เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรมฉบับที่ ๕๕
ชีวิตกับความตาย

สุภาพร พงศ์พฤกษ์

ถึงคราระดมความเพียร เจริญมรณสติ

          ทุกวันนี้ฉันก็ว่าสุขภาพตัวเองอยู่ดีเป็นปกตินี้แหละ แม้จะเกิดภาวะคุณมะเร็ง รุกไล่เอา แต่หมู่นี้เป็นไงไม่รู้ เพื่อนฝูงชักจะแวะเวียนมาเยือนมากหน้าหลายตา กลายเป็นความคึกคักหนักแน่นด้วยแรงใจที่มีให้กัน ในท่ามกลางบรรยากาศของการลุ้นสุขภาพ

          ที่ไม่เคยเจอะเจอกันเจ็ดแปดปี อยู่กันคนละทิศคนละทางก็ให้มีอันจับพลัดจับผลูมาโผล่ที่บ้านมาเจอกันได้
การเจอะเจอกันบ้าง หรือการกระชับความสัมพันธ์หมั่นถามไถ่กัน จึงเป็นเรื่องที่มีความหมายยิ่งนักในสายสัมพันธ์กัลยาณมิตร อันเป็นชุมชนของเราแต่ละคน

          พี่ติ่ง (อ.เครือมาศ วุฒิการณ์ ผู้เป็นแม่งานจัดธรรมคีตาครั้งที่หนึ่งของประเทศไทย ที่เชียงใหม่เมื่อสองปีที่แล้ว) พี่ที่รักที่ต้องจากไปอย่างไม่คาดหมาย ไม่น่าเชื่อ แต่ก็เป็นความจริง

          พี่ติ่งเธอผู้เป็นความดี ความงาม ความผ่องใส มีชีวิตชีวาและเป็นผู้เอื้อต่อการเติบโตงอกงามของกิจกรรมสร้างสรรค์ให้กับผู้คนรอบข้าง เธอเป็นรองผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่

          เธอโทรมาหาฉันข้ามจังหวัดจากเชียงใหม่ เมื่อทราบข่าวปากต่อปากว่าฉันเข้าโรงพยาบาล ซึ่งก็น่าตกใจอยู่เหมือนกันเพราะเป็นที่รู้กัน ในหมู่เพื่อนว่าฉันเป็นพวกกลัวโรงพยาบาล ไม่ต่างจากพวกกลัวความสูง กลัวที่แคบอะไรอย่างนั้น

          ค่ะฉันไปอยู่โรงพยาบาลเพื่อขอคำแนะนำในเรื่องการเพิ่มภูมิต้านทาน ด้วยการอดอาหารภาวนาและฝังเข็ม

left corner top right corner
left

"

          ...ธรรมดาการป่วยไข้ก็ต้องมีด้วยกันทุกคน ที่นี้ไอ้การป่วยชนิดที่ยังทำงานได้ ก็ไม่เรียกว่าเป็นการป่วย เรียกว่าเป็นเวลาที่ปกติของมนุษย์ทั้งหมดนี้ ทั้งโลกนี้ แต่ที่แท้จริงแล้วการที่ยังปกติไม่เจ็บไม่ไข้ ก็เป็นการป่วยอยู่ในตัวเหมือนกัน แต่ว่าคนตามธรรมดาเราไม่รู้เรื่อง ว่าเป็นการเสื่อมของรูปธรรมนามธรรมทุกขณะทีเดียว งั้นไอ้การเพลิดเพลินไปตามอารมณ์ ที่ยังมีเรี่ยวมีแรงทำอะไรได้นั้น มันเป็นความประมาทมาก สู้คนที่นอนป่วยไม่ได้

          คนที่นอนป่วยนี้ดีนัก เพราะจะได้มีการพิจารณาทุกข์อย่างเดียว จิตมันไม่เอาอะไรเลย มันไม่ไปไหนเลย มันได้พิจารณาทุกข์อยู่เป็นประจำ แล้วก็ได้ปล่อยทุกข์อยู่เป็นประจำเหมือนกัน มันผิดกัน ตรงกันข้ามกัน ไอ้จิตว่างขณะทำอะไรวุ่น ๆ วาย ๆ น่ะมันว่างเล่น ๆ ไม่ได้ว่างจริงหรอก

          แต่ในขณะที่เราได้พิจารณาถึงความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวตนอยู่กับเนื้อกับตัว เวลานี้กำลังนอนพิจารณาอยู่ นี้เป็นประโยชน์มากที่สุด อย่าไปมองว่าตัวเองเจ็บ แล้วก็มองให้เห็นรูปนามนี้เสื่อมไป สิ้นไป เสื่อมไปสิ้นไปอย่างนี้แหละ มันไม่ใช่ตัวเรา ของของเราจริงจัง

          มันบังคับไม่ได้ ดูซิเราบังคับมันได้ที่ไหน แล้วทุกคนในโลกทั้งคนทั้งสัตว์ เหมือนกันหมด ไม่ใช่ว่าเราเป็นอยู่คนเดียว ฉะนั้นไอ้การเป็นโรคอะไรทางกายมันไม่สำคัญหรอก มันสำคัญที่โลกทางจิตใจ...

"

คุณแม่ ก. เขาสวนหลวง ราชบุรี
“ธรรมโอสถสำหรับผู้ป่วย” (ม้วนที่๑)
วันที่ ๓ กันยายน ๒๕๐๘

right
left corner bottom right corner

          เธอเขียนจดหมายถึงฉัน ที่ฉันเองก็ไม่คาดว่าจะเป็นจดหมายฉบับท้ายสุดของเธอ

“พรเจ้า
พี่ส่งหญ้าแห้วหมูบดละเอียดมาให้ทานค่ะ เป็นยาช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน ที่ทางเหนือใช้กัน ......

รัก
พี่ติ่ง”

          ห่ออย่างดีใส่กล่องมาให้ต่างใจ ลายมือประจงประณีต ไม่ว่าจะมีเวลามากหรือน้อย

          พี่ติ่งผู้อยู่ไกลถึงเชียงใหม่ จากไป โดยที่เราทั้งสองฝ่ายไม่คาด ไม่ว่าจะเร็วหรือช้า เราก็จะไม่ได้เจอกันอีกแล้ว เธอเพิ่งรู้ว่าตัวเองมีโรคาพยาธิคู่กายคือไทรอยด์ และเธอก็จากไป อันเนื่องมาจากไทรอยด์เป็นเหตุปัจจัย

          เราจะไม่ได้ยิ้มแย้ม กับการอ่านเนื้อถ้อยกระทงความทางจดหมาย ที่ถามไถ่ถึงกันปีละหลาย ๆ ฉบับ ในยุคของอีเมล

          อดที่จะใจหาย เมื่อสุรภี เพื่อนสนิทส่งเสียงมาตามสายแจ้งข่าว “เธอยังเจริญมรณสติดีอยู่ใช่ไหม ทำใจดี ๆ นะ ฉันรู้ว่าพี่ติ่งมีความหมายกับเธอมาก“ รู้สึกวาบโหวงวังเวงอย่างยากที่จะเชื่อ

          เทวฑูตแห่งอนิจจังของชีวิต สำแดงตนอีกครั้งในปรากฏการณ์สามัญ ที่ใกล้ตัวรุกล้อม หรือจ่อหน้ามาประชิดอีกฉากหนึ่งแล้ว

          เมื่อฉันมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ได้พยายามที่จะถามไถ่ข้อมูลว่า จะทำอย่างไรดีกับคุณก้อนมะเร็งตรงหน้าอก ที่ทำท่าว่าจะเติบใหญ่อย่างหยุดไม่ได้ และวันหนึ่งคุณท่านก็ออกมาทักทายโลกภายนอก (เต้านมของฉัน) และไม่มีทีท่าว่าจะหยุดเติบโตในวิถีของเขา

          กัลยาณมิตรรุ่นพี่ ที่เคยศึกษาค้นคว้าเรื่องสมุนไพรมาก่อน ก็คุยมาทางโทรศัพท์ “มันไปไกลความรู้ของพี่เสียแล้ว……”

          แต่อย่างไรก็ตามกัลยาณมิตรผู้คุ้นเคยก็ส่งโอสถมาให้ทางไปรษณีย์ ไม่ใช่ตัวยา ไม่ใช่สูตรยาที่จะใช้กับก้อนเนื้อโดยตรง แต่ใช้กับชีวิตทั้งชีวิตทีเดียว คือบทมรณสติ

          จำได้ว่าเมื่อฉันมีมะเร็งกลับมาเยือนอีกครั้งหนึ่ง (สี่ปีที่แล้ว) พี่ก็เขียนมาบอกว่าเป็น “โอกาสสำคัญที่พี่จะคุยกับพรเรื่องความตาย...”

          แต่ครั้งกระนั้นฉันคงยังไม่คิดว่าตัวเองจะตายอย่างทันทีทันใดกระมัง เรื่องสำคัญเรื่องนี้จึงแว่วจางหายไป

          ฉันก็ยังทำตัวเหมือนคนส่วนใหญ่ ส่วนมากในหมู่ชน ที่ประมาท ไม่คิดว่าตัวเองจะต้องตายเร็ว แม้ฉันจะเป็นมะเร็งก็ตาม ความคิดด้านบวกแบบตะวันตกดูจะเข้ามาครอบคลุมที่ทางที่เป็นทัศนคติต่อชีวิตเสียหมด

          “ก็ยังปกติดีนี้คะ ยังรู้สึกว่าตัวเองสบายดี แข็งแรงมีสุขภาพมากกว่าคนรอบข้างด้วยซ้ำ”

          “พรยังประมาทอยู่”

          ฉันไม่คาดหรอกว่า กัลยาณมิตรจะโต้กลับมาอย่างนั้น ท่านผกโผนลีลาฉับพลัน ผันไปใช้ภาษาธรรมทันที เป็นการให้อนุสติต่อฉัน ทุกคนรวมทั้งตัวฉันคิดว่าตัวเองต้องตาย แต่มักไม่คิดว่าตัวเองอาจจะตายในชั่วลมหายใจขณะต่อไปนี้แหละ เราจึงไม่เห็นกระบวนทุกข์ ที่สำแดงทางร่างกาย กายที่ต้องเสื่อมสลายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่เห็นทุกข์จริง ๆ

          เราจึงคิดว่า ยิ่งในยุควิทยาการทางด้านการแพทย์เจริญก้าวหน้าอย่างนี้ ยุคที่ผู้คนไม่ยอมรับความแก่ชรา และยืดเตะถ่วงความตาย ดังว่าเราจะไม่ตายกันอีกแล้ว ยังพยายามต่อสู้กับพญามัจจุราช ผู้มีเสนามาก เรายังมีจิตที่พึ่งพิงสิ่งภายนอกที่ดลบันดาลโดยวิทยาการแห่งยุคสมัย

          หนนี้การส่งสัญญาณของคุณมะเร็งเธอ จึงถึงคราที่ฉันจะต้องระดมความเพียรจริงๆ เพื่อเจริญมรณสติ มีด้วยกันสิบข้อค่ะ

บทมรณสติสำหรับเราทุกคน

หนึ่ง ความตายเป็นสิ่งแน่นอน

สอง ความตายนั้นไม่แน่นอนว่าจะมาเมื่อไหร่

สาม ความตายเวลาจะมา ไม่เคยส่งสัญญาณเตือนมาก่อน

สี่ เวลาที่เราคิดว่าความตายจะมาได้ มันก็มาแล้ว

ห้า มีปัจจัยมากมายเหลือเกิน ที่ทำให้ร่างกายแตกสลายได้

หก แม้ปัจจัยที่ทำให้ร่างกายนี้ดำรงอยู่ก็ทำให้ร่างกายนี้แตกสลายได้

เจ็ด ร่างกายนี้อ่อนแอพร้อมเสมอที่จะแตกสลาย

แปด ทุกขณะที่ผ่านไปความตายก็ถอยร่นเข้ามา

เก้า ชีวิตนี้สั้นนักเหมือนน้ำน้อยในบ่อโคลน

สิบ มีแต่กุศลและอกุศลธรรมเท่านั้น ที่ตามติดตัวไปเมื่อร่างกายนี้แตกสลายแล้ว

          น้อยนักยากนักที่เราจะได้มีโอกาสคุยกัน หรือให้สติกันในเรื่องความตาย ฉันโชคดีที่ดูเสมือนว่าเพื่อน ๆ เกือบทุกคนเข้าใจและปฏิบัติธรรม พร้อมที่จะชักชวนกันนั่งสมาธิ หรือเดินอย่างมีสติ

          ความตายของพี่ติ่งและความเป็นไปของมิ่งมิตรรอบข้างก็พอที่แสดงให้เราเห็นอยู่เนือง ๆ ถึงความไม่แน่นอนของสรรพสิ่ง

          พี่หน่อย (สุพาพร ธารินเจริญ) ผู้เปล่งเสียงดังระฆังเงิน คอยให้กำลังใจฉันอยู่เสมอ ในฐานะที่เราเคยทำงานกับผู้อพยพในค่ายผู้ลี้ภัย ที่เดียวกันมาก่อน พี่ผู้กระตุกใจให้ได้มาเข้าการอบรมอานาปานสติของคุณแม่รัญจวน ที่เสถียรธรรมเมื่อหลายปีที่แล้วจู่ ๆ พี่หน่อยก็รู้ว่าตัวเองก็เป็นมะเร็งด้วยเช่นกัน และออกเดินทางไกลล่วงหน้าฉันไป

          ดังนั้นคำถามของท่านแม่ชีศันสนีย์จึงแยบคายละเอียดอ่อนยิ่งนัก “เอ๊า ใครบ้างที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งหรือเปล่า ให้ยกมือขึ้น”

          แล้วก็พี่ติ่ง ผู้ไม่มีวี่แววว่าจะจากไปก่อนหน้าฉันเลย “ความตายเป็นสิ่งแน่นอน” “และเราก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ความตายจะมา”

          ฉันได้ท่องจำทั้งสิบข้อ โดยที่คิดว่าสงสัยจะไม่ค่อยจำ แต่กลับพบว่าเป็นเรื่องง่ายด้วยซ้ำ ไม่เชื่อก็ลองท่องดูซิคะ เป็นการปลูกสัญญาและใคร่ครวญอยู่เนือง ๆ ใช้พิจารณาเหตุการณ์ที่เข้ามาในแต่ละวัน โดยใช้การพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของคุณก้อนเนื้อมะเร็ง บางครั้งก็มีกำลังจิต บางครั้งก็กระวนกระวาย แต่ทั้งหมดคือการทำให้ตัวเองเห็นอนิจจังอย่างดีที่สุดเท่าที่ฉันพอจะมีปัญญาทำได้

ทำ–ธรรมเยียวยา ในชีวิตประจำวัน
“การเจริญมรณสติ”

     ๑.สร้างกลุ่มกัลยาณมิตร บอกเล่าแบ่งปันทุกข์ กับกลุ่มกัลยาณมิตร อันเป็นชุมชนของเรา

     ทุกคนมีกัลยาณมิตรค่ะ คนแรกสุดคือ ตัวเราเอง และมอบความไว้วางใจ ความตั้งใจดีให้คนรอบข้าง กัลยาณมิตรก็จะเข้ามาหาเรา เกื้อกูลเรา และชี้แนะต่อเรา ในที่นี้พูดคุยกับเราได้ในเรื่องความทุกข์ ความตาย มรณกรรมฐาน

     ๒.ใช้ทุกข์ในปัจจุบันขณะ ที่มีอยู่จริงของเรา เป็นโจทย์ ไม่ว่าจะเป็น มะเร็ง เอดส์ สารพัดโรคา รวมทั้งอาการปวดหัวตัวร้อน.....ความเบื่อ เซ็ง

     ๓.มีเครื่องพิจารณา อาทิเช่น มรณสติ บทสวดมนต์พิจารณาสังขาร หรือหนังสือที่ช่วยให้เกิดอนุสติ ใคร่ครวญความตายในที่นี้ แนะนำให้อ่าน อาทิเช่น เยื่อใยแห่งการพลัดพราก มรณสติฉบับพิเศษ จัดพิมพ์โดยกองทุนวุฒิธรรม, เหนือห้วงมหรรณพ แปลโดย พระไพศาล วิสาโล สำนักพิมพ์โกมลคีมทอง หรือมองให้ลึกถึงเหตุการณ์รอบตัว ถึงความไม่แน่นอน

     ๔. ท่องไว้และใคร่ครวญอยู่เนือง ๆ โดยเฉพาะก่อนนอน หรือตื่นนอน สรรพคุณจะช่วยให้ไม่ประมาท และมีสติอยู่กับปัจจุบันดีขึ้น ทุกข์น้อยลงหน่อย

          และที่มีความหมายมากสุดคือ ใช้ในการพิจารณาใจของตัวเอง จิตที่หลอกล่อพะนออัตตาเพราะมักแอบมีความหวังอยู่เสมอว่า เราจะต้องไม่ตายพรุ่งนี้มะรืนนี้หรอก แล้วความที่ว่า “ความตายนั้นไม่แน่นอนว่าจะมาเมื่อไหร่” ก็จะมากำกับไว้ เผลอไม่ได้เชียวทั้งประมาท และไม่มีสติ แถมยังเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง (ใหญ่ ค่ะ เก่ง พิเศษ ทำบุญไว้เยอะ เคยผูกดวงไว้แล้ว สารพัดที่จะมาพะนออัตตา) ว่ายังไม่ตายวันตายพรุ่งอีกต่างหาก

          แม้นการจากไป และความเป็นไปของกัลยาณมิตร ผู้เป็นพี่ที่รักทั้งสองท่าน อย่างไม่คาดหมาย ก็ช่วยให้เป็นอนุสติที่เลื่อนลึกเข้าไปในใจว่า “มีแต่กุศลและอกุศลธรรมเท่านั้น ที่ตามติดตัวไปเมื่อร่างกายนี้แตกสลาย”

          ฉันก็เลยเข้าใจแล้วหล่ะว่าทำไม เหล่ากัลยาณมิตรถึงได้แสดงความยินดี แวดวงฉันนี้ออกจะไม่ค่อยไปกันด้วยดีกับชาวบ้านร้านถิ่นทั่ว ๆ ไป

          “หนอยแน่อาการคุณมะเร็งกำเริบ” กลับบอก “ยินดีด้วย จะได้ปฏิบัติธรรมขั้นสูง”

          การเปลี่ยนแปลงของสังขาร (ทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นก้อนเนื้อ อาการเจ็บ อาการกังวล อาการประมาท อาการหลีกหนีความจริง) กายนี้ของฉัน จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าเศร้าหมอง จะมีใครมีโอกาสได้ระดมความเพียร อย่างเป็นจริงได้เท่าผู้ที่ความตายมาจ่อหน้า อย่างเรา ๆ ที่มีมะเร็งหรือโรคาพยาธิใด ๆ ไหน ๆ ก็มีคุณมะเร็งมาเป็นเทวฑูตให้แล้ว จะได้เจริญมรณสติด้วยกันไงคะ

          ฉบับต่อไปจะเล่าให้ฟัง ถึงประสบการณ์การอดอาหารสามสิบห้าวัน และการภาวนา เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานของผู้เขียนค่ะ

สุภาพร พงศ์พฤกษ์
๑๗ สิงหาคม ๒๕๔๕

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :