เสขิยธรรมฉบับที่ ๕๕
สุวรรณา สถาอานันท์
ปรับปรุงจาก บทสัมภาษณ์ ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกใน วารสารผู้ไถ่
ปีที่ ๒๓ ฉบับที่ ๕๙ มกราคม เมษายน ๒๕๔๕
ยุคแห่งโลกไร้พรมแดนที่แผ่อิทธิพลไปทุกทิศทุกทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะสองทศวรรษที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ และเอื้อให้บริโภคนิยมเพิ่มพูนศักยภาพของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมอย่างไร โดยเฉพาะในแง่ความรุนแรง รศ.ดร. สุวรรณา สถาอานันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอข้อสังเกตดังบทสนทนาต่อไปนี้
บริโภคนิยมแบบสุดโต่งทำให้เกิดความรุนแรงอย่างไร
มนุษย์ต้องบริโภค ต้องใช้บริการเพื่อการกินอยู่ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าปัจจุบันเราไม่ได้ใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อการยังชีพอีกต่อไป แต่เราถูกทำให้กลายเป็นผู้บริโภค
ความหมายของเราถูกกำหนดโดยสิ่งที่เราใช้อำนาจการซื้อ เช่น นักศึกษาสมัยนี้บางคนไม่สามารถมีเพื่อนบางกลุ่มได้ ถ้าไม่ใช้หลุยส์ ไม่ใช้กุชชี่ พูดยากว่าเป็นเพราะเด็กไม่มีแล้วรู้สึกเอง หรือมันเป็นกฎที่คนกลุ่มหนึ่งตั้งขึ้น แต่มันแปลว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในฐานะที่เป็นเพื่อน ซึ่งเป็นกิจกรรมธรรมดาของมนุษย์ ถูกทำให้อยู่ในกรอบของบริโภคนิยม ถ้าคุณไม่มีสิ่งนี้ ไม่มีบัตรผ่าน ไม่สามารถสร้างเพื่อนฝูงกลุ่มนี้ได้ นี่คือความรุนแรง มันเศร้ามากที่สิ่งเหล่านี้ยังเกิดขึ้น
ประการต่อมาทำให้คนที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้ขาดความมั่นใจใจตัวเอง จริง ๆ มนุษย์เราทุกคนมีศักยภาพที่จะทำอะไรเกินกว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ แต่ถ้าเราถูกทำให้ไม่มีความมั่นใจเพียงเพราะเราไม่มีเงินซื้อสัญญะบางอย่างเพื่อแสดงว่าเราเก่ง เราใช้ได้ เรารวย มันบั่นทอนความมั่นใจ ตรงนี้คิดว่าเป็นความรุนแรงทางจิตวิทยา เป็นความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม
เคยมีอาจารย์ทางเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งชื่อ Heil broner เขียนหนังสือชื่อ Worldly Philosopher หรือ ปรัชญาทางโลก วิเคราะห์ว่า ในอดีตอันไกลโพ้นเช่นยุคจิ๋นซี ยุคอียิปต์โบราณ พลังขับเคลื่อนสังคมคืออำนาจเด็ดขาดของกษัตริย์หรือจักรพรรดิ เขาเรียกว่าเป็นอำนาจของแส้ คือใช้อำนาจเด็ดขาดและความกลัวของคนส่วนใหญ่มาสร้างสิ่งมหัศจรรย์ต่าง ๆ เช่น กำแพงเมืองจีน ปิระมิด ต่อมาใช้ความเชื่อทางศาสนา เช่น อินเดียใช้ระบบวรรณะ ทำให้คนอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ ลูกหลานเกิดมาในชนชั้นไหนก็จะดำเนินไปตามกรอบของระบบ ซึ่งเขาใช้คำว่าเป็น แส้ของขนบจารีต หรือ อำนาจของขนบจารีต ที่จับคนไว้ให้อยู่เป็นที่เป็นทาง
อีกประการหนึ่ง อาจารย์ Heil broner วิเคราะห์ว่าในปัจจุบันพลังที่ขับเคลื่อนสังคมคือ พลังแห่งความโลภ จากความกลัวอำนาจ จากความกลัวจารีต มาสู่เงิน ในแง่หนึ่งเป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ไปสู่การอยากได้สิ่งของหรือที่เราเรียกว่าวัตถุนิยม ทำให้คิดว่าหน้าที่ของความเป็นมนุษย์คือการเป็นผู้บริโภคที่ซับซ้อน หรูหรามากขึ้น ทำให้มนุษย์ส่วนหนึ่งคิดไปทิศทางเดียวกันและละทิ้งคนอื่นที่ลำบากกว่า ความรุนแรงที่มีอยู่เดิมก็จะเลวร้ายยิ่งขึ้นเพราะคนไม่สนใจปัญหาที่น่าจะสนใจ ไปยอมรับกฎเกณฑ์การนิยามตัวเองผ่านการบริโภค
บริโภคนิยมแบบสุดโต่งมีผลกระทบต่อสังคม ในระดับปัจเจก หรือสังคม อย่างไร
เกิดการแบ่งกลุ่มคนเป็นช่วงชั้นชัดเจนขึ้น ไม่อยากใช้คำว่าชนชั้น เพราะมันมีความลื่นไหลระหว่างกลุ่ม เช่น ถ้าคุณทำเงินได้คุณก็เข้าไปอยู่ในช่วงชั้นนั้นได้ ไม่ใช่ระบบวรรณะแบบอินเดียซึ่งเป็นชนชั้น ทำให้คนซึ่งอายุยังน้อยขาดความมั่นใจ ทำให้คนซึ่งเป็นชนชั้นกลางมองไม่เห็นอุดมคติอื่นใดในชีวิต นอกจากจะเป็นผู้บริโภคที่ซับซ้อนขึ้น
เวลาชนชั้นกลางจำนวนหนึ่งได้ใช้รถเบนซ์ ใช้กระเป๋าแพง ๆ โคมไฟหรู ๆ ได้กินอาหารดี ๆ เขาจะรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นตัววัดว่าชีวิตประสบความสำเร็จ และมีความหมาย ทำให้ศักยภาพอื่น ๆ ของเขาถูกลดทอนลง เช่น เขาอาจจะสามารถสนใจปัญหาคนจน สนใจพัฒนาศักยภาพทางศิลปะที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจ หรือปัญหาคนอื่น ซึ่งเขาสามารถช่วยได้ในบางลักษณะ สิ่งเหล่านี้จะหันเหความสนใจเขาไปสู่จุดเดียวซึ่งถูกควบคุมโดยกลไกธุรกิจ ทำให้สังคมทั้งสังคมมีเกณฑ์เกณฑ์เดียวในการวัดความเป็นมนุษย์
สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้คนไม่สามารถเข้าใจว่ามีความรู้ที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์อย่างอื่น ที่ไม่เกี่ยวกับการซื้อขาย อย่างที่สองคือมนุษย์ก็ถูกลดทอนศักยภาพไปในหลาย ๆ ด้าน มิติทางจิตวิญญาณ หรือศีลธรรมที่สามารถพัฒนาได้ก็เห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระที่จะพูดถึง
แล้วไปให้ความสำคัญแก่เงินที่จะหามาได้มากเท่าไรเท่านั้น มันทำให้ความเป็นคนของเราถูกบีบให้เหลือมิติเดียว เหลือเพียงมิติการหาและการใช้เงิน ซึ่งดิฉันชอบใช้คำว่า ก้อนเนื้อเพื่อการบริโภค ความเป็นมนุษย์คือการที่เราสามารถพัฒนาตัวเองให้ก้าวเกินกว่าความเป็นก้อนเนื้อ แต่บริโภคนิยมสุดโต่งทำให้มนุษย์หมุนกลับไปสู่สภาวะนั้น
อีกประเด็นคือเรื่องความสุขซื้อขายได้เพียงคุณดื่มเบียร์ชนิดหนึ่ง ความสุขจากความพอใจ ความอบอุ่นจากครอบครัวกลายเป็นความเชย ความเพ้อฝันที่ดูเหมือนทำให้เป็นจริงไม่ได้
ในแง่หนึ่งทำให้คนที่คิดอย่างอื่นเจอแรงผลักดันที่ทำให้ดูเหมือนเขาโง่ ไม่มีประโยชน์ ไม่เกี่ยวข้องกับโลกนี้
ผลกระทบที่เกิดขึ้นในแวดวงการศึกษา กำลังทำให้การศึกษากลายเป็น ธุรกิจการศึกษา ที่ใกล้ชิดกับการค้าความรู้มากขึ้น
ในทางการศึกษา ผลกระทบมีในทุกระดับ ทั้งการใช้งบประมาณรัฐบาลไปซื้อคอมพิวเตอร์แจกในที่ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ในระดับอุดมศึกษา หลายคนก็สร้างโครงการใหม่เพื่อเลี้ยงตัวเอง คือการหาเงินเข้าโครงการของตัวเองได้ จะคล้าย ๆ กับระบบสอนพิเศษในโรงเรียนมัธยม คืออาจารย์จำนวนหนึ่งก็จะใส่ใจ ให้เวลาไปกับการบริการวิชาการที่ไม่ใช่ระบบการสอนธรรมดา ซึ่งได้รายได้พิเศษเป็นกอบเป็นกำ
ในแง่หนึ่งก็ดีที่มหาวิทยาลัยมีบทบาทในการเผยแพร่ความรู้แก่คนข้างนอก แต่ในระยะหลังหลายคนมองว่าสิ่งเหล่านี้กำลังทำให้เวลา ความเอาใจใส่ของอาจารย์ซึ่งควรจะสอนในชั้นเรียนอย่างเข้มข้นนั้นเจือจางลง เพราะเอาเวลาไปให้กับโครงการพิเศษ
จริง ๆ แล้วสิ่งเหล่านี้ไม่น่าเสียหายในตัวของมันเอง แต่ในความเป็นจริงคนที่มาไม่ได้มาหาความรู้ แต่มาหาเครือข่าย คือเขาจะได้ไปเจอผู้จัดการธนาคารสาขาต่าง ๆ ได้ไปเจอผู้จัดการฝ่ายการตลาดในบริษัทอื่น ๆ เพื่อผลในการติดต่อทางธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกู้เงิน ในที่สุดเขาก็สามารถกู้เงินมาดำเนินกิจการส่วนตัวของเขาได้ ฉะนั้นในแง่หนึ่งเป็นการเสริมเครือข่ายทางธุรกิจการค้า มากกว่ามาหาความรู้
ปัจจุบันในหลาย ๆ กรณี คิดว่าการไปเรียนคือผลพลอยได้ แต่เครือข่ายเป็นจุดมุ่งหมายหลัก เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วลองโยงกับประเด็นแรกเรื่องบริโภคนิยม ในที่สุดมันก็จะไปเสริมเครือข่ายการค้า ไม่มีกิจกรรมที่เป็นเอกเทศแยกออกจากตรรกะของการตลาด
จุดเริ่มต้น และที่มาที่ไปสำหรับในเมืองไทย ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการที่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยได้ค่าจ้างต่ำมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ เท่าที่ทราบจะมีเงินเดือนสูงกว่าเรา ๒๓ เท่า
ส่วนที่สองคือ ตัวสังคมในแง่ชุมชนวิชาการอ่อนแอลง เราอยากจะได้เงินเร็ว และไม่อยากคิดอะไรที่ลึกซึ้ง ไม่มีการค้นคว้าวิจัยขั้นพื้นฐาน ตรงนี้มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่าการวิจัยในประเทศไทยเป็นการวิจัยที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับการผลิต เพราะสั่งซื้อเทคโนโลยีสำเร็จรูปจากต่างประเทศเพื่อมาประกอบในประเทศไทย เราใช้แรงงานราคาถูกกว่าหลายประเทศที่ พัฒนา แล้ว แต่เราไม่ได้ใช้ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเราเอง ทำให้บ่อยครั้งการวิจัยไม่ได้ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเราเองอย่างจริงจัง
เราไม่ได้ใช้ความรู้หรือข้อมูลจากการวิจัยมาเป็นฐานในการวางนโยบาย เช่น เรามีคนที่ไปเรียนเรื่องการวางผังเมือง พอเอาเข้าจริง ๆ ฝ่ายการเมืองก็ไม่เคยใช้ตรรกะของความรู้เหล่านี้เพื่อการพัฒนา แล้วเขาก็วางนโยบายเพื่อผลประโยชน์ของพรรคพวก
หลายคนเริ่มพูดว่าเรากำลังเดินไปสู่ยุคแห่งการหมุนกลับ เพราะคนเริ่มหันมาสนใจเรื่องจิตใจมากขึ้น แต่สำหรับอาจารย์สุวรรณามองว่า ไม่อยากพูดว่าไม่มีความหวัง แต่อย่าไปดูถูกพลังทุนนิยม
เดี๋ยวนี้การซื้อก็ซับซ้อนขึ้นมากกว่าจะเป็นทางเลือกจริง ๆ หลายครั้งศูนย์การค้าใหม่ ๆ ในหลายประเทศที่ผู้บริโภคมีรายได้สูง สินค้าที่ขายก็เริ่มซับซ้อนมากขึ้น เช่น ขายการนั่งสมาธิ ขายโยคะ ขายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณ พิธีกรรม หรือการทำตัวให้สบาย aroma therapy อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ คือการขายความรัญจวนของชีวิตที่ดูเหมือนว่ายังมีมิติจิตวิญญาณ
ถ้ามองจากภาพที่ปรากฏ แน่นอนมีคนที่หันหลังให้กับสิ่งเหล่านี้แล้วไปทำอย่างอื่น แต่อย่าไปดูถูกพลังของบริโภคนิยม การทำให้แม้แต่มิติทางจิตวิญญาณก็กลายเป็นสิ่งที่ขายได้ ความสำเร็จของธรรมกายที่ชนะรางวัลการประกวดการตลาด ที่ดิฉันเคยเขียนถึงเมื่อสิบปีก่อนว่าธรรมกายเป็น religious con-sumerism หรือบริโภคนิยมทางศาสนา มันก็ชัดเจนว่ามีการทำศาสนาให้เป็นทุนนิยมได้
ไม่อยากพูดว่าไม่มีความหวัง แต่อย่าไปดูถูกพลังทุนนิยม เพราะสิ่งเหล่านี้จะตามทันอยู่เสมอ ตราบใดที่ยังขายได้ เขาฉลาดในการปรับตัว เขารู้ว่าจะตอบสนองความพอใจของคนได้อย่างไร ตราบใดที่คนยังจัดการกับความต้องการของตัวเองไม่ได้ทุนนิยมก็ชนะวันยังค่ำ
คิดอย่างไรกับการโฆษณาที่พยายามบอกว่าการซื้อของจากห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ คือการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน
ตั้งแต่มีวิกฤตเศรษฐกิจก็มีการพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง บางคนไปมองว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นการปฏิเสธเศรษฐกิจกระแสหลัก การสร้างภาพของบริษัทใหญ่ ๆ ก็เป็นการพยายามทำให้เห็นว่าสองสิ่งนี้ไปด้วยกัน ก็เป็นวิธีที่ฉลาด ว่าเราไม่ได้ไปมองในแง่ที่ว่าชาวนาเดี๋ยวนี้เป็นลูกจ้างของบริษัทใหญ่ ๆ ไม่ได้เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือเจ้าของที่ดิน แต่ใช้แรงงานไปดูแล พืชผักที่ปลูก สัตว์ที่เลี้ยง ให้มีชีวิต เหมือนกับในโรงงานเป็นคนงานไปประกอบวัตถุดิบหลายชิ้นให้เป็นชิ้นเดียวกัน เขาก็ไม่เห็นภาพนั้น แต่จะให้ภาพว่าคนเล็กคนน้อยก็ยังเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ แล้วบริษัทใหญ่ ๆ ก็มาช่วย นี่เป็นความสามารถอย่างหนึ่งของทุนนิยมขนาดใหญ่ ดิฉันคิดว่ามันต่างกันเยอะระหว่างการที่ชาวบ้านเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่เขาผลิตได้ ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ ข้าว หรือสัตว์อะไรก็แล้วแต่ กับการที่คนเหล่านั้นได้กลายเป็นผู้รับจ้างผลิต มันไม่เหมือนกัน แต่คนไม่ค่อยได้พูดถึงประเด็นนี้เท่าไร เหมือนยอมรับกติกาไปโดยปริยาย
ศาสนาเป็นบรรษัทข้ามชาติแบบหนึ่ง อาจจะไม่ได้เป็นเพื่อประโยชน์ทางการค้า แต่เป็นไปเพื่อการเผยแพร่
จากที่เคยวิเคราะห์ไว้เมื่อเกือบสิบปีที่แล้วว่าพลังส่วนหนึ่งของศาสนาอยู่ภายใต้ตรรกะของเงิน ปัจจุบันสถานการณ์ก็ยิ่งเข้มข้นขึ้น ศาสนาจำนวนหนึ่งก็กลายเป็นนายทุนแล้ว และเป็นมาก่อนใครด้วย ศาสนาเป็นบรรษัทข้ามชาติแบบหนึ่ง อาจจะไม่ได้เป็นเพื่อประโยชน์ทางการค้า แต่เป็นไปเพื่อการเผยแพร่ เพื่อเพิ่มจำนวนคนที่เชื่อ ที่เคยพูดเรื่องเงินกับศาสนา ก็เพื่อพยายามเตือนว่า อย่างน้อยก็ยังหวังว่าจะมีพื้นที่ให้กับส่วนของศาสนาที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ตรรกะของทุนนิยม บริโภคนิยมอย่างเต็มรูปแบบ เชื่อว่ามีแต่ก็ยังเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่เราต้องให้แก่เสียงเขามากขึ้น
เดี๋ยวนี้แม้แต่คนที่ไม่มีเงินก็รับตรรกะของบริโภคนิยม เช่น เคยทราบว่ามีทุนสำหรับเด็กในถิ่นทุรกันดาร และส่งอาจารย์ไปดูในหมู่บ้านว่าจนจริงหรือไม่ ปรากฏว่าเมื่อไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่งทางอีสาน พบว่าในหนึ่งวันไม่ใช่ทุกคนในครอบครัวจะได้กินข้าวครบ ๓ มื้อ แต่เงินที่มีอยู่น้อยนิดนั้นก็เอาไปซื้อสบู่ แป้งเด็ก ทั้ง ๆ ที่มีเงินไม่พออาหาร ๓ มื้อ แก่สมาชิกในครอบครัว
ถ้าเป้าหมายของสถาบันศาสนาไม่ได้ปรับขบวน หรือไม่ได้มีบทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์ทุนนิยม พิธีกรรมก็เหมือนที่หลบภัยชั่วคราวให้เรารู้สึกปลอดภัยเท่านั้น พิธีกรรมควรเป็นมโนธรรม เป็นปัญญาให้แก่สังคม
ถ้าจะตั้งคำถามว่าพิธีกรรมจะเป็นสื่อกลางให้คนหันมาสนใจศาสนา และเห็นแก่นแท้ของศาสนาได้แค่ไหน ก็ต้องดูว่าพิธีกรรมนั้นใครทำ และพิธีกรรมอะไร ถ้าตราบใดที่สถาบันศาสนาเป็นอย่างนี้ พิธีกรรมก็ไม่ช่วยเท่าไร เพราะความหมายของพิธีกรรมอยู่ที่เป้าหมายของพิธีเหล่านั้นด้วย ถ้าเป้าหมายของสถาบันศาสนาไม่ได้ปรับขบวน หรือไม่ได้มีบทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์ทุนนิยม พิธีกรรมก็เหมือนที่หลบภัยชั่วคราวให้เรารู้สึกปลอดภัยเท่านั้น อยากจะยกตัวอย่างท่านอาจารย์พุทธทาสที่สามารถสร้างกระแสที่ทำให้คนเชื่อในทางปรัชญา ในทางความคิด รวมทั้งในทางพิธีกรรมที่เรียบง่าย
เมื่ออยู่ในพิธีกรรมแบบนั้น เราจะไม่ได้รับเพียงตัวพิธีกรรม แต่เราจะรับทั้งระบบคิดอย่างใหม่ ถ้าเป็นอย่างนั้นพิธีกรรมจะมีความหมาย ดิฉันเองเคยไปเข้าร่วมพิธีกรรมของสวนโมกข์ รู้สึกว่ามีความหมาย เพราะเวลาอยู่ในพิธีกรรมเรารับเอาความหมายของสถาบันนั้น ซึ่งมีจุดยืนบางอย่างที่เราคิดว่ามีเหตุมีผลในแง่การวางความสัมพันธ์ วางระยะห่างระหว่างสถาบันสงฆ์และอำนาจรัฐ เป็นมโนธรรม เป็นปัญญาให้แก่สังคม พิธีกรรมจะมีความหมายต่อเมื่อเกิดกลุ่ม องค์กร หรือการเคลื่อนไหวชนิดที่ตัวมันเองมีความเคลื่อนไหวที่ใหญ่พอ คนยอมรับ แล้วสร้างพิธีกรรมบางอย่างออกมา
|