าพยนตร์อินเดียเรื่อง อโศกมหาราช (Asoka) ถูกโฆษณาว่าเป็นมหากาพย์แห่งยุคสมัยปัจจุบัน ด้วยทุนสร้างที่มากถึง ๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ รูปี
ความยิ่งใหญ่ของภาพยนตร์อโศกมหาราช ที่ปรากฏผ่านสื่อโฆษณา ทำให้ผู้เขียนรอคอยที่จะได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยจิตใจที่จดจ่อ และก็ไม่ลังเลที่จะซื้อตั๋วเข้าชมทันทีเมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ลงโรงฉาย
เมื่อชมภาพยนตร์เรื่องนี้จบลง ทำให้ได้รู้ว่านี้ไม่ใช่เรื่องราวของพระเจ้าอโศกมหาราช ผู้เป็นธรรมิกราชของอินเดียในอดีต หากแต่เป็นอโศกมหาราชของอินเดียยุคใหม่ในปัจจุบัน
พระเจ้าอโศกมหาราช เป็นตำนานของชนชาติอินเดีย และเป็นมรดกทางจินตนาการของชาติอื่น ๆ อีกหลายชาติในเอเชีย
สำหรับชาวอินเดียแล้วพระเจ้าอโศกมหาราช คือสัญลักษณ์ของความเป็นอินเดียที่ยิ่งใหญ่และทรงพลัง ในวันนี้เมื่ออินเดียประสบสภาวะตกต่ำและไร้พลัง ชาวอินเดียจึงหันกลับไปหยิบเอาความเป็นอโศกมหาราช มาเป็นสัญลักษณ์ของชาติอินเดีย สิงห์อโศกถูกกำหนดให้เป็นสัญลักษณ์ของรัฐบาลอินเดีย ธรรมจักรถูกกำหนดให้เป็นสัญลักษณ์ของชาติอินเดีย
สำหรับหลาย ๆ ชาติในเอเชีย พระเจ้าอโศกมหาราช คือจินตนาการถึงนักปกครองผู้เป็นธรรมิกราชา ที่จะมาสถาปนาสันติสุขให้เกิดขึ้นบนแผ่นดิน เพื่อที่อาณาประชาราษฎร์ของพระองค์ จะได้ปฏิบัติธรรมเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดแห่งชีวิตคือ พระนิพพานในที่สุด
พระเจ้าอโศกมหาราช ในจินตนาการของชาวอินเดียและชาวพุทธเถรวาทนอกอินเดีย จึงมิใช่ตัวตนบุคคล ณ ที่ใดที่หนึ่งหรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หากแต่เป็นธรรมิกราชาผู้ยิ่งใหญ่
แต่มาวันนี้ เมื่อเรื่องราวของพระเจ้าอโศกมหาราช ถูกทำให้เป็นอโศกบนแผ่นฟิล์ม อโศกมหาราชถูกทำให้เป็นปัจเจกบุคคล บุคคลที่ถูกมองผ่านมุมกล้องแบบฮอลลีวูด
ภาพของอโศกมหาราชที่ปรากฏบนจอภาพยนตร์วันนี้ เป็นภาพของอโศกมหาราชที่ถูกทำให้ปรากฏด้วยแสง สี เสียง ตลอดทั้งจังหวะลีลาแห่งอารมณ์ที่เป็นไปตามอิทธิพลของภาพยนตร์ฮอลลีวูด
ภาพยนตร์เรื่อง อโศกมหาราช ถูกสร้างขึ้นมาจากฐานคิดเรื่องธุรกิจภาพยนตร์ ที่มองภาพยนตร์เป็นสินค้าในธุรกิจบันเทิง
ด้วยเป้าหมายเพื่อกำไรคือเงิน ความยิ่งใหญ่ของ อโศกมหาราช จึงถูกสร้างขึ้น ดาราที่เป็นซุปเปอร์สตาร์ เทคนิคการถ่ายทำที่ทันสมัย การตัดต่อ ดนตรีประกอบที่เป็นแบบต่างชาติ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นกระบวนการผลิตเพื่อการตลาด ที่สำคัญที่สุดภาพยนตร์เรื่องนี้มุ่งตอบสนองรสนิยมของตลาดการค้า ที่ผู้คนในตลาดซึ่งแม้จะมีจำนวนมากมาย แต่คนจำนวนมากในวัฒนธรรมตลาดนั้น ดำรงอยู่เป็นคน ๆ ความเป็นมนุษย์แต่ละคนถูกสร้างขึ้นด้วยเป้าหมายเชิงปัจเจก เหมือนมนุษย์ที่เดินกันขวักไขว่ในตลาด แม้จะมีจำนวนมาก แต่มนุษย์เหล่านั้นเข้าไปในพื้นที่นั้นด้วยเป้าหมายเป็นส่วนตัว ความสัมพันธ์กันในตลาดก็เป็นความสัมพันธ์แบบแม่ค้า ลูกค้า ที่มุ่งเอาประโยชน์จากกันและกัน หากลูกค้าจะมีความสัมพันธ์กันเอง ก็สัมพันธ์แบบผู้บริโภคที่มีอารมณ์ตรงกันในส่วนที่กลัวแม่ค้าจะเอาเปรียบ จึงรวมตัวกันปกป้องผลประโยชน์ของตน ในวัฒนธรรมตลาดแบบนี้เอง ที่มนุษย์แต่ละคนกลายเป็นปัจเจก ความสำเร็จ ความล้มเหลว ความรัก ความชัง ความรู้ ความไม่รู้ เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นไปในความหมายของปัจเจก ดังนั้นการจะให้ผู้ชมในวัฒนธรรมตลาดนี้รับรู้อะไรก็ต้องรับรู้แบบปัจเจก
อโศกมหาราช ได้เสนอมุมมองของปัจเจกอย่างสมบูรณ์แบบ เหตุการณ์ทั้งหมดในภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเพียงแต่ฉากแสดงเพื่อให้ผู้ชมเข้าใจความเป็นอโศกแบบปัจเจก ความรัก ความชัง ความกตัญญู ความแค้น ความสำเร็จ ความล้มเหลว ทั้งหมดทั้งสิ้น ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของบุคคลเป็นคน ๆ เป็นส่วน ๆ ตำนานแห่งพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นเพียงฉากให้เรามองเห็นความเป็นอโศกในคนเพียงคนหนึ่ง ซึ่งก็เหมือนเมื่อผู้ชม ชมภาพยนตร์เรื่อง ไททานิค ของฮอลลีวูด ตำนานและประวัติศาสตร์ของเรื่องไททานิค เป็นเพียงแค่ฉากเพื่อให้ผู้ชมสัมผัสได้ถึงความรักของหนุ่มสาวคู่หนึ่งเท่านั้น ผู้ชมภาพยนตร์เรื่องไททานิค ไม่ได้ร้องไห้เพราะเรือไททานิคล่ม แต่ร้องไห้เพราะชายหนุ่มหญิงสาวคู่หนึ่งต้องพรากจากกัน
ความเป็นปัจเจกเช่นนี้ก็มีให้เห็นอย่างดาษดื่นในภาพยนตร์ไทย เช่น ภาพยนตร์เรื่อง ตะลุมพุก ความเป็นตะลุมพุกที่ถูกเสนอผ่านภาพยนตร์ ไม่มีความเจ็บปวดของชาวประมงที่อาศัยอยู่ที่แหลมตะลุมพุก แล้วประสบวาตภัยสูญเสียไปหมดสิ้นทั้งชุมชน ภาพของตะลุมพุกในความรู้สึกของคนไทยที่มีในความทรงจำกับเหตุการณ์วาตภัยในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นความรู้สึกเจ็บปวดกับชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์ชาวแหลมตะลุมพุก แต่วันหนึ่งเมื่อภาพของตะลุมพุกถูกนำเสนอผ่านภาพยนตร์ไทย ตะลุมพุกมีความหมายแค่เพียงฉากบอกเล่าเรื่องราวความรักของหนุ่มสาวคู่หนึ่งเท่านั้น
อโศกมหาราช ก็มีนัยความหมายเหมือนไททานิค เหมือนตะลุมพุก ที่ใช้เรื่องราวในอดีตที่เหลืออยู่ในความทรงจำของประชาชนให้เป็นฉากเพื่อนำเสนอเรื่องราวของปัจเจกชน ความเป็นอโศกมหาราช ที่ภาพยนตร์อินเดียยุคใหม่เสนอให้ผู้ชมได้รับรู้ เป็นความหมายและคุณค่าของบุคคลในเชิงปัจเจกชน มิใช่ในเชิงชุมชนดังเช่นในอดีต
อโศกมหาราช เป็นตัวอย่างของความเปลี่ยนแปลงในวงการภาพยนตร์อินเดีย ที่ทำให้ได้รู้ว่าภาพยนตร์อินเดียได้เปลี่ยนไปตามกระแสภาพยนตร์ต่างประเทศ โดยเฉพาะคือภาพยนตร์จากฮอลลีวูด
ภาพยนตร์อินเดียที่คนไทยได้เคยชม เป็นภาพยนตร์ที่มีเอกลักษณ์ของความเป็นอินเดีย ความเป็นอินเดียที่มีมุมมองชีวิต โลก และสิ่งต่าง ๆ แบบชุมชน คือมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ล้วนอิงอาศัยสัมพันธ์เป็นเหตุเป็นปัจจัยของกันและกัน เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องราวของใครคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว หากแต่เป็นเรื่องราวของหมู่ชน ความสำเร็จหรือความล้มเหลว ก็ล้วนเป็นของหมู่ชน
หากผู้ชมผู้สูงอายุยังพอจำความได้ ภาพยนตร์เรื่อง ธรณีกรรแสง (Mother India) ของเมห์บูบ (Mehboob) เป็นภาพยนตร์อินเดียที่ประทับใจผู้ชมชาวไทยมาก ผู้ชมต่างเดินเช็ดน้ำตาเมื่อเดินออกมาจากโรงภาพยนตร์
ธรณีกรรแสง เป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่าง แม่ ลูก ในครอบครัวชาวนาผู้ยากจน เป็นครอบครัวเล็ก ๆ ในชุมชนเล็ก ๆ ในชนบทของอินเดีย แต่ด้วยมุมกล้องที่ส่องเข้าไปให้ผู้ชมได้มองเห็น สัมผัสกับชีวิตของแม่ ลูก, พี่ น้อง ครอบครัวนี้ภาพที่ได้เห็นเป็นภาพของความเป็นแม่ ภาพของความเป็นลูก ที่รวมกันเข้าเป็นภาพของความเป็นมนุษย์ เป็นมนุษย์ที่ความหมายและคุณค่าแห่งมนุษย์ จะไม่มีความหมายถ้าปราศจากชุมชนและสังคม
ความเป็นแม่ในธรณีกรรแสง ไม่ใช่ของลูกคนใด คนหนึ่ง แต่เป็นแม่ที่เหนือปัจเจก เป็นแม่ที่ผู้ชมแต่ละคนต่างได้สัมผัสกับความเป็นแม่ที่สากล เป็นแม่ของทุก ๆ คน ความเป็นแม่เช่นนี้ทำให้เกิดความรู้สึกสำนึกในใจของผู้ชม เป็นความรู้สึกสำนึกในความเป็นลูก เป็นลูกของแม่ที่ไม่ได้หมายถึงผู้หญิงคนใด คนหนึ่ง หากแต่เป็นผู้หญิงที่เป็นแม่ทั้งมวล
การหลั่งน้ำตาร้องไห้เมื่อชมภาพยนตร์ธรณีกรรแสง เป็นการร้องให้กับความเป็นแม่ในชุมชน ในสังคม เป็นโศกนาฏกรรมของชุมชน ไม่ใช่เป็นเรื่องส่วนตัวของปัจเจกชน
ความแตกต่างระหว่างภาพยนตร์อโศกมหาราชกับภาพยนตร์อินเดียในอดีต อาจจะดูเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน หากแต่ถ้ามองความเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดความแตกต่างนี้ ด้วยมุมมองของชาวพุทธ ความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดาที่ควรมองข้าม แต่ควรเพ่งพินิจให้เกิดสติปัญญา
การเปลี่ยนแปลงในทางภาพยนตร์ เป็นการเปลี่ยนแปลงมุมกล้องที่มองเข้าไปสู่เรื่องราวต่าง ๆ ที่นำมาเสนอต่อสายตาผู้ชม แต่ภาพยนตร์ที่เปลี่ยนมุมกล้องไปย่อมทำให้ผู้ชมเกิดการเปลี่ยนแปลงมุมมองชีวิต และการเปลี่ยนแปลงมุมมองชีวิตนี้ย่อมทำให้ความหมายและคุณค่าในชีวิตเปลี่ยนไป
การมองที่เปลี่ยนมุมไปทำให้ความหมายของสิ่งที่มองเห็นเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ในสังคมชาวพุทธไทยในปัจจุบันนี้ ความเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนในหลักคำสอน ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นมาจากการเปลี่ยนมุมมองใหม่ แล้วทำให้ความหมายของสิ่งที่มองเห็นเปลี่ยนแปลงไป ตัวอย่างเช่น การมองไปที่ชีวิตของพระเวสสันดร พระมหาบุรุษผู้บำเพ็ญทานบารมีในฐานะพระโพธิสัตว์
ด้วยมุมมองใหม่ ที่มองพระเวสสันดรจากแง่มุมของปัจเจกชน ภาพที่มองเห็นคือภาพของนักปกครองที่ไม่รับผิดชอบต่อบ้านเมือง พ่อที่ไม่รับผิดชอบต่อชีวิตของลูก สามีที่ไม่รับผิดชอบต่อภรรยา
ด้วยการมองพระเวสสันดรเป็นปัจเจกบุคคล ทำให้ความหมายของพระเวสสันดรเป็นเพียงแค่บุคคลที่เป็นปัจเจกที่ความหมาย และคุณค่าของความเป็นคน ถูกนิยามขึ้นด้วยความเป็นบุคคล เป็นคน ๆ แยกขาดมาจากชุมชน สังคม มนุษยชาติ และด้วยมุมมองเช่นนี้ทำให้ภาพแห่งความหมายของพระโพธิสัตว์บิดเบี้ยวไป จนกลายเป็นภาพแห่งความอัปลักษณ์
พระเวสสันดรที่เป็นพระโพธิสัตว์นั้นจะต้องมองจากมุมมองของชุมชน สังคม มนุษยชาติ ที่ทำให้ความเป็นพระเวสสันดรปรากฏขึ้นในการแสวงหาสัมมาสัมโพธิญาณ เพื่อมวลมนุษยชาติ
สัมมาสัมโพธิญาณ เป็นความรู้ของมนุษยชาติไม่ใช่ความรู้ของบุคคล คนใด คนหนึ่ง ไม่ใช่ทรัพย์สินทางปัญญาของปัจเจกบุคคล การแสวงหาความรู้เช่นนี้จึงมีความหมายเป็นการเสียสละของมหาบุรุษ ในมุมมองของชาวพุทธ มาเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ จากมุมมองแบบองค์รวมของสรรพสัตว์ มาเป็นแบบปัจเจกบุคคล ภาพของพระเวสสันดรก็มีความหมายกลายเป็น ภาพของบุคคลผู้เห็นแก่ตัว
การเปลี่ยนมุมมองทำให้ความหมายของพระเวสสันดรเปลี่ยนจากผู้เสียสละ เป็นผู้เห็นแก่ตัวได้
ปัญหาเกี่ยวกับมุมมองนี้เป็นปัญหาสำคัญของสังคมชาวพุทธยุคปัจจุบัน
ภาพยนตร์เรื่อง อโศกมหาราช เป็นกรณีตัวอย่างจากสื่อบันเทิงที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงความหมายและคุณค่าต่าง ๆ ในชีวิต โดยที่พวกเราผู้ชมอาจจะไม่เฉลียวใจระวังตัว
ความไม่เฉลียวใจระวังตัว ทำให้ค่อย ๆ เปลี่ยนจุดยืนในการมองดูสิ่งต่าง ๆ และในที่สุดเราอาจจะไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ แบบพุทธได้อีกเลย เพราะเรามองสิ่งนั้น ๆ จากมุมของความโลภ ความโกรธ และความหลงไปเสียแล้ว..