เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรมฉบับที่ ๕๕
บทความหลัก

พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ แปลจากปาฐกถา ของ ส.ศิวรักษ์
ณ มหาวิทยาลัยสวาร์ธมัวร์ วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๕

ท่าทีของชาวพุทธ ต่อเหตุการณ์ ๑๑ กันยายน ๒๕๔๔

          ทั้งสภาพการณ์และอานุภาพ ของเหตุการณ์วินาศกรรม ๑๑ กันยายน สร้างความตระหนกตกใจอย่างยิ่ง ผู้กระทำได้รับการประณามอย่างสาสมจากผู้นำทั่วโลก และเราจำต้องหาทางออกในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม การตอบโต้การโจมตีต่อสหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตร โดยเฉพาะประเทศอังกฤษด้วยความรุนแรง ย่อมเสี่ยงจะทำให้เกิดวัฏจักรแห่งความรุนแรง ที่ดำเนินสืบเนื่องไป และเพิ่มความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ซึ่งอันที่จริงก็เป็นปฐมเหตุให้เกิดการโจมตีขึ้นแต่แรกแล้ว

          หนึ่งวันภายหลังเหตุการณ์ก่อการร้าย ๑๑ กันยายน ท่านทะไล ลามะได้มีพระราชสาส์นถึงประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช แสดงความตกพระทัย และเสียพระทัย ต่อหายนกรรมและความทุกข์ทรมานเนื่องจากการโจมตีนั้น และได้ร่วมสวดภาวนาในนามของชาวธิเบตให้กับผู้ถูกสังหาร ผู้ถูกทำร้าย และผู้ได้รับความเจ็บปวดทางใจ และในฐานะของประมุข ท่านได้ตรัสต่อประธานาธิบดีบุชดังต่อไปนี้

          “อาจจะเป็นเรื่องเกินเลยไปในส่วนของข้าพเจ้า แต่โดยส่วนตัว ข้าพเจ้าเชื่อว่าเราจำเป็นต้องพิจารณาอย่างจริงจังว่า ปฏิบัติการอันรุนแรงนั้นเป็นสิ่งสมควรกระทำแล้วหรือไม่ และโดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและมหาชนในระยะยาว ข้าพเจ้าเชื่อว่าความรุนแรงย่อมนำไปสู่วัฏจักรแห่งความรุนแรง แล้วถ้าเช่นนั้นเราจะจัดการกับความเกลียดและความโกรธ ซึ่งมักเป็นรากเหง้าของความรุนแรงอย่างไร้สติเช่นนั้นได้อย่างไร คำถามนี้สร้างความยุ่งยากอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวข้องกับปัญหาในระดับประเทศ และในเมื่อเรามีทิฏฐุปาทานที่ยึดมั่นถือมั่นอย่างใดอย่างหนึ่ง ในการจัดการกับเหตุการณ์รุนแรงครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าท่านจะตัดสินใจทำในสิ่งที่ถูกต้อง”

          โปรดสังเกตว่าคำว่าทิฏฐุปาทานที่ยึดมั่นถือมั่นนั้นใช้กันในทางพุทธ เพราะเราเชื่อว่าทิฏฐิของมนุษย์ได้รับการปรุงแต่งไม่ว่าจะด้วยความกลัว ความรัก ความเกลียดชัง และความหลง ด้วยการเจริญโยนิโสมนสิการนั่นเอง เราจักข้ามพ้นอุปาทานเหล่านั้นไปได้

          สองสัปดาห์หลังจากเหตุการณ์ก่อการร้าย ในวันที่ ๒๕ กันยายน ติชนัทฮันห์ได้ลงประกาศเต็มหน้าในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ว่าจะมีการจัดภาวนาและคีตกรรมในตอนเย็นในหัวข้อ “การน้อมรับความโกรธ” ณ โบสถ์แมนฮัตตันริเวอร์ไซด์ ในภาพโฆษณาประกอบด้วยบทกวีและแถลงการณ์เรื่องความรุนแรงโดยติชนัทฮันห์ บทกวีนี้มีชื่อว่า “สำหรับความอบอุ่น”

“ฉันกุมใบหน้าไว้ด้วยสองมือ
เปล่าเลย ฉันไม่ได้ร้องไห้
ฉันกุมใบหน้าไว้ด้วยสองมือ
เพื่อรักษาให้ความเปล่าเปลี่ยวของฉันอบอุ่น
ต่อไป
สองมืออันปกป้อง
สองมืออันหล่อเลี้ยง
สองมือที่ช่วยป้องกัน
จิตวิญญาณของฉัน ไม่ให้ปล่อยฉันไว้กับความโกรธอย่างเดียวดาย”

          บทกวีนี้บอกอะไรกับเรา

          ท่านนัทฮันห์อธิบายว่า “อาตมาเขียนบทกวีชิ้นนี้ในช่วงสงครามเวียดนาม หลังจากได้ยินข่าวการระเบิดที่เมืองเบนเตร เมืองที่มีประชากร ๓ แสนคนถูกทำลายไป เพราะผู้ก่อการร้ายได้ยิงอาวุธปืนต่อต้านอากาศยานหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จและได้หลบหนีไป ตอนนั้นอาตมารู้สึกปวดร้าวใจอย่างลึกซึ้ง”

.
  ทะไลลามะ (ขวา) และติชนัทฮันห์

          แถลงการณ์นี้ คล้ายคลึงกับสาส์นของท่านทะไลลามะ ที่มีต่อท่านประธานาธิบดีบุช โดยได้แสดงความเสียใจ ต่อผู้ที่ทุกข์ทรมานจากการก่อวินาศกรรม ทั้งยังชี้เป็นนัยว่าความรุนแรงเป็นความอยุติธรรมรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะเพิ่มความเข้มข้นขึ้นไปอีกเป็นพันเท่า หากมีการตอบโต้ด้วยความรุนแรง ทั้งยังเป็นสาส์นที่แสดงความปรารถนาดี และร่วมสวดภาวนาเพื่อให้เกิดความมีสติ ความกรุณา และเพื่อเยียวยาจิตใจ ท่านนัทฮันห์ประกาศว่า ท่านและเพื่อนสหธรรมิกจะเริ่มอดอาหารเป็นเวลา ๑๐ วันเพื่อให้กำลังใจกับผู้ที่ทุกข์ทรมานจากการก่อการร้าย และเช่นเดียวกับท่านทะไลลามะ ท่านนัทฮันห์แสดงความเชื่อมั่นต่อการตัดสินใจของท่านประธานาธิบดี ในตอนท้ายของแถลงการณ์ท่านได้กล่าวว่า “(อาตมามี)ความเชื่อมั่นว่า ประเทศอเมริกามีภูมิปัญญาและความกล้าหาญ มากพอที่จะมีท่าทีให้อภัยและแสดงความกรุณา”

          เช่นเดียวกับท่านทะไลลามะ ติชนัทฮันห์ได้แถลงเจตจำนงทางการเมืองและปฏิบัติการอย่างไม่มุ่งตอบโต้ ไม่มุ่งให้เกิดการแบ่งแยกและเป็นกลาง ในช่วงสงครามในประเทศเวียดนาม ท่านปฏิเสธที่จะประณามรัฐบาลของนายเดียม แม้ว่าท่านจะยอมรับต่อขบวนการที่ล้มรัฐบาลชุดนั้น ตามความเห็นของศาสตราจารย์แซลลี คิง แรงสนับสนุนของท่านมาจากกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลของนายเดียม ซึ่งประกอบด้วยผู้นำจากกลุ่มเอกภาพชาวพุทธ (Unified Buddhist Church) ซึ่งเป็น “ขบวนการที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ” อย่างปราศจากความฝักใฝ่ในลัทธิใดและกอปรด้วย “เจตจำนงอันบริสุทธิ์” โดยปราศจากความคิดที่จะ “กำจัดรัฐบาลของนายเดียมเพื่อจะขึ้นสู่อำนาจเอง” ทั้งนี้โดยไม่มีความปรารถนา หรือความทะเยอทะยานแต่อย่างใดทั้งสิ้น”

          หลักการเหล่านี้แสดงอย่างประจักษ์ชัดในงานเขียนที่รู้จักกันมากที่สุดของติชนัทฮันห์ อันได้แก่ บทกวีที่ชื่อว่า “โปรดเรียกฉันตามนามจริง” และศีล ๑๔ ข้อของนิกายเทียบหินหรือนิกายของความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน (Interbeing) ท่านได้รจนาบทกวีนี้ในปี ๒๕๑๙ หลังจากทราบข่าวการฆ่าตัวตายของเด็กสาวอายุ ๑๒ ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในมนุษย์เรือที่กำลังเดินทางข้ามอ่าวไทย เธอได้ถูกข่มขืนโดยโจรสลัดและกระโดดลงไปในทะเล ผู้ประพันธ์ซึ่งมีความคุ้นเคยกับภาวการณ์อันโหดร้ายในหมู่บ้านชนบทห่างไกลชายฝั่งอ่าวไทย ซึ่งเป็นที่ที่โจรสลัดผู้นั้นเติบโตขึ้นมา ได้เขียนอุปมาอุปไมยถึงเด็กสาวและโจรสลัดผู้นั้นอย่างลึกซึ้ง “อาตมารู้สึกโกรธเมื่อได้ทราบข่าวการตายของเธอ แต่อาตมาได้เรียนรู้หลังจากนั่งภาวนาเป็นเวลาหลายชั่วโมงว่า อาตมาไม่ควรจะแค่ประณามโจรสลัดผู้นั้น อาตมาตระหนักว่าหากอาตมาเองเกิดขึ้นมาในหมู่บ้านของเขา และได้รับการเลี้ยงดูภายใต้ภาวการณ์เดียวกัน อาตมาก็อาจจะมีพฤติกรรมเยี่ยงเดียวกับเขาเช่นกัน”

          ในการแสดงความเห็นของท่านต่อบทกวีชิ้นนี้อีกหลายปีต่อมา ท่านนัทฮันห์ได้เสริมให้เห็นถึงภาพร่างของท่าทีของท่านที่มีต่อการก่อวินาศกรรม ๑๑ กันยายน ว่า “เราคิดว่าเราต้องมีศัตรู รัฐบาลมุ่งปฏิบัติการเพื่อให้เราเกิคความกลัวและความเกลียดเพื่อให้เราสนับสนุนพวกเขา โดยหากเราไม่มีศัตรูเลยเขาก็จะสร้างศัตรูขึ้นมาเพื่อขอให้เราต่อต้านด้วย… เป็นเรื่องไม่ถูกต้องที่จะเชื่อว่าสถานการณ์ของโลกอยู่ในกำมือของรัฐบาล และถ้าท่านประธานาธิบดีมีนโยบายที่ถูกต้อง โลกก็จะสุขสงบ”

          โดยทั่วไปแล้วอัตลักษณ์ของสังคมและวัฒนธรรมของเราอยู่บนพื้นฐานความคิดที่จะแบ่งแยก ยกตัวอย่างเช่น มายาคติเกี่ยวกับความเป็นที่หนึ่งของชาวญี่ปุ่น ของชาวจีนในฐานะอาณาจักรกลาง (Middle Kingdom) อันยิ่งใหญ่ ของชาวกรีกในฐานะเป็นรากเหง้าแห่งอารยธรรมตะวันตกและของสหรัฐอเมริกา ในฐานะที่คิดว่าตัวเองเป็นรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่ยิ่งใหญ่ อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเหล่านี้อาจมีประโยชน์อยู่บ้าง แต่บ่อยครั้งมักเป็นชนวนของความรุนแรง เมื่อเราต้องไปสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งมีมายาคติที่มุ่งแบ่งแยกทางวัฒนธรรมในรูปแบบต่าง ๆ เช่นเดียวกับเรา สิ่งที่ท้าทายต่อเราในตอนนี้คือการไม่ปล่อยให้มายาคติทางประวัติศาสตร์ หรือกระทั่งรัฐบาลของเรา หรือกระทั่งผู้นำศาสนาของเรามาโน้มน้าวให้เราปฏิบัติการด้วยความรุนแรง เราต้องเรียนรู้เพื่อทบทวนมายาคติเหล่านี้ ยึดมั่นต่อมันให้น้อยลง และถ้าเป็นไปได้ก็ปล่อยวางมันไปเสียเพื่อเห็นแก่ความเชื่อมั่นในเอกภาพของสรรพชีวิต

          เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องเข้าใจว่า สันติวิธีเป็นทางออกต่อความขัดแย้งที่มีประสิทธิภาพและทรงพลังยิ่ง มันไม่ได้หมายถึงว่าเราไม่ต้องทำอะไรเลย หากอันที่จริงมันเป็นพลังที่มีอำนาจและทำให้เกิดผลลัพธ์อย่างจริงจัง สันติภาพไม่ได้หมายถึงเพียงการไม่มีสงคราม สันติภาพกระตุ้นให้เกิดการกระทำ เป็นกระบวนการที่มุ่งหาข้อตกลงโดยผ่านการสื่อสารกันอย่างเปิดเผย และเป็นการปฏิบัติตามหลักการไม่ทำร้ายและการแบ่งปันทรัพยากรที่มีอยู่ การสร้างวัฒนธรรมแห่งสันติภาพเป็นกระบวนการที่นำไปสู่การกระทำบางอย่าง

          ธรรมชาติแท้จริงของสันติภาพ ซึ่งก็เช่นเดียวกับความรุนแรง เป็นการแสดงออกโดยการกระทำของเราเพื่อสร้างสรรค์โครงสร้างทางวัฒนธรรมและสังคม เหตุนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะมุ่งปฏิบัติการในตอนนี้ เพื่อสร้างให้เกิดวัฒนธรรมแห่งสันติภาพ ยกตัวอย่างเช่น การสื่อสาส์นสันติภาพและความสมานฉันท์ในรายการโทรทัศน์มากกว่าจะมุ่งใช้ถ้อยคำใด ๆ ที่ส่งเสริมความรุนแรงและการแก้แค้น โยฮัน เกาตุง กล่าวไว้ว่า “สันติภาพเป็นเงื่อนไขให้เกิดพื้นที่ที่พัฒนาไปอย่างปราศจากความรุนแรง… ที่ทำให้การพัฒนาเป็นแนวคิดที่สำคัญกว่าสันติภาพ” แต่การพัฒนาในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเพียงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจซึ่งได้ทำให้เกิดความรุนแรงมากมายในโลก ด้วยการบีบให้เกิดวัฒนธรรมแบบเดียวโดยผ่านกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว การพัฒนาในที่นี้มีความเป็นองค์รวมมากกว่า โดยรวมถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และก็อาจมองในแง่ของพุทธได้ว่าหมายถึงการภาวนา ซึ่งเป็นหนทางนำไปสู่การพัฒนาด้านจิตวิญญาณ ในลักษณะเช่นนี้เราสามารถทำได้หลายอย่างเพื่อสร้างสรรค์วัฒนธรรมแห่งสันติภาพ ซึ่งพื้นฐานที่สุดได้แก่การพยายามเรียนรู้ ในโลกยุคโลกาภิวัตน์เราจำเป็นต้องศึกษาและเรียนรู้วัฒนธรรมและผู้คนที่ต่างจากเรา และการคิดในรูปแบบที่แตกต่างไป

          เมื่อต้องเผชิญกับความขัดแย้งขนานใหญ่ เราก็จำเป็นต้องมีท่าทีบางอย่าง ปัญหาคือคนจำนวนมากเชื่อว่าการตอบโต้อย่างไม่ใช้ความรุนแรงหมายถึงการไม่ทำอะไรเลย ในขณะที่การตอบโต้ด้วยกำลังหรือความรุนแรงเป็นการกระทำบางอย่าง ตามหลักทางสายกลางในพุทธศาสนา เรามีแนวปฏิบัติสำหรับการตอบโต้กับความรุนแรงอย่างชัดเจน กล่าวคือการเลี่ยงที่จะกระทำการที่สุดโต่งใด ๆ หมายถึงทั้งไม่ใช่การไม่ทำอะไรเลยหรือการตอบโต้ด้วยความรุนแรง

          แม้ว่าประชาชนชาวธิเบตจะต้องทนทุกข์ทรมานเป็นอย่างมาก เนื่องจากการปกครองของรัฐบาลจีนเหนือประเทศของพวกเขา ท่านทะไลลามะเองไม่เคยทรงแสดงความเกลียดชังต่อชาวจีน อันที่จริงท่านได้พยายามกระตุ้นให้เราแผ่เมตตาให้กับผู้นำรัฐบาลจีน ท่านมุ่งที่จะทำให้เกิดการเจรจาขึ้นมากับพวกเขาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างธิเบตกับจีนด้วยวิถีทางสันติ

          การเจรจาสามารถช่วยให้เราบรรลุสิ่งต่าง ๆ ได้มาก เมื่อทั้งสองฝ่ายที่ขัดแย้งกันพร้อมจะรับฟังจากกัน และไม่มองเห็นกันและกันเป็นศัตรู แต่มองเห็นเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เมื่อนั้นความเกลียดชังระหว่างทั้งสองก็จะผ่อนคลายลงไปได้ การเอาชนะความคิดที่แบ่งเป็นขั้วสองข้าง อย่างการแบ่งเป็นโลกฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว เพื่อนและศัตรู เป็นพื้นฐานนำไปสู่การไม่ใช้ความรุนแรง และการไม่ใช้ความรุนแรงก็เป็นพื้นฐานนำไปสู่สันติภาวะ

          ท่านนาคารชุน ปราชญ์ชาวพุทธเมื่อได้ถูกขอให้สรุปคำสอนของพระพุทธองค์เป็นคำ ๆ เดียว ท่านตอบว่า อหิงสา ซึ่งเป็นคำสันสกฤตซึ่งหมายถึงการไม่ใช้ความรุนแรง การไม่ใช้ความรุนแรงเป็นคำสอนพื้นฐานของพระพุทธองค์ อย่างไรก็ตามมักมีความเข้าใจผิดกันว่า การไม่ใช้ความรุนแรงหมายถึงการไม่ทำอะไรเลย ท่านสัมธง รินโปเจ กล่าวไว้ว่า “การไม่ใช้ความรุนแรงเป็นปฏิบัติการอย่างหนึ่ง เพียงแต่เป็นการกระทำโดยปราศจากความรุนแรง”

          ปฏิบัติการที่รุนแรงมักมีต้นตอมาจากความปรารถนาหรือเจตนาจะกระทำการบางอย่าง ในทัศนะแบบพุทธ ความปรารถนาเช่นนั้นมีรากเหง้ามาจากความโลภ โกรธ หรือหลง คนบางคนอาจกระทำการรุนแรงเพราะมีอวิชชา กล่าวคือพวกเขาไม่รู้ว่าอะไรผิดหรือถูก บางคนกระทำการนั้นเพราะความโกรธ ขณะเดียวกันก็ต้องมีวัตถุอันเป็นเป้าหมายแห่งการกระทำที่รุนแรงนั้นด้วย ในท้ายที่สุดบุคคลนั้นก็จะกระทำความรุนแรงเพื่อทำลายวัตถุที่เป็นเป้าหมายนั้น และก็อาจจะทำสำเร็จบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้

          ในเมื่อความรุนแรงมีต้นตอมาจากอกุศลมูลทั้งสามอันได้แก่ ความโลภ โกรธ และหลง การที่เราจะปฏิบัติการอย่างไม่ใช้ความรุนแรงได้ เราก็จะต้องเอาชนะอกุศลมูลทั้งสามนี้ให้ได้ก่อน เราจะต้องเพียรบ่มเพาะทัศนคติอันตรงข้ามกับความโลภ โกรธ และหลง ปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรงอยู่บนฐานของเจตจำนงแน่วแน่ เป็นรูปธรรมและการกระทำที่ชัดเจน หากเจตจำนงของการกระทำนั้นอยู่บนฐานของการเปลี่ยนแปลงทัศนะที่ส่งเสริมความรุนแรง

          ปฏิบัติการขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมสันติวิธีและปัญญาได้แก่ การมุ่งทำงานเพื่อกำจัดและลดทอนอำนาจของความรุนแรงที่อยู่ภายในตัวเราและภายในสังคมของเรา พวกเราแต่ละคนอาจยังไม่มีความพร้อมมากพอจะปฏิบัติการตอบโต้กับสมาคมปืนยาวแห่งชาติโดยตรง หรือการตอบโต้อุตสาหกรรมผลิตอาวุธขนาดใหญ่ แต่พวกเราก็สามารถทำงานเพื่อลดทอนอำนาจของความโกรธและความรุนแรง ที่อยู่ในจิตใจของเราเอง และภายในครอบครัว ซึ่งได้แสดงออกมาในชีวิตประจำวันของเรา

          การเลี่ยงพฤติกรรมที่รุนแรงเป็นความสำเร็จขั้นพื้นฐานในการควบคุมความรุนแรง การบ่มเพาะทัศนคติที่ดีและการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน ในปฏิบัติการที่ไม่ใช้ความรุนแรง อยู่บนพื้นฐานของการบ่มเพาะภูมิปัญญาอีกระดับหนึ่ง ด้วยเหตุนี้เพื่อจะปฏิบัติการอย่างไม่ใช้ความรุนแรงได้อย่างแท้จริง เราจำเป็นจะต้องกำจัดรากเหง้าแห่งอกุศลมูลทั้งสามคือความโลภ โกรธ และหลง พร้อม ๆ กับการบ่มเพาะคุณภาพที่ดีงามเพื่อเปลี่ยนอกุศลมูลทั้งสามให้กลายเป็นความเมตตา กรุณา และปัญญา

          ด้วยเหตุนี้เองการปฏิบัติสมาธิภาวนาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง การปฏิบัติสมาธิภาวนาช่วยให้เราเข้าใจถึงสิ่งที่ควบคุมบังคับเรา เพื่อให้เข้าใจจิตใจที่แท้จริงของเรา หากเราได้ภาวนาเราจะมีโอกาสได้พิจารณาถึงความรัก ความเกลียดชัง ความกลัว และความหลงในจิตใจของเรา เมื่อเข้าใจและตระหนักถึงความรู้สึกและทัศนคติเหล่านี้ เราก็จะเอาชนะอคติในใจไปได้ ซึ่งเป็นพื้นฐานนำไปสู่การแก้ปัญหาตามหลักแห่งปัญญาและกรุณา คุณลักษณะเหล่านี้เป็นพื้นฐานนำไปสู่ท่าทีในการแก้ปัญหาอย่างไม่ใช้ความรุนแรง

          การปฏิบัติสมาธิภาวนายังเป็นพื้นฐานนำไปสู่อุเบกขาหรือการปล่อยวาง ในพุทธศาสนาเราเชื่อในหลักพรหมวิหารธรรม โดยอุเบกขาเป็นพรหมวิหารธรรมข้อที่สี่ ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก ซึ่งเป็นปราชญ์ชาวพุทธและได้เคยสอนที่มหาวิทยาลัยสวาร์ธมัวร์ เมื่อหลายปีก่อนอธิบายว่า อุเบกขาหมายถึง “ความวางใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยชอบหรือธรรม ความวางใจเฉยได้ไม่ยินดียินร้าย เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาเห็นผลอันเกิดขึ้นโดยสมควรแก่เหตุ และรู้ว่าพึงปฏิบัติต่อไปตามธรรมหรือตามควรแก่เหตุนั้น” ผู้ซึ่งมีอุเบกขาจะตระหนักรู้อย่างชัดเจนถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและไม่เอนเอียงไปด้วยความติดยึด แต่ก็ไม่ได้หมายถึงการแปลกแยกตัวออกมาหรือการทำเป็นทองไม่รู้ร้อน หากเป็นการวางใจเฉยอย่างมีสติอันจะนำไปสู่ปัญญาที่พัฒนายิ่งขึ้น และปัญญานี้เองที่จะช่วยให้เราช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความกรุณาและความเข้าใจ

          ในพระไตรปิฎกมีเรื่องราวเกี่ยวกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างฝ่ายศากยะและโกลิยะเกี่ยวกับน้ำ จนถึงขั้นที่เจ้าผู้ครองนครทั้งสองเตรียมจะทำสงครามต่อกัน พระพุทธองค์ได้ทรงเข้ามาแทรกแซงและตรัสถามกษัตริย์ทั้งสองว่า “มหาบพิตร น้ำเหล่านี้มีคุณค่าเพียงใดกัน” “มีค่าน้อยยิ่งนัก พระคุณท่าน” กษัตริย์ได้ตรัสตอบ พุทธองค์ได้ตรัสต่อไปว่า “ถ้าเช่นนั้นก็ไม่ใช่เรื่องเหมาะสมเลยที่ท่านจะทำลายนักรบที่มีค่าจนมิอาจประเมินค่าได้ เพื่อแลกกับน้ำอันมีค่าเพียงน้อยนิด” ทั้งสองฝ่ายรับฟังอย่างเงียบงัน จากนั้นพระพุทธองค์ก็ได้ตรัสต่อไปว่า “มหาบพิตร เหตุใดพระองค์จึงกระทำการในลักษณะเช่นนี้ หากอาตมาไม่ได้มาอยู่ที่นี่ในวันนี้ ท่านทั้งสองก็คงทำให้แม่น้ำทั้งสายนองไปด้วยเลือดแล้วกระมัง ท่านได้กระทำตนอันไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง”

          หากพระพุทธองค์ไม่กระทำการใดเลยและปล่อยให้สงครามเกิดขึ้นมา นั่นย่อมไม่ใช่ปฏิบัติการอย่างสันติวิธี อันที่จริงการวางเฉยไม่เข้าไปแทรกแซงในเหตุการณ์นั้นอาจถือได้ว่าเป็นการกระทำที่รุนแรงอย่างหนึ่งเช่นกัน พระพุทธองค์ได้เข้าไปไกล่เกลี่ยความขัดแย้งด้วยสันติวิธี เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่าพระพุทธองค์ไม่ได้ปลีกตัวออกจากโลก หากมีบทบาทอย่างใกล้ชิดกับสิ่งที่เป็นไปในโลก แต่ด้วยท่าทีอย่างไม่ใช้ความรุนแรง

          ความนับถือของทั้งสองฝ่ายที่มีต่อพระพุทธองค์มีส่วนช่วยในเรื่องนี้มาก เราอาจเห็นตัวอย่างที่คล้ายคลึงกันอีกหลายตัวอย่างในประวัติศาสตร์และในโลกปัจจุบัน เมื่อพวกนาซีต้องการจะสังหารชาวยิวในประเทศเดนมาร์ก ที่พวกเขากำลังยึดครองอยู่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง กษัตริย์เฟรดดิกที่ ๙ ทรงประกาศว่าหากพวกเยอรมันจะจับชาวยิวอันเป็นราษฎรของพระองค์ พระองค์ก็จะติด Star of David สัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นชาวยิว ซึ่งหมายถึงว่าพวกเยอรมันก็ต้องสังหารพระองค์ด้วยเช่นกัน นี้เป็นเหตุให้ทหารเยอรมันที่มีอำนาจมากไม่กล้าแตะต้องชาวยิวในเดนมาร์ก ความกล้าหาญทางจริยธรรมในบางครั้งมีพลานุภาพมากกว่าอาวุธร้ายของระบอบเผด็จการใด ๆ การดำรงชีวิตของนางอองซานซูจี อย่างกอปรด้วยความกล้าหาญทางจิตวิญญาณและความกรุณาที่นางมีต่อผู้กดขี่ ทำให้ท่าทีของรัฐบาลทหารพม่าอ่อนลง

          บุคคลที่ยิ่งใหญ่อีกท่านหนึ่งในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาได้แก่ พัดชาห์ ข่าน หรือที่รู้จักกันในนาม “คานธีแห่งชายแดน” ท่านเป็นมุสลิมผู้เคร่งครัดและสามารถโน้มน้าวเพื่อนร่วมชาติชาวปาทาน ซึ่งเป็นเผ่าชนที่มีความดุร้ายมากที่สุดเผ่าหนึ่งในโลก ให้เลิกการกระทำที่รุนแรง ทั้งท่านยังได้จัดตั้งคนแสนคนเป็นกองทัพที่ไม่ใช้ความรุนแรงในประเทศปากีสถาน และอัฟกานิสถาน เป็นเวลาหลายปี นับแต่ในวัยหนุ่มจนกระทั่งสิ้นชีวิตไปในปี ๒๕๓๑ เมื่อมีอายุได้ ๙๘ ปี วจนะสุดท้ายของท่านยังมีความสำคัญจนปัจจุบันนั่นคือ “เหตุใดเรายังคงผลิตอาวุธเพื่อทำลายล้างขนานใหญ่อยู่เล่า”

          ข้าพเจ้าหวังว่าในการที่คณะกรรมการรางวัลโนเบล ตัดสินใจมอบรางวัลสาขาสันติภาพสำหรับปีนี้ให้แก่ นายจิมมี่ คาร์เตอร์ สำหรับกิจกรรมที่ส่งเสริมการไม่ใช้ความรุนแรงทั่วโลกของเขาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และสำหรับการที่เขาออกมาวิพากษ์วิจารณ์การโจมตีของอเมริกาที่จะมีต่ออิรัก อาจมีผลต่อความคิดของผู้กำหนดนโยบายในอเมริกาบ้าง

          หลักพุทธธรรมอีกประการหนึ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจความรุนแรงได้แก่กฎแห่งกรรม ทุกสิ่งที่เราเผชิญอยู่ล้วนเป็นผลมาจากเหตุปัจจัยในอดีต ดังข้อความในช่วงต้นของพระธรรมบทที่สอนเราว่า “หากเรากระทำการใดด้วยจิตอันเป็นบาป เราย่อมเกิดความทุกข์ หากเราทำการใดด้วยจิตอันสงบ สันติภาวะย่อมเกิดขึ้น” เราต้องตระหนักว่าสิ่งที่เราทำในปัจจุบันย่อมมีผลต่อชีวิตของเราในอนาคต เราย่อมได้รับผลของสิ่งที่เราทำและเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลลัพธ์อันเนื่องมาจากการกระทำของเราได้ การตระหนักรู้เช่นนี้จะช่วยให้เราพยายามบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งสันติ

          สมาธิภาวนาเป็นการปฏิบัติที่สำคัญประการหนึ่ง แต่การปฏิบัติสมาธิภาวนาอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ ชาวพุทธจำนวนมากปฏิบัติสมาธิภาวนา และสามารถเข้าถึงความสงบภายในได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามพวกเขาหลายคนต้องกลับไปทำงานซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างแห่งความรุนแรงในสังคม ส่วนที่เหลือก็ไม่เข้าใจว่าจะนำความสงบภายในนั้นไปใช้เพื่อแก้ปัญหาสังคมได้อย่างไร เหตุนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ในการภาวนาเราจะได้พิจารณาถึงทั้งปัญหาสังคมไปพร้อมกันกับปัญหาภายในใจของเรา เพราะปัญหาสังคมเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนถึงปัญหาภายในของเราเอง ตามหลักกรรมและอิทัปปัจจยตา จะทำให้เราพิจารณาได้อย่างลึกซึ้ง ถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างมิจฉาทิฐิของเรา กับมิจฉาทิฐิในระดับสังคมและวัฒนธรรม เราจำเป็นต้องสืบสาวให้ถึงรากเหง้าและปัจจัยที่เชื่อมโยงพฤติกรรมส่วนตัวของเรากับปัญหาสังคม ตัวอย่างเช่น เราควรพิจารณาว่าความรู้สึกโกรธและกลัวความตายของเรา มีส่วนส่งเสริมให้เกิดความรู้สึกโกรธและกลัวความตายของสังคมมากเพียงไร ซึ่งอาจเป็นเหตุที่ทำให้เราแต่ละคนและสังคมแต่ละแห่งกระทำการรุนแรงต่อกัน เมื่อพวกเขาเห็นว่าฝ่ายอื่นต่างออกไปและอาจเป็นภัยคุกคามได้ การพิจารณาอย่างลึกซึ้งถึงเหตุปัจจัยที่เชื่อมโยงเหล่านี้ จะช่วยให้เราสามารถใช้สติที่บ่มเพาะจากการภาวนา เพื่อระงับความโกรธและความกลัวซึ่งเกิดขึ้นในวิถีชีวิตประจำวันได้ และเมื่อคนจำนวนมากขึ้นเริ่มปฏิบัติได้เช่นนี้ ก็เป็นการเริ่มต้นแปรสมาธิภาวนาให้เป็นการปฏิบัติเพื่อสร้างให้เกิดวัฒนธรรมแห่งสันติ

          การรณรงค์ต่อต้านประเทศอิรักของสหรัฐอเมริกาดำเนินสืบเนื่องมามากกว่าหนึ่งทศวรรษแล้ว และมันมีผลอย่างไรเล่า ซัดดัม ฮุสเซน ยังคงอยู่ในอำนาจ ในขณะที่ประชาชนชาวอิรักต้องประสบกับความทุกข์ทรมานอย่างเงียบ ๆ อันเป็นผลมาจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ทั้ง ๆ ที่ในช่วงสงครามระหว่างอิรักกับอิหร่าน อเมริกาเองเป็นผู้อุดหนุนนายซัดดัม และยังจัดส่งอาวุธให้ด้วย

          นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐในภูมิภาคตะวันออกกลาง มีส่วนทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นในภูมิภาคนั้นอย่างชัดเจน นางเมดาลีน อัลไบรท์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกากล่าวว่า การที่มีเด็ก (อิรัก) ตายไปประมาณห้าแสนคนอันเป็นผลมาจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหรัฐ เป็น “การตัดสินใจที่ยุ่งยากอย่างหนึ่ง” แต่ “ก็คุ้มค่ากับสิ่งที่ได้รับ” ทัศนคติเช่นนี้พร้อมกับความรุนแรงและความยากจนที่ยังดำเนินต่อไปในภูมิภาคแห่งนี้ ได้ส่งเสริมให้เกิดความโกรธ เกลียดชัง และนำไปสู่การโจมตีแบบก่อการร้ายต่อประเทศสหรัฐอเมริกา

          อีกเรื่องหนึ่งที่มาจากชีวประวัติของพระพุทธเจ้าเอง แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างกฎแห่งกรรมกับชีวิตประจำวันของเรา ครั้งหนึ่งพระเจ้าโกศลต้องการจะเป็นดองกับพระพุทธองค์ และพระองค์ได้ขอพระธิดาจากราชวงศ์ศากยะเพื่อมาเป็นพระราชินี ทางฝ่ายศากยะซึ่งเป็นตระกูลของพระพุทธเจ้ามีความรังเกียจในเรื่องชนชั้นวรรณะ และไม่ยอมให้มีการแต่งงานกับเผ่าชนอื่น ๆ แม้ว่าพวกเขาจะยอมรับว่าแคว้นโกศลเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่กว่า แต่พวกเขาก็ไม่เห็นว่าราชวงศ์ของแคว้นนั้นมีความเท่าเทียมเสมอกับตน อย่างไรก็ตาม ได้มีการประนีประนอมโดยการส่งมอบพระธิดาซึ่งเกิดจากทาสีให้ไปเป็นราชินีแห่งแคว้นโกศล และพระเจ้าวิธุธภเป็นพระโอรสที่เกิดจากพระราชินีองค์นั้น ทั้งพระองค์และพระราชบิดาต่างก็ไม่ทรงทราบว่าพระราชินีเป็นพวกวรรณะต่ำ เมื่อเจ้าชายหนุ่มได้เสด็จไปเยือนราชวงศ์ในฝ่ายพระมารดาที่แคว้นศากยะ

          พระองค์ก็ได้ทรงค้นพบโดยบังเอิญว่าทางฝ่ายนั้นต่างดูถูกเหยียดหยามพระองค์ ทั้งนี้เพราะพระราชมารดาเป็นลูกที่เกิดจากนางทาส ในเวลาต่อมาเจ้าชายหนุ่มก็ตั้งจิตอธิษฐานจะสังหารราชวงศ์ศากยะให้หมดสิ้นไปด้วยความแค้น

          เมื่อพระเจ้าวิธุธภได้สืบทอดราชบัลลังก์แคว้นโกศลต่อพระราชบิดา พระองค์ได้ยกทัพขึ้นไปทางเหนือเพื่อตีแคว้นศากยะ เมื่อพระพุทธเจ้าทราบถึงเหตุการณ์นี้พระองค์ได้มาพระทับนั่ง ณ พรมแดนระหว่างทั้งสองแคว้น และพยายามจะหยุดยั้งการกระทำของเจ้าชายผู้กระหายสงคราม แต่ในที่สุดพระองค์ก็ไม่สามารถเกลี้ยกล่อมให้พระเจ้าวิธุธภสลัดความโกรธและความต้องการจะล้างแค้นไปได้ ในท้ายที่สุดพระเจ้าวิธุธภได้เข่นฆ่าสังหารสมาชิกของราชวงศ์ศากยะไปจนหมดสิ้น แต่ในระหว่างเคลื่อนทัพกลับสู่มาตุภูมิทั้งตัวพระเจ้าวิธุธภเอง และกองทหารต่างก็ถูกน้ำท่วมตายไปจนหมดสิ้น

          เราอาจได้ข้อสรุปหลายประการจากเหตุการณ์นี้ อย่างไรก็ตาม หากเราเชื่อในกฎแห่งกรรมเราจะตระหนักว่าเราแต่ละคน แต่ละครอบครัว แต่ละประเทศ ต่างก็จะได้รับโภคผลหรือผลกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งอันเนื่องมาจากกายกรรม วจีกรรม และการกระทำอื่น ๆ ของเราเอง แม้ฝ่ายศากยะจะสามารถให้กำเนิดมนุษย์ผู้ประเสริฐซึ่งได้เติบใหญ่เป็นพระพุทธเจ้า ผู้ทรงสั่งสอนให้เลิกยึดติดกับชนชั้นวรรณะ ชาวศากยันเองกลับมีทัศนะอันตรงข้ามกับคำสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งพวกเขายังได้หลอกลวงกษัตริย์แห่งแคว้นโกศลผู้ซึ่งมีอำนาจมากยิ่งกว่าพวกเขาเสียอีก ในฝ่ายพระเจ้าวิธุธภ มิจฉาทิฐิของพระองค์ได้นำไปสู่มิจฉาปฏิบัติและเป็นเหตุให้ต้องจบชีวิตลงอย่างหายนะ

          เหตุการณ์นี้ยังชี้ให้เห็นว่า แม้พระพุทธองค์เองก็อาจทำการไม่สำเร็จ และนั่นไม่ใช่เป็นเพียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งเดียว แม้ในหมู่สงฆ์ผู้มีความภาคภูมิใจกับการประพฤติปฏิบัติอย่างบริสุทธิ์ของตนเอง ในบางครั้งหมู่สงฆ์เหล่านั้นก็ไม่รับฟังคำของพระพุทธเจ้าเช่นกัน พวกท่านไม่ตระหนักว่าการติดยึดถือดีก็เป็นเหตุให้เกิดความเย่อหยิ่งและทะนงตน

          แล้วเรื่องเหล่านี้เชื่อมโยงกับเหตุการณ์วินาศกรรม ๑๑ กันยายน อย่างไร สำหรับชาวพุทธ กฎแห่งกรรมเตือนให้เรารำลึกว่าเมื่อต้องเผชิญกับความรุนแรง เราไม่ควรตอบโต้ด้วยความรุนแรง ดังในธรรมบทได้มีข้อความที่รู้กันอย่างกว้างขวางว่า

“ความโกรธย่อมไม่อาจกำจัดความโกรธ
ด้วยความกรุณาเท่านั้น ความโกรธจึงสลายคลายไป
กฎนี้มีมาแต่โบราณและเป็นจริงเสมอไป”

          ดังที่ท่านมหาตมะคานธีกล่าวไว้ว่า “ตาต่อตาย่อมทำให้โลกทั้งโลกมืดบอด”

          สามวันหลังจากเหตุวินาศกรรมเดือนกันยายน ประธานาธิบดีบุช ประกาศว่าสหรัฐอเมริกามีความจำเป็นต้องปฏิบัติการครั้งใหม่เพื่อโลก “เพื่อกำจัดโลกอันชั่วร้าย” และสองวันหลังจากนั้น เขาได้กล่าวว่ารัฐบาลประเทศสหรัฐอเมริกามีเจตจำนงแน่วแน่ที่จะ “กำจัดบุคคลชั่วร้ายไปจากโลก” อเมริกาจึงกลายเป็นผู้พิทักษ์เสรีภาพ และมีภารกิจที่ต้องกำจัดความชั่วร้ายไปจากโลก เราอาจไม่มี “อาณาจักรอันชั่วร้าย” ที่จะต้องเอาชนะ แต่เราก็ยังมีความชั่วร้ายมากยิ่งกว่านั้นที่เราจำเป็นต้องใช้สงครามครั้งใหญ่เพื่อทำลายลงให้ได้ ในเวลาต่อมาประธานาธิบดีบุช ยังกล่าวถึงสงครามครั้งนี้ว่าเป็นเหมือน “สงครามครูเสด” และในแถลงการณ์ของเขาต่อรัฐสภา เขาได้กล่าวถึง “แกนแห่งความชั่วร้าย” ซึ่งประกอบด้วยทั้งอิรัก อิหร่านและเกาหลีเหนือ

.
ทะไลลามะ กับ จอร์จ ดับเบิลยู บุช จูเนียร์  

          หากเราจะบอกว่าอะไรเป็นความชั่วร้าย วินาศกรรมวันที่ ๑๑ กันยายนก็เป็นความชั่วร้ายเช่นกัน และเราไม่พึงลืมความข้อนี้ในโอกาสต่อไป ในขณะเดียวกัน เราจำเป็นต้องพิจารณาวาทศิลป์เหล่านั้นอย่างแยบคาย เมื่อประธานาธิบดีบุชกล่าวว่า เขาต้องการกำจัดความชั่วร้ายไปจากโลก ข้าพเจ้ารู้สึกตระหนกตกใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะนั่นเป็นคำพูดที่ละม้ายคล้ายคลึงกับที่นายฮิตเลอร์ และนายสตาลินเคยประกาศไว้*

          ปัญหาของชาวยิวซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขด้วย “วิธีสุดท้าย” คืออะไรเล่า พวกเขาอ้างว่าโลกเราจะบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น หากมีเพียงชนเผ่าอารยันและเราต้องกำจัดชาวยิว ยิปซี เกย์ พวกที่มีสภาพจิตใจไม่สมประกอบและอื่น ๆ ให้หมดไป เพราะพวกนี้เป็นพวกไม่บริสุทธิ์และทำให้โลกแปดเปื้อน สตาลิน ประกาศว่า ต้องกำจัดชาวนารัสเซียที่ร่ำรวยเพื่อจะสถาปนาสังคมอุดมคติอย่างมีส่วนร่วมของชาวนาขึ้นมา ผู้ชั่วร้ายที่ยิ่งใหญ่ทั้งสอง พยายามทำให้โลกสมบูรณ์ขึ้น ด้วยการกำจัดสิ่งที่พวกเขาถือว่าเป็นมลทินเหล่านี้ พวกเขาบอกว่าโลกเราจะดีขึ้นก็ด้วยการกำจัดสิ่งที่ชั่วร้ายให้หมดไป

          เรื่องนี้เตือนให้ข้าพเจ้านึกถึงความข้อหนึ่งในหนังสือเรื่อง The Gulag Archipelago โดย Alexander Solzhenitsyn

          “ถ้าเรื่องทั้งหมดมันอยู่ที่ว่า มีคนอยู่กลุ่มหนึ่งในบางที่ที่กระทำสิ่งชั่วร้ายอย่างลับ ๆ และหน้าที่ของเราก็เพียงแค่แยกพวกมันออกจากเรา และทำลายพวกมันไปเสีย แต่เส้นแบ่งระหว่างความดีและความเลวนั้นตัดผ่านในใจมนุษย์ทุกรูปนาม แล้วใครเล่าที่พร้อมจะทำลายส่วนใดส่วนหนึ่งของหัวใจตนเอง”

          ไม่เพียงแต่ชาวพุทธหากชาวคริสต์ ชาวยิว และมุสลิม รวมทั้งศาสนิกอื่น ๆ จะต้องกอปรด้วยโยนิโสมนสิการและพิจารณาสิ่งต่าง ๆ อย่างรอบด้านในขณะที่เผชิญกับความรุนแรง และหาอุบายอันแยบคายเพื่อแก้ไขสถานการณ์นั้นอย่างสันติวิธี ในการเผชิญหน้ากับการก่อการร้ายระดับโลก เราจำเป็นต้องพิจารณาถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้างด้วย เราไม่ควรคิดแค่ว่า ความรุนแรงจำกัดอยู่เพียงสิ่งที่เราเห็นในรูปของสงครามหรือการก่อการร้าย ทุก ๆ วันคนจำนวน ๔ หมื่นคนหิวตายไปในโลก ทั้ง ๆ ที่โลกเรามีอาหารอย่างอุดมสมบูรณ์ ระบบเศรษฐกิจโลกทำให้คนจำนวนน้อยร่ำรวยขึ้น ในขณะที่ในทุก ๆ วันคนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ยากจนลง ร้อยละ ๒๐ ของประชากรโลก เป็นผู้ครอบครองมากกว่าร้อยละ ๘๐ ของความร่ำรวยในโลก คนเพียงหยิบมือเดียวมีความสุขกับความร่ำรวยของเขา ทั้งนี้โดยการเอาเปรียบทำให้คนอื่น ๆ ไม่อาจมีชีวิตตามอัตภาพได้ สิ่งนี้นับเป็นความอยุติธรรมที่ยิ่งใหญ่ของโลก แต่ปัญหาของความรุนแรงเชิงโครงสร้างคือ มันไม่ใช่สิ่งที่เราจะเห็นได้ง่าย ๆ คนจำนวนมากมองข้ามสิ่งนี้ไปโดยถือว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว หรือมันก็ไม่มีทางออกอย่างอื่นอีก

          รากเหง้าของความขัดแย้งส่วนใหญ่ในโลกมาจากความรุนแรงเชิงโครงสร้าง พลังทางเศรษฐกิจของโลกาภิวัตน์ที่ขับเคลื่อนโดยประเทศในฝ่ายเหนือ บรรษัทข้ามชาติ และสถาบันต่าง ๆ รวมทั้งธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และองค์การค้าโลก ไม่เพียงทำให้คนจำนวนมากยากจน แต่ยังเป็นบ่อเกิดของความโกรธและความโลภ ซึ่งทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น เราหวังว่าเมื่อคนมีความตระหนักถึงผลกระทบในด้านลบของโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจมากขึ้น จะทำให้เกิดการวางนโยบายอย่างมีส่วนร่วมและเท่าเทียมมากขึ้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ข้าพเจ้าได้ไปร่วมประชุมการสนทนาว่าด้วยการพัฒนาของศาสนาในโลก (World Faiths Development Dialogue) ซึ่งสนับสนุนโดยธนาคารโลกและอัครมหาสาวกแห่งแคนเตอร์เบอร์รี ซึ่งมีเป้าหมายน่าชมเชยในลักษณะเดียวกัน

          เราจำเป็นต้องหันมาพิจารณาระบบความเชื่อของเราเอง และพิจารณาถึงระบบความเชื่อในสังคมซึ่งเป็นตัวทำให้เกิดโครงสร้างต่าง ๆ อย่างเช่น ธนาคารโลก ซึ่งเราเชื่อว่าเกิดขึ้นมาอย่างสมเหตุผล และมีความเป็นกลาง แต่สำหรับคนที่มาจากสังคมอื่น พวกเขาอาจดูแปลกออกไป หรือที่แย่กว่านั้น พวกเขาอาจมีอคติบางประการที่นำไปสู่การเอาเปรียบพวกเราอย่างไม่เป็นธรรม ยกตัวอย่างเช่น เราเห็นว่าระบบธนาคารแบบอิสลามหรือโครงสร้างบริษัทที่ได้รับการควบคุมอย่างเข้มงวดในญี่ปุ่น เป็นความคิดที่ดีหรือไม่ บางทีเราอาจเห็นว่าโครงสร้างเหล่านี้เป็นเรื่องเหลวไหลและไม่สอดคล้องกับสังคม ส่วนในฝ่ายมุสลิมและชาวญี่ปุ่นเองก็อาจจะคิดถึงธนาคารโลก รวมทั้งค่านิยมของตะวันตกที่ฝังมากับโครงสร้างของธนาคารในทำนองเดียวกัน คำถามไม่ใช่ว่าใครจะดีกว่าหรือใครเป็นฝ่ายถูกต้อง คำถามควรจะเป็นว่า แล้วอันที่จริงทุกคนควรมีสิทธิจะพัฒนาไปตามวิถีทางที่ตัวเองต้องการหรือไม่ เมื่อเราเอาโครงสร้างของเราไปกดทับบนโครงสร้างอื่น ๆ ทั้งนี้เพราะเราเชื่อมั่นอย่างจริงจังว่าโครงสร้างเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ มีเหตุผล และชอบธรรม ถ้าอย่างนั้น เราก็จะเข้าไปมีส่วนส่งเสริมความรุนแรงเชิงโครงสร้างได้อย่างง่าย ๆ

          ถ้าสามารถเอาชนะความรุนแรงเชิงโครงสร้างได้ เราก็จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงจำนวนมากดังที่เราเห็นกันอยู่ในโลกปัจจุบัน

          บัดนี้ข้าพเจ้าใคร่เสนอว่า สันติวิธีจะนำไปสู่การตอบโต้อย่างมีประสิทธิภาพในสถานการณ์ที่มีแต่ความขัดแย้งในโลกได้อย่างไร

          เราอาจจำแนกท่าทีที่มีต่อความขัดแย้งระดับโลกได้สามประการ กล่าวคือ การรักษาสันติภาพ การสถาปนาสันติภาพ และการสร้างสรรค์สันติภาพ การรักษาสันติภาพหมายถึงการป้องกันไม่ให้ผู้คนทำร้ายกัน การสถาปนาสันติภาพหมายถึงกระบวนการที่นำไปสู่ข้อตกลงระหว่างฝ่ายที่ต่อสู้กันและขัดแย้งกัน ส่วนการสร้างสรรค์สันติภาพหมายถึงวิธีการในระยะยาวทั้งหมดที่จะพัฒนาไปสู่ชุมชนและสังคมที่สันติ ซึ่งอยู่บนหลักการของการอยู่ร่วมกัน ความใจกว้างต่อกัน ความยุติธรรม โอกาสที่เท่าเทียม และความกรุณา

          ประการแรก ในแง่ของการรักษาสันติภาพ ดูเหมือนจะเป็นวิธีการที่คนสนใจมากที่สุด แต่มันก็เหมือนกับการดับเพลิง การดับเพลิงเป็นเรื่องจำเป็นแต่มันจะดีกว่าถ้าเราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดเพลิงขึ้นตั้งแต่แรก และนี่เป็นเหตุให้การสร้างสรรค์สันติภาพมีความสำคัญ ข้าพเจ้าเพิ่งกล่าวถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้างไป ในหลายกรณีการสร้างสรรค์สันติภาพเป็นการจัดการกับความรุนแรงเชิงโครงสร้าง และป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาตั้งแต่แรก กิจกรรมเพื่อสร้างสรรค์สันติภาพอาจทำได้ในหลายรูปแบบ ทั้งด้วยการศึกษา ระบอบประชาธิปไตยระดับรากหญ้า การแก้ปัญหาความยากจน และการปฏิรูปที่ดิน กิจกรรมเหล่านี้ล้วนอยู่บนพื้นฐานของสันติวิธี ขบวนการสรรโวทัยที่มีโครงการอยู่ใน ๑๑,๐๐๐ หมู่บ้านในประเทศศรีลังกาเป็นตัวอย่างที่ดีประการหนึ่ง ของการสร้างสรรค์สันติภาพตามหลักพุทธธรรม

          ติชนัทฮันห์เคยกล่าวว่า “เพื่อป้องกันสงคราม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตครั้งใหม่ เราจะต้องเริ่มต้นในตอนนี้ เมื่อสงครามหรือวิกฤตการณ์เกิดขึ้นมาแล้วมันก็สายไปเสียแล้ว หากเราและลูกหลานของเราปฏิบัติตามหลักอหิงสาในชีวิตประจำวัน หากเราเรียนรู้ที่จะบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งสันติและความสมานฉันท์ในหัวใจและหัวสมอง เราก็จะเริ่มสถาปนาสันติภาพแท้จริงขึ้นมา และในลักษณะนั้นเราอาจจะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดสงครามครั้งใหม่ขึ้นมา” ดังนั้นแนวคิดเรื่องการสร้างสรรค์สันติภาพ การป้องกันไม่ให้เกิดสงครามก่อนที่มันจะเริ่มขึ้นมา เป็นเรื่องที่จะสำเร็จได้ด้วยการปฏิบัติ ปฏิบัติการเหล่านี้จะไม่เป็นข่าวพาดหัว และอันที่จริงอาจไม่มีใครสังเกตเห็นเลยก็ได้ ทั้ง ๆ ที่มันมีความสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อสงครามเกิดขึ้นมาแล้วมันก็ยากที่เราจะหยุดยั้งสงครามนั้นได้ เราต้องเริ่มคิดว่าเราจะสามารถหยุดยั้งสงครามครั้งใหม่ ที่อาจเกิดขึ้นในปีข้างหน้าหรืออีกสิบปีข้างหน้าตั้งแต่บัดนี้

          ในการสร้างสรรค์วัฒนธรรมแห่งสันติ ประการแรก เราต้องทำให้สังคมมีความยุติธรรม เป็นธรรมมากขึ้น และให้สิทธิเท่าเทียมกันกับทุกคน การบังคับให้มีสันติภาพแต่เปลือกนอก ในหลายครั้งได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อกดขี่ ดังในหลายกรณีที่มีการทำให้เกิดความสงบขึ้นในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ในหลายกรณี นิยามว่าด้วยสันติภาพหรือความสงบของรัฐ มักนำไปสู่การกดขี่ปราบปรามไม่ให้มีการต่อสู้อย่างชอบธรรม เพื่อสิทธิอันเท่าเทียมและความยุติธรรม ในกรณีอื่น ๆ สันติภาพหรือความสงบที่รัฐอ้างถึงเป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อธำรงให้รัฐบาลหรือระบอบที่ไม่ชอบธรรมดำเนินสืบไปได้ การพัฒนาที่แท้จริงของวัฒนธรรมแห่งสันติต้องเริ่มจากระดับรากหญ้าขึ้นมา

          การต่อสู้เพื่อความชอบธรรม ความบริสุทธิ์ ความดี และสันติภาพ ได้เกิดขึ้นพร้อมกับผลกระทบที่อันตรายหลายประการ เมื่อเราพัฒนาความคิดว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกและดี และเริ่มคิดที่จะเอาความคิดเราไปครอบงำคนอื่น การต่อสู้เพื่อความดีงามของเราก็จะกลายเป็นความรุนแรง ก้าวย่างแรกที่จะนำไปสู่สังคมที่สันติอย่างแท้จริง เริ่มจากการให้เกียรติและเคารพความเห็นและความรู้สึกของบุคคลอื่นที่ต่างไปจากเรา

          ทั้งเราไม่ควรมองข้ามความสำคัญของพลังของขบวนการเคลื่อนไหวระดับรากหญ้าระหว่างชาติ พวกเขาเป็นพลังสำคัญเพื่อการเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาในอีสติมอร์ได้รับความสนใจขึ้นมาก็เพราะการทำงานของนักกิจกรรมกลุ่มเล็ก ๆ ที่ทำงานอย่างไม่ย่อท้อเป็นเวลาหลายปี ในขณะที่สื่อระดับโลกและรัฐบาลต่างเพิกเฉยต่อปัญหานี้อย่างสิ้นเชิง ปัญหาของโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจเอง ก็เป็นประเด็นที่ถูกชูขึ้นมาอย่างเข้มแข็งโดยนักกิจกรรมทั่วโลก การประท้วงครั้งใหญ่ในเมืองซีแอตเทิล ปราก และวอชิงตัน ทำให้เกิดการอภิปรายอย่างกว้างขวางในประเด็นนี้ ทำให้สื่อมวลชนและรัฐบาลไม่สามารถเพิกเฉยหรือละเลยประเด็นเหล่านี้ไปได้ เราไม่ควรสิ้นหวังว่าความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น การสร้างสรรค์สันติภาพในระดับรากหญ้าเป็นกุญแจที่จะทำให้เกิดสันติภาพที่ยุติธรรมอย่างยั่งยืน

          เป็นเรื่องสำคัญที่ขบวนการใหม่เหล่านี้ต้องมีจิตใจอันเปิดกว้าง พวกเขาต้องไม่เห็นคนอื่นเป็นศัตรู มิเช่นนั้นพวกเขาเองก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอันรุนแรง เรามีความหวังอย่างมากกับขบวนการเหล่านี้ เพราะเราจะเห็นได้ว่าในขบวนการประกอบด้วยความหลากหลายในโลก การให้ความสำคัญกับความหลากหลายและความใจกว้างเป็นกุญแจนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมแห่งสันติ

          การสถาปนาสันติภาพเป็นกระบวนการนำไปสู่ข้อตกลงระหว่างฝ่ายที่ขัดแย้งกันทั้งสองฝ่าย คุณลักษณะสำคัญในกระบวนการเจรจาได้แก่การรับฟังซึ่งกันและกัน น่าเสียดายที่การเจรจาส่วนมากที่ผ่านมา ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการที่ทั้งสองฝ่ายแถลงสิ่งที่ตนเองต้องการพูดออกมาโดยไม่มีการแลกเปลี่ยนกัน กระบวนการรับฟังอย่างใส่ใจเท่านั้นที่จะทำให้เกิดการเจรจาอย่างแท้จริงขึ้นมา และการรับฟังอย่างใส่ใจนี้จะเกิดขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อเรามีเมล็ดพันธุ์แห่งสันติภายใน เมื่อเรามีเมล็ดพันธุ์แห่งสันติภายใน เราก็สามารถรับฟังอย่างปราศจากความชิงชัง หรือไม่ด่วนตัดสินว่าอะไรดีหรือเลว เพื่อให้การเจรจาก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่ายต้องพร้อมจะเจรจาอย่างปราศจากอคติ พวกเขาต้องปล่อยวางไม่มีความคาดหวังอย่างใดอย่างหนึ่งต่อผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น หากพวกเขาสามารถเจรจากันได้เช่นนี้ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็มักจะเหนือความคาดหมายและเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย

          ความสมานฉันท์เป็นขั้นตอนสำคัญของการสถาปนาสันติภาพ ผู้สถาปนาสันติภาพต้องสามารถสร้างให้เกิดวัฒนธรรมแห่งความจริง การให้อภัย และความร่วมมือโดยผ่านกระบวนการที่สร้างสมานฉันท์ วัฒนธรรมแห่งการสมานฉันท์ เป็นความหวังสำคัญที่สุดเพื่อเยียวยาความอยุติธรรมในอดีต และเพื่อส่งเสริมให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของบุคคลและสังคม การสมานฉันท์หมายถึงการที่ทั้งสองฝ่ายพร้อมจะให้อภัยพร้อม ๆ กับการยอมรับถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ทั้งยังเป็นการยอมรับถึงความจำเป็นที่จะต้องมองไปข้างหน้าเพื่อจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติในอนาคต

          วัฒนธรรมของการสมานฉันท์ที่แท้จริงอยู่บนฐานของการทบทวนแนวคิดของเราต่อความยุติธรรม เมื่อเราเห็นว่าอีกฝ่ายหนึ่งทำสิ่งไม่ถูกต้องเราจะมีท่าทีอย่างไร เราอาจตัดสินว่าต้องมีการกระทำอย่างสาสม และกำหนดระบบการตัดสินขึ้นมาเพื่อจะลงโทษผู้ที่เราหาว่าเป็น “ผู้กระทำ” หรือเราจะพยายามเข้าใจถึงสาเหตุของความขัดแย้งนั้น โดยไม่ไปสืบสาวว่าบุคคลหรือกลุ่มใดทำความผิดอย่างไร แต่ดูว่ามีความขัดแย้งในผลประโยชน์และค่านิยมระหว่างบุคคลหรือกลุ่มทั้งสองกลุ่มอย่างไร กระบวนการยุติธรรมที่เน้นการฟื้นฟูมุ่งเข้าไปไกล่เกลี่ยความขัดแย้งด้วยการทำให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น และหากจำเป็นก็พยายามทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทัศนคติบางอย่างโดยให้การศึกษา มากกว่าจะมุ่งเน้นการลงโทษ

          การสถาปนาสันติภาพเป็นภารกิจไม่รู้จบสิ้น งานเช่นนี้ไม่มีวันจบแต่ก็ไม่ได้หมายถึงว่าเราควรยุติการกระทำเช่นนั้น ผู้สถาปนาสันติภาพควรมีลักษณะเป็นบุคคลซึ่งเมื่อรู้ว่าบ่อน้ำไม่มีน้ำ เขาก็พร้อมจะปีนขึ้นไปบนภูเขาเพื่อไปยังจุดที่มีหิมะปกคลุมและนำหิมะลงมาช้อนหนึ่ง กลับลงมาจากภูเขา หยอดหิมะก้อนนั้นลงไปในบ่อน้ำ และจากนั้นก็พร้อมจะปีนขึ้นไปบนภูเขาอีกครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อทำการแบบเดียวกัน การสถาปนาสันติภาพเป็นเรื่องสำคัญอย่างใหญ่หลวง และเราไม่ควรยุติการกระทำเช่นนั้น

          การรักษาสันติภาพเป็นเรื่องยุ่งยากกว่า แม้ว่าบ่อยครั้งจะเป็นการกระทำเนื่องจากเจตนาที่ดีอย่างเช่นกองกำลังรักษาสันติภาพที่นำโดยทหาร เพื่อยุติความขัดแย้งทั่วไปอันจะนำไปสู่สันติภาพ แม้ว่ารูปแบบการรักษาสันติภาพเช่นนี้อาจช่วยลดระดับผลกระทบจากความขัดแย้งลงไปได้ แต่ก็ไม่สามารถสร้างหลักประกันว่าจะเกิดสันติภาพในระยะยาวได้ การรักษาสันติภาพแบบนี้อาจช่วยไม่ให้เกิดความรุนแรงในระยะสั้น แต่เรื่องที่สำคัญยิ่งกว่าคือการแก้ปัญหาอันเป็นรากเหง้าของความรุนแรงนั้น ด้วยวิธีการเช่นนี้สันติภาพอย่างยั่งยืนจึงจะเกิดขึ้นได้

          ทั้งเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องตระหนักว่า การแทรกแซงที่เราคิดว่าไม่รุนแรงอาจนำไปสู่ความรุนแรงก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น การคว่ำบาตรด้านเศรษฐกิจต่ออิรัก ทำให้คนจำนวนมากต้องตายไป มากกว่าจำนวนคนที่ตายเพราะการทิ้งระเบิดในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซียเสียอีก การรักษาสันติภาพในรูปแบบเหล่านี้อยู่บนพื้นฐานของการข่มขู่หรือบังคับ ในขณะที่ท่าทีแบบไม่ใช้ความรุนแรงอยู่บนพื้นฐานของเมตตาและกรุณา ท่านทะไลลามะใช้คำว่า “ความรับผิดชอบสากล” เพื่ออธิบายถึงแรงจูงใจเพื่อจะแก้ไขความขัดแย้งอย่างไม่ใช้ความรุนแรง ผู้มีความเชื่อแบบเควกเกอร์สามารถหยุดยั้งการปิดกั้นการส่งอาหารให้กับเยอรมนีและออสเตรีย (Food Blockade) ภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แรงจูงใจของพวกเขามาจาก “ความรับผิดชอบสากล” ที่มีต่อประชาชนของเยอรมนีและออสเตรีย ๓๐ ปีให้หลัง พวกเขาสามารถช่วยชีวิตชาวยิวในประเทศเยอรมนีในช่วงที่สงครามรุนแรงถึงขีดสุด พวกเขาไม่ได้ใช้วิธีขู่จะลงโทษ พวกเขาใช้ความรักและความใส่ใจที่มีต่อผู้อื่นเป็นแรงขับเคลื่อนของการปฏิบัติการ ทั้งนี้เพราะพวกเขาเข้าแทรกแซงอย่างปราศจากการข่มขู่ การแทรกแซงของพวกเขาจึงมักเป็นที่ยอมรับแม้ในช่วงที่มีความรุนแรงอย่างมาก

          คนจำนวนน้อยสามารถเข้าไปแทรกแซงในสถานการณ์ที่รุนแรงอย่างมาก ด้วยจิตใจอันเปี่ยมด้วยอหิงสา และสามารถลดความขัดแย้งลงได้โดยไม่ทำให้เกิดผู้ได้รับบาดเจ็บสักรายเดียว แต่สื่อมวลชนมักไม่ให้ความสนใจต่อการกระทำเหล่านี้ และผู้กระทำการเหล่านี้มักจะเป็นผู้มีอุดมการณ์และทำงานโดยได้รับความช่วยเหลือเพียงน้อยนิด ลองคิดดูว่าแม้พวกเขาจะได้รับความช่วยเหลือเพียงน้อยนิดแต่ก็สามารถทำการใหญ่ได้สำเร็จ ถ้าเช่นนั้นหากมีผู้มาเข้าร่วมงานเช่นนี้มากยิ่งขึ้น ผลที่ได้รับก็คงจะยิ่งใหญ่ และในที่สุดก็จะได้รับความสนับสนุนในทำนองเดียวกับความขัดแย้งอย่างอื่น ๆ โดยทั่วไปวีรกรรมเช่นนี้มักเป็นที่ยอมรับของรัฐบาลและสถาบันต่าง ๆ แต่ชาวเควกเกอร์กลับถูกประณามโดยรัฐบาลสหรัฐ สำหรับการให้ความช่วยเหลืออย่างเท่าเทียม ต่อทั้งเวียดนามเหนือและใต้ในช่วงทศวรรษ ๑๙๖๐

          ตัวอย่างของการใช้สันติวิธีจนสำเร็จในหลายทศวรรษที่ผ่านมามีอยู่มากมาย อย่างเช่น การโค่นล้มระบอบเผด็จการอย่างสันติในประเทศไทยในเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ การโค่นล้มรัฐบาลของนายมาร์กอส ในประเทศฟิลิปปินส์ การล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกในปี ๒๕๓๒ การบังคับบัญชาของนายชานานา กุสเมาเพื่อให้กองกำลังเฟลินติน ไม่ตอบโต้และซ่อนตัวอยู่ในป่า ในช่วงที่ทหารรับจ้างอินโดนีเซียสร้างความเสียหายไปทั่วประเทศ ภายหลังการลงประชามติในปี ๒๕๓๒ และอื่น ๆ

          สันติวิธีต้องอาศัยความกล้าหาญอย่างมาก มันไม่ได้หมายถึงการหลบหนีหรือไม่ทำอะไรเลย แต่เป็นพลังที่เข้มแข็ง ภาพของผู้ประท้วงคนหนึ่งที่ยืนอยู่หน้ารถถังในจตุรัสเทียนอันเหมิน นางอองซานซูจีที่เผชิญหน้ากับระบอบทหารพม่าอย่างมีเจตจำนงแน่วแน่ เป็นเหตุการณ์อย่างน้อยสองประการ ที่มีพลังที่เตือนให้เรารำลึกถึงความกล้าหาญ อันเป็นพื้นฐานสำคัญของการไม่ใช้ความรุนแรง

          แม้ว่าการสร้างวัฒนธรรมแห่งสันติจะมีความสำคัญมากที่สุด และการป้องกันจะสำคัญกว่าการแก้ไข เราก็ยังจำเป็นต้องพัฒนาท่าทีต่อสถานการณ์ที่รุนแรงด้วยวิธีการอันสร้างสรรค์และไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งจะมีประสิทธิภาพอย่างมาก และจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายในความขัดแย้ง บ่อยครั้งเรามักพอใจกับสถานภาพที่เรามีอยู่ แต่เหตุการณ์ ๑๑ กันยายน ทำให้ความเชื่อมั่นต่อสถานภาพที่มีอยู่สั่นคลอน และทำให้เราต้องตรวจสอบสถานการณ์ใหม่อย่างระมัดระวัง

          สังคมได้ลงทุนให้กับสงครามและความรุนแรงไปมากแล้ว หากเราจะลงทุนเช่นนั้นให้กับสันติภาพ และการไม่ใช้ความรุนแรง ก็ย่อมจะยังให้เกิดประโยชน์อย่างมากจนสุดจะหยั่งคะเน ดังที่ท่านมหาตมะคานธีกล่าวไว้ว่า “พวกเรารู้สึกประหลาดใจอยู่ตลอดเวลาในทุกวันนี้ต่อการค้นพบมากมายที่เกิดขึ้นในมณฑลแห่งความรุนแรง แต่ข้าพเจ้าขอยืนยันว่าการค้นพบของเราในพรมแดนของสันติวิธี จะมีมากยิ่งกว่าจนสุดจะจินตนาการหรือคาดการณ์ได้”

          ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาได้กลายเป็นมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวในโลก นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองยุติลง สหรัฐอเมริกาได้ครอบงำโลกด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจและการทหาร และนับจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตก็ยังไม่มีใครท้าทายบทบาทของสหรัฐอเมริกาได้ แต่กระนั้นอำนาจที่แท้จริงของสหรัฐอเมริกาไม่ได้ขึ้นอยู่กับพลังทางทหารและเศรษฐกิจ แต่อยู่บนพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ สถาบันในระบอบประชาธิปไตย อุดมการณ์เพื่อเสรีภาพและความยุติธรรมสำหรับทุกหมู่ชน จิตวิญญาณแห่งความเมตตาและกรุณา และบทบาทผู้นำอย่างสำคัญของสหรัฐอเมริกา ในการสถาปนาองค์การสหประชาชาติ และการส่งเสริมค่านิยมเพื่อความสัมพันธ์ระหว่างนานาชาติ ทุกวันนี้สหรัฐอเมริกากำลังอยู่ ณ ทางสองแพร่ง สหรัฐอเมริกาจะเคลื่อนไปข้างหน้าแบบคลั่งอำนาจ ชาตินิยม เคลื่อนไปโดยไม่สนใจผู้อื่นว่าจะรักเราหรือละทิ้งเราไป หรือสหรัฐอเมริกาจะทำหน้าที่ผู้นำโลกอย่างใหม ่ด้วยการส่งเสริมสันติภาพและความยุติธรรม ส่งเสริมสถาบันทางการเมืองอันเป็นประชาธิปไตย ส่งเสริมให้เกิดระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและเท่าเทียมมากยิ่งขึ้นทั่วโลก

          ข้าพเจ้าหวังว่าหายนกรรมวันที่ ๑๑ กันยายน จะไม่บ่มเพาะให้เกิดเมล็ดพันธุ์แห่งความโกรธและความแค้น แต่บ่มเพาะให้เกิดเมล็ดพันธุ์แห่งสันติ ซึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจให้ประเทศนี้ เกิดความสำนึกอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นต่อการพึ่งพิงอิงอาศัยกัน ระหว่างชาติทั้งหลายและชุมชนของสิ่งมีชีวิต และเพื่อท้าทายให้มุ่งปฏิบัติการเพื่อให้เกิดสันติภาพโลก ซึ่งจะดีเด่นยิ่งกว่าสิ่งที่สหรัฐอเมริกา เคยทำมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์โลกที่ถูกสงครามทำลายไป

          ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า เราจะมีจินตนาการและความกล้าหาญ ที่จะดำเนินการเช่นนั้น เพื่อให้เกิดการค้นพบนั้นได้อย่างไร. .


*เมื่อข้าพเจ้าแสดงปาฐกถานี้เป็นครั้งแรกที่ มหาวิทยาลัยสวาร์ธมัวร์ ผู้ฟังจำนวนหนึ่งคิดว่า ข้าพเจ้าเปรียบเปรยว่าประธานาธิบดีบุชเหมือนกับนายฮิตเลอร์หรือนายสตาลิน ทั้ง ๆ ที่ข้าพเจ้าหามีเจตนาเช่นนั้นไม่ อย่างไรก็ตาม ในระหว่างปี ๒๔๗๕ และ ๒๕๑๕ ชาวอเมริกัน ๔๐๐ คนในรัฐอัลลาบามา ซึ่งล้วนเป็นคนผิวดำและยากจน ได้ถูกใช้เป็นหนูทดลอ งสำหรับโครงการของกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการศึกษาถึงผลกระทบในระยะยาวของโรคซิฟิลิส ผู้เข้ารับการทดลองต่างได้รับสัญญาว่าจะได้รับบริการสุขภาพฟรีและได้รับสิทธิประโยชน์อย่างอื่น ๆ (รวมทั้งเงินจำนวน ๕,๐๐๐ เหรียญเพื่อเป็นค่าทำศพ) ถ้าพวกเขาตกลงจะมาตรวจรักษาอย่างสม่ำเสมอ แต่ในความจริงพวกเขาไม่ได้รับการบำบัดใด ๆ เลยเรื่องนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า The Tuskegee Study of Untreated Syphilis in the Negro Male และเป็นการศึกษาถึงการพัฒนาของโรคซิฟิลิสที่ไม่ได้รับการบำบัด โดยเป็นการศึกษาของแพทย์และนักวิทยาศาสตร์เรืองนาม ผู้ที่ในเวลาต่อมาได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยในนิตยสารด้านแพทยศาสตร์ที่มีชื่อเสียงดุจเดียวกัน คนไข้ทั้ง ๒๘ คนตายไปเพราะโรคนี้และอีก ๑๐๐ คน เผชิญกับการแทรกซ้อนของโรคในขั้นที่สอง ในขณะที่ภรรยา ๔๐ คน และบุตรอีก ๑๙ คนต่างได้รับเชื้อนี้ด้วย

          การศึกษาครั้งนั้นต้องจบลงกลางคันเนื่องจากนายจีน เฮนเลอร์ ผู้สื่อข่าวได้ตีแผ่เรื่องนี้ต่อสาธารณชน ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดของกระทรวงสาธารณสุขที่ทำการศึกษาออกมากล่าวแสดงความเสียใจแม้แต่น้อย แต่พวกเขาไม่ใช่หมอที่เป็นพวกนาซี เหยื่อเหล่านั้นได้รับค่าชดเชยเล็กน้อยในท้ายที่สุด แต่ไม่มีการดำเนินคดีต่อแพทย์ท่านใดเลย จนกระทั่งเมื่อปี ๒๕๔๐ นี้เอง ประธานาธิบดีคลินตันกล่าวขอโทษเรื่องนี้ในนามของประชาชนชาวอเมริกัน นายมีชัย วีระไวทย ะซึ่งประสบความสำเร็จกับโครงการวางแผนครอบครัว ก็อาจจะได้ประสบการณ์จากการทดลองของชาวอเมริกันในรัฐอัลบามา และได้ปรับใช้กับการทดลองของเขา เพื่อหยุดยั้งการเจริญพันธุ์ในหมู่คนยากจนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โดยไม่มีใครออกมาวิจารณ์อย่างเปิดเผยบนพื้นฐานของศีลธรรมและวัฒนธรรม

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :