ลุ่มเสขิยธรรมเป็นการรวมตัวของพระภิกษุ สามเณร แม่ชี และฆราวาส ที่ห่วงใยต่อพระพุทธศาสนาและสภาพสังคม มีจุดประสงค์เพื่อการประยุกต์ใช้ศาสนธรรมในการพัฒนาตนเองและสังคมอย่างสมสมัย ด้วยความเกื้อกูลโดยปราศจากการตอบแทนเชิงทุนนิยม ตลอด ๑๔ ปีที่ผ่านมา บทบาทของกลุ่มได้ปรากฏในสังคมด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย ทุกปีทางกลุ่มจะจัดประชุมใหญ่เพื่อทบทวนหน้าที่บทบาทการทำงาน, พบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างสมาชิก, ภาวนาขัดเกลาพฤติกรรมและกระบวนการคิด พร้อมทั้งส่งเสริมองค์ความรู้ใหม่ ๆ ระหว่างสมาชิกด้วยกัน
สำหรับปีนี้ สถานที่จัดการประชุมใหญ่กรรมการดำเนินงาน กองทุนได้คัดเลือกเอาที่ วัดกุดชุมใน ต.กุดชุม อ.กุดชุม จ.ยโสธร ระหว่างวันที่ ๒๐ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๔๖ ที่ผ่านมา โดยมีคณะอนุกรรมการฝ่ายภาวนาเป็นผู้จัดกระบวนการ นอกจากเรื่องหลักจะเป็นการประชุมตามปกติแล้ว ยังมีการกำหนดวันภาวนาระหว่างสมาชิกเป็นการพิเศษด้วย ซึ่งปีนี้มีสมาชิกเข้าประชุมทั้งหมด ๓๐ ท่าน โดยก่อนจะมีการประชุมใหญ่อย่างเป็นทางการในวันที่ ๒๐ ช่วงค่ำของวันที่ ๑๙ คณะกรรมการดำเนินงาน กองทุนได้ประชุมวาระพิเศษสรุปการทำงานตลอด ๑ ปีที่ผ่านเพื่อแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่ทราบ
การประชุมวันแรก ช่วงเช้าเป็นการแนะนำสถานที่ และให้เพื่อนสมาชิกแต่ละท่านแนะนำตัวเองต่อกลุ่มใหญ่ ช่วงบ่ายได้ให้สมาชิกทบทวนการทำงานของกลุ่ม (กรรมการชุดต่าง ๆ) ในแง่ของวิธีการ การนำเสนอและผลที่เกิดขึ้น พร้อมด้วยการมีส่วนร่วมของแต่ละท่านในรอบปีที่ผ่านมา สมาชิกส่วนมากมีความพอใจโดยเฉพาะการทำงานของคณะกรรมการบริหารที่คล่องตัว ทันต่อสถานการณ์ ส่วนคณะกรรมการกองทุน สมาชิกเสนอให้ปรับปรุงหน้าที่และรูปแบบการทำงานให้ชัดเจนและเป็นระบบยิ่งขึ้น ข้อบกพร่องที่สมาชิกเห็นพ้องกันมากที่สุดคือ การรับส่งข่าวสารและความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก ในแต่ละภูมิภาคที่ค่อนข้างห่างเหินและไม่ต่อเนื่อง
|
|
|
|
วันที่สอง ช่วงเช้า สมาชิกในกลุ่มได้พูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานในอดีตที่ผ่านมา และที่ทำอยู่ในปัจจุบัน จากภาพรวมทำให้เห็นว่า สมาชิกมีความหลากหลายในหน้าที่มาก เช่น เป็นผู้นำชุมชนในการพัฒนาด้านสมุนไพร ป่าไม้ เกษตรกรรม เป็นต้น ครูสอนศีลธรรม พระสังฆาธิการและคนทำหนังสือ ช่วงบ่าย เป็นการสรุปผลที่ได้ทบทวนบทบาทในรอบ ๑ ปีที่ผ่านมาและนำเสนอแนวทาง กิจกรรมของกลุ่มเสขิยธรรมจากสมาชิกทุกท่าน ช่วงค่ำ ได้มีการคัดเลือกกรรมการดำเนินงานชุดใหม่ โดยสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด (ยกเว้นผู้ที่เป็นกรรมการ) เห็นว่าสมาชิกมีน้อยเกินไป และหากการเลือกกรรมการชุดใหม่ อาจทำให้งานที่ทำอยู่ชะงักและไม่สืบเนื่องได้ จึงได้มีมติว่า ให้ต่ออายุการทำงานของกรรมการชุดเก่าต่อไปอีก ๑ ปี ด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่ จากนั้นในปีต่อไปค่อยเลือกกรรมการชุดใหม่ โดยให้มีอายุการทำงาน ๒ ปี และเนื่องจากมีกรรมการลาออกถึง ๓ ท่าน ที่ประชุมมีมติให้เลือกกรรมการเพิ่มอีก ๒ ท่าน โดยกรรมการที่เลือกใหม่ คือ พระบุญชู ติสาโร จากจังหวัดสกลนคร และอีกหนึ่งท่านให้เป็นตัวแทนฝ่ายแม่ชี โดยขอให้แม่ชีสุบินนำเสนอในการประชุมกรรมการคราวหน้า จากนั้นที่ประชุมได้มีมติกำหนดประชุมกรรมการชุดใหม่ ครั้งที่ ๑/๒๕๔๖ ที่มูลนิธิโกมลคีมทอง กรุงเทพฯ ในวันอังคารที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๖
วันที่สาม ช่วงเช้า สมาชิกของกลุ่มได้ไปดูงานที่บ้านโนนยาง ต.คำแมด อ.กุดชุม สถานที่แรกเป็นร้านค้าชุมชน ที่กำหนดให้สมาชิกนำสิ้นค้าพื้นบ้านมาวางขายได้ ส่วนมากเป็นพวกผัก ผลไม้และสมุนไพรพื้นบ้าน แต่ในร้านก็ยังต้องขายสิ่งจำเป็นต้องใช้ชนิดอื่นที่ชาวบ้านไม่สามารถผลิตเองได้ เช่น สบู่ ผงซักฟอก เป็นต้น ซึ่งดูเหมือนว่าของใช้ที่นำมาจำหน่ายมีมากกว่าของที่ชาวบ้านผลิตใช้กันเองหลายเท่า จากนั้นก็ออกจากหมู่บ้านไปดูการทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรพอเพียงและเกษตรไร้สารพิษ ซึ่งเป็นการเกษตรแบบใหม่ที่มุ่งการอยู่กับธรรมชาติอย่างกลมกลืน และใช้ประโยชน์จากกันแบบพึ่งพาอาศัย ช่วงบ่ายได้ไปดูงานที่วัดท่าลาด ต.น่าโส่ อ.กุดชุม ในเรื่องการแปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับการใช้ภายในชุมชนและจำหน่าย ทั้งนี้มีการสาธิตการทำน้ำมันนวดให้สมาชิกได้ดูด้วย สถานที่สุดท้ายในการไปดูงานก็คือ โรงสีธรรมชาติที่บ้านนาโส่ เป็นโรงสีของชุมชนที่ให้การบริการภายในชุมชุนเป็นหลัก ช่วงค่ำ มีการเสวนาเกี่ยวกับการทำงานในท้องถิ่นของพระสงฆ์ในเขตจังหวัดยโสธร นำโดย พระครูสุภาจารวัฒน์และพระสมาชิกในกลุ่มสังฆอาสาพัฒนา ทั้งในด้านของผู้ที่สืบต่องานด้านการส่งเสริมให้ชาวบ้านพออยู่พอกิน และลักษณะงานที่เปลี่ยนไปตามความต้องการของชุมชนตลอดจนกระแสสังคม เช่น การเกิดขึ้นของสัจจะสะสมทรัพย์ การสอนศีลธรรมในสถานศึกษา ทำให้พระเณรที่จะมาทำงานแบบที่พระครูสุภาจารวัฒน์เคยทำอยู่น้อยลงไป ซึ่งท่านพระครูฯ สะท้อนว่ากำลังอยู่ในภาวะวิกฤต
วันที่สี่ เป็นวันแห่งการภาวนา พระมหาจันทร์ คุณวุฑฺโฒ ได้นำสมาชิกทุกรูปสมาทานกรรมฐานและเจริญสมาธิด้วยกันช่วงละ ๑ ชั่วโมง บริเวณโบสถ์เก่าของวัดที่สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๔ หลังจากนั้นให้แต่ละท่านเลือกสถานที่วิเวกภาวนาด้วยตนเอง ซึ่งกิจกรรมวันนี้มีอุบาสกอุบาสิกาชาวบ้าน ในเขตอำเภอกุดชุม มาร่วมสมาทานภาวนาด้วยกันหลายท่าน
วันที่ห้า ช่วงเช้า เป็นการประเมินผลกิจกรรมตลอดการประชุมใหญ่ทั้ง ๕ วัน ใน ๓ ประเด็นคือ รูปแบบการประชุมใหญ่ การดูงานและการภาวนา จากนั้นที่ประชุมได้เสนอสถานที่จัดประชุมใหญ่ครั้งต่อไป ว่า กระจายไปในภูมิภาคอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นการเยี่ยมเยือนและเปลี่ยนบรรยากาศ โดยเสนอไป ๓ แห่ง คือ วัดวังศิลาธรรมาราม จ.ระยอง วัดท่าเมรุ จ.สงขลา และวัดโมถ่าย จ.สุราษฎร์ธานี..
คณะกรรมการดำเนินงาน กลุ่มเสขิยธรรม
ประจำปี ๒๕๔๖ ๒๕๔๗
พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณประธานกรรมการ
พระสมบูรณ์ สุมงฺคโลกรรมการ
พระใบฎีกาสุทัศน์ วชิราโณกรรมการ
พระสมัย สจฺจาโณกรรมการ
พระครูวรดิตถ์ธรรมาทร (บุญมี ติสฺสโร)กรรมการ
พระบุญชู ติสาโรกรรมการ
แม่ชีสุบิน ผลไม้กรรมการ
พระครูธรรมธรไมตรี วรมิตฺโตกรรมการ/เหรัญญิก
พระมหาประญัติ มหาภินิกฺขมโนกรรมการ/เลขานุการ
|