น้ำคือ (น้ำในคูเมือง) สมัยนั้นเต็มไปด้วยดอกไม้ มีดอกป๊าน (ดอกบัวสาย) ดอกจังกร (ดอกจงกล) และมีบัวลอย (ผักตบชวา) นอกจากนั้นก็มีปลาตัวเท่าแขนเยอะมาก ปลาดุก ปลาช่อน ปลาสะเด็ด (ปลาหมอ) ชาวบ้านไปเก็บมากิน แต่ก็ไม่หมดสิ้น ตามวัดก็ปลูกต้นไม้เช่น ดอกสารภี ดอกประดู เดี๋ยวนี้วัดอื่น ๆ เลิกปลูกดอกไม้แล้ว เอาบริเวณวัดเป็นที่จอดรถ เหลือแต่วัดพันตองวัดเดียวที่ยังมีต้นไม้ ดอกไม้ นานาชนิด มีดอกจำปี จำปา ดอกจำปานี่เอาเมล็ดมาปลูกจากอินเดีย
น คือ บรรยากาศรอบคูเมืองเชียงใหม่ในสมัยที่พระโพธิรังษียังเป็นเด็กคือราว พ.ศ. ๒๔๖๑๒๔๗๕ ตามที่ท่านได้บรรยายไว้ใน เรื่องเล่าเจ้าคุณโพธิ์ คนที่เติบโตในนครพิงค์ยุคนั้นจะจดจำความเก่าความหลังเมื่อครั้งเมืองยังงาม และคนยังมีน้ำใจได้อยู่เสมอ สำหรับพระโพธิรังษีผู้บวชเรียนมาตั้งแต่อายุ ๑๔ ปี ชีวิตสามเณรของท่านมั่งคั่งพรั่งพร้อมบนฐานวัฒนธรรมดั้งเดิมของล้านนาที่สืบทอดกันมา โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ วัดในเชียงใหม่สมัยก่อนจะมีครูบาเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ร่มเงา ถ่ายทอดความรู้และฝึกฝนทักษะ ที่สำคัญเป็นต้นแบบของการประพฤติปฏิบัติตนในทางดีงาม ท่านเจ้าคุณโพธิ์มีครูบาคันธา และครูบาหมื่น ที่วัดพวกช้าง เป็นต้นแบบดังกล่าว ทั้งได้เรียนเขียนอ่านตัวเมือง(อักษรล้านนา) ฝึกจารใบลาน และเทศน์ธรรมเมือง(เทศน์ทำนองเสนาะแบบพื้นเมือง) แล้วยังมีครูบาวัดเชียงมั่นที่อยู่ใกล้วัดพวกช้างอีก ๗ รูป ผู้มักมีเรื่องราว บ่าเก่า (โบราณ) เล่าสู่ให้จดจำกัน
สังคมมุขปาฐะที่มีผู้คนของธรรมชาตินั้น รุ่มรวยภาษาและจินตนาการเสมอ ท่านเจ้าคุณโพธิ์ เมื่อยังเยาว์เติบโตมาในเมืองที่คนเปี่ยมศรัทธา ศาสนาคือหัวใจผูกพันคนไว้กับธรรมชาติ ดังนั้นความเป็นกวีจึงเกิดขึ้น เป็นค่าว เป็นเคือ เป็นเสียงซอ เป็นกะโลง ในสมัยนั้นเมื่อมีโรงพิมพ์ตัวเมือง สิ่งที่พิมพ์เผยแพร่กันก็คือ ค่าวฮ่ำ บทกวีที่ว่าด้วยชาดกและนิทานพื้นบ้านต่าง ๆ เนื้อหาเนื่องในทางธรรม คนไหนแต่งค่าวเก่ง ก็จะมีคนรอคอยที่จะอ่านเช่น ปู่หน้อยปั๋นบ้านฮ่อ ที่แต่งค่าวฮ่ำเรื่องไก่หน้อยดาววี (ดาวลูกไก่) ท่านเจ้าคุณโพธิ์ยังจำที่เขาแต่งตอนหนึ่งได้ดังนี้
ไก่หน้อยดาววี
น้ำตาหลั่งย้อย
คั่นแม่ตายแล้ว
สูอยู่ดี ๆ |
ป๊กลูกมาหา
สายสั่นสร้อยวาที
เมื่อวันเป็นผี
อบรมลูกเต้า |
บรรยากาศการกล่อมเกลาทางวัฒนธรรมเช่นนี้เองที่ร้อยรัดคนไว้ในพระศาสนา และเสริมสร้างศรัทธา การที่ครูบาศรีวิชัยนำชาวเชียงใหม่ทั้งใกล้และไกลสร้างทางขึ้นพระธาตุดอยสุเทพเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ นั้น มิได้เป็นเพียงข้อมูลที่บันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของเมือง หากแต่เป็นความทรงจำที่จารึกไว้ในใจของคนที่มีส่วนร่วมในการทำบุญ ไม่ว่าจะด้วยกำลังกาย หรือกำลังทรัพย์ แต่ก็เปี่ยมล้นด้วยศรัทธา พระโพธิรังษีได้มีส่วนร่วมสร้างทางขึ้นพระธาตุดอยสุเทพด้วย เมื่อครั้งยังเป็นสามเณร เรื่องเล่าเกี่ยวกับครูบาศรีวิชัย และศรัทธาในตัวท่านช่างมากมาย พูดกันต่อและเล่ากันมาจนถึงทุกวันนี้
สมัยที่ท่านเจ้าคุณโพธิ์บวชเป็นพระภิกษุแรก ๆ นั้น พระคุณท่านไปจำพรรษาที่วัดน้ำบ่อหลวง (วัดป่าวนาราม) อำเภอสันป่าตอง ที่นั่นมีครูบาอินทจักรรักษาเป็นผู้สอนวิปัสสนาอย่างเคร่งครัด ที่วัดป่านี้เน้นการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ จึงเป็นแรงบันดาลให้พระคุณท่านทำให้วัดพันตองซึ่งเป็นวัดที่อยู่บนถนนลอยเคราะห์กลางเมืองเชียงใหม่ เป็นวัดที่คล้ายกับวัดป่า ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่น้อยทั่วทั้งบริเวณ ท่านเจ้าคุณโพธิ์มีผู้ซึ่งมีต้นแบบหรือครูอยู่หลายท่านที่พระคุณท่านเอ่ยถึงด้วยความเคารพ รวมทั้งท่านพุทธทาสแห่งสวนโมกข์ หนังสือของท่านอาตมาอ่านทุกเล่ม.. เห็นว่าที่ท่านว่านั้นเป็นความจริงแท้ อ่านไปแล้ว โอ
ไม่มีใครเท่า พระคุณท่านกล่าวถึงท่านพุทธทาสไว้ดังนี้
ท่านเจ้าคุณเจ้าโพธิ์ปฏิบัติหน้าที่ต่อกิจการพระศาสนาโดยตลอดทั้งหน้าที่ประจำและที่ปฏิบัติพิเศษในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม พระคุณท่านร่วมเป็นคณะธรรมทูตไปประจำวัดไทยในพุทธคยา เป็นคณะสงฆ์ไทยรุ่นแรกที่รัฐบาลไทยส่งไปอินเดีย และนอกจากจะดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพันตอง พระคุณท่านเคยเป็นเจ้าคณะอำเภอพร้าว ซึ่งในสมัยเมื่อ ๓๐๔๐ ปีก่อนต้องเดินทางไปด้วยความยากลำบาก และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ท่านเจ้าคุณโพธิ์เป็นรองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ และปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนี้มาจนกระทั่ง มีการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายตำแหน่งบริหารคณะสงฆ์ เนื่องจากพระผู้ใหญ่ที่ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด และรองเจ้าคณะจังหวัดอยู่ ชราภาพและปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่เต็มที่ เมื่อ ๒๓ ปีที่ผ่านมานี้เอง
รากฐานที่มั่นคงทางวัฒนธรรมตามความเชื่อล้านนา ประกอบกับการศึกษาพระธรรมอย่างลึกซึ้งถึงแก่น ทำให้ท่านเจ้าคุณโพธิ์ยืนหยัดในการดำรงชีวิตพรหมจรรย์ที่เคร่งครัดและเรียบง่าย ไม่หวั่นไหวต่อการเปลี่ยนแปลงท่ามกลางกระแสบริโภคนิยมที่โหมกระหน่ำ วัดพันตองยังคงเขียวครึ้มชุมชื่นในขณะที่วัดในเมืองอื่น ๆ ล้มไม้ใหญ่ถากถางทางให้สิ่งก่อสร้างที่มาในนามของความเจริญ และถูกหลอกล่อด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ พระคุณท่านแห่งวัดพันตองเป็นอิสระจากอามิสชื่อเสียงฐานันดรทั้งปวง
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ มีบริษัทหัวใสที่ทำเป็นโครงการวางแผนการท่องเที่ยวในเมืองเชียงใหม่ แล้วนำเสนอโครงการกระเช้าลอยฟ้าขึ้นพระธาตุดอยสุเทพเสียเอง จะอวดอ้างแสนยานุภาพของเทคโนโลยีว่าเหนือกว่าศรัทธาคนหรืออย่างไรไม่ทราบ ทางบริษัทมั่นใจในโครงการราวกับว่าจะมอบให้เป็นของขวัญชาวเชียงใหม่ ไล่แจกแผ่นพับสวยหรู ประชาสัมพันธ์กระเช้าลอยฟ้าขึ้นพระะธาตุดอยสุเทพ ให้กับอาจารย์มหาวิทยาลัยในเชียงใหม่ทุกคน โดยหารู้ไม่ว่านั่นคือข้อมูลที่นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เมื่อรวมตัวกันประชุมเพื่อทำการคัดค้าน มีผู้เสนอแนะให้ไปเรียนปรึกษาพระโพธิรังษี การประท้วงกระเช้าลอยฟ้าในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จึงเริ่มต้นขึ้นอย่างอบอุ่นภายใต้การนำของพระคุณท่านผู้เป็นรองเจ้าคณะจังหวัด วันที่มีการเดินขบวนต่อต้านกระเช้าลอยฟ้า ประชาชนชาวเชียงใหม่รวมถึงอาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยทั้ง ๓๔ สถาบันได้รับขวัญและกำลังใจจากการสวดชยันโต โทรทัศน์หลายช่องแพร่ภาพพระสงฆ์นำโดยท่านเจ้าคุณโพธิ์ สวดนำประชาชนอยู่หน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ตามด้วยภาพประชาชนเดินถือป้ายประท้วงไปรอบตัวเมือง
ในแวดวงวิชาการเมืองเชียงใหม่ ทุกครั้งที่มีการล่าลายเซ็นคัดค้านโครงการที่ไม่ชอบมาพากล จะหาคนที่ยอมลงชื่อด้วยได้เพียงไม่กี่สิบคน แม้กระทั่งเรื่องกระเช้าลอยฟ้า ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวใกล้ใจที่สุดแล้ว แต่ด้วยเครือข่ายของท่านเจ้าคุณโพธิ์รวมทั้งพระครูอนุสรณ์ศีลขันธ์แห่งวัดหมื่นล้าน (มรณภาพแล้ว) และพระครูสุเทพแห่งวัดศรีบุญเรือง รายชื่อของผู้ที่ลงคัดค้านการสร้างกระเช้าลอยฟ้าขึ้นดอยสุเทพในครั้งนั้น เรียงรายอยู่บนกระดาษหนามัดได้หลายปึก นับได้ ๒๐,๐๐๐ กว่าชื่อ ซึ่งเมื่อนำไปยื่นให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด (นายชัยยา พูนศิริวงศ์) เป็นหลักฐานที่ทางราชการไม่อาจปฏิเสธได้
ไม่อาจบันทึกไว้ได้หมดว่าตลอดปีที่ทำการประท้วงเรื่องกระเช้าลอยฟ้ามีกิจกรรมอะไรบ้าง แต่จำไว้ว่าท่านเจ้าคุณโพธิ์ทำงานหนัก ออกหนังสือประชุมคณะสงฆ์ อบรมเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพ คิดโครงการให้ช่างซอพื้นเมืองซอเรื่องการคัดค้านกระเช้าลอยฟ้าออกวิทยุกระจายเสียงให้ชาวบ้านได้ยินกันทั่วถึง ฯลฯ จนกระทั่งมีคนไปปล่อยข่าวว่า พระคุณท่านคัดค้านเพราะเป็นเจ้าของธุรกิจรถสองแถวขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ ที่กลัวเสียผลประโยชน์เมื่อมีกระเช้าลอยฟ้า ในขณะที่มีข่าวว่า เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพสมัยนั้น นั่งรถเปอโยต์สีน้ำเงินเข้มที่เจ้าของโครงการกระเช้าลอยฟ้าประเคนให้ น้อยคนนักจะรู้ว่าท่านเจ้าคุณโพธิ์นั้นไม่มีแม้กระทั่งรถประจำวัดเหมือนกับที่วัดอื่น ๆ มี ถ้าหากไม่มีใครมารับพระคุณท่านจะนั่งรถสามล้อถีบไปไหนต่อไหนเอง
|
|
พระโพธิรังษี ถ่ายรูปร่วมกับ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ |
|
|
|
การที่ท่านเจ้าคุณโพธิ์ เป็นพระผู้ใหญ่ที่นำในการคัดค้านกระเช้าลอยฟ้าในครั้งนั้น ได้สร้างความไม่พอใจให้กับพระผู้ใหญ่ทางกรุงเทพฯ ซึ่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน พระคุณท่านเตรียมตัวออกเดินทางไปให้สอบสวนแล้ว แต่เนื่องจากอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ท้วงติงไปทางพระเถระผู้ใหญ่ การสอบสวนจึงต้องระงับไป ที่โครงการกระเช้าลอยฟ้าขึ้นดอยสุเทพต้องหยุดชะงักไป ก็เพราะประเด็นเรื่องของศาสนา ที่ท่านเจ้าคุณโพธิ์ได้ชี้ให้เห็น และเป็นผู้นำในการสานความเข้าใจโดยใช้หลักพุทธธรรม
เมื่อโครงการกระเช้าลอยฟ้าไม่ได้รับอนุมัติ และผู้เสนอโครงการล้มเลิกความตั้งใจไปแล้ว ก็มาถึงยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ ที่ทำให้คอนโดมิเนียมผุดขึ้นตามที่ต่าง ๆ อย่างไร้กฎเกณฑ์ ท่านเจ้าพระไม่เห็นด้วยที่อาคารสูงเหล่านั้นจะอยู่ติดกับวัด มีคนเรียนท่านว่าจะมีอาคารสูงสร้างติดกับวัดฟ้าฮ่าม ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง พระคุณท่านจึงได้นำหนังสือร้องขอให้เจ้าของโครงการ ผู้มีคุณธรรม (คุณบุญเทียม โชควัฒนา) พิจารณายกเลิกซึ่งก็ได้รับคำยินยอม เพราะเห็นแก่ความเหมาะสมในพระศาสนา เมื่อมีพระผู้ใหญ่ไม่เห็นด้วย ประกอบกับการประท้วงอย่างต่อเนื่อง ของคนเชียงใหม่ ในที่สุดก็มีการประกาศกฎกระทรวงขึ้นใช้ ไม่ให้มีการสร้างอาคารสูงติดกับวัด โรงเรียน และแม่น้ำ อีกต่อไป
พระโพธิรังษีไม่เคยเกรงกลัวอำนาจทางการเมืองใด ๆ แต่ยึดมั่นในความถูกต้องดีงามเป็นหลัก เมื่อครั้งมีเหตุการณ์วิกฤตเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ รัฐบาลอันไม่ชอบธรรมของพลเอกสุจินดา คราประยูร เริ่มคร่าชีวิตประชาชน ม็อบของชาวเชียงใหม่ที่ยึดประตูท่าแพเป็นที่มั่น ร่วมทำบุญเพื่อแผ่ส่วนกุศลให้กับผู้ที่เสียชีวิต และได้ไปนิมนต์พระคุณท่านมาเทศน์ที่ประตูท่าแพ ซึ่งท่านก็เต็มใจมา แม้ไม่มีรถไปรับ พระคุณท่านนั่งสามล้อถีบมาถึงประตูท่าแพ เป็นประธานในพิธีอุทิศแผ่ส่วนกุศลพร้อมเทศนาเรื่องความซื่อสัตย์ ซึ่งนับว่ากล้าหาญมากท่ามกลางบรรยากาศแห่งความไม่แน่นอนทางการเมือง คงไม่มีพระผู้ใหญ่รูปใดในเชียงใหม่ ที่สามารถอยู่เคียงข้างประชาชนได้เหมือนที่พระโพธิรังษีได้กระทำในเวลานั้น พระคุณท่านเทศนาท่ามกลางป้ายประท้วงรัฐบาลในสาธารณะโล่งแจ้งแห่งความสับสนและเศร้าสลด
วิถีชีวิตของชาวล้านนาหลังช่วงการพัฒนาที่ยืนอยู่บนฐานทางเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้น เปลี่ยนแปลงหักเหไปจากที่บรรพบุรุษได้สรรค์สร้างเป็นหนทางดีงามตามที่เรียกว่า ฮีตฮอย อย่างมาก อีกทั้งลัทธิบริโภคนิยมที่โหมกระหน่ำนำพาให้ผู้คนหลงไหลไปกับกระแสการบริโภคอย่างไม่ยั้งคิด และพลอยเอากระแสแห่งกิเลสนี้เอาไปในวัดด้วย พระสงฆ์ในล้านนาหลายต่อหลายรูปหลงอยู่ในวงเวียนแห่งลัทธินี้ ทั้งยังมีระบบราชการที่รวมศูนย์เอาอำนาจการตัดสินใจไปไว้ส่วนกลาง ที่ดึงคณะสงฆ์เข้าไปอยู่ในตำแหน่งและสมณศักดิ์ที่ต้องมีการวิ่งเต้นและแบ่งปัน ซึ่งทำให้พระสงฆ์ต้องมีผลงานต่าง ๆ เพื่อที่จะได้มาซึ่งยศศักดิ์ พระโพธิรังษีมิใช่พระนักพัฒนาที่มีผลงานการพัฒนาดีเด่นเห็นเป็นโครงการก่อสร้าง หรือดำเนินโครงการช่วยเหลือชาติบ้านเมืองและประชาชน เหมือนพระนักพัฒนาหลายรูป และมิใช่พระนักอนุรักษ์ที่สร้างผลงานด้านการอนุรักษ์ให้เห็นเป็นการสะสมของเก่าเข้าไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ แต่ท่านเป็นแบบอย่างที่หาได้ยากยิ่งในล้านนาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม
การดำรงชีวิตพรหมจรรย์ที่เคร่งครัด ที่สืบสานวิถีทางดั้งเดิมของท้องถิ่นของท่านเจ้าคุณโพธิ์ เป็นเหมือนดังการหว่านเมล็ดพันธุ์อันก่อให้เกิดความงอกงาม บัดนี้มีลูกศิษย์ของท่านเปิดโรงเรียนบาลีสาธิตศึกษา สาขาโพธิธรรมศึกษาขึ้น ณ วัดป่าแดด อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ให้การศึกษาแก่สามเณรตามแบบอย่างที่พระโพธิรังษีได้ตั้งต้นไว้ในวัดพันตอง ส่วนพระวิมลญาณมุนีซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นเลขาของท่านเจ้าคุณโพธิ์นั้น บัดนี้ดำรงตำแหน่งเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระผู้ที่ดำเนินรอยตามท่านอาจารย์ และเป็นที่เคารพนับถือของชาวเชียงใหม่
นอกจากนี้ท่านยังเป็นที่พึ่งทางใจ และเป็นที่มาของศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั่วไปทั้งในเชียงใหม่และต่างแดนเช่นคุณขรรค์ชัย บุญปาน แห่งหนังสือพิมพ์มติชนผู้พบว่า หาพระนับถือได้ยากในยุคปัจจุบัน เกิดศรัทธาในพระคุณท่านอย่างมาก และรับเป็นผู้อุปัฏฐากรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเรื่องดูแลรักษาสุขภาพของท่านเมื่อครั้งท่านอาพาธ
พระโพธิรังษีเป็นพระผู้ใหญ่ที่อยู่ในตำแหน่งชั้นผู้ปกครองในคณะสงฆ์เชียงใหม่เพียงรูปเดียว ที่สามารถเชื่อมโยงหลักพุทธธรรมให้เข้ากับวิถีปฏิบัติที่รากฐานทางวัฒนธรรมตามความเชื่อของชาวล้านนา นอกจากนี้ทางด้านการศึกษาของสงฆ์ที่ท่านมีบทบาทโดยตรงในวัดของท่าน และโดยอ้อมในแนวนโยบาย ท่านสามารถประสานการศึกษาทั้งระบบที่เป็นสถาบันสงฆ์กับการศึกษาที่เป็นรูปแบบวิถีดั้งเดิมของชาวล้านนา โดยคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของท้องถิ่นได้อย่างกลมกลืน และประการสำคัญที่สุด พระโพธิรังษีเป็นพระสงฆ์ผู้เป็นตัวแทนของสถาบันสงฆ์ไทยที่มิได้ปฏิเสธระบบที่เป็นกระแสหลัก หากแต่ยังคงรักษาความเป็นตัวของท่านเองในวิถีชีวิตของชาวล้านนา และกล้าหาญในวิถีแห่งความถูกต้องดีงามไว้โดยไม่ได้สร้างรอยร้าวให้กับสถาบันสงฆ์แต่อย่างใด พระโพธิรังษีจำเริญในวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวล้านนาอย่างเคร่งครัดหาที่ติมิได้ และเป็นแบบอย่างแก่พระภิกษุสามเณรและสาธุชนทั้งหลายที่จะเดินตาม และต้นแบบที่แท้จริงเช่นนี้นับวันจะหาได้ยากในสังคมที่มากด้วยกิเลสและความหลงมัวเมาเท่าที่เป็นอยู่ขณะนี้.
|