เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๗
เดวิด อาร์ ลอย เขียน
พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ แปล
จาก The Lack of Technological Progress, Revision,
Spring 2002. Vol. 24 no. 4, pp. 27 33
David R. Loy เป็นศาสตราจารย์ด้านนานาชาติศึกษาที่มหาวิทยาลัยบุงเกียว เมืองชิงาซากิ ประเทศญี่ปุ่น เขาได้นิพนธ์เรื่อง Nonduality (1989) Lack and Trascendence (1996) และ A Buddhist History of the West (2002) เขาเป็นผู้ปฏิบัติธรรมแบบพุทธนิกายเซ็นหลายปีแล้ว และเป็นพระอาจารย์ตามสายซันโบ เกียวดัน
พียงไม่นานเราก็สังเกตได้ว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมไม่ได้ดีเหมือนอย่างที่โฆษณาชวนเชื่อไว้ อย่างน้อยในแง่ของความพึงพอใจ ความสมมาดปรารถนา สุขภาพ อนามัย และสันติภาพของมนุษย์ ทั้งมันยังทำให้เกิดผลกระทบที่น่ากลัวและอาจจะเป็นหายนะต่อโลก อาณาจักรของเทคโนโลยีที่ดูเหมือนจะพังครืนลงไปแล้ว แต่ในขณะเดียวกันมันก็กำลังแผ่ขยายออกไปครอบคลุมปริมณฑลต่าง ๆ ด้วยความยโสโอหังและอันตรายยิ่งขึ้น (Mander ๑๙๙๑ หน้า ๗)
เมื่อมองจากภายนอก คุณลักษณะที่สำคัญสุดของโลกตะวันตกเห็นจะได้แก่ ความมีพลวัตและการมุ่งแผ่ขยายและเติบโตใหญ่ขึ้น เมื่อมองจากภายใน คุณลักษณะแบบเดียวกันก็สะท้อนออกมาจากความเชื่อในความก้าวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสี่ศตวรรษที่ผ่านมา พวกเรามีความเชื่อมั่นในประโยชน์ของความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยหากปราศจากความเชื่อเช่นนี้เราก็แทบจะไม่สามารถอธิบายถึงผลลัพธ์ของความมีพลวัตเหล่านี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำลายล้างระบบนิเวศอย่างกว้างขวาง การครอบงำวัฒนธรรมอื่น ๆ ความเสื่อมโทรมด้านสังคมของชุมชนเราเองและอื่น ๆ หากมองว่าผลลัพธ์เหล่านี้เป็นเพียงผลข้างเคียงของความก้าวหน้า มันก็เหมือนกับการอ้างว่าเราสามารถเจียวไข่ได้โดยไม่ต้องตีไข่ แน่นอนว่าความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีได้ก่อปัญหาขึ้นบางครั้ง แต่ก็โชคดีที่มีวิธีแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยีเช่นกัน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราแก้ปัญหาของความก้าวหน้าด้วยการพัฒนาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีก และที่เป็นแบบนี้ก็ดังที่เรารู้กันอยู่หรือถูกปลูกฝังให้เชื่อว่า เราไม่สามารถหยุดยั้งความก้าวหน้าได้
เป้าหมายของความก้าวหน้า
คำภาษาอังกฤษของคำว่า ความก้าวหน้า คือ progress ซึ่งมีรากศัพท์ลาตินว่า progressus ซึ่งหมายถึงการก้าวไปข้างหน้า แต่อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ทิศทางของเรามุ่งไปข้างหน้ามากกว่าจะถอยหลังหรือตกข้างทางไป แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า เรากำลังมุ่งไปยังทิศใดกันแน่ ตามอุปมาอุปไมยนี้ มันก็จะเป็นประโยชน์ถ้าเราจะวัดความก้าวหน้าโดยเทียบกับจุดที่ซึ่งเรากำลังมุ่งหน้าไปหรือเป้าหมายนั่นเอง ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและสังคมที่ช่วยให้เราเข้าใกล้เป้าหมายยิ่งขึ้น สะท้อนว่าเรากำลังก้าวหน้าต่อไป ความก้าวหน้าที่ไม่ได้นำเราเข้าไปใกล้กับเป้าหมายย่อมไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นความก้าวหน้า และยิ่งถ้ามันทำให้การเข้าถึงเป้าหมายยากยิ่งขึ้น มันก็เป็นแค่การก้าวถอยหลังนั่นเอง
ที่พูดนี้ไม่ใช่ประเด็นทางนามธรรม เมื่อมองย้อนประวัติศาสตร์ของอารยธรรมที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าวัฒนธรรมบางวัฒนธรรมได้ถูกทำลายลงโดยวัฒนธรรมอื่น และบางวัฒนธรรมก็ได้ทำลายตนเองลงไป ซึ่งมักจะเป็นผลมาจากการทำลายพื้นฐานด้านนิเวศ ถ้าพวกเราทั้งหลายกำลังก้าวหน้าต่อไปมันก็หมายความว่า อย่างน้อยเราไม่ได้กำลังก้าวเดินไปในทิศทางอย่างที่ผ่านมา ความก้าวหน้าของเราหมายถึงการที่เราทำบางสิ่งที่แตกต่างและดียิ่งขึ้น และจะยิ่งสร้างความชอบธรรมให้กับอารยธรรมของเราที่พึงบรรลุเป้าหมายที่แตกต่างและดียิ่งขึ้น แต่อะไรเล่าเป็นเป้าหมายพิเศษที่เรากำลังก้าวไปหา
ถ้าเราไม่รู้เลยว่าเป้าหมายที่พิเศษนั้นจะเป็นอย่างไร ก็คงเป็นเพราะเราไม่รู้ว่าเป้าหมายของความก้าวหน้าเป็นอย่างไรกันแน่ ถ้าเช่นนั้นอุปมาอุปไมยของ ความก้าวหน้า ก็คงมีปัญหาเสียแล้ว จากนัยเหล่านี้ คำถามแรกที่เราควรพิจารณาไม่ใช่ว่าเรากำลังไปยังจุดหมายที่ต้องการหรือไม่ แต่เป็นคำถามที่ลึกซึ้งยิ่งกว่า นั่นคือ เรากำลังมุ่งไปสู่เป้าหมายอะไรสักอย่างหรือไม่ ถ้าคำตอบคือไม่ แล้วความก้าวหน้าไม่ว่าจะแบบใดก็ตามมันจะมีความหมายอะไรเล่า การขาดซึ่งเป้าหมายบ่งบอกถึงความลุ่มหลงในความก้าวหน้ามากเพียงไร
เหตุที่ว่าคำถามเหล่านี้มักเป็นคำถามที่เราไม่ค่อยจะถามกัน และมักยากจะหาคำตอบ ทำให้ข้าพเจ้าคิดว่า แรงจูงใจของเราอาจจะเป็นอย่างอื่นมากกว่านั้น บางทีเราอาจไม่ได้กำลังไปยังที่แห่งไหน แต่เรากำลังไปจากที่บางแห่ง ซึ่งเป็นที่ที่เราไม่ต้องการไปมากกว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น ประเด็นนี้ก็จะมีผลอย่างมากต่อความเข้าใจของเราเกี่ยวกับความก้าวหน้า ถ้าเราต้องการจะไปจากบางสิ่ง มันก็มีอยู่หลายวิธีที่เราอาจจะทำได้ มีหลายหนทางที่เราอาจจะไปได้ แต่ในการตัดสินใจว่าเส้นทางใดจะดีที่สุด เราจะต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงสิ่งที่เรากำลังพยายามหลีกห่างออกมา ไม่เช่นนั้นในที่สุด เราก็จะมุ่งหน้าไปสู่ทิศทางที่เราต้องการจะหลีกเลี่ยงนั่นเอง
สถานการณ์เลวร้ายที่สุดก็คือ เราอาจจะลากพาสิ่งที่เราพยายามหนีห่างไป ด้วยราวกับว่ามันได้ถูกผูกอยู่กับหางของเรา พูดแบบนี้ฟังดูเหมือนแปลก ๆ แต่อันที่จริงมันก็อาจจะไม่แปลกถ้าเราพบว่าสิ่งที่เราพยายามหนีห่างออกมาก็คือตัวเราเอง หรือแง่มุมบางอย่างของตัวเรา ในกรณีเช่นนั้น ความเข้าใจในตัวเองจะเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน มากยิ่งกว่าความก้าวหน้าใด ๆ ที่กระทำลงไปโดยปราศจากความเข้าใจตนเอง เพราะความก้าวหน้าเช่นนั้นอาจจะส่งผลข้างเคียงที่ไม่ก้าวหน้าเอาเลย ดังที่รู้กันในหมู่นักจิตบำบัดว่า ถ้าเราไม่รู้ว่าอะไรเป็นแรงจูงใจของเรา เราก็มักจะทำสิ่งต่าง ๆ ตามอำเภอใจ สิ่งนี้บอกอะไรเราหรือเปล่าเมื่อโยงไปถึงความลุ่มหลงของเราต่อความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี และผลกระทบที่เป็นอันตรายที่ไม่คาดหมายซึ่งมักจะเกิดขึ้นเป็นอาจินต์
การพัฒนาด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ มักได้รับการส่งเสริมโดยพวกเทคโนแครต โดยพวกเขายกย่องว่า มันจะช่วยให้เรามีอนาคตที่ดีอย่างเช่น มีตึกสูงที่สะอาดและสะดวก และมีรูปแบบการขนส่งใหม่ ๆ ที่ช่วยให้เราไปได้ทุกที่ที่อยากไป คุณยังจำรายการโทรทัศน์ The Jetsons ที่ฉายในช่วงทศวรรษ ๑๙๗๐ ได้ไหม จินตนาการในเบื้องต้นเหล่านั้น ไม่ได้เกิดจากความคิดของผู้เขียนการ์ตูนล้วน ๆ แต่มีรากฐานมาจากวิสัยทัศน์ ในพลานุภาพของเทคโนโลยี ที่ได้รับการส่งเสริมกันตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ ๑๙๔๐ และ ๑๙๕๐ ซึ่งตอนนั้นพวกเขาบอกเราว่า พลังงานปรมาณูจะทำให้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าถูกลง จนไม่จำเป็นต้องติดมิเตอร์
วิสัยทัศน์แบบพวกที่ส่งเสริมเทคโนโลยีไม่เคยเห็นว่าสังคมจะอยู่ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน พวกเขามักเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และบั่นทอนเสถียรภาพ ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาทำนายถึงอนาคตของโลกที่มีเสถียรภาพ สังคมที่มีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบและประชาชนที่รู้สึกมั่นคงและมีความสุข แล้วนั่นเป็นเป้าหมายที่เรากำลังก้าวหน้าไปถึงหรือเปล่า ถ้าใช่ ดูเหมือนว่า ประสบการณ์ที่เรามีกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีในปัจจุบัน ไม่สอดคล้องกับความจริงในข้อนั้นสักเท่าไหร่ สภาพสังคม เศรษฐกิจและธรรมชาติได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้คนจำนวนมากประสบกับภาวะหวาดกลัวกับอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้น ตรงข้ามกับจินตนาการที่ว่าเราจะมีสังคมเทคโนโลยีที่มั่นคง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะไม่มีทีท่าว่าจะช้าลงเลย
แล้วความลักลั่นนั้นผิดปรกติอย่างไรเล่า เมื่อพิจารณาถึงระดับของความสะดวกสบายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ที่คนจำนวนมากในโลกที่พัฒนาแล้วได้รับ รวมทั้งคนที่เป็นผู้กำหนดวิถีทางที่โลกที่พัฒนาแล้วต้องดำเนินต่อไป แล้วทำไมความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคมในโลกตะวันตกกลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มากกว่าจะลดการเปลี่ยนแปลงลงเพื่อไปสู่สังคมที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ทั้งในเมื่อเราเริ่มตระหนักกันว่าอัตราของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหามาก เหตุใดเราจึงไม่สามารถทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้นช้าลงได้เล่า อัตราการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ ทั้งนี้เพราะพวกเราต่างกระตือรือล้นที่จะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาในโลกตะวันตก ในขณะที่ช่องว่างทางด้านเทคนิคและเศรษฐกิจของสังคมที่พัฒนาแล้ว กับสังคมด้อยพัฒนากลับกว้างออกมากขึ้น ในขณะเดียวกันเกือบทุกคนในโลกที่พัฒนาแล้วต่างพร่ำบ่นถึงความเร็วของชีวิตและการขาดแคลนเวลา
เหตุที่ดูเหมือนว่าเราไม่ได้กำลังก้าวหน้าไปสู่โลกในอนาคตอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่ามีเสถียรภาพหรือไม่ก็ตาม และดูเหมือนจะไม่มีจุดสิ้นสุดของการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นอยู่ (เว้นก็แต่ถูกบีบโดยข้อจำกัดด้านนิเวศวิทยาที่เป็นปัจจัยภายนอก) ข้อเท็จจริงเหล่านี้ ทำให้เราต้องกลับมาตั้งคำถามเกี่ยวกับแรงจูงใจที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น เราอาจจะเข้าใจเรื่องนี้ดีขึ้นถ้าเราพยายามทำความเข้าใจกับความลุ่มหลงในความก้าวหน้าของเราว่า เป็นปฏิกิริยาที่เป็นผลมาจากความไม่พึงพอใจกับปัจจุบันขณะ ถ้าเราไม่สามารถค้นหาเป้าหมายที่เรากำลังจะมุ่งไป ถ้าเช่นนั้นก็แสดงว่าเราก็กำลังวิ่งหนีจากบางสิ่งนั่นเอง และบางสิ่งนั้นคืออะไรเล่า มันคงไม่ใช่สิ่งที่เราพบได้ในอดีต (อย่างเช่น ความกลัวต่อความหิวโหย ซึ่งบัดนี้ได้หมดไปเกือบทั้งหมดในประเทศพัฒนาแล้ว และโดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูง) เพราะถ้าบางสิ่งนั้นไม่ได้มีอยู่ในปัจจุบัน หมายถึงไม่ได้รบกวนเราอยู่ ถ้าเช่นนั้นก็ไม่มีเหตุผลใดที่เราจะต้องพัฒนาเทคโนโลยีไปด้วยอัตราเร่งเช่นนี้ ถ้าเช่นนั้นแสดงว่าบางสิ่งที่เรากำลังหลีกหนียังคงดำเนินอยู่ และเป็นแรงกระตุ้นที่มีพลังต่อเรามากเสียยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาอีก และอัตราเร่งของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อมันได้รับแรงกระตุ้นจากบางสิ่งซึ่งควรจะได้รับการแก้ไขอยู่ในกระบวนการนี้แล้ว ในกรณีเช่นนั้น เราก็คงคาดได้ว่าการพัฒนาด้านเทคโนโลยีจะเริ่มช้าลง ในขณะที่หนทางแก้ปัญหาได้เริ่มส่งผลแล้ว หรืออันที่จริงเราอยู่ในท่ามกลางหนทางที่แก้ปัญหาเหล่านั้นบางส่วนแล้ว ซึ่งข้อนี้ก็ไม่ชัดเจนยกเว้นก็แต่เฉพาะพวกที่มีความเชื่อแบบงมงาย (อย่างเช่น นักการตลาดเสรีแบบเสรีนิยมใหม่บางคน) ข้าพเจ้าอยากสรุปว่า ความต้องการที่จะก้าวหน้าพัฒนาไป และความเชื่อในความก้าวหน้า เป็นผลมาจากความรู้สึกพร่องของเราที่ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป
แล้วอะไรล่ะที่เรารู้สึกว่าขาดไปจากชีวิต คำตอบที่ชัดเจนซึ่งผุดขึ้นมาในใจของเราได้แก่ เรากำลังประสบกับความทุกข์ หรืออย่างน้อยก็มีความไม่สบายบางอย่าง และเรารู้สึกว่าการพัฒนาจะช่วยให้ชีวิตเราสะดวกสบายมากขึ้น ความก้าวหน้าหมายถึงอย่างเช่นการมีอาหารดีขึ้น มีระบบขนส่ง ระบบสุขภาพดีขึ้น และมีเวลาว่างที่จะมีความสุขกับตัวเอง พวกเราต้องการความก้าวหน้า เพราะพวกเราปรารถนาจะมีสิ่งเหล่านั้นมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่มีอยู่อย่างเห็นได้ชัด ถ้าเรามองดูที่รายงานผลลัพธ์ของตัวอย่างเหล่านี้ เราก็จะพบเหตุผลสำคัญอย่างน้อยสองประการ ที่ช่วยให้เราเห็นว่า ความรู้สึกพร่องยังดำรงอยู่ต่อไป และเป็นแรงจูงใจให้เราลุ่มหลงกับความก้าวหน้า
เหตุผลประการแรกได้แก่ แม้ว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ช่วยปรับปรุงอาหารของเราและอื่น ๆ ให้ดีขึ้น แต่ก็เป็นที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า การปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่คาดหมายและมีนัยสำคัญ และทำให้ผลของความก้าวหน้านั้น คลาดเคลื่อนไปจากสิ่งที่เราคาดหวัง หรือคลาดเคลื่อนไปจากสิ่งที่เราต้องการอย่างแท้จริง อันที่จริง เราอาจถกเถียงได้ว่า ถ้าเรามีโอกาสรู้ถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นของการปรับปรุงเหล่านี้ล่วงหน้า เราก็อาจจะตัดสินใจไม่ทำการพัฒนาบางอย่าง หรือ (ถ้าแนวคิดเกี่ยวกับความก้าวหน้าของเราคลี่คลายจากแบบเส้นตรง) เราก็อาจจะตัดสินใจปรับปรุงบางแง่มุมของชีวิตด้วยวิธีการที่ต่างออกไป ซึ่งถ้ามีการประเมินผลการพัฒนาด้านเทคโนโลยีเหล่านั้น อย่างเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ตอนนั้น
ยกตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้เรามีอาหารมากมายและมีให้เลือกนานาชนิด (แม้ว่าจะไม่เป็นจริงเสมอไป อย่างเช่น ทุกวันนี้เรามีสายพันธุ์แอปเปิลที่กินได้น้อยลงไป) และอาหารเหล่านี้มีความปลอดภัยมากขึ้นในบางอย่าง (แม้ว่าอาจจะไม่ทุกด้าน โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้วิธีตัดแต่งพันธุกรรม การใส่สารกันบูด และสารปรุงแต่งอื่น ๆ ฯลฯ) แต่อาหารเหล่านี้ก็มีรสชาติด้อยลงไปกว่าแต่ก่อน ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้เราต้องใช้น้ำตาล เกลือ และเครื่องปรุงรสอื่น ๆ มากขึ้น ดูเหมือนว่าสิ่งเหล่านี้ จะเป็นผลมาจากการที่การผลิต และกระจายอาหาร ได้กลายเป็นอุตสาหกรรมขึ้นมา และผลิตภัณฑ์เหล่านั้น จะต้องถูกปรับให้เข้ากับขบวนการด้านอุตสาหกรรม และเงื่อนไขในทางการค้า ปัญหาด้านอาหารที่รุนแรงที่สุดของเรา ดูเหมือนว่า จะเป็นความผิดปกติในการกินที่เกิดเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งรวมถึงการพึ่งพิงกับร้านอาหารแดกด่วนเพิ่มมากขึ้น ปรากฏการณ์เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า เทคโนโลยีด้านอาหารสมัยใหม่ ไม่ได้ช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่าง เรากับอาหาร เลย หรืออีกอย่างหนึ่งก็คือ เราได้สูญเสียบางอย่างที่สำคัญไป ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากการผลิตเพื่อพึ่งตนเอง (และเพื่อแบ่งปันคนอื่น) มาเป็นการมุ่งใช้เทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรม เพื่อการผลิตขนานใหญ่
ในทำนองเดียวกัน เราสามารถใช้ประเด็นนี้ เพื่อพิจารณาถึงวัฒนธรรมของการใช้รถได้ หากเราตระหนักถึงต้นทุนที่แท้จริง ที่เราต้องแลกกับความสะดวกสบายที่ได้มา ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรต่าง ๆ ที่ใช้ขับเคลื่อนรถ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเนื่องจากการใช้รถ ถนนที่เสียหายอันเนื่องมาจากการใช้รถ ผลกระทบของการใช้รถต่อพื้นที่สาธารณะและชีวิตชุมชน ผลกระทบในระดับนานาชาติต่อการพึ่งพิงน้ำมันที่นำเข้าและอื่น ๆ ถ้าเราตระหนักถึงต้นทุนเหล่านี้ เราจะไม่หันไปมุ่งพัฒนาให้เกิดระบบขนส่งสาธารณะที่ดีมากขึ้นกว่าหรือ
แล้วเรื่องการดูแลสุขภาพล่ะ ดูเหมือนว่า จะเป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้า อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างค่อนข้างชัดเจน หรือในบางกรณีก็อาจจะไม่มากเหมือนอย่างที่เราคิดกันก็ได้ ไอวาน อิลลิช (๑๙๙๗) และคนอื่น ๆ หลังจากเขาได้ชี้ให้เห็นว่า หนึ่งในสาเหตุหลักของการเกิดโรคต่าง ๆ ในประเทศพัฒนาแล้วในทุกวันนี้ได้แก่ระบบสาธารณสุข ยิ่งไปกว่านั้น การเน้นที่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทำให้เกิดการมุ่งรักษาโรคด้วยต้นทุนราคาแพง มากยิ่งกว่าจะมุ่งหาวิธีป้องกันโรคซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่า พวกเราต่างถูกกระหน่ำด้วยสื่อต่าง ๆ จากภาครัฐที่ประณามโรคมะเร็งและโรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันอื่น ๆ ว่าเป็นผลมาจากวิถีชีวิตของเราเอง (เช่น สูบบุหรี่มากเกินไป ดื่มเหล้า บริโภคไขมัน และน้ำตาล การไม่ออกกำลังกาย ฯลฯ) เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของเราจากสาเหตุของโรคในทางสังคมอย่างเช่น มลภาวะ เป็นต้น
ทั้งเรายังเข้าสู่ยุคของวัฒนธรรมการใช้ยาเม็ดอย่างไม่เท่าทัน ผลข้างเคียงของการใช้ยาชนิดหนึ่งจำต้องได้รับการบำบัดจากการกินยาชนิดอื่น ๆ ในขณะเดียวกันผลข้างเคียงของการใช้ยาเหล่านี้ก็อาจต้องได้รับการบำบัดเพิ่มเติมขึ้นไปอีก ผลกระทบที่สะสมขึ้นเนื่องจากการใช้ยาและการแทรกแซงบำบัดในรูปแบบอื่น อาจช่วยบรรเทาปัญหาด้านสุขภาพบางอย่างที่เรามุ่งแก้ไขได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้สุขภาพอนามัยโดยรวมของเราดีขึ้น ในลักษณะนี้ก็เช่นกัน ถ้าเราเท่าทันถึงสิ่งที่เราทำอยู่ในปัจจุบัน มันจะไม่ดีกว่าหรือถ้าเราจะพัฒนาวัฒนธรรมการใช้ยาที่พึ่งพาเทคโนโลยีแต่น้อย แต่เน้นที่การป้องกัน ทั้งนี้ถ้าเราสามารถเลือกได้
ท้ายที่สุดแล้ว เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ช่วยทุ่นแรงเหล่านี้ ได้ให้ประโยชน์กับเราอย่างที่มันคุยเขื่องไว้หรือเปล่า กล่าวคือ มันได้ช่วยให้เรามีเวลาว่างในชีวิตมากขึ้นหรือไม่ คำอ้างดังกล่าวดูเหมือนยากจะพิสูจน์ได้เพราะมีหลักฐานหลายอย่างที่ชี้ไปในทางตรงข้าม การสำรวจโดยสมาคมเพื่อนันทนาการและสวนสาธารณะแห่งชาติในสหรัฐอเมริการะบุว่า ในปี ๑๙๙๒ ร้อยละ ๓๘ ของชาวอเมริกันมักบอกว่าตัวเองต้องเร่งรีบเสมอ เมื่อเทียบกับคนจำนวนเพียงร้อยละ ๒๒ ที่พูดแบบเดียวกันเมื่อปี ๑๙๗๑ ในหนังสือเรื่อง คนอเมริกันที่ทำงานหนักเกินไป (The Overworked American) (๑๙๙๒) ของ Juliet Schor ท้าทายว่า ในปัจจุบันคนอเมริกันทำงานนับเป็นชั่วโมงมากขึ้น และเมื่อเร็ว ๆ นี้ในนิตยสาร Utne Reader โจ โรบินสัน (๒๐๐๐) ได้อ้างว่า ปัจจุบันสหรัฐอเมริการั้งตำแหน่งประเทศที่บ้าทำงานมากที่สุดในโลกในหมู่ประเทศอุตสาหกรรม โดยแซงหน้าประเทศญี่ปุ่นไปแล้ว ผู้เขียนกล่าวว่า สามีและภรรยาในสหรัฐทำงานมากขึ้นโดยเฉลี่ย ๕๐๐ ชั่วโมงต่อปีเมื่อเทียบกับเมื่อปี ๑๙๘๐ การสำรวจความเห็นสาธารณะ (poll) ของลู แฮริส ชี้ให้เห็นว่าคนอเมริกันมีเวลาว่างน้อยลงร้อยละ ๓๗ ในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา (อ้างไว้ในหนังสือของเลวิน ๑๙๙๗ หน้า ๑๐๗) ความแตกต่างระหว่างชีวิตเรากับบรรพชนเราช่างมีมากมายเหลือเกิน
ในเมื่อเวลาเป็นหนึ่งในสิทธิพิเศษหลายประการที่ชนพื้นเมืองได้รับมากยิ่งกว่าที่พวกเรามี การสื่อสารระหว่างพวกเขาจึงมักเป็นไปอย่างช้า ๆ อย่างจงใจ พวกเขาไม่ได้มีความเร่งรีบอะไร พวกเขาไม่ได้พยายามจะทำสิ่งต่าง ๆ ให้เสร็จลงด้วยเวลาที่น้อยลง (ที่เราเรียกกันว่าประสิทธิภาพ) เพราะพวกเขามีเวลามากพอจะประกอบกิจที่จำเป็นเหล่านั้นให้สำเร็จลง พวกเขามีความสุขกับการได้พบปะสัมผัสกัน ซึ่งไม่อาจเกิดขึ้นได้ในภาวะที่ต้องเร่งรีบ และเมื่อมีงานที่ต้องทำให้สำเร็จ พวกเขาก็มักจะลงแรงกันทำเป็นกลุ่มอย่างพร้อมพรัก (Mander ๑๙๙๑ หน้า ๖๖)
ถ้าเราจะหาความสัมพันธ์ระหว่างเวลาว่างกับอัตราการพัฒนาเทคโนโลยี เรามักจะพบว่ามันสวนทางกัน ยิ่งเทคโนโลยีของเราก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นเท่าไร ดูเหมือนเราจะมีเวลาว่างน้อยลงเท่านั้น เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะเครื่องยนต์กลไกที่ช่วยทุ่นเวลาให้กับเราจำเป็นต้องได้รับการดูแลและซ่อมแซมโดยตัวเรา และนอกจากเวลาที่พวกเราหลายคนเสียไปกับการใช้คอมพิวเตอร์ พวกเรายังต้องเสียเวลาไปกับการอัพเกรด การซ่อมแซม และการซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ทดแทนของเก่า ไม่ต้องพูดถึงเวลาที่เราต้องสูญเสียไปเพื่อหาเงินมาซื้อเครื่องจักรกลเหล่านี้
สื่อสารมวลชนเองให้การต้อนรับและส่งเสริมเทคโนโลยีสมัยใหม่เหล่านี้ แต่ถ้าเราพิจารณาถึงตัวอย่างข้างต้น เราอาจได้ข้อสรุปว่า ความก้าวหน้า ด้านเทคโนโลยีที่เรามีนี้ มันไม่ได้ก้าวหน้าเหมือนอย่างที่เราอยากให้มันเป็น การพัฒนาที่สำคัญเกือบทั้งหมดได้ทำให้เกิดเงาดำทะมึนที่ทอดยาวออกไป และดูเหมือนว่ามันจะสายเกินไปเสียแล้ว ที่เราจะขจัดเงามืดหรือแก้ไขผลที่เกิดขึ้นเนื่องจากเทคโนโลยีเหล่านี้ แม้ว่าเราอยากจะทำอย่างนั้นก็ตาม
ยังมีอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้น่าสงสัยว่า ความต้องการความสะดวกสบาย ยังคงเป็นสาเหตุที่ทำให้เราลุ่มหลงอยู่กับเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือ ข้อเท็จจริงที่สำคัญก็คือ เราได้พัฒนามาจนผ่านจุดที่ให้อรรถประโยชน์สูงสุด (point of diminishing return) กล่าวคือความสะดวกสบายที่ได้รับเพิ่มเติมจากสินค้าใหม่ ๆ แต่ละชิ้น ไม่สามารถทดแทนกับความเครียดกังวล ที่เกิดเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากความเร่งรีบในชีวิต พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าสิ่งที่เราขาดไปในชีวิต คือความสะดวกสบายเพิ่มมากขึ้น และนั่นเป็นปัญหาที่เรามุ่งใช้เทคโนโลยี และความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจเพื่อแก้ไข แสดงว่ามันก็ไม่ได้ทำหน้าที่ที่ดีอีกต่อไปแล้ว ถ้าเกิดเราให้นิยามกับความก้าวหน้าและความสุขในลักษณะเช่นนี้ นั่นหมายถึงว่าความก้าวหน้าในทุกวันนี้ ไม่ได้ทำให้เรามีความสุขมากขึ้นเลยแม้แต่น้อย
จากรายงานพัฒนาการมนุษย์ขององค์กรสหประชาชาติในปี ๑๙๙๙ สัดส่วนสูงสุดของคนอเมริกันที่บอกว่าตนเองมีความสุขอยู่ในช่วงปี ๑๙๕๗ แม้ว่าในปัจจุบันอัตราเฉลี่ยของการบริโภคของชาวอเมริกันได้เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า ดัชนีชี้วัดความก้าวหน้าสำคัญ ที่ใช้โดยรัฐบาล ได้แก่ การวัดอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP) ซึ่งเป็นดัชนีที่มีข้อบกพร่องอย่างเห็นได้ชัด และคนจำนวนมากเริ่มคิดในทำนองนี้ เพราะมันเป็นดัชนีที่วัดมูลค่าเป็นตัวเงินของสินค้าและบริการต่าง ๆ ซึ่งหมายความว่า ดัชนีนี้จะพุ่งขึ้น ถ้าเกิดผมและภรรยาต้องนำเรื่องขึ้นสู่ศาล เพื่อขอหย่าร้าง หรือพร้อม ๆ กันนั้นมีการตรวจพบว่าผมป่วยเป็นโรคร้ายแรง และต้องได้รับการรักษาที่เรื้อรังและมีราคาแพง ดัชนีชี้วัดที่เป็นทางเลือก ซึ่งพิจารณาถึงปัจจัยที่โยงไปกับสวัสดิการด้านสังคม และคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม แสดงให้เห็นถึงคุณภาพชีวิตที่ลดลงในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ ๒๐ นับแต่กลางทศวรรษ ๑๙๗๐ เป็นต้นมา ทั้งนี้ตามดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (Index of Sustainable Economic Welfare: ISEW) และนับจากปี ๑๙๕๐ เป็นต้นมาตามการสำรวจดัชนีที่ชี้วัดความก้าวหน้าที่แท้จริง (Genuine Progress Index: GPI) เมื่อเร็ว ๆ นี้ (อ้างใน Jackson et. Al ๑๙๙๗ และ Cobb et al. ๑๙๙๕)
เนื่องจากปัญหาเหล่านี้ได้เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ ข้อบ่งชี้ที่สำคัญน่าจะเป็นการที่เราต้องชะลอความเร่งรีบเหล่านั้นลง และพิจารณาถึงความหมายเหล่านั้น แต่ตรงกันข้าม โลกของเรากลับเร่งรีบมากขึ้น ถ้าสินค้าสมัยใหม่ไม่ทำให้เรามีความสุข แล้วการที่เราหลงใหลกับมันก็น่าจะเป็นเพราะเราไม่รู้ว่าจะทำอะไรกับชีวิตเราได้อีกหรือไม่ โชคร้ายที่มันมักเป็นความสัมพันธ์ที่สวนทางกันระหว่าง ความหลงใหลคลั่งไคล้ในโลกตะวันตกต่อความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี กับความสนใจที่มีอยู่เพียงน้อยนิดที่จะพยายามทำความเข้าใจกับความคลั่งไคล้เหล่านั้น
กล่าวโดยสรุป ไม่มีเหตุผลเลยที่เราจะบอกว่า ความคลั่งไคล้ในเทคโนโลยี และความหลงใหลในความก้าวหน้าของเรา เป็นผลมาจากความต้องการขั้นพื้นฐานที่จะได้รับความสะดวกสบายเยี่ยงสิ่งมีชีวิตมากขึ้น เราอาจจะต้องมองปัญหานี้ด้วยวิธีการอื่น ถ้าเราปรารถนาจะค้นพบว่าอะไรกันแน่ที่เรารู้สึกขาด (หรือคิดว่ากำลังขาด) หรืออันที่จริงอาจจะเป็นว่าเรากำลังพยายามหนีจากบางสิ่งแต่แสดงความรู้สึกเช่นนั้นออกมาอีกทางหนึ่ง และนี่เป็นเหตุทำให้มันไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ ข้อสรุปนี้ชี้ให้เห็นเหมือนที่พูดกันในแนวจิตวิเคราะห์ว่า พวกเรากำลังเก็บกด ซึ่งในแง่นี้พุทธธรรมอาจจะให้ข้อคิดบางอย่างได้
การขาดซึ่งตัวตน
เราจะเข้าใจถึงอนัตตา หรือการไม่มีตัวตน ซึ่งเป็นคำสอนทางพุทธศาสนาที่ฟังดูแปลก ๆ และปฏิเสธอัตตาที่เราเห็นว่ามีอยู่ทั่วไปในวิถีชีวิตประจำวัน พุทธศาสนาได้วิเคราะห์สิ่งที่เรียกว่าอัตตาโดยใช้หลักขันธ์ห้า ซึ่งเมื่อเกิดการปรุงแต่งได้ทำให้เกิดอวิชชาและความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นขึ้นมา ในข้อเขียนชิ้นอื่น ๆ ข้าพเจ้าได้เสนอไว้ว่า ความเข้าใจเรื่องจิตวิเคราะห์เกี่ยวกับความเก็บกด จะช่วยให้เราเข้าใจถึงอวิชชาที่แยกตัวตนออกมา (Loy ๑๙๙๙) คำสอนของพุทธศาสนาที่เน้นอนัตตาบ่งเป็นนัยว่า สิ่งที่เราเก็บกดเป็นพื้นฐานไม่ใช่ความต้องการทางเพศ (เหมือนอย่างที่ฟรอยด์เชื่อ) หรือไม่ใช่กระทั่งความกลัวตาย (เหมือนอย่างที่นักจิตบำบัดแนว existentialism เชื่อ) แต่เป็นการเก็บกดความรู้ที่ว่าตัวตนนั้นไม่มีอยู่ พูดอีกอย่างหนึ่งคือเราเก็บกดความรู้สึกไม่สบายใจที่รู้อยู่ว่าตัวตนนั้นไม่ได้มีอยู่จริง หากเป็นผลมาจากการปรุงแต่งของสภาวะจิตเท่านั้น
ความตระหนักรู้เช่นนี้ทำให้เราเกิดความไม่สบายใจ และทำให้เราปฏิเสธความรู้เช่นนั้นด้วยการเก็บกดมันไว้ และเหมือนที่ฟรอยด์ได้เน้นก็คือ การเก็บกดส่งผลให้เกิดการรับรู้ที่เบี่ยงเบนและแสดงออกมาเป็นอาการต่าง ๆ ในกรณีเช่นนี้ ความตระหนักรู้ภายในว่าตัวตนไม่มีอยู่จริง ได้ทำให้เกิดความรู้สึกพร่องขึ้นมา เป็นความรู้สึกที่ว่า มันมีอะไรบางอย่างที่ไม่ปรกติกับตัวฉัน ความรู้สึกพร่องเช่นนี้ ซึ่งพวกเรามักจะรับรู้กันในรูปแบบต่าง ๆ แล้วแต่สถานการณ์ (เช่น เรารู้สึกว่าเรายังไม่รวยพอ ยังไม่มีชื่อเสียงมากพอ ฯลฯ) ล้วนเป็นเพียงอาการอันเป็นผลมาจากความรู้ที่บิดเบือนไปอันเนื่องมาจากเงื่อนไขที่ว่างเปล่า หรือพูดในแบบพุทธ อาการเหล่านั้นสะท้อนถึงการพยายามหลีกหนีจากความว่างของตัวเราเอง (สุญญตา)
อีกวิธีหนึ่งที่จะอธิบายถึงความรู้สึกพร่องเช่นนี้ได้แก่ การพูดว่าเราไม่รู้สึก จริง มากพอ ทางออกของเราคือการพยายามทำให้มันเป็นจริงมากยิ่งขึ้น หรือมากเท่าที่เรารู้สึกเช่นนั้น ถ้าความไร้สาระแห่งชีวิตทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจ ถ้าเช่นนั้นทางออกก็คือการพยายามทำให้ชีวิตมีความเป็นสาระมากขึ้นใช่หรือไม่ ปัญหาของการหาวิธีทางออกเช่นนั้นได้แก่ อนัตตาสะท้อนถึงสภาพของความรู้สึกปรุงแต่งเกี่ยวกับอัตตาตัวตนที่มันไม่มีมูลต่างหาก เนื่องจากความรู้สึกมีตัวตนมักเป็นภาวะที่เกิดขึ้นอย่างไม่มั่นคง พวกเราก็เลยพยายามทำตัวตนให้เป็นจริงมากขึ้น ด้วยการทำให้ตัวเองเป็นเพียงวัตถุที่อยู่ในโลกในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่มันไม่ใช่สิ่งที่เราจะสามารถทำได้ เหมือนกับเราไม่สามารถเอามือไขว่คว้าตัวตน หรือใช้สายตามองเห็นตัวตนได้
กล่าวโดยสรุป ความรู้สึกมีอัตตาตัวตนที่ว่างเปล่าได้ถูกบดบังอยู่ภายใต้เงาทะมึนที่ไม่อาจหลีกหนีได้ นั่นคือความรู้สึกพร่อง ซึ่งเราพยายามหลบหนี สิ่งที่ฟรอยด์เรียกว่าเป็น ผลลัพธ์ของการเก็บกดที่แสดงออกมาเป็นอาการที่เบี่ยงเบนในรูปแบบต่าง ๆ แสดงให้เราเห็นถึงความเชื่อมโยงของความคาดหวังลม ๆ แล้ง ๆ ในขั้นพื้นฐานนี้ กับวิถีในเชิงสัญลักษณ์ที่เราพยายามใช้เพื่อทำให้ตัวเราเป็นจริงขึ้นมาในโลก ตามแต่โอกาสจะอำนวย
ปัญหาของความพยายามเหล่านั้นได้แก่ การทำให้เป็นวัตถุ ไม่มีทางจะทำให้เกิดความพึงพอใจได้ เพราะอันที่จริงวัตถุไม่ใช่สิ่งที่เราปรารถนาต้องการ และเมื่อเราไม่เข้าใจว่าอะไรเป็นแรงผลักดันที่แท้จริงอยู่เบื้องหลังเรา ทั้งนี้เพราะสิ่งที่เราคิดว่าเราต้องการนั้นเป็นเพียงอาการที่มาจากสาเหตุอื่น (กล่าวคือความกระหายที่จะเป็นจริงขึ้นมา ซึ่งเป็นความปรารถนาในระดับจิตวิญญาณที่สำคัญอย่างหนึ่ง) สุดท้ายเราก็ตกเป็นทาสแรงจูงใจนั้นตลอดไป ตามคำกล่าวของนิชเช่ ชาวคริสต์ผู้ปฏิบัติตามข้อห้ามในพระคัมภีร์และถึงกับควักลูกตาตัวเองออกมา ก็ยังไม่สามารถประหารฆ่าความรู้สึกของตนได้ ทั้งนี้เพราะ มันดำรงอยู่ในรูปประตูกลอันลึกลับและคอยทรมานเขาภายใต้รูปแบบอันน่าสยดสยอง (๑๙๘๖ หน้า ๓๓๑) แต่สิ่งที่ตรงกันข้ามก็อาจจะเป็นจริงเช่นกัน ถ้าในวันนี้เราคิดว่าเราได้ประหารหรือได้หลีกหนีจากแรงผลักดันภายในนี้ได้แล้ว ก็เท่ากับเป็นการหลอกลวงตนเอง ทั้งนี้เพราะแรงผลักดันนั้นยังคงขยายตัวมากขึ้น ในรูปแบบทางโลกย์ที่น่าประหลาดและทำให้เราเกิดความลุ่มหลงต่อมัน ทั้งนี้เพราะเราไม่เข้าใจว่าอะไรเป็นแรงจูงใจที่ทำให้เกิดความรู้สึกดังกล่าว แล้วความลุ่มหลงในความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีก็เป็นหนึ่งในความรู้สึกเช่นนี้ด้วยหรือเปล่า ความพร่องของเราได้ส่งผลต่อสังคมและประวัติศาสตร์ในลักษณะดังกล่าวหรือไม่ แล้วสิ่งที่เราเรียกว่าความพร่องสะสมมีอยู่จริงหรือไม่
ศาสนาเป็นวิธีการดั้งเดิมที่สังคมใช้เพื่อจัดการกับปัญหาที่เกิดจากความรู้สึกพร่อง (ตัวอย่างเช่นแนวคิดเรื่องบาปในคริสตศาสนา) สังคมยุโรปตะวันตกมีพื้นฐานอยู่บนกระบวนทัศน์ด้านศาสนาแบบนั้น จนกระทั่งได้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นในช่วงศตวรรษที่ ๑๑ กล่าวคือเป็นโอกาสที่จะทำให้เกิดความก้าวหน้าเพื่อนำไปสู่ทางออกอันเป็นทางเลือกอีกอย่างหนึ่ง แล้วความลุ่มหลงในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของเรามันมีต้นกำเนิดมาจากไหนล่ะ แล้วกระบวนทัศน์แบบโลกียะพัฒนาออกมาจากกระบวนทัศน์แบบศาสนาได้อย่างไร แล้วทำไมเราจึงมุ่งใช้ทางออกแบบโลกียะเพื่อแก้ปัญหาที่โยงกับจิตวิญญาณเล่า คำตอบที่น่าสนใจได้แก่ ความก้าวหน้า ที่เป็นทางออกนั้นไม่ได้มีต้นตอมาจากกระบวนการทางโลกย์
ในช่วงระหว่างปี ๑๐๕๐ ๑๑๕๐ ทางออกด้านศาสนาในยุโรป เพื่อจัดการกับความพร่อง ได้เปลี่ยนจากการแสวงหาในระดับโลกุตรธรรมมาสู่ระดับโลกียธรรม กล่าวคือคนไม่ได้มองหาคำตอบที่มาจากสรวงสวรรค์ หากมุ่งแสวงหาทางออกที่อาจปรากฏในโลกในอนาคตได้ ความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปอย่างช้า ๆ ในระยะเริ่มต้น พวกเขาเน้นที่การสร้างเงื่อนไขด้านจิตวิญญาณและสังคม ที่จะช่วยให้ยุคฟื้นพระชนม์ชีพของพระเยซูเจ้ามาถึงเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งสหัสวรรษใหม่ที่พระองค์จะเป็นผู้เปิดฉาก ในท้ายที่สุดเราจะเกิดความมั่นใจมากขึ้น ในความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงรูปโฉมของสังคมและสภาพแวดล้อมใหม่ สิ่งนี้บ่งเป็นนัยถึงปัญญาอย่างใหม่ในทางโลกย์และเทคโนโลยี ที่ได้กลายเป็นสามัญสำนึกใหม่ที่ละเลยเป้าหมายด้านจิตวิญญาณอันเป็นแรงกระตุ้นเดิมไป
เวลาสำหรับความก้าวหน้า
ความเข้าใจของมนุษย์เกี่ยวกับเวลามักโยงกับความเข้าใจของเราเกี่ยวกับความพร่อง และวิธีที่จะแก้ไขความพร่องนั้น ซึ่งหมายความว่าในยุคสังคมดั้งเดิม อันรวมทั้งโลกตะวันตกก่อนยุคทันสมัย โครงสร้างพื้นฐานของเวลาสัมพันธ์กับนัยทางศาสนธรรมเป็นอย่างยิ่ง ในยุคใหม่ เวลาเป็นเพียงมาตรวัดที่เลื่อนลอยและปราศจากชีวิต มีประโยชน์เพียงเพื่อเชื่อมโยงกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก (อย่างเช่น ๒๔ ชั่วโมงคิดเป็นหนึ่งวัน และ ๓๖๕ วันเป็นหนึ่งปี และวันแต่ละวัน ชั่วโมงแต่ละชั่วโมง เหมือนกันไปหมด ไม่มีวันเวลาใดที่มีความหมายเป็นพิเศษ) ในทางตรงข้าม โครงสร้างของเวลาแบบเดิมเป็นกรอบที่สะท้อนความศักดิ์สิทธิ์และความหมายพิเศษของเหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลก อภินิหารเหนือธรรมชาติและโครงสร้างของเวลาที่สะท้อนออกมาในรูปวัฏจักรของแต่ละปี มีความสัมพันธ์แนบแน่นกันจนแยกไม่ออก (Thompson ๑๙๙๖ หน้า ๒)
วิธีคิดเช่นนี้ทำให้เราเชื่อว่าเหตุผิดปรกติที่เกิดขึ้นมาในโลก เป็นผลมาจากการกระทำที่ไม่บรรสานสอดคล้อง กับอำนาจเหนือธรรมชาติ และทางออกของปัญหาไม่ใช่ ความก้าวหน้า หากเป็นการฟื้นคืนความบรรสานสอดคล้อง ด้วยการหันกลับมาดำรงตนให้สอดคล้องกับโครงสร้างเวลาที่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น การทำบวงสรวงด้วยวิธีที่เหมาะสมในเวลาที่เหมาะสม เป็นต้น ตรงข้ามกับการคิดตามหลักเหตุและผลที่เป็นเส้นตรง ซึ่งเป็นวิธีที่เราใช้เพื่อเปลี่ยนโฉมหน้าโลก การคิดแบบเชื่อมโยงเช่นนี้จะไม่มองประวัติศาสตร์แยกออกจากจักรวาลวิทยา เวลาและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง (หรือสิ่งที่ควรเกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง) ไม่สามารถแยกขาดจากกัน พิธีกรรมอย่างการบวงสรวงบูชาเพื่อชำระมลทินดำเนินไปอย่างสอดคล้องกับวัฏฏะตามธรรมชาติ เพราะมันเป็นสิ่งที่จำเป็นในช่วงเวลานั้น ๆ พูดอีกอย่างหนึ่ง พิธีกรรมเหล่านั้นไม่ได้เพียงทำกันขึ้นในช่วงเวลานั้น ๆ หากพิธีกรรมเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของช่วงเวลาเหล่านั้นต่างหาก (ถ้ามนุษย์กระทำสิ่งที่ควรประพฤติปฏิบัติ) (Aveni ๑๙๙๕ หน้า ๖๕)
ในทัศนะของ Mircea Eliade สังคมบรรพกาลดำรงอยู่ใน สวรรค์ของโครงสร้างแม่พิมพ์ เพราะมีโครงสร้างของเวลา ที่มีฐานอยู่บนการฟื้นคืนของชีวิต ที่สังเกตได้จากธรรมชาติที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วง (Aveni ๑๙๙๕ หน้า ๖๕) ศาสนิกเหล่านี้เชื่อว่า การฟื้นคืนชีวิตเกิดขึ้นทุกขณะ และเป็นวงจร ที่สะท้อนถึง ลักษณะเบื้องต้นของยุคกำเนิด (genesis) การปฏิบัติตามปกรณัมซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำให้ผู้ปฏิบัติมีประสบการณ์ร่วมอีกครั้งหนึ่ง กับการสร้างสรรค์ระเบียบจากความไร้ระเบียบ การสร้างสรรค์สาระจากความไร้สาระ พวกเขาไม่ถือว่าเหตุการณ์เหล่านั้นเป็นเพียง อดีต ในลักษณะเดียวกับที่เราเข้าใจถึงความเป็นอดีต ดังที่เราถือว่าอดีตคือสิ่งที่ถูกทดแทนด้วยปัจจุบัน ในขณะที่เรามุ่งสู่ความก้าวหน้า ด้วยการเลือกจะแยกตัวเราออกจากเหตุการณ์ในอดีต สังคมดั้งเดิมปฏิเสธทวิลักษณ์ดังกล่าวด้วยการมีประสบการณ์ร่วมกับอดีตเสมอ (โดยผ่านพิธีกรรม) พวกเขารู้สึกว่าตัวเองมีภาระที่จะต้องฟื้นคืนการสร้าง (creation) ขึ้นมาใหม่เสมอ เพื่อให้โลกดำรงอยู่ต่อไปเหมือนที่เคยเป็นมา สำหรับพวกเขา อดีตไม่ใช่อุปสรรคที่ต้องฝ่าข้ามไป และปัจจุบันก็ไม่ใช่โอกาสใหม่ ๆ ที่จะต้องไปให้ถึงเสมอไป พวกเขารู้สึกพึงพอใจกับการปฏิบัติตามรูปแบบโครงสร้างเดิมเป็นนิตย์
ชนเผ่ามายาเป็นชนเผ่าที่มีวัฒนธรรมเกี่ยวข้องกับเวลามากที่สุดชนเผ่าหนึ่ง และเป็นตัวอย่างที่ดีในที่นี้ พวกเขาไม่ได้วัดเวลาด้วยพระอาทิตย์ เวลาไม่ใช่การโคจรของพระอาทิตย์ สำหรับพวกเขา เวลาหนึ่งวันไม่ได้เป็นตัวแทนของพระเจ้าเหมือนอย่างที่เราคิด (หรือเคยคิด) (คำว่า Thursday มาจากคำว่า Thors day หรือเดิมเป็น Jupiters day* [* เทพเจ้าธอร์เป็นเทพเจ้าแห่งการสงคราม กสิกรรมและฟ้า จูปิเตอร์เป็นประมุขเทพยดาในสรวงสวรรค์ตามลัทธิโรมันโบราณ เป็นพระเจ้าแห่งฝนฟ้าอากาศ ผู้แปล] ) สำหรับชาวมายาวันแต่ละวันเป็นพระเจ้าโดยตัวของมันเอง พวกเขาให้ความใส่ใจอย่างมากในแต่ละวันที่จะธำรงความสัมพันธ์อันบรรสานสอดคล้อง ระหว่างมนุษย์กับโลกเหนือธรรมชาติ อดีตยังดำรงสืบเนื่องซ้ำแล้วซ้ำอีกในปัจจุบัน เพราะเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตดำเนินไปตามกรอบแห่งเวลาและกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัด ด้วยการถักทอมนุษย์กับโลกเหนือธรรมชาติเข้าด้วยกัน ระเบียบของจักรวาลจึงจะดำเนินสืบเนื่องไปได้ ในโลกทัศน์เช่นนั้น อนาคตไม่ใช่เป็นสิ่งน่าสนใจมากนัก ทั้งนี้เพราะเหตุการณ์สำคัญ ๆ ยังคงดำเนินต่อไปซ้ำแล้วซ้ำอีก ตราบเท่าที่สมดุลของพลังแห่งจักรวาลในแบบเดิมยังคงดำรงอยู่ (Aveni ๑๙๙๕ หน้า ๑๙๐ff) การเข้าร่วมในพิธีกรรมเป็นการช่วยให้พระเจ้าแห่งธรรมชาติดำเนินภารกิจอันท้าทายต่อไปได้ ทั้งนี้เพราะพวกเขามีความเชื่อมั่นอย่างหนักแน่น ในพิธีกรรมที่จัดทำขึ้น เพื่อส่งท้ายวัฏฏะแห่งเวลาอย่างเป็นทางการ หากปราศจากซึ่งการประกอบภารกิจในชีวิตเช่นนี้ จักรวาลก็ไม่อาจทำหน้าที่ได้อย่างปกติ (หน้า ๒๕๒) ในสังคมเช่นนั้นพวกเขาไม่มีความต้องการจะก้าวหน้าและไม่มีที่ว่างให้กับความก้าวหน้า แล้วความลุ่มหลงต่อความก้าวหน้าของพวกเราเกิดขึ้นมาเมื่อใด
จนกระทั่งเมื่อประมาณศตวรรษที่ ๑๑ ชาวยุโรปยังมีความเข้าใจต่อเวลา ว่าเป็นเสมือนโครงสร้างของคุณค่าความหมายที่จะต้องได้รับการปฏิบัติต่อ ๆ ไป เพื่อที่จะเข้าใจเวลา เราจะต้องพิจารณาจากโครงสร้างของกิจวัตรในศาสนาจักรของศาสนายิว คริสต์ในตะวันตก (Avni ๑๙๙๕ หน้า ๑๒) หนึ่งสัปดาห์ประกอบด้วย ๗ วันเพราะเป็นโครงสร้างเดิมที่เหมือนกับยุคกำเนิด ตามที่ปรากฏในช่วงต้นของหนังสือเยเนสิส ชาวยิวจะสวดภาวนาและพักผ่อนในวันซับบัธ เพราะวันนั้นเป็นวันที่พระเจ้าพักผ่อนเช่นกัน (ชาวคริสต์ในยุคแรกได้เปลี่ยนจากวันศุกร์มาเป็นวันของพระอาทิตย์ เพราะว่าเป็นวันที่พระเยซูเจ้าได้ฟื้นคืนพระชนม์ขึ้นมาและกลายเป็นแสงสว่างแห่งโลก) วัตรของพิธีกรรมในแต่ละปีของศาสนจักรคาทอลิก ยังคงสะท้อนถึงโครงสร้างที่เชื่อมโยงตั้งแต่เบื้องต้น
กล่าวโดยสรุป โครงสร้างเวลาในช่วงต้นของยุคกลาง ดำเนินไปเพื่อไม่ให้เกิดทวิลักษณ์ระหว่างจักรวาลวิทยาและประวัติศาสตร์ โดยมีความแตกต่างที่สำคัญเพียงอย่างเดียว สำหรับชนพื้นเมืองอย่างชาวมายา กัลปาวสานอาจเกิดขึ้นได ้ในภาวะที่ไม่มีการทำพิธีบวงสรวงบูชาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เทพแห่งพระอาทิตย์ปฏิบัติหน้าที่อย่างเหมาะสม และจะเป็นหายนภัยครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด สำหรับชาวคริสต์การฟื้นคืนพระชนม์ชีพของพระเยซูเจ้า เป็นหนทางรอดที่พวกเขาต่างพึงปรารถนา ซึ่งนั่นเป็นข้อแตกต่างที่สำคัญ
ชาวคริสต์ในยุคแรกเชื่อว่าการฟื้นคืนพระชนม์ชีพของพระเยซูเจ้ากำลังจะมาถึง การที่พระองค์ไม่คืนพระชนม์มาเสียทีได้รับการอธิบายด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน แต่ตลอดช่วงยุคกลางและยุคสมัยใหม่ในช่วงต้น กระแสของความเชื่อว่าพระเยซูจะมาจุติอีกได้ประทุขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ความเชื่อเรื่องการจุติขึ้นใหม่ตามศาสดาพยากรณ์ (ซึ่งก็เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ในศาสนาอื่น ๆ อีกมาก ไม่เพียงแต่ในคริสตศาสนา) มีพื้นฐานมาจากความเชื่อว่า ความตึงเครียดระหว่างโลกียะกับดินแดนแห่งความหลุดพ้น จะได้รับการแก้ไขในที่สุดในอนาคต (อันใกล้) เมื่อภาวะหลุดพ้นได้เผยตัวเองขึ้นมาอย่างชัดเจน และเป็นการชำระให้โลกของเราบริสุทธิ์และเปลี่ยนแปลงไป ก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่ยุคสมัยใหม่และความลุ่มหลงในความก้าวหน้า อยู่บนฐานความคิดว่ายุคทองในอนาคตไม่ได้อยู่ภายนอกอาณาจักรของมนุษย์ แต่อยู่ภายใน ซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้รับการยึดถือโดย Joachim of Fiore (ค.ศ. ๑๑๓๕ ๑๒๐๒) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสชาว Calabrian และเป็นนักบวชที่ทรงอิทธิพลผู้ที่สามารถมองเห็นโครงสร้างอันซับซ้อน ซึ่งเป็นจุดถักทอเหตุการณ์ที่พระผู้เป็นเจ้าแสดงอภินิหารให้แลเห็นในประวัติศาสตร์ในยุคต่าง ๆ
ท่านโจคิมมีความเชื่อมั่นแบบเดิมว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลกเป็นปรากฏการณ์ที่สัมพันธ์กับสิ่งที่เกิดขึ้นในอีกมิติหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็มีความเชื่อมั่นว่าจะมีอาณาจักรแบบคริสต์ในอุดมคติเกิดขึ้นได้บนโลกในอนาคต ตามการวิเคราะห์ของท่าน คัมภีร์พันธสัญญาเก่ามีความสัมพันธ์ต่อเนื่องจากยุคของพระบิดา และคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ซึ่งเป็นของยุคพระบุตร ยุคสุดท้ายของพระจิตที่เขาคิดว่าจะมาถึงในช่วงประมาณปี ค.ศ. ๑๒๖๐ จะเป็นยุคที่มีความสุขอย่างสมบูรณ์ เป็นยุคที่ศาสนจักรได้รับการฟื้นคืนขึ้นมาเพื่อควบคุมปริมณฑลต่าง ๆ ของชีวิต อย่างไม่ตั้งใจ เขาได้ทำให้เกิดความสัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างสำคัญ ระหว่างการเปลี่ยนแปลงตามคำพยากรณ์และการสร้างสรรค์โครงสร้างการเมืองใหม่ นับตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๓ เป็นต้นมาทั้งสองยุคไม่อาจจะแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด (Thompson ๑๙๙๖ หน้า ๑๒๘) วิถีที่วิวัฒน์ขึ้นจนเป็นความเชื่อมั่นศรัทธาในความก้าวหน้ามีต้นกำเนิดมาจาก
ความเชื่อในคริสตศาสนาว่าทุกสิ่งได้ถูกสร้างขึ้นมาอย่างจงใจเพื่อตอบสนองเป้าหมายนั้น
ความเชื่อในยุคพระศรีอาริย์ ชี้นำให้ผู้ศรัทธาปฏิบัติตนเป็นคนดี เพื่อเฝ้ารอวันอวสานแห่งโลกที่เป็นเหตุผลอยู่เบื้องหลัง ในยุคใหม่ แนวคิดของความก้าวหน้าไปตามเส้นแห่งเวลายังมีอิทธิพลเป็นหลัก โดยที่มีเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนบทบาทของศาสนธรรม และเทคโนโลยีได้กลายเป็นพลังที่ขับเคลื่อนเหตุการณ์ต่าง ๆ ต่อเนื่องกัน อย่างไรก็ตาม หลักการนี้ก็ยังดำเนินต่อไปตามกฎที่ธรรมชาติกำหนด (หน้า ๑๒๘)
แทนที่มันจะเป็นทางเลือกที่มีเหตุผลออกจากความเชื่อเรื่องวันล้างโลก แนวคิดหลายประการที่เราเห็นว่ามีเนื้อหาตรงข้ามกับ ยุคกลาง อย่างเช่น ความเชื่อมั่นศรัทธา ความก้าวหน้า และความหวังที่มีต่อดินแดนในอุดมคติ ล้วนมีรากเหง้ามาจากความเชื่อทางศาสนาในยุคกลาง และความเชื่อยุคกัลปาวสานของโลก (หน้า ๕๗)
รากเหง้าทางจิตวิญญาณของเทคโนโลยี
หากเทคโนโลยีได้มีบทบาททดแทนศาสนาสำหรับพวกเราจำนวนมาก นั่นก็อาจเป็นเพราะทัศนะที่มีต่อเทคโนโลยีของเรามีความคล้ายคลึงกับราก--เหง้าทางศาสนา และยังคงเป็นไปในลักษณะเช่นนั้น หนังสือเรื่อง ศาสนาแห่งเทคโนโลยี (The Religion of Technology) ของ David Noble (ค.ศ. ๑๙๙๘) ชี้ให้เห็นว่า ความลุ่มหลงต่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ในปัจจุบัน มีรากเหง้ามาจากรหัสยนัยทางศาสนา และความปรารถนาจะหลุดพ้นทางจิตวิญญาณ แม้ว่าโดยทั่วไปเทคโนโลยีในปัจจุบันมุ่งที่การสร้างอรรถประโยชน์ อำนาจ และผลกำไร และเป็นสิ่งที่กำหนดมาตรฐานด้านตรรกะให้กับสังคม แต่มันก็มีแรงจูงใจมาจากความฝันอันเลื่อนลอย ความปรารถนาในทางจิตวิญญาณเพื่อที่จะหลุดพ้น... แรงบันดาลใจที่แท้จริงของมันมาจาก... ความปรารถนาที่สืบเนื่องและอุดมคติมุ่งไปสู่การหลุดพ้นและความรอด (หน้า ๓) ผู้ที่มีจินตนาการถึงขนาดคิดว่าจะสามารถ ดาวน์โหลดจิตใจของเขา ลงไปสู่ฮาร์ดไดรว์ขนาดหลายกิกะไบต์ อาจคิดว่าพวกเขาเป็นนักตรรกนิยมที่ต่อต้านศาสนา แต่อันที่จริงความเชื่อในยุคพระศรีอาริย์ก็อาจปรากฏขึ้นในรูปแบบที่เราสุดจะหยั่งคาดได้ เราอาจลืมเลือนแรงกระตุ้นดั้งเดิมของเรา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราสามารถหนีมันพ้นไปได้
ในยุคกลาง ด้วยเหตุผลที่ยังคงมืดมนอยู่ (Noble ๑๙๙๘ หน้า ๑๒) ทัศนะของชาวคริสต์ต่อเทคโนโลยี ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ สังคมในยุคกลางเชื่อว่า เหตุหนึ่งของความล่มสลายของพวกเขา เป็นเพราะการสูญเสียความรู้ที่มีเกี่ยวกับ ศิลปกรรม และวิทยาศาสตร์ในยุคโบราณ ซึ่งบรรพชนของพวกเขาได้คิดค้นขึ้นอย่างสมบูรณ์ ความเชื่ออย่างใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ได้แก่ความเชื่อที่ว่า เราควรจะและสามารถฟื้นฟูศิลปกรรมแบบกลไกเหล่านั้น ขึ้นมาใหม่ได้ ในเบื้องต้นไม่ใช่เพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของเราให้ดีขึ้น หากแต่เพื่อสร้างให้เกิดเงื่อนไขทางศาสนา ที่จะช่วยให้ยุคพระศรีอาริย์มาถึงรวดเร็วยิ่งขึ้น หลังจากนั้นมา พวกเขาได้ถือว่า เทคโนโลยี มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด กับความเป็นเลิศที่ได้สูญเสียไป และโอกาสที่จะฟื้นฟูความเป็นเลิศนั้นขึ้นมาใหม่ และความก้าวหน้าของงานศิลปกรรมได้เกิดขึ้นใหม่ อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อตอบสนองศรัทธา แต่เป็นหนทางแห่งการเตรียมพร้อมเพื่อจะรอรับความรอด (salvation) ที่กำลังจะมาถึงอย่างเห็นได้ชัด ท่าน Hugh แห่งเซนต์วิคเตอร์ซึ่งเป็นพระในนิกายออกุสติน (ค.ศ. ๑๐๙๖ ๑๑๔๑) ย้ำว่า ภารกิจในการฟื้นฟูรวมไปถึง การซ่อมแซมสภาพทางกายภาพของชีวิตมนุษย์ ซึ่งได้ถูกทำลายไปโดยบาปกรรม และถูกยึดคืนไปพร้อมกับความล่มสลายของยุคนั้น (หน้า ๑๒ และ ๑๙ ๒๐)
การฟื้นฟูและอธิบายความเชื่อในคริสตศาสนายุคดั้งเดิมขึ้นมาใหม่ในหมู่ชนชั้นสูง
ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางกระบวนการฟื้นฟูในบริบทของประวัติศาสตร์มนุษย์ และมีการนิยามใหม่ให้เป็นความพยายามอย่างกระตือรือล้นและตื่นตัวมากกว่าจะเป็นเพียงความหวังลม ๆ แล้งและมืดบอด
ในขณะเดียวกัน การฟื้นฟูความศักดิ์สิทธิ์แบบพระเจ้าของมนุษย์ หรือความสามารถในการหลุดพ้นแบบคริสตศาสนา ได้กลายเป็นความพยายามทางประวัติศาสตร์ที่เป็นแผ่ขยายไปทั่ว
ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีเข้ามาทดแทนหลักคำสอนว่าด้วยวันสิ้นสุดแห่งโลก (หน้า ๒๒)
โนเบลได้อธิบายถึงอรรถกถาของโจคิมที่มีต่อ Book of Revelation ว่าเป็น ระบบศาสดาพยากรณ์ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดต่อยุโรปก่อนลัทธิมาร์กซ์ (๑๙๙๘ หน้า ๒๔) มัน จุดชนวนให้เกิดการปฏิวัติด้านจิตวิญญาณครั้งใหญ่ที่สุดในยุคกลาง ด้วยการเผยให้เห็นถึงนัยของความเชื่อเรื่องการจุติใหม่ที่มีต่อประวัติศาสตร์ เผยให้เห็นเจตนารมณ์ตามแผนการณ์ของพระเจ้าต่อมนุษย์ Roger Bacon เขียนไว้ว่า ผู้รู้ต่าง ๆ ในยุคนั้นล้วนมีความเชื่อว่า ยุคของการต่อต้านคริสตจักรกำลังจะมาถึง และเขาได้กระตุ้นให้ศรัทธาร่วมศาสนาของเขาศึกษาคำพยากรณ์ของโจคิม เพื่อจะได้ตระหนักรู้ล่วงหน้าถึงจุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ที่กำลังจะมาถึง
ในเวลาต่อมา แม้แต่ Francis Bacon ซึ่งเป็นศาสดาของวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ก็ยังมุ่งจะแสวงหา การย้อนสู่ยุคของอดัมก่อนการล่มสลายของคริสตจักร ซึ่งเป็นยุคที่มนุษย์ได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างบริสุทธิ์และปราศจากบาป และมีปัญญาที่ตระหนักถึงพลังของธรรมชาติ.... เป็นการก้าวถอยหลังกลับไปสู่ยุคของอดัม (Francis Yates อ้างใน Noble ๑๙๙๘ หน้า ๕๐) ทั้ง Robert Boyle และ Isaac Newton ล้วนเป็นผู้ที่ศรัทธาในยุคใหม่ของพระเจ้าอย่างเคร่งครัด และบุคคลท่านหลังยังได้ใช้เวลาอย่างมากในการจัดทำอรรถกถาเกี่ยวกับคำพยากรณ์ตามพระคัมภีร์ สำหรับท่านทั้งสอง ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์ในยุคต้นอีกหลายท่าน การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์เป็นปฏิบัติบูชาอย่างเคร่งครัด เพื่อจะได้เข้าถึงพระผู้สร้างด้วยการค้นพบ สัญลักษณ์ (signa-ture) ของพระองค์ในโลกธรรมชาติ (หน้า ๖๔) ด้วยความหยั่งรู้เหล่านี้พร้อมกับการเตรียมพร้อมที่จะปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกเหล่านี้ไม่ได้เพียงรอคอยอย่างเฉื่อยชาเพื่อให้ยุคใหม่ของพระเจ้ามาถึง พวกเขาสามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขันเพื่อให้ยุคนั้นมาถึงให้จงได้ (หน้า ๒๔ ๒๕) พวกเรายังคงปฏิบัติหน้าที่เช่นนั้น แต่ในขณะเดียวกันพวกเราก็ได้ลืมเลือนไปแล้วว่าสิ่งที่พวกเรามุ่งให้เกิดขึ้นคืออะไรกันแน่ นี้อาจจะเป็นเหตุที่ทำให้ความก้าวหน้าที่เติบโตต่อไปดูเหมือนจะไร้จุดหมายได้หรือไม่
เราได้ลืมเลือนถึงหน้าที่ที่เรากำลังปฏิบัติอยู่ ทั้งนี้เพราะความเข้าใจของเราต่อความพร่องได้เบี่ยงเบนไป ซึ่งก็ทำให้วิธีแก้ไขความพร่องนั้นเบี่ยงเบนไปด้วยเช่นกัน แทนที่ความพร่องนั้นจะกลายเป็นสาระสำคัญของการสร้าง (creation) และประวัติศาสตร์ดังที่ปรากฏในตำนานทางคริสตศาสนาแบบเดิม พวกเราได้เบี่ยงความสนใจต่อความพร่องนั้นไปด้วยการลุ่มหลงกับอำนาจและโอกาสของเทคโนโลยีใหม่ ๆ พวกเราไม่มีความรู้สึกพึ่งพิงกับโครงสร้างของจักรวาลเพื่อความหลุดพ้นอีกต่อไป แต่พยายามจะหลุดพ้นด้วยตัวเราเอง แทนที่เราจะดำเนินชีวิตอย่างปราศจากทวิลักษณ์ระหว่างจักรวาลและประวัติศาสตร์แบบเดิม ซึ่งได้เคยเป็นวิถีด้านจิตวิญญาณที่เราปฏิบัติตามด้วยกฎเกณฑ์ชัดเจน พวกเราเริ่มจะดำรงชีวิตอยู่ในจักรวาลแบบปลายเปิด ที่ซึ่งเราต้องกำหนดเป้าหมายขึ้นมาเอง และตัดสินใจว่าจะไปในทางใด เราตัดสินใจที่จะวิ่งไปสู่อนาคตและเริ่มการแข่งขันใหม่ขึ้นมา
จุดจบของเกม ?
แล้วการแข่งขันนั้นกำลังจะสิ้นสุดลงใช่หรือไม่ เสน่ห์ของอนาคตกำลังพร่าเลือนไป ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกพร่องที่สะสมกันขึ้นมา ซึ่งเริ่มเบี่ยงเบนความพยายามแสวงหาด้านเศรษฐศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเดิมเราเชื่อว่าจะเป็นพลังที่ทำให้ตัวตนของเราเป็นจริงขึ้นมาได้ แต่การที่ขาดซึ่งศรัทธาในวิถีแห่งจิตวิญญาณเป็นเหตุให้เราติดกับดักอยู่ในอนาคต เพราะนั่นเป็นเพียงหนทางเดียวที่ให้คำตอบกับเรา เท่าที่เราจะคิดได้เพื่อแก้ไขปัญหาความรู้สึกพร่องตรงนั้น พวกเรา ก้าวหน้า ต่อไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะเราไม่รู้ว่าจะทำอะไรอย่างอื่นได้อีก เพราะเราไม่มีเกมอย่างอื่นที่จะเล่นแล้ว ยิ่งเราสงสัยว่าเราจะไปไม่ถึงที่ใดสักแห่งมากเท่าไร เราก็ยิ่งวิ่งไปสู่จุดนั้นเร็วยิ่งขึ้น และเราได้พากันเพิกเฉยหรือไม่ก็เก็บกดความตระหนักรู้ถึงผลกระทบของเทคโนโลยีและเศรษฐ--ศาสตร์ ที่ทำให้เกิดวิกฤตด้านนิเวศวิทยาในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา อย่างน้อยก็ในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่กระบวนการเช่นนั้นไม่อาจดำเนินต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด คนจำนวนน้อยลงที่ยังคงเชื่อว่าเทคโนโลยีจะสามารถแก้ปัญหาของโลกและทำให้เกิดชีวิตที่ดีขึ้น นั่นคือผู้ที่มีปัญญาจำนวนมากขึ้น เริ่มท้าทายต่อการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองความรู้สึกพร่องที่สะสมมาหากสำหรับผู้บริหารสถาบันที่สำคัญอย่างเช่น รัฐบาลและบรรษัทการค้าทั้งหลาย พวกเขาเชื่อว่าขั้นตอนสุดท้ายของ ความก้าวหน้า เป็นเพียงเกมตัวเลขของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่วัดโดยผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ
ทางออกด้านวัฒนธรรมอีกแบบหนึ่งคือการปฏิเสธทุกอย่างไปเลย (Nihilism) ซึ่งแสดงออกในรูปแบบแตกต่างกันและแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งเท่ากับสะท้อนถึงการทอดความหวังทั้งปวงที่มีต่อทางออกสำหรับความพร่องของเรา วิธีคิดเช่นนี้ทำให้ชีวิตปราศจากสาระความหมาย และผู้ที่เชื่อเช่นนั้นเห็นว่าสิ่งเดียวที่สามารถทำได้คือการมีชีวิตอย่างเป็นสุขที่สุด ในขณะที่ยังสามารถจะทำได้แล้วกระบวนทัศน์อย่างอื่นเพื่อแก้ปัญหาความพร่องที่เป็นไปได้ล่ะ ดังที่ข้าพเจ้าได้อธิบายถึงปัญหานี้จากวิธีคิดแบบพุทธ ข้าพเจ้าก็จะสรุปด้วยการพูดถึงทางออกแบบพุทธ ซึ่งประกอบด้วยความเพียรของแต่ละบุคคลที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเราเอง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือการปล่อยให้ตัวเราได้รับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้วอย่างเช่นในตอนที่เราทำสมาธิภาวนาเป็นต้น เป้าหมายของการปฏิบัติแบบพุทธคือการเปลี่ยนอกุศลมูลทั้งสามคือความโลภ โกรธ และหลง ให้กลายเป็นความเมตตา ความกรุณา และปัญญา การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบที่สามจะเกิดขึ้นไม่ใช่ด้วยการเอาบางสิ่งเข้ามา แต่เป็นการปล่อยวางบางสิ่งออกไป และไม่ใช่เป็นเพียงความคิดและความรู้สึกที่พิเศษบางอย่าง แต่โดยพื้นฐานแล้วเป็นความเข้าใจต่อตัวตนของเรา
การปฏิเสธการดำรงอยู่ของอัตตา (หลักอนัตตา) เปิดโอกาสให้มีการหลุดพ้นของอัตตาในสังสารวัฏฏ์ ด้วยการหยั่งรู้ถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างปราศจากทวิลักษณ์ของผู้รู้ที่อาจไม่แยกตัวโดดเดี่ยวอีกต่อไป และโลกที่ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเพียงวัตถุอีกต่อไป การตื่นอย่างพุทธจะเกิดขึ้นเมื่อเราตระหนักว่าเราไม่ได้เป็นส่วนที่แปลกแยกออกไปจากโลก ซึ่งแสดงออกด้วยการที่เราเป็นในสิ่งที่โลกกำลังเป็นอยู่ในที่นี่และเดี๋ยวนี้ อิสรภาพเช่นนี้ปลดปล่อยเราออกจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ถ้า ฉัน ไม่ได้อยู่ในร่างกาย ของฉัน และไม่ได้กำลังมองออกไปสู่โลกภายนอก ถ้าเช่นนั้น ฉัน ก็ไม่จำเป็นต้องคุ้มครองตัวฉันเอง และเมื่อ ฉัน ตระหนักถึงความจริงในข้อนี้ด้วยการปล่อยวางตนเองก็ไม่มีอะไรที่เราจำเป็นต้องทำให้ เป็นจริง ขึ้นมา และไม่มีอะไรที่เราต้องสูญเสียไป
สิ่งที่น่าขันประการสุดท้ายของความพยายามที่จะหารากเหง้าให้กับตัวตนของเรา กล่าวคือการพยายามทำให้เกิดความรู้สึกว่าตัวตนเป็นจริงขึ้นมาด้วยการเติมเต็มความรู้สึกพร่องตรงนั้น คือเราไม่มีทางทำสิ่งนั้นได้สำเร็จ เพราะอันที่จริงตัวเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของเอกภาพทั้งมวลอยู่แล้ว เราอาจรู้สึกว่า ตัวตนของเราไม่มีรากเหง้าและไม่อาจหารากเหง้าได้ ตราบเท่าที่เรายังถูกครอบงำด้วยอวิชชาว่าตัวเราแยกขาดออกจากโลก แต่อันที่จริงตัวเราเองได้หยั่งรากอย่างเต็มที่เสมอมา ตราบที่เราเห็นได้ว่าเราไม่ได้เป็นส่วนที่แยกขาดออกจากโลก มันกลายเป็นว่าความพร่องของเราจะยังคงเป็นความพร่องอยู่ ตราบที่เรากลัวความรู้สึกเช่นนั้นและพยายามเติมให้มันเต็ม และหากเราสามารถหยุดกระทำเช่นนั้น ความพร่องของเราก็จะแปรไปเป็นแหล่งกำเนิดพลังอันสร้างสรรค์ ซึ่งโผล่พ้นขึ้นมาจากหลุมอันหาก้นบึ้งไม่ได้ ตามหลักพุทธศาสนา ปัญญาเช่นนั้นจะเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติพร้อมกับความกรุณาที่มีต่อสรรพสิ่ง ซึ่งเราไม่ได้คิดว่าเป็นสิ่งที่แยกขาดออกจากตัวเราอีกต่อไปแล้ว
ความเชื่อที่ว่าอิสรภาพเช่นนี้จะปรากฏทั่วไปในอนาคตอันใกล้ เป็นเรื่องที่ให้ความหวัง และถ้าเราทำให้สังคมโดยรวมได้ตระหนักรู้ถึงโอกาสเช่นนี้และกระตุ้นให้พวกเขาได้ชื่นชมกับความคิดเช่นนี้ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นย่อมมีอย่างมหาศาล คำถามว่าปรากฏการณ์นั้นจะเกิดขึ้นหรือไม่ในบริบทการพัฒนาวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่เป็นอีกประเด็นหนึ่ง แม้ว่าช่วงต่อเข้าสู่สหัสวรรษใหม่เป็นแรงกระตุ้นให้ความเชื่อในยุคใหม่ของพระเจ้ามีเพิ่มมากขึ้นก็ตาม ถ้าความต้องการของเราเป็นสัญลักษณ์สะท้อนอะไรบางอย่าง มันก็คงถึงจุดที่เราต้องเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนแล้ว.. บรรณานุกรม
- Aveni, A. 1995. Empires of time. New York: Kodansha.
- Cobb, C., et al. 1995. The genuine progress index. San Francisco: Redefining Progress.
- Illich, 1. 1977. Limits to medicine. Harmondsworth, N.Y: Penguin.
- Jackson, T., et al. 1997. Index of sustainable economic welfare for the U.K. 1950 96. Guildford, U.K.: University of Surrey.
- Levine, R. 1997. A geography of time. New York: Basic Books.
- Loy, D. R. 1999. Lack and transcendence. Atlantic Highlands, N.J.: Humanities
- Press, 1996. Reprint, Amherst, N.Y.: Humanity Books.
- Mander, J. 1991. In the absence of the sacred. San Francisco: Sierra Club Books.
- Nietzsche, F. 1986. Human, all too human. Translated by R. J. Hollingdale. New York: Cambridge University Press.
- Noble, D. F. 1998. The religion of technology. New York: Knopf.
- Robinson, J. 2000. Four weeks vacation. Utne Reader, SeptemberOctober.
- Schor, J. 1992. The overworked American. New York: Basic Books.
- Thompson, D. 1996. The end of time. London: Minerva.
- United Nations. United Nations Human Development Report for 1999. Available at http://www.undp.org/hdro/overview.pdf.
|