เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรมฉบับ ๕๔

เสขิยบุคคล
สุชาดา จักรพิสุทธิ์

ผู้หญิงกับพื้นที่ทางสังคม

 

พื้นที่ของผู้หญิงในสังคมไทย เคยถูกคิดถูกมองว่ามีอยู่แต่เพียงโลกภายในบ้าน เพราะผู้หญิงคือผู้ดูแลทุกข์สุขให้คนในบ้านกินอิ่มนอนอุ่น อบรมเลี้ยงดูเยาวชน เป็นผู้จัดการและเก็บงำเศรษฐกิจของครัวเรือน การงานและผลผลิตของผู้หญิงไม่ถูกนับว่ามีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพราะนี่เป็นเพียงกิจกรรมชีวิตธรรมดา ๆ ของโลกภายในบ้าน เสมือนหนึ่งเป็นบทบาทหน้าที่โดยกำเนิดของผู้หญิง ซึ่งผู้หญิงเองก็ยอมรับเข้าไว้ในจิตสำนึกของตน ในขณะที่โลกนอกบ้านต่างหากที่เป็นพื้นที่ของผู้ชาย และผู้ชายแหละที่จะสร้างบ้านแปงเมือง สร้างอำนาจและเกียรติยศ ทำการผลิตในเชิงมูลค่าทางเศรษฐกิจ ผู้ชายจึงเป็นช้างเท้าหน้า ที่มีบทบาทชี้นำครอบครัว และเป็นผู้ครอบครองพื้นที่อันเป็นทางการของสังคมตลอดมาเนิ่นนาน

          แต่ว่าในความเป็นจริง ฐานความคิดและวัฒนธรรมไทย ไม่ได้แบ่งแยกพื้นที่ของผู้หญิงผู้ชายออกจากกันเช่นนั้น เพราะทั้งผู้หญิงและผู้ชายในระบบเศรษฐกิจเกษตรกรรม จำเป็นที่ต้องระดมแรงงานทำการผลิตร่วมกัน ออกไปทำมาค้าขายข้ามถิ่น หรือแม้กระทั่งต้องเป็นกำลังในการรบทัพจับศึกยามบ้านเมืองวิกฤต ความคิดแยกส่วนเรื่องพื้นที่ของผู้หญิงผู้ชาย จึงเป็นวิธีคิดแบบเหตุผลนิยมและเพศสภาพ (gender) ที่ใช้อธิบายบทบาทหญิงชายในชั้นหลังนี้

          อย่างไรก็ดี หลายทศวรรษมานี้ ปรากฏผู้หญิงไทยจำนวนมากขึ้นทุกที ที่พาตัวเองออกสู่โลกนอกบ้านและเข้าสู่พื้นที่ทางสังคม ทั้งจากการงานอาชีพที่เปลี่ยนไปและสถานภาพทางการศึกษา ผู้หญิงเรียนรู้ที่จะหาพื้นที่และสร้างพื้นที่ของผู้หญิงไทยยุคใหม่ในบทบาทหน้าที่ต่าง ๆ กัน ส่วนหนึ่งยินดีที่จะเป็นไม้ประดับตามองค์กร – สถานประกอบการ ส่วนหนึ่งผลักดันตัวเองเข้าสู่เส้นทางการเมืองและอำนาจเฉกเช่นผู้ชาย หรือผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่คิดว่า ตัวเองมีมันสมองซีกซ้ายเจริญพอ ๆ กับผู้ชาย ก็เลือกจะมีบทบาททางวิชาการ หรือทางการบริหาร

          ผู้หญิงที่เข้าสู่เส้นทางและพื้นที่ต่าง ๆ เหล่านี้ ต่างก็มีวิธีคิด วิธีการและท่าทีในการดำรงอยู่ในพื้นที่ทางสังคมที่ว่านี้ต่าง ๆ กันไป ผู้หญิงที่เป็นหัวหน้าครอบครัวหรือเป็นแม่ที่เลี้ยงลูกตามลำพัง อาจต้องมีบทบาทรอบตัวทั้งในบ้านและนอกบ้าน เป็นทั้งพ่อและแม่ของลูก หรือเป็นผู้บริหารที่ต้องฟาดฟันกับเกมธุรกิจไปพร้อมกัน ในขณะเดียวกัน สังคมไทยกำลังมีอัตราเพิ่มของผู้หญิงโสดหรือเลือกที่จะเป็นโสดมากขึ้น ๆ ถึงยี่สิบกว่าเปอร์เซนต์ในรอบสิบปีนี้ จึงเป็นเรื่องน่าคิดอย่างยิ่งว่าพื้นที่ของผู้หญิงที่เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญนี้ มีผลต่อโลกทัศน์และกระบวนทัศน์ความเป็นผู้หญิงอย่างไร?

ที่หลวงพระบาง

          เครือมาศ วุฒิการณ์ ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งมีชีวิตที่เลือกได้

          เครือมาศหรือ “อาจารย์ติ่ง” ของใคร ๆ เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่เข้าสู่พื้นที่ทางสังคมด้วยอาชีพการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย นอกจากปณิธานที่จะเป็นครูที่ดีของศิษย์ เธอยังเลือกที่จะเปิดโลกแคบของมหาวิทยาลัยออกสู่ภายนอก ด้วยการอุทิศตนในกิจกรรมทางสังคมนานัปการ และอาสาเข้าร่วมในปฏิบัติการทางวัฒนธรรมหลายอย่างที่ทั้งเหนื่อยและยาก ตั้งแต่การจัดอภิปราย เสวนา นิทรรศการ ไปถึงการรณรงค์ประเด็นการเมือง เวทีระดับนานาชาติ และงานด้านวิชาการ ทั้งในตำแหน่งทางการงานและในฐานะผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งซึ่งมี “จิตใหญ่” สิ่งที่น่าศึกษาจากเครือมาศ ไม่ใช่บุคลิกภาพอันอ่อนโยน กับท่าทีที่เมตตาต่อผู้อื่นอยู่เสมอเท่านั้น อีกทั้งไม่ใช่เพียงจิตวิญญาณความรักท้องถิ่นที่เธอแสดงออกในทุก ๆ จริยวัตร หากแต่คือ “ธรรมชาติ” และ “ความรัก” ที่แท้อันยิ่งใหญ่ของผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเธอมีหรือเธอฝึกฝนจนเป็นลมหายใจธรรมดา ๆ ในชีวิต

          เมื่อเครือมาศเลือกชีวิตอย่างผู้หญิงโสด เธอก็ไม่ได้สร้างเกราะป้องกันตัวเองด้วยการปิดฉลาก faminist อย่างที่หลาย ๆ คนทำเพื่อเป็นข้อแก้ขวยหรือเพิ่มมูลค่าแก่ตัว ความคิดเห็นของเธอที่มีต่อเรื่องต่าง ๆ เป็นเพียงความคิดเห็นตามอารมณ์ความรู้สึกอย่างผู้หญิง จากมุมเล็ก ๆ หรือส่วนลึกที่ชวนคิด เป็นโลกทัศน์แบบผู้หญิงที่ไม่ชอบการหักหาญเอาชนะ หากแต่มุ่งประสานและแบ่งปัน ให้โอกาสให้ความเป็นมิตร จนกล่าวได้ว่าเธอใช้ความเป็นผู้ยิ้งผู้หญิงในพื้นที่ทางสังคม อย่างที่ผู้หญิงน้อยคนนักในพื้นที่ทางสังคมจะเป็นได้อย่างเธอ

          จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ผู้หญิงส่วนหนึ่งในพื้นที่ทางสังคม เรียนรู้หรือพยายามใช้วิธีคิดและวิธีจัดการปัญหาแบบผู้ชายเพื่อสร้างการยอมรับหรือรองรับการมีอยู่ของตน ด้วยการแสดงความมีเหตุมีผล พูดจามีหลักตรรกะ ใช้ทักษะด้านความกล้าคิดกล้าทำกล้าเสี่ยง เป็นนักจัดการ เป็นผู้นำ เป็นผู้ชำนาญการในโลกนอกบ้าน ฯลฯ และพยายามเก็บงำความเป็นผู้หญิงของตนไว้โดยคิดว่านั่นอาจเป็นข้ออ่อนด้อยเสียเปรียบทางสังคม

          แต่ผู้หญิงคนหนึ่งอย่างเครือมาศได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พื้นที่ทางสังคมที่กำลังร้อนรุ่มและแตกแยกหลากหลายนี้ ไม่ได้ต้องการผู้หญิงในฐานะหุ้นส่วนทางสังคมที่ใช้พละกำลังและมันสมองเยี่ยงอย่างผู้ชายเท่านั้น หากแต่ต้องการผู้หญิงในฐานะผู้หญิงที่ยกระดับจิตใจและความรักของเธอแผ่กว้างให้แก่สังคม อย่างที่ธรรมชาติในตนของผู้หญิงมีอยู่แล้ว

          แด่…เครือมาศ วุฒิการณ์ ผู้หญิงแห่งศรัทธา ขอความเป็นผู้หญิงอย่างเครือมาศ งอกงามและร่มเย็นต่อไปในทุกพื้นที่ของสังคมไทย

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :