เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรมฉบับ ๕๒

คิดคนละมุม
พระไพศาล วิสาโล

จดหมายจากอินโดนีเซีย

 

 

มมาอยู่อินโดนีเซียได้ ๒ อาทิตย์แล้ว ส่วนใหญ่อยู่ที่ “วัดไทย” ชื่อวัดพุทธเมตตา ที่จริงจะเรียกว่าวัดไทย คงไม่ค่อยถูก เพราะเป็นวัดที่สร้างโดยคนอินโดนีเซีย ญาติโยมที่เข้าวัดและอุปถัมภ์วัดก็เป็นคนอินโดนีเซีย (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายจีน) ที่สำคัญวัดนี้บริหารโดยมูลนิธิของคนอินโดนีเซีย พระไทย (คือท่านเจ้าคุณวินจากวัดบวรนิเวศ) เป็นเพียงเจ้าอาวาส แต่ก็ไม่ได้มีอำนาจมากเหมือนในเมืองไทย ตรงนี้น่าสนใจ เพราะสมัยก่อนวัดก็เป็นของชาวบ้าน ไม่ได้เป็นของเจ้าอาวาสอย่างปัจจุบัน (ที่จริงวัดในชนบททุกวันนี้อย่างภูหลง (อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ–บก.) ชาวบ้านยังรู้สึกเป็นเจ้าของวัดอยู่มาก โดยถือว่าพระที่อยู่วัดเป็นเหมือนอาคันตุกะ เวลาออกพรรษาที่ภูหลง ชาวบ้านยังเอาดอกไม้ธูปเทียนมาอาราธนาให้พระอยู่วัดต่อ)

พระไทยหลายรูปคุ้นกับระบบเจ้าอาวาสอย่างวัดไทยในปัจจุบัน เลยอาจรู้สึกอึดอัดที่จะไม่มีอำนาจมากนักในเรื่องการก่อสร้างหรือการบริหารวัด มีหน้าที่เพียงแต่การเทศน์ สอน และประกอบพิธีกรรม ผมเองคิดว่าดี เพราะช่วยลดภาระของสมภารไปได้เยอะ ไม่ต้องยุ่งกับเรื่องเงินทอง ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ฆราวาสเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการของวัดมากขึ้น ไม่ใช่นิ่งดูดาย คิดว่าธุระไม่ใช่ (หนักเข้าก็ละเลยแม้กระทั่งการพระศาสนา) ที่นี่เรื่องบัญชีรายรับรายจ่ายพระไม่ต้องยุ่งเลย มูลนิธิจัดการเอง ผมคิดว่าเป็นการช่วยพระมาก วัดพุทธแบบเถรวาทในหลายประเทศก็ใช้ระบบคล้าย ๆ กันนี้ เช่น ในอเมริกา วัดถูกบริหารโดยคณะกรรมการที่มีลักษณะคล้ายบริษัท แต่ไม่ได้แสวงหาผลกำไร ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า การบริหารและการเลือกกรรมการที่จะมาบริหารวัดจะต้องมีความโปร่งใส และส่งเสริมความสามัคคีในหมู่ฆราวาส ไม่เช่นนั้นก็อาจเปิดโอกาสให้ผู้มีอิทธิพลมาแสวงหาประโยชน์จากวัด ดีร้ายอาจเล่นงานพระหรือสมภารที่ขัดขวางผลประโยชน์ (เช่น ไม่ขอต่อวีซ่าให้ หรือลงมติขับออกจากวัด) ที่อินโดนีเซีย เรื่องการต่อวีซ่าพระ ก็เป็นหน้าที่ของมูลนิธิ เช่นกัน กรรมการมูลนิธิจึงดูเหมือนมีอำนาจมาก แต่ถ้าญาติโยมทั่วไปใส่ใจในเรื่องของวัดและพระ ก็ทำให้กรรมการมูลนิธิกลั่นแกล้งพระได้ลำบาก (ลักษณะ ๓ เส้านี้ ถ้าขยายให้กว้างออกไป ก็ไม่ต่างจาก ๓ เส้าระดับประเทศ คือ รัฐ พระสงฆ์ และประชาชน)

ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ วัดที่ผมอยู่แม้จะเป็นวัดกลางกรุง แต่ก็มีญาติโยมเข้าวัดอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่แต่เฉพาะคนแก่อย่างวัดในกรุงเทพฯ หนุ่มสาว คนทำงานก็เข้าวัด บ้างก็มาถวายอาหารพระ บ้างก็มาทำวัตรเย็น บ้างก็มาสนทนากับพระ ยิ่งเป็นวันอาทิตย์ด้วยแล้ว จะมากันเป็นร้อย ๆ จนเต็มศาลาและล้นออกมาข้างนอก ส่วนใหญ่เป็นคนวัย ๔๐ ลงมา เข้ามาทำวัตรเช้ากัน และฟังพระเทศน์ พอถึงเพล ก็แยกย้ายกันกลับ มีบ้างที่อยู่ต่อ พูดคุยกับพระ ส่วนวันพระก็มีเทศน์ตอนค่ำหลังทำวัตร รวมทั้งสอนสมาธิ ก็มีคนมากันมาก (บางวัด จะมีการแบ่งรอบ เช่น วันอังคารรอบเด็ก วันพฤหัสรอบคนแก่ วันเสาร์รอบคนทำงาน เป็นต้น) และอย่างที่บอก คนที่มาแทบทั้งหมดเป็นคนอินโดนีเซีย ส่วนใหญ่เชื้อสายจีน เห็นได้ว่าศาสนาที่นี่ไม่ใช่เรื่องของคนแก่ หรือจำกัดแค่พิธีกรรม ที่แตกต่างจากเมืองไทยอีกเรื่องก็คือ ชาวพุทธที่มาวัดนั้นสวดมนต์กันเก่ง สามารถสวดพระปริตรหรือเจ็ดตำนานได้พร้อม ๆ กับพระ พระสวด เขาก็สวดตาม ไม่ใช่ปล่อยให้พระสวดไปแต่ฝ่ายเดียว

พระที่นี่บอกว่าชาวพุทธที่นี่มีความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนาดี รู้ไปถึงขั้นอภิธรรม (มีการสอนทุกบ่ายวันจันทร์) สาเหตุสำคัญน่าจะเป็นเพราะ เขามีการสอนวิชาพุทธศาสนาในโรงเรียน ตั้งแต่ชั้น ป.๑ ถึงมัธยมปลาย แม้เข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ก็ต้องเรียนเป็นวิชาบังคับอีก ๔ หน่วย ที่ว่านี้สำหรับนักเรียนและนักศึกษาที่ถือพุทธ ถ้าเป็นมุสลิมหรือคริสต์ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เห็นอย่างนี้ ชาวพุทธไทยเลยอยากเคลื่อนไหวให้มีการบรรจุวิชาพุทธศาสนา เป็นวิชาบังคับในโรงเรียนด้วย แต่เอาเข้าจริง ๆ ก็ไม่รู้จะได้ผลแค่ไหน

ปัญหาของที่นี่คือพระน้อย พุทธศาสนาที่นี่เพิ่งฟื้นฟูหลังประกาศเอกราชเมื่อ ๕๐ กว่าปีก่อน พระเถรวาทที่เป็นคนอินโดนีเซียก็เพิ่งมีเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว จนถึงบัดนี้ คณะสงฆ์เถรวาทอินโดนีเซียมีเพียง ๕๐ รูปเท่านั้น เมื่อพระมีน้อย แล้วการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ จะทำอย่างไร? ที่นี่เขาหาทางออกด้วยการตั้งฆราวาสขึ้นมาเป็นผู้ประกอบพิธีกรรม เรียกว่า “โรโม่” หรือ “ปัณฑิตา” เวลาหาพระไม่ได้ ก็ให้โรโม่นี่แหละเป็นคนสวดมนต์ไม่ว่า งานศพ งานทำบุญบ้าน ฯลฯ คือทำหน้าที่แทนพระในเรื่องพิธีกรรม รวมทั้งมีการเทศน์ด้วย ผมคิดว่าแบบนี้ก็ดีเหมือนกัน เพราะระยะหลัง เราแบ่งบทบาทพระกับฆราวาสชัดเจนเกินไป ที่สำคัญคือ แบ่งชาวพุทธออกเป็นแค่สองประเภท คือบรรพชิตกับคฤหัสถ์ บรรพชิตหรือนักบวชนั้นหมายเฉพาะแค่พระ (เณร) นอกนั้นก็จัดเป็นคฤหัสถ์หรือฆราวาสหมด การแบ่งแบบนี้ค่อนข้าง “หยาบ” เกินไปสำหรับสังคมปัจจุบัน ในความเห็นของผม น่าจะมีนักบวชหลายประเภท (ซึ่งควรรวมแม่ชีไว้ด้วย แทนที่จะจัดเป็นอุบาสิกา) และฆราวาสก็ควรมีหลายประเภทเช่นกัน เช่น นอกจากฆราวาสที่ถือศีล ๕ แล้ว ยังมีฆราวาสถือศีล ๘ ที่ทำงานแทนพระในเรื่องธรรมและพิธีกรรม (จะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่) บางประเทศที่มีเถรวาทแพร่เข้าไป เช่น สหรัฐอเมริกา ก็เริ่มมีการคิดค้นประเภทฆราวาสแบบใหม่ ๆ ขึ้นมา รวมทั้งฆราวาสที่ทำหน้าที่แบบพระ ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาการมีพระน้อย แต่ที่เมืองไทย ถึงแม้จะมีพระไม่น้อย แต่การริเริ่มให้มีฆราวาสแบบใหม่ ๆ ก็จำเป็น จะได้ช่วยทำหน้าที่แทนพระในเรื่องที่ไม่ถนัด สำหรับโรโม่ที่นี่ มีหลายคนที่ได้รับแต่งตั้งจากพระให้เป็น “ปัณฑิตา” ทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมแทนพระ อย่างที่ว่ามา

 

บรมพุทโธ
ประเทศอินโดนีเซีย

 

–๓ วันที่ผ่านมา ผมได้ไปย็อกยาการ์ตา (อดีตเมืองหลวงของชวา) ไปพักที่วิหารแห่งหนึ่งของเถรวาท แต่จะเรียกว่าเป็นวัดก็คงไม่ได้ทีเดียว เพราะไม่มีพระอยู่ประจำ คนที่ดูแลวิหารและจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่นั่นก็คือนักศึกษาชุมนุมพุทธ เขามีกิจกรรมทุกวันอาทิตย์ มีสวดมนต์ และฟังธรรม กับมีการสนทนาธรรม ๒ อาทิตย์ครั้ง นี่ก็เช่นกัน เป็นสิ่งแสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของฆราวาส โดยเฉพาะในยามที่ภิกษุบริษัทยังไม่เข้มแข็ง ฆราวาสมีความสำคัญมาก และน่าจะมีความสำคัญแบบนี้ไปเรื่อย ๆ แม้ต่อไปภิกษุ (ภิกษุณี) บริษัทจะเข้มแข็งมากขึ้นแล้วก็ตาม

ความจริง ผมไม่ได้มาอินโดนีเซียเพื่อสำรวจการพระศาสนาที่นี่ เป้าหมายจริง ๆ คือเพื่อศึกษาบทบาทของอิสลามในยุคโลกาภิวัตน์ คือดูว่าเขาเผชิญกับประเด็นปัญหาใหม่ ๆ ในยุคโลกาภิวัตน์อย่างไร (เช่น ปัญหาความยากจน บริโภคนิยม การแพร่ขยายของตลาด “เสรี”) รวมทั้งดูว่าโลกาภิวัตน์ส่งผลต่อศาสนาอย่างไร (เช่น ความขัดแย้งระหว่างศาสนา การเกิดขบวนการเคร่งคัมภีร์ต่อต้านสมัยใหม่ ที่เรียกว่า fundamentalist)

ผมได้ไปสัมภาษณ์มุสลิมหลายคน ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ พวกเคร่งคัมภีร์ที่ต่อต้านสมัยใหม่ (ซึ่งหลายคนค่อนข้างรุนแรง สนับสนุนทาลิบันและบินลาเดน) ส่วนใหญ่เป็นพวกที่ได้รับการศึกษาแบบสมัยใหม่ เรียนมหาวิทยาลัยทางโลก ตรงข้ามกับพวกที่เรียนในมหาวิทยาลัยอิสลามหรือโรงเรียนสอนศาสนา กลับไม่มีลักษณะสุดโต่งแบบนั้น หากใจกว้างกว่ามาก แสดงว่าต้องมีอะไรเกี่ยวข้องกันมากระหว่าง การศึกษาสมัยใหม่กับการต่อต้านสมัยใหม่ (เข้าลักษณะ มี action ก็ต้องมี reaction) มีคนบอกว่า ขบวนการรณรงค์ให้ใช้ผ้าคลุมหัวในหมู่ผู้หญิง ก็เริ่มจากมหาวิทยาลัยทางโลกเป็นแห่งแรกเมื่อ ๒๐ ปีก่อน ที่จริงโรงเรียนสอนศาสนาก็มีการคลุมหัวมานานแล้ว แต่เขาคลุมเฉพาะเวลาเรียน พอกลับบ้านก็เลิกคลุม แต่ขบวนการคลุมหัวในมหาวิทยาลัย เคร่งกว่านั้น คือคลุมตลอดเวลาที่อยู่นอกบ้าน ไปเที่ยว หรือช็อปปิ้งก็คลุม กระทั่งคลุมหัวไปดูหนังด้วย อย่างไรก็ตาม เดี๋ยวนี้การคลุมหัวเป็นแฟชั่นไปแล้ว ร้านขายเสื้อผู้หญิงแบบหรู ๆ ก็มีขายผ้าคลุมหัวแพง ๆ (บางทีก็ออกแบบโดยดีไซน์เนอร์ชั้นนำที่ดูแบบแฟชั่นนิวยอร์กและปารีส) ผ้าคลุมหัวแพง ๆ สวย ๆ กลายเป็นเครื่องบ่งบอกสถานภาพและสร้างภาพลักษณ์ และกลายเป็นสินค้าที่ใคร ๆ ก็ฝันอยากได้ นั่นหมายความว่า บริโภคนิยมได้ทำให้สัญลักษณ์ทางศาสนากลายเป็นสินค้าตัวใหม่ไปอีกตัวหนึ่งแล้ว

นิทานเรื่องนี้สอนว่าในยุคนี้ยากที่จะหนีพ้นเงื้อมมือของบริโภคนิยมไปได้.

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :