เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๘
พระไพศาล วิสาโล
|
|
พุทธศาสนาไทยในอนาคต
แนวโน้มและทางออกจากวิกฤต
พระไพศาล วิสาโล
คำนำโดย ประเวศ วะสี, ส. ศิวรักษ์
และนิธิ เอียวศรีวงศ์
จัดพิมพ์โดย
มูลนิธิสดศรีสฤษดิ์วงศ์
พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม ๒๕๔๖
กระดาษกรีนรีด ๒๒๗ หน้า
ราคา ๒๕๐ บาท |
|
|
|
แปดปีล่วงมาแล้ว ประมาณเดือนกันยายน ๒๕๓๘ อาจารย์อุทัย ดุลยเกษม กัลยาณมิตรผู้อาวุโสซึ่งเวลานั้นทำงานอยู่ที่มูลนิธิสดศรี สฤษดิ์วงศ์ ได้ติดต่ออาราธนาข้าพเจ้าเข้าร่วมโครงการ อาศรมความคิด ของมูลนิธิฯ โดยขอให้ช่วยศึกษาค้นคว้าประเด็นที่ข้าพเจ้าเห็นว่า มีความสำคัญต่อสังคมไทย แล้วนำผลงานนั้นออกมาเผยแพร่เพื่อให้มีการขบคิดอภิปรายในวงกว้าง
ข้าพเจ้าเห็นว่าน่าสนใจจึงรับนิมนต์ ปัญหาคือจะศึกษาเรื่องอะไรดี โดยที่ในช่วงนั้นใกล้ขึ้นทศวรรษใหม่ตามปฏิทินไทย ตามมาด้วยการขึ้นศตวรรษและสหัสวรรษใหม่แบบสากล ตามวงการต่าง ๆ โดยเฉพาะในวงวิชาการและสื่อมวลชน มีการคาดทำนายมากมาย เกี่ยวกับอนาคตของสังคมไทย และของโลกในด้านต่าง ๆ ตามกรอบเวลาที่ประกอบด้วยตัวเลข ๒ หลัก จนถึง ๓ หลักก็มี แต่น่าสังเกตว่าแม้จะมีการคาดการณ์ในประเด็นต่าง ๆ มากมาย อาทิ เศรษฐกิจ การเมือง การแพทย์ สาธารณสุข การศึกษา ประชากร สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี ฯลฯ แต่เรื่องพุทธศาสนากลับไม่มีใครพูดถึงเลย ทั้ง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมไทย การละเลยดังกล่าวราวกับจะบอกเป็นนัยว่า อนาคตไม่มีที่ว่างให้แก่พุทธศาสนา
ด้วยความสนใจใฝ่รู้ บวกกับความห่วงใยในอนาคตของพุทธศาสนา ข้าพเจ้าจึงเลือกเรื่อง พุทธศาสนาไทยในอนาคต มาเป็นประเด็นศึกษาในโครงการอาศรมความคิดของมูลนิธิสดศรี สฤษดิ์วงศ์ โดยตั้งใจว่าจะใช้เวลาไม่เกิน ๙ เดือนในการศึกษาค้นคว้า ทั้งนี้ด้วยความตระหนักว่าการ พยากรณ์ อนาคตนั้นมีโอกาสผิดมากกว่าถูก (จำได้ไหมที่บิล เกตส์ ทำนายว่า คอมพิวเตอร์ที่มีความจำเพียงแค่ ๖๔๐ กิโลไบต์ ก็พอแล้วสำหรับอนาคต) นอกจากนั้นหัวข้อนี้ยังเป็นเรื่องใหญ่ ที่เกินวิสัยคนเพียงคนเดียวจะทำให้ดีหรือครบถ้วนสมบูรณ์ได้ แต่ที่หาญกล้าทำงานนี้ก็เพราะเห็นว่าคน ๆ เดียวแม้จะทำงานชิ้นนี้ออกมาได้ไม่ดี ก็ยังดีกว่าไม่มีใครทำเลย ข้าพเจ้าเจียมตัวตั้งแต่แรกแล้วว่าอย่างดีที่สุดที่ตนสามารถทำได้ก็คือ เสนอเค้าโครงกว้าง ๆ เพื่อให้เกิดประเด็นถกเถียงหรือกระตุ้นให้คิดต่อไป รวมทั้งแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นเท่านั้น และที่สำคัญก็คือคงมีส่วนช่วยให้เกิดตื่นตัวมาก เกี่ยวกับสภาพการณ์อันน่าเป็นห่วงของพุทธศาสนาในปัจจุบันและอนาคต
ต่อเมื่อลงมือศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังกลางปี ๒๕๓๙ จึงพบว่า เรื่องนี้ทั้งใหญ่และยากกว่าที่คิดมาก เพียงแค่จะหาเอกสารหรืองานเขียนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ตรง ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเสียแล้ว แม้กระทั่งงานวิชาการเกี่ยวกับศาสนาจากมุมมองทางด้านสังคมศาสตร์ ห้องสมุดในมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งก็ช่วยได้น้อยมาก ยังดีที่ปีนั้นมีโอกาสไปประเทศญี่ปุ่น อาจารย์สุริชัย หวันแก้ว ได้ช่วยให้ข้าพเจ้าสามารถไปค้นหาเอกสารในห้องสมุดของพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาแห่งชาติ..ณ กรุงโอซากา โดยมีนักศึกษาของอาจารย์สุริชัยไปช่วยถ่ายสำเนาให้ ถัดมาอีกปีหนึ่ง ได้มีโอกาสไปเยี่ยมหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ซึ่งกำลังทำปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ทั้ง ๆ ที่มีงานมากอยู่แล้ว แต่หมอโกมาตรก็อุตส่าห์สละเวลา เป็นธุระพาเข้าห้องสมุดของมหาวิทยาลัย และยังช่วยถ่ายเอกสารจากหนังสือจำนวนนับสิบ ๆ เล่ม เอกสารจากสถาบันชั้นนำ ๒ แห่งดังกล่าวเป็นพื้นฐานอย่างดีสำหรับการศึกษาพุทธศาสนาจากมุมมองทางด้านสังคมศาสตร์
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญในการทำงานชิ้นนี้ ไม่ได้อยู่ที่การขาดแคลนเอกสาร แต่ได้แก่เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด เพราะมีงานประจำและงานจรค่อนข้างมาก อีกทั้งมีกิจเดินทางไปต่างประเทศหลายครั้ง ดังนั้นเดือนหนึ่ง ๆ จึงมีเวลาศึกษาและเขียนงานชิ้นนี้ไม่มาก ตามกำหนดงานชิ้นนี้ควรเสร็จประมาณต้นปี ๒๕๔๐ แต่กว่าจะลงมือเขียนงานชิ้นนี้ได้ก็เมื่อเข้าเดือนตุลาคมไปแล้ว ถึงกลางปี ๒๕๔๑ ก็เขียนจบ แต่นั่นเป็นแค่ร่างแรกเท่านั้น
ร่างแรกนั้นห่างไกลจากคำว่า เสร็จ มาก แต่อย่างน้อยก็มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันให้กัลยาณมิตรได้ช่วยวิพากษ์วิจารณ์ได้บ้าง ในเดือนมิถุนายน ๒๕๔๑ ได้มีการประชุมระดมความคิดเพื่อวิจารณ์ร่างนี้เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๔๑ คำแนะนำของหมู่มิตรทำให้เห็นจุดที่ต้องแก้ไขและเพิ่มเติมมากมาย แต่กาลเวลาล่วงเลยมาเกือบ ๕ ปี การปรับปรุงแก้ไขจึงสิ้นสุด ที่ใช้เวลานานไม่ใช่เพราะข้าพเจ้าทำการศึกษาค้นคว้าอย่างหนัก แต่เป็นเพราะปัญหาเดิมคือมีงานอื่นแทรกเข้ามาไม่ขาด ประกอบกับมีปัญหาใหม่เข้ามาคือปัญหาสุขภาพ แม้จะไม่หนักหนา แต่ก็ทำให้ไม่สามารถทุ่มเทกับงานยาก ๆ แบบนี้ได้เต็มที่ จึงต้องค่อย ๆ แก้ไข ค่อย ๆ ปรับปรุง
ตลอดระยะเวลาดังกล่าว มีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายในแวดวงพุทธศาสนา ที่สำคัญก็คือกรณีธรรมกาย ขบวนการกล่าวร้ายพระธรรมปิฎก กรณีสามเณรีธัมมนันทา ความเคลื่อนไหวเพื่อปรับปรุงการปกครองคณะสงฆ์รวมทั้งการต่อต้านจากหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโนและลูกศิษย์ การเรียกร้องกระทรวงพระพุทธศาสนา ยังกรณีอื้อฉาวของพระชั้นผู้ใหญ่หลายรูป ปรากฏการณ์เหล่านี้ได้แง่หนึ่งก็สะท้อนถึงรากเหง้าของปัญหาของคณะสงฆ์และวงการพุทธบริษัท แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ส่งผลต่อพุทธศาสนาไทยอย่างมาก ผลประการหนึ่งต่อการเขียนงานชิ้นนี้ก็คือ ต้องมีการปรับปรุงเนื้อหาให้ครอบคลุมเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ดังกล่าวอยู่เรื่อย ๆ จนดูเหมือนว่าหากไม่รีบเขียนให้เสร็จ ก็คงมีเหตุการณ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นให้ต้องปรับปรุงอีก
ถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ ต้นฉบับหนังสือเล่มนี้ก็มาถึงร่างที่ ๔ แล้ว แต่กว่าจะมีการจัดประชุมวิจารณ์ร่างนี้ก็ล่วงมาถึงเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากข้าพเจ้าไปอยู่ต่างประเทศหลายเดือน กลับมาก็เข้าพรรษาอีก ระหว่างนั้นก็มีการปรับปรุงเพิ่มเติมไปพลาง ๆ เมื่อผนวกกับคำแนะนำและข้อคิดเห็นจากกัลยาณมิตรหลายท่านที่ได้อ่านต้นฉบับ ก็หมายความว่าต้องมีร่างที่ ๕ อีก ถึงตอนนี้หลายท่านขอร้องว่าอย่าให้ต้องมีร่างที่ ๖ เลย ขอให้รีบพิมพ์ออกมาได้แล้ว ไม่เช่นนั้นจะต้องรอนานไปอีก
อย่างไรก็ตามในที่สุดก็มีร่างที่ ๖ จนได้ แต่ไม่ค่อยแตกต่างจากร่างที่ ๕ เท่าใดนัก อีกทั้งไม่ได้ทิ้งเวลาห่างจากกันมากนัก เป็นร่างที่พร้อมจะส่งเข้าโรงพิมพ์ได้ แต่เมื่อเทียบกับร่างแรกแล้ว ก็นับว่าห่างกันไกลมากทั้งระยะเวลาและเนื้อหา เวลาผ่านไปเกือบ ๕ ปี พร้อมกับความหนาเพิ่มเป็น ๓ เท่า แม้จะตัดออกไป ๒ บท แต่ก็มีเพิ่มมาอีก ๗ บท
ต้องขอสารภาพว่า ตลอดเวลาที่เขียนและปรับปรุงงานชิ้นนี้ ข้าพเจ้าอดสงสัยไม่ได้ว่า จะมีสักกี่คนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ ยิ่งหนังสือหนามากเท่าไร ผู้คนก็ยิ่งเบือนหน้าหนีมากเท่านั้น แต่นั่นคงไม่ใช่ปัญหาเท่ากับข้อเท็จจริงที่ว่า คนที่สนใจการฟื้นฟูและปฏิรูปพุทธศาสนานั้นดูเหมือนจะกระจุกตัวอยู่ในวงจำกัด พอนึกถึงคนอ่านที่คงมีน้อยนิดแล้ว (และในจำนวนที่น้อยนิด ที่อ่านจบทั้งเล่มก็ยิ่งน้อยใหญ่) จึงชวนให้สงสัยต่อไปว่าหนังสือเล่มนี้จะมีประโยชน์จริงหรือ แต่เมื่อมองมาที่ตัวเองว่า หนังสือเล่มนี้อย่างน้อยก็มีประโยชน์กับตัวเองตรงที่กระตุ้นให้มาศึกษาและพินิจเรื่องนี้อย่างจริงจัง แม้ใครจะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ แต่หากเราเห็นว่าสำคัญ ก็น่าที่จะทุ่มเทให้กับงานนี้
หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาพูดถึงการปรับปรุงคณะสงฆ์อยู่มาก ในยุคและในบรรยากาศที่ผู้คนเบื่อหน่ายและสิ้นหวังกับคณะสงฆ์มากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างขณะนี้ ข้อเสนอในหนังสือเล่มนี้จึงอาจถูกเยาะหยันว่าเป็นการฝันอย่างลม ๆ แล้ง ๆ ข้าพเจ้าไม่ขอปฏิเสธ แต่ก็ขอร้องว่าอย่าเมินเฉยหนังสือเล่มนี้เพียงเพราะเหตุนี้ การปรับปรุงคณะสงฆ์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ ข้างในยังพูดถึงแนวทางอีกมากมายที่ชาวพุทธทั้งฆราวาสและพระสามารถทำได้ แม้จะไม่แตะต้องคณะสงฆ์เลยก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเราจะสิ้นหวังกับคณะสงฆ์เพียงใดก็ตาม คณะสงฆ์ก็จะต้องอยู่คู่พุทธศาสนาและสังคมไทยไปอีกนาน แม้ว่าการปฏิรูปคณะสงฆ์อาจไม่เกิดขึ้นในชั่วชีวิตของเราเลยก็ตาม แต่ถึงที่สุดแล้วชาวพุทธเราก็ต้องกลับมาถามว่า อยากให้คณะสงฆ์เป็นอย่างไรและจะทำให้คณะสงฆ์ดีขึ้นได้อย่างไร สำหรับผู้ที่คิดว่าการปฏิรูปโครงสร้างคณะสงฆ์เป็นไปไม่ได้แล้ว ทางเดียวที่พอจะมองเห็นก็คือการสร้างคณะสงฆ์อย่างใหม่ขึ้นมา โดยเริ่มจากพระสงฆ์กลุ่มเล็ก ๆ ที่พอจะเป็นความหวังให้แก่พระศาสนาได้ แม้กระนั้นหากพระสงฆ์กลุ่มนี้ขยายตัวอย่างรักษาอุดมคติไว้ได้ ในที่สุดก็ต้องมาเผชิญกับคำถามว่า โครงสร้างอย่างไรที่พึงปรารถนา และหากมองหรือคาดหวังอย่างเล็งผลเลิศเต็มที่ว่า คณะสงฆ์อย่างใหม่จะเข้ามาแทนที่คณะสงฆ์เก่าที่ผุพังไปเองได้ในที่สุด คำถามก็คือจะเอาโครงสร้างอะไรมาแทนที่ของเดิมที่เป็นปัญหา กล่าวอีกนัยหนึ่ง ไม่ว่าจะเลือกแนวทางใด ในที่สุดเราก็ต้องเผชิญกับประเด็นปัญหาในเรื่องสถาบันหรือโครงสร้างคณะสงฆ์ที่พึงปรารถนาอยู่นั่นเอง
หนังสือเล่มนี้ย่อมไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปอย่างแน่นอน แต่อย่างน้อยก็ขอมีส่วนร่วมในการเสนอแนวทางสำหรับการปฏิรูปและฟื้นฟูพุทธศาสนาเมื่อวันนั้นมาถึง ไม่ว่าจะอีกนานเพียงใดก็ตาม
|