เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๘
อนุรักษ์ ภาคภูมิ
อนเข้าพรรษาไม่กี่วันมีข่าวที่น่าสนใจ เมื่อที่ประชุมกรรมการเถรสมาคมธรรมยุต ได้หยิบยกเอาประเด็นนักบวชเกย์ขึ้นมาพิจารณาในที่ประชุม หลังจากนั้นเข้าพรรษาได้สองสัปดาห์ก็มีข่าวกระตุกโพธิภาวะชาวพุทธตามมาติด ๆ เมื่อมีการเผยแพร่ภาพสามเณรตุ้งติ้งถ่ายรูปคู่กันที่หลาย ๆ คนคิดว่าน่าจะเป็นเกย์ ไปทั่วอินเตอร์เน็ต หลายเว็บไซต์ พร้อม ๆ กับภาพพระสงฆ์สี่รูปในอิริยาบถสบาย ๆ ที่หลาย ๆ คนมักไม่ชอบใจเมื่อเห็นภาพทำนองนี้ เพราะคุ้นชินกับภาพพระสงฆ์ที่สงบเสงี่ยมเรียบร้อ ยและภาพทำนองนี้ คงมีผลให้คณะสงฆ์วิตกกังวลใจต่อความสงบสุขของประชาชนชาวพุทธมากยิ่งขึ้นไปอีก
ดังนั้น หัวข้อเรื่องเกี่ยวกับนักบวชเกย์ ซึ่งที่ประชุมสงฆ์เถรสมาคมนำมาพิจารณาอย่างไม่ต้องสงสัยเลยก็คือ การล่วงละเมิดทางเพศของพระเกย์กับเด็กชาย โดยมีชุดความคิดอยู่ว่า เกย์บวชเข้ามาแล้วไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ได้ ต้องลักลอบมีเซ็กส์กับเพศเดียวกัน ในขณะบวชเป็นพระหรือในที่สุดก็ล่วงละเมิดกับเด็กผู้ชาย หรือกับเด็กวัดจนเป็นข่าวดังทางหน้าหนังสือพิมพ์
เรา ๆ ท่าน ๆ ทั้งหลายที่เป็นชาวพุทธเอง ก็อาจจะคิดให้หลุดไปจากกรอบอันนี้ได้ยาก เพราะยังคงติดอยู่กับภาพของเกย์ว่าเป็นบุคคลที่ฝักใฝ่และสนใจในเรื่องเพศ ทั้ง ๆ ที่อาการฝักใฝ่และสนใจในเรื่องเพศนั้นสามารถมีได้และเป็นได้กับคนทุกเพศอยู่แล้ว ไม่ว่าหญิงชายหรือเพศสภาพอื่น ๆ (ข้อนี้พึงสังเกตได้จากคอลัมน์ตอบปัญหาทางเพศในหนังสือพิมพ์และวารสารต่าง ๆ ที่มีผู้เขียนไปถามไถ่ไม่ขาดสายทั้งชายหญิง เกย์ เลสเบี้ยนและดูคอลัมน์หรือข้อเขียนที่เกี่ยวกับเรื่องเพศจะได้รับความนิยมไปทุกขณะเสียด้วย เพราะมีปรากฏทั้งในหนังสือพิมพ์และวารสารแฟชั่นมากมายหลายฉบับ) ในฐานะที่เป็นฆราวาสปุถุชนคนธรรมดาก็น่าจะมองได้ว่าเพศเป็นเรื่องปรกติของมนุษย์ แต่ชาวพุทธส่วนมากก็ไม่สามารถมองได้ว่าเพศเป็นเรื่องปรกติ เพราะเพศถูกมองว่าเป็นเรื่องต่ำ ยิ่งเมื่อมีวิถีทางเพศที่แตกต่างด้วยแล้วนั่นเป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าคน ๆ นั้นต้องมีความสนใจในเรื่องเพศที่ ‘มากกว่า’ คนทั่วไป
ประกอบกับข่าวพระสงฆ์เกย์ล่วงละเมิดทางเพศกับเด็กชายก็ดี หรือข่าวเกย์ฆาตกรรมเกย์ซึ่งมีให้เห็นตามพาดหัวข่าวนาน ๆ ครั้ง (ข่าวเกย์ฆ่าเกย์ส่วนใหญ่แล้วกลับพบว่าเป็นการฆ่าชิงทรัพย์ โดยเด็กที่ถูกหิ้วมาจากข้างนอกที่พักของเกย์เสียเป็นส่วนมาก มีน้อยมากที่เกี่ยวกับเรื่องชิงรักหักสวาท) แต่ละครั้งเมื่อเป็นข่าวขึ้นมาครั้งหนึ่ง ก็กลายเป็นจุดเด่นอยู่ในความทรงจำของผู้คนได้เป็นระยะเวลายาวนาน เมื่อเทียบกับข่าวอื่น ๆ ที่เราอาจจะหลงลืมไปได้ในช่วงเวลาอันสั้น จึงเป็นจิ๊กซอว์ข้อมูลที่นำมาประติดประต่อร้อยเข้าเป็นเรื่องราวได้ไม่ยากว่า คนเป็นเกย์ต้องมีความต้องการทางเพศที่มากกว่าปรกติ และไม่สามารถควบคุมตนเองได้ จนทำให้เกิดเป็นข่าวอื้อฉาวขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่เป็นไปได้ว่ายังมีพระเกย์ที่ยังบวชอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์อีกจำนวนมาก กำลังประพฤติพรหมจรรย์อย่างเงียบ ๆ โดยมิได้เปิดเผยตัวว่าท่านเป็นใคร เราจึงขาดข้อมูลที่น่าสนใจไปอีกเสี้ยวหนึ่งว่า แท้จริงพระเกย์ก็สามารถประพฤติพรหมจรรย์ได้เหมือนกัน แต่ไม่มีท่านใดออกมาเปิดเผยตัวเช่นเดียวกับเกย์ที่แฝงตัวอยู่ในสังคมอื่น ๆ อีกมากมาย
ประเด็นที่กรรมการเถรสมาคมพิจารณาได้อย่างน่ากลัวก็คือการมองว่าการปรากฏตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ของจำนวนพระเกย์เป็นปัญหาที่ต้องรีบกำจัดให้หมดไปมากกว่าจะมองว่าพระเกย์ที่ล่วงละเมิดทางเพศเป็นปัญหา ในที่สุดการมองเช่นนี้จึงเท่ากับเป็นการมองว่าเกย์เป็นปัญหาตั้งแต่ยังไม่ได้บวช หรืออีกนัยหนึ่งมองว่าแม้จะเป็นเกย์ฆราวาสก็เป็นบุคคลที่มีปัญหาอยู่แล้วเมื่อบวชเข้ามายิ่งเป็นภาวะที่อันตราย ดังนั้นในที่ประชุมสงฆ์จึงมีการเสนอทางออกด้วยการกำชับให้เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัดคอยดูแลนาคผู้จะบวชอย่างเข้มงวดมากขึ้นเพื่อไม่ให้นาคเกย์แฝงตัวเข้ามาบวช ถึงแม้ว่าคำวินิจฉัยยังไม่เป็นที่แน่นอนว่า จะจัดการอย่างไรกับพระที่เป็นเกย์ แต่ถ้าเป็นจริงอย่างที่กรรมการเถรสมาคมพิจารณาละก็ อาจเป็นไปได้ว่า ในอนาคตพระสงฆ์หลายรูปอาจถูกจับสึกเพียงเพราะว่าเป็นเกย์ และถ้าจะจับพระเกย์สึกจริง ๆ จะมีการวินิจฉัยกันอย่างไร จะเลือกจับสึกเฉพาะพระที่ดูตุ้งติ้งเท่านั้นหรือ ? แต่บุคลิกตุ้งติ้งบางทีก็ไม่ได้หมายความว่าพระรูปนั้นจะเป็นเกย์เสมอไป หรือพระที่ไม่ได้ตุ้งติ้งแต่เป็นเกย์จะมีวิธีพิสูจน์อย่างไร พระสงฆ์ทั้งที่ตุ้งติ้งและไม่ตุ้งติ้งหากมิได้ประพฤติผิดวินัยสงฆ์ แต่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเกย์ แล้วถูกนิมนต์ให้สึกก็ดูจะเป็นเรื่องที่เกินกว่าเหตุ
และดูจะยิ่งขัดแย้งกันขึ้นไปอีก เมื่อการบวชพระก็มีแนวโน้มทำให้ผู้ชายมีบุคลิกที่เรียบร้อยค่อนไปทางผู้หญิงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะด้วยการนั่ง การเดิน การพูดจา การจับพระเกย์สึก (ถ้าหากเป็นจริงในอนาคต) ก็คงจะเป็นปฏิบัติการที่วุ่นวายโกลาหลเพราะยากจะเดาว่ารูปไหนกันแน่ที่เป็นเกย์ เนื่องจากพระสงฆ์มีมาตรฐานบุคลิกที่เรียบร้อยเหมือนกันหมด
ประเด็นนี้นายสุทธิวงศ์ ตันตยาพิศาลสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นที่แตกต่างออกไปว่า เมื่อเจ้าอาวาสหรือเจ้าคณะผู้ปกครองรู้ว่าพระในปกครองเป็นเกย์ อยู่ ๆ จะไปจับสึกไม่ได้ ยกเว้นแต่ทำผิดพระธรรมวินัยถึงมีโทษขั้นปาราชิกโดยเฉพาะในเรื่องเสพเมถุน (คม ชัด ลึก ๔ ก.ค.๒๕๔๖) ซึ่งฟังดูมีเหตุมีผลกว่า
ประเด็นเรื่องเกย์บวชได้หรือไม่นั้นน่าจะเข้าใจได้จากเนื้อข่าวเดียวกัน เมื่อนายถวิล สมัครรัฐกิจ ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคมได้ให้สัมภาษณ์ไว้ตอนหนึ่งว่า หลักพระธรรมวินัยระบุให้ผู้ชายทุกคนบวชเป็นพระได้ นั่นย่อมแสดงว่าเกย์หรือกะเทยก็สามารถบวชพระได้ เพราะเวลาที่พระคู่สวดสอบถามอันตรายิกธรรมกับผู้ขอบวชนั้นจะถามว่า ‘ปุริโสสิ’ ซึ่งแปลว่า ‘ท่านเป็นชายหรือไม่’ ถ้าผู้ถูกถามเป็นชายมีอวัยวะเพศเป็นแบบชายก็สามารถตอบได้ทันทีว่า ‘อามะ ภันเต’ (แปลว่า ใช่ครับ) คู่สวดไม่ได้ถามว่าท่านเป็นเกย์หรือเปล่า ? เป็นกะเทยหรือไม่ ?
การห้ามเกย์บวชนั้นยังมิใช่วิธีการแก้ปัญหาที่แท้จริง เพราะปัญหาที่แท้จริงนั้นอยู่ที่การมองว่ารักเพศเดียวกันเป็นปัญหา การห้ามบวชมีแต่จะเป็นการผลักคนอีกกลุ่มหนึ่งให้ห่างไกลออกไปจากศาสนายิ่งขึ้น และดูจะขัดกับความคาดหวังของสังคมที่อยากให้คนกลุ่มหนึ่งมีศีลธรรม แต่กลับกีดกันคนกลุ่มนั้นให้ห่างไกลจากศาสนา
สิ่งที่สถาบันศาสนาควรทำเป็นอย่างยิ่งในเวลานี้ก็คือ สร้างความเข้าใจกับคนที่รักเพศเดียวกัน มองเขาด้วยความเมตตา เนื่องจากพวกเขาถูกทำร้ายจากการถูกสังคมปฏิเสธมามากแล้ว หากศาสนายังคงปฏิเสธพวกเขา ก็นับว่ายิ่งเป็นการสร้างความรุนแรงแตกร้าวในสังคมยิ่งขึ้นไปอีก
หากคณะสงฆ์เลือกที่จะปฏิเสธเกย์เหมือนบางประเด็นที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ จึงเป็นเรื่องที่คณะสงฆ์อาจจะต้องทำการบ้านให้มากยิ่งขึ้น เพราะเป็นเสมือนข้อบ่งชี้ว่าพุทธศาสนาไม่สามารถสื่อสารกับสังคมโลกที่กำลังเปลี่ยนไปได้ ขณะเดียวกันในยุคสมัยแห่งบริโภคนิยม ก็เป็นยุคสมัยที่ผู้คนกำลังเบื่อหน่ายศาสนาอยู่แล้วการปฏิเสธคนกลุ่มหนึ่ง (ซึ่งอาจจะมีจำนวนมากด้วยซ้ำ) อาจไม่ได้หมายถึงการปฏิเสธคนกลุ่มหนึ่งที่สามารถบรรลุธรรมได้เท่านั้น แต่ยังหมายถึงความหดสั้นลงของศาสนาที่มีจำนวนผู้ให้ความสนใจที่จำกัดจำนวนลง
ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศของพระเกย์กับเพศเดียวกัน จึงไม่มีอะไรแตกต่างจากการล่วงละเมิดทางเพศของพระกับสีกา การแก้ปัญหาด้วยการห้ามบวช อย่างที่คณะสงฆ์แสดงความเห็น จึงเป็นวิธีการที่ต้องตระหนักเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นวิธีการมองโลกแบบแยกส่วน แทนที่จะมองกันและกันอย่างพึ่งพาอาศัยตามหลักปฏิจจสมุปบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการเลือกปฏิบัติกับเกย์ ที่คนเป็นเกย์มักถูกเลือกปฏิบัติในชีวิตอยู่เสมอ...
|