เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๗
ประยุกต์ธรรม
พระทวีศักดิ์ จิรธมฺโม

ธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลา ครั้งที่ ๘

บนพื้นที่ทางสังคม ที่นับวันมิติทางวิญญาณสิ้นไร้ที่อยู่ที่ยืนลงไปทุกที

 

แผนที่ทะเลสาบสงขลาธรรมยาตราฯ เดินเท้ากันมาเป็นปีที่ ๘ แล้ว โดยปีนี้จัดขึ้น ในวันที่ ๑ – ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๖ โดยเริ่มต้นออกเดินจากที่พักสงฆ์ทรายทอง ต.คลองแห อ.หาดใหญ่ และไปสิ้นสุดลงที่วัดท่าหิน ต.ท่าหิน อ.สทิงพระ จ.สงขลา นับถึงวันนี้ชาวคณะธรรมยาตราทุกท่านน่าจะดีใจ เมื่อทราบข่าวว่ารัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ เพื่อการพัฒนาทะเลสาบสงขลาอย่างเป็นระบบ ในวงเงินนับหมื่นล้าน ภายในระยะเวลา ๕ ปี โดยจะเริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ ไปจนถึง ปี ๒๕๕๑

          ท่ามกลางความดีอกดีใจกับข่าวดี ที่คณะทำงานของรัฐได้ลงมารับทราบปัญหาและกำหนดนโยบาย ความหวาดหวั่นพรั่นพรึงก็ตามมาอย่างที่มิอาจหลีกเลี่ยง เมื่อไม่อาจหลีกเลี่ยง ธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลาครั้งที่ ๘ (ซึ่งทำท่าร่อแร่ไม่อาจถือกำเนิด เนื่องจากผู้ประสานงานหลักไม่พร้อมที่จะทำหน้าที่ประสานงาน) ก็จำต้องถือกำเนิดภายใต้ความกดดันอันน่าอนุโมทนายินดี เพื่อตั้งคำถามต่อ วาทกรรม อันครอบงำมนุษยชาติ มากว่าห้าทศวรรษในนามของ “การพัฒนา” ขณะเดียวกันก็เป็นการกระตุ้นเตือนให้ชุมชนแวดล้อม ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องให้หันมาสนใจถึง รากเหง้าของการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสแสดงไว้

หลักธรรมที่นำไปสู่การพัฒนา
อย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน

ภาวนา ๔ การเจริญ การทำให้เป็นให้มีขึ้น การฝึกอบรม การพัฒนา

     กายภาวนา การเจริญกาย, พัฒนากาย, การฝึกอบรมกาย ให้รู้จักติดต่อเกี่ยวข้อง กับสิ่งทั้งหลายภายนอก ทางอินทรีย์ทั้งห้าด้วยดี และปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นในทางที่เป็นคุณ มิให้เกิดโทษ ให้กุศลธรรมงอกงาม ให้อกุศลธรรมเสื่อมสูญ, การความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ

     สีลภาวนา การเจริญศีล, พัฒนาความประพฤติ, การฝึกอบรมศีล ให้ตั้งอยู่ในระเบียบวินัย ไม่เบียดเบียนหรือก่อความเดือดร้อนเสียหาย อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยดี เกื้อกูลแก่กัน

     จิตตภาวนา การเจริญจิต, พัฒนาจิต, การฝึกอบรมจิตใจให้เข้มแข็งมั่นคง เจริญงอกงามด้วยคุณธรรมทั้งหลาย เช่น มีเมตตากรุณา ขยันหมั่นเพียร อดทน มีสมาธิ และสดชื่นเบิกบาน เป็นสุขผ่องใส เป็นต้น

     ปัญญาภาวนา การเจริญปัญญา, พัฒนาปัญญา การฝึกอบรมปัญญา ให้รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง รู้เท่าทันเห็นแจ้งในโลกและชีวิตตามสภาวะ สามารถทำจิตใจให้เป็นอิสระ ทำตนให้บริสุทธิ์จากกิเลส และปลอดภัยจากความทุกข์ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยปัญญา

สาราณียธรรม ๖ ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความให้ระลึกถึง ธรรมเป็นเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน กลักการอยู่ร่วมกัน หลักธรรมที่เป็นองค์ประกอบของชุมชน ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง

     ๑. เมตตากายกรรม ตั้งเมตตากายกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ช่วยเหลือ กิจธุระของผู้ร่วมหมู่คณะ ด้วยความเต็มใจ แสดงกิริยาอาการสุภาพ เคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

     ๒. เมตตาวจีกรรม ตั้งเมตตาวจีกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ช่วยบอกแจ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ สั่งสอน แนะนำตักเตือนด้วยความหวังดี กล่าววาจาสุภาพ แสดงความเคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

     ๓. เมตตามโนกรรม ตั้งเมตตามโนกรรม ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ตั้งจิตปรารถนาดี คิดทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กัน มองกันในแง่ดี มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน

     ๔. สาธารณโภคี ได้ของสิ่งใดมาก็แบ่งปันกัน คือ เมื่อได้สิ่งใดมาโดยชอบธรรมแม้เป็นของเล็กน้อย ก็ไม่หวงไว้ผู้เดียว นำมาแบ่งปันเฉลี่ยเจือจาน ให้ได้มีส่วนร่วมใช้สอยบริโภคทั่วกัน

     ๕. ศีลสามัญญตา มีศีลบริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ มีความประพฤติสุจริตดีงาม ถูกต้องตามระเบียบวินัย ไม่ทำตนให้เป็นที่รังเกียจของหมู่คณะ

     ๖. ทิฏฐิสามัญญตา มีทิฏฐิดีงามเสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ มีความเห็นชอบร่วมกัน ในข้อที่เป็นหลักการสำคัญ ที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นสิ้นทุกข์ หรือขจัดปัญหา

อปริหานิยธรรม ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม เป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียว สำหรับหมู่ชนหรือผู้บริหารบ้านเมือง (ธรรมที่ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เกื้อหนุนให้ชุมชนพึ่งตนเอง)

     ๑. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์

     ๒. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่พึงทำ

     ๓. ไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ (อันขัดต่อหลักการเดิม) ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้ (ตามหลักการเดิม) ถือปฏิบัติตามหลักการตามที่วางไว้เดิม

     ๔. ท่านเหล่าใด เป็นผู้ใหญ่ให้เคารพนับถือท่านเหล่านั้น เห็นถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งที่ควรรับฟัง

     ๕. บรรดากุลสตรีกุลกุมารีทั้งหลาย ให้อยู่ดีโดยมิถูกข่มเหง หรือฉุดคร่าขืนใจ

     ๖. เคารพสักการะเจดีย์ (ปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุ ตลอดถึงอนุสาวรีย์ต่าง ๆ) ประจำชาติทั้งหลาย ทั้งภายในภายนอก ไม่ปล่อยให้ธรรมิกพลี ที่เคยให้เคยทำแก่เจดีย์เหล่านั้น เสื่อมทรามไป

     ๗. จัดให้ความอารักขา คุ้มครอง ป้องกัน อันชอบธรรม แก่พระอรหันต์ทั้งหลาย (ในที่นี้กินความกว้าง หมายถึง บรรพชิต ผู้ดำรงธรรมเป็นหลักใจของประชาชนทั่วไป) ตั้งใจว่า ขอพระอรหันต์ทั้งหลายที่ยังมิได้มา พึงมาสู่แคว้น ที่มาแล้วพึงอยู่ในแว่นแคว้นโดยผาสุก

ที่มา :พจนานุกรมพุทธศาสตร์ (ฉบับประมวลธรรม)
พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

          “ธรรมะในการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน” จึงเป็นประเด็นหลักในการรณรงค์สำหรับปีนี้

          ได้ยินประเด็นรณรงค์เข้าแล้ว หลายท่านอาจเห็นไปว่า ช่างเป็นนามธรรมเสียเหลือเกิน ไม่เห็นมีอะไรใหม่ และมันก็จะเป็นเช่นนั้นจริง ๆ หากธรรมยาตราฯ ปีนี้ จะไม่มีสิ่งที่เรียกว่า การเสวนา “บ่อบำบัดน้ำเสีย ผลกระทบต่อชุมชน และแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วม” ที่วัดบางโหนด จะไม่มีการเสวนา “คติการปลูกเรือนไทยโบราณ” ที่วัดท้ายยอ ต.เกาะยอ และไม่มี “พิธีส่งมอบแผนแม่บทพัฒนาตำบลท่าหิน จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตภาคใต้ แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าหิน” ฯลฯ

          การเดินเท้าตลอดทั้ง ๑๐ วันได้สิ้นสุดไปแล้ว แต่นั่นไม่ได้หมายถึงว่า วิถีแห่งธรรมยาตราจักจบสิ้นลงไปด้วย นั่นเพราะประเด็นของการพัฒนายังคงต้องมีการพูดถึงกันต่อไป โดยเฉพาะซากผุพังของการพัฒนา และผลกระทบอันเลวร้ายยาวนานที่หลงเหลืออยู่ในชุมชนรอบ ๆ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

          ซากดังกล่าวถูกพบเห็นกันตั้งแต่วันแรก ณ ที่พักสงฆ์ทรายทองอันเป็นอารามเล็ก ๆ ซึ่งอยู่ติดคลองแห นั่นคือ กลิ่นอันเน่าเหม็นของน้ำในลำคลองนั่นเอง การพูดคุยในวันนี้คณะธรรมยาตราฯ ได้รับฟังความในใจของปลัด อบต.คลองแห ที่กล่าวอย่างติดตลกว่า “ถึงเวลาแล้วที่ชาวคลองแห ต้องมานั่งฟังคนข้างนอกพูดถึงปัญหาน้ำเสียในคลองแห”

          สืบเนื่องจากคลองแห มาถึงวันที่สามของการเดินเท้าเข้าสู่ ต.น้ำน้อย ต.คูเต่า ก็เป็นบรรยากาศอันดุเด็ดเผ็ดร้อนของการเสวนา ที่วัดบางโหนด ที่มีพระสงฆ์เป็นเสมือนสักขีพยาน รับรู้ซึมซับอารมณ์ของทั้งสองฝ่าย กระทั่งบรรลุข้อตกลงร่วมระหว่างชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทศบาล ซึ่งนำโดยผู้อำนวยการโครงการระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ เทศบาลนครหาดใหญ่ อันน่าได้รับการบันทึกเอาไว้ ณ ที่นี้ คือ :

          ๑. ให้มีตัวแทนชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ และการดำเนินโครงการระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ เทศบาลนครหาดใหญ่

          ๒. ให้มีการขุดลอกตะกอนออกจากคลองขุด ที่บ้านบางโหนด และให้มีการตรวจสอบบ่อบำบัดน้ำเสีย ที่ปล่อยน้ำทิ้งลงสู่คลองขุด

          โดยทั้งสองข้อตกลงอันเป็นรูปธรรมที่สุดนี้ บรรลุผลหลังจากการเสวนาซึ่งกินเวลากว่า ๓ ชั่วโมงเต็ม เพื่อเป็นบทเริ่มต้นในการสื่อถึงความจริงใจ ของฝ่ายเทศบาลในการแก้ปัญหาอย่างมีส่วนร่วม หลังจากที่ชาวบ้านต่างระอาใจกับโครงการนี้มาค่อนข้างยาวนาน

          ตัวอย่างการเสวนาที่วัดบางโหนด เป็นตัวอย่างเล็ก ๆ ที่แสดงถึงการแก้ปัญหาร่วมกันอย่างสันติ

          ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นหนึ่งในพระภิกษุ ที่อยู่ร่วมเป็นสักขีพยานในการเสวนาที่วัดบางโหนด แม้ไม่ได้ร่วมตั้งคำถามหรือร่วมหาคำตอบอย่างจริงจัง ต่อแนวทางในการแก้ปัญหา นอกไปจากการกล่าวนำถึง ความเป็นมาของธรรมยาตรา ก่อนที่การเสวนาจะเริ่มต้นขึ้นก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนและเพื่อนพระภิกษุในคณะธรรมยาตราทำได้ ขณะที่การเสวนาดำเนินไปอย่างดุเด็ดเผ็ดร้อนก็คือ การนั่งสงบหายใจเข้า – ออกอย่างรู้สึกตัวทั่วพร้อม

          การนั่งสงบก่อประโยชน์อันใดต่อการเสวนา

          ในวงเสวนาซึ่งเรียกร้องการแสดงความคิดเห็น การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ดูเหมือนการนั่งสงบ นอกไปจากเป็นวิธีการที่ไร้ประสิทธิภาพที่สุดแล้ว ยังถือเป็นเรื่องผิดที่ผิดทางอย่างไม่อาจอภัย แต่ในแง่มุมของธรรมยาตราฯ แล้ว ความสงบศานติ กลับถือเป็นพลังของอันสำคัญอย่างยิ่งยวดอันหนึ่ง เพราะความสงบของธรรมยาตรา เจ้าหน้าที่โครงการฝ่ายเทศบาล จึงให้เกียรติมาร่วมเสวนากับพวกเรา เพราะความสันติจริงใจของคณะธรรมยาตรา ชาวบ้านที่มาร่วมเสวนา แม้จะพกพาเอาความรุ่มร้อนคับแค้นใจไว้มากแค่ไหน แต่เมื่อมาอยู่ในวงเสวนา พวกเขาสามารถยับยั้งอารมณ์อันเคืองแค้นไว้ได้อย่างน่ารัก และเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน กระทั่งสามารถบรรลุข้อตกลงดังกล่าวแล้ว

          ในสถานการณ์เผชิญหน้าเช่นนี้ แม้จะเป็นเพียงเหตุการณ์เล็ก ๆ แต่อดไม่ได้ ที่จะทำให้นึกไปถึงสถานการณ์ที่ปรากฏอยู่ในพระสูตร สมัยที่พระพุทธองค์ทรงห้ามศึกแย่งน้ำที่ริมฝั่งแม่น้ำโรหิณี ระหว่างกองทัพฝ่ายโกลียวงศ์และฝ่ายศากยวงศ์ ปราศจากสติอันมั่นคงแน่วแน่ของพระพุทธองค์เสียแล้ว จักนำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างไร

          พื้นที่ทางสังคมวันนี้ ภาคประชาชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดวิถีทางของการพัฒนา มากยิ่งขึ้นทุกที ขณะเดียวกัน รัฐก็พยายามตัดวงจร การมีส่วนร่วมของประชาชน มากยิ่งขึ้นทุกที ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ระหว่างวิธีคิดอันดูเหมือนจะมิอาจตกลงกันได้ ยิ่งแหลมคมมากขึ้นทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็น กรณีกลุ่มคัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย – มาเลเซีย ที่ลานหอยเสียบ กรณีโรงไฟฟ้าที่บ่อนอก – หินกรูด กรณีเขื่อนปากมูลที่ถูกทำให้เหลือแค่การปิดเปิดประตูน้ำ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ไม่อาจแก้ไขได้ด้วยการเผชิญหน้าอย่างไร้สติยั้งคิด เพราะนั่นรังแต่จะนำมาซึ่งความรุนแรงอันไม่รู้สิ้น

          กล่าวในส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ในนามของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบอย่างเป็นระบบ ที่จะเกิดขึ้นในอีก ๕ ปีข้างหน้าในวงเงินมหาศาล ย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากัน ระหว่างวิธีคิดที่แตกต่างกันหลาย ๆ ขั้ว ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐ ฝ่ายนักวิชาการ ฝ่ายนักพัฒนาเอกชน ฝ่ายประชาชน หรือแม้แต่ฝ่ายพระสงฆ์ ทำอย่างไรเล่าการเผชิญหน้าเหล่านี้จึงจะมีมิติทางจิตวิญญาณเข้าไปเชื่อมประสาน ก่อให้เกิดเป็นการเผชิญหน้าที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วมและเป็นไปโดยสันติ

          วิถีแห่งธรรมยาตรา คือหนึ่งในความพยายามเปิดมิติทางวิญญาณบนพื้นที่ทางสังคม อันเกี่ยวเนื่องไปถึงผู้คน และสิ่งแวดล้อมธรรมชาติรอบ ๆ ในแง่นี้กิจกรรมของธรรมยาตราจึงไม่เพียงเพิ่มพูนข้อรู้ข่าวสาร ด้วยการเปิดเวทีพูดคุยเท่านั้น แต่ครอบคลุมไปถึงการซึมซาบความงดงามแห่งวิถีชุมชน สนใจบางความรู้สึกที่ประณีตลึกซึ้ง เพื่อน้อมนับเข้ามาสู่การเพ่งมองภายในเพื่อเท่าทันต่อตนเองและความเป็นไปทั้งมวล

          อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นห่วงเป็นใยกันมาก เมื่อมีโครงการพัฒนาอันเป็นนโยบายที่ถูกกำหนดมาจากเบื้องบนก็คือ ทำอย่างไรจึงจะทำให้โครงการเหล่านี้ครอบคลุมไปถึงเรื่องการพัฒนาด้านศีล จิตใจ และการพัฒนาพลังทางปัญญาให้เกิดขึ้นพร้อมกันไปด้วย แทนที่จะมองเห็นเพียงแค่การพัฒนาด้านกายภาพ ที่มองเห็นทะเลสาบเป็นแค่ภาชนะรองรับน้ำที่ชำรุดทรุดโทรมเท่านั้น

ธรรมยาตรา          นับถึงวันนี้ หลายฝ่ายมองเห็นว่าสิ่งที่รัฐควรทำ คือให้ชะลอโครงการที่ถูกกำหนดมาจากเบื้องบนไว้ก่อน โดยหันมาให้การสนับสนุนโครงการที่ประชาชนในพื้นที่เสนอไว้แล้ว สนับสนุนการศึกษาแก้ไขปัญหาร่วมกันภายในชุมชนแต่ละท้องที่ เพราะดังที่รู้กันว่า ไม่มีใครจะรู้ปัญหาของชุมชนได้ดีกว่าคนในชุมชนเอง

          ธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลาปีนี้ ยังคงทำหน้าที่เป็นสักขีพยาน ร่วมรับรู้ซึมซับ เป็นวงเสวนากระตุ้นเตือน เป็นวงคุยร่วมชื่นชมในความงดงามของวิถีชีวิตเก่าก่อน ที่ยังคงหลงเหลือ เป็นจิตสำนึกที่ตระหนักในคุณค่าของเรื่องเล่า อันหล่อหลอมเป็นสำนึกของชุมชน เป็นสติอันเท่าทันต่ออารมณ์ความรู้สึกของตนเองขณะก้าวย่าง

          เราเชื่อว่า นโยบายการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบทั้งระบบ ที่จะเกิดขึ้นในอีก ๕ ปีข้างหน้า จักต้องคำนึงความงามของเพลงเรือที่แหลมโพธิ์ คำนึงถึงวิถีแห่งมุขปาฐะผู้เป็นดั่งคัมภีร์ที่ยังคงมีชีวิต คอยบอกล่าวคติการปลูกเรือนไทยโบราณที่วัดท้ายยอ คำนึงถึงโรงปั้นหม้อที่สืบสานตำนานอันยิ่งใหญ่แห่งชุมชนสทิงหม้อ คำนึงถึงเรื่องเล่าตำนานหลวงปู่มหาลอยที่แหลมจากปากรอ ตลอดจนจิตวิญญาณของชุมชนบ้านท่าหิน ที่ต้องการชี้นำวิถีการพัฒนาของตนเอง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐต้องเคารพและปฏิบัติต่ออย่างอ่อนน้อมถ่อมตน .. .

 

บทอธิษฐานเพื่อความรู้สึกตัวทั่วพร้อม


     ณ ชั่วขณะแห่งความรู้สึกตัวทั่วพร้อมนี้ พวกเราจักทำในใจอย่างแยบคาย พร้อมกับการก้าวย่างไปเบื้องหน้า ขอให้ก้าวของเราแต่ละก้าว ได้นำความสุขสงบมาสู่ตัวเรา มาสู่ผองเพื่อนของเรา มาสู่ชุมชนและธรรมชาติแวดล้อมที่เราผ่านไป

     ขอให้ก้าวย่างของเราแต่ละก้าว ได้นำความรู้เท่าทันมาสู่ตัวเรา มาสู่ผองเพื่อนของเรา มาสู่ชุมชนและธรรมชาติแวดล้อมที่เราผ่านไป

     ขอให้ก้าวย่างของเราแต่ละก้าว ได้กล่อมเกลาร่างกายและวิญญาณของเรา ให้รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตนรู้รับฟังพินิจพิจารณา เพื่อเราจักค้นพบโอกาสและหนทางอันสร้างสรรค์ ในการดำเนินวิถีแห่งการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสันติและยั่งยืน

     สดับเถิดพวกเราทั้งหลาย ความตั้งใจอันดีงามของเรา ปรากฏอยู่ที่นี่แล้ว ณ ชั่วขณะแห่งความรู้สึกตัวทั่วพร้อมนี้

     ขอให้ความมุ่งมั่นในคำอธิษฐานของเรา ได้สัมผัสทุกดวงใจของสรรพสัตว์ ได้ชุบชะโลมทุกเรือนกายของสรรพสิ่ง ให้สดชื่น ฉ่ำเย็น เพื่อตื่นรู้ต่อความงดงามในดุลยภาพแห่งการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ ประหนึ่งห้วงน้ำแห่งท้องทะเลสาบสงขลา ผู้ให้กำเนิดหล่อเลี้ยงธาตุมูลแห่งชีวิตตลอดมา โดยมิเคยเรียกร้องต้องการสิ่งใด ๆ

     ณ ชั่วขณะแห่งความรู้สึกตัวทั่วพร้อมนี้ คำอธิษฐานของเราจงปรากฏเป็นจริงในกาลทุกเมื่อ.

(บทอ่านก่อนออกเดินเท้า)

 

บทนอบน้อมแด่ธาตุมารดาทั้ง


     ขอนอบน้อมแด่ผืนดินที่รองรับร่างกายของเรา พวกเราตระหนักดีว่า ปราศจากเรือนกายกว้างใหญ่ของแม่ธรณีเมื่อใด กายเราไม่สามารถดำรงอยู่

     ขอนอบน้อมแด่แผ่นน้ำในทุกสถานขอบเขต ผู้หล่อเลี้ยงชุบชะโลมร่างกายและวิญญาณของเรา พวกเราตระหนักรู้ว่า เมื่อใดที่น้ำเพียงหยดเดียวสูญหายไปจากโลก ย่อมส่งผลสะเทือนถึงน้ำที่ไหลเวียนหล่อเลี้ยงอยู่ในกายเรา

     ขอนอบน้อมต่อสายลมในทุกหนแห่งช่องว่าง ซึ่งโคจรขับเคลื่อนร่างกายและวิญญาณของเรา พวกเราตระหนักเสมอว่า ปราศจากลมพัดไกวภายนอกแม้เพียงครู่ ลมชีวิตในกายเราย่อมหยุดนิ่งชะงักงัน

     ขอนอบน้อมแด่ไฟทุกประกายอันสว่างไสวอยู่ท่ามกลางอันธสถาน ผู้สันดาปพลังงาน ให้กำเนิดฤดูกาล และเป็นดวงตาแห่งโลก พวกเราตระหนักรู้อย่างเต็มเปี่ยมถึงเดชอันยิ่งใหญ่แห่งเปลวไฟ ปราศจากไฟเมื่อใด ไฟชีวิตในกายเราย่อมมอดดับสูญสลาย

     มวลธาตุมารดาทั้ง ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ต้นธารแห่งรูปลักษณ์และความเป็นไปในธรรมชาติทั้งมวล

     ณ สถานแห่งนี้ ชั่วขณะที่เรากำลังก้าวย่างไปบนวิถีแห่งธรรมยาตรา ขอให้แต่ละก้าวของพวกเราทั้งหลาย ได้สัมผัสถึงความปรากฏอยู่แห่งธาตุมารดาทั้ง ๔ อย่างแจ่มชัดลึกซึ้ง เพื่อที่เราจะได้รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน เข้าถึงคุณค่าอันไม่อาจประมาณ และสามารถค้นพบโอกาสและช่องทาง ในการร่วมมือกับเพื่อนมนุษย์คนอื่น ๆ ในการปกป้องดูแลผืนดินแผ่นน้ำ ตลอดจนธรรมชาติทั้งมวลให้คงอยู่คู่โลกอย่างยั่งยืนและยาวนาน

(บทอ่านก่อนออกเดินเท้า)

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :