เสขิยธรรม
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๘

จับกระแส

สุชาดา จักรพิสุทธิ์
จาก กระแสทรรศน์ มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๖ หน้า ๖

การศึกษาทางเลือก เมื่อชุมชนปฏิรูปการศึกษาเอง

 

เมื่อพูดถึง “การศึกษา” คนส่วนใหญ่ก็จะนึกไปถึงโรงเรียนหรือสถานศึกษา อันเป็นระบบการให้ความรู้แก่ประชากรที่รัฐจัดขึ้น โดยเชื่อกันว่าเป็นระบบการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ที่ดีที่สุด แม้กระทั่งคิดกันว่าถ้าไม่ไปโรงเรียนก็ “ไม่มีความรู้”

          นี่เป็นโลกทรรศน์ความเข้าใจของสังคมไทยที่เกิดขึ้นมานานกว่าร้อยปี นับแต่ที่เรามีระบบโรงเรียนเรื่อยมา

          แต่ในความเป็นจริง ระบบการศึกษาแบบโรงเรียนกำลังประสบความล้มเหลว

          ไม่เพียงแต่ในสังคมไทย หากแต่ในโลกทั่วไป

          เนื่องจากระบบการผลิตของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป อันเป็นผลจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการสื่อสาร นำมาซึ่งกระแสคิดการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในทรัพยากรมนุษย์

          บนความเชื่อที่ว่า การศึกษาคือเครื่องมือพัฒนามนุษย์ที่สำคัญที่สุด เราจึงได้เห็นกระแสการปรับตัวของระบบการศึกษาที่กำลังดำเนินไปทั่วโลก เช่นเดียวกับการศึกษาไทยที่ผูกติดกับระบบราชการตลอดมา ก็ถึงจุดวิกฤตและต้องปรับตัว

          เสียงเรียกร้องการปฏิรูปการศึกษา ด้านหนึ่งได้สะท้อนถึงอารมณ์ของสังคมที่มีต่อการศึกษาของลูกหลาน อย่างน้อยก็คือ ความต้องการที่จะให้ลูกหลานไทยมีความสุขกับการเรียนรู้ได้มากกว่าที่ผ่านมา

          จนถึงการตั้งคำถามต่อบทบาทของโรงเรียนในโลกยุคใหม่ (Post Schooling) และข้อเท็จจริง ความจริงจังของรัฐในการปฏิรูปการศึกษา

          อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปการศึกษาไทยที่กำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้จนล่วงเข้าปีที่สี่ ยังคงเน้นความสำคัญและการทุ่มเททรัพยากรแก่ระบบการศึกษาอย่างเป็นทางการเท่านั้น

          โดยมิได้เข้าใจถึงสถานการณ์ข้อเท็จจริง ที่เวลานี้ภาคประชาชนเกิดการขยายตัว รวมกลุ่ม จัดตั้งตนเองกันราวกับดอกเห็ดหน้าฝนถึง ๖๐,๐๐๐ กว่ากลุ่มทั่วประเทศ

          เพื่อดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบและเนื้อหาต่าง ๆ อย่างหลากหลายน่าทึ่งยิ่งนัก อันเนื่องมาจากความต้องการที่จะฟื้นคืนบทบาทและสิทธิการจัดการศึกษาแก่ลูกหลาน ด้วยความตระหนักรู้ว่าการศึกษาในระบบโรงเรียนนั้น ได้พรากลูกหลานของเขาไปจากชุมชนมาช้านานแล้ว

          ในขณะที่ความรู้ของชุมชนและวัฒนธรรมกำลังอ่อนแอลง ชุมชนจะต้องกอบกู้สถานการณ์ของตน ด้วยการใช้ความรู้ภูมิปัญญาที่มีอยู่สร้างการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับปัญหาและชีวิตจริงของชุมชนขึ้นมาด้วย

          ปรากฏการณ์ดังกล่าว สะท้อนถึงความหมายอย่างกว้างของ “ความรู้” และ “การศึกษา” อันเป็น กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่มิได้มีเป้าหมายในการสนับสนุนความสามารถของปัจเจกบุคคล หรือปริญญาบัตรเท่านั้น หากแต่มุ่งหมายเพื่อการแก้ปัญหาของส่วนรวม ความรู้ของชุมชนจึงเป็นความรู้สาธารณะ ที่มีฐานการเรียนรู้อยู่บนฐานของชีวิตและวัฒนธรรม หรือการเอาปัญหาเป็นตัวตั้ง (Problem base) ไม่ใช่การเอาวิชาเป็นตัวตั้ง (Content base) เป็นความรู้ในเชิงปฏิบัติ (Pragmatism) ที่เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมและความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชน โดยมีแนวคิดด้านการแบ่งปันเอื้อเฟื้อและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ จนกล่าวได้ว่าเป็นความรู้ที่มีมุมมองทางศาสนธรรมกำกับ

          อาทิ ความรู้ในเรื่องเกษตรอินทรีย์ที่เคารพธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตอื่น

          ความรู้ด้านสัจจะออมทรัพย์ที่เน้นความมั่นคงของชุมชนส่วนรวม เป็นต้น

          ซึ่งปัจจุบันมีการสืบทอดผ่านปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน เยาวชน โดยชุมชนหลายแห่งมีการรวบรวมองค์ความรู้ จัดทำหลักสูตร จัดระบบแบบแผนและกิจกรรมการถ่ายทอดความรู้เหล่านี้กันอยู่อย่างคึกคักต่อเนื่อง

          รวมถึงการร่วมมือข้ามกลุ่มข้ามชุมชน เกิดเป็นเครือข่ายของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างกว้างขวาง

          อาจกล่าวได้ว่านี่คือกระแสการเรียนรู้ทางเลือก ที่น่าจะเป็นการศึกษาในความหมายที่แท้จริง อันหมายถึงการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาทั้งปัจเจกและชุมชน เป็นการเรียนรู้ความดี ความงาม ความจริงเพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งกาย ใจ จิตวิญญาณ และเป็นการศึกษาที่แก้ทุกข์แก้จนได้

          ซึ่งสำคัญกว่า “เก่ง ดี มีความสุข” ของใครของมันเสียอีก

          การศึกษาทางเลือกดังกล่าวนี้ พบว่าจำแนกได้ ๗ ฐานการเรียนรู้คือ

          ๑.การศึกษาทางเลือกที่จัดโดยครอบครัว หรือ Home School ครอบคลุมทั้งแบบครอบครัวเดี่ยวและกลุ่มครอบครัวหรือเครือข่าย ปัจจุบันมีอยู่เกือบ ๑๐๐ ครอบครัวทั่วประเทศ

          ๒.การศึกษาทางเลือกที่อิงกับระบบของรัฐ ได้แก่ โรงเรียนในระบบที่จัดกระบวนการเรียนรู้แบบ เน้นการปฏิบัติและประสบการณ์ของผู้เรียน มีการสร้างเสริมนวัตกรรมการเรียนรู้อยู่เสมอ เช่น โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก โรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนปัญโญทัย เป็นต้น

          ๓.การศึกษาทางเลือกสายครูภูมิปัญญา ได้แก่ พ่อครูแม่ครู ปราชญ์ชาวบ้าน ที่สังกัดกลุ่มหรือเครือข่าย และดำเนินการถ่ายทอดภูมิปัญญาแก่ชนรุ่นหลังทั้งแบบเสียค่าใช้จ่ายและไม่เสียค่าใช้จ่าย ในความรู้ด้านศิลปะการช่าง การแพทย์พื้นบ้านและสมุนไพร การอ่านเขียนอักษรโบราณ นาฏศิลป์พื้นบ้าน เป็นต้น

          ๔.การศึกษาทางเลือกสายศาสนธรรม ซึ่งจัดกระบวนการเรียนรู้แก่สมาชิกและสาธารณะโดยเน้นศาสนธรรม มีกิจกรรมการฝึกฝนจิตใจและวิถีชีวิตทั้งแนวปฏิบัติธรรม การปฏิบัติสมาธิ แนวต่อต้านบริโภคนิยม แนวเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น ได้แก่ สัมมาสิกขา สันติอโศก ปอห์เนาะ

          ๕.การศึกษาทางเลือกที่เป็นสถาบันนอกระบบรัฐ ได้แก่ กลุ่มกิจกรรมทางการศึกษาที่มีเจตนาในการจัดการเรียนรู้แก่กลุ่มเป้าหมายของตน ในรูปแบบกระบวนวิชา การฝึกอบรม การบรรยาย เช่น สถาบันการเรียนรู้ขององค์กรพัฒนาเอกชน ศูนย์ ชมรม อาทิ เสมสิกขาลัย มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มหาวิชชาลัยชุมชนปักษ์ใต้ โรงเรียนใต้ร่มไม้ โรงเรียนชาวนา สถาบันโพธิยาลัย เป็นต้น

          ๖.การศึกษาทางเลือกของกลุ่มการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม เป็นภาคการเรียนรู้ที่กว้างขวางหลากหลายที่สุด ทั้งกลุ่มการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมออมทรัพย์ การเกษตร การแพทย์พื้นบ้าน การพัฒนาอาชีพ การสืบสานภูมิปัญญาและวัฒนธรรม การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ – สิ่งแวดล้อม การอนามัยและสาธารณสุข การป้องกันยาเสพติด สิทธิชุมชน เป็นต้น

          ๗.การศึกษาทางเลือกผ่านสื่อการเรียนรู้และแหล่งเรียนรู้ ทั้งที่ผ่านสื่อสารมวลชนประเภทสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์และสื่อสมัยใหม่อย่างเว็บไซต์ รวมถึงห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ แหล่งท่องเที่ยว หรือแหล่งเรียนรู้สาธารณะที่ให้สาระความรู้ มีความต่อเนื่อง ก่อเกิดการเรียนรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง

          ด้วยเหตุนี้ การศึกษาทางเลือกจึงเป็นกระบวนการสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง ที่กำลังบอกแก่สังคมไทยว่า การปฏิรูปการศึกษาที่แท้ต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

          เป็นการปฏิรูปการศึกษาที่มีผลในทางพัฒนาประชากรและแก้ปัญหาบ้านเมืองได้

          เป็นการศึกษาที่อิงอาศัยฐานทรัพยากร ฐานวัฒนธรรมและฐานภูมิปัญญาของแผ่นดินไทยเป็นสำคัญ

          ในโลกที่รัฐอ่อนแอลงแต่สังคมมีขนาดใหญ่และซับซ้อนขึ้น มีวิกฤตหลายด้าน เป็นธรรมดาธรรมชาติที่จะเกิดมีการแสวงหาทางเลือกนอกเหนือระบบหลักที่มีอยู่

          จึงแทนที่จะกีดกันความรู้และการเรียนรู้เหล่านี้ออกไปนอกภาครัฐ น่าที่การปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติเวลานี้ จะเปิดที่ทางให้การศึกษาทางเลือกได้หลอมรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบความรู้ของสังคมไทย.. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ๑๒๔ ซอยวัดนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๘๖๓๑๑๑๘, ๐๖-๗๕๗๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๔๓๗๘๘๗๕
... e-mail :