เสขิยธรรม
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๗
๑๐๐ ปีพุทธทาส
สันติสุข โสภณสิริ

พุทธทาสตายแล้ว ? ๑๐ ปีที่ท่านพุทธทาสละสังขารไป พุทธบริษัทไทยสบายดีอยู่หรือ?

 

ถ้าพูดกันตามภาษาชาวบ้าน ใคร ๆ ก็รู้กันนั้นว่าท่านพุทธทาสมรณภาพไปนานแล้ว ไม่เห็นจะต้องบอกกันตอนนี้ แต่ถ้าพูดกันตามภาษาธรรม หากพุทธทาสตายแล้วจริง ๆ สังคมชาวพุทธไทยก็นับว่าตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

          ก่อนละสังขาร ท่านพุทธทาสได้เขียนสั่งเสียไว้ว่าพุทธทาส

พุทธทาสคงอยู่ไปไม่มีตาย
ถึงดีร้ายก็จะอยู่คู่ศาสนา
สมกับมอบกายใจรับใช้มา
ตามบัญชาองค์พระพุทธไม่หยุดเลย

พุทธทาสยังอยู่ไปไม่มีตาย
อยู่รับใช้เพื่อนมนุษย์ไม่หยุดเฉย
ด้วยธรรมโฆษณ์ตามที่วางไว้อย่างเคย
โอ้เพื่อนเอ๋ยมองเห็นไหมอะไรตาย

แม้ฉันตายกายลับไปหมดแล้ว
แต่เสียงสั่งยังแจ้วแว่วหูสหาย
ว่าเคยพรอดกันอย่างไรไม่เสื่อมคลาย
ก็เหมือนฉันไม่ตายกายธรรมยัง

ทำกับฉันอย่างกะฉันนั้นไม่ตาย
ยังอยู่กับท่านทั้งหลายอย่างหนหลัง
มีอะไรมาเขี่ยไค้ให้กันฟัง
เหมือนฉันนั่งร่วมด้วยช่วยชี้แจง

          แน่นอนคำกลอนสั่งเสียข้างต้น ย่อมไม่ใช่ภาษาแบบโลกย์ ๆ หากสื่อนัยทางศาสนธรรมอันล้ำลึก ผู้ที่ศึกษางานของท่านพุทธทาสย่อมทราบดีว่าภิกษุผู้ริเริ่มนำคำสอนเรื่อง “สุญญตาธรรม” มาเผยแพร่ ย่อมไม่กลายเป็นผู้หลงติดยึดในอัตตาจนคิดว่าตนเองเป็นอมรรตัย ตรงกันข้ามเมธีทางศาสนาผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษท่านนี้ เปี่ยมไปด้วยกตัญญุตาธรรมและกัลยาณมิตรธรรม

          ที่ว่าเปี่ยมด้วยกตัญญุตาธรรม เพราะท่านสำนึกในพระพุทธคุณ ยอมเป็นทาสรับใช้พระพุทธทั้งในขณะที่มีลมหายใจอยู่ แม้ละสังขารไปแล้วก็ยังทำหน้าที่ “ตามบัญชาองค์พระพุทธไม่หยุดเลย”

          ที่ว่าเปี่ยมไปด้วยกัลยาณมิตรธรรม เพราะ “แม้ฉันตายกายลับไปหมดแล้ว แต่เสียงสั่งยังแจ้วแว่วหูสหาย” นับเป็นโชคมหาศาลของพุทธบริษัทไทยร่วมสมัย ที่พุทธาทิบัณฑิตอย่างท่านพุทธทาส ยังปวารณาน้อมตนลงมาเป็นเพื่อนกับคนกิเลสหนาอย่างพวกเรา กับพระเณรในวัดสวนโมกข์เองท่านก็ไม่เคยตั้งตนเป็นครูบาอาจารย์ หากมีความสัมพันธ์ฉันสหธรรมิก ที่ร่วมศึกษาปฏิบัติธรรมด้วยกันโดยอาศัยสิ่งแวดล้อมธรรมชาติภายในสวนโมกข์เป็นครูใหญ่

          นอกเหนือจากพุทธบริษัทเถรวาทแล้ว ท่านพุทธทาสยังเปิดกว้างวิสาสะเสวนากับเพื่อนพุทธต่างนิกายอย่างมีมนสิการ ดังท่านได้เขียนและแปลเรื่องของมหายานและเซนไว้หลายเล่ม เช่น คำสอนของฮวงโป สูตรของเว่ยหล่าง นิทานเซน การอธิบายหลักปฏิจจสมุปบาทโดยใช้ภาพปริศนาธรรมของธิเบต ทั้งยังทำรูปปั้นอวโลกิเตศวรขนาดใหญ่อันเป็นพระโพธิสัตว์ฝ่ายมหายานไว้ในสวนโมกข์ด้วย เป็นต้น

          ยิ่งกว่านั้น สวนโมกข์ของท่านยังยินดีต้อนรับเพื่อนต่างศาสนา บ่อยครั้งจะมีเพื่อนนักบวชชาวคริสต์มาแลกเปลี่ยนเสวนาเรื่อง การปฏิบัติธรรมกับท่าน หรือถึงขนาดร่วมประกอบพิธีเวียนเทียนด้วยกันในวันสำคัญของพุทธศาสนา ดังโรงมหรสพทางวิญญาณ ภายในสวนโมกข์เองก็มีภาพแสดงคติธรรมของหลายศาสนา ความเข้าใจอันดีที่ท่านพุทธทาสมีต่อ “ลัทธิของเพื่อน” นั้น เห็นได้จากงานเขียนของท่านบางเล่ม อาทิเช่น สอนพุทธศาสนาผ่านคัมภีร์ไบเบิล, ใจความแห่งคริสตธรรมเท่าที่พุทธบริษัทควรทราบ

          กัลยาณมิตรธรรมอันลุ่มลึกและไพศาลของท่านพุทธทาสดังกล่าว เป็นคุณธรรมที่หาได้ยากในพระมหาเถระสายเถรวาททั้งในอดีตและปัจจุบัน แต่สำหรับท่านพุทธทาส ท่านเชื่อว่านี้คือแก่นพุทธจริยาอันบรรดาสาวกที่ถือตนว่าเป็นพุทธทาสและธรรมทายาทพึงดำเนินรอยตาม

          เมื่อกายเนื้อตายไปแล้ว ท่านพุทธทาสย่อมมีชีวิตสืบต่อไปใน “กายธรรม” และกัลยาณมิตรธรรมก็เป็นหนึ่งในกายธรรมที่ท่านพุทธทาสฝากฝั่งไว้เป็นแบบอย่างแก่ศาสนิกชนรุ่นหลัง พุทธธรรมแม้จะประเสริฐสูงส่งเพียงใด หากขาดกัลยาณมิตรธรรมเป็นสายระยางเชื่อมโยงธรรมะสู่ใจคน พุทธธรรมก็ไม่ปรากฏเป็นจริงในชีวิตคนและสังคมได้

          มีบาลีว่าเพียงอาศัยพระ-พุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตร บุคคลย่อมสามารถละมิจฉาทิฏฐิไปสู่สัมมาทิฏฐิได้ เช่นกันหากพุทธบริษัทร่วมสมัยอาศัย “กายธรรม” หรือ “บรมธรรม” ของ “พุทธทาส” เป็นกัลยาณมิตรแล้วไซร้ เราย่อมสามารถรู้เท่าทันมายาภาพของสังคมกิน กาม เกียรติ แห่งลัทธิบริโภคนิยมสมัยใหม่ซึ่งยังไปไม่พ้นจากสัญชาตญาณอย่างสัตว์แล้ว สามารถฉุดรั้งตนเองและสังคมขึ้นสู่วิถีแห่งความสะอาด สงบ สว่างได้ในที่สุด

          แม้ท่านพุทธทาสได้จากไปดีแล้ว แต่การที่ท่านยังห่วงพุทธบริษัท ห่วงสังคมไทย จนถึงกับปวารณาให้ “กายธรรม” ของท่านอยู่รับใช้พุทธบริษัทสืบไปนั้น ก็เพราะท่านรู้จุดอ่อนของคณะสงฆ์ และสังคมไทยเป็นอย่างดี ว่าอาจถูกพัดพาไปตามกระแส “วัตถุนิยม” ชนิดกู่ไม่กลับเลยก็เป็นได้

          ท่านพุทธทาสได้ตั้งปณิธานชีวิตไว้ประการหนึ่งว่าจะช่วย “ดึงเพื่อนมนุษย์ให้ออกมาเสียจากวัตถุนิยม” ซึ่งบัดนี้วัตถุนิยมรุ่นเก่าในยุคปลายศตวรรษที่ ๒๐ ได้เติบใหญ่เป็นอสุรกายในคราบลัทธิบริโภคนิยมแห่งยุคดิจิตอลต้นศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งมีอิทธิฤทธิ์ยิ่งกว่าพญามารในสมัยพุทธกาล หรือสมัยใด ๆ ก่อนหน้านี้

          ทุกวันนี้ท่านพุทธทาสยังส่งเสียงแจ้วแว่วอยู่ เพียงแต่ว่าพุทธบริษัทไทยยังสำเหนียกเสียงเพรียกแห่ง “กายธรรม” ของท่าน พุทธทาสแค่ไหนเพียงใด มีสัญญาณที่บ่งบอกว่าเสียงเพรียกของท่านพุทธทาสได้แผ่วจางไปจากใจพุทธบริษัทแล้ว นับตั้งแต่คณะสงฆ์ซึ่งเต็มไปด้วยอลัชชีใหญ่น้อยที่อุกอาจกำเริบเสิบสานยิ่งขึ้นทุกที พระสงฆ์ไม่สามารถเป็นแกนนำทางศาสนาหรือแม้แต่แค่ระดับศีลห้าได้อีกต่อไป

          กรณีตัวอย่าง เช่น ช่วงที่รัฐบาลเปิดให้มีการวิสามัญฆาตกรรม และการฆ่าตัดตอน ผู้ค้ายาบ้าอย่างกว้างขวาง ปรากฏว่าพระสายสวนโมกข์ผู้มีชื่อเสียงรูปหนึ่งบอกแก่หนังสือพิมพ์ว่า ท่านเห็นด้วยกับนโยบายปาณาติบาตเพื่อแก้ปัญหายาเสพติดของรัฐบาล มิหนำซ้ำเมื่อมีการทำโพลสำรวจความเห็นของพระสงฆ์ไทยในกรณีนี้ ผลสำรวจปรากฏว่าพระ ๗๐% เห็นด้วยกับรัฐบาล นี่ขนาดข้อแรกของศีล ๕ ที่บอกกันชัด ๆ ว่าให้ชาวพุทธงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ก็ยังเข้าใจไขว้เขวไปได้ถึงปานนั้น อย่าว่าแต่กรณีพระสนับสนุนการฆ่าคนจะเป็นเรื่องผิดบาปเลย แม้แต่ชาวพุทธหัวดำ ๆ กินข้าวเย็นก็ไม่สามารถบอกได้ว่าการฆ่านก ฆ่าปลาไม่บาป นอกจากนี้ยังมีกรณีอื่นอีกมากมาย กรณีใหญ่ ๆ เช่น กรณีธรรมกาย กรณีผ้าป่าช่วยชาติ หรือกรณีที่พระดังรูปหนึ่งทุ่ม ๓๐ ล้านเพื่อสร้างไทยแลนด์ให้เป็นเมืองแฟชั่น เป็นต้น

          แต่สิ่งที่ท่านพุทธทาสเป็นห่วงที่สุดคือ จิตวิญญาณของชาวพุทธที่ถูกกระทำให้สามานย์โดยลัทธิบูชาวัตถุ ก่อนหน้านั้นพุทธกับไสยของผีก็ดีหรือพราหมณ์ก็ดี อยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์เป็นรากฐานระบบจริยธรรมของพื้นบ้านที่เข้มแข็ง ทั้งยังช่วยปกป้องรักษาธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ ลำธาร ทะเล และสรรพสัตว์ มิได้ถูกทำลายทำร้ายรังแกจากมนุษย์จนสูญเสียสมดุล ท่านพุทธทาสจึงเสนอแก่นพุทธศาสน์และโลกุตตรธรรม ในฐานะที่เป็นวิทยาศาสตร์ทางวิญญาณ ที่สามารถนำมาเป็นอุดมธรรมในวิถีชีวิตทางโลกย์ ดุจลิ้นงูอยู่ในระหว่างเขี้ยวอสรพิษ ทั้งนี้เพื่อสกัดกั้นมิให้พุทธศาสตร์ไปส้องเสพกับไสยศาสตร์และวิทยาศาสตร์ แบบวัตถุนิยมซึ่งทำร้ายมนุษยภาพ และทำลายระบบนิเวศน์ของโลกจักรวาลอย่างรุนแรง

          อันที่จริงในสมัยที่ท่านพุทธทาสยังเดินเหินอยู่ในสวนโมกข์นั้น “ธรรมโฆษณ์” ของท่านก็มิได้เข้าถึงใจชาวพุทธอย่างแพร่หลายนัก แม้ท่านเองจะมีชื่อเสียงโดดเด่นเพียงใดก็ตาม เมื่อท่านละสังขารผ่านไป ๑๐ ปีก็เป็นธรรมดาที่เสียง “ธรรมโฆษณ์” จากสวนโมกข์จะแผ่วเบาลงทุกที จนสักวันหนึ่งอาจเงียบหายไป และวันนั้นอาจเป็นวันที่ “พุทธทาส” ได้ตายไปแล้วจริง ๆ ตายไปจากใจของพุทธบริษัทไทยซึ่งได้กลายเป็น “วัตถุทาส” ของลัทธิบูชาวัตถุอันบ้าคลั่งภายใต้เสื้อคลุมของประเพณีพุทธศาสนาอันวิจิตรตระการ.

.. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ๑๒๔ ซอยวัดนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๘๖๓๑๑๑๘, ๐๖-๗๕๗๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๔๓๗๙๔๔๕
... e-mail :