เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๖

บทความพิเศษ
แซลลี บี คิง : เขียน
พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ : แปล

 

พุทธศาสนากับสงคราม (Buddhism and War)

อนอื่นดิฉันอยากแสดงความยินดีต่ออาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ในโอกาสครบรอบ อายุ ๗๐ ปี ผลงานของอ.สุลักษณ์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีส่วนกระตุ้นให้เกิดการคิดและพิจารณาถึงความเชื่อมโยงของคำสอนด้านพุทธจริยธรรมอย่างใหม่ ด้วยความสำนึกในบุญคุณต่อผลงานของอาจารย์ และด้วยความหวังว่าอาจารย์จะมีผลงานเพิ่มมากกว่านี้ในอนาคต ดิฉันขอแสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับพุทธศาสนากับสงครามเพื่อเป็นการตอบแทน

          พุทธศาสนายังมีปัญหากับประเด็นความคิดด้านสงคราม โดยเฉพาะในแวดวงเถรวาทและในแวดวงสำนักบาลีปกรณ์

          ประการแรก ชาวพุทธได้ประกาศหลักศีลอันเป็นพื้นฐานด้านศีลธรรมของชาวพุทธในนิกายเถรวาท ซึ่งศีลข้อแรกได้แก่ “เราขอปวารณาว่าจะงดเว้นจากการพรากชีวิต” ศีลข้อนี้บ่งชี้ว่าการพรากชีวิตในรูปแบบใดก็ตามล้วนขัดต่อหลักศีลธรรม ซึ่งเท่าที่ดิฉันเข้าใจต่างจากบัญญัติข้อแรกในพระคัมภีร์ไบเบิ้ลซึ่งห้ามเฉพาะการฆ่า หากไม่ได้โยงไปถึงการพรากชีวิตในระหว่างสงคราม ศีลในพุทธศาสนาระบุอย่างชัดเจนว่าการพรากชีวิตภายใต้เงื่อนไขใดก็ตามล้วนเป็นสิ่งผิด

          ประการที่สองเหตุผลหนึ่งที่เราได้รับการสอนว่าไม่ควรพรากชีวิตใด ๆ ตามหลักพุทธศาสนาเพราะว่า การทำเช่นนั้นเป็นการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งกรรมอันเป็นลบ ครั้นเมื่อบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์นั้นแล้ว จะเป็นเหตุให้บุคคลผู้บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์นั้นต้องประสบกับผลกรรมอันเจ็บปวดในช่วงชีวิตต่อมาหรือในอีกภพหนึ่ง ด้วยเหตุนี้เพื่อประโยชน์ของตนเอง เราจึงไม่พึงฆ่า การฆ่าผู้อื่นเป็นอันตรายต่อตนเองเช่นเดียวกับผู้ที่ถูกฆ่า กรรมและผลแห่งกรรมเป็นประเด็นสำคัญในพุทธศาสนา ดังที่สะท้อนจากข้อความในพระธรรมบทดังต่อไปนี้

“จิตที่ฝึกฝนผิดทาง ย่อมทำความเสียหายให้ ยิ่งกว่าศัตรูทำต่อศัตรู หรือคนจองเวรทำต่อคนจองเวร” (๔๒)

“ตลอดระยะเวลาที่บาปยังไม่ให้ผล คนพาลสำคัญบาปหวานปานน้ำผึ้ง เมื่อใด บาปให้ผล เมื่อนั้นเขาย่อมได้รับทุกข์” (๖๙)

“เมื่อบาปยังไม่ส่งผล คนชั่วก็เห็นว่าเป็นของดี ต่อเมื่อมันเผล็ดผล เมื่อใด เมื่อนั้นแหละ เขาจึงรู้พิษสงของบาป” (๑๑๙)

“บาปย่อมตามสนองผู้โง่เขลา ซึ่งทำร้ายบุคคลที่ไม่ทำร้ายตอบ ผู้หมดจด ปราศจากกิเลส ดุจธุลีที่ซัดทวนลม” (๑๒๕)

          ประการที่สามหากเราปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนาอย่างจริงจังและในช่วงเวลาหนึ่ง จะเป็นเหตุให้เรามีความสามารถที่จะทำอันตรายแก่สิ่งมีชีวิตอื่นน้อยลงไปทุกที (สิ่งมีชีวิตใดก็ตามที่รู้สึกถึงความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน) ทั้งยังไม่ปรารถนาจะฆ่ามนุษย์ด้วย กล่าวคือการปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนามุ่งบ่มเพาะความรู้สึกเอื้ออาทรอย่างเป็นสากล การร่วมรับรู้ความสุขของผู้อื่น ความรู้สึกใกล้ชิดผูกพันเป็นญาติมิตรกับผู้อื่นและความกรุณา เป็นต้น อย่างการที่เราไม่มีใจมากพอจะเห็นผู้อื่นทนทุกข์ทรมาน ยิ่งไปกว่านั้นการปฏิบัติเช่นนี้ยังช่วยให้เราควบคุมตนเองได้อย่างเข้มแข็งมั่นคงมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งยังช่วยลดทอนความรู้สึกกลัว โกรธ ความเป็นปรปักษ์ และการแบ่งแยกเราเขาหรือความแปลกแยก ด้วยเหตุนี้ยิ่งเราปฏิบัติและศึกษาพุทธศาสนาอย่างจริงจังมากขึ้นเท่าไร เรายิ่งมีความสามารถน้อยลงที่จะเข้าร่วมในการทำสงคราม

          ประการที่สี่ การฆ่าไม่เพียงขัดต่อหลักศีลธรรมและส่งผลเลวร้ายต่อตัวเราเอง หากยังไม่เกิดประสิทธิผลใด ๆ เป็นการกระทำอันเปล่าประโยชน์ ดังที่ปรากฏในพระธรรมบทอีกที่หนึ่งว่า

“แต่ไหนแต่ไรมา ในโลกนี้ เวรไม่มีระงับด้วยการจองเวร มีแต่ระงับด้วยการไม่จองเวร นี้เป็นกฎเกณฑ์ตายตัว” (๕)

“ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้พ่ายย่อมอยู่เป็นทุกข์ ผู้ละความแพ้และความพ่ายเสีย มีใจสงบระงับนั่นแหละ อยู่เป็นสุข” (๒๐๑)

          ตามหลักกรรม ความรุนแรงย่อมส่งผลให้เกิดความรุนแรงต่อไป เราอาจได้ชัยชนะในวันนี้ เพียงเพื่อจะต้องประสบความทุกข์จากการแก้แค้นของฝ่ายที่พ่ายแพ้ในภายหลัง การใช้อาวุธไม่ได้นำมาซึ่งชัยชนะอย่างถาวร หากเป็นเพียงการกำราบอีกฝ่ายหนึ่งเพียงชั่วคราว

          ดิฉันเริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า พุทธศาสนายังมีปัญหากับประเด็นความคิดด้านสงคราม ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริง แต่สิ่งที่ดิฉันได้กล่าวมาถึงตอนนี้ไม่ใช่ปัญหา ทั้งที่มันเป็นเรื่องเข้าใจได้ไม่ยากนัก ปัญหาที่ว่าแม้จะมีหลักธรรมดังที่กล่าวข้างต้น ประเทศที่เป็นพุทธมามกะก็ยังคงมีกองทหารอยู่เสมอมา ทั้งชาวพุทธเองก็มีส่วนร่วมหลายด้านในการปฏิบัติหน้าที่ในกองทัพ และเข่นฆ่าสังหารเพื่อนมนุษย์คนอื่น ๆ ในบางกาละและเทศะ วัดในพุทธศาสนาก็มีกองทหารของตนเองด้วย กองทหารพระที่พัฒนาขึ้นมาในเอเชียตะวันออก ซึ่งแม้จะขัดกับหลักพระวินัย กล่าวคือพระไม่สามารถแม้แต่จะดูการสู้รบของทหาร หรือการไปพักร่วมกับทหาร ปัญหาของพุทธศาสนาในแง่ที่เกี่ยวกับสงครามได้แก่ แม้ว่าในความจริงหลักศีลธรรมในพุทธศาสนาบ่งชี้อย่างชัดเจนถึงการไม่ใช้ความรุนแรง หากพุทธศาสนิกเองมีบทบาทในการเข้าร่วมทำสงครามบ่อย ๆ

          แต่อาจมีบางท่านแย้งว่า สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงหลักจริยธรรมระดับบุคคลในพุทธศาสนา เป็นที่ชัดเจนว่าในฐานะปัจเจกบุคคล เราพึงหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงในพฤติกรรมส่วนตัว แต่หลักจริยธรรมด้านสังคมของพุทธศาสนาอาจมีหลักการที่แตกต่างไปได้หรือไม่

          นี้เป็นคำถามที่สำคัญอย่างยิ่ง พุทธศาสนิกมักจะยกตัวอย่างของพระเจ้าอโศกมหาราช (๒๗๐–๒๓๒ ปีก่อนคริสตกาล) เพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับประเด็นพุทธศาสนากับสงคราม ก่อนที่พระองค์จะประกาศตนเป็นพุทธมามกะ พระเจ้าอโศกไม่เคยทรงแสดงความรังเกียจต่อการใช้สงครามเป็นเครื่องมือเพื่อสถาปนาดินแดนของพระองค์ ตามหลักศิลาจารึกที่ ๑๓ ของพระองค์เอง ในปีที่แปดของการครองราชสมบัติ พระเจ้าอโศกได้กรีฑาทัพทำสงครามเอาชนะประเทศเพื่อนบ้านคือแคว้นกลิงคะ ในตอนนั้นพระองค์เกิดความเศร้าพระทัยอย่างลึกซึ้งหลังจากเห็นผู้คนจำนวนมากได้ถูกจับกุมตัวและพาตัวไป และอีกจำนวนมากที่ถูกสังหาร ยังคนจำนวนมากที่ตายเพราะสาเหตุอื่นที่เกี่ยวกับสงคราม และความทุกข์โทมนัสของเพื่อนและญาติของผู้ที่เสียชีวิตและถูกจับกุม ความเศร้าพระทัยนี้เป็นเหตุให้พระองค์หันมาสมาทานพุทธศาสนา และเว้นจากการทำสงคราม ทั้งยังหลีกเว้นจากความรุนแรงทั้งปวงในเวลาอันรวดเร็ว อย่างเช่น การเลิกล่าสัตว์และกลายเป็นนักมังสวิรัติ

          พระเจ้าอโศกถือเป็นแบบอย่างของกษัตริย์ผู้กอปรด้วยหลักศีลธรรมตามพุทธศาสนา และอันที่จริงถือเป็นตัวอย่างของกษัตริย์ในประวัติศาสตร์ ที่ประพฤติตนได้ใกล้เคียงกับอุดมการณ์ของหลักจักรวรรดิวัตรมากที่สุด กล่าวคือการเป็นพุทธราชาในอุดมคติ ผู้ปกครองด้วยธรรม ปฏิบัติตามหลักแห่งพุทธธรรม เป็นที่น่าสังเกตว่าในศิลาจารึกเดียวกัน พระเจ้าอโศกได้แสดงไว้อย่างชัดเจนว่า การพยายามหลีกเลี่ยงการพรากชีวิตอย่างเข้มงวดของพระองค์นั้นก็มีข้อจำกัดเช่นกัน พระองค์ได้ทรงประกาศต่อสาธารณชนว่า “(สำหรับผู้ที่อยู่ในแว่นแคว้นใต้ปกครองอันห่างไกลออกไป) … การที่พระองค์ทรงใช้อำนาจเพื่อให้มีการลงโทษ แม้จะทำด้วยความเสียพระทัยก็ตาม แต่ก็เป็นไปเพื่อชักจูงให้คนเหล่านั้น งดเว้นจากการประกอบอาชญากรรม และหลีกเลี่ยงการถูกประหารชีวิต” กล่าวอีกอย่างหนึ่ง พระองค์ได้บอกพวกเขาว่า พระองค์จะไม่เพิกเฉยต่อการกระทำอันรุนแรง หากจะตอบโต้ด้วยอำนาจ ซึ่งอาจทำให้ถึงแก่ความตายทั้งนี้เพื่อให้เกิดสันติสุขในราชอาณาจักร

          ข้อธรรมที่มีการอ้างถึงน้อยมาก หากโยงไปถึงคำถามเกี่ยวกับประเด็นพุทธศาสนากับสงคราม ได้แก่ หลักธรรมอันสำคัญ ดังที่ปรากฏใน จักกวัตติสีหนาทสูตร ของทีฆนิกาย ซึ่งพระพุทธองค์ได้ให้คำแนะนำแก่ราชาผู้ปฏิบัติตามหลักจักรวรรดิวัตรว่า

“มหาบพิตรพึงพึ่งพิงกับธรรม เชิดชู เคารพ รัก นอบน้อมและสรรเสริญธรรม ให้มีธรรมเป็นโล่และตรา ยอมรับพระธรรมเป็นนาย ขอพระองค์จงทรงสร้างเกราะคุ้มกัน เพื่อคุ้มครองและปกป้องตามหลักแห่งธรรม เพื่อคุ้มครองประชาราษฎร์ กองทหาร ผู้ดี ไพร่ พราหมณ์ คฤหัสถ์ ชาวเมืองและชนบท ฤาษีและพราหมณ์ ทั้งสัตว์เดรัจฉานและสัตว์ปีก”

          ข้อความเหล่านี้แสดงความชอบธรรมถึงการคงไว้ซึ่งกองทหารเพื่อป้องกันตนเอง เป็นที่น่าสังเกตว่าการกระทำเช่นนั้นจะต้อง “เป็นไปตามหลักแห่งธรรม” ซึ่งดิฉันตีความตามบริบทนี้ว่า หมายถึงกองทหารจะต้องปฏิบัติการตามหลักศีลธรรมในบางระดับของพุทธศาสนา (แม้ว่าไม่มีการระบุอย่างชัดเจนถึงขอบเขตของการปฏิบัตินั้น) เป็นที่ชัดเจนว่าพุทธวัจนะนี้บ่งเป็นนัยว่า พระราชามีหน้าที่ต้องปกป้องคุ้มครองมนุษย์และสัตว์ในราชอาณาจักรของพระองค์ ดูเหมือนพระพุทธองค์จะถือว่าพระราชาต้องมีกองทหารเช่นนี้อยู่แล้ว และสิ่งที่พระองค์แนะนำแก่พระราชาเหล่านี้คือ การใช้กองทหารเหล่านี้เพียงเพื่อป้องกันตนเอง และ “ให้เป็นไปตามหลักธรรม”

          สิ่งเหล่านี้บ่งเป็นนัยถึงทฤษฎีสงครามอันชอบธรรมในพุทธศาสนาหรือไม่ กล่าวคือทฤษฎีซึ่งสนับสนุนให้มีการทำสงครามเพื่อการปกป้องตนเอง เมื่อการปฏิบัติตามแนวทางอื่นล้มเหลว และเมื่อมีการปฏิบัติตามหลักศีลธรรมในบางระดับที่ชัดเจน เป็นเรื่องสำคัญที่ว่ายังไม่มีปราชญ์ชาวพุทธท่านใดให้ความสำคัญที่จะพัฒนาทฤษฎีเช่นนี้ขึ้นมา ขอให้ดิฉันได้กล่าวในประเด็นนี้

          เป็นที่น่าสังเกตว่าพุทธมามกะชาวญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองได้พูดถึง “สงครามศักดิ์สิทธิ์”๑๐ แต่กรณีนี้ดูเหมือนเป็นความพยายามของพุทธมามกะในญี่ปุ่น ที่ผสมผสานหลักพุทธศาสนาเข้ากับหลักในศาสนาอื่น และ/หรือความกลัว เพื่อให้เกิดผู้นำในทางพุทธที่ผสมผสานกับหลักค่านิยมตามลัทธิชินโตและขงจื๊อ การทำเช่นนี้เป็นการลดความรับผิดชอบของผู้นำชาวพุทธ ซึ่งประกาศสนับสนุนการทำสงครามของญี่ปุ่น แต่ทั้งนี้ก็ไม่อาจบิดเบือนความจริงที่ว่า มีการพยายามใช้แนวคิดและหลักการทางพุทธศาสนาบางประการ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับสงคราม

          เหตุผลสำคัญประการหนึ่งช่วยอธิบายว่า เหตุใดจึงไม่มีการบันทึกถึงทฤษฎีสงครามอันชอบธรรมอย่างจริงจัง ในทางพุทธศาสนา นั่นคือแก่นพุทธธรรมดูเหมือนจะทำให้การคิดค้นทฤษฎีเช่นนี้เป็นไปไม่ได้ นั่นคือหลักแห่งกรรม ไม่ว่าเราจะปรุงแต่งทฤษฎีนี้อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังคงชัดเจนก็คือการฆ่าบุคคลหนึ่งเป็นการละเมิดศีลข้อแรก และก่อให้เกิดบาปอย่างมหันต์ ด้วยเหตุนี้เมื่อเราฆ่า ก็เท่ากับเราทำร้ายตนเอง หากเมื่อเราพิจารณาหลักการพื้นฐานของพุทธศาสนาอย่างจริงจัง เราจะเห็นว่าการกระทำนี้เป็นปัญหาอย่างรุนแรง พระพุทธองค์ได้ตรัสอย่างตรงไปตรงมาในสังยุตตนิกายว่า ทหารผู้ใดที่ต่อสู้ด้วยความจงใจที่จะประหัตประหารผู้อื่น และได้ถูกสังหารไประหว่างการสู้รบจะไปจุติใหม่ใน “นรกภูมิของผู้ที่ตายจากสงคราม”๑๑

          มีตัวอย่างสองประการ ที่ชี้ถึงความพยายามของชาวพุทธที่จะตอบปัญหาอันเนื่องมาจากหลักกรรม และเป็นความพยายามที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับสงคราม ปีเตอร์ ฮาวีตั้งข้อสังเกตว่า๑๒ ทั้งสองกรณีมีความคล้ายคลึงกัน ประการแรกในศรีลังกา เรื่องเล่าในคัมภีร์มหาวงศ์ ระบุถึงเรื่องราวของพุทธราชาชาวสิงหล ที่ชื่อทุฐคามินี ที่ทำสงครามสู้รบกับกษัตริย์ฮินดูชาวทมิฬที่ชื่อ อีราลา เมื่อสงครามยุติลง พระเจ้าทุฏฐคามินีเกิดความเศร้าพระทัยอย่างใหญ่หลวง จากการที่มีผู้เสียชีวิตไปเนื่องจากการกระทำของพระองค์เป็นจำนวนมาก ทั้ง ๆ ที่พระองค์เป็นพุทธมามกะผู้เคร่งครัด ที่น่าประหลาดใจคือมีการระบุในคัมภีร์มหาวงศ์ว่า ในตอนนั้นมีพระอรหันต์ได้บอกกับพระองค์ว่า ไม่จำเป็นต้องกังวลพระทัยในเรื่องนี้ และอธิบายว่า

“การกระทำเช่นนั้นไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อหนทางสู่สวรรค์ของพระองค์ มหาบพิตร พระองค์เพียงทำให้เกิดความตายแก่ผู้คนเพียงหนึ่งและอีกครึ่ง กล่าวคือคนหนึ่งได้สมาทานรับไตรสรณคมน์ (ในฐานะเป็นพุทธมามกะ ส่วนอีกครึ่งเป็นผู้ปฏิบัติตามซึ่งศีลห้า ที่เหลือนอกจากนั้นล้วนเป็นบุคคลผู้ชั่วร้ายผู้กอปรด้วยมิจฉาทิฐิเป็นผู้ตายเยี่ยงสัตว์เดรัจฉาน (หรือเทียบว่าเป็นเช่นนั้น) พระองค์จะมีโอกาสอีกมากในการประกาศคำสอนของพระพุทธองค์ ดังนั้นได้โปรดระงับความกังวลพระทัยไปได้”๑๓

          กล่าวอีกอย่างหนึ่ง กษัตริย์พระองค์นั้นได้รับการแนะนำว่า ความตายของผู้ที่ไม่ได้เป็นพุทธมามกะไม่ได้ถือว่าเป็นความตายของมนุษย์ หากเป็นความตายของสัตว์เดรัจฉาน เหตุนี้พระองค์จึงไม่ต้องกังวลพระทัยกับผลกรรมในทางลบใด ๆ จากการสังหารมนุษย์ ยกเว้นแต่ “คนหนึ่งคนและอีกครึ่งคน” ซึ่งเป็นชาวพุทธและได้ตายไป ตัวอย่างนี้ยังชี้ต่อไปอีกว่า เนื่องจากผลลัพธ์ประการหนึ่งของการทำสงคราม คือการสร้างหลักอันมั่นคงให้กับพุทธศาสนา ด้วยเหตุนี้การทำสงครามจึงก่อให้เกิดผลกรรมอันเป็นบวก และจะช่วยเจือจางผลกรรมอันเป็นลบที่มีอยู่เพียงน้อยนิด อันเนื่องมาจากความตายของ “บุคคลหนึ่งคนและอีกครึ่งคน” ข้ออ้างเหล่านี้ดูเหมือนจะท้าทายและน่าสะพรึงกลัว แต่กระนั้นก็ไม่มีความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงใด ๆ กับคำสอนของพระพุทธองค์เลย อันที่จริงเป็นหลักการที่ตรงกันข้ามอย่างชัดเจนกับคำสอนของพระพุทธองค์ กล่าวคือในประการหนึ่ง พระพุทธองค์ไม่ได้ตรัสว่าผลแห่งกรรมดีจะลบล้างผลแห่งกรรมชั่วได้ หากผลกรรมทั้งสองจักดำเนินต่อไปจนจบสิ้น ในทำนองเดียวกัน พระพุทธองค์มิได้แยกแยะความแตกต่างระหว่าง ผู้ที่เป็นพุทธมามกะ กับผู้ที่ไม่ได้เป็นพุทธมามกะ ในการพิจารณาถึงบาปอันเนื่องมาจากการทำร้าย ศีลข้อแรกที่ส่งเสริมไม่ให้เราพรากชีวิตนั้น ไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติว่าเป็นชีวิตของใคร

          กรณีที่สองอยู่ในยุคร่วมสมัยมากกว่า หากมีวิธีการที่คล้ายคลึงกัน พระกิตติวุฑโฒได้กล่าวในปี ๒๕๑๙ ว่า “การฆ่าคอมมิวนิสต์นั้นไม่บาป”

“การฆ่าเช่นนั้นไม่ใช่การฆ่าคน เพราะว่าผู้ใดทำร้ายประเทศชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ย่อมไม่อาจถือเป็นคนได้ หากเป็นมารร้าย เจตนาของเราไม่ได้ต้องการฆ่าคนหากต้องการฆ่ามารร้าย ซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน”๑๔

ในทำนองเดียวกับที่ปรากฏในคัมภีร์มหาวงศ์ พระกิตติวุฑโฒได้กล่าวอ้างต่อไปว่า “บุญอันเกิดจากการปกป้องชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ย่อมมีมากกว่าบาปอันเกิดจากการสังหารชีวิตคอมมิวนิสต์”๑๕ ข้อความทั้งสองสร้างความชอบธรรมให้กับการฆ่าในสองลักษณะ ประการแรกคือการปฏิเสธความเป็นมนุษย์ของผู้เป็นศัตรู ประการที่สองเป็นข้ออ้างที่อยู่บนฐานความคิดว่า ความดีย่อมมีน้ำหนักมากยิ่งกว่าความชั่วที่จะเกิดขึ้น

          ข้อความเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดผลกระทบแตกต่างกันในโลกแห่งชาวพุทธ สิ่งที่พระกิตติวุฑโฒกล่าว ทำให้เกิดกระแสครหาในเมืองไทย เพราะทุกคนต่างรู้ดีว่าข้อความนี้เป็นเรื่องวิปริตจากหลักธรรม สมเด็จพระสังฆราชได้ทรงประณามข้อความของพระกิตติวุฑโฒ ทั้งยังมีกระแสเรียกร้องให้มีการลงโทษทางวินัยต่อท่านแม้ว่าจะไม่ประสบผลก็ตาม๑๖ แต่ในประเทศศรีลังกาคัมภีร์มหาวงศ์ เป็นคัมภีร์โบราณ และศาสนิกที่นั่นเติบโตขึ้นมาพร้อมกับการยอมรับในความสำคัญของคัมภีร์ฉบับนี้ ในปัจจุบันพวกพุทธขวาจัดที่เป็นชาวสิงหลได้ใช้คัมภีร์มหาวงศ์เพื่อสร้างทฤษฎีสงครามอันชอบธรรม เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการต่อสู้กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวทมิฬ ดังที่ Tessa Bertholo-meusz ได้แสดงไว้๑๗ แน่นอนว่าท่าทีเช่นนี้ได้รับการต่อต้านจากชาวพุทธหัวก้าวหน้าอย่างเช่นขบวนการสรรโวทัย และภายนอกประเทศศรีลังกาคัมภีร์มหาวงศ์ก็ไม่มีความสำคัญใด ๆ ซึ่งเราต้องถือว่ากรณีนี้เป็นกรณีพิเศษและค่อนข้างโชคร้ายที่เกิดขึ้นในสังคมชาวพุทธ ภายนอกประเทศศรีลังกา ผลแห่งกรรมยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการสร้างทฤษฎีสงครามอันชอบธรรมตามหลักพุทธศาสนา

          บางทีอาจมีแรงสนับสนุนต่อทฤษฎีสงครามอันชอบธรรมตามหลักพุทธศาสนา จากอิทธิพลของแนวคิดที่แพร่หลายในเรื่อง “กงล้อแห่งธรรมทั้งสอง” กล่าวคือในฝ่ายโลกิยะและในฝ่ายโลกุตตระ ซึ่งเป็นที่ปรากฏของหลักธรรม หลักการเช่นนี้บ่งเป็นนัยถึงมาตรฐานที่ต่างกันสองประการ กล่าวคือมาตรฐานที่เหนือกว่าสำหรับพระภิกษุและภิกษุณีผู้มุ่งแสวงหานิพพาน เมื่อเทียบกับมาตรฐานสำหรับปุถุชนผู้ที่ต้องประนีประนอมให้สามารถดำรงชีวิตตามโลกียวิสัยได้ ในทางปฏิบัติ แนวคิดเช่นนี้ทำให้ชาวพุทธยอมรับการมีอยู่ของกองทหาร และมีส่วนร่วมในกองทหาร เพราะเห็นว่าเป็นความชั่วร้ายที่จำเป็น แม้จะเสียใจที่ต้องทำเช่นนั้น แต่ก็เห็นว่าไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อองซานซูจีแม้ว่าจะเป็นผู้นำขบวนการสันติวิธีเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในพม่า ก็ยังไม่เห็นด้วยกับการล้มเลิกกองทัพหากว่าเธอได้ก้าวเข้าสู่อำนาจ เธอได้กล่าวในนามผู้ปฏิบัติชาวพุทธที่เคร่งครัดหลายคน เพื่อปกป้องการดำรงอยู่ของกองทหารในประเทศที่เป็นพุทธ

“ดังที่ดิฉันเข้าใจ ภารกิจหลักของกองทัพคือการปกป้องและคุ้มครองประชาชน หากเราอยู่ในโลกที่ไม่มีความจำเป็นต้องปกป้องตนเอง เช่นนั้นแล้วกองทหารก็ไม่มีประโยชน์ใด ๆ แต่ดิฉันไม่คิดว่าโลกของเราจะเป็นเช่นนั้นได้ในอนาคตอันใกล้ และเราไม่สามารถดำรงอยู่ได้โดยปราศจากการปกป้องคุ้มครองเช่นนี้ ดิฉันพยายามคิดถึงกองทหารในฐานะเป็นพลังเพื่อการปกป้องมากกว่าจะเป็นพลังเพื่อการทำลาย”๑๘

และได้มีผู้สัมภาษณ์นางซูจีเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า

[อลัน คลีเมนต์] คุณจะลองจินตนาการได้ไหมว่า ถ้าได้เป็นผู้นำประเทศพม่าที่มีเสรีภาพและเป็นประชาธิปไตย คุณจะกล้าพอที่จะสั่งการให้ใช้ความรุนแรงต่อมนุษย์ หรือใช้กำลังทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่ามันอาจทำให้คนเสียชีวิตได้

[อองซานซูจี] ในฐานะสมาชิกทุกคนของรัฐบาล การกระทำเช่นนั้นอาจมีความจำเป็นในบางสถานการณ์

[อลัน คลีเมนต์] หมายถึงว่าการใช้อาวุธและความรุนแรงอย่างกอปรด้วยอุปายะในฐานะนักการเมือง เมื่อมีรัฐเกิดขึ้นเป็นเรื่องทำได้ใช่หรือไม่

[อองซานซูจี] นั่นเป็นผลลบที่ต้องเกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามหน้าที่๑๙

          ในที่นี้นางซูจีกล่าวว่าต้องยอมทำบาปตามทัศนะของพุทธศาสนา โดยถือว่าเป็นการทำหน้าที่เพื่อปกป้องประชาชน การเสียสละเช่นนั้นดูจะเป็นเรื่องน่ายกย่องเมื่อมองจากแง่มุมของพุทธศาสนา กล่าวคือในแง่หนึ่งเธอได้เสียสละกรรมดีของตนเองเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ซึ่งคล้ายกับการกระทำของพระโพธิสัตว์ แต่กระนั้นในฐานะที่เธอเป็นผู้บัญชาการกองทหาร เธอคิดอย่างไรกับผู้ที่ต้องตามเธอไปรบล่ะ ในแง่ของพุทธศาสนา เธอมีหน้าที่ต้องชี้นำให้พวกเขาละเว้นจากการกระทำที่จะทำให้เกิดผลกรรมอันเป็นลบใช่หรือไม่ แนวคิดที่ว่าสงครามเป็นความชั่วร้ายอันจำเป็น แม้จะแพร่หลายมาก แต่ก็ไม่ได้เป็นผลมาจากเจตนาของแนวคิดของการแบ่งแยกโลกิยะออกจากโลกุตตระเลย ซึ่งอันที่จริงไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดมาตรฐานที่แตกต่างกันสองประการในทั้งสองโลก หากมุ่งให้มีการใช้หลักธรรมที่เหมือนกันในโลกทั้งสอง หน้าที่ของกษัตริย์ชาวพุทธ (และคงเป็นหน้าที่ของผู้นำชาวพุทธคนอื่น ๆ) ได้แก่การธำรงบทบาทของพระพุทธองค์ในโลกียธรรม กล่าวคือการทำให้คำสอนของพระพุทธองค์หรือหลักธรรมปรากฏอยู่ในโลก อุดมคติของพระพุทธศาสนาคือการมีธรรมราชา ผู้ปกครองโดยธรรม๒๐ ด้วยเหตุนี้เจตนาของแนวคิดของการแยกกงจักร

          ทั้งสองไม่ใช่การลดทอนคุณค่าของธรรม หากเป็นการมุ่งพัฒนามาตรฐานของโลกให้เข้าใกล้กับหลักธรรมมากยิ่งขึ้น

          ถ้าเช่นนั้นหมายถึงว่า มาตรฐานด้านจริยธรรมของพุทธ อยู่สูงเกินไปจนสุดที่ผู้ซึ่งอยู่นอกวัดจะสามารถปฏิบัติตามได้อย่างจริงจังใช่หรือไม่ ไม่มีหนทางใดที่จะทำให้มาตรฐานเหล่านั้นเกิดความยืดหยุ่น จนกระทั่งเราสามารถรักษาหลักจริยธรรม ในฐานะชาวพุทธที่ดีได้ พร้อม ๆ ไปกับการกระทำบางอย่างเพื่อปกป้องตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวพุทธส่วนใหญ่ต้องการได้หรือ

          เราสามารถจะสร้างความสมดุลระหว่างอุดมคติของการไม่ใช้ความรุนแรงในทางพุทธ กับเงื่อนไขที่จำเป็นในทางปฏิบัติเพื่อการป้องกัน ด้วยการพิจารณาถึงปัจจัยสองประการคือ เจตนา และระดับความรุนแรง

          เจตนาที่อยู่เบื้องหลังการกระทำมีบทบาทอย่างสำคัญในจริยธรรมของพุทธศาสนา โดยเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบของกรรมที่กระทำภายใต้อิทธิพลของเจตนา พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า “ดูกรพระภิกษุ เจตนานั้นแลคือสิ่งที่เราเรียกว่ากรรม และเจตนานั้นได้แสดงออกโดยผ่านกายกรรม วจีกรรมและมโนกรรม”๒๑ เราไม่อาจละเลยเจตนาเบื้องหลังการกระทำในฐานะองค์ประกอบหนึ่งของกรรมได้เลย ด้วยเหตุนี้อองซานซูจีจึงปกป้องการธำรงไว้ซึ่งกองทัพของชาวพุทธด้วยการกล่าวว่า “เรามักจะตั้งคำถามเกี่ยวกับเจตนา และเจตนาของกองทัพจะต้องเป็นสิ่งถูกต้อง”๒๒ ในทัศนะของเธอซึ่งดูจะสอดคล้องกับทัศนะของชาวพุทธส่วนใหญ่ได้แก่ หากเจตนาของทหารเป็นไปเพื่อปกป้องและไม่ใช่การทำลาย การตีความการกระทำของเขาเพื่อสังหารทหารอีกฝ่ายหนึ่งย่อมเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งแม้ว่าความข้อนี้จะตรงกับทัศนะและคำสอนของพระพุทธองค์ แต่มันก็ยังไม่ได้แก้ปัญหาทั้งหมด ในแง่ของหลักกรรม การสังหารเพื่อปกป้องเพื่อนร่วมชาติของทหารมีความแตกต่างจากการสังหารชู้ด้วยความโกรธ ทั้งนี้เพราะสภาพของจิตใจที่อยู่เบื้องหลังการกระทำนั้นแตกต่างกัน แต่ตามทัศนะของพระพุทธองค์ การสังหารของทหารก็ไม่อาจกระทำขึ้นได้โดยปราศจากความโกรธและความหลงเลยแม้แต่น้อย มันเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะฆ่าโดยปราศจากเจตนาในระดับหนึ่ง การฆ่าเป็นสิ่งผิดเสมอและนำมาซึ่งผลแห่งกรรมในทางลบ ในแง่นี้การเข้าใจถึงบทบาทของเจตนาในจริยธรรมแบบพุทธจึงช่วยไขปัญหาให้เราได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้แก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทางความคิดของชาวพุทธทั้งหมด ชาวพุทธเราอาจยอมรับถึงเจตนาเพื่อการปกป้องว่าสอดคล้องกับหลักศีลธรรมได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังคงไม่สามารถยอมรับพฤติกรรมการสังหารได้

          มีวิธีการหนึ่งที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งตรงนี้คือการพิจารณาถึงระดับของความรุนแรง ติช นัท ฮันห์ ได้ให้ความเห็นอันเป็นประโยชน์ในประเด็นนี้ดังนี้

“ขึ้นอยู่กับสภาพที่เป็นอยู่ การตอบโต้ของเราในบางกรณีอาจเป็นไปอย่างไม่ใช้ความรุนแรงไม่มากก็น้อย ยกตัวอย่างเช่น แม้เราจะภูมิใจในการเป็นนักมังสวิรัติ เราก็ต้องตระหนักรู้ว่าในน้ำที่เราต้มผักนั้นเต็มไปด้วยจุลินทรีย์มากมาย เราไม่อาจหลีกเลี่ยงความรุนแรงอย่างสิ้นเชิงด้วยการเป็นนักมังสวิรัติ แต่การทำเช่นนั้นเป็นการก้าวเดินไปตามครรลองแห่งการไม่ใช้ความรุนแรง ในการเดินทางมุ่งไปทางทิศเหนือ เราสามารถใช้ดาวเหนือเป็นเครื่องชี้ทางได้ แต่ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะสามารถไปจนถึงดาวเหนือได้ เราทำได้เพียงพยายามไปตามทิศทางที่มันบอกเท่านั้น”

“ไม่ว่าใครก็ตามก็สามารถฝึกปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรงได้ในบางระดับ แม้แต่นายพลในกองทัพ ยกตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจวางแผนปฏิบัติการเพื่อหลีกเลี่ยงการสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์ การจะช่วยให้ทหารปฏิบัติการตามวิถีของการไม่ใช้ความรุนแรง เราจะต้องสื่อสารสัมพันธ์กับพวกเขาอย่างใกล้ชิด ถ้าเรามัวแต่แบ่งแยกโลกนี้เป็นค่ายของความรุนแรงและค่ายของการไม่ใช้ความรุนแรง และเลือกที่จะยืนอยู่ค่ายใดค่ายหนึ่งพร้อมไปกับการโจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าเช่นนั้นโลกเราก็จะไม่มีโอกาสมีสันติภาพ”๒๓

          ท่านนัทฮันห์ได้ตั้งข้อสังเกตซึ่งสืบเนื่องมาจากข้อคิดของท่านคานธีว่า มันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะหลีกเลี่ยงความรุนแรงอย่างสมบูรณ์ และท่านปรารถนาที่จะลดทอนความคิดอันคับแคบของผู้ที่คิดว่าตัวเองเป็นผู้ไม่ใช้ความรุนแรงแล้ว และแนวโน้มที่พวกเขาจะตีความว่าตนเองเป็น “คนดี” ส่วนทหารเป็น “คนเลว” ในความเป็นจริงมันไม่ได้ง่ายดายเช่นนั้น เราทุกคนล้วนกระทำสิ่งอันเป็นความรุนแรงเพียงแต่มีระดับแตกต่างกัน ยิ่งไปกว่านั้น เราก็เป็นตัวของเราเองในขณะนี้ และเราก็อยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่งในช่วงของพัฒนาการด้านจิตวิญญาณ ข้อคิดที่เป็นประโยชน์และสำคัญน่าจะเป็นการตระหนักว่า เราแต่ละคนพยายามมุ่งไปในทิศทางนั้นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งเราอาจจะเริ่มจากจุดเริ่มต้นที่แตกต่างกัน ทั้งนี้โดยไปในทิศทางที่มุ่งสู่การไม่ใช้ความรุนแรงอย่างสมบูรณ์ตามอุดมคต ิแม้จะไม่มีทางไปถึงได้ก็ตาม

          ข้อคิดเห็นของท่านนัทฮันห์มีประโยชน์ในหลายประการ ในแง่หนึ่งทัศนะของท่านชี้ว่า พุทธศาสนาก็ให้โอกาสทางศีลธรรมสำหรับนายพลที่ต้องการหลีกเลี่ยงการเข่นฆ่าพลเรือน หากโอกาสทางศีลธรรมที่ว่านี้ก็มีข้อจำกัดอยู่ และจะมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่า นายพลทหารท่านนั้น จะสามารถดำเนินการให้เข้าสู่อุดมคติของการไม่ใช้ความรุนแรงได้มากน้อยเพียงไร

          บางทีการมุ่งบ่มเพาะเจตนาที่จะป้องกันมากกว่าทำลาย การมุ่งปฏิบัติการเพื่อลดความรุนแรงให้น้อยที่สุด เป็นวิถีทางดีที่สุดในการปรับคำสอนของพุทธศาสนานิกายเถรวาท ให้สอดคล้องกับความจำเป็นที่เราจะต้องปกป้องตนเอง วิธีการทั้งสองอย่าง ช่วยให้ชาวพุทธสามารถให้โอกาสอันจำกัด สำหรับผู้ที่กระทำความรุนแรง โดยมีเจตนาเพื่อป้องกันตนเอง บางทีสิ่งนี้อาจเป็นข้อคิดที่อยู่ในใจของพระพุทธองค์ ในครั้งที่พระองค์ได้ให้คำแนะนำที่บ่งเป็นนัยว่า กษัตริย์ที่ทรงจักรวรรดิวัตร สามารถมีกองทหารเพื่อเป้าหมายในการปกป้องราชอาณาจักร และให้ดำเนินการ “ให้เป็นไปตามหลักธรรม”

          ข้อขัดแย้งที่ยังคงหลงเหลืออยู่ก็คือ พุทธศาสนามุ่งจะเปลี่ยนบุคคล ให้ไปในทิศทางที่พวกเขาจะสามารถกระทำการอันรุนแรงได้น้อยลงไปทุกที จุดนี้เองที่แสดงถึงข้อขัดแย้งระหว่างอุดมคติแบบพุทธกับความเป็นจริง แล้วใครเล่าที่จะเข้าร่วมกับกองทัพ ในเมื่อทุกคนต่างคิดว่ากองทัพเป็นส่วนที่มีการพัฒนาน้อยที่สุดในสังคม แน่นอนว่ากองทัพเช่นนี้ไม่ใช่แบบที่อองซานซูจีพึงปรารถนา ดังที่เธอได้แสดงความเห็นไว้ในการสัมภาษณ์ที่ว่า

[อลัน คลีเมนต์] สมมติว่าพม่ามีประชาธิปไตยแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นกับสล็อร์ค ซึ่งเป็นกลุ่มทหารที่ยึดอำนาจบริหาร เราคงต้องกำจัดพวกนายพลเหล่านั้นไปใช่หรือไม่

[อองซานซูจี] เราจะเปลี่ยนให้กองทัพดีขึ้นและมีเกียรติยศมากขึ้น ให้เป็นกองทัพที่ประชาชนรักใคร่ นั่นคือสิ่งที่เราต้องการให้กองทัพเป็น เมื่อพ่อของดิฉันได้สถาปนากองทัพขึ้นมา ท่านเพียงต้องการให้กองทัพมีเกียรติยศ เป็นที่รักใคร่ และเชื่อใจในหมู่ประชาชน กองทัพที่เราต้องการคือกองทัพที่ประกอบด้วยทหารที่มีความสุขในการทำหน้าที่มากขึ้น๒๔

          กองทัพที่มีเกียรติยศอันเป็นที่รักใคร่ของประชาชน จะต้องไม่ประกอบด้วยองค์ประกอบอันล้าหลังที่สุดในสังคม

          ลองมาสรุปถึงสิ่งที่เราได้พิจารณาจนถึงขณะนี้ ในทุกแง่มุม พุทธศาสนาล้วนมุ่งไปตามครรลองแห่งการไม่ใช้ความรุนแรงอย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ตาม ชาวพุทธเองก็มักเกี่ยวข้องกับการทำสงครามจากตัวอย่างของกษัตริย์ในอุดมคติอย่างพระเจ้าอโศก และความเห็นของพระพุทธองค์ที่แสดงต่อพระราชาผู้กอปรด้วยจักรวรรดิวัตรดูจะชี้แนะให้เห็นว่า โดยหลักการของพุทธศาสนาแล้ว เราไม่อาจยอมรับสงครามที่เป็นไปเพื่อการรุกรานผู้อื่นได้ แต่ขณะเดียวกัน เราก็อาจสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้กำลังทหารเพื่อเป้าหมายในการปกป้องตนเองได้ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความยุ่งยากหลายประการในการหาวิธีประนีประนอม ในการปรับใช้กำลังทหารเพื่อการปกป้องตนเอง ให้สอดคล้องกับหลักการของพุทธศาสนา

          เราอาจจะกลับไปพิจารณาถึงแนวคิดที่แยกโลกออกเป็นสองระดับที่แตกต่างกันคือ ระดับโลกียะและระดับโลกุตตระ ซึ่งมีพุทธศาสนาดำรงอยู่ และอาจกล่าวได้ว่าในโลกนี้ซึ่งเต็มไปด้วยความรุนแรง การปล่อยให้มีความรุนแรงอย่างจำกัดและด้วยเจตนาที่เหมาะสมอันเป็นไปเพื่อปกป้องตนเอง อาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่จะเป็นไปได้ นี้อาจจะเป็นข้อคิดเห็นร่วมกันของนักคิดชาวพุทธโดยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องเผชิญหน้ากับการโจมตีทำร้าย ดิฉันใคร่แสดงถึงพัฒนาการสองประการในช่วงศตวรรษที่ ๒๐ ที่ช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับการทำสงครามเพื่อปกป้องตนเองตามแนวทางแบบพุทธ

          ประการแรก พุทธศาสนาได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างกว้างขวางในหมู่ฆราวาสในสังคมพุทธหลายแห่ง การฟื้นฟูพุทธศาสนาขึ้นมาเช่นนี้ ได้ช่วยท้าทายและลดทอนความเชื่อมั่นในการแบ่งแยกอย่างเด็ดขาด ระหว่างโลกิยะและโลกุตตระแบบเดิม ฆราวาสชาวพุทธมักไม่เพียงพอใจกับอุดมคติในระดับรองอีกต่อไป ดิฉันอาจจะสรุปว่า โดยทั่วไป แม้ว่าฆราวาสจะมีความพึงพอใจกับการปฏิบัติตามหลักศีลธรรมแบบพุทธอย่างเดิมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ พร้อม ๆ ไปกับการปฏิบัติเพื่อให้ชีวิตในอนาคตของตนสมบูรณ์พูนสุขอย่างที่ต้องการ ในขณะเดียวกันเราก็ได้เห็นปรากฏการณ์ที่ฆราวาสเหล่านี้ตื่นขึ้น และพยายามไปให้ถึงเป้าหมายแห่งการหลุดพ้น (ซึ่งแต่เดิมพวกเขาคิดว่าเป็นเฉพาะเรื่องของพระ) และพยายามปฏิบัติสมาธิภาวนาเพื่อที่จะไปให้ถึงเป้าหมายนั้นให้ได้ พร้อม ๆ ไปกับการปฏิบัติอย่างจริงจังมากขึ้นและลึกซึ้งมากขึ้นของชาวพุทธ พวกเขาได้อธิษฐานจิตใจระดับที่สูงขึ้นเพื่อที่จะปฏิบัติตามหลักการของธรรมะ ดิฉันออกจะสงสัยว่าฆราวาสที่อธิษฐานจิตมุ่งสู่นิพพานย่อมเหนื่อยหน่ายกับการที่จะต้องไปเข่นฆ่าสังหารใคร

          ประการที่สอง ในช่วงศตวรรษที่ ๒๐ เราได้เห็นพัฒนาการของกลุ่มที่ปรับใช้หลักธรรมคำสอนเพื่อแก้ปัญหาสังคมในสังคมพุทธหลายแห่งทั่วโลก ในขณะที่กลุ่มฆราวาสชาวพุทธเหล่านี้ปรับใช้พุทธศาสนามากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองในโลก พวกเขาก็ได้เรียกร้องให้ฝ่ายสงฆ์ปรับใช้หลักการของพุทธศาสนาให้เหมาะกับโลกในปัจจุบัน และฆราวาสเหล่านี้ก็ได้มุ่งปฏิบัติไปในทิศทางของอุดมคติสูงสุด ซึ่งรวมไปถึงการปฏิบัติอย่างอหิงสานี้ด้วย พุทธศาสนาที่รับใช้สังคมมุ่งกระตุ้นทุกคนซึ่งรวมทั้งฆราวาสให้มีบทบาทในกระบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งพวกเขาหวังว่าจะทำให้ความสามารถในการกระทำความรุนแรงลดน้อยถอยลง ชาวพุทธผู้มุ่งรับใช้สังคมในช่วงที่ผ่านมาและในปัจจุบัน ได้ปรับใช้หลักอหิงสาเพื่อท้าทายต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่ อย่างเช่น การเข้ารุกรานประเทศทิเบตโดยประเทศจีน การประท้วงในช่วงสงครามเวียดนาม การปฏิบัติงานเพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์ภายหลังยุคเขมรแดงในประเทศกัมพูชา การมุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองในพม่า เห็นได้ชัดเจนว่ากลุ่มขบวนการเหล่านี้กำลังเรียกร้องให้ชาวพุทธปฏิบัติตามมาตรฐานที่สูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง

          พัฒนาการทั้งสองด้านที่ชาวพุทธผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อฟื้นฟูพุทธศาสนา และการที่กลุ่มชาวพุทธเพื่อสังคม สามารถยกระดับการปฏิบัติของฆราวาส ให้เข้าไปสู่ระดับการปฏิบัติของสงฆ์มากขึ้น ย่อมทำให้เส้นแบ่งระหว่างโลกิยะและโลกุตตระมีความชัดเจนน้อยลง และนำไปสู่คำถามที่มุ่งสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้ความรุนแรงแบบพุทธ เพื่อปกป้องตนเองในสถานการณ์ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด และการคิดเช่นนี้ ทำให้ตัวอย่างในอุดมคติของพระเจ้าอโศกมีความสำคัญน้อยลงไป เป็นที่ชัดเจนว่าสงครามเพื่อการรุกรานนั้นไม่มีความชอบธรรมอย่างแน่นอน แต่คำถามสำหรับชาวพุทธก็คือ แล้วเราจะยอมให้มีการทำสงครามเพื่อปกป้องตนเองได้ในระดับใด ซึ่งในแง่นี้จารีตแบบพุทธยังไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจน ในการตอบคำถามเช่นนี้เราจำเป็นที่จะต้องคิดและกระทำอย่างสร้างสรรค์

          พุทธศาสนามีปัญหากับสงครามมากมาย สำหรับดิฉัน เราอาจมีทางเลือกอยู่สี่ทางสำหรับชาวพุทธที่จะแก้ปัญหาหรือไม่แก้ปัญหาที่ว่านี้ ประการแรก ชาวพุทธอาจดำเนินชีวิตต่อไปอย่างที่เป็นอยู่ โดยเข้าไปมีส่วนร่วมกับกองทัพอย่างไม่ใช้ความคิดและอย่างปราศจากบันยะบันยัง เพิกเฉยต่อหลักการที่ขัดกับพุทธศาสนา ปล่อยให้จริยธรรมทางสังคมถดถอยอย่างรุนแรง และเพิกเฉยต่อโอกาสที่จะทำให้กงล้อที่สองกล่าวคือโลกียธรรมพัฒนาขึ้นไปสู่ความเป็นธรรมจักร อันเป็นการปฏิบัติตามหลักธรรมอย่างสมบูรณ์แท้จริง การทำเช่นนั้นเป็นการเพิกเฉยต่อการปรับใช้หลักธรรมให้สอดคล้องกับประเด็นปัญหาในโลกปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมาชาวพุทธส่วนใหญ่มีความพึงพอใจกับวิธีการเช่นนี้ แต่ในทัศนะของชาวพุทธเพื่อสังคม พวกเขาเห็นว่ามันยังไม่น่าพอใจและยังมีอีกหลายวิธีที่จะกระตุ้นให้ชาวพุทธปฏิบัติหน้าที่ของตนดียิ่งขึ้น

          ประการที่สอง ชาวพุทธอาจพยายามพัฒนาทฤษฎีว่าด้วยสงครามอันชอบธรรมขึ้นในบางลักษณะ แม้ว่าเพียงการเสนอแนะประเด็นนี้ก็อาจเป็นเรื่องน่าตกใจสำหรับชาวพุทธจำนวนมากแล้วก็ตาม นักคิดชาวพุทธก็อาจพยายามดำเนินการในแนวทางนี้ต่อไป โดยอาศัยฐานความรู้จากจักกวัตติสีหนาทสูตร ความแตกต่างระหว่างโลกียะกับโลกุตตระ บทบาทของเจตนาในการจำแนกผลแห่งกรรม และความตระหนักรู้ต่อความรุนแรงที่มีอยู่หลายระดับ เป็นไปได้ว่าทฤษฎีสงครามอันชอบธรรมตามหลักพุทธศาสนานี้ อาจปรากฏขึ้นมาในรูปแบบใกล้เคียงกับทฤษฎีสงครามอันชอบธรรมของศาสนาอื่น เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ทฤษฎีสงครามอันชอบธรรมอาจถูกปรับใช้ด้วยเล่ห์เพทุบายและความปลิ้นปล้อน และนำความเจ็บปวดทุกข์ทรมานมาให้ ดังกรณีของประเทศศรีลังกาเป็นตัวอย่าง ในยุคที่การพัฒนากองกำลังทหารอาจหมายถึงจุดจบของพวกเราทุกคน นักคิดชาวพุทธเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่มีความปรารถนาที่จะเข้าไปยุ่งกับกิจการที่ว่านั้น แต่ในอีกแง่หนึ่ง อองซานซูจีอาจพึงพอใจกับพัฒนาการที่เกิดขึ้นเช่นนั้น บางทีเธออาจสนับสนุนให้เกิดความเป็นผู้นำแบบพุทธในหมู่กองทัพพม่า เพื่อพัฒนาให้กองทัพพม่าเป็นแบบของชาวสวิสที่ได้รับการฝึกฝนและติดอาวุธ เพื่อป้องกันตนเองเพียงอย่างเดียวให้มากที่สุด หรือบางทีกองทัพของพวกเขา อาจเป็นแบบเดียวกับกองทัพของแคนาดา ที่มีบทบาทในการรักษาสันติภาพระดับนานาชาติ หรือบางทีนโยบายด้านต่างประเทศของพม่า จะเป็นแบบเดียวกับสวีเดน ที่มุ่งลดความจำเป็นในการใช้ทหารให้น้อยที่สุด

          ประการที่สาม ชาวพุทธอาจมุ่งปฏิบัติตามการไม่ใช้ความรุนแรงอย่างเคร่งครัด และเลิกคิดว่าพุทธศาสนาอาจปรับใช้กับระบอบการปกครองประเทศได้ บางทีการไม่ใช้ความรุนแรงกับการปกครองประเทศอาจไปด้วยกันไม่ได้เลย ซึ่งตรงจุดนี้จะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง จริยธรรมระดับบุคคล และจริยธรรมของสังคม แม้ว่าประชาชนแต่ละคนอาจปฏิเสธการใช้ความรุนแรงเพื่อปกป้องตนเอง แต่การที่ประมุขของประเทศจะปฏิเสธการใช้ความรุนแรงเพื่อปกป้องประเทศ อาจเป็นเรื่องที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จริยธรรมระดับบุคคลของพุทธศาสนาไม่ได้รับการตีความอย่างเหมาะสมให้พัฒนาขึ้นเป็นจริยธรรมของสังคม แต่แน่นอนว่าในประเทศหนึ่งย่อมมีกลุ่มบุคคลที่ไม่ยึดติดกับหลักการไม่ใช้ความรุนแรงอย่างเคร่งครัดเช่นนั้น และพวกเขาคาดหวังว่าผู้ปกครองประเทศจะดำเนินการบางอย่างเพื่อปกป้องพวกเขา ถ้าชาวพุทธมาถึงข้อสรุปที่ว่าหลักการไม่ใช้ความรุนแรงและการปกครองประเทศเป็นเรื่องที่ไปด้วยกันไม่ได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไม่มีความสนใจต่อกิจการของประเทศเลย เท่าที่ผ่านมาการมีส่วนร่วมทางการเมืองของกลุ่มชาวพุทธเพื่อสังคมยังคงอยู่เพียงระดับชายขอบของอำนาจ แต่กระนั้นในบางครั้งพวกเขาก็มีบทบาทอย่างสำคัญ ในประเด็นด้านการทหาร ดังกรณีการประท้วงที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามเวียดนาม

          ประการที่สี่ ทางเลือกสุดท้ายคือ ชาวพุทธอาจรักษาหลักการไม่ใช้ความรุนแรงอย่างเคร่งครัดนั้นไว้ โดยไม่เพิกเฉยต่อความปรารถนาที่จะมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ อย่างเช่น การมุ่งพัฒนาวิธีการปกครองประเทศโดยไม่จำเป็นต้องใช้กำลังทหาร กลุ่มผู้นำชาวพุทธเพื่อสังคมจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้อยู่ในอำนาจในตอนนี้สนับสนุนวิธีการเช่นนี้ และพวกเขาหวังว่าในวันหนึ่งตัวเขาเองหรือทายาทจะมีโอกาสขึ้นสู่อำนาจ ยกตัวอย่างเช่น ท่านทะไลลามะได้เสนอให้ประกาศให้ประเทศทิเบตเป็นเขตแห่งสันติภาพ และปราศจากกองกำลังทหารใด ๆ เจตนาของการเสนอเช่นนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อปลดปล่อยทิเบตจากกองกำลังทหารใด หากยังเป็นไปเพื่อลดโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงด้านการทหารระหว่างประเทศอินเดียและประเทศจีน ด้วยการสถาปนาแนวกันชนที่ปลอดทหารระหว่างประเทศทั้งสอง ในประเทศศรีลังกา ขบวนการสรรโวทัยของนายอารีรัตน์ ได้ส่งกลุ่มสันติเสนาที่ได้รับการฝึกฝนเทคนิคการไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อไปรักษาความสงบในที่ต่าง ๆ และอีกไม่นานกลุ่มพลังเพื่อสันติวิธี ที่ประกอบด้วยพลเรือนนานาชาติ ก็จะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในประเทศศรีลังกา ชาวพุทธเพื่อสังคมจำนวนมากเห็นว่าวิธีการเหล่านี้เป็นเรื่องปกติที่ควรกระทำ แต่การที่ชาวพุทธเพื่อสังคมจะมีบทบาทมากเพียงใดในการปฏิบัติตามแผนการนั้น และวิธีการเช่นนั้นจะส่งผลมากน้อยเพียงไร ยังเป็นสิ่งที่เราต้องจับตามองต่อไป

          พุทธศาสนามีปัญหากับประเด็นว่าด้วยสงคราม แต่บางทีปัญหานี้อาจจะกลายเป็นโอกาสก็ได้.. .

 

เชิงอรรถ


๑Sallie B. King เป็นศาสตราจารย์ด้านปรัชญาและศาสนาแห่งมหาวิทยาลัย James Madison และเคยเป็นประธานสมาคมศึกษาระหว่างชาวพุทธและคริสต์ (Society for Buddhist–Christian Studies) งานนิพนธ์หลายชิ้นของเธอได้แก่ Buddha Nature, Journey in Search of the Way, และงานที่เธอเป็นบรรณาธิการร่วมกับ Christopher Queen เรื่อง Engaged Buddhism : Buddhist Liberation Movements in Asia (Albany, NY : SUNY Press, 1996)
     
งานนิพนธ์ชิ้นนี้เดิมเสนอในการประชุม American Academy of Religion ที่กรุงโตรอนโต พฤศจิกายน ๒๕๔๕

๒ Hammalawa Saddhatissa, Buddhist Ethics: The Path to Nirvana (London: Wisdom Publications, 1987), หน้า ๗๓.

๓ Walpola Rahula, What the Buddha Taught, revised edition (New York: Grove Press, 1959, 1974), หน้า ๑๒๕ ff.

๔ John Ross Carter and Mahinda Palihawadana, The Dhammapada (Oxford and New York: Oxford University Press, ๑๙๘๗), หน้า ๓.

๕ Rahula, หน้า ๑๓๑.

๖Peter Harvey, An Introduction to Buddhist Ethics (Cambridge, UK: Cambridge University Press, 2000), หน้า ๒๕๔

๗ N.A. Nikam and Richard McKeon, ed. and trans., The Edicts of Asoka (Chicago and London: University of Chicago Press, 1959), หน้า ๒๗–๒๘.

๘เพิ่งอ้าง หน้า ๒๘–๒๙.

๙Maurice Walsh, trans., The Long Discourses of the Buddha: A Translation of the Digha Nikaya (Boston: Wisdom Publications, 1987, 1995), หน้า ๓๙๖–๓๙๗ (Digha Nikaya III.๖๑).

๑๐Christopher Ives, “Protect the Dharma, Protect the Country: Buddhist War Responsibility and Social Ethics” The Eastern Buddhist 33(2) (2001), หน้า ๑๖

๑๑Bhikkhu Bodhi, trans., The Connected Discourses of the Buddha: A New Translation of the Samyutta Nikaya (Boston: Wisdom Publications, 2000), หน้า ๑๓๓๕

๑๒Harvey, หน้า ๒๖๑

๑๓R.F. Gombrich, Theravada Buddhism: A Social History from Ancient Benares to Modern Colombo (London and New York: Routledge and Kegan Paul, 1988), หน้า ๑๔๑; cited in Harvey, หน้า ๒๕๖

๑๔S. Suksamran, Buddhism and Politics in Thailand (Singapore: Institute of Southeast Asian Studies, 1982), หน้า ๑๕๐; cited in Harvey, หน้า ๒๖๐

๑๕Donald K. Swearer, Buddhism and Society in Southeast Asia (Chambersburg, PA: Anima Books, 1981), หน้า ๕๗

๑๖Harvey, หน้า ๒๖๑

๑๗Tessa Bartholomeusz, In Defense of Dharma: Just–War Ideology in Buddhist Sri Lanka, (on–line) Journal of Buddhist Ethics, Vol.6 (1999)

๑๘Aung San Suu Kyi, The Voice of Hope: Conversations with Alan Clements (London and New York: Penguin Books, 1997), หน้า ๒๑

๑๙เพิ่งอ้าง หน้า ๑๕๙

๒๐Donald K. Swearer, The Buddhist World of Southeast Asia (Albany, NY: State University of New York Press, 1995), หน้า ๙๕

๒๑Anguttaranikaya II, ๔๑๕. Cited and translated in Saddhatissa, หน้า ๒๐

๒๒Aung San Suu Kyi., หน้า ๒๑

๒๓Thich Nhat Hanh, For a Future to Be Possible: Commentaries on the Five Wonderful Precepts (Berkeley, CA: Parallax Press, 1993), หน้า ๑๖–๑๗

๒๔Aung San Suu Kyi, หน้า ๔๑

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :