เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรมฉบับ ๕๔

เสขิยทัศน์
สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง ผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรม
ณ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร
วันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๕ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๑.๓๐ น.

ปาฐกถา ๙ ปี มรณกรรมพุทธทาส อย่าให้ไชยาเหลือแต่ไข่เค็มกับท่านพุทธทาส

ความเปลี่ยนแปลง" เกิดขึ้นได้เสมอ ด้วยเงื่อนไขนานับประการ ภายใต้ "อิทัปปัจจยตา" อันยากยิ่งที่มนุษย์จะควบคุม – บังคับ แต่อย่างไรก็ตาม ด้วย เหตุและผล ของ กฎธรรมชาติ เราสามารถสร้างเหตุปัจจัยและเงื่อนไขต่าง ๆ ขึ้นมาได้ ไม่มากก็น้อย คือ สร้าง เหตุ เพื่อให้เกิด ผล ดังที่ปรารถนา นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมมนุษย์จึงต้องศึกษาประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ ด้านหนึ่งก็เพื่อเป็นการสรุปบทเรียนที่ผ่านมา และช่วยลดทอนความพลั้งพลาด ในการที่จะต้องก้าวย่ำลงไปบนร่องรอยเดิม ซึ่งคนในรุ่นที่ผ่านมา เลือก ที่จะไม่เดินอีกต่อไปแล้ว

          บทสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นได้ด้วยความอนุเคราะห์ของอาจารย์เอกวิทย์ ณ ถลาง ที่ให้โอกาสแก่ "จดหมายข่าวเสขิยธรรม" และ "กลุ่มพุทธทาสศึกษา" ทั้งเวลาในการสัมภาษณ์ และการช่วยเหลือตรวจทานความถูกต้องของต้นฉบับ

          กองบรรณาธิการฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การย้อนกลับไปสู่บรรยากาศเก่า ๆ ของ "สวนโมกขพลาราม" และร่วมระลึกถึงการสอนธรรมะแก่พระนวกะในพรรษา ของ "ท่านอาจารย์" ที่ปรากฏอยู่นี้ จะช่วยให้ผู้สนใจ ได้เติมเต็มภาพ “พุทธทาสภิกขุ” ให้แจ่มชัดยิ่งขึ้น อีกทั้งยังจะเป็นประโยชน์ สำหรับการจัด "กระบวนการเรียนรู้" ให้แก่พระเณรในช่วงเข้าพรรษา ทั้งในวัดหรือสำนักเรียน ต่าง ๆ ตลอดจนใน “สวนโมกขพลาราม” เอง”

.... .... .... .... ....

 

เสขิยธรรม : เหตุใดอาจารย์ถึงได้ตัดสินใจบวช เข้าพรรษา และจำพรรษาที่สวนโมกข์

อ.เอกวิทย์ : ครับผม คุณพ่อผมมีความเคารพนับถืออาจารย์ท่านพุทธทาส และพี่ชายผม ๒ คน คือ พี่วทัญญู ณ ถลาง และพี่หมออติเรก ณ ถลาง ก็เป็นศิษย์สวนโมกข์ได้บวชที่นั่นก่อนแล้ว ก็เห็นอานิสสงส์อยู่ว่าทำให้ท่านมีหลักหลักยืดถือที่เป็นแก่นพุทธธรรม ตลอดจนมีสุขุมรอบคอบและเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ช่วงนั้นผมก็อายุเข้าเลขสาม เพิ่งจบการศึกษาทางโลกมาใหม่ ๆ และมาเพิ่งรับราชการได้ ๒ ปี รู้ตัวยังมีอะไรรุ่มร้อนอยู่มาก แม้จะเรียนทางโลกมามากพอสมควร แต่ยังปลงไม่ตกหลายอย่าง ยังมีอัตตาสูง ยังมีความมุทะลุดุดัน ยังปรับตัวไม่ค่อยถูกต้องนัก

          จบการศึกษาจากต่างประเทศแล้วมาทำราชการในตำแหน่งหน้าที่ที่รู้สึกว่าต่ำต้อย คือทางราชการบรรจุเป็นครูประชาบาล ทั้ง ๆ ที่จบการศึกษาปริญญาเอกจากต่างประเทศ มีความน้อยเนื้อต่ำใจอะไรหลายอย่าง

          ดังนั้นคุณพ่อผมท่านเห็นอาการแล้วท่านปรารภกับผมว่า บวชดีไหม ผมบอกว่า ผมยินดี แต่ต้องถามทางราชการดูก่อน เพราะผมเป็นคนของราชการ ได้รับทุนของรัฐบาลไปศึกษาต่างประเทศต้องทำงานชดใช้ บังเอิญเจ้านายผม ผู้อำนวยการกองยุคนั้น คุณช่วย แสงสุชาติ ท่านเคารพนับถือท่านอาจารย์พุทธทาสมากอยู่แล้ว ท่านบอกว่าผมไม่เคยไปบวชกับท่านอาจารย์พระพุทธทาสแต่เป็น “ศิษย์ของท่านโดยธรรม” เพราะอ่านและติดตามความคิดและวัตรปฏิบัติท่านตลอดมา

          ผมก็เลยได้แรงบันดาลใจทั้งจากคุณพ่อและจากผู้บังคับบัญชาชั้นต้นที่ดูแลผมอยู่คือ โดยส่วนตัวผมเอง ก็เกิดสำนึกอยู่แล้วว่า เราไม่ควรหลงตัวเอง อวดดีว่ารู้อะไรมามาก สิ่งที่เรายังขาดอย่างยิ่งคือความรู้ในทางธรรมยังไม่มี ชีวิตเราจึงยังไม่สมดุลย์ ถ้าไปบวชคงจะได้อะไรดี ๆ กระมัง เลยตัดสินใจบวชและขอลากับทางราชการ อธิบดีกรมสามัญศึกษาขณะนั้นคือคุณอภัย จันทวิมล ท่านก็อนุมัติด้วยดี ผมก็เลยไปบวชที่สวนโมกข์ในพรรษา ๒๕๐๕ ครับ

 

เสขิยธรรม : ความยึดมั่นถือมั่น และความน้อยเนื้อต่ำใจที่กล่าวข้างต้น อาจารย์รู้สึกในขณะนั้น หรือทบทวนจากปัจจุบัน

อ.เอกวิทย์ : ทั้ง ๒ อย่างครับ แล้วในช่วงนั้นผมก็รู้สึก ยังจำความรู้สึกของตัวเองได้ว่า ช่วงปี ๐๕ นั้น ผมรู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ มีอัตตาสูงเพราะก็คิดว่าเราเรียนมาสูง สมัยนั้นคนเมืองไทยที่เรียนจบปริญญาเอกจากต่างประเทศมีน้อยมาก นับนิ้วมือได้ ก็หลงตัวเองอยู่บ้าง แล้วก็หลงว่าเราเรียนวิชาความรู้มาในระดับที่ลึกซึ้งแตกฉานพอควรในสาขาที่เราเรียน ก็หลงตัวเองอยู่ครับ

          นอกจากนั้น ความเป็นจริงในชีวิต เมื่อมาอยู่ในราชการเงินเดือนราชการน้อย ไม่พอใช้ จะคิดจะทำอะไรอึดอัดติดขัดข้องไปหมด จะทำอะไรก็เป็นผู้น้อย ผู้บังคับบัญชาที่มีความรู้ไม่มากนัก เขาก็ทำตามที่เขาต้องการจะทำ ในเรื่องส่วนตัว คิดจะแต่งงานก็ยังแต่ไม่ได้ด้วย ปัญหา – อุปสรรคหลายประการ เราก็รู้สึกว่ามันขัดกับความรู้ ขัดหลักวิชาที่ร่ำเรียนมา หลายสิ่งหลายอย่าง ชีวิตตอนนั้นเลยรู้สึกเหนื่อยหน่ายเต็มที

"

ฉันเช้าก็แปดโมง ฉันเสร็จ
ท่านอาจารย์ก็จะตั้งประเด็น
ให้ความรู้แก่พวกเรา
และพวกเราอยากถามอะไรก็ถามได้
ท่านก็ปุจฉาวิสัชนาไป
บางทีท่านก็ถามกลับแบบโสเครติส
หรือแบบพญามิลินท์ ถามกลับ
เพื่อทดสอบความรู้ความเข้าใจของเรา
ถ้าผิด ท่านก็มีเมตตาบอกว่า
ยังไม่ถูกนัก ยังไม่ทะลุ
ที่ถูกนั้นควรจะเป็นอย่างไร
ให้ลองเอาไปคิดดู

"

เสขิยธรรม : ความสนใจธรรมะของคนในยุคปัจจุบัน กับในขณะนั้นแตกต่างกันหรือไม่

อ.เอกวิทย์ : ก็ขึ้นอยู่กับการอบรมเลี้ยงดูของแต่ละคนที่ได้รับมาครับ เกี่ยวกับพื้นฐานทางจิตใจของแต่ละคน ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ที่สนใจในทางธรรม และได้รับแรงกระแทก หรือแรงกระตุ้นจากสภาพแวดล้อม หรือเหตุปัจจัยที่มากระทบตัวและมีสำนึกดี ๆ คงจะมี จะมากจะน้อยผมไม่ทราบชัด

          ผมขอยกตัวอย่างลูกชายของผม ๒ คน ขณะนี้เขาทำงาน คนหนึ่งอยู่กระทรวงการต่างประเทศ อีกคนหนึ่งก็ทำงานเอกชนทำสำนักพิมพ์ ระดับผู้จัดการ ทั้ง ๒ คน กำลังเผชิญปัญหาหนัก ๆ และมีความทุกข์ ผมไม่เคยบังคับลูกเรื่องบวช ครอบครัวของผมมีความเป็นประชาธิปไตย เราคุยกันได้ทุกเรื่อง แต่ไม่เคยบังคับ พ่อแม่ไม่เคยครอบงำลูกว่า เอ็งต้องบวชเมื่อถึงวัยต้องบวช

          แต่อยู่ ๆ ทั้ง ๒ คน ต่างกรรมต่างวาระ เขาก็ปรารภกับผมว่า เขาอยากบวชอยากศึกษาตัวเอง อยากศึกษาโลก และมีมุมมองทางธรรม

          ผมก็ดีใจมาก เลยได้ข้อสมมติฐานในส่วนครอบครัวผมว่า ผมได้รับอิทธิพลนี้จากคุณพ่อผม แล้วก็จากท่านพุทธทาส เพราะผมก็อ่านท่านอยู่แล้วเมื่อแต่ครั้งเยาว์วัย ส่วนคุณพ่อผมก็มีอิทธิพลทางธรรมต่อผมอยู่แล้ว ผมคงจะส่งผ่านสำนึกเรื่องนี้ต่อไปยังลูก เขาก็เลยมีความรู้สึกคล้าย ๆ ผม เมื่อผมอายุเท่าเขาในปี ๐๕ ช่วงนี้ลูกผม ๒ คน เป็นอย่างนั้นทั้ง ๒ คน แต่เขาจะบวชและก็ทำได้สมปรารถนาเพียงใด ก็ต้องดูกันต่อไป

          ทว่ายุคใหม่ที่วัตถุนิยม บริโภคนิยมมันแรง และก็ทำให้คนเตลิดเปิดเปิงอยู่กับโลกียสุข หรือเป็นพวกสุขนิยม (Hedonist) จะมีสักกี่คนเกิดสำนึกอย่างนี้ อันนี้เป็นปัญหา แต่ผมคิดว่าถ้าถือหลักว่าความทุกข์ทำให้คนดิ้นรน แสวงหาสัจธรรมและวิธีดับทุกข์แล้วเกิดปัญญาได้ เราก็ไม่สิ้นหวังทีเดียวนะครับ โดยสรุปผมเห็นว่าความทุกข์บางทีก็เป็นสิ่งดีที่ทำให้คนเราฉลาดขึ้น มีสติปัญญามากขึ้น

 

เสขิยธรรม : อาจารย์เคยไปสวนโมกข์มาก่อนหรือเปล่า

อ.เอกวิทย์ : ผมไม่เคยไปมาก่อน ผมเคยแต่อ่านงานคิดงานเขียนของท่าน ติดตามความคิดท่าน และเมื่อครั้งพี่ผม ๒ คนบวชที่สวนโมกข์ ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ และ ๒๕๐๒ ผมก็เรียนอยู่ต่างประเทศ กลับมาทำราชการปี ๒๕๐๓ การบวชนั้นก็ต้องบวชที่วัดชยาราม จากวัดชยารามก็ขึ้นไปจำพรรษาตลอดพรรษาที่สวนโมกข์กับท่านอาจารย์

 

เสขิยธรรม : ช่วยเล่าถึงบรรยากาศสวนโมกข์ขณะนั้น

อ.เอกวิทย์ : สงบดีมากครับ อยู่กันท่ามกลางธรรมชาติ ป่าเขา และมีวิถีชีวิตแบบไทยชนบทที่เราคุ้นเคยและเติบโตมา รู้จักมา สิ่งแวดล้อมก็สมดุลย์ดี ข้าวปลาอาหารก็มีกินมีใช้ดีพอประมาณ ไม่ฟุ่มเฟือยแต่ก็ไม่ขาดแคลนอะไร ชาวบ้านก็กินอยู่อย่างสมถะเรียบง่าย ทำเลที่ตั้งสวนโมกข์ก็อยู่ปลีกออกไป แสวงหาความสงบความวิเวกได้ดี

 

เสขิยธรรม : พรรษานั้นมีพระกี่รูป

อ.เอกวิทย์ : บวชพร้อมผมมี ๓ องค์ครับ เป็นสถาปนิก ๒ องค์ และก็ผม ทั้งหมดพระช่วงนั้นก็มี สิบกว่าองค์ ถ้าผมจำไม่ผิดก็ประมาณ ๑๔ องค์ — ทั้งวัดครับ ความใกล้ชิดกับท่านอาจารย์มีมาก เมื่อเราบิณฑบาตตอนเช้ามาแล้ว มาฉันรวมกันที่โรงฉัน ท่านอาจารย์ถือเอาเวลาหลังฉันเช้าเป็นเวลาสำคัญในการอบรมกล่อมเกลานิสัย และปุจฉาวิสัชนากันในเรื่องที่เป็นสาระ ใครอยากถามอะไรก็ถามได้ หรือเรากิริยามารยาทไม่ดี มีความโลภโมโทสัน นอนไม่หลับหรืออะไรก็เอาประเด็นปัญหามาเรียนท่านเพื่อการแนะแนว โดยนำมาวิเคราะห์ทางจิตวิทยาและทางพุทธธรรม ผมนึกถึงคราใดก็รู้สึกเสมอว่าเป็นชั้นเรียนที่มีประโยชน์มาก

 

เสขิยธรรม : พอฉันภัตตาหารเช้าเสร็จก็มีเวลาที่จะมาสนทนาธรรม

อ.เอกวิทย์ : ครับผม ฉันเช้าก็แปดโมง ฉันเสร็จท่านอาจารย์ก็จะตั้งประเด็นให้ความรู้แก่พวกเรา และพวกเราอยากถามอะไรก็ถามได้ ท่านก็ปุจฉาวิสัชนาไป บางทีท่านก็ถามกลับแบบโสเครติสหรือแบบพญามิลินท์ ถามกลับเพื่อทดสอบความรู้ความเข้าใจของเรา ถ้าผิด ท่านก็มีเมตตาบอกว่ายังไม่ถูกนัก ยังไม่ทะลุ ที่ถูกนั้นควรจะเป็นอย่างไร ให้ลองเอาไปคิดดู

 

เสขิยธรรม : ท่านให้เวลามากแค่ไหน

อ.เอกวิทย์ : เป็นวัน ๆ ครับ ถ้าท่านมีกิจนิมนต์ หรือว่ามีภารกิจสำคัญที่ต้องไป เวลาสนทนาธรรมหลังฉันเช้าก็ไม่มาก วันไหนท่านไม่ติดอะไร ท่านจะอยู่กับเรานาน ก็ประมาณว่า ฉันแปดโมงนะครับ ฉันประเดี๋ยวเดียวก็เสร็จ ท่านจะนั่งสนทนากับเราอยู่จนถึง ๑๐ โมงโดยประมาณ มีขาดมีเกินบ้าง แล้วก็ฉันมื้อเดียว เพราะฉะนั้นพระในสวนโมกข์จึงมีเวลามาก ก็ไม่ต้องพะวงเรื่องฉันเพล เรื่องกิจนิมนต์หรือรับแขก เว้นแต่เป็นวันพระ ชาวบ้านมาทำบุญก็มีฉันเพลในโอกาสนั้นก็ต้องพร้อมเพรียง

 

เสขิยธรรม : ท่าทีของท่านอาจารย์ต่อการตั้งคำถามของเราเป็นอย่างไร เช่น สมมติว่าเราอาจจะตั้งคำถามที่ไม่เหมาะ ท่านอาจารย์ตั้งข้อสังเกตหรือเปล่า ว่าคำถามนี้ฉลาด/ไม่ฉลาด คำถามนี้เข้าท่า/ไม่เข้าท่า อะไรทำนองนี้

อ.เอกวิทย์ : มีครับมี แต่ว่าท่านก็ไม่ได้ด่าว่าอะไร ท่านบอกว่า “...อย่าถามอย่างนั้น ไปคิดใหม่แล้วมาถามใหม่ อย่ารีบร้อน ต้องเข้าใจอะไรมากกว่านี้จึงจะถามประเด็นนี้ได้...” อะไรทำนองนั้น หรือบางทีเราฉันเสร็จเรียบร้อย พร้อมจะสนทนาก็มีอาคันตุกะมาจากกรุงเทพฯ หรือจากไหน ๆ มาถึงก็กราบท่าน พอเงยหน้าก็ตั้งคำถามท่านเลย ท่านก็นิ่งไม่ตอบ ความนิ่งของท่านสะกดคนที่จะถามให้นิ่งด้วย สะกดเราด้วย ใช้ความนิ่งเป็นเครื่องมือในการทำให้คนสงบลง แล้วท่านก็บอก “...โยมไปอาบน้ำ ไปหาอะไรกิน ไปพักผ่อนเสียก่อนแล้วค่อยมาคุยกัน ถ้าจะไม่ค้างคืน ไว้บ่าย ๆ มาคุยกันดีกว่า พักผ่อนเดินเล่นให้ใจคอสบายเสียก่อน ให้ทั้งร่างกายและจิตใจผ่อนคลายก่อน ถ้าไม่รีบร้อนก็ค้างคืนที่นี่แล้วค่อยอยู่คุยกันดีกว่า...” ท่านมีอุบายอย่างนั้น

 

เสขิยธรรม : ระหว่างนั้นมีคนมาเยี่ยมสวนโมกข์ มีญาติโยมมากราบท่านมากไหม

อ.เอกวิทย์ : มีครับ ส่วนมากเป็นคนคุ้นเคยในไชยาที่เป็นลูกหลาน และเป็นชาวบ้านที่นับถืออยู่ แต่ว่าในครั้งนั้นก็ไม่มากครับ จะเป็นบางวัน ที่มากันเป็นหมู่คณะ

 

เสขิยธรรม : หลังจากชั้นเรียนหลังฉันจบจะได้พบท่านอาจารย์อีกเมื่อไหร่

อ.เอกวิทย์ : ตอนบ่ายครับ ตอนบ่ายเกือบทุกวัน ท่านจะเปิดชั้นเรียน ณ สถานที่เดียวกัน คือแปลงโรงฉันเป็นชั้นเรียน ท่านก็จะเทศน์เรื่อง “ตัวกูของกู” ตลอดพรรษานั้น ทุกคนฟังด้วยความตั้งใจ ฟังเสร็จก็ถามท่านได้ ถ้าสงสัยหรือไม่ชัดเจนตรงไหน ส่วนผมเองนั้น ไม่ทราบท่านนึกอย่างไร ท่านให้ผมเป็นคนบันทึกคำสอนทุกอย่าง แล้วให้แปลเป็นภาษาอังกฤษ

          การแปลเป็นภาษาอังกฤษนั้นผมต้องทำงานหนัก ต้องอยู่ดึก และเมื่อออกพรรษาผมต้องลาสิกขากลับมารับราชการ ผมแปลไม่เสร็จ เพราะผมประเมินว่าภาษาอังกฤษของผมในระดับภาษาธรรมยังไม่ดี ผมก็เลยค้างส่งการบ้านท่าน ซึ่งผมรู้สึกผิดมาจนบัดนี้ พอตอนหลังพอมาแปลเสร็จ ผมก็ไม่พอใจผลงานเลย ผมเลยไปกราบท่านว่า ผมยังทำไม่เรียบร้อย

          ก็แปลกใจที่ท่านไม่ได้ว่ากล่าวอะไร ท่านคงเห็นใจคนทำราชการกระมัง

 

เสขิยธรรม : ชั้นเรียนตอนบ่าย ใช้เวลานานหรือเปล่า

อ.เอกวิทย์ : ยืดหยุ่นครับ ปกติท่านจะบรรยายอยู่ราว ๆ ชั่วโมงเศษ แล้วให้เราอภิปรายซักถาม ถ้าไม่มีอะไรมากโดยเฉลี่ยก็ประมาณชั่วโมงครึ่ง แล้วถ้าท่านไม่มีธุระไปไหน ท่านก็เอาเรื่องปุจฉาวิสัชนาหรือสนทนาธรรมมาสานต่อหลังจากท่านบรรยายเสร็จก็มีเหมือนกัน

          ทุกอย่างยืดหยุ่นได้ เป็นไปตามอัธยาศัย ตามสบาย ไม่ได้เคร่งครัดเรื่องเวลาจนเกินไป

 

เสขิยธรรม : ไม่มีเวลาเริ่มต้น – เวลาจบที่แน่นอน

อ.เอกวิทย์ : มีครับมี มีเวลาแน่นอน แต่ว่าไม่ได้เคร่งครัดแบบสังคมอุตสาหกรรม เข้าใจกันว่า บ่ายโมงต้องพร้อมกันหมด ก่อนที่อาจารย์จะมา พวกเราต้องพร้อมหมดทุกคน ถ้าใครไม่มาไปตามให้มา และเมื่อมาแล้วมีเด็กไปกราบท่านว่าพร้อมแล้ว ท่านก็มา

 

เสขิยธรรม : มาฟังร่วมกันทั้งวัด?

อ.เอกวิทย์ : ลูกศิษย์ลูกหาที่ไม่ใช่พระ ที่เป็นเด็กวัดเท่าที่มีอยู่ ๒–๓ คน ก็มาฟังบ้าง คนที่มาขาจรจะมาฟังด้วยเป็นครั้งคราวแต่จำนวนไม่มากนัก ท่านก็ไม่ได้ว่าอะไร เนื้อหานี่ท่านจะเน้นไปที่หัวข้อที่ท่านเตรียมเอาไว้ ใครจะร่วมฟังด้วยก็ไม่ห้าม

          คนไม่มากครับ พระทั้งวัดที่ฟังท่านก็สิบกว่าองค์ คนมาสมทบด้วยก็ไม่มาก

 

เสขิยธรรม : ใช้เทปบันทึกเสียงหรือยัง

อ.เอกวิทย์ : บันทึกเสียงครับ

 

เสขิยธรรม : แต่ยังไม่ได้บรรยายผ่านเครื่องขยายเสียง

อ.เอกวิทย์ : ไม่ครับ เพราะว่าโรงธรรมหรือโรงฉันก็เป็นขนาดเล็ก แล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องขยายเสียงอะไร ผมว่าดีครับแบบนั้น รู้สึกมันใกล้ชิดและมันก็เป็นธรรมชาติดี บรรยากาศดีมาก

 

เสขิยธรรม : ท่านอาจารย์มาร่วมทำวัตรเช้า – เย็น ด้วยหรือเปล่า

อ.เอกวิทย์ : ไม่ครับ ปกติท่านจะไม่ร่วม แต่ว่ามีพระผู้ใหญ่ที่สวดมนต์ได้ดีมานำสวดให้พวกเราลงสวดมนต์ตอนเย็น ท่านไม่มาร่วม ยกเว้นเวลาสวดปาฏิโมกข์ ท่านจะนำสวดโดยตลอด

 

เสขิยธรรม : ใครเป็นคนนำสวดมนต์

อ.เอกวิทย์ : มีท่านไสวและพระพี่เลี้ยงอาวุโสองค์สององค์ หลวงตาไสว (ปัจจุบันมรณภาพแล้ว–บก.) ที่อยู่หลังวัด องค์นี้น่ารักมากครับ ท่านมีเมตตาต่อพวกเราสูง พวกเราหิวบ้าง พูดจาไม่ระมัดระวัง คึกคะนองบ้าง ท่านจะเมตตาพวกเรามาก และสอนแบบเข้าใจหัวอกลูกชาวบ้านอย่างพวกเรา เป็นที่พึ่งมากครับ

 

เสขิยธรรม : ก่อนทำวัตรเย็นก็มีน้ำปานะ…

อ.เอกวิทย์ : ครับผม เป็นน้ำปานะ แต่บางที บางวัน พวกผมกับพวกพระบวชใหม่ด้วยกันก็ทำอะไรที่ไม่ดีด้วยกันนะฮะ ผมขออนุญาตเล่าความไม่ดี

          คือความที่เราติดรสอาหาร และก็เคยกินข้าวเย็นเป็นประจำเมื่อเป็นฆราวาส แล้วอยู่ ๆ มาฉันมื้อเดียว มันทำให้หิวมาก บางวันเราทำงานโยธาครับ ทำงานโยธาพัฒนาวัดกัน ต้องขุดดิน ต้องทำความสะอาดวัด ทำอะไร ๆ อยู่บ่อย ๆ ก็เหนื่อยและหิว เพราะฉะนั้นสัก ๕ โมงเย็นจะหิว สิ่งที่เขาเอามาถวายตอนเย็นก็จะมีน้ำชา บางทีก็น้ำมะนาว วันไหนมีน้ำมะนาว พวกเราก็ดีใจ ผมเป็นพระไม่ดี ผมเอาพริกขี้หนูใส่ลงไป เกลือใส่ลงไป และผมสมมติว่ามันเป็นต้มยำ ติดรสครับ เสร็จแล้ว พอเรารู้สึกตัว ไอ้นี่เราหลงติดรสชาดมากไปแล้ว ก็ปลงอาบัติเสีย แต่ยอมรับว่าเป็นความไม่ดี มันก็ทุเลาความหิวไปได้ แต่รู้สึกว่าจะเห็นแก่กินไปหน่อย

 

เสขิยธรรม : บรรยากาศการทำงานในวันกรรมกร (วันโกน–ก่อนวันพระ ๑ วัน เป็นวันใช้แรงงานตามธรรมเนียมสวนโมกข์–บก.) เป็นอย่างไร

อ.เอกวิทย์ : ดีครับ ช่วย ๆ กันทำ ท่านอาจารย์จะมาอยู่ด้วย จะคอยเป็นคนชี้แนะ “...ตรงโน้นยังไม่เรียบร้อย ดูให้ดี คนนี้มีแรงต้องลงตรงนี้เพราะงานตรงนี้หนัก คนนอนดึกไม่ค่อยมีแรงอย่างเอกวิทย์ เป็นต้น ก็ไม่ต้องลงตรงนี้...” ท่านดูตลอด

          ท่านใช้คนตามอัธยาศัย และกำลังความสามารถ มีสถาปนิก ๒ คน คือท่านดิเรกกับท่านเอกชัยก็ให้เขียนแบบให้ท่าน ให้ทำงานศิลปะให้ท่าน ท่านใช้คนตามความถนัด ความชำนาญเฉพาะทางที่มี ผมนั้น ท่านเห็นว่าเรียนมาทางวิชาการศึกษา และวิชาอักษรศาสตร์เลยให้ทำงานหนังสือ ผมก็เลยต้องนอนดึกกว่าเพื่อน บางทีผมอดนอนมากเข้าก็ขบถกับท่านเหมือนกัน

"

มีใครไม่ทราบ
มาให้ความเห็นกับท่านว่า
ช่วงภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่น
ถ้าคนเราได้ฟังเทปดี ๆ
แล้วจะซึมซาบเข้าไปในสมอง
และในใจ
ทำให้ได้เรียนรู้อะไรดี ๆ
ท่านก็เลยเอามาทดลองกับพวกเรา
ท่านจะเชื่อแค่ไหนผมไม่ทราบ
ตีสองไปแล้ว
ท่านให้เปิดเทปลั่นป่าเลยนะ
ลองคิดดูเถิด
ผมเข้านอนสองยาม
ตีสอง ผมต้องฟังเทป
ทำให้ผมนอนไม่หลับเลยทั้งคืน
พอหลายคืนเข้า ผมก็กบฏ
กบฏโดยไม่ไปบิณฑบาต
เพราะมันเพลียเต็มที

"

 

เสขิยธรรม : หมายความว่าอย่างไร

อ.เอกวิทย์ : ขออนุญาตยกตัวอย่างครับ มีใครไม่ทราบมาให้ความเห็นกับท่านว่า ช่วงภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่น ถ้าคนเราได้ฟังเทปดี ๆ แล้วจะซึมซาบเข้าไปในสมองและในใจทำให้ได้เรียนรู้อะไรดี ๆ ท่านก็เลยเอามาทดลองกับพวกเรา ท่านจะเชื่อแค่ไหนผมไม่ทราบ ตีสองไปแล้วท่านให้เปิดเทปลั่นป่าเลยนะ ลองคิดดูเถิด ผมเข้านอนสองยาม ตีสอง ผมต้องฟังเทป ทำให้ผมนอนไม่หลับเลยทั้งคืน พอหลายคืนเข้า ผมก็กบฏ กบฏโดยไม่ไปบิณฑบาต เพราะมันเพลียเต็มที พอหลาย ๆ หนเข้า ร่างกายผมก็ไม่ไหว

          มีอยู่วันที่ผมโกรธท่าน ผมก็ล้างหน้าล้างตาเสร็จครองจีวรแล้วผมก็เดินไปหลังวัด ไปยืนอยู่ริมสระน้ำ ประเดี๋ยวเดียว ขณะที่ผมเดินไป ท่านเดินมาห่าง ๆ ถือไม้เท้ากุบ ๆ แล้วท่านก็มายืนอยู่ข้างหลังผม ผมก็ไม่เหลียวไปหาท่าน เพราะผมโมโหท่าน ท่านมายืนคุมอยู่ข้างหลัง สักพักหนึ่งท่ามกลางความเงียบ ท่านก็บอกผม “ดีนะ ตื่นเช้าอย่างนี้ มายืนสงบสติอารมณ์อย่างนี้ดีเหมือนกัน” ทำให้ผมรู้ทันทีว่าท่านรู้หมด หากแต่ผลจากวันนั้น จากวันนั้นเป็นต้นมาท่านหยุดครับ ที่เปิดเทปกลางดึก ท่านสั่งหยุด ท่านรู้หมดว่าลูกศิษย์คนไหนนอนไม่หลับ ร่างกายมันไม่ได้พัก มันโมโหแล้ว ท่านหยุดครับ นาน ๆ ถึงจะเปิดสักครั้ง ต่อมาก็รู้สึกว่าจะเลิกครับ

 

เสขิยธรรม : บรรยากาศการสวดปาฏิโมกข์ ลงอุโบสถเป็นอย่างไร

อ.เอกวิทย์ : วันสวดปาฏิโมกข์ท่านอาจารย์จะนำเอง แล้วท่านจะให้พระทุกองค์ขึ้นไปที่ยอดเขาพุทธทอง ไปนั่งในที่ที่จัดไว้ และท่านจะนำสวดปาฏิโมกข์ พวกเราพระบวชใหม่ก็ต้องเปิดตำราสวดมนต์ตามนั้นไปด้วย ผมก็ได้เรียนรู้ครับ ผมเคยมีความเห็นว่าการสวดมนต์ เราสวดแบบนกแก้วนกขุนทอง ไม่รู้เรื่องรู้ราว สวดดัง ๆ เป็นเรื่องที่ไม่ฉลาด และผมค่อนข้างแอนตี้เรื่องนี้อยู่ในทีมาตลอดพรรษา

          แต่ขณะที่ไปสวดปาฏิโมกข์ ความสงบ ความสำรวม และสิ่งแวดล้อมที่ดีงาม ทั้งหมดที่เป็นสภาวะในขณะนั้น เป็นองค์รวมที่สะกดเราได้ และคำสวดมนต์มันจูงเรา จูงจิตของเราเข้าสู่ภวังค์ ให้มีสมาธิและก็ให้ปล่อยวาง ละเว้นจากความฟุ้งซ่านทั้งหลายได้ดี ผมก็เลยได้เห็นคุณค่า ได้เห็นอานิสสงส์ของการสวดมนต์ และผมก็เลยได้วิสัชชนากันต่อมาว่าให้ดียิ่งขึ้นกว่านั้นก็คือเราควรทำความเข้าใจในคุณค่าการสวดมนต์

          แต่ที่ดีกว่านั้นขึ้นไปอีกคือบัณฑิตต้องหาความรู้ความเข้าใจจากทุกถ้อยคำที่สวดมนต์ออกมา เข้าใจเสียให้ถ่องแท้แล้วต่อจากนั้นจะสวดอย่างไร เราก็จะเข้าถึงคุณค่ามากขึ้น

 

เสขิยธรรม : ปัจจุบันใช้วิธีที่องค์ปาฏิโมกข์เป็นผู้สวด คนอื่นๆ ที่เหลือก็เป็นผู้ฟัง สมัยนั้นท่านอาจารย์ชวนว่าไปด้วยกันหรือ?

อ.เอกวิทย์ : ชวนว่าไปด้วยกัน แล้วก็พระที่ท่านท่านบวชมาหลายพรรษาแล้วก็ท่านก็ดูตำราบ้างแล้วก็บางองค์ก็ว่าปากเปล่าได้ แต่พระบวชใหม่ก็เปิดตำราอ่านตาม ก็ว่าตามกันไปด้วยกันทั้งหมดฮะ

 

เสขิยธรรม : เป็นการสวดปาฏิโมกข์แปลหรือบาลี?

อ.เอกวิทย์ : ช่วงที่ผมบวชนั้น สวดโดยไม่ได้แปลครับ แต่ว่าก่อนที่ ทุกวันตอนเช้าเมื่อฉันเสร็จนี่ เป็นเวลาสนทนาธรรม ท่านอาจารย์จะเอาสาระสำคัญของปาฎิโมกข์มาสอนมาวิเคราะห์ให้ฟัง หรือบางทีภาคบ่าย เมื่อเสร็จจากบรรยายเรื่องตัวกูของกูของท่านแล้ว ท่านก็จะชวนคุยและอ้างไปถึงสาระสำคัญที่มีในคำสวดปาฏิโมกข์บางตอน

          เพราะฉะนั้นเราจึงได้รับความรู้อย่างค่อยเป็นค่อยไปตามความเหมาะสมอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ได้จงใจที่จะเอาทุกถ้อยคำในปาฏิโมกข์มาแปลกัน ทำความเข้าใจกัน ไม่ถึงขนาดนั้น เพราะว่าระดับความรู้ของพระบวชใหม่อย่างพวกผมกับพระลูกชาวบ้านยังไม่ถึงระดับที่จะเข้าใจทุกถ้อยคำ

          และท่านคงเห็นว่าป่วยการ พวกนี้มันยังบัวใต้น้ำ หรืออย่างมากก็บัวปริ่มน้ำอยู่

 

เสขิยธรรม : วันสำคัญทางศาสนาต่าง ๆ มีชาวบ้านรอบๆ สวนโมกข์มาร่วมกิจกรรมหรือไม่

อ.เอกวิทย์ : มาครับ และที่สวนโมกข์นี่ ชาวบ้านสวดมนต์เก่งกว่าพระครับ พระสวนโมกข์สวดมนต์แล้วล่ม ล่มบ่อย พอล่มแล้วชาวบ้านจะช่วยต่อให้ช่วงที่เราสะดุดล่ม ชาวบ้านน่ารักมากครับ

          แต่ขณะเดียวกันท่านอาจารย์จะทดสอบชาวบ้านตลอดเวลาว่าไอ้ที่สวด ๆ น่ะเข้าใจไหม และบางทีก็บอกว่า “โยมมาฟังเทศน์ฟังธรรมทำบุญก็หลายปีแล้ว ถามตัวเองหน่อยได้ไหมว่า ได้ขึ้นชั้นหรือยัง” ชาวบ้านอึกอักตอบไม่ได้ ก็แปลว่าเหมือนเดิม ท่านจึงรู้จัก “ระดับ” ของชาวบ้านชาวพุทธดี

"

ชาวบ้านร้านถิ่นโดยทั่วไป
เป็นชาวพุทธโดยประเพณี
ติดอยู่กับสังคมประเพณี
ชอบพิธีกรรม
ชอบทำบุญทำทานอะไรตามประเพณี
ที่อยู่ในวัฒนธรรม
แต่การนับถือพุทธศาสนา
โดยการตีคุณค่า
หาความหมายแบบเจาะลึก
ไปยังแก่นพุทธธรรมนั้นเขาไม่คุ้น
เขารู้ว่าท่านอาจารย์ท่านลุ่มลึกแตกฉาน
แต่ว่าเขาไม่เข้าใกล้ เขากลัว
รู้สึกจะกลัว แล้วก็ไม่คุ้นเคยกับ
การนับถือพุทธ
โดยเข้าถึงแก่นของพุทธธรรม

"

 

เสขิยธรรม : ฟังดูเหมือนกับว่าครั้งนั้นชาวบ้านจะมาจากรอบ ๆ วัด มาจากไชยา มากกว่าที่จะไปจากกรุงเทพ ฯ หรือจากต่างจังหวัด

อ.เอกวิทย์ : ครับ เป็นคนในไชยานั้นเองที่มาเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีขาจรที่ไปจากกรุงเทพฯ อยู่เป็นครั้งเป็นคราวเหมือนกันครับ ก็หลายคนหลายคณะเหมือนกันนะ แต่ก็ไม่ถึงกับมะรุมมะตุ้ม

 

เสขิยธรรม : เพราะเหตุใดในปัจจุบันชาวบ้านโดยรอบ จึงเข้ามาร่วมกิจกรรมกับสวนโมกข์น้อยลง จะมีบ้างก็เฉพาะในวันสำคัญของท้องถิ่น เช่น วันตายาย–ศารทเดือนสิบ

อ.เอกวิทย์ : ยังไงไม่ทราบนะครับ แต่ผมก็ได้สังเกตร่วมกับหลายคนในช่วงที่ผมไปบวชว่า แม้แต่ในครั้งกระนั้น นอกจากชาวบ้านที่เป็นขาประจำ และชาวบ้านไชยาที่เป็นนักเรียนโรงเรียนพุทธนิคม หรือชาวบ้านของจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่รู้จักสวนโมกข์ดี เลยไปถึงเกาะสมุย ไม่ค่อยมา ชาวสุราษฎร์โดยรวมไม่ค่อยมา แต่ชาวบ้านที่เป็นโยมอุปัฏฐากขาประจำจะมา ชาวบ้านสวนยางและท้องนาแถวนั้นจะมา และก็ในเมืองมาบ้างไม่มาบ้าง นอกนั้นก็ผสมโดยคนที่มาจากทางไกลจากจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้ และจากกรุงเทพฯ แต่คนสุราษฎร์เองผมก็สังเกตมานานแล้วว่า เขาจะเคยชินหรือยังไงก็ไม่ทราบ หรือมีกิจภาระอย่างอื่นมาก มาน้อยครับ โดยส่วนรวมเราคิดว่าน่าจะมากกว่านี้ แต่กลับมาน้อยครับ

 

เสขิยธรรม : ขณะนั้นภาพโดยรวมของสังคมไทยมองท่านอาจารย์พุทธทาสอย่างไร

อ.เอกวิทย์ : ในความเห็นผม ต้องเรียนตรง ๆ ว่าคนภาคใต้ที่รู้ถึงความปราดเปรื่องความลึกซึ้งความสามารถของท่านมีกระจายอยู่ทั่วภาคใต้ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นปัญญาชนหรือเป็นคนที่ได้ศึกษาเล่าเรียนหรือได้เคยบวชเรียนมาระดับหนึ่ง คนเหล่านี้ก็จะทำมาหากินไป ก็อยู่เงียบ ๆ ไป แต่ก็เคารพท่านมาก

          แต่ว่าคนทำมาหากินหรือชาวบ้านร้านถิ่นทั่ว ๆ ไปก็เฉย ๆ กับท่านอาจารย์ ถ้าเปรียบเทียบแล้วคนกรุงเทพฯ และคนต่างประเทศและคนจังหวัดอื่น ๆ ทั่วราชอาณาจักรนับถือท่านหนาแน่นกว่า คนใต้เองเรื่อย ๆ เฉย ๆ มีที่รู้เข้าใจและเคารพจริง ๆ น่ะมี แต่ว่าคนจากที่อื่นไกลทำให้เรารู้สึกว่าท่านได้รับการยอมรับนับถือทั่วประเทศไปถึงต่างประเทศ แต่คนปักษ์ใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนสุราษฎร์เอง เฉย ๆ

          ถ้าจะพูดแรง ๆ ก็เหมือนใกล้เกลือกินด่าง แต่เราจะว่าอย่างนั้นเสียทีเดียวก็อาจจะไม่ยุติธรรมกับเขา ผมมีข้อสังเกตค่อนข้างชัดเจนครับว่า ท่านอาจารย์เป็นที่รู้จักและเคารพนับถือในทางธรรมสูงมาก กว้างขวางมาก ในระดับประเทศกับต่างประเทศ แต่คนปักษ์ใต้และคนสุราษฎร์เองค่อนข้างเฉย ๆ

 

เสขิยธรรม : มีเหตุปัจจัยอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ ที่ทำให้คนทั่วไปไม่สนใจธรรมะที่ท่านอาจารย์สอน นอกเหนือไปจากการอยู่ใกล้แล้วก็มองไม่เห็น

อ.เอกวิทย์ : ก็เป็นไปได้นะครับ ผมไม่มีข้อสรุปเรื่องนี้ แต่ผมมีข้อสังเกตเหมือนกันว่า ชาวบ้านร้านถิ่นโดยทั่วไปเป็นชาวพุทธโดยประเพณี ติดอยู่กับสังคมประเพณี ชอบพิธีกรรม ชอบทำบุญทำทานอะไรตามประเพณีที่อยู่ในวัฒนธรรม แต่การนับถือพุทธศาสนาโดยการตีคุณค่าหาความหมายแบบเจาะลึกไปยังแก่นพุทธธรรมนั้นเขาไม่คุ้น เขารู้ว่าท่านอาจารย์ท่านลุ่มลึกแตกฉาน แต่ว่าเขาไม่เข้าใกล้ เขากลัว รู้สึกจะกลัว แล้วก็ไม่คุ้นเคยกับการนับถือพุทธโดยเข้าถึงแก่นของพุทธธรรม

          ที่ผมได้ทราบเพราะผมมีข้อสังเกตว่า เวลาท่านวิสาสะกับพระที่เป็นลูกชาวบ้านจบแค่ ป.๔ ท่านจะพูดเสมอว่า แค่ ป. ๔ มันไม่รู้อะไรหรอกแล้วบวชตามประเพณีมันก็ยังไม่รู้อะไรหรอก ต้องคนมีฉันทะมีความเข้าใจและตั้งใจที่จะมาบวชมันถึงจะได้ แค่บวชตามประเพณีท่านพูดหลายหนว่ามันไม่ได้อะไร บวชก็บวชไปอย่างนั้นแหละ ต้องเป็นคนใฝ่ใจและท่านก็พูดไปถึงคนต่างประเทศว่า พวกนี้มันอ่านมากมันรู้มาก มันตั้งใจและมีศรัทธา แต่ก็มีน้อยราย ถึงจะมาบวช

          ความในใจของท่านที่ท่านพูด จนทำให้พวกเรารู้ ก็คือสิ่งที่ท่านเห็นว่าน่าจะคือ บัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยหรือการศึกษาที่สูงระดับหนึ่ง และผ่านชีวิตมาพอสมควรไม่จำเป็นต้องอายุ ๒๐ เมื่อไหร่ก็ได้ ข้อสำคัญให้ได้เรียนรู้เข้าใจโลกเข้าใจชีวิตมาพอสมควรแล้วมาบวชจะเป็นการดีที่สุดในความเห็นท่าน

 

เสขิยธรรม : ในขณะที่จำพรรษาอยู่ที่นั่นท่านอาจารย์พุทธทาสมีท่าทีแตกต่างกันหรือไม่ ระหว่างพระเณรลูกชาวบ้านจบ ป.๔ กับด็อกเตอร์อย่างอาจารย์เอกวิทย์

อ.เอกวิทย์ : เรารู้สึกท่านเมตตาเสมอกันครับ แต่ว่ามันก็เป็นเรื่องธรรมชาติที่เวลาปุจฉาวิสัชชนา พวกเราจะถามปัญหามากกว่า และท่านก็จะตั้งใจตอบปัญหาที่พวกเราถาม ถ้ามองเผิน ๆ ก็คล้าย ๆ เอาใจใส่เรามากกว่า แต่จริง ๆ ไม่ใช่เช่นนั้น

          ผมสังเกตว่าท่านมีเมตตาเสมอกันหมด เพียงแต่ว่าในชั้นเรียนเราตั้งใจและเราถามคำถามและเราคิดไตร่ตรองอะไรมาก ท่านสังเกตเห็น โดยรวม ไม่อาจจะบอกได้ว่าท่านลำเอียง สนใจเรามากกว่าอะไรทำนองนั้นดูจะไม่สมควร แต่ว่า ได้สังเกตเห็นว่าท่านโต้ตอบและท่านให้ความรู้แก่คนที่ถามท่านและคนที่ตั้งใจฟังท่านมาก และพวกเราก็เป็นแบบนั้น คล้าย ๆ ในชั้นเรียนทั่วไปนักเรียนที่ตั้งใจเรียนก็จะคล้าย ๆ กันหมด

"

ผมมีข้อสังเกตว่า
ท่านอาจารย์พุทธทาส
ใช้วิธีให้พระที่ไปบวชกับท่าน
ได้ดูดซับธรรมะ
จากธรรมชาติรอบตัว
ดูดซับธรรมะ
จากการที่ได้อยู่ใกล้ชิดท่าน
แล้วก็ศึกษาวัตรปฏิบัติของท่าน
ได้เล่าเรียนตามที่ท่านบรรยายให้

"

 

เสขิยธรรม : อยากให้อาจารย์แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับการจัดการศึกษาหรือให้ความรู้กับพระใหม่ (ในพรรษา) ของท่านอาจารย์พุทธทาสว่ามีลักษณะเด่นและด้อยอย่างไร ตลอดจนการจัดการศึกษานั้นเกิดผลอย่างไรกับพระใหม่

อ.เอกวิทย์ : ครับผม ผมมีข้อสังเกตว่าท่าน ท่านอาจารย์ท่านพุทธทาส ใช้วิธีให้พระที่ไปบวชกับท่าน ได้ดูดซับธรรมะจากธรรมชาติรอบตัว ดูดซับธรรมะจากการที่ได้อยู่ใกล้ชิดท่าน แล้วก็ศึกษาวัตรปฏิบัติของท่าน ได้เล่าเรียนตามที่ท่านบรรยายให้

          ท่านไม่ได้ถือเคร่งครัดและท่านจะเตือนเสมอ เรื่องสีลัพพตปรามาส คือทำสักแต่ว่าทำ แบบ “เถรส่องบาตร” แต่ไม่เข้าใจ ว่า ทำไมต้องทำ เรื่องที่ทำท่านจะวิจารณ์อยู่เสมอว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควร ท่านบอกว่าพวกเรา อย่าเป็นอย่างนั้น แล้วก็เคร่งสักแต่ว่าได้เคร่งท่านไม่เอาด้วย ท่านบอกว่าต้องทำด้วยใจ ต้องทำด้วยความวิริยะอุตสาหะและด้วยจิตใจที่มุ่งมั่นที่จะทำ ขณะเดียวกันท่านก็ไม่ชอบให้เคร่งเครียดเกินไป ท่านจะเตือนเสมอว่าให้ผ่อนคลาย

          ผมรู้สึกว่าวิธีของท่านมีคุณค่ามากหมดทั้งชีวิต โดยเฉพาะในขณะอยู่สวนโมกข์ ตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมาจนถึงจะเข้านอนใน ๒๔ ชั่วโมง ๓ ใน ๔ ของเวลาที่รู้สึกว่าทุกอย่างเป็นธรรมะ เป็นธรรมะที่ไม่จำเป็นต้องพูดตรง ๆ แต่ให้เราตื่นอยู่เสมอที่จะรู้จักตัวเองมากขึ้น

          ดังนั้นพวกเราทุกคนที่ไปบวช คนอื่นผมพูดแทนไม่ได้แต่ผมพูดแทนตัวได้ว่า มีอะไรบางอย่างที่น้อมนำให้เราเข้าถึงธรรมะ วิเคราะห์คุณค่าและความหมายของธรรมะแต่ละข้อและเป็นองค์รวม แล้วก็นำมาพิจารณาตัวเอง ผมได้รับอานิสงส์อันนี้มากที่สุดตรงที่ว่าผมมีความทุกข์ ผมอึดอัดขัดข้องหลายสิ่งหลายอย่างในช่วงวัยที่เริ่มรับราชการใหม่ ๆ และผมก็ตั้งใจถอดตัวตนนายเอกวิทย์คนนี้เอาออกไปตั้งไว้ เมื่อเข้าสู่ความเป็นสงฆ์แล้ว ผมก็ได้พิจารณาโดยไม่ลำเอียงว่า ไอ้หมอนี่เป็นบุรุษที่สาม เอกพจน์ที่ผมต้องศึกษามันว่า ทำไมมันได้เป็นอย่างนั้น ในที่สุดผมก็รู้เหตุแห่งความทุกข์ของผม ผมรู้ว่าผมทำอะไรไม่ถูกต้องตรงไหน อย่างไร ผมรู้ว่าสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมที่แวดล้อมบุรุษผู้นั้นแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่บุรุษผู้นั้นก็ยังฮึดฮัดหัวชนฝา ทำให้ผมได้สติสุขุมใจเย็นขึ้น ผมได้เรียนรู้อะไรต่าง ๆ ที่เป็นข้อดีข้อเสีย

          ขณะเดียวกันผมก็รู้สึกว่าเราก็คงบวชตลอดไปไม่ได้ เพราะนอกจากยังไม่ดีพอแล้ว เราเป็นคนของหลวงที่เอาทุนหลวงไปเล่าเรียน ยังต้องกลับไปทำงานชดใช้ ก็ทำใจได้ว่าเราคงไม่สามารถบวชตลอดไป นิสัยก็ยังไม่ให้ที่จะไปไกลถึงขนาดนั้น ก็คงต้องกลับไปทำงาน

          อีกมิติหนึ่งก็คือเป็นการศึกษาที่สูงสุดที่เตรียมตัวทำงานให้ดีขึ้น เมื่อผมสึกออกมาหลาย ๆ คนก็บอกว่าผมใจเย็นขึ้น ปรับตัวได้ดีขึ้น มีเมตตากับเพื่อนร่วมงานสูงขึ้น เมตตากับตัวเองดีขึ้น ผมก็ดีใจที่หลาย ๆ คนเห็นว่าอย่างนั้น

 

เสขิยธรรม : การจัดการศึกษาของท่านอาจารย์พุทธทาสมีจุดด้อยอะไรบ้าง เท่าที่อาจารย์เอกวิทย์สังเกต ทำนองว่าถ้าปรับปรุงแล้วน่าจะดีขึ้นไปกว่านั้น

อ.เอกวิทย์ : ผมรู้สึกว่าเรื่องสวดมนต์ของพระยังอ่อนไปหน่อย ไม่เป็นไปตามจริตของพระเถรวาทที่บวชในกรณีทั่วไป ตรงนี้ผมเข้าใจเหตุว่า เพราะสวนโมกข์เน้นที่การให้เกิดปัญญา และเกิดสติ มุ่งให้พระศึกษาธรรมะโดยใช้สมองและใช้จิตใจพิจารณาธรรมะมากกว่าที่ทำตามประเพณี ทำตามวัตรปฏิบัติที่คุ้นเคยกันมา

          พระสวนโมกข์ในสายตาของชาวบ้านไชยาจึงเห็นว่าเป็นพระที่ไม่ค่อยเคร่ง ไม่ค่อยมีวินัย เป็นพระตามสบาย เป็นพระที่มีความสุข คือเรื่อย ๆ เย็น ๆ แล้วก็ไม่ค่อยเป็นพระ ในความคาดหวังของชาวบ้านเท่าไหร่..ที่จะต้องสวดมนต์เก่ง ประกอบพิธีกรรมเก่ง แล้วก็ทีศรัทธาปสาทะบางอย่างที่ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธา แบบเป็นผู้เชี่ยวชาญอะไรบางอย่าง

          แต่ว่าชาวบ้านจะมองพระสวนโมกข์ว่าเป็นนักศึกษาพุทธธรรมมากกว่า ซึ่งตรงนี้ในส่วนตัวผม.. ผมไม่รู้สึกว่าเป็นความบกพร่องอะไร เพราะวิธีของอาจารย์ไม่ใช่หย่อนยาน ท่านจะคอยกวดขันเสมอ เช่น เวลาต้องไปกิจนิมนต์นอกวัด พระบวชใหม่นี่ท่านดูแลควบคุมวัตรปฏิบัติ กลัวจะไปทำรุ่มร่ามที่อื่น จะต้องมีพระพี่เลี้ยงที่อยู่มานานหรือที่ท่านไว้ใจได้เป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลใกล้ชิดทั้งในและนอกวัด บางครั้งเมื่อมีกิจนิมนต์ให้ไปสวด ท่านก็ให้พระบวชใหม่ตามไปสวดเป็นหางแถวเหมือนกัน แต่ก็กำชับพระอาวุโสว่าดูแลเขาให้ดีอย่าให้ไปเที่ยวทำอะไรรุ่มร่าม อะไรอย่างนี้เป็นต้น

          เพราะฉะนั้นไม่ได้หมายความว่าสวนโมกข์จะหย่อนยาน ท่านดูแลของท่านอยู่ แต่จุดสนใจที่สุด คือเรื่องศึกษาพิจารณาให้เกิดปัญญาและเข้าใจโลกเข้าเข้าใจชีวิต เข้าใจตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็เข้าใจสรรพสิ่งทั้งมวลที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เรียกว่าเป็นจุดเด่นของการศึกษาเล่าเรียนของสวนโมกข์ สำหรับผม ผมรับได้และผมสบายใจที่เป็นอย่างนั้น

          บางทีท่านอาจารย์ใจกว้างถึงอย่างนี้นะ คือผมชอบถ่ายรูป ผมทราบจากพี่ที่บวชก่อนว่า เอากล้องไปก็ได้ ผมก็เอากล้องไปและผมไปเดิน เวลาผมทำงานเคร่งเครียดผมเหนื่อยผมก็เดินเข้าป่าไป ผมก็ถ่ายรูปดอกไม้ ถ่ายรูปงู ถ่ายรูปแมงป่อง ถ่ายรูปป่าสีเขียวชะอุ่ม ท่านไม่ว่าอะไร ท่านก็บอกก็ดี และหนังสือก็มีไว้ให้อ่านมาก ผมก็ไม่ได้อ่านเฉพาะธรรมะของท่าน เพราะรู้สึกจะแคบไป ผมก็อ่านทางประวัติศาสตร์โบราณคดี โบราณคดีของอ่าวบ้านดอนและก็เรื่องทางวิทยาศาสตร์เรื่องทางอะไรกว้าง ๆ ท่านมีให้อ่านในห้องสมุด ผมก็ชอบไปอ่านหนังสือในห้องสมุด ท่านอาจารย์ก็รู้ว่าพวกเราอ่านอย่างอื่นด้วยท่านก็บอกว่าก็ดีแล้ว ไปศึกษาให้มันรู้เข้าใจอะไรกว้างขึ้นดีขึ้นก็ดีแล้ว สำหรับผม ผมรู้สึกว่าดี

          ส่วนวินัยต่าง ๆ ก็ไม่ได้เคร่งจนเกินไป แต่ก็ไม่ได้หย่อนยาน ชาวบ้านเองกับพระอาวุโสก็จะคอยชำเลืองตาดูแลอยู่ว่าถ้ามีใครทำอะไรไม่ดี ละเมิดไปก็จะคอยสะกัดอยู่ในที ผมว่าดีทีเดียว ไม่มีข้อบกพร่องอะไรมาก แต่ว่าในสายตาชาวบ้านอาจจะคิดไม่เหมือนเราว่า วัตรปฏิบัติของพระสวนโมกข์ไม่เคร่งเหมือนพระที่อื่น และก็เรื่องสวดมนต์จะต้องบอกว่าแย่มาก พระที่นี่อ่อนเรื่องนี้ ซึ่งเป็นความจริง

"

พระสวนโมกข์
ในสายตาของชาวบ้านไชยา
จึงเห็นว่าเป็นพระที่ไม่ค่อยเคร่ง
ไม่ค่อยมีวินัย เป็นพระตามสบาย
เป็นพระที่มีความสุข
คือเรื่อย ๆ เย็น ๆ
แล้วก็ไม่ค่อยเป็นพระ
ในความคาดหวังของชาวบ้านเท่าไหร่
..ที่จะต้องสวดมนต์เก่ง
ประกอบพิธีกรรมเก่ง
แล้วก็ทีศรัทธาปสาทะ
บางอย่างที่ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธา
แบบเป็นผู้เชี่ยวชาญอะไรบางอย่าง
แต่ว่าชาวบ้านจะมองพระสวนโมกข์ว่า
เป็นนักศึกษาพุทธธรรมมากกว่า

"

 

เสขิยธรรม : ขณะนั้นอาจารย์รู้สึกว่า พระสวนโมกข์แตกต่างจากพระวัดอื่นทั่วไปหรือไม่

อ.เอกวิทย์ : ต้องยอมรับว่าตอนระหว่างบวชไม่ค่อยรู้สึกเท่าไหร่ แต่พอสึกออกมาแล้วมี ego ครับ ว่าเราพระสวนโมกข์ เราภูมิใจมาก แล้วรู้สึกเอาเองว่าเราเข้าถึงธรรมมากกว่าพระที่อื่น มีความหยิ่งยะโสอยู่ในที ซึ่งอันนี้ผมว่าก็ต้องปราบกัน ต้องเตือนสติตัวเอง และที่ผมซาบซึ้งมากคือตอนจะลาสิกขาบท ท่านอาจารย์ท่านมอบรูปของท่านให้ ท่านคงดูจริตแล้ว ท่านก็เขียนให้ว่า สติ สติ และสติ ลงชื่อท่าน

 

เสขิยธรรม : อะไรเป็นประเด็นสำคัญที่สุด หรือเป็นประสบการณ์ที่สำคัญที่สุด ที่ได้เรียนรู้จากท่านอาจารย์พุทธทาส และสวนโมกขพลาราม

อ.เอกวิทย์ : ครับผม ประเด็นที่ผมคิดว่าสำคัญคือ สติปัญญาความสามารถของท่านอาจารย์ที่จะแทงทะลุพุทธธรรม เพราะบาลีคาถาต่าง ๆ ท่านแตกฉาน และท่านมีความกล้าหาญมากที่วิเคราะห์ตีความเช่นเรื่องสุญญตา เรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น เรื่องนิพพาน ฯลฯ

          การวิเคราะห์ตีความของท่านผมว่ากล้าหาญตรงที่ว่าท่านค่อนข้าง pragmatic คือสัมฤทธิคติในแง่ที่ว่า ต้องการให้เกิดผลกับคนที่ยังมีลมหายใจยังมีชีวิตอยู่ในภพนี้ เรื่องภพหน้าตายแล้วเกิดใหม่เรื่องอะไร ๆ ท่านไม่แตะต้อง แต่ท่านเน้นช่วงปัจจุบันขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ การวิเคราะห์ตีความอย่างนี้ ผมคิดว่าท่านอาจไม่ใช่องค์แรก แต่ที่ทำขึ้นมาให้เป็นที่ประจักษ์โดยกว้างขวางและเข้าถึงพุทธธรรมเพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตปัจจุบัน ผมคิดว่าไม่มีใครเหนือท่าน และการวิเคราะห์ตีความที่ทำให้ชาวบ้านเข้าถึงธรรมะระดับสูงและละเอียดอ่อนได้ก็ไม่มีใครเกินท่าน เพราะฉะนั้นท่านเป็นทั้งผู้รู้ที่เข้าถึงพุทธธรรมถึงแก่น และผู้กล้าหาญที่กล้าวิเคราะห์ตีความและนำไปสู่การปฏิบัติ

          ขณะเดียวกันท่านก็ทำให้เรารู้ว่าท่านก็มีจุดอ่อนเหมือนกันในความเป็นมนุษย์ของท่าน คือท่านโกรธง่าย ท่านขี้โมโห ท่านด่าพระเณร ผมเคยยกตัวอย่างบ่อย ๆ ที่ชอบมากก็คือ รุ่นพี่ผมเล่าว่าท่านมีกิจนิมนต์ไปนอกวัด ก่อนไปท่านบอกให้เด็กวัดกับเณรช่วยกันไล่งูเห่าที่มันอยู่ใต้กุฏิท่านไปเสีย เมื่อท่านกลับมาท่านก็ตรวจสอบงานว่าทำสำเร็จตามที่ท่านสั่งไว้หรือเปล่า เณรกับเด็กวัดก็บอกว่า สำเร็จครับ ท่านก็ถามว่าสำเร็จยังไง ก็ตอบท่านว่า “ตายคาที่” ท่านก็ต้องโกรธซิครับ ท่านก็ด่าไอ้พระบ้า ๆ ไอ้เณร – เด็กวัดบ้า ๆ โง่ ๆ ท่านโมโหครับ

          แต่โมโหแล้วท่านก็หายเร็วเพราะท่านรู้ตัวเร็ว แล้วท่านก็ไม่ปิดบัง ท่านก็โมโหให้พวกเราเห็นเป็นครั้งเป็นคราวตลอดพรรษา แล้วท่านก็รู้ตัวว่าท่านสอบตกในช่วงนั้น ตรงนี้ผมว่าน่ารักที่สุด เราก็กราบไหว้ท่านได้สนิทใจและทำให้คิด โถ..ท่านก็แสนจะเข้าใจนะ ท่านสอนคนอื่น แล้วท่านก็สอนตัวเองด้วย ท่านไม่ได้ทำเป็นเคร่ง ๒๔ ชั่วโมง ๓๖๕ วัน

          บางครั้งท่านสอบตก ท่านก็ยอมรับว่าท่านสอบตก และไม่ปิดบังศิษย์ให้ได้รู้ได้เห็นกันถ้วนหน้าโดยตลอด

 

เสขิยธรรม : ท่านอาจารย์แสดงท่าทีอย่างไรเมื่อท่าน “สอบตก”

อ.เอกวิทย์ : อยู่ในทีครับ ท่านไม่ได้พูดตรง ๆ ว่าท่านผิดไปแล้ว แต่ว่าการที่ท่านโมโห แล้วอีก ๕ นาที ๑๐ นาทีต่อมา ท่านนิ่ง ใครจะพูดอะไรด้วยท่านก็นิ่ง

          คล้าย ๆ ท่านตรวจสอบตัวเองแล้ว แล้วเวลาหลังจากนั้นผ่านไป ท่านจะเปลี่ยนเรื่องพูด แล้วท่านก็เย็นสงบเหมือนเดิม เราก็เลยรู้ ไม่ใช่ผมคนเดียว พระทั้งที่บวชพร้อมกันก็รู้หมดว่าท่านโกรธ และท่านรู้แล้วว่าท่านสอบตก ท่านเรียกสติของท่าน แล้วท่านเปลี่ยนเรื่องพูด แล้วท้ายที่สุดก็เย็นเหมือนเดิม ....

อ่านต่อฉบับต่อไป

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :