เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรมฉบับ ๕๒

เสมือนบทนำ
กองบรรณาธิการ

ถามหาพุทธทาส ในสังคมไทย

 

 

มื่อพบว่าการศึกษาคณะสงฆ์และวิถีชีวิต “พระเมือง” ตลอดจนความ เป็นไปในเมืองใหญ่ ณ ช่วงเวลานั้น ไม่ใช่คำตอบที่ตนประสงค์ พระมหาเงื่อม อินฺทปญฺโ อายุ ๒๕ ปี นักธรรมเอก เปรียญธรรม ๓ ประโยค ซึ่งเพิ่งสอบตกประโยค ๔ ก็ผละจากเมืองหลวงกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอน มุ่งหวังจะแสวงหาคำตอบของชีวิตสมณะ ตามแนวทางที่พระบรมศาสดาทรงชี้แนะไว้ เท่าที่ตนเคยมีโอกาสได้เรียนรู้จากพระไตรปิฎกและตำหรับตำรา

มิหนำซ้ำยังเผื่อใจไว้ด้วยว่า ถ้าวิธีการเช่นนี้ยังไม่ได้ผลสมคะเน ก็จะหันเหมุ่งสู่ต้นตอรากเหง้าของพุทธศาสนา คือ ชมพูทวีป–ประเทศอินเดีย เพื่อใช้ชีวิตแสวงโมกขธรรม ตามอย่างพระศาสดาและโบราณาจารย์ในครั้งอดีต

 

 

ะว่าไปแล้ว การกระทำเช่นนี้ก็มิใช่เรื่องแปลก ที่คนหนุ่มคนสาวในยุคสมัยต่าง ๆ จะผละออกจากกระแสหลัก อันตนพบว่าเน่าเปื่อยหมักหมม แล้วก้าวออกไปสู่หนทางที่ตนเชื่อถือ–ศรัทธา หรือแสวงหาพื้นที่ใหม่ ๆ เพื่อการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ที่จะมีโอกาสและเอื้ออำนวย ให้ได้กระทำตามความคิดความเชื่อของตนเอง ดังปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์สมัยต่าง ๆ ตลอดมา

บางคนก็ประสบผลสำเร็จ ซึ่งส่งผลวิเศษมหัศจรรย์ให้กับตนและสังคมในวงกว้าง ขณะที่บางคนก็ต้องประสบชะตากรรมอันพลิกผัน พัดพาให้ตกทุกข์ได้ยาก พลัดที่นาคาที่อยู่ ดังกรณีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นอาทิ ทั้งที่เคยได้กระทำการอันเป็นประโยชน์แก่มหาชน อย่างยากจะหาผู้ใดในประเทศนี้เทียบได้

พลังของคนหนุ่มคนสาวที่ยังมีภาระผูกพันร้อยรัดไม่มากนัก เมื่อประกอบเข้ากับอุดมคติ, ความใฝ่ฝัน ตลอดจนแรงบันดาลใจ ที่จะแสวงหาสิ่งที่ “ดีกว่า” “ก้าวหน้ากว่า” หรือ “ถูกต้องยิ่งกว่า” ย่อมจะมีพลวัต และส่งผลกระทบออกไปในวงกว้าง ด้านหนึ่งเกิดความเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพภายในตนเอง อีกด้านก็หนุนเสริมซึ่งกันและกัน ด้วยการเป็นแบบอย่าง หรือเป็นกำลังใจให้กับผู้อื่น เช่น ที่นายจิตร ภูมิศักดิ์ หรือนายโกมล คีมทอง ได้กระทำไว้ ซึ่งส่งผลมาถึงคนหนุ่มคนสาวรุ่นต่อๆ มาอย่างทบทวีคูณ

นี่นับว่าเป็นความสัมพันธ์อันส่งอิทธิพลต่อกันและกัน ทั้งระหว่างปัจเจกชนกับปัจเจกชน และที่ปัจเจกชนมีผลต่อชุมชน หรือสังคมที่เขา (หรือเธอ) เหล่านั้นเป็นสมาชิก อย่างยากที่ใครหรือระบบใด ๆ จะปิดกั้นหรือจำกัดไว้ได้

นอกเสียจากว่าระบบความเชื่อ, โครงสร้าง หรือกลไกบางประเภท ที่สามารถแทรกแซงเข้าไปบ่อนเซาะ หรือกัดกร่อนทำลายอย่างลึกซึ้งถึงแก่นแกน เข้าไปยังอุดมคติ หรือความใฝ่ฝันของคนหนุ่มคนสาวทั้งหลายเหล่านั้น เสียจนทำให้ความถูกต้องดีงามเสื่อมสลาย ต้องเบี่ยงเบนเป้าหมายชีวิตไปเสียเอง ซึ่งเมื่อถึงขั้นนั้นแล้ว การจำกัดปิดกั้นใด ๆ ก็จะไม่มีความจำเป็นต่อไปอีก

 

 

ล่าวในส่วนของสภาพการณ์ตลอดจนความเป็นไป ในคณะสงฆ์และสังคมไทย คงต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้มีแต่ความเหลวแหลกเละเทะ จนเกินกว่าจะเทียบเคียงกับยุคสมัยของหลายท่านที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แม้ว่าภายนอกจะมีความงดงามอันจอมปลอมฉาบทาเอาไว้อย่างหนาแน่นก็ตามที

ในฝ่ายอาณาจักร เรามีระบบเศรษฐกิจและการเมืองที่ปราศจากเสถียรภาพ, มีความอ่อนแอทางวัฒนธรรม, มีความอ่อนด้อยทางการศึกษาและจริยธรรม ตลอดจนปราศจากเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ทั้งของประชาชนและสื่อมวลชนอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ชุมชนและปัจเจกชนถูกละเมิดสิทธิ ทั้งโดยอำนาจรัฐและผู้มีอิทธิพลนานาประเภท อีกทั้งระบบการเมืองก็ตกอยู่ในวงจรของกลุ่มทุนและผู้มีอิทธิพล ซึ่งพยายามเข้ามาใช้อำนาจรัฐผ่านระบอบเผด็จการรัฐสภา โดยกระบวนการสร้างความชอบธรรมอย่างฉ้อฉล ด้วยเล่ห์กลอันซับซ้อนซ่อนเงื่อน ยากที่ประชาชนทั่วไปจะเข้าใจได้

ในฝ่ายศาสนจักร–พุทธจักร การรวมศูนย์อำนาจของคณะสงฆ์เข้ามาบริหาร (อย่างไร้ประสิทธิภาพ) อยู่ที่ส่วนกลาง กลับล้าหลังลงไปยิ่งกว่ายุคที่ท่านพุทธทาสภิกขุกำลังเริ่มก่อตั้งสวนโมกขพลารามเสียอีก ด้วยระบบพระที่เลียนแบบระบบราชการอย่างงู ๆ ปลา ๆ คณะสงฆ์ไทยได้เบี่ยงตัวเองออกจากการจัดการคณะสงฆ์ตามธรรมวินัยชนิดกู่ไม่กลับ สายการปกครองอันประกอบไปด้วยยศฐาบรรดาศักดิ์ (ที่ปราศจากอำนาจ และฝ่ายคฤหัสถ์เองยกเลิกไปเสียแล้วแต่ครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕) ทำลายสายสัมพันธ์แบบอุปัชฌาย์–อาจารย์กับศิษย์ และการนับถือพรรษากาลของฝ่ายเถรวาท ให้พระหันมาเคารพกันที่ “ยศ” จนแทบหมดสิ้น มิหนำซ้ำ โครงสร้างรวมศูนย์ที่อืดอาดอุ้ยอ้าย ก็ยังบ่อนทำลายไปจนถึงระบบการศึกษาคณะสงฆ์ ที่หันเหมาเอาอย่างชาวบ้าน ให้ยิ่งเหลวแหลกเละเทะลงไป กว่าที่เคยเป็นมาเสียอีก ดังเช่น การทุจริตในระบบโรงเรียนปริยัติธรรม ทั้งที่ทุจริตด้านการเงินด้วยการรายงานจำนวนนักเรียนเป็นเท็จ และการทุจริตในการสอบนักธรรม–บาลี หรือการปลอมแปลงเอกสารวุฒิการศึกษา เพื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยสงฆ์ มิไยจะต้องกล่าวไปถึงการเดินตามก้นมหาวิทยาลัยทางโลก โดยไม่เหลือบแลต่อหลักพุทธธรรมหรือการประพฤติพรหมจรรย์ อันมีมาแต่แนวทางของพระบรมศาสดา

จะว่าไปแล้ว ความเป็นจริงข้างต้น ก็เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป ไม่มากก็น้อย ทั้งยังส่งผลกระทบออกไปสู่มหาชนยิ่งขึ้นทุกขณะ แต่ที่น่าประหลาดใจนักก็คือ เหตุใดสภาพการณ์ทางสังคมและทางคณะสงฆ์อันเหลวแหลกเช่นนี้ ในระยะ ๕๐ ปีที่ผ่านมา จึงแทบจะไม่ปรากฏ “พุทธทาส” ผู้มุ่งแสวงหาวิธีการดับทุกข์ให้กับตนเองและผู้อื่น ดังเช่น นายปรีดี พนมยงค์ หรือ พระมหาเงื่อม อินฺทปญฺโ ขึ้นมาอีก

ที่พอจะมีอยู่บ้าง ก็คล้ายจะพากันสงวนท่าที มุ่งแสวงหาวิธีการอันประนีประนอมกับโครงสร้างเดิมแทบทั้งสิ้น และดูเหมือนกับว่าจะมิอาจส่งผลสะเทือนใด ๆ ในระดับกว้างได้อีกเลย

 

ดั
 

งที่กล่าวแล้วว่า การแสวงหาทางออกไปจากเครื่องร้อยรัด หรือพันธนาการต่าง ๆ ทั้งระดับ ปัจเจก หรือในระดับสังคมนั้น มีอุดมคติ, ความใฝ่ฝัน และแรงบันดาลใจ เป็นปัจจัยหลัก อีกทั้งยังต้องใช้พลังกาย–พลังจิต และพลังสติปัญญา ตลอดจนความเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน เป็นบาทฐานอันสำคัญยิ่ง มิเช่นนั้นแล้ว การที่ส่วนหนึ่งส่วนใดพลาดพลั้งขาดตกบกพร่องไป (ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม) ก็จะนำมาซึ่งโศกนาฏกรรมอันเกินกว่าจะคาดคิดได้ ดังกรณีนายจิตร ภูมิศักดิ์ และนายโกมล คีมทอง ได้ประสบมาแล้ว ในขณะที่หลายคนต้องพบชะตากรรมอันเจ็บปวดและสูญเสียนั้นเอง “พุทธทาสภิกขุ” ผู้ประกาศตนเป็นทาสของพระพุทธเจ้า และน้อมนำตนกลับไปสู่หลักปริยัติและปฏิบัติ “จากพระโอษฐ์” อันมีมาในพระไตรปิฎก ตลอดจนให้ความเคารพในธรรมวินัยอย่างเสมอต้นเสมอปลาย กลับสามารถเผชิญหน้ากับการท้าทายนานัปการ ทั้งจากฝ่ายคณะสงฆ์และฝ่ายอำนาจรัฐ กระทั่งสามารถเป็นแบบอย่าง และเผยแผ่หลักพุทธธรรมอันสมสมัย ออกไปในวงกว้าง อย่างยากที่จะมีใครทำได้เท่า

หรือแม้แต่นายปรีดี พนมยงค์เอง ผู้ซึ่งฝักใฝ่ในหลักพุทธธรรมทั้งด้านทฤษฎีและการประยุกต์ใช้ ก็สามารถพบและผ่านปรากฏการณ์ทางโลกธรรมมาได้อย่างสง่างาม อย่างยากที่จะมีใคร(ทั้งในสถานะเดียวกันหรือสูงกว่า)กระทำได้ กระทั่งทำให้ฝ่ายที่มุ่ง “กระทำ” ต่อท่าน จำต้องยอมรับคุณูปการของท่าน ยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

นี่นับเป็นสิ่งที่ผู้ใช้ชีวิตทวนกระแสในระดับต่าง ๆ จำต้องสำเหนียกเอาไว้บ้างมิใช่หรือ

ใช่หรือไม่ว่า นอกเหนือจากสภาวการณ์อันบีบคั้น–คับข้อง จะเป็นเนื้อดินอันอุดม ในการบ่มเพาะให้เกิดมหาบุรุษแล้ว วันคืนอันแนบแน่นอยู่กับศาสนธรรม หลอมตนอยู่กับความดี ความงาม ความจริง ก็เป็นดั่งน้ำหล่อเลี้ยงและให้พลังชีวิต เพื่อการเติบโตเข้มแข็งยิ่ง ๆ ขึ้น ก่อนที่จะผลิดอกออกผลมาเป็นผลงานและแบบอย่างอันอุดมค่า

ด้วยเหตุนี้กระมัง ที่ทำให้คฤหัสถ์และบรรพชิตผู้มัวเมาอยู่กับการเสาะแสวงสุขจากการเสพบริโภคของสังคมไทย ไม่สามารถใช้ศักยภาพพื้นฐาน และโอกาสของตน ในการเป็นแบบอย่าง หรือนำพาอาณาจักรและพุทธจักร ออกไปจากวิฤตการณ์ต่าง ๆ เยี่ยง “พุทธทาส” ได้อีกต่อไป

และ..กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว สังคมบริโภคนิยมชนิดตามก้นตะวันตกของไทยที่กำลังเป็นอยู่ (และจะเป็นยิ่ง ๆ ขึ้นไป) ก็จะไม่สามารถก่อกำเนิด “พุทธทาส” ขึ้นได้อีก ไม่ว่าจะเป็นระดับบุคคล, กลุ่ม–องค์กร หรือแม้แต่ที่จะเป็นสภาวธรรม แห่งความเป็น “ทาส” ของ “ความรู้–ความตื่น” อันมนุษย์ควรใฝ่ใจปฏิบัติขัดเกลาตนก็ตาม

แม้สังคมนี้ยังต้องการพุทธทาส

แต่..ใช่หรือไม่ว่า สังคมไทยในปัจจุบัน (และอนาคต?) ไม่เหมาะสำหรับ “พุทธทาส” อีกต่อไปแล้ว.

 

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :