เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๗
ที่มา : http://www.thaibhikkhunis.org/g63.html
กษุณีธัมมนันทาให้สัมภาษณ์สดออกรายการ Talk Asia ของ สำนักข่าวโทรทัศน์ CNN เมื่อเดือนเมษายน โดยคุณ Lorraine Hahn การสัมภาษณ์ดำเนินไปโดยที่ภิกษุณีนั่งอยู่ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี และคุณ Lorraine นั่งสัมภาษณ์อยู่ที่ฮ่องกง ภิกษุณีได้ยินแต่คำถามดังมาตามสายโทรศัพท์ แต่ไม่เห็นหน้าผู้สัมภาษณ์เลย...
คุณ Lorraine เปิดรายการโดยกล่าวแนะนำภิกษุณีกับผู้ชมทางบ้านว่า... ภิกษุณีเป็นผู้หญิงไทยที่เปี่ยมไปด้วยศรัทธา ผู้ซึ่งพยายามจะทลายกำแพงเก่าแก่ที่มีมายาวนานกว่า ๗๐๐ ปี ที่ขวางกั้นไม่ให้ผู้หญิงบวชเป็นพระภิกษุณีสงฆ์ในเมืองไทย ภิกษุณีเดิมเป็นนักวิชาการด้านพุทธศาสนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีงานเขียนทางวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์กว่า ๔๐ เล่ม ปัจจุบันมีสถานภาพเป็นสามเณรี โดยผ่านการทำพิธีบวชที่ประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็นทางอ้อมเพื่อที่จะได้บวช และบวชโดยพระจากนิกายสยามวงศ์ซึ่งมีความสัมพันธ์มาช้านานกับศาสนาพุทธในประเทศไทย และ ๒ ปีหลังจากการบวชเป็นสามเณรี ภิกษุณีก็จะบวชเป็นภิกษุณีแล้ว ซึ่งจะได้รับการยอมรับจากประเทศศรีลังกา และประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ แต่เหตุใดประเทศไทยยังไม่ยอมรับการบวชในครั้งนี้ ??
.... .... ....
Lorraine : ภิกษุณีตระหนักหรือไม่ว่า กำลังจะต้องรับผิดชอบกับการประดิษฐานภิกษุณีในประเทศไทย ทั้งกระบวนทีเดียว
ภิกษุณี : อาตมารู้แต่ว่าเมื่อตัดสินใจบวชนั้น อาตมาเพียงแต่ตอบรับต่อเสียงของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงวางพระทัยว่าทั้งหญิงและชายจะร่วมกันรักษาพระศาสนาสืบไป อาตมาไม่ได้เตรียมการเพื่อจะมาต่อสู้หรือเรียกร้องสิทธิใด ๆ อาตมาสนใจแต่ว่าจะมารับผิดชอบในการรักษาพระศาสนาเท่านั้น
มีคำถามที่ส่งมาจากผู้ชมทางอีเมลด้วยค่ะ คำถามแรกมาจากประเทศเกาหลี ถามว่า อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดในการเป็นพระ ?
สิ่งที่ยากที่สุดก็คือการเผชิญหน้ากับข้อบกพร่องของเราเอง รวมทั้งคำวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหลายที่จะได้รับ นั่นจะเป็นการฝึกปฏิบัติของเราทั้งสิ้น ปัญหานั้นไม่ได้มาจากภายนอกหรอก แต่มาจากภายใน เราจะจัดการกับปัญหาอย่างไรโดยที่ยังคงยึดมั่นในคำสอนของพระพุทธองค์ ชาวพุทธในเมืองไทยยังไม่เข้าใจ
คำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างถ่องแท้ หากชาวพุทธทั้งหลายมีความเข้าใจในคำสอนของพระองค์ท่านแล้ว ทุกคนกลับจะมีแต่ความปลื้มปีติและสนับสนุนการบวชในครั้งนี้ การที่คนส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจในพระธรรมคำสั่งสอนนี้ เป็นปัญหาที่ใหญ่และเร่งด่วนยิ่งกว่าเรื่องผู้หญิงจะบวชได้หรือไม่ได้เสียอีก
สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือการให้การศึกษาในด้านพุทธศาสนาแก่คนทั่วไปให้มากขึ้น และนั่นเป็นสิ่งที่อาตมากำลังทำอยู่ ใครก็ตามที่เข้าใจและปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนแล้วก็จะต้องดีใจที่มีน้องสาว (คือภิกษุณี) มาช่วยกันรับผิดชอบภารกิจของพระศาสนา และการบวชภิกษุณีนี้ก็เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงประทานอนุญาตไว้ ไม่ใช่อะไรที่อาตมาคิดขึ้นมาเอง
ขอทราบเกี่ยวกับพื้นเพครอบครัวของภิกษุณีค่ะ
คุณพ่อเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากภาคใต้ถึง ๓ สมัย คุณแม่เป็นอาจารย์ และเป็นผู้หญิงคนแรกที่เล่นยิวยิตสึ (Ju Jit Su)* (* ยิวยิตสึ (Ju Jit Su) คือ ยูโด) และเป็นผู้หญิงคนแรกที่ปั่นจักรยานจากกรุงเทพฯ ไปสิงคโปร์เมื่อตอนที่อายุได้ ๒๕ ปี อาตมา (พูดยิ้ม ๆ) คงจะได้ DNA ที่ดีมาจากพ่อแม่ แต่การที่ใคร ๆ ชอบพูดว่าอาตมามีความกล้าจังที่จะทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ อาตมาคิดว่าตัวเองไม่ได้กล้าหาญเลย เพียงแต่ทำสิ่งที่ควรทำเท่านั้นเอง การเป็นนักวิชาการด้านศาสนาที่ได้เรียนรู้พุทธศาสนามา มากพอที่จะเข้าใจความหมายของสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงมีพระประสงค์ให้ชาวพุทธปฏิบัติและเรียนรู้ อาตมาได้ศึกษาและน้อมรับพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ไว้ไม่ใช่แค่ที่สมองแต่ที่หัวใจ ไม่ว่าใครก็จะทำอย่างที่อาตมาทำถ้าเขาได้น้อมรับพระพุทธองค์ไว้ด้วยหัวใจ
แล้วปฏิกิริยาของลูก ๆ ล่ะคะ.. จะมีลูกชายคนใดดำเนินรอยตามท่านไหมคะ
พวกเขามาเยี่ยมและมาช่วยงานที่วัตรฯ สม่ำเสมอ ขณะนี้ยังไม่มีลูกชายคนใดที่คิดจะบวช ลูกชายคนหนึ่งเคยถามอาตมาว่า แม่ตัดสินใจบวชเอง หรือบวชเพราะสถานการณ์พาไป เมื่ออาตมาตอบลูกว่าเป็นการตัดสินใจของอาตมาเอง เขาก็บอกว่าถ้าแม่มีความสุขในวิถีทางนี้ เขาก็มีความสุขกับอาตมาด้วย
การบวชสามเณรีครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อต้นปี (พ.ศ. ๒๕๔๕) เป็นอย่างไรบ้างคะ
การบวชครั้งนั้นจัดให้โดยวัตรฯ ของเรานี่เอง อาตมาคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่มีผู้หญิงจำนวนมากขึ้นที่รู้ความต้องการของตัวเองว่าต้องการอะไรจากชีวิตนี้ มีผู้หญิงที่ปฏิบัติธรรมมามากพอที่จะเกิดความปรารถนาที่จะบวช อาจมีคนพูดว่าไม่เห็นต้องบวชก็ถึงนิพพานได้ แต่นั่นก็เป็นเรื่องของคนพูด ยังมีผู้หญิงคนอื่น ๆ ที่ต้องการจะใช้ชีวิตที่สมถะกว่านั้น เราไม่ควรไปขัดขวางพวกเขา คนแต่ละคนควรจะได้เรียนรู้และมีโอกาสที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเองไปให้ถึงที่สุด
มีคำถามจากอีเมลเข้ามาจากประเทศฮ่องกงค่ะ ถามว่า การบวชเป็นภิกษุณี จะช่วยให้ผู้หญิงเข้มแข็งมากขึ้น พอที่จะรับมือกับความยากลำบากในชีวิตที่อาจต้องพานพบหรือไม่ ?
(ยิ้ม) อาตมาคิดว่าเราต้องมีความเข้มแข็งอยู่ก่อนแล้วที่จะมาบวช และเมื่อบวชแล้วจิตวิญญาณของเราจะเข้มแข็งขึ้น
หลังจากบวชแล้วท่านรู้สึกอย่างไรบ้าง รู้สึกสงบและพอใจกับตนเองหรือไม่
ชัดเจน อาตมารู้สึกว่ามีความชัดเจนขึ้น (ด้วยน้ำเสียงที่มั่นใจ) จากที่เคยเห็นภาพอันยิ่งใหญ่มีสีสันหลากหลายแต่ไม่ชัดเจนในทางโลก มาตอนนี้โลกดูเล็กลงมองเห็นอะไร ๆ ได้ชัดขึ้น รู้ว่าชีวิตต้องการอะไรและจะดำเนินชีวิตไปตามนั้น
กรุณาเล่าชีวิตประจำวันให้ฟังว่าหน่อยค่ะ ว่าจะต้องทำอะไรบ้างในวันหนึ่ง ๆ
อาตมาตื่นนอนตีห้า ทำวัตรเช้าและนั่งสมาธิตอนตีห้าครึ่ง ต่อจากนั้นจะเดินดูสวนว่าต้องทำอะไรบ้าง จะได้บอกคนสวนได้ แล้วก็จะฉันอาหารเช้าเวลา ๗ โมงเช้า สำหรับวันอาทิตย์จะออกบิณฑบาตเวลา ๖ โมงเช้าบริเวณหมู่บ้านใกล้ ๆ วัตรฯ โดยมีลูก ๆ (ลูก--ศิษย์) จากกรุงเทพฯ มาเดินตาม หลังจากฉันอาหารเช้าแล้วก็จะเป็นเวลาทำงานเขียนและอ่านหนังสือ ฉันอาหารกลางวันเวลา ๑๑.๓๐ น. จากนั้นก็จะรับแขกที่เวียนมาหาตั้งแต่บ่ายสองจนห้าโมงเย็น อาตมากับเด็ก ๆ และแม่ชีที่พักที่วัตรฯ ก็จะไปทำงานในสวนและรดน้ำต้นไม้ พอ ๑ ทุ่มก็ได้เวลาทำวัตรเย็นและนั่งสมาธิอีกครั้ง แล้วก็จะเป็นเวลาศึกษาอ่านหนังสือต่าง ๆ ต่ออีก
มีอะไรในชีวิตก่อนบวชที่คิดถึงมากที่สุด...
อย่าหัวเราะนะ อาตมาคิดถึงน้ำชายามบ่าย (คุณLorraine หัวเราะเสียงดัง) มันไม่ใช่แค่น้ำชา เพราะจะฉันน้ำชาเมื่อไหร่ก็ได้มีคนถวายให้เสมอ แต่เป็นน้ำชายามบ่ายกับบลูเบอรี่ชีสเค้กที่อาตมาคิดถึง การจะฉันบลูเบอรี่ชีสเค้กตอนกลางวันก็รู้สึกว่าผิดเวลา ไม่ได้บรรยากาศ (..นี่เป็นเหตุให้เมื่อภิกษุณีเดินทางไปมาเลเซียเมื่อต้นเดือนมิถุนายนกับอาจารย์วิลาสินี มีชาวมาเลเซียที่ได้ดูรายการนี้ทำบลูเบอรี่ชีสเค้กมาถวายภิกษุณีก้อนโตทีเดียว..)
มีผู้หญิงคนอื่น ๆ อีกไหม ที่อาจจะอยากบวชตามท่านด้วยแต่ไม่กล้า หรือยังไม่อาจจะสละทุกอย่างเพื่อมาบวชได้
ตอนนี้ก็มีคนมาหาบอกว่าต้องการบวชทันที แต่อาตมาจะให้เขามาวัตรฯ ในวันอาทิตย์ดูก่อน มาเรียนรู้ มาฟังการบรรยายธรรมะ เพื่อเรียนรู้ว่าจะใช้ชีวิตเป็นพระภิกษุณีนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด ใครที่ต้องการจะบวชก็ต้องมาเริ่มที่วัตรฯ ของเรา และตามพระธรรมวินัยผู้ที่บวชเป็นภิกษุณีจะต้องมาจำวัดอยู่ที่วัตรฯ นี้เป็นเวลาถึง ๕ ปี จึงต้องมีการทำความรู้จักกันให้ดีเสียก่อน แต่ถ้ามีความมุ่งมั่นจริงและทำได้ตามที่ตั้งปณิธานไว้ก็บวชได้
ต่อไปเป็นคำถามที่คนมักจะเข้าใจว่า ผู้หญิงที่มาวัตรฯ มาหาพระ และอยากบวชนั้น เป็นผู้หญิงที่ประสบปัญหา เป็นผู้ถูกกระทำ หรือเป็นคน หลงทาง
ตอนนี้ที่วัตรฯ มีผู้หญิงที่เตรียมจะบวชสองคน คนที่หนึ่งก็เป็นคนธรรมดาทั่ว ๆ ไป ยังโสด ได้ศึกษาธรรมะมาจากที่โน่นบ้างที่นี่บ้าง มีความต้องการจะค้นหาแนวทางเพื่อความหลุดพ้น ส่วนอีกคนเป็นคนที่ผ่านชีวิตมาหมดแล้ว ทั้งแต่งงานมีลูก เบื่อหน่ายชีวิตทางโลกจึงอยากละทิ้งชีวิตทางโลก ไม่ว่าใครที่อยากจะบวช อาตมาจะชวนให้มาอยู่วัตรฯ อยู่อย่างอุบาสิกานี่แหละ เมื่อเข้มแข็งพอแล้ว มีความมั่นใจว่าจะดำเนินชีวิตแบบนักบวชได้ก็ค่อยบวช ให้ค่อยเป็นค่อยไป
คำถามสุดท้ายค่ะ ท่านคิดว่าจะได้เห็นความเท่าเทียมกันของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ในชีวิตนี้หรือไม่
(ตอบทันทีว่า) ไม่ แต่อย่างไรก็ตามอาตมาก็ต้องทำหน้าที่ในส่วนของอาตมา เป็นการเริ่มต้นเพื่อที่คนรุ่นลูกรุ่นหลานจะได้ว่าไม่ได้ว่าอาตมาไม่ได้ทำอะไรเพื่อพวกเขาเลย..
ในการตีพิมพ์ครั้งนี้ใช้คำว่า ภิกษุณี แทนคำว่า หลวงแม่ บรรณาธิการ
|