เราก็แทบไม่รู้จักเสียอีกด้วย

          ยิ่งจำเดิมแต่ทะไลลามะ และพระธิเบตอพยพหนีความเบียดเบียนบีฑาของจีน ไปตั้งสำนักการศึกษาชั้นดีที่ในภารตประเทศด้วยแล้ว พระไทยที่ไปศึกษาในอินเดีย ก็แทบเข้าไม่ถึงวัฒนธรรมพุทธกระแสนี้เอาเลย

          ถ้าจะเอาบทเรียนแห่งความริเริ่มของพระอาจารย์อาสภเถระเป็นแนวทาง เราน่าจะต้องหาทางศึกษาที่อินเดียกันใหม่ โดยเน้นที่ศีลาจารวัตรของพระในต่างแดนด้วย รวมถึงธรรมทูตในประเทศต่าง ๆ และต้องให้เข้าถึงจิตสิกขาและปัญญาสิกขาอย่างแท้จริง

          โดยที่เวลานี้เอง รัฐบาลอินเดียก็ดำริจะฟื้นฟูนาลันทามหาวิทยาลัยขึ้นใหม่ ซึ่งต่างไปจาก นวนาลันทาที่มีอยู่แล้ว โดยให้เข้าถึงเนื้อหาสาระของมหาวิหารเดิม ซึ่งมีชื่อเสียงเกียรติคุณอันแพร่ไพศาลไปยาวนานก่อนมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดและปารีสเสียอีก

          พร้อม ๆ กันนั้น ในสหรัฐอเมริกาก็มีมหาวิทยาลัยนาโรปะเกิดขึ้นมาได้ ๒๕ ปีเข้านี่แล้ว โดยที่ท่านอาจารย์นาโรปะเองก็เคยเป็นอธิการบดีที่มหาวิทยาลัยนาลันทามาก่อน ดุจดังพระถังซำจั๋ง ตรีปิฏกาจารย์แห่งจีนประเทศ ก็เคยเป็นคณบดีที่มหาวิทยาลัยนั้น

          ถ้าท่านอาจารย์อาสภเถระยังดำรงชีพมาถึงตอนนี้ เชื่อได้เลยว่า ความริเริ่มและอัจฉริยภาพของท่าน คงมีส่วนช่วยบันดาลให้การศึกษาของคณะสงฆ์ไทย โดยเฉพาะก็ที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นไปในทางใหม่ ๆ ที่เข้าถึงแก่นของไตรสิกขาอย่างสมสมัย ไม่ให้มหาวิทยาลัยสงฆ์เป็นดังพระรอง ที่ผู้สอนและผู้เรียนรู้สึกด้อยกว่ามหาวิทยาลัยทางโลกของไทย ซึ่งเอาอย่างระบบอุดมศึกษาของฝรั่งกระแสหลักมาอย่างเรียนรู้เป็นเสี่ยง ๆ ที่เข้าถึงความดี ความงาม และความจริงไม่ได้ ได้แต่ความรู้ที่มาจากมิจฉาทิฏฐิยิ่งกว่าสัมมาทิฏฐิ

          ถ้าเราจะเอาบทเรียนจากชีวิตและผลงานของท่านอาจารย์อาสภเถระมาประยุกต์ใช้ เราต้องเน้นที่หัวใจของการศึกษา มหาวิทยาลัยสงฆ์ต้องปลุกระดมตัวเองให้หายด้อย ให้เห็นคุณค่าของกาสาวพัสตร์ และพรหมจรรย์ ให้แลโทษของ กิน กาม เกียรติ โดยยินดีเข้าถึงทุกขสัจทางสังคม โดยที่พระเณรส่วนใหญ่ก็เป็นลูกคนจน จึงไม่ต้องอายกำพืดเดิมของตน หากภูมิใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นของบรรพชน และเข้าไปหาคนยากคนจนอย่างจริงจัง ยิ่งกว่าเรียนรู้เพื่อดัดจริตดีดดิ้น เพื่อพยุงฐานะของตนอย่างชนชั้นกลาง หรือชนชั้นสูง ซึ่งสวมหัวโขนต่าง ๆ ไว้อย่างน่ารำคาญยิ่งนัก

          หมายความว่า เราต้องแสวงหาแสงสว่างที่เหมาะสม กับการแปลคำสอนของพระศาสดาในทางที่เราอาจตื่นขึ้นได้จากการครอบงำทั้งหลาย โดยเราจำต้องเข้าใจถึงความซับซ้อนซ่อนเงื่อนของสังคมสมัยใหม่ โดยเฉพาะก็โครงสร้างทางสังคมอันยุติธรรมและรุนแรง ทั้งนี้หมายความว่าเราต้องถามตัวเราเองกันใหม่ว่า ความหมายของชีวิตเราเป็นไปเพื่ออะไร เพื่อมี (to have) เพื่อซื้อ (to buy) เพื่อเสพ (to indulge) เพื่อครอบครอง (to posses) หรือเพื่อเป็นอยู่ (to be) เมื่อเรารู้ชัดทั้งทางหัวสมองและหัวใจว่าการเป็นอยู่สำคัญกว่าการมี การเสพ การครอบครอง เราก็ย่อมรู้ว่าบทบาททางสังคมของเราควรเป็นไปอย่างไร เราควรรับผิดชอบกับสังคมและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอย่างไร เราควรเตรียมตัวและสังคมไว้สำหรับอนุชนคนรุ่นต่อ ๆ ไปอย่างไร โดยที่ทั้งหมดนี้ วิธีการที่นำคำสั่งสอนทางศาสนาในอดีตมาใช้ ไม่มีพลังพอ ที่จะประยุกต์สีลสิกขามาใช้ให้เหมาะสมกับสังคมอุตสาหกรรม กับบรรษัทข้ามชาติ กับโครงสร้างทางสังคมอันมองไม่เห็นได้ง่าย ๆ โดยที่จิตสิกขาจักเป็นไปเพียงเพื่อหลีกลี้ไปจากวิกฤตการณ์ทางสังคม หรือเพียงเพื่อสุขารมณ์ ก็ไม่ถูกต้อง ถ้าขาดสมาธิภาวนา เราจะเข้าใจเมตตกรณียสูตรไม่ได้เลยว่า “มารดาถนอมลูกคนเดียว ผู้เกิดในตน ด้วยยอมพร่าชีวิตได้ ฉันใด พึงเจริญความรักที่มีในใจอย่างไม่มีประมาณ ในสัตว์ทั้งปวง ฉันนั้น” และเมตตาต่างไปจากดำกฤษณาได้ โดยพรหมจรรย์มีค่าเหนือชีวิตคู่ได้ ก็ต่อเมื่อเข้าถึงจิตสิกขาขั้นสูงเท่านั้น น่าเสียดายนักที่มิตินี้ขาดไปจากการศึกษาในกระแสหลัก รวมถึงมหาวิทยาลัยสงฆ์ด้วย โดยที่จิตสิกขาต้องสามารถอบรมให้เราเกิดความตื่นตัวทางปัญญา เพื่อรู้จักสภาวะที่แท้ของเราเองและของสังคม เพื่อนำอริยสัจมาใช้ในการแก้ไขความทุกข์ของสังคม โดยหาเหตุแห่งทุกข์ให้เห็นชัดไปที่ทุนนิยมหรือการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างไม่รู้จักจุดจบ (โลภ) อำนาจนิยม ดังเช่นสงคราม อิรัก และการขายอาวุธในระดับนานาชาติ และการซื้ออาวุธกันในระดับของแต่ละประชาชาติ (โกรธ) และความครอบงำทางวิชาการ หรืออุดมการณ์ ที่มีเพียงหัวสมองเป็นสื่อ หรือการตะเกียกตะกายเพื่อพยุงสถานะของตนให้สูงส่งขึ้นไปเรื่อย ๆ บนความทุกข์ยากของมหาชนและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ (หลง) เมื่อเห็นทุกข์และเหตุแห่งทุกข์ได้ชัด ย่อม หาทางดับทุกข์ได้ตามครรลองของอหิงสธรรมอันได้แก่พระอริยมรรค

          หากทำได้ตามนัยะที่กล่าวมานี้ ย่อมเท่ากับเป็นการบูชาคุณของท่านเจ้าคุณอาจารย์อาสภเถระ ในทางปฏิบัติบูชาอย่างแท้จริง.


๑เมื่อมหาจุฬาลงกรณ์ฯ เริ่มมอบดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์นั้น ดูเหมือนสองท่านแรกที่ได้รับคือสมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) วัดราชบพิธ และ อาสภเถระเอง ข้าพเจ้าได้กราบเรียนเสนอว่าปริญญากิตติมศักดิ์นั้นควรสงวนไว้ มอบให้จำเพาะผู้ที่มีคุณวิเศษจริง หาไม่จะเพรื่อไปอย่างมหาวิทยาลัยทางโลก พร้อมกันนั้น ข้าพเจ้าก็เสนอว่า ภิกขุปยุตฺโต ควรได้รับเกียรติอันพิเศษนี้ในลำดับถัดไป พระคุณท่านติงว่าภิกขุปยุตโตยังอ่อนพรรษาอายุนัก ข้าพเจ้าตอบท่านด้วยความเคารพ ว่าพุทธธรรม ที่พระคุณท่านรจนาออกมานั้น มีความเป็นเลิศยิ่งกว่าที่พระเถระรูปใดจะสามารถแสดงออกมาได้ แม้จะแก่พรรษาอายุกาล หรือสูงส่งกว่าท่านในทางสมณศักดิ์เพียงใดก็ตาม และเวลานั้นดูเหมือนพระคุณท่านอายุได้ ๔๗ แล้ว โดยได้เรียนเตือนพระคุณท่านองค์สภานายกไปด้วยว่า อายุเท่านั้น พระคุณท่านได้ดำรงสมณศักดิ์เป็นเจ้าคณะรอง ที่พระพิมลธรรมแล้ว เป็นอันท่านเห็นด้วย เป็นเหตุให้มหาจุฬาฯ อนุมัติให้ภิกขุปยุตฺโตได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางฝ่ายพุทธศาสตร์ นับว่าท่านเป็นผลิตผลรูปแรกของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ที่ได้รับเกียรติอันสูงส่งถึงขั้นนี้เป็นรูปแรก น่าเสียดายที่ต่อ ๆ มา มีการมอบปริญญากิตติมศักดิ์กันอย่างหมดความเป็นเลิศ แม้สมีและอลัชชีจากสำนักพระธรรมกายก็ยังได้รับเกียรตินี้ด้วย

๒รวมอยู่ในเรื่อง ความเข้าใจในเรื่องพระรัตนตรัยจากมุมมองของ ส. ศิวรักษ์ คณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา, ๒๕๔๒ หน้า ๑๗๐–๒๐๔. ทางวัดทองนพคุณที่ข้าพเจ้าเคยบวชอยู่นั้น แม้อดีตเจ้าอาวาสจะไม่ได้ดำรงสมณฐานันดรที่สูงส่ง แต่ทางวัดก็ได้จัดงานชาตกาลครบศตวรรษถวายพระมหาเถระนั้นๆ มาสองครั้งแล้ว คือ พระเทพวิมล (ชุ่ม ติสาโร) เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๒๕ และ พระภัทรมุนี (อิ๋น ภัทรมุนี) เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ โดยมีหนังสืออนุสรณ์ถึงงานนั้นทั้งคู่ ยิ่งรายหลังด้วยแล้ว มีตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษเนื่องในมหาวิทยาลัยของสหประชาชาติเอาเลยด้วยซ้ำ ชื่อ Buddhist Perception for Desirable Societies in the Future พ.ศ. ๒๕๓๖

๓รวมพิมพ์อยู่ในเรื่อง ภัทรนิพนธ์ คณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา พ.ศ. ๒๕๓๖ หน้า ๑๔๑–๑๗๑

๔เคล็ดไทย พ.ศ. ๒๕๓๗ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒

๕โกมลคีมทอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๗

๖โกมลคีมทอง พ.ศ. ๒๕๔๐ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓

๗บัดนี้รวมพิมพ์อยู่ในเรื่อง คนดีที่น่ารู้จัก, มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๓๗ หน้า ๑๗–๒๗.

๘หาอ่านได้จากหนังสือชื่อ ที่สุดแห่งสังคมสยาม, ศึกษิตสยาม, ๒๕๓๓ หน้า ๒๓๑–๒๕๕

๙หม่อมเจ้าหญิงในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยรับสั่งกับข้าพเจ้าว่า เปรียญลาพรตจากวัดมหาธาตุเท่าที่ทรงรู้จักมานั้น ปราศจากคุณธรรมในความเป็นมนุษย์ที่ดีทุกคน เว้นอยู่แต่หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (แม้รายนี้ ข้าพเจ้าก็ไม่แน่ใจ) กล่าวคือทรงเห็นว่าคนอย่างหลวงวิจิตรวาทการ เรื่อยมาจนนายธนิต อยู่โพธิ์ (ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่ามีคุณสมบัติเหนือคนอื่นๆ อีกมาก) ล้วนมีความกลิ้งกะล่อน และหน้าไหว้หลังหลอกรวมอยู่ด้วยทั้งนั้น รับราชการเพียงเพื่อแสวงหาการไต่เต้าเอาหน้า อย่างขัดแข้งขัดขาคนอื่น เอารัดเอาเปรียบคนอื่น ด้วยวิธีการอันไม่สุจริตนานาประการ รวมถึงการประจบสอพลอต่างๆ อีกด้วย โดยบุคคลที่เอ่ยชื่อมานี้ เป็นผลผลิตมาแต่สมัยสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) เอาเลยด้วยซ้ำ ยิ่งหลังจากนั้นเป็นต้นมาด้วยแล้ว อย่าว่าแต่เปรียญลาพรตโดยทั่วๆ ไปเลย แม้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ รวมถึงผู้ที่ไปเรียนปริญญาโทปริญญาเอกมาจากภารตประเทศ ที่สึกออกไปมีหน้าที่การงานในทางโลกนั้น มักมีชื่อเสียงเสียในทางศีลธรรมจรรยายิ่งกว่าคนที่ไม่เคยบวชมาก่อนเอาเลยด้วยซ้ำ ถ้าแก้ประเด็นนี้ไม่ตก ก็นับว่าการบวชเรียนเป็นทางผ่านให้พวกมิจฉาชีพ ยิ่งกว่าเพื่อเพาะปลูกสัตบุรุษ แล้วผู้ที่ยังบวชอยู่ต่อไปเล่า ถ้าไม่มีหิริโอตตัปปะเสียแล้ว ย่อมใช้ผ้ากาสาวพัสตร์เป็นเครื่องมือในทางมิจฉาอาชีวะยิ่ง ๆ ขึ้น

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :