เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๖

เสขิยทัศน์
กลุ่มเสขิยธรรมสัมภาษณ์พระไพศาล วิสาโล
วันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๔๖ เวลา ๑๒.๕๖ - ๑๓.๐๗ น.
ณ มูลนิธิโกมลคีมทอง

อิรัก
ท่าทีชาวพุทธต่อสงคราม

 

เสขิยธรรม : อยากให้ใช้หลักอริยสัจจ์สี่วิเคราะห์สงครามที่เกิดขึ้นโดยสรุปว่า ปัญหา สาเหตุ สภาพที่พึงปรารถนา และทางออก ในทัศนะของชาวพุทธควรเป็นอย่างไร ?

พระไพศาล : ตัวปัญหาคงไม่ต้องจาระไน เพราะเห็นชัดอยู่แล้ว ว่าเมื่อเกิดสงครามขึ้น มันสร้างปัญหาแก่ผู้คนและสังคมที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง มีผลร้ายอย่างไรในทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และจิตใจ เราน่ามาดูกันที่สาเหตุเลย มองอย่างพุทธ สาเหตุหลักก็คือ โลภะ โทสะ โมหะ

          โลภะ ก็ได้แก่ความต้องการของสหรัฐที่อยากได้น้ำมันและทรัพยากรในอิรัก รวมทั้งในตะวันออกกลางด้วย ส่วน โทสะ คือความรู้สึกเกลียดชัง เพราะเห็นซัดดัม ฮุสเซน เป็นตัวเลวร้ายที่ต้องกำจัดทุกวิถีทาง โทสะนี้ก็โยงไปถึงตัวโมหะ คือเกลียดชังอยากทำลายเพราะวาดภาพที่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง เช่น เห็นซัดดัมเลวสุด ๆ จนเชื่อว่าชาวอิรักจะลุกฮือขึ้นมาประท้วงขับไล่เขาถ้ามีโอกาส แต่ปรากฏว่าไม่เป็นอย่างนั้น โมหะนี้ยังรวมถึงความหลงตัว ว่าตัวเองมีอำนาจ และความสามารถที่จะเข้ามาจัดระเบียบในตะวันออกกลางได้ หารู้ไม่ว่าตัวเองกำลังจะเล่นกับไฟ เพราะว่าตะวันออกกลางเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและปัญหามากมาย ซึ่งพร้อมที่จะลุกเป็นไฟได้ง่าย ด้วยปัญหาเรื่องศาสนา เชื้อชาติ รวมทั้งความขัดแย้งเกี่ยวกับพรมแดน ยังไม่ต้องพูดถึงความขัดแย้งทางด้านทรัพยากร เช่น น้ำ ซึ่งจะกลายเป็นประเด็นร้อนแรงในไม่กีปีนี้

          เรื่องโมหะยังมีมากกว่านั้น น้ำมันไม่ใช่แค่เหตุผลเดียวที่ทำให้บุชทำสงครามกับอิรัก คนมักจะพูดแต่เรื่องน้ำมันซึ่งเป็นเรื่องโลภะ จริง ๆ แล้ว ยังมีอีกสาเหตุหนึ่งนอกจากที่พูดมาคือ ความเชื่อทางศาสนา ที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจของบุช

          บุชเป็นคนที่ศรัทธาในพระเจ้ามาก ขนาดที่เชื่อว่าเขาได้มาเป็นประธานาธิบดีจากเดิมที่เป็นคนสำมะเลเทเมาก็เพราะพระเจ้า ก่อนที่เขาจะตัดสินใจลงแข่งขันประธานาธิบดี เขาก็ปรึกษาพระเจ้าก่อน เช่นเดียวกันบุชเชื่อว่าการทำสงครามกับอิรักเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า เขาจึงมั่นใจมาก แน่วแน่เรื่องนี้ไม่มีลังเล ตรงนี้เป็นเรื่องโมหะ คือ..เชื่อว่าสงครามเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า

เสขิยธรรม : หมายถึงสงครามครั้งนี้มีประเด็น ศาสนา เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

พระไพศาล : แน่นอน ลึก ๆ บุชคงมีความรู้สึกในทางลบกับอิสลาม ในแง่หนึ่งเขาก็รู้สึกเหมือนคนอเมริกันจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่า อเมริกาเป็นประเทศที่พระเจ้าเลือกสรรมา นี่เป็นความเชื่อที่ฝังรากลึกมา ๒๐๐ ปีแล้ว และก็ยังมีอิทธิพลอยู่ เพราะฉะนั้นคนอเมริกันจำนวนไม่น้อยจึงรู้สึกว่าอเมริกามีภารกิจในการจัดระเบียบโลก

          บุชเชื่อตรงนี้มาก ในคำปราศรัยของเขาต่อคนอเมริกัน หรือต่อรัฐสภา เขาจะพูดถึงพระเจ้าอยู่บ่อย ๆ ประธานาธิบดีอเมริกันหลายคนก็คิดแบบนี้ ยกเว้นคลินตัน แต่ประธานาธิบดีเหล่านี้เขามีสติปัญญาและความรู้มากกว่าบุช ก็เลยรู้จักยับยั้งชั่งใจ ใช้เวลาไตร่ตรองมากสักหน่อย แต่บุชไม่ใช้เวลาไตร่ตรองมากเลย เพราะเชื่อมั่นพระเจ้าของเขาเต็มที่

เสขิยธรรม : แต่รายละเอียดเช่นนี้ไม่ค่อยปรากฏให้เห็น…

พระไพศาล : เรื่องอิทธิพลทางศาสนาหรือความเชื่อมั่นในพระเจ้าของบุช มีคนอเมริกันพูดกันเยอะ

เสขิยธรรม : ปัญหาสงครามเช่นนี้มีทางออกอย่างไรบ้าง


ภาพ www.muslimthai.com

.

พระไพศาล : อย่างที่พูดว่ารากเหง้าของสงครามคือโลภะ โทสะ โมหะ ตัวที่เด่นชัดตอนนี้คือโทสะ โทสะกำลังทำให้สงครามลุกลาม โทสะที่ว่าไม่ได้มาจากฝ่ายที่ทำสงครามอย่างเดียว แต่ยังมาจากฝ่ายหนุนและฝ่ายต้านสงคราม ทั้งจากฝ่ายสนับสนุนสหรัฐกับฝ่ายสนับสนุนอิรัก

          เมื่อมีโทสะ ก็เลยทำให้เห็นมองแต่ละฝ่ายเป็นเหมือนผักปลา ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะประชาชนทั้งฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายคัดค้านมีโทสะทั้งนั้น รวมทั้งคนที่ดูโทรทัศน์ ก็กำลังมีโทสะโดยไม่รู้ตัว เกิดความรุนแรงขึ้นในจิตใจ รวมทั้งความกระด้าง เห็นคนตายเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้รู้สึกเศร้าใจเลย

          ด้วยเหตุนี้ สิ่งหนึ่งที่เราต้องทำคือพยายามที่จะไม่ให้โทสะเข้ามาครอบงำสังคม เริ่มจากในใจของเราแต่ละคน ตอนนี้หลายคนคงนึกแช่งชักหักกระดูกอเมริกา รู้สึกสะใจที่ทหารอเมริกันกำลังเสียท่าและล้มตายกันมากขึ้น อันนี้ก็ไม่ถูก ฝ่ายต่อต้านสงครามหลายคนคงกำลังสะใจที่ทหารอเมริกาล้มตาย และอยากให้ตายกันมาก ๆ อย่างนี้ไม่ถูก หรือว่าฝ่ายที่สนับสนุนสหรัฐก็กำลังเชียร์ให้อเมริกันทิ้งระเบิดปูพรมแบกแดดมาก ๆ ให้คนอิรักตายเยอะ ๆ อันนี้ก็ไม่ถูก มันไม่ใช่วิธีที่จะทำให้สงครามยุติโดยเร็ว

          ฉะนั้นผมเห็นว่าในแง่ชาวพุทธเราต้องพยายามทำตรงนี้ก่อน คือ อย่าให้ความโกรธเกลียดแพร่ระบาดครอบงำผู้คน ที่จริงสงครามไม่ได้อยู่ไกลตัวเลย เพราะสมรภูมิไม่ได้อยู่ที่อิรักเท่านั้น แต่มันยังอยู่ในใจเราด้วย ความโกรธเกลียดมันกำลังครอบงำฝังลึกในจิตใจของเราทุกขณะ และกำลังทำลายความเป็นมนุษย์ของเราลงไปทุกที

          ถ้าเรามีความโกรธเกลียดมากขึ้น มันอาจไม่ส่งผลถึงสงครามในอิรักโดยตรง แต่มันก็เป็นเชื้ออย่างดีให้กับสงครามในบ้านเรา ใครจะไปรู้ ต่อไปเราอาจมีการสู้รบกับพม่า เขมร หรือลาว รวมทั้งสู้รบกับคนไทยด้วยกัน อย่างกรณี ๑๔ ตุลา ๖ ตุลา หรือกรณีท่อก๊าซไทย – มาเลเซีย ความโกรธเกลียดและความรุนแรงที่สะสมหมักหมมในใจของเราตอนนี้ก็จะไปส่งผลกับเหตุการณ์ดังกล่าว

          เช่น ทำให้ผู้คนสะใจกับการฆ่ากัน หรือสนับสนุนให้ฆ่าฟันกัน เหมือนกับที่ตอนนี้คนไทยกำลังเชียร์ให้มีการฆ่าตัดตอนเยอะ ๆ เห็นคนค้ายาบ้าไม่ใช่คน เห็นเขาเป็นปลาที่จะฆ่าอย่างไรก็ได้ นี่เป็นผลจากความโกรธเกลียดและความรุนแรง ที่สะสมกันเรื่อยมาจากสงครามก่อนหน้านั้น

          ที่จริงมองให้ดีการเชียร์ให้มีการฆ่าตัดตอนกันมาก ๆ กับการเชียร์สงครามในอิรัก มันเป็นเรื่องเดียวกันเลย มาจากจิตใจแบบเดียวกัน

เสขิยธรรม : แนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงมากขึ้นเชื่อมโยงกับทุนนิยมและบริโภคนิยมหรือไม่

พระไพศาล : ความรุนแรงเป็นเรื่องโทสะ ส่วนบริโภคนิยมเป็นเรื่องโลภะ สาเหตุคนละตัว แต่เกี่ยวข้องกัน บริโภคนิยมมันโยงไปถึงเรื่องน้ำมันในตะวันออกกลาง การพยายามครอบงำแหล่งน้ำมันในตะวันออกกลางเป็นเรื่องบริโภคนิยมโดยตรง ซึ่งก็โยงไปสู่การทำสงครามในอิรัก ขณะเดียวกันกระแสหนุนสงครามส่วนหนึ่ง ก็เกิดจากการที่ผู้คนติดตามข่าวเพราะอยากเสพความตื่นเต้น และสื่อก็ตอบสนองความต้องการตรงนี้

          เราลองคิดดูทำไมสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ จึงพูดแต่เรื่องการสู้รบและการวิเคราะห์ยุทธวิธีทางการทหาร มีการเชิญนักการทหาร เชิญอาจารย์มหาวิทยาลัยมาวิเคราะห์ยุทธวิธีทางทหารกันทุกช่อง คำตอบก็คือ ทำแบบนี้แล้วทำให้เรตติ้งหรือจำนวนคนดูพุ่งกระฉูด ทำให้โฆษณาเข้ามามากขึ้น โทรทัศน์ต้องการรายได้จากโฆษณา ส่วนโฆษณาก็ต้องการขายสินค้าผ่านรายการที่มีคนดูเยอะ ๆ นี่เป็นเรื่องบริโภคนิยมโดยตรง

          ผลก็คือทำให้ผู้คนที่เสพสื่อเหล่านี้สนับสนุนสงครามอยู่ลึก ๆ อยากเห็นการถล่มกันด้วยอาวุธแปลก ๆ ใหม่ เห็นสงครามเป็นเพียงแค่เกม หรือไม่ต่างจากมวยตู้เท่าไหร่

เสขิยธรรม : ชาวพุทธควรจะมีปฏิบัติการกับเรื่องนี้อย่างไร ที่เป็นรูปธรรม ทั้งระดับส่วนตัว และเครือข่าย

พระไพศาล : ประการแรก ต้องไม่สนับสนุนสงคราม เห็นการฆ่ากันเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ไม่ว่าคนตายจะเป็นทหารอเมริกันหรือทหารอิรักก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเศร้าสลดใจทั้งสิ้น

          ประการต่อมาก็คือ พยายามส่งเสริมสันติภาพ เราคงไม่มีกำลังที่จะไปยุติสงครามที่อิรักได้ด้วย ตัวเราคนเดียว แต่เราสามารถช่วยกันสร้างบรรยากาศแห่งสันติภาพได้ เริ่มต้นที่ตัวเองก่อน คือบ่มเพาะเมตตาธรรมในจิตใจให้เจริญตั้งมั่น อย่าเผลอปล่อยให้ความโกรธเกลียดหรือความสะใจเข้ามาครอบงำจิตใจของเรา จากนั้นก็ขยายไปสู่คนรอบตัวเรา ช่วยกันทำให้บ้านหรือครอบครัวของเรามีบรรยากาศแห่งสันติ เวลาดูข่าว ก็พยายามแนะนำลูกหลานหรือญาติพี่น้องให้มองเหตุการณ์นี้ด้วยท่าทีที่ถูกต้อง คือไม่สะใจไปกับการฆ่าฟันกัน ไม่สนุกตื่นเต้นไปกับการวิเคราะห์ยุทธวิธีทางการทหาร

          จากนั้นก็พยายามขยายบรรยากาศแห่งสันติให้แผ่กว้างออกไป ช่วยกันทำให้สังคมของเรามีบรรยากาศแห่งเมตตาธรรมมากขึ้น อย่างที่กลุ่มศาสนิกชนชาวไทยเพื่อสันติร่วมกันชุมนุมอย่างสงบ และภาวนาเพื่อสันติหน้าสถานทูตสหรัฐตลอดคืน โดยแผ่เมตตาให้ทุกฝ่าย

          และที่สำคัญที่น่าจะทำกันก็คือ พยายามเรียกร้องผลักดันให้สื่อมวลชนช่วยสร้างบรรยากาศแห่งสันติมากขึ้น เช่น ลงข่าวเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพให้มากขึ้น รวมทั้งให้เนื้อที่แก่ข่าวเกี่ยวกับความทุกข์ทรมานของคนที่ประสบภัยสงคราม ให้ผู้คนรู้ว่าสงครามไม่ใช่เรื่องสนุกหรือเป็นเกมประลองกลยุทธและอาวุธทันสมัย แต่เป็นเรื่องโศกนาฏกรรม ซึ่งสื่อส่วนใหญ่มองข้ามความจริงส่วนนี้ไป

          เราอาจทำให้สงครามยุติไม่ได้ด้วยตัวเราเอง แต่ว่าเราสามารถสร้างบรรยากาศแห่งสันติให้มาทดแทนบรรยากาศแห่งความเกลียดแค้นชิงชังได้ ดังนั้นเราจึงไม่ควรนิ่งเฉยหรืองอมืองอเท้า แต่ควรที่จะทำทุกอย่างที่จะทำได้อย่างที่พูดมา อย่าอยู่นิ่งเฉย อะไรที่ทำได้ควรจะทำกัน คนเดียวก็ได้ กับคนอื่นก็ได้ อย่างน้อยมันก็มีผลต่อตัวเราเอง คือช่วยหล่อเลี้ยงมโนธรรมสำนึกของเราให้คงอยู่

          คนเราถ้าปล่อยให้มโนธรรมสำนึกอยู่เฉย ๆ ไม่กระตุ้นให้ออกมาทำอะไร มันก็เหี่ยวเฉาได้ง่ายในทำนองเดียวกัน เมตตาธรรมในใจของเรา ถ้าปล่อยให้เงียบงัน ใครจะตาย ก็ไม่รู้สึกทุกข์ร้อน เมตตาธรรมของเราจะฝ่อ กลายเป็นคนด้านชา ไร้ความเป็นมนุษย์ไปมากขึ้นทุกที

          เพราะฉะนั้นการที่เราลงมือทำอะไรบางอย่างด้วยเมตตาธรรม ด้วยมโนธรรมสำนึก มันจะช่วยให้เราเข้มแข็งในทางจริยธรรม และรักษาความเป็นมนุษย์ไว้ได้ท่ามกลางกระแสสงคราม ที่กำลังบั่นทอนความเป็นมนุษย์ของเรามากขึ้นทุกที

เสขิยธรรม : นักบวช หรือพระภิกษุสงฆ์ในพุทธศาสนา ควรจะมีบทบาทแค่ไหน, อย่างไร

พระไพศาล : ต้องไม่ส่งเสริมสงคราม สนับสนุนให้คนตระหนักถึงภัยสงคราม เตือนให้ผู้คนมีเมตตาต่อทุกฝ่าย ไม่เลือกข้าง การแผ่เมตตาจะต้องครอบคลุมทุกฝ่าย ไม่ใช่แผ่เมตตาเฉพาะฝ่ายที่ถูกใจเรา เหมือนอย่างบางคนแผ่เมตตาให้เฉพาะพี่น้อง แต่กับศัตรู ก็นึกแช่ง หรือแช่งให้พวกค้ายาบ้าตายไปเร็ว ๆ อย่างนี้ไม่ใช่เมตตาแบบพุทธ เราต้องแผ่เมตตาให้กับฝ่ายอเมริกันและฝ่ายอิรัก แผ่เมตตาให้ทั้งฝ่ายบุชและซัดดัม แต่ว่าแผ่เมตตาอย่างเดียวไม่พอ ต้องลงมือทำด้วย อย่างที่พูดมาเมื่อกี้ ควรช่วยกันสร้างบรรยากาศแห่งสันติ มาแทนที่บรรยากาศแห่งความเกลียดชัง

.


ภาพ REUTERS / Goran Tomasevic

เสขิยธรรม : เหตุการณ์คราวนี้ จะเป็นโอกาสให้เกิด ความร่วมมือกันระหว่างศาสนิก หรือระหว่างศาสนาได้หรือไม่

พระไพศาล : ก็เป็นไปได้ แต่ศาสนิกส่วนใหญ่ยังอ่อนแอไม่เข้มแข็งเท่าใดนัก ข้อดีก็คือสงครามนี้ วงการศาสนาหลักทุกศาสนาไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะฝ่ายคริสต์ โป๊ปเป็นคนออกโรงเลย เพราะฉะนั้นจึงน่าเป็นโอกาสที่ศาสนิกทุกศาสนา จะร่วมมือกันให้เข้มแข็งมากขึ้นได้ .. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :