อนแล้ว แต่คณะทัวร์วัฒนธรรมจากเชียงใหม่ไปพม่าที่มีชื่อว่า ตามรอยเจ้าจันท์ ฝันหามะเมียะ (จัดโดยสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ ๒๔ ๒๘ มีนาคม ๒๕๔๕) ไม่ย่อท้อต่ออุณหภูมิอันระอุ ทุกคนรู้จักเจ้าจันท์ใน เจ้าจันท์ผมหอม ของมาลา คำจันทร์ และมะเมียะ จากเพลงอมตะของ จรัล มโนเพ็ชร การเดินทางในครั้งนี้มีคุณมาลา คำจันทร์ นักเขียนรางวัลซีไรท์ไปด้วยเป็นแขกรับเชิญ ใครที่อ่านนิยายเรื่อง เจ้าจันท์ผมหอม คงจำได้ว่า เจ้าจันท์แห่งล้านนาดั้นด้นเดินทางป่าผ่าดงไปพระธาตุอินทร์แขวน เพื่อไปไหว้สาและเอาผมอันแสนยาวไปลอดเสี่ยงโชคชะตาว่า จะต้องแต่งงานกับใครชายคนรักหรือว่าพ่อค้าปะหล่องต่องสู่ เจ้าจันท์คือจินตนาการ ส่วนมะเมียะคือ ความจริงซึ่งกลายเป็นตำนานอันจดจำกันไม่รู้เลือน เรื่องรักที่ต้องพลัดพรากจากกันของมะเมียะสาวพม่าเมืองมะละแหม่ง และเจ้าน้อยศุขเกษม ราชบุตรของเจ้าหลวงเชียงใหม่เกิดขึ้นเมื่อราว ๑๐๐ ปี ก่อนโน้น
ล้านนากับพม่าสัมพันธ์กันนานนับ เท่าที่มีบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในพงศาวดารเมืองเชียงใหม่ เมื่อพระยามังรายแบ่งอาณาเขตตั้งอาณาจักรแล้วก็เริ่มยกทัพไปตีพม่า และจากนั้นมาก็ไม่เคยได้พักรบกันเลย จนกระทั่งล้านนาตกอยู่ภายใต้การครอบครองของพม่าเป็นเวลานานถึง ๒๐๐ ปี ก่อนจะถูกกู้คืนมาได้ในสมัยพระเจ้ากาวิละ โดยความช่วยเหลือจากสยาม เรื่องรบพุ่งทำสงครามขยายอำนาจ พรากผู้คนไปเป็นเชลยศึก เป็นเรื่องราวส่วนใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษย์แทบทุกกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลพลอยได้หลังสงครามคือ การถ่านโอนทางวัฒนธรรม และความรู้เรื่องเทคโนโลยีต่าง ๆ ในการประดิษฐ์วัสดุเครื่องใช้ เครื่องเขินในภาษาพม่านั้นเรียกว่า ยวนเถ่ ยวนหรือโยนกเป็นชื่อเรียกกลุ่มชนในล้านนา ผ้าทอมัดหมี่ลวดลายคล้ายเขมรที่ผลิตในหมู่บ้านชาวอินทาแถบทะเลสาบอินเลเรียกว่า ซินเม่ ซึ่งก็คือชื่อที่ชาวพม่าเรียกเมืองเชียงใหม่ ส่วนแกงฮังเล น้ำพริกอ่อง ข้าวซอย นับรวมถึงผักกาดจอของชาวไทใหญ่ในรัฐฉาน อาหารขึ้นชื่อของล้านนาล้วนได้มาจากพม่าหรือรัฐไทในพม่า จิตรกรรมฝาผนังโบราณในวัดบวกครกหลวง วัดป่าแดด และวัดอื่น ๆ ในล้านนาเป็นฝีมือของช่างพม่าหรือไม่ก็ไทใหญ่ รวมทั้งสถาปัตยกรรมในวัดหลายต่อหลายวัดในล้านนาที่ละม้ายคล้ายคลึงของพม่า บัดนี้ได้กลายเป็นมรดกตกทอดทางวัฒนธรรมของล้านนาและของประเทศชาติโดยรวม
ประเพณีไหว้พระธาตุของชาวล้านนา กำหนดให้คนไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของตนซึ่งกระจายอยู่ตามที่ต่าง ๆ ในล้านนา เช่น ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน โดยมีเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง มีเพียงพระธาตุประจำปีเกิด ๒๓ องค์ที่อยู่นอกเขตล้านนา นั่นก็คือ พระธาตุพนมของคนเกิดปีวอก พระธาตุพุทธคยาของคนเกิดปีมะโรง และพระธาตุชเวดากองของคนเกิดปีมะเมีย จนหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะเป็นการคิดตั้งประเพณีเพื่อรวมศูนย์อำนาจ ที่ตั้งใจจะตัดสยามออกไปจากวงจร มีงานวิจัยที่พบว่า ประเพณีชุธาตุของล้านนานี้ มีมาในช่วงที่ล้านนากำลังถูกผนวกเข้าไปเป็นมณฑลหนึ่งของสยามนี่เอง เป็นการคิดค้นของชนชั้นปกครองล้านนา เพื่อคานอำนาจโดยยกศรัทธาขึ้นมาข่ม ด้วยเหตุนี้จึงรวมเอาพระธาตุตะโก้งหรือชเวดากองเข้ามาด้วย แทนที่จะเป็นพระธาตุของสยาม จะเป็นจริงตามนี้หรือไม่ หรือเป็นเพียงการลากความให้เกิดเป็น วาทกรรม ของนักวิชาการรุ่นใหม่ก็ไม่อาจสรุปได้ แต่ที่แน่ ๆ ชาวล้านนาที่เกิดปีมะเมีย ใฝ่ฝันจะได้ไปไหว้พระธาตุปีเกิดของตนสักครั้งในชีวิตนี้ แม้จะอยู่ต่างแดน และพระธาตุที่ดูจะเป็นความลี้ลับราวอยู่เพียงในตำนานขานเล่าแต่อยู่ในใจของชาวล้านนา คือ พระธาตุอินทร์แขวน อ้ายมาลา คำจันทร์ ก่อนหน้านี้ไม่เคยเห็นพระธาตุอินทร์แขวน แต่เขียน เจ้าจันท์ผมหอม ด้วยแรงบันดาลใจจากที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสู่ให้ฟัง และจากรูปวาดบนซองยาหอมตรา พระธาตุอินทร์แขวน ผลิตภัณฑ์จากลำปางที่ใช้กันทั่วไปในล้านนา
ทั้งหมดนี้คือ ที่มาของการจัดทัวร์ทางวัฒนธรรมเพื่อสักการะพระธาตุ และตามเก็บร่องรอยแห่งความสัมพันธ์เชียงใหม่พม่า เราบินตรงจากเชียงใหม่ไปย่างกุ้งถึงราวบ่าย ๓ โมง กว่าจะผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง และผ่าฝูงชนที่มาต้อนรับญาติพี่น้องชาวมุสลิมที่กลับจากเมกกะ ออกมาได้เพื่อนก็เป็นลมไปแล้ว ๑ คน จากนั้นไกด์ชาวไทใหญ่จากเชียงตุง ๒ คน ชื่อ ชายหลวง (อ่านจายโหลง) และนุชก็พานั่งรถบัสออกจากเมืองหลวงมุ่งสู่พะโคหรือหงสาวดี พอไปถึงก็ตรงไปนมัสการพระธาตุมุเตาหรือชเวมอดอ ซึ่งเป็นหนึ่งในพระธาตุสำคัญในพม่า จังหวะเวลาดีเหลือเกิน แดดอ่อนแสงพอมีร่มเงาให้นั่งไหว้พระธาตุโดยไม่ร้อน ตากล้องจะชอบแสงสีในยามนี้ ใช้เวลาในการบันทึกภาพพระธาตุและสภาพรายล้อมโดยไม่ต้องเร่งรีบไปไหนต่อ มีคนบอกว่าคำว่า พุทธะ หมายถึงความเบ่งบาน ด้วยเหตุนี้ ชาวพุทธจึงใช้ดอกไม้เป็นเครื่องสักการะ บ้านเราใช้ดอกบัวและดอกไม้อื่น ๆ มัดกับใบพร้อมธูปเทียน ในศรีลังกาหน้าวัดพระเขี้ยวแก้ว มีดอกลั่นทมวางเรียงกันขายเป็นกอง ๆ ซื้อแล้วประคองเข้าไปในวัด เหมือนดังรูปภาพฝาผนังในวัดนั้น ในพม่าก็ใช้ดอกไม้แบบขิงขาวคล้ายกับดอกไม้ที่ทางล้านนาเรียกว่า ต๋าเหิน มัดขายเป็นช่อ ๆ แต่ในวัดนอกเมืองหลวงเช่นวัดพระธาตุมุเตา เด็ก ๆ จะเอาดอกพิกุลมาร้อยเรียงลงในก้านดอกหญ้า ขายเป็นเส้น ๆ ดอกเล็ก ๆ ส่งกลิ่นโรยรินชวนถวิลหาวันเวลาเก่า ๆ
เช้าก่อนเดินทางไปยังอีกเมืองหนึ่ง เราแวะนมัสการพระนอนที่เจดีย์ชเวดาเลียง ซึ่งยาว ๑๘๐ ฟุต และเก่าแก่ถึง ๑,๐๐๐ ปี (เขาว่าอย่างนั้น) มาคราวที่แล้วไม่ทันได้สังเกต คราวนี้ชายหลวงชี้ชวนให้ดูพระบาทของพระนอนที่ไม่ได้ตั้งเสมอกัน แต่พระบาทข้างบนจะบิดออกไปจากพระบาทด้านล่าง และชี้แจงว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะชาวพม่ายังเชื่อว่า พระพุทธเจ้ายังไม่ได้เสด็จสู่สวรรค์ หากยังคงประทับอยู่บนโลกกับเราท่าน หลังอาหารกลางวัน เราออกเดินทางไปเมืองมะละแหม่งโดยผ่านเมืองสะเทิม ซึ่งมีชื่อเรียกหลายชื่อเช่น ท่าตอน สะโตง สุธรรมาวดี หรือนครพัน เป็นเมืองหลวงเก่าแก่ของรัฐมอญ เชื่อกันว่าเมืองสะเทิมเป็นจุดเริ่มต้นที่พุทธศาสนาเข้ามาสู่สุวรรณภูมิ พระโสณะ และพระอุตระ ที่พระเจ้าอโศกส่งมาเผยแพร่พุทธศาสนาในแถบนี้จะขึ้นท่าที่เมืองนี้หรือไม่ คงต้องไปถามนักประวัติศาสตร์ แต่ในสมัยพระเจ้ากือนา แห่งราชวงศ์มังราย สุมนเถระนำพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์มายังล้านนา โดยผ่านเมืองนี้ แรกทีเดียว จะมีนักวิชาการเช่น ดร.ฮันห์ เพนธ์ อาจารย์พิริยะ ไกรฤกษ์ อาจารย์พิทยา บุนนาค อาจารย์ ม.ล.สุรสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ ตามมาด้วยเพราะต้องการจะมาอ่านจารึกในเมืองมอญเก่าแก่นี้ แต่คำนวณดูแล้ว เวลาที่ทัวร์คณะนี้ให้มีน้อยนิดจึงยกเลิก เป็นที่โล่งอกโล่งใจของผู้จัด
เส้นทางสู่มะละแหม่งนั้นราบเรียบ ไม่ใช่เฉพาะถนนระดับพื้นราบตรงฉิวเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงภูมิทัศน์สองข้างด้วย ที่โล่งเตียนเสมอต้นเสมอปลาย อาจารย์วิถี พานิชพันธุ์ ไกด์กิตติมศักดิ์ของเราเปรยขึ้นมาว่าวิธีการปรามชนกลุ่มน้อยของพม่าคือ ถางป่าให้เรียบ หลายคนเคลิ้มหลับไปก่อนถูกปลุกให้ตื่นด้วยเสียงเพลงโฟล์คซองกำเมืองของจรัญ มโนเพ็ชร และสุนทรี เวชานนท์ ที่อาจารย์จิริจันทร์ ประทีปะเสนเปิดให้กันฟังก่อนจะเล่าเรื่องมะเมียะและเจ้าน้อยศุขเกษมที่ได้ค้นคว้า และเขียนขึ้นเป็นบทละครแต่ยังไม่เสร็จ เหลือการเดินทางไปดูสถานที่จริง จึงร่วมเดินทางมาในครั้งนี้ด้วย
ในยุคจักรวรรดินิยม อังกฤษยึดพม่าตอนใต้ได้ก่อน จึงแปลงเมืองมะละแหม่งซึ่งเป็นเมืองประมงเล็ก ๆ ให้เป็นเมืองท่า เป็นศูนย์กลางของการค้านำเข้าสินค้าจากอังกฤษ และส่งออกไม้สักจากพม่าที่ตัดเป็นซุงล่องแม่น้ำสาละวิน นักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาเศรษฐกิจของล้านนาในยุคช่วงปลายศตวรรษที่ ๑๙ และต้นศตวรรษที่ ๒๐ บอกเล่าเรื่องราวและเส้นทางเดินของพ่อค้าวัวต่าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจีนฮ่อ ที่เดินทางนำคาราวานสินค้าจากยูนนานมาขายตามเมืองต่าง ๆ เช่น เชียงตุง เชียงใหม่ ลำปาง ระแหง (ตาก) และต่อไปยังมะละแหม่ง ขากลับจะซื้อสินค้านำเข้าจากอังกฤษกลับไปขายตามเมืองรายทางดังกล่าว คนในสมัยนี้คงจะนึกภาพการเดินทางแบบคาราวานไม่ออกแล้ว เพราะอะไร ๆ ถูกทำให้ง่ายด้วยเครื่องจักร เครื่องยนต์ แต่ในสมัยนั้นเจ้านายในเชียงใหม่มั่งคั่งร่ำรวยด้วยการค้าแบบกองคาราวาน ที่ใช้เวลาแรมเดือนแบบนี้ หลักฐานการบันทึกของชาวอังกฤษที่มาทำการค้า หรือเดินทางมาสังเกตการณ์ กล่าวพาดพิงถึงเจ้าอุบลวรรณ ผู้มีศักดิ์เป็นน้าของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เธอเป็นผู้หญิงแถวหน้าในยุคนั้นที่จัดการบริหารการค้า และเป็นผู้เล่าให้ฝรั่งอังกฤษฟังว่า กองคาราวานที่เดินทางระหว่างยูนนานมะละแหม่งที่มาพักแรมที่เชียงใหม่ มีจำนวนม้าและฬ่อราว ๗,๐๐๐๘,๐๐๐ ตัว ดังนั้นถึงไม่ใช่เรื่องประหลาดที่เจ้าแก้วนวรัฐส่งเจ้าน้อยศุขเกษมราชบุตร ไปเรียนที่มะละแหม่ง เพราะเจ้าเชียงใหม่ทำการค้ากับอังกฤษที่มะละแหม่งรุ่งเรืองกว่าสยาม ซึ่งยังมีอุปสรรคในการเดินทาง หรือจะมองเป็นเรื่องการเมืองก็ได้
คนที่ตามรอยมะเมียะ เช่น อาจารย์จิริจันทร์ไปที่ไหนกันบ้าง พอเข้าเมืองมะละแหม่งซึ่งร่มรื่นด้วยความเขียวครึ้มของต้นไม้ใหญ่น้อย และแปลกตาด้วยบ้านเรือนแบบยุโรป เราก็แวะนมัสการพระธาตุไจตะลัน ซึ่งเป็นพระธาตุประจำเมือง จำกันมาว่าเจ้าน้อยศุขเกษม กับมะเมียะเมื่อรักกันแล้ว ก็พากันมาสาบานรักกัน ณ พระธาตุแห่งนี้ ผู้ที่ทำการค้นคว้ามาอย่างละเอียดรู้ซึ้งถึงว่า คำสาบานนั้น มีความว่าถ้าหากใครนอกใจก็ขอให้คนนั้นอายุสั้น ผู้เล่าเรื่องนี้บอกต่อไปว่า มะเมียะมาเชียงใหม่พร้อมเจ้าน้อย แต่ไม่ได้รับการยอมรับจึงต้องกลับบ้านเมืองตน ฝ่ายเจ้าน้อยเสียใจแต่ก็ไปแต่งงานกับเจ้าบัวชุมที่พ่อแม่สนับสนุน และไปรับราชการที่กรุงเทพฯ แต่ก็กินเหล้าเมายาทุกวันจนตายไปในที่สุด คนเล่าจบตรงนี้ แต่คนฟังสรุปว่าพระธาตุไจตะลันศักดิ์สิทธิ์ดีแท้ วัดพระธาตุไจตะลันตั้งอยู่บนเขาลูกเตี้ย ๆ ใจกลางเมือง เดินทางไปอีกด้านหนึ่งเป็นวัดเล็ก ๆ อีกหนึ่งวัด วิหารมืดสลัว แต่กระจกจีนที่ประดับประดาแวววาวในความมืด อาจารย์วิถีชี้เข้าไปในห้องเล็ก ๆ ให้เราไปนมัสการพระเขี้ยวแก้ว ในฝาแก้วรูปโค้งสูงที่อยู่กลางห้องมีพระเขี้ยวแก้วห้อยอยู่ รูปทรงคล้ายไข่มุกยาวรี ไหว้พระเขี้ยวแก้วด้วยใจศรัทธา พอออกมาอ้ายมาลาเดินมากระซิบบ่นว่า ผมเบื่อนักวิชาการเหลือเกิน มีใจใฝ่หาความจริงแบบเอาเป็นเอาตาย แต่ขาดศรัทธา ถามว่าจะใช่พระเขี้ยวแก้วจริงหรือไม่
คืนนั้นเหนื่อยและอยากพักจึงไม่ได้ตามอาจารย์จิริจันทร์ไปโรงเรียนเซนต์แพททริค ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เจ้าน้อยศุขเกษมเรียนหนังสือ อาจารย์จิริจันทร์กลับมาเล่าว่าโรงเรียนใหญ่โตมาก เสาต้นเบ้อเร่อ มีสระว่ายน้ำด้วย แต่ถูกปล่อยให้ทรุดโทรมแล้วตอนนี้ รุ่งเช้าเราออกไปกับชายหลวงนั่งแท็กซี่ไปตลาดที่มะเมียะขายของ และบ้านอูโบดัง เพื่อนของเจ้าแก้วนวรัฐที่เป็นผู้ดูแลเจ้าน้อย นัยว่าเจ้าน้อยมาอยู่บ้านเพื่อนพ่อ วันหยุด เดินไปตลาดไดวอขวิน ที่อยู่ใกล้ ๆ กัน และเจอมะเมียะที่นั่งขายของ รักแรกพบก็เกิดขึ้นตรงนั้นเอง เราเดินเข้าไปในตลาดเล็ก ๆ แห่งนั้น เพิงไม้สร้างติดดินยังคงเหมือนตลาดสมัยก่อน แต่เราหาคนสวยเช่นมะเมียะไม่เจอ จากนั้นก็ไปแวะบ้านเพื่อนเจ้าแก้วนวรัฐ เป็นบ้านไม้หลังใหญ่ ข้างล่างดูเหมือนจะเคยเปิดเป็นร้านขายของ แต่บัดนี้บ้านถูกปิดตาย เจ้าของขายและย้ายออกไปนานนมแล้ว เรื่องรักของสาวพม่าและเจ้าล้านนา แม้จะเป็นโศกนาฏกรรมเหมือนโรมิโอจูเลียต เจ้าน้อยตายจากโลกนี้ แต่มะเมียะพึ่งร่มพระศาสนา บวชเป็นแม่ชีอาศัยอยู่ในวัดไจตะลันนั่นเอง เจ้าอาวาสเล่าให้อาจารย์จิริจันทร์ฟังว่า ตอนท่านมาอยู่เป็นสามเณรในวัดนี้ใหม่ ๆ มีแม่ชีชื่อดอนางเลี่ยน ว่าง ๆ ก็มวนบุหรี่ให้คนไปขายในตลาด เหมือนที่มะเมียะเคยทำ เราจึงเข้าใจว่ามะเมียะ ซึ่งแปลว่ามรกตได้เปลี่ยนชื่อไปเป็นนางเลี่ยน ไม่มีญาติพี่น้องนอกจากน้องชายเพียงคนเดียว แล้วแม่ชีคนนี้ก็สิ้นชีวิตในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ คนที่อิ่มอกอิ่มใจที่สุดในการเดินทางมามะละแหม่งเห็นจะไม่ใช่อื่นนอกจาก อาจารย์จิริจันทร์ ผู้ใฝ่ใจจะทำละครเรื่องมะเมียะให้เราได้ระลึกถึง วัน เวลา เก่าก่อน และสอนเรื่องรักให้คนหนุ่มสาว
จากมะละแหม่งมุ่งขึ้นไปเมืองไจทีโยอันเป็นที่ตั้งพระธาตุอินทร์แขวน ระหว่างเดินทางอ้ายมาลาเล่าเรื่องเบื้องหลัง เจ้าจันท์ผมหอม ที่ปรารถนาจะเขียนถึงผู้หญิงในประวัติศาสตร์ เพราะไม่ค่อยมีการเขียนถึงจึงไม่รู้ว่าผู้หญิงล้านนาสมัยนั้นรู้สึกนึกคิดอย่างไร คราวนี้ซื้อ เจ้าจันท์ผมหอม ที่สำนักพิมพ์เคล็ดไทยพิมพ์ติดไปด้วย ๕ เล่ม ให้สมาชิกทัวร์จับฉลาก เพื่อจะได้นั่งอ่านก่อนถึงพระธาตุ บางคนเอามานั่งอ่านดัง ๆ
บ่ รักพี่แล้ว ขอตายเป็นผี
บ่ ตอบวาที ขอตายลับหน้า
พอถึงแบสแคมป์เราก็เปลี่ยนไปนั่งรถกะบะใหญ่ ไร้หลังคามีไม้แผ่นเล็ก ๆ พาดให้นั่งเรียงกันเป็นแถว ๆ โยกเยกกันไปในรถอย่างสนุกสนาน ราว ๔๐ นาที ก่อนจะถึงที่ที่รถขึ้นไปไม่ได้ จากนั้นถ้าใครแข็งแรงดีก็เดิน ถ้าใครไม่พร้อมก็นั่งเสลี่ยง มาคราวนี้คิดว่าร่างกายดีแล้ว แต่เดินไปได้สัก ๑๐ ก้าว ก็รู้ว่าต้องนั่งเสลี่ยงที่คนหามทั้ง ๔ พร้อมอยู่แล้ว ศรัทธาของชาวพม่าเมื่อเทียบกันแล้ว ของเราอ่อนด้อยกว่ามากนัก สามปีที่แล้ว เราเดินขึ้นพระธาตุอินทร์แขวนพร้อม ๆ กับพ่อเฒ่าแม่เฒ่าที่นำลูกหลานมาด้วย นึกชื่นชมฝ่ายบ้านเมืองพม่าที่ยังคงรักษาประเพณีการเดินขึ้นดอยไปสักการะพระธาตุ และอดไม่ได้ที่จะหวนนึกถึงพระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งกำลังจะกลายเป็นสวนสนุกไปแล้วด้วยกระเช้าลอยฟ้า ไม่ต้องคิดถึงการทำบุญด้วยการเดินขึ้นดอย และคำนึงถึงความศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตย์อยู่ทั้งดอย
|
|
|
พระธาตุอินทร์แขวน ที่หน้าผาไจทีโย หนึ่งในสามพุทธศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์สูงสุด ที่ชาวพม่านับถือ ต้นกำเนิดของ นิราศเจ้าจันท์ผมหอม โดยนักเขียนซีไรท์มาลา คำจันทร์ |
จำได้ว่าคราวก่อน อาจารย์สุจิตร นักธรณีวิทยา ร่วมเดินทางมาพระธาตุอินทร์แขวนด้วย ตลอดทางเราฟังแต่การบรรยาย วิชาธรณีวิทยา ๑๐๑ ครั้นพอเดินถึงบริเวณใกล้กับพระธาตุ เห็นหินที่ตั้งแบบตกแหล่มิตกแหล่ แบบพระธาตุอินทร์แขวน แต่ขนาดเล็กกว่าอยู่หลายกอง อาจารย์สุจิตรก็เริ่มอธิบายปรากฏการณ์นี้ ตามหลักวิชาที่ร่ำเรียนมาทันที จนเกือบลืมไปว่า เขาเรียกว่าพระธาตุพระอินทร์เอามาแขวนไว้ มาคราวนี้อ้ายมาลา คำจันทร์ นั่งลงไหว้สาและภาวนาด้วยใจเปี่ยมศรัทธา รำพึงรำพันว่า ถ้ามาเห็นเสียก่อนคงเขียนเรื่องเจ้าจันท์ ไม่ออก มีเสียงล้อเลียนว่า เจ้าจันท์จะต้องไว้ผมยาวถึง ๗ เมตรถึงจะลอดพระธาตุได้ ด้วยหินอร่ามสี และทองคำเปลว อันเป็นฐานพระธาตุนั้น ก้อนมหึมา มิหนำซ้ำผู้หญิงห้ามเข้าใกล้พระธาตุเด็ดขาด แล้วก็มีเสียงสอดขึ้นให้กำลังใจกันว่า สำหรับนักเขียนแล้ว จินตนาการสำคัญกว่าความจริงเป็นไหน ๆ และที่สำคัญ สมัยนี้หาคนเขียนหนังสือที่มีรากฐานทางวัฒนธรรม ถึงพร้อมด้วยศรัทธา อันเป็นต้นธารของจินตนาการได้ยากนัก
พระธาตุอินทร์แขวนในวันนี้ ยังคงตั้งตระหง่านรอรับศรัทธาจากชาวพุทธในและนอกประเทศ แม้บริเวณรอบข้างจะเปลี่ยนแปรไปตามยุคสมัย สามปีที่แล้วกระเบื้องโบราณของยุโรป ยังสร้างความประทับใจให้กับผู้ชื่นชอบลวดลายและร่องรอยอดีต มาบัดนี้พื้นหินอ่อนที่ปูขาวยาวเต็มบริเวณ ค่อนข้างจะลื่น แล้วก็ต้องถอนใจยาว ๆ เห็นทีเราจะหนีวัฒนธรรมบ้าหินอ่อน หินแกรนิตไปไม่พ้นเสียแล้ว แต่ความเรียบง่ายในการสร้างพระธาตุเล็ก ๆ บนหินก้อนยักษ์ก็ยังคงอยู่ นึกถึงว่าเมื่อพุทธศาสนาเข้าสู่สุวรรณภูมิ ณ บริเวณใกล้เคียงกันนี้ คงเป็นอะไรที่เรียบง่ายถึงใจคน และดลให้เกิดศรัทธาที่หมดจดดังที่เห็นเป็นพระธาตุอินทร์แขวน ถ่อม บริสุทธิ์ และจริงใจ เทียบไม่ได้เลยกับความอลังการของคนในเมืองหลวงที่เห็นและเป็นไปในพระธาตุชเวดากอง การปิดทองพระธาตุเสร็จสิ้นไปเมื่อปีก่อน หากช่างได้รับคำสั่งให้สร้าง ๆ ๆ จนแทบจะไม่เห็นฐานพระเจดีย์แล้ว เป็นปัญหาเกี่ยวพัน เงินกับศาสนาที่มองไม่เห็นว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ และที่ไหน ๆ ก็มีทั้งนั้น คนเกิดปีมะเมียได้ไหว้สาพระธาตุชเวดากองประจำปีเกิดสมใจ แล้วก็ต้องทำใจไม่ให้เศร้าหมองกับการเปลี่ยนแปลง แน่นอนยอมรับได้แต่อดมีปฏิกิริยาไม่ได้
การจาริกไปในแดนแห่งศรัทธาและรักของชาวพม่า และล้านนาสิ้นสุดลงเมื่อ ๒ เดือน ที่แล้ว แต่ผู้จาริกยังไม่สิ้นศรัทธาที่จะหาหนทางเดินต่อไปในที่ซึ่งไร้พรมแดนแบ่งประเทศ ปราศจาก ความเหลื่อมล้ำทางเชื้อชาติ ผิวพันธุ์ ทั้งการเชิดชูประเทศชาติและ ความแตกต่างของความคิดทางการเมือง หรือแม้กระทั่งอุดมการณ์อันยืนยง ที่จอห์น เลนนอน จินตนาและปรารถนานั้นจะเป็นไปได้สักเพียงใด หรือจะไกลเกินฝัน.
|