เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๖
จากหนังสือพิมพ์ โพสต์ TODAY, ฉบับวันศุกร์ที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๔๖
หลังพระยถาฯ ให้พรเสร็จ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ นักคิดนักเขียนผู้ไม่เคยท้อถอยต่อการขับเคลื่อนชุมชนทางปัญญา ก็ได้เปิดวงเสวนาอย่างเป็นกันเองกับสื่อมวลชนเล็ก ๆ ที่พื้นไม้กระดานกลางโถงบ้าน ซอยสันติภาพ เขตบางรัก ในช่วงเที่ยงวันที่ ๒๗ มีนาคมที่ผ่านมา วันที่วงรอบอายุของเขาดำเนินมาครบปีที่ ๗๐
เป็น ๗๐ ปีที่ยังกระหายใคร่รู้และเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังเพราะเชื่อในการศึกษาทางเลือก การศึกษาที่จะทำให้คนได้มีความกล้าหาญ ได้ค้นพบตัวของตัวเองว่าคนทุกคนมีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองและสังคมให้เกิดความผาสุกได้ ด้วยเห็นทางแห่งสันติและปัญญา ในวันที่อายุครบ ๗๐ ปี ส.ศิวรักษ์ เปิดหลักสูตรอุดมศึกษา ในเสมสิกขาลัย เพื่อให้เป็นแปลงเพาะกล้าคนรุ่นใหม่ ที่อาจหาญขึ้นยืนหยัดด้วยตัวของตัวเอง ไม่เอาชีวิตและจิตวิญญาณทั้งหมดไปฝากไว้กับกระแสหลักของสังคม
ในปี ๒๕๓๘ ส.ศิวรักษ์ และกลุ่มปัญญาชนซึ่งมีชื่อเสียงของสังคมไทยหลายท่าน ได้จัดตั้งเสมสิกขาลัยขึ้นเพื่อเป็นแหล่งที่จะให้การศึกษาองค์รวมที่ให้ผู้เรียนฝึกฝนตนเองในทุกด้านของชีวิต
คำว่า เสม มาจากตัวย่อ ๓ ตัวคือ S E M ซึ่งหมายถึง Spirit Education Movment และ เสม นี้ก็เป็นคำที่มีความหมาย ซึ่งเป็นเกียรติแก่ น.พ.เสม พริ้งพวงแก้ว ปูชนียบุคคลของวงการสาธารณสุข ซึ่งเป็นตัวแทนของคนที่มีตำนานของการต่อสู้เพื่อความดีงามและความถูกต้อง ซึ่งยังมีลมหายใจอยู่ในสังคมไทยด้วย ที่ผ่านมาเสมสิกขาลัยได้จัดการอบรมระยะสั้นมาเป็นรุ่น ๆ แต่นับจากวานนี้จนถึงเดือนพฤษภาคม เสมสิกขาลัยจะเปิดรับพระภิกษุสงฆ์และฆราวาสชายจำนวน ๓๕ คน เข้าเรียนในหลักสูตรอุดมศึกษา เป็นอุดมศึกษาที่ไม่จำกัดคุณวุฒิเดิม อายุ ใช้เวลาเรียน ๔ ปี มี ๒ สาขาคือ ศิลปศาสตร์แนวพุทธ และ เกษตรกรรมยั่งยืน จบแล้วไม่มีปริญญาให้ แต่ถ้าอยากได้ ส.ศิวรักษ์ ก็จะเซ็นให้เอง
ทั้งสองสาขาจะมีวิชาพื้นฐานที่ต้องเรียนใน ๒ ปีแรก ๖ กลุ่มวิชาคือ
๑. ความเข้าใจชีวิตอย่างเป็นองค์รวมตามแนวพุทธ
๒. ความเข้าใจเรื่องสัมพันธภาพระหว่างบุคคล
๓. ความเข้าใจสังคม
๔. ความเข้าใจเรื่องธรรมชาติแวดล้อมหรือนิเวศวิทยาแนวลึก
๕. ความเข้าใจเรื่องความงามและสุนทรียภาพ
๖. ความเข้าใจเรื่องการแสวงหาความรู้
ปี ๓ และปี ๔ จะเป็นการเลือกเรียนตามสาขาวิชาชีพที่สนใจ
การเรียนการสอนจะแบ่งเป็น ๓ เทอมต่อปี ๒ ภาคเรียน เรียนครั้งละเดือนครึ่ง อีกเทอมหนึ่งเป็นการภาวนาหนึ่งเดือน
ผู้สอนและวิทยากรพิเศษมีหลายคน นอกจาก ส.ศิวรักษ์เองแล้ว พระไพศาล วิสาโล ฯลฯ รวมทั้ง จอห์น แมคคอนแนล ผู้เขียนหนังสือเรื่อง ศาสตร์และศิลป์แห่งการระงับความขัดแย้ง ฯลฯ
เนื้อหาหลักสูตรเหล่านี้ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้เข้าใจความหมายของชีวิต โครงสร้างความสัมพันธ์อันซับซ้อน และความหลากหลายลึกซึ้งของธรรมชาติอย่างสัมพันธ์เชื่อมโยงกับตนเอง เข้าใจปรากฏการณ์หรือปัญหาของชีวิตและสังคมได้อย่างเชื่อมโยงรอบด้านและสามารถแก้ไขปัญหาได้ เช่น วิชาความเข้าใจเรื่องโครงสร้างสังคมก็จะเรียนสอนเรื่องทฤษฎีการวิเคราะห์โครงสร้างตามสกุลความคิดต่าง ๆ การศึกษาโครงสร้างสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เรื่องระบบโลก ผลกระทบทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของประเทศยากจน รวมไปกระทั่งเรื่องความสัมพันธ์ในมิติต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น เรื่องชุมชน ศาสนา อารยธรรมรัฐ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ ขณะเดียวกันวิชาเรื่องความสัมพันธภาพระหว่างบุคคล ก็จะมีการศึกษาเรื่องธรรมชาติแห่งความขัดแย้ง วิธีคลี่คลายความขัดแย้ง ฝึกเจริญสติเพื่อเข้าถึงความดีความงาม ในวิชาเรื่องแสวงหาความรู้ ก็จะเรียนสอนเรื่องทักษะการจับประเด็น การฟัง การพูด การตั้งคำถาม การเขียน การวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ ฯลฯ
เป็นหลักสูตรที่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงระดับปัจเจกบุคคล เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีความเข้มแข็ง ทั้งทางสติปัญญา ทักษะ และมโนธรรม แต่ขณะเดียวกันก็สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนที่มาเรียน คือวิถีชีวิตแบบรากหญ้า
ระบบการศึกษาของเรารวมทั้งทั่วโลกล้มเหลว สิ่งที่เราเรียนเราสอนกันไม่ได้สอนให้รู้จักตนเอง ซ้ำยังตัดขาดตัวเองออกจากความทุกข์ยากของสังคมส่วนรวม แต่ทั้งหมดที่เราจะเรียนจะสอนกันนั้น คนสอนก็เรียนรู้จากคนเรียน คนเรียนก็เรียนรู้จากคนสอน คำว่า อุดมศึกษาของเรานี้หมายถึง การเรียนรู้แบบมรรคไปสู่ผล มรรคและผลซึ่งจะทำให้เกิดปัญญาสามารถแก้ไขปัญหาด้วยตัวของตัวเอง ไม่ต้องไปเป็นลูกจ้างเขา ไม่ใช่ว่าจบไปแล้วไปทำอะไรก็ไม่ได้ อย่างที่เกิดขึ้นในบ้านเราหรือตะวันตกเวลานี้ ส.ศิวรักษ์ระบุ
ทันทีที่ถูกถามว่า หลักสูตรนี้อาจจะทำให้คนเรียนได้ค้นพบตัวของตัวเอง หรือมีความกล้าหาญที่จะขัดขืนต่อกระแสบริโภคนิยมอันเชี่ยวกรากอยู่ในขณะนี้ได้ แต่จะทำอย่างไรให้คนที่จะตัดสินใจเลือกเดินหนทางสายนี้เชื่อมั่นได้ว่า พวกเขาจะอยู่รอดได้ในความเป็นจริง ส.ศิวรักษ์ ตอบทันทีว่า สิ่งเหล่านั้นต้องเกิดจากคนเหล่านั้นเอง เขาให้ไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็ให้ใครเช่นนั้นไม่ได้ แต่ท่านสอนให้เราสามารถทำสิ่งเหล่านั้นได้ด้วยตัวของเราเอง
คนส่วนใหญ่เขาไม่มาหาเรา คนที่จะมาหาเราก็คือ คนที่มองเห็นโทษของกระแสหลัก ถ้าเขาอิ่มตัวเขาจะมาเอง
ส.ศิวรักษ์นำเงินทุนที่ได้จากรางวัลอัลเทอร์เนทีฟ โนเบล มาดำเนินโครงการนี้ สำหรับคนที่ไม่มีทุน จะได้รับทุนตลอด ๔ ปี แต่สำหรับคนที่พอมีก็จะขอแรงให้ช่วยสนับสนุนส่วนหนึ่ง และถ้าใครต้องการจะสนับสนุนให้มีผู้คนได้เรียนรู้และเติบโตด้วยหนทางสายนี้จะบริจาคสร้างบุญ เพื่อทำบุญในรูปแบบใหม่ ทางเสมสิกขาลัยก็ยินดี
ปรีดา เรืองวิชาธร ผู้ประสานงานกลุ่มเสมสิกขาลัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า รุ่นแรกนี้จะเปิดรับ ๓๕ คน เหตุผลที่รับแต่ภิกษุและฆราวาสที่เป็นชาย เพราะบางช่วงจะต้องมีการศึกษาและเรียนรู้แบบอยู่ร่วมกัน ต่อไปในเดือนธันวาคมจะเปิดอีกรุ่นซึ่งรับเฉพาะแม่ชีกับสตรีทั่วไป ถ้ามีคนสมัครมากกว่าที่จะรับได้ก็จะมีกระบวนการคัดเลือกโดยสัมภาษณ์
คำถามสุดท้ายก่อนที่วงสนทนาจะยุติลงคือ หลังจากต่อสู้มาอย่างยาวนานในวัย ๗๐ ปีนี้ ส.ศิวรักษ์ยังมีความหวังต่อสังคมไทยอยู่หรือไม่ ? เขายิ้มรับก่อนจะบอกว่า ผมมีความหวังอยู่มากทีเดียวครับ
ประการแรกสังคมของเรามีความเข้มแข็งขึ้น และมีองค์กรเอกชนที่ไม่หวังผลประโยชน์ ทำงานกันอย่างเข้มแข็งที่สุดในเอเชียอาคเนย์ ไม่แพ้ญี่ปุ่นเลยทีเดียว
๒. คนยากไร้ทั้งหลายตื่นตัวขึ้น และเขาสามารถลุกขึ้นสู้อย่างสันติ
๓. ชนที่อยู่ชั้นกลางเห็นอกเห็นใจชนที่อยู่ชั้นล่างมากขึ้น
สิ่งที่ผมหนักใจคือ เรามีรัฐบาลที่ไม่เข้าใจประเด็นเหล่านี้ เสียทีที่คุณหมอเสม หมอประเวศ (วะสี) ผมและใครต่อใครอุ้มเขามาตอนแรก แต่ก็อย่างพุทธพจน์ที่ว่า คนกตัญญูในโลกนี้หาได้ยาก รัฐบาลนี้ได้ทำลายกระบวนการประชาชนในระดับรากหญ้า ซึ่งก็ต้องสู้กันต่อไป เขาใช้ความรุนแรง เราก็ใช้สันติ เขากะล่อน เราใช้สัจจะ
แม้ตัวเลขจะเคลื่อนมาถึง ๗๐ แต่สำหรับ ส.ศิวรักษ์แล้ว การต่อสู้ก็ยังดำเนินต่อไป ..
|