ด้วยเหตุที่บุญมีความหมายที่กว้างขวางดังกล่าว เรื่องที่จัดเป็นการทำบุญ หรือทางของการทำความดีจึงมีหลากหลาย ซึ่งสามารถแบ่งเป็นหมวด ๓ หรือหมวด ๑๐ ก็ได้ ได้แก่ การให้ทาน (ทานมัย) การรักษาศีลและประพฤติดี (สีลมัย) การเจริญภาวนา (ภาวนามัย) การประพฤติอ่อนน้อม (อปจายนมัย) การช่วยขวนขวายรับใช้ (เวยยาวัจจมัย) การเฉลี่ยส่วนความดีให้ผู้อื่น (ปัตติทานมัย) ความยินดีความดีของผู้อื่น (ปัตตานุโมทนามัย) การฟังธรรม (ธัมมัสสวนามัย) การสั่งสอนธรรม (ธัมมเทสนามัย) และการทำความเห็นให้ตรง (ทิฏฐุชุกัมม์)
ท่ามกลางกระแสแห่งบริโภคนิยมใช่ทุกวันนี้ ชาวพุทธให้ความสนใจกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ บุญ เพียงไม่กี่กิจกรรม ที่เน้นเป็นพิเศษก็คงไม่พ้นกิจกรรมที่เรียกว่า ทาน หรือ การบริจาคทาน ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นก็คือ แม้แต่กิจกรรมที่เรียกว่า ทาน ที่ชาวพุทธนิยมทำกันอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นเพียงแค่รูปแบบ ส่วนที่เป็นสาระของทานนับวันจะได้รับความสนใจน้อยลง น้อยลงจนรู้สึกเป็นห่วงว่าในที่สุดอาจจะไม่เห็นสาระ
ครั้นกล่าวถึง สังฆทาน ซึ่งเป็นสิ่งที่นิยมกันอย่างยิ่งก็ยิ่งเห็นชัดเจนขึ้นว่า ชาวพุทธมีความเข้าใจเรื่องทานมากน้อยเพียงใด เพราะเมื่อพูดถึงสังฆทานก็จะนึกถึงสิ่งที่เป็นวัตถุที่ถูกจัดห่อด้วยแผ่นพลาสติกสีเหลือง หรือวัตถุบรรจุสำเร็จในถังสีเหลือง สังเกตได้จากที่เมื่อนึกจะถวายสังฆทาน ก็จะต้องรีบไปซื้อถังสีเหลืองบรรจุสำเร็จรูปไปถวายพระที่วัด ทั้งที่ความจริงสังฆทานหมายถึง การถวายวัตถุสิ่งของที่จำเป็นแก่การดำรงชีพแก่หมู่ของพระภิกษุ โดยไม่เจาะจงว่าจะถวายแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเป็นการเฉพาะ ซึ่งการถวายสังฆทานนั้นพระพุทธองค์ทรงสรรเสริญว่าเป็นทานที่มีอานิสงส์มาก
เมื่อครั้งจัดกิจกรรม เวทีเรียนรู้ : สงกรานต์ ฉลาดซื้อ ฉลาดทำบุญ ร่วมกับชมรมคุ้มครองผู้บริโภคเชียงใหม่ในเดือนเมษายนปี ๒๕๔๕ สิ่งที่พบจากการนำเอาถังเหลืองบรรจุสำเร็จมาเปิดในการประชุมสัมมนาคือ
๑. ถังพลาสติกสีเหลืองและวัสดุใช้สอยอื่นมีคุณภาพต่ำ ไม่มีความคงทนในการใช้งาน แตกเสียหายง่าย ไม่เหมาะแก่การใช้งาน
๒. น้ำดื่ม ข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กล่องใบชา เป็นต้น ไม่อาจนำมาประกอบเป็นอาหารเพื่อบริโภคได้ เพราะมีกลิ่นสารเคมีจากผงซักฟอกหรือสบู่ที่ถูกบรรจุรวมกันในถัง
๓. ปลากระป๋อง นมกระป๋อง นมกล่อง และเครื่องกระป๋องอื่น ๆ ที่ส่วนหนึ่งหมดอายุไม่อาจนำมาบริโภคได้แล้ว
๔. ของใช้อื่น ๆ เช่น ผ้าเช็ดหน้า (ซึ่งเป็นผ้าขนหนูขนาดเล็กสีเหลือง) ผ้าอาบน้ำฝน ก็คุณภาพต่ำ เนื้อบางจนไม่อาจนำมาใช้ประโยชน์ได้
ซึ่งเมื่อกล่าวโดยสรุป ถังเหลืองบรรจุสำเร็จ ที่นิยมนำมาถวายพระเป็นสังฆทานนั้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงประมาณ ๔๐% ที่เหลืออีก ๖๐% นั้นไม่ได้ใช้ประโยชน์ นับเป็นความสูญเสียอย่างยิ่งในทางเศรษฐกิจ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับภาชนะธรรมชาติแบบพื้นบ้านที่บรรพบุรุษได้ทำมาในอดีต ซึ่งก็ได้แก่ ชะลอมสานด้วยไม้ไผ่ บรรจุภายในด้วยอาหารและผลไม้พื้นบ้าน ประดับด้วยช่อ และกรวยดอกไม้ แล้ว ช่างห่างไกลกันเหลือเกิน ทั้งในแง่ของคุณค่า และประโยชน์ที่พระสงฆ์จะได้รับ รวมถึงความภาคภูมิใจในการตระเตรียมของถวายทานที่ได้เลือกสรรอย่างดีด้วยตนเอง
ล่าสุดเมื่อประมาณกลางเดือนสิงหาคมนี้ มีข่าวเรื่องอาหารบูดใส่บาตรพระที่บริเวณหน้าตลาดสมเพชร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ยิ่งเป็นการตอกย้ำวิถีปฏิบัติแห่งทานของชาวพุทธปัจจุบันที่ไม่คำนึงถึงทานวิจัยตามวิถีแห่งพุทธ
เรื่องนี้เป็นปัญหาที่สำคัญปัญหาหนึ่งของเชียงใหม่ที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่มานานแล้ว ซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอย่างสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เทศบาลนครเชียงใหม่ เจ้าของตลาด ผู้ค้าอาหารใส่บาตร รวมถึงผู้ซื้ออาหารใส่บาตรซึ่งส่วนใหญ่ ก็จะเป็นกลุ่มผู้ที่ไม่มีเวลาในการเตรียมอาหารใส่บาตรด้วยตนเอง เช่น คนทำงานซึ่งต้องมีภาระส่งลูกไปโรงเรียนแต่เช้า นักศึกษาในสถาบันการศึกษาที่อาศัยอยู่ตามหอพักทั้งในและนอกสถาบัน คนเหล่านี้ไม่อาจจะทราบได้ว่าอาหารที่ตนเองซื้อจากผู้ค้าหน้าตลาดสดต่าง ๆ นั้นมีคุณค่ามากน้อยเพียงใด มีรสชาติเป็นอย่างไร รับประทานแล้วจะทำให้เกิดอาการท้องเสียหรือไม่ ทั้งนี้เพราะไม่ได้บริโภคอาหารเหล่านั้นด้วยตนเอง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ และชมรมคุ้มครองผู้บริโภคเชียงใหม่ ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีอาหารบูดใส่บาตรมานานหลายปี และมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาอยู่ระดับหนึ่งด้วยการออกตรวจ การนำประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นพูดคุยผ่านสื่อวิทยุ หรือการนำอาหารพื้นบ้านมาวางขายเพื่อให้คนซื้อใส่บาตรและกำหนดเป็นถนนสายศาสนา แต่ก็ไม่อาจทำให้ปัญหานี้หมดลงไปได้
จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นทราบว่า แท้จริงแม้จะมีผู้นำอาหารใส่บาตรมาวางขายบนฟุตบาทหรือบนถนนตอนเช้า ๆ จำนวนหลายราย แต่ข้อเท็จจริงคือมีผู้ผลิตอาหารเพียงไม่กี่รายเท่านั้น แต่ที่ต้องแบ่งแยกกันตั้งอาหารขายหลาย ๆ ที่ก็เพียงเพื่อจะแสดงให้ผู้ซื้อเห็นว่ามีผู้ (ผลิต) ขายที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้บริโภค (ผู้ซื้ออาหารไปใส่บาตร) รู้สึกว่ามีทางเลือก หรือมีสิทธิ์ที่จะเลือกซื้อได้มากขึ้น
ถามว่าผู้ประกอบการผลิตอาหารเหล่านี้ทราบหรือไม่ ว่าอาหารที่ตนเองผลิตนั้นไม่สามารถบริโภคได้เพราะบูดเสียก่อนที่พระจะฉัน แถมยังไม่มีคุณค่าทางอาหารเอาเสียเลย อย่างกรณีต้มแตงใส่หนังหมูสักชิ้นสองชิ้น สาคูต้มใส่สี เป็นต้น คำตอบคือ รู้ แต่ที่ยังคงทำอยู่ผู้ประกอบการให้เหตุผลว่าเป็นเพราะผู้ซื้อต้องการของถูก (บางครั้งตัวเลขมงคล เช่น จำนวน ๙ ชุด ก็เข้ามามีอิทธิพลด้วย) แต่ปริมาณมาก จริงเท็จแค่ไหนคงต้องตรวจสอบกันต่อไป อย่างไรก็ตามสิ่งที่พอสรุปได้ในชั้นนี้ก็คือ ผู้ประกอบการผลิตอาหารนั้นเป็นผู้ที่ขาดความรับผิดชอบอย่างยิ่ง ซึ่งถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็ต้องบอกว่า ใจร้ายมาก เพราะรู้ทั้งรู้ว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่ก็ยังฝืนทำอยู่อย่างต่อเนื่องแบบไม่กลัวบาป หรือที่เรียกขาดหิริโอตตัปปะนั่นเอง
ด้านผู้ซื้อของเพื่อทำทานหากไม่รู้ก็คงพอให้อภัย แต่หากเมื่อทราบความจริงแล้วก็ยังไม่ปรับปรุง ยังคงถือปฏิบัติเช่นเดิมไม่ต่างอะไรกับผู้ประกอบการผลิตอาหารนั่นเอง ที่สำคัญปรากฏการณ์เหล่านี้ถือได้ว่าเป็นการตอกย้ำความจริงของสังคมพุทธในเรื่องที่ว่า การทำทานในปัจจุบันเหลือเพียงรูปแบบเท่านั้น ส่วนสาระแห่งทานได้หล่นหายไปจากความรู้สึกนึกคิดของชาวพุทธกลุ่มหนึ่งเสียแล้ว
คงได้แต่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายจะต้องเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้มากขึ้น มีการดำเนินการในหลายระดับมากขึ้น โดยเริ่มต้นจากผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบโดยตรงซึ่งได้แก่เทศบาลนครเชียงใหม่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ดำเนินการสำรวจผู้ค้าขายอาหาร และผู้ประกอบการผลิตอาหารใส่บาตรแล้วขึ้นทะเบียนไว้ จากนั้นก็ทำความเข้าใจและขอความร่วมมือให้ผู้ค้าและผู้ประกอบการผลิตอาหารใส่บาตร ให้ผลิตอาหารใส่บาตรที่มีคุณภาพ สด สะอาด และมีคุณค่าต่อร่างกาย รวมทั้งดำเนินการในแง่กฎหมายกับผู้ประกอบการในกรณีที่ไม่ให้ความร่วมมือ ด้านคณะสงฆ์และองค์กรผู้บริโภคในจังหวัดเชียงใหม่คงต้องช่วยกันรณรงค์กับชาวพุทธทั้งหลาย ให้หันมาใส่ใจสาระแห่งการทำบุญที่เรียกว่าทานมัยนี้ให้มากขึ้น ทั้งในแง่การทำกิจกรรมรณรงค์สาธารณะ การเทศน์ในงานพิธีต่าง ๆ รวมถึงสื่อสารผ่านสื่อวิทยุและโทรทัศน์เป็นต้น
สิ่งสำคัญคือชาวพุทธจำเป็นต้องทบทวนการให้ทาน ทบทวนสาระแห่งทานผ่านการศึกษาหลักการแห่งทาน ตามที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา และหลักการแห่งทาน ที่บรรพบุรุษชาวพุทธ ได้ถือปฏิบัติกันมาอย่างรู้ซึ้งถึงสาระอย่างต่อเนื่องมายาวนาน ความหวังที่จะสืบทอดสาระแห่งทานสู่ชาวพุทธรุ่นต่อ ๆ ไป จึงจะสดใสและดูมีอนาคต
สุดท้าย ชาวพุทธจำเป็นต้องทบทวนหลักการแห่ง บุญ ที่มีหลักการและความหมายกว้างขวาง และใส่ใจการทำบุญอย่างพุทธ กล่าวคือ เลือกวิธีการในการประพฤติเพื่อชำระสันดาน ซึ่งเป็นความประพฤติชอบทางกายวาจาและใจ เป็นการทำความดี เป็นการทำกุศล และเป็นการทำให้เกิดความสุขที่เหมาะสม ซึ่งได้แก่ การให้ทาน การรักษาศีลและประพฤติดี การเจริญภาวนา การประพฤติอ่อนน้อม การช่วยเหลือสังคมรอบข้าง การเปิดโอกาสให้ผู้อื่นมีส่วนในการทำความดี ความยินดีความดีของผู้อื่น การฟังธรรม การสั่งสอนธรรม และการทำความเห็นให้ตรงต่อไป..