เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๖

ชีวิตกับความตาย
พระชาย วรธมฺโม

มะเร็ง ความเศร้า ความสุข และ ความสงบ .
ยังจำได้ดีถึงคำพูดของ อาจารย์เซ็น โจน ฮาลิแฟกซ์ ที่พูดถึงภาวะใกล้ตายของมนุษย์ไว้ว่า “คนใกล้ตายถูกผลักให้ไปอยู่ในกลุ่มของ คนชายขอบ ในสังคม เพราะคนหนุ่มสาวที่ยังมีสุขภาพดี ไม่ได้มองความตายด้วยความเคารพ พวกเขาไม่ได้มองความตาย หรือภาวะใกล้ตาย ว่าเป็นโอกาสสำคัญของการมีอิสรภาพ แต่ทุกคนกลับมองดูความตาย หรือภาวะใกล้ตาย ว่าเป็นภาวะแห่งความล้มเหลว เป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัว นั่นจึงเป็นสาเหตุให้คนใกล้ตาย ถูกเลือกปฏิบัติอย่างซับซ้อนลงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

          ดังนั้นกิจกรรมแรกของการอบรมผู้ป่วยมะเร็ง ในโครงการพัฒนาตนเองตามแนวพุทธ ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เราจึงจัดให้ ผู้ป่วยจับคู่เล่าประสบการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต ว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อรู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง ทั้งสภาพความรู้สึก จิตใจด้านในมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เพราะการรับรู้ว่าเป็นมะเร็งนั้น เป็นเหมือนกับประกาศิตจากชะตากรรมว่า เราจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน นั่นทำให้ประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่ของพวกเขามิได้ถูกมองข้ามไป เหมือนอย่างที่คนอื่นพยายามกลบเกลื่อน

          เมื่อผลัดกันเล่าจนจบ จอห์น แมคคอแนล วิทยากรชาวอังกฤษผู้ร่วมงานของเราอีกคนสรุปให้ฟัง (โดยมีคุณสุรภี ชูตระกูล เป็นผู้แปล) ว่า ความทุกข์ยากจากการเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งนั้น เปรียบเหมือนเรากำลังถูกลูกศรแทงลงบนร่างกายพร้อม ๆ กันทีเดียวสองลูก ลูกศรลูกที่หนึ่ง คือ ความทุกข์จากความเจ็บปวดอันเนื่องมาจากโรคมะเร็งเอง ส่วนลูกศรลูกที่สอง คือ ความทุกข์ใจอันเนื่องมาจากความวิตกกังวลต่อโรคร้ายนี้ วิธีการทางวิทยาศาสตร์บอกให้เราดูแลแค่เพียงลูกดอกลูกแรกเท่านั้น แต่วิธีการทางพุทธบอกกับเราว่าเราต้องดูแลลูกศรทั้งสองลูก และเมื่อเราถูกลูกศรปักทีเดียวพร้อมกันสองลูก เราไม่สามารถดึงออกมาทีเดียวพร้อมกันทั้งสองลูกได้ แต่เราต้องพินิจพิเคราะห์แล้วดึงมันออกมาทีละลูก

          จากประสบการณ์ของจอห์นบอกว่า วิธีการเยียวยาประการแรกคือต้องสร้างจินตภาพ (visualization) ที่ดีต่อโรคภัยไข้เจ็บของเราเสียก่อน นั่นคือให้ผู้ป่วยวาดภาพอวัยวะหรือส่วนของร่างกายที่บาดเจ็บ ที่เราคาดหวังให้อยู่ในสภาพที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ไปจนถึงดีที่สุด จะวาดให้เป็นสัญลักษณ์หรือวาดจากลักษณะที่ปรากฏอยู่ก็ได้ แล้วให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีให้เห็นเป็นภาพจินตนาการในใจ

          ภาพที่แต่ละคนวาดออกมาบนกระดาษ จึงเป็นบันไดขั้นแรก ของการฝึกมโนภาพ หรือจินตภาพ เกี่ยวกับมะเร็ง ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น จากนั้นเป็นการฝึกให้ผู้ป่วยจินตภาพให้เนื้อร้ายนั้นค่อย ๆ จางหายไปผ่านการทำสมาธิ นี่เรียกว่ากำลังฝึกมโนมยิทธิตามแนวพุทธจริง ๆ ซึ่งดูออกจะง่ายเกินไป แต่ขอบอกว่าวิธีการนี้มีผลต่อกำลังใจผู้ป่วยไม่น้อย เช่นเดียวกับการสวดมนต์ในตอนเย็นที่ช่วยให้คนป่วยรู้สึกสงบไปกับการสวดมนต์มากขึ้น

          การเยียวยาในเวลาถัดมาก็คือให้คนป่วยทบทวนตัวเองเกี่ยวกับ โลภ โกรธ หลง ผ่านโรคภัยไข้เจ็บของตนเองว่า แท้จริงแล้วความอยากหายก็คือภาพปรากฏของ ‘ตัวโลภ’ นั่นเอง เมื่อเราพบว่าอาการของโรคเลวร้ายลง เราก็เริ่มวิตกกังวลไปจนถึงโมโหตัวเองแล้วโทษตัวเองในที่สุดนั่นก็คือ ‘โทสะ’ ที่แปรหน้าตาตัวเองไปในรูปแบบอารมณ์อื่น ๆ ด้วยอาการหมุนวนอยู่กับอารมณ์และทุกข์โศกภายในใจเช่นนี้ก็คือ ‘โมหะ’ ที่ละเอียดอ่อนซึ่งคอยเคลือบจิตของเราอย่างแนบเนียน มิให้หลุดพ้นออกมาจากความทุกข์ใจนี้ได้ ซึ่งนี่แหละคือ โลภ โกรธ หลง ที่แฝงตัวอยู่ในคนป่วยทุกคนไม่เว้นแม้แต่คนที่ไม่ป่วยก็มีกิเลสสามตัวนี้อยู่ เพียงแต่หน้าตาอาจจะเปลี่ยนไปตามสันฐาน บุคลิกและสุขภาพของบุคคล ถึงตรงนี้คนป่วยหลายคนเริ่มรู้จักและค้นพบตัวเองมากขึ้น นั่นเองที่การทำจิตให้สงบผ่านการทำสมาธิภาวนาเป็นหนทางในการเยียวยาขั้นถัดมา

          ช่วงบ่ายของทุกวันเราวิทยากรสามคนจะว่างเพราะคนป่วย ต้องเข้ารับการฉายแสงไปจนถึง ๕ โมงเย็น ช่วงนี้เราจึงปลีกเวลาไปเยี่ยมคนป่วยระยะสุดท้ายที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อีกตึกหนึ่ง บางคนยังพอมีสติสตังพูดคุยรู้เรื่องบ้าง แต่บางคน (หรือหลายคน) ต่างก็ตกอยู่ในอาการขั้นสุดท้ายจริง ๆ คือตาเหม่อลอย พูดไม่ได้ ร้องไห้ครวญครางไม่เป็นภาษา มีคนไข้ชายคนหนึ่งนอกจากจะมีอาการดังกล่าวแล้ว มือที่เราสัมผัสก็ยังเย็นเฉียบเหมือนกับแช่อยู่ในตู้เย็น วันรุ่งขึ้นเราไปเยี่ยมอีกครั้งถึงได้รู้ว่าเขาเสียชีวิตไปตอน ๓ ทุ่มของเมื่อคืน ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่านั่นเป็นอีกลักษณะของภาวะใกล้ตาย…

          กิจกรรมสุดท้ายของการอบรมเรายังคงใช้วิธีการของโจน ฮาลิแฟกซ์ คือ ให้ผู้ป่วยนอนราบไปกับพื้น ดับไฟให้มืด แล้วให้คนป่วยจินตนาการว่าหากเหลือเวลาอีกเพียง ๑๐ วันที่จะมีชีวิตอยู่จะทำอะไรเป็นอย่างแรก อย่างที่สองและสาม จากนั้นให้ตอบคำถามว่าสถานที่ที่เราจะเสียชีวิตนั้นคือที่ไหน บริเวณนั้นมีรายละเอียดอย่างไร… เวลาที่เราจะเสียชีวิตคือเวลาไหนใน ๒๔ ชั่วโมงของวัน…มีใครอยู่ใกล้ ๆ เราบ้างเมื่อเรากำลังจะสิ้นชีวิต…และในที่สุดวาระสุดท้ายของชีวิตที่กำลังจะมาถึงจริง ๆ เราจะจินตนาการให้ตัวเราหมดลมหายใจไปในลักษณะอาการอย่างไร… กิจกรรมนี้ทำเอาหลายคนค้นหาคำตอบให้กับตัวเองอยู่นาน เพราะเป็นคำถามที่แต่ละคนต่างไม่เคยเจอมาก่อน และดูเหมือนจะเป็นคำถามที่ท้าทายไม่ใช่น้อย เพราะเป็นเรื่องราวของความตายที่เลือกได้ หากแต่น่าสนใจตรงคำตอบที่คล้าย ๆ กันจากสองคำถามว่าจะเลือกตายสถานที่ใด หลายคนเลือกที่จะตายที่บ้าน นั่นเพราะบ้านเป็นสถานที่ที่เราคุ้นเคยและเติบโตมาแต่เด็ก ๆ ซึ่งเราต่างมีความผูกพันอยู่ ส่วนอีกคำตอบว่าด้วยวาระสุดท้ายของชีวิตที่ให้เลือกว่า จะจากโลกนี้ไปอย่างไร ถ้าไม่ใช่การนอนหลับอย่างสงบนั่นเพราะขณะที่มีชีวิตอยู่นั้น แต่ละคนเจ็บปวดมามากพอแล้ว…

          ในที่สุดรายการอบรม ๓ วันในโรงพยาบาลก็จบลงด้วยดี ผ่านคราบน้ำตาที่ซาบซึ้งจากผู้ป่วยอันเนื่องมาจากความอบอุ่นที่ได้รับระหว่างอบรม บางทีความเจ็บป่วยที่ร้ายแรงก็มิได้นำพามาซึ่งความโศกเศร้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ยังมีความสุข… ความสงบ… และความจริงที่คอยหมุนเวียนเข้ามา และเราจะพบว่าโลกไม่ได้มีแค่ด้านเดียว เหมือนกับที่โรคภัยไข้เจ็บก็ไม่ได้มีแต่ความทุกข์เท่านั้น แต่ยังมีด้านอื่น ๆ ให้ได้ค้นหาอีกมากมาย .. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :