เสขิยธรรม
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๖


พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ แปล
ดัดแปลงจากคำนำของหนังสือ Buddhism and Science : Breaking New Ground
โดย B. Alan Wallace ที่กำลังจะตีพิมพ์

โลกที่ทับซ้อนกัน

.พุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ ต่างเอื้อประโยชน์ต่อกันได้หรือไม่ ตามทัศนะของ B. Alan Wallace ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์และผู้เขียน เขาเห็นว่าเป็นไปได้อยู่บ้าง

          เช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์ หลักธรรมของพุทธศาสนา แสดงออกมาในรูปขององค์รวมความรู้ อย่างเป็นระบบ เกี่ยวกับโลกธรรมชาติ พุทธศาสนาเสนอสมมติฐานและทฤษฎี ที่ทดสอบได้หลายประการเกี่ยวกับธรรมชาติของจิต และความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับสิ่งแวดล้อมภายนอก ทฤษฎีเหล่านี้ได้ถูกทดสอบและทดลองเพื่อยืนยันความถูกต้องมานับครั้งไม่ถ้วนในชั่ว ๒,๕๐๐ ปีที่ผ่านมา โดยผ่านวิธีปฏิบัติสมาธิภาวนาที่เราสามารถจำลองนำไปใช้ได้ เช่นนี้เอง เราอาจกล่าวได้ว่าคุณลักษณะของพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง สอดคล้องกับหลักการทดลองเชิงประจักษ์ (Empiricism) มากกว่าจะเป็นลัทธิความเชื่อที่ช่วยให้หลุดพ้นอย่างลี้ลับ แน่นอนว่ามีการตีความพุทธศาสนาอย่างหลากหลาย เกี่ยวกับคุณลักษณะและความสำคัญของหลักธรรมบางประการ ในทำนองเดียวกันก็มีทฤษฎีและการค้นพบด้านวิทยาศาสตร์มากมาย ที่เปิดกว้างสำหรับการตีความที่แตกต่างกันเมื่อผ่านช่วงเวลาหนึ่ง ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างวิทยาศาสตร์และพุทธศาสนาได้แก่ นักวิทยาศาสตร์มักจะแยกแยะประสบการณ์เชิงอัตวิสัยออกจากโลกธรรมชาติ และใช้หลักเหตุปัจจัยเฉพาะกับปรากฏการณ์ภายนอกเท่านั้น ในทางตรงข้าม พุทธศาสนาให้ความสำคัญกับปรากฏการณ์ของจิตอย่างเป็นอัตวิสัยพอ ๆ กับปรากฏการณ์ภายนอกในเชิงภววิสัย และชี้แจงแสดงความสัมพันธ์เชื่อมโยงในเชิงเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน ระหว่างทั้งสองปรากฏการณ์

          พุทธศาสนา ยังได้ให้คำอธิบาย มากกว่าหลักจิตวิทยาสมัยใหม่มาก ถึงวิธีการที่มีองค์ความรู้รองรับชัดเจน เพื่อสำรวจถึงเหตุแห่งทุกข์และสุข โดยไม่เพียงมุ่งบำบัดทุกข์เมื่อเกิดขึ้นแล้ว หากยังมุ่งสำรวจ และหาทางบำบัดเหตุแห่งทุกข์ ก่อนที่ทุกข์นั้นจะเกิดขึ้น ทั้งนี้โดยเห็นว่าปรากฏการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยที่ทับซ้อนกันหลายประการ และแก่นของพุทธธรรมก็มุ่งจะสำรวจปัจจัยภายใน ที่ทำให้เกิดความสุขและความเศร้า เพราะพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับปัจจัยภายใน มากกว่าปัจจัยภายนอก นี้อาจเป็นสิ่งที่แสดงความเป็นวิทยาศาสตร์ของพุทธศาสนามากที่สุด โดยพุทธธรรมให้คำตอบกับปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงของมนุษย์ และในเรื่องของจิตซึ่งมักจะถูกมองข้ามไปโดยวิทยาศาสตร์สมัยใหม่

          ข้อแตกต่างประการหนึ่งระหว่างวิทยาศาสตร์กับแนวปฏิบัติด้านภาวนาซึ่งเรามักเชื่อกันว่าได้แก่ วิทยาศาสตร์นำไปสู่องค์ความรู้อย่างเป็นสากล ในขณะที่ปัญญาญาณอันเกิดจากการภาวนาเป็นองค์ความรู้ของปัจเจกและไม่อาจแบ่งปันให้ใครอื่นได้ ดังที่นักสังคมชีววิทยานาย Edward O. Wilson ชี้ให้เห็นว่า “ข้อกำหนดสำคัญอย่างหนึ่งขององค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ได้แก่ การค้นพบใด ๆ จะไม่ถือว่ามีอยู่ จนกว่าจะมีการวิจารณ์ตรวจสอบ (review) และมีการตีพิมพ์อย่างชัดเจนแล้ว” กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ความรู้ที่ค้นพบจะไม่เป็นที่ยอมรับในชุมชนวิทยาศาสตร์ตราบจนงานชิ้นนั้นได้รับการวิจารณ์ตรวจสอบและตีพิมพ์ แต่การค้นพบที่แท้จริงย่อมเกิดขึ้นแล้วก่อนที่ความรู้นั้นจะได้รับการตีพิมพ์เสียอีก และแม้จะมีการตีพิมพ์ความรู้จากการค้นพบนั้นแล้ว การไต่สวนรับรองความถูกต้องขององค์ความรู้นั้น ก็กระทำโดยผู้ชำนาญการเพียงจำนวนน้อ ยในวงการวิจัยเฉพาะทาง นักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ และสาธารณชนทั่วไปย่อมไม่อาจยอมรับความถูกต้องขององค์ความรู้นั้น บนฐานความศรัทธาที่มีต่อผู้ชำนาญการได้

          สถานการณ์เช่นนี้ไม่แตกต่างมากนักจากความรู้จากการค้นพบในเชิงวิปัสสนาของพุทธศาสนา ปัญญาญาณที่เกิดขึ้นเป็นประสบการณ์อันผู้ปฏิบัติสัมผัสได้ด้วยตนเอง ผลจากการปฏิบัตินั้นอาจมีการรายงานโดยทางวาจาหรือโดยตัวอักษร และอาจได้รับการวิจารณ์ตรวจสอบจากผู้ร่วมปฏิบัติสมาธิภาวนา ซึ่งอาจอภิปรายถึงข้อดีและข้อบกพร่องของการค้นพบนั้น การวิจารณ์ของผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติสมาธิภาวนามาตลอดชีวิตย่อมไม่ได้รับความสำคัญ เฉกเช่นเดียวกับการวิจารณ์ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์โดยผู้ที่ไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์

          แต่การกล่าวว่า พุทธศาสนามีองค์ประกอบเป็นวิทยาศาสตร์ ก็อาจเป็นการมองข้ามหรือเพิกเฉยต่อองค์ประกอบในทางศาสนาอย่างชัดเจน ของแนวปฏิบัตินี้ ดังที่นาย Stephen J. Gould ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์จากซากพืชซากสัตว์โบราณและได้เสียชีวิตไปแล้วกล่าวถึงศาสนาว่า พุทธศาสนามักให้ความสำคัญกับเป้าหมาย ความหมาย และคุณค่าของความเป็นมนุษย์ แต่เช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์ พุทธศาสนาพยายามทำความเข้าใจโลกของประสาทสัมผัสและประสบการณ์เชิงจิต และให้คำตอบเกี่ยวกับข้อสงสัยว่า จักรวาลทั้งในส่วนที่เป็นภววิสัยและอัตวิสัยมีองค์ประกอบอย่างไร และทำงานอย่างไร พุทธศาสนายังให้คำตอบกับข้อสงสัยต่อคุณค่าและเป้าหมายแห่งชีวิต การกำเนิดและจุดสุดท้ายแห่งชีวิต และประสบการณ์เกี่ยวกับชีวิตด้านในของเรา แต่การที่พุทธศาสนามีองค์ประกอบในเชิงศาสนาไม่ได้เป็นเหตุผลมากพอ ที่จะจัดพุทธศาสนาให้เป็นศาสนาอย่างหนึ่ง ในทำนองเดียวกับที่เราก็ไม่อาจเรียกพุทธศาสนาได้ว่าเป็นวิทยาศาสตร์ การศึกษาพุทธศาสตร์อย่างเป็นภววิสัยได้ ย่อมหมายถึงเราต้องผ่อนคลายความเชื่อในเชิงแนวคิดแบบเดิมที่เราคุ้นเคย และเตรียมพร้อมจะเผชิญกับแนวคิดบางอย่างที่ต่างจากแนวคิดในตะวันตกอย่างลึกซึ้ง และอาจท้าทายสมมติฐานในเบื้องลึกสุดของเราบางประการ ในกระบวนการนี้เราอาจได้วิจารณ์ตรวจสอบสถานะของวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะหลักสัจพจน์ในทางอภิปรัชญาอันเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์

          อันที่จริงพุทธศาสนาไม่ได้นิยามตนเองว่าเป็นทั้งศาสนาหรือวิทยาศาสตร์ และโดยทั่วไปก็ไม่ได้แยกแยะความแตกต่างระหว่างสัจธรรมในเชิงศาสนาและความจริงในทางวิทยาศาสตร์ องค์ทะไลลามะผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในการเสวนาแลกเปลี่ยน เรื่องพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ ได้ตรัสหลายครั้งแล้วว่า หากมีหลักฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือซึ่งปฏิเสธสัจธรรมในทางพุทธ ถ้าเช่นนั้นชาวพุทธก็พึงละทิ้งซึ่งสัจธรรมที่ถูกแย้งนั้นเสีย ทัศนะเช่นนี้น่าจะมาจากความเชื่อในทางพุทธว่า สรรพชีวิตทั้งมวลล้วนตกอยู่ในห้วงแห่งทุกข์อันเป็นผลมาจากอวิชชาและตัณหา และหนทางสู่อิสรภาพได้แก่การทำความเข้าใจกับสภาพที่เป็นจริง

          หากการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ชิ้นใดชี้ถึงข้อบกพร่องในความเชื่อของพุทธศาสนา ถ้าเช่นนั้นพุทธศาสนิกก็พึงขอบคุณต่อความช่วยเหลือนั้น ที่เป็นกำลังช่วยให้พวกเขาเข้าสู่สัจธรรม กล่าวอีกอย่างหนึ่ง องค์ทะไลลามะปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงกับแนวคิดที่ว่า พุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์เหมือนกันอย่างกับแอปเปิ้ลและส้ม และในทำนองเดียวกันท่านปฏิเสธแนวคิดที่ว่า หลักธรรมทางพุทธศาสนาไม่สามารถตรวจสอบหรือแย้งได้

          แนวทางต่อไปสำหรับพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ได้แก่ การมุ่งให้เกิดการเสวนาแลกเปลี่ยนร่วมกันอย่างเคารพซึ่งกันและกัน และให้มีความร่วมมือกันทั้งการวิจัยในเชิงประจักษ์และเชิงทฤษฎี ซึ่งจะนำไปสู่การสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างศาสตร์และวัฒนธรรมทั้งสอง เป็นการเพิ่มพูนความเข้าใจต่อกันและมีเป้าหมายร่วมกัน ในการสร้างความเข้าใจระหว่างพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ เราจะต้องปฏิบัติต่อสมมติฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เรานำมาใช้กับการศึกษาในทางพุทธอย่างมีสติ ในทำนองเดียวกันเราควรเปิดรับต่อการศึกษาเกี่ยวกับโลกจากหลักพุทธธรรม ไม่ใช่เพียงแต่ศึกษาแนวปฏิบัติเช่นนี้เพื่อเป็นเพียงหนทางที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนา หลักพุทธธรรมในส่วนที่น่าทำการศึกษาจากทั้งสองแนวทาง ได้แก่หลักธรรมในส่วนที่ตรวจสอบได้ทั้งในเชิงประจักษ์และเชิงวิเคราะห์

          ยิ่งไปกว่านั้น การวิจัยเช่นนั้นย่อมให้ความสำคัญอย่างเต็มที่ กับประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติในแนวทางพุทธทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยจะไม่เน้นเฉพาะการศึกษาตามตัวบทเพียงอย่างเดียว ด้วยวิธีการนี้ เราอาจถือได้ว่าหลักพุทธธรรมเป็นรูปแบบหนึ่งของ “ปรัชญาด้านธรรมชาติ” (natural philo-sophy) ซึ่งเป็นคำที่เราใช้เรียกวิทยาศาสตร์ในยุคต้นของยุโรป และท้าทายให้เราตั้งคำถามที่ลึกซึ้งที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (ตามแนวทางศาสนา) และใช้การวิเคราะห์ตามหลักเหตุผลอย่างมั่นคง (ตามแนวทางปรัชญา) และใช้วิธีสอบสวนเชิงประจักษ์ (ตามแนวทางวิทยาศาสตร์) การปฏิบัติต่อคำสอนในพุทธศาสนาเช่นนี้มุ่งให้เกิดการตรวจสอบอย่างเป็นภววิสัย ไม่เพียงแต่กับคำสอนตามตัวบท หากยังรวมถึงการตรวจสอบปัญญาญาณที่เกิดจากการปฏิบัติ และการตรวจสอบอย่างเป็นภววิสัยถึงปัญญาญาณในเชิงปฏิบัตินี้ อาจหมายถึงการที่ผู้ทำการตรวจสอบจะต้องเข้ามาทดลองปฏิบัติตามแนวทางพุทธด้วยตนเอง ในทำนองเดียวกับที่เขาทำการทดสอบทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ด้วยการทำการทดลองด้วยตนเอง

          การนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาใช้กับพุทธศาสนาอาจช่วยให้เราเกิดความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับความเป็นอัตวิสัยของเราเอง ภาษาของเราเอง และสถานะของพุทธศาสนา ในท่ามกลางองค์ความรู้ อย่างเช่นศาสนา วิทยาศาสตร์และปรัชญา ด้วยการตระหนักถึงบริบทที่พิเศษของทั้งพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ ผู้เข้าร่วมในการเสวนาแลกเปลี่ยนเช่นนั้น ย่อมเริ่มต้นที่จะไปพ้นจากนิสัยของการให้ความสำคัญต่อองค์ความรู้เบื้องต้นของตนเอง ว่าเหนือผู้อื่น เพียงแค่นี้ก็เป็นเหตุผลมากพอ ที่เราควรจะเริ่มการเดินทาง เพื่อให้เกิดความเข้าใจข้ามวัฒนธรรมและข้ามองค์ความรู้ .. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :