เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับ ๕๑
เหลียวมองเพื่อนบ้าน

เครือมาศ วุฒิการณ์
บทความนี้เป็นผลสืบเนื่องจากงานศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิญี่ปุ่นในปี พ.ศ. ๒๕๓๗
และมูลนิธิซูมิโตโมในปี พ.ศ. ๒๕๔๒

 

ครู กับ ศิษย์ นิกายเซนสายรินไซ : ใจต่อใจในการฝึกตน

 

          เรือนไม้ญี่ปุ่นที่ซ่อนตัวอยู่ในมุมเล็ก ๆ ริมสระน้ำในบริเวณกว้างของวัดเรียวอันจิ นครเกียวโตนั้นเล็กเกินกว่าที่จะเรียกเป็นวัดได้ แต่ ไดชูอิน ก็เป็นสถานฟูมฟัก สัตบุรุษ หรือบุรุษผู้รักสันติมาหลายชั่วคน สืบสาวราวเรื่องขึ้นไป พระเซนที่พำนักอยู่ใน ไดชูอิน ทุกวันนี้สืบสายนิกาย รินไซ จาก ท่านโกเสน ท่านโซเอน ท่านโซกัตสุ ถึงท่านซูอิกัน เป็นศิษย์เป็นครูสืบต่อกันมาจากใจถึงใจ ฝากไว้ให้กันด้วยสัญลักษณ์ คือการมอบตราประทับให้ (inka shomei) และผู้ที่ได้รับตรา จะได้ชื่อว่าเป็นพระอาจารย์ หรือ โรชิ (roshi)

 

๏ ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ : โซโก โมรินากะ โรชิ

ต่อคำถามของผู้เขียนว่า เซนยังอยู่ในญี่ปุ่น หรือไปเบ่งบานในยุโรปและอเมริกานั้น
ท่าน (โซโก โมรินากา โรชิ) ชี้แจงไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของท่านดังต่อไปนี้
“สิ่งซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าสำคัญนั้นไม่ใช่อยู่ที่ว่าพุทธศาสนาจะแพร่ขยายหรือนิกายเซนจะเจริญรุ่งเรือง
แต่อยู่ที่ว่าคนแต่ละคนมีชีวิตที่เต็มอิ่ม และเพียงพอใจ
เปี่ยมด้วยสันติภาพตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต”

ท่  

ามกลางอากาศร้อนอบอ้าวแห่งฤดูร้อน ในเดือนกรกฎาคม วัดเรียวอันจิร่มรื่นด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ ให้ร่มเงาแก่ผู้มาเยือนชมหิน ๑๕ ก้อนอันลือนาม ที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วทุกมุมโลก ปีนั้นเกียวโตอายุครบ ๑,๒๐๐ ปีมูลนิธิญี่ปุ่นร่วมฉลองงานโดยให้ทุนอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไปทัศนศึกษาเพื่อเป็นการเตรียมงานฉลองเชียงใหม่ ๗๐๐ ปีในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อมีโอกาสแวะวัดเรียวอันจิคราวนี้ เราได้รับอนุญาตพิเศษ เข้าไปในบริเวณด้านใน หลบลี้หนีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เข้าไปนมัสการพระพุทธรูปที่ประดิษฐานข้างใน หลังจากนั้น อาจารย์ศิริชัย นฤมิตรเรขการ ขอเข้าพบเจ้าอาวาสวัดที่เคยพบเมื่อหลายปีก่อน เพื่อถวายของฝากให้ท่าน ครั้นไปพบแล้ว ก็ปรากฏว่าไม่ใช่รูปนี้ที่เคยพบ แต่ก็ถวายของที่นำมาให้กับท่าน แล้วบอกท่านว่า พวกเรามาจากที่ที่วุ่นวายมาก ท่านจะมีอะไรจะสอนเพื่อให้เราได้มีความสงบใจบ้าง ยังจำหน้าตายิ้มแย้มและเสียงหัวเราะอันกังวานของท่านได้เมื่อท่านตอบผ่านล่ามว่า “อาตมาอยู่ที่นี่ก็วุ่นวายมากแล้วเห็นจะไม่มีอะไรจะบอกกล่าว” ทำให้เรานึกภาพวัดเรียวอันจิที่พลุกพล่านทุกฤดูกาลออก ขนมหวานที่ท่านกรุณานำมาต้อนรับ รสกลมกล่อม ชาเขียวเล่าก็ปลุกเราให้ตื่น ลิ้มรสหมดเกลี้ยง แล้วจึงได้กราบลาท่าน พอเราเดินพ้นประตูกุฏิท่านได้เพียงไม่กี่ก้าว ก็มีคนวิ่งออกมา บอกว่าพระที่เราอยากจะพบตัวจริงนั้นอยู่ที่ไดชูอิน พร้อมนำเราเดินไปอีกมุมหนึ่งของวัดเรียวอันจิ และมอบของที่ระลึกคืนเพื่อถวายให้กับท่านอาจารย์ที่อาจารย์ศิริชัยต้องการมาเยี่ยมคารวะ ตรงประตูเล็ก ๆ หน้าบริเวณไดชูอิน ชาวตะวันตกชายหญิง ๑ คู่ในเสื้อญี่ปุ่นสีดำ ละมือจากการตัดเล็มพุ่มไม้ มาต้อนรับคณะเรา แล้วนำเราไปนั่งรออาจารย์ที่เรือนไม้หลังเล็กอันเป็นกุฏิของท่าน

          ท่านโซโก โมรินากะ โรชิ ดูสูงสง่าด้วยผ้าสีน้ำตาลอ่อนค่อนไปทางสีชมพู ที่เป็นเสื้อคลุมตัวนอก หรือ (okesa) กลมกลืนกับจีวรที่คล้องคอ ในวัย ๗๐ ปีต้น ๆ ท่าทางท่านยังคล่องแคล่วแข็งแรง เราเริ่มสนทนากับท่านโดยผ่านล่ามคือ คุณโอชิ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ ทานาเบ้ ผู้ซึ่งยอมรับในภายหลังว่า ได้รับประโยชน์อย่างมากจากการเป็นล่ามครั้งนี้เพราะเขารู้เรื่องพุทธศาสนานิกายเซนน้อยมาก แม้เป็นชาวญี่ปุ่นโดยกำเนิด ท่านโซโก โรชิ พูดถึงการฝึกปฏิบัติแบบซาเซน ว่าสำหรับบางคนต้องใช้เวลายาวนาน พลางชะโงกหน้าไปข้างนอก ดูลูกศิษย์ชาวเยอรมัน ๒ คน ที่ต้อนรับเราเมื่อครู่ก่อน ก่อนจะบอกเราว่า “คู่นี้อยู่ฝึกมาแล้ว ๑๕ ปี แล้วยังไม่ละลายเลย”

          นอกจากจะเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยที่สอนพุทธศาสนาในกรุงโตเกียวแล้ว ท่านยังนำการปฏิบัติซาเซนอย่างขันแข็ง และวันนั้นเราโชดดีมากที่ท่านได้นำเราไปชมห้องที่ท่านสอนซาเซนที่ตั้งอยู่ข้างหลังกุฏินั่นเอง ห้องนั้นไม่กว้างขวางมากอย่างที่จุผู้ปฏิบัติเป็นร้อยเหมือนบางสำนักในบ้านเรา แต่ก็กว้างพอที่จะหายใจได้โล่ง และเคลื่อนไหวได้ไม่อึดอัด และเล็กพอที่จะทำให้อาจารย์ได้ดูแลใส่ใจอย่างทั่วถึง นับเบาะนั่งที่เรียงรายในห้องที่จะได้นั่งอย่างสบาย ๆ คงประมาณ ๑๐ คน ท่านอาจารย์เซนของเราเดินไปหยิบไม้กระบองอันยาวมาแบกบนบ่าทำท่าเดินไปเดินมา สาธิตว่าถ้าผู้ปฏิบัติคนไหนเผลอหลับไหลก็จะใช้ไม้อันนี้แหละฟาดลงไป ทำให้เรานึกได้ว่า เรื่องราวที่เราเคยได้ฟังได้อ่านในนิทานเซนต่าง ๆ นั้น แท้จริงแล้วเป็นเรื่องจริง หาใช่นิทานขานเล่าเปล่าเปลือยไม่

          ท่าน โซโก โรชิ เกิดในเมืองเล็ก ๆ ชื่อ อูโอทซู จังหวัดโตยามะ ที่ตั้งริมฝั่งทะเลญี่ปุ่น และเติบโตมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ กำลังเข้มข้นแผ่ขยาย และญี่ปุ่นถลำลึกลงในเวทีประยุทธ์พร้อมชูความรักชาติเป็นธงชัยให้ประชาชนเห็นดีงามด้วย ช่วงนี้ท่าน โซโก โรชิ ยังเป็นนักเรียนอยู่ชั้นมัธยมสายศิลปะ ซึ่งถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารสู้รบศัตรู ในขณะที่นักเรียนสายวิทยาศาสตร์ที่ถูกเก็บไว้ให้ทำงานด้านเทคนิควิทยาการ และการแพทย์ ท่านเล่าไว้ใน Pointers to Insight หนังสือเล่มเล็ก ๆ ที่เป็นอัตชีวประวัติว่า ที่เป็นดังนั้นก็เพราะรัฐบาลเห็นว่า นักเรียนสายวิทยาศาสตร์จะทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้มาก นักเรียนสายศิลปะ ซึ่งมักจะมีปรัชญา และความเห็นขัดแย้งกับรัฐบาลเสมอ ในที่สุดเด็กหนุ่มทั้งหลายในสายศิลปะก็ต้องไปทำสงครามในนามของความรักชาติ เพื่อนร่วมชั้น และ ร่วมโรงเรียนของท่านหลายคนได้ทิ้งชีวิตไว้ในสนามรบ ทำให้ท่านและเพื่อนร่วมวัยต้องตกอยู่ในภาวะครุ่นคำนึงถึงความตาย และในกรณีของท่านเองนั้นเองนั้น ก่อนที่ท่านจะต้องออกไปเป็นซามูไรสมัยใหม่นั้นทั้งโยมพ่อ และโยมแม่เสียชีวิตในเวลาไร่เรี่ยกันเพียงไม่กี่วัน การรอดชีวิตจากสงคราม ยามเมื่อสงบลงแล้วนั้น จะเรียกว่าเป็นโชคดีเสียทั้งหมดเลยก็มิได้ เพราะประเทศผู้แพ้นั้นตกอยู่ในสภาพที่ย่อยยับดับสลาย โดยเฉพาะเรื่องของมาตรฐานศีลธรรมจรรยารวมทั้งความเชื่อซึ่งสั่นคลอนทั้งสังคมก็ว่าได้ ถูก–ผิด ดี–ชั่ว นั้นแทบแยกกันไม่ออกตัดสินกันไม่ได้เลยทีเดียว ยากนักที่จะดำเนินชีวิตต่อไปด้วยสิ้นไร้รากฐานความเชื่อในชีวิต การศึกษาก็ดูไร้ค่าไปหมด และมีการปฏิรูปที่ดินครั้งใหญ่หลังสงคราม ท่านโซโก โรชิ พบว่าที่ดินที่บรรพบุรุษได้สั่งสมไว้ ถูกยึดคืนไปหมด เคว้งคว้างหาที่พึ่งอยู่ได้ไม่นาน โชคชะตาก็นำพาให้ไปยืนเคาะประตู ไดชูอิน สาขาเล็ก ๆ ของวัดเซนในเกียวโต

          ที่นี่เอง ท่านได้เรียนรู้ที่จะวางใจในครูหลังจากที่สูญสิ้นความวางใจในทุกสิ่งทุกอย่างไปแล้ว วันแรกที่ไปถึงพระอาจารย์คือท่าน ซูอิกัน โรชิ ขณะนั้นอยู่ในวัย ๗๐ ปีแล้วได้ตั้งคำถาม หลังที่ได้ฟังเรื่องราวของหนุ่มน้อย ผู้แจ้งความประสงค์จะบวชอยู่ที่วัด ว่า “ดูเหมือนว่าเธอจะสิ้นศรัทธาต่อทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งผู้คนด้วย แต่ที่นี้การฝึกปฏิบัตินั้น จะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าหากเธอไม่วางใจในครู เธอจะไว้เนื้อเชื่อใจฉันได้ไหมล่ะ ถ้าได้ฉันจะรับเธอไว้ที่นี่ แต่ถ้าไม่ ก็เป็นการสูญเปล่า เธอก็กลับบ้านเสียดีกว่า” แม้จะไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของความวางใจ แต่ด้วยความกลัวจะถูกปฏิเสธท่าน โชโก โรชิ จึงตอบแข็งขันว่า ท่านวางใจในท่านอาจารย์ บทเรียนในวันแรกที่ไดชูอิน อาจารย์ซูอิกัน ไม่ได้สอนด้วยการนั่งเทศนา พรรณนาด้วยคำพูดอันมากมาย แต่ด้วยวิธีการชี้นำที่ล้ำลึก ควรแก่การเอ่ยถึง นั่นคือท่านบอกให้ท่าน โซโก โรชิ ไปกวาดบริเวณรอบ ๆ ไดชูอิน ในวัดเซนทุกวัดนั้นพระท่านตั้งใจปลูกต้นไม้หลากหลายพันธุ์ เพื่อที่จะให้มีใบไม้ร่วงให้พระได้กวาดเป็นการฝึกปฏิบัติตลอดทุก ๆ ฤดูกาล เพื่อจะเป็นที่ยอมรับของอาจารย์ ท่าน โซโก โรชิ จับไม้กวาดลงมือปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายอย่างแข็งขันไม่นานก็ได้ใบไม้กองใหญ่เท่าภูเขา แล้วจึงไปถามอาจารย์ท่านว่าจะให้เอาขยะกองนี้ไปไว้ที่ไหน อาจารย์ซูอิกัน ส่งเสียงดังทันใด “ใบไม้ไม่ใช่ขยะนะ นี่เธอไม่เชื่อใจใช่ไหม” พอท่านเปลี่ยนคำถามว่า จะให้กำจัดใบไม้เหล่านี้อย่างไร อาจารย์ก็แผดเสียงอีกว่า “เราไม่กำจัดมันหรอก” และบอกให้ท่านไปเอาถุงมาใส่ใบไม้ที่กวาดได้นำไปเก็บไว้เป็นเชื้อเพลิง ส่วนที่เหลือเป็นก้อนกรวดก้อนหินที่หลังเก็บไปแล้วท่านให้นำไปไว้ตรงชายหลังคา เป็นทั้งที่รองรับน้ำฝน และเพิ่มความงามให้กับสถานที่ และท้ายสุดท่านอาจารย์ก้มลงเก็บเศษของกรวดหินชิ้นเล็ก ๆ นำไปฝังไว้ในดินจนบริเวณนั้นเกลี้ยงเรียบหมดจด แล้วจึงพูดขึ้นว่า “เธอเข้าใจบ้างแล้วหรือยังว่าสภาพที่แท้และดั้งเดิมของมนุษย์และสรรพสิ่งนั้นปราศจากขยะ” นี่เป็นบทเรียนแรกในชีวิตสมณะของท่าน โซโก โรชิ อีกนานกว่าท่านจะค่อย ๆ เข้าใจว่านี่คือถ้อยคำที่เป็นสัจธรรมใน พุทธศาสนา และเป็นสาระเดียวกันกับที่ศากยมุนีได้เปล่งเป็นวาจาในคืนวันตรัสรู้ ดังที่บันทึกไว้ในพระสูตรมหายานของจีนว่า “ตถาคต บรรลุถึงซึ่งมรรควิถีพร้อมโลกทั้งโลก และสรรพชีวิต สรรพสิ่งทั้งหลาย ภูผาป่าดง แม่น้ำลำธาร ไม้ใหญ่ และหย่อมหญ้าล้วนตรัสรู้ด้วยกันหมดทั้งสิ้น”

          เช้าจรดค่ำในวัดเซนจะเป็นช่วงเวลาของการฝึกตนในวิถีชีวิตที่ดำเนินไปแต่ละวัน ตื่นนอนตอนเช้า ฉันอาหาร ตามด้วยพิธีชงชาอย่างสั้น ๆ อันเป็นโอกาสที่จะได้พบปะสนทนากับครู ที่ไดชูอิน ช่วงนั้นมีเพียงท่านอาจารย์ซูอิกัน ลูกศิษย์ชื่อ โซโก โมรินากะ และสตรีผู้สูงวัย อีกท่านหนึ่ง ชื่อ โอกาโมโต ผู้ซึ่งเคยมีส่วนพัฒนาการการศึกษาของผู้หญิงในญี่ปุ่น แต่บัดนี้ดูแลเอาใจใส่ท่านอาจารย์ ชูอิกัน ไม่ใช่เรื่องแปลกที่พระเซนจะอยู่ร่วมกับสตรี แม้ก่อนหน้าจะมีการอนุญาตให้พระแต่งงานมีครอบครัวได้อย่างเป็นทางการ (เชื่อกันว่าเป็นการลดอำนาจของพระสงฆ์ที่มีสูงมากในช่วง โชกุนเป็นใหญ่) ก็มีผู้หญิงพำนักพักพิงอยู่ในวัดอย่างไม่เปิดเผย ดังที่มีคำใช้เรียกเธอว่า ไดโกกุ–ซามะ (Daikoku–sama) ซึ่งเป็นชื่อเทพารักษ์แห่งโชค องค์หนึ่งในเจ็ด ชาวญี่ปุ่นมักจะเอาเทวรูปของ ไดโกกุ–ซามะ ไว้ในครัวหรือตามทางเดินเข้าบ้าน สุภาพสตรีของท่านซูอิกันท่านนี้นอกจากจะดูแลเรื่องส่วนตัวของท่านอาจารย์แล้ว ยังเป็นคู่สนทนาธรรมที่มีสติปัญญาเฉียบแหลม เป็นประโยชน์ต่อศิษย์ที่นั่งฟังอยู่ เมื่อแรกที่ได้อยู่ในไดชูอินนั้น ท่านอาจารย์ไม่เคยสนทนากับลูกศิษย์เลย แม้เมื่อคุณโอกาโมโต จะบอกให้เสนอความเห็น ท่านอาจารย์ก็ตัดบทไม่ให้กล่าวอะไรด้วยเหตุผลที่ว่า “เขายังไม่พร้อมที่จะพูดต่อหน้าผู้คน” ช่วงนั้นท่านโซโก โรชิยังโต้เถียงอาจารย์ อึงอลอยู่ในใจ แล้วจึงเข้าใจในเวลาต่อมาว่าการฝึกตนที่จะไว้วางใจครูนั้นจะต้องฝึกที่จะตอบรับทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่เฉพาะแค่วาจาท่าทางเท่านั้นแต่ด้วยใจทั้งหมดทั้งสิ้นด้วย เมื่อมองย้อนไปในอดีต ท่านโซโก โรชิรู้สึกซาบซึ้งในวิธีการอันเข้มงวดที่อาจารย์ของท่านปฏิบัติต่อท่าน เพราะทำให้ท่านได้สำรวจตรวจสอบความตั้งมั่นในสายสัมพันธ์ ครู–ศิษย์ และความตั้งใจในการปฏิบัติ และท่านภูมิใจยิ่งที่ครูจัดให้เป็นศิษย์แถวหน้าไม่เคยอ่อนด้อยถอยถด

          จนกระทั่งวันหนึ่งซึ่งท่านได้ประจักษ์ในน้ำใจครูคือวันที่ท่านจากลาเพื่อไปเรียนรู้ในวัดที่ใหญ่ขึ้น ท่านอาจารย์ซูอิกันเรียกท่านเข้าไปพบแล้วมอบเงินจำนวนหนึ่งให้ พลางบอกว่า “นี่เป็นเงินเพื่อไปสู่นิพพาน” “การฝึกปฏิบัติในวัดนั้นหนักหนาสากรรจ์อาจถึงตายได้ถ้าหากเธอประคองตนไปไม่ถึงฝั่ง เงินจำนวนนี้คือเงินทำศพของเธอ จะได้ไม่ต้องให้ใครเดือดร้อน” แม้จะรู้สึกสะทกสะท้านบ้างกับคำพูดของครู แต่ท่านก็น้อมรับอย่างเต็มใจ พอพร้อมที่จะก้าวเดินจากประตูไดชูอิน ครูผู้ปกติมีบุคลิกน่าเกรงขาม เดินตามหลัง และได้กระทำในสิ่งที่ศิษย์ไม่คาดคิดมาก่อน คือ ก้มลงผูกสายรองเท้าให้เสร็จแล้วเอามือตบเบา ๆ บนปมเชือกที่ผูกรัดกัน และเอ่ยคำที่ต้องจำให้มั่น “อย่าแกะมันออกนะ” คำที่ย้ำเตือนถึงคำมั่นสัญญาที่ศิษย์ได้ให้ในการฝึกปฏิบัติ ซึ่งเสมือนเสริมสร้างให้ความมุ่งหมายนั้นมั่นคงขึ้น โดยที่ไม่คาดคิดมาก่อนว่า ประสบการณ์ที่จะได้รับ ที่ประตูวัดไดโตกูจิจะสร้างความสั่นคลอนให้กับความมุ่งมั่นตั้งใจนั้นแม้จะเตรียมใจมาก่อนว่า “นิวาซูเม” (Niwazume) ซึ่งคือการทดสอบความตั้งใจที่ต้องพิสูจน์ด้วยความอดทนรอคอยหน้าประตูวัดเซนก่อนการยอมรับเข้าวัดนั้น เป็นกระบวนการตรวจสอบที่ทรหดตามประเพณีที่ถือปฏิบัติมาเมื่อครั้งท่าน เอกะ หรือจีนเรียกว่า หุยค่อ ผู้เป็นพระสังฆปริณายกรูปที่สองได้ตัดแขนซ้ายถวายแด่ท่านอาจารย์ คือพระโพธิธรรมเพื่อให้เห็นถึงความมั่นคงในทางธรรม แต่เมื่อต้องยืนหนาวเหน็บหน้าประตูไดโตกูจิเข้าจริงก็แทบจะหมดสิ้นความมุ่งมั่น ในวันที่ ๓ ของการรอคอยท่ามกลางอากาศที่เย็นยะเยือกเข้าไปในทุกอณูของร่างกาย และในขณะที่ความตั้งใจหมายมั่นทั้งหมดกำลังจะถึงจุดพังทลาย ท่านโซโกโรชิก็ได้ประจักษ์ในความหมายที่แท้จริงของประเพณีนิวาซูเม และแล้วประตูสู่ความสำเร็จทางใจก็เปิดอ้ารับท่าน

          บรรยากาศของพุทธศาสนาแบบเถรวาททำให้เราคุ้นชินกับเสียงสวดมนต์ คำเทศนา และวาทะถ้อยต่าง ๆ แต่นิกานเซนนั้นดูจะเบื่อลัทธิถ้อยไปเลย เราพบว่าสื่อจากใจถึงใจจะไปอยู่ในสวนญี่ปุ่นการชาชกลีลาในละครโนะ ศิลปะการวาดรูปแบบตวัดพู่กันครั้งเดียวจบ หรือแม้กระทั่งการยิงธนู เมื่อจะใช้คำพูดก็น้อยมาก พระเซนที่มีชื่อ เช่น ชุนเรียว ซูซูกิ ฝากหนังสือเล่มเล็ก ๆ ไว้ให้โลกเพียงเล่มเดียวก่อนลาจากคือ Zen Mind, Beginner’s Mind ส่วนท่านโซโก โรชิ ก็มีเพียงอัตชีวประวัติที่ชื่อ Pointer to Insight เล่มบาง ๆ เช่นกันก่อนที่จะล่วงลับด้วยโรคมะเร็ง ๒ ปีหลังจากที่ไปคารวะท่านครั้งนั้น จำได้ว่าก่อนจะกราบลาท่านวันนั้น เราถามคำถามท่านกันคนละข้อ ต่อคำถามของผู้เขียนว่า เซนยังอยู่ในญี่ปุ่น หรือไปเบ่งบานในยุโรปและอเมริกานั้น ท่านชี้แจงไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของท่านดังต่อไปนี้ “สิ่งซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าสำคัญนั้น ไม่ใช่อยู่ที่ว่าพุทธศาสนาจะแพร่ขยายหรือนิกายเซนจะเจริญรุ่งเรือง แต่อยู่ที่ว่าคนแต่ละคนมีชีวิตที่เต็มอิ่ม และเพียงพอใจ เปี่ยมด้วยสันติภาพตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต”

 

๏ ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ : ทามูระ โซกัน

เรื่องเล็กที่สุดที่ท่านตอบสนองความใคร่รู้จากเบื้องลึกของใจผู้เขียนคือ
อาจารย์ท่านสั่งเสียอะไรในลมหายใจสุดท้ายของชีวิต
ท่านมูระ โซกันเล่าให้ฟังว่าอาจารย์ไม่ได้บอกกล่าวสาระสำคัญอันใดไว้
เพียงยกมือขึ้นวางแนบลงตรงหัวใจเท่านั้นเอง
และท่านก็ยกมือทำท่าสาธิตให้ดู
เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งต้องจดไว้
ในบันทึกหน้าขนบแห่งชีวิตของครูตอนก่อนหมดลมหายใจ

 

ระตูทางเข้าไดชูอินยังคงสงบไร้ความพลุกพล่าน ปลายฤดูใบไม้ผลิแล้ว แต่เมืองทั้งเมืองคงอบอวลด้วยกลิ่นหอม อันเป็นสาระของดอกไม้นานาพันธุ์ บริเวณรอบไดชูอินก็เช่นกัน ทั้งความหอมหวานและสีสันของดอกไม้สีม่วงแม้ใกล้ร่วงโรย แต่ยังคงกระจ่างแจ้งอยู่ในใจถึงทุกวันนี้ ผู้มาเยือนจากเชียงใหม่ในครั้งนี้เหลือเพียงสตรี ๒ คนพร้อมล่าม ทั้งที่ทราบว่าท่านโซโก โรชิได้มรณภาพเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว แต่จุดมุ่งหมายของการเยือนคือ อยากศึกษาเรื่องการสืบทอดทางวัฒนธรรม อีกทั้งใจจริงใคร่รู้ว่าใครคือผู้นั่งในไดชูอินแทนท่านอาจารย์ สุภาพบุรุษในวัย ๓๐ ที่นั่งคุกเข่าก้มศีรษะต้อนรับเราตรงหน้าเรือนไม้หลังเดิม อยู่ในเสื้อคลุมอย่างไม่เป็นทางการ เป็นผู้เดียวกับที่เข้ามาในห้องที่เราสนทนากับท่านโซโก โรซิเมื่อสองปีก่อน ที่จำได้แม่นเพราะเป็นท่าทางและร่างกายอันอ่อนน้อมและงดงาม เช่นเดียวกันกับเมื่อนำเสนอน้ำชาและขนมให้กับเราคราวนั้น เราไม่รู้จักแม้กระทั่งนามของท่าน ได้แต่เดินท่านไปตามระเบียงไม้ ผ่านห้องเล็ก ๆ ที่มีคน ๓–๔ คนกำลังนั่งเรียนเขียนอักขระแบบโบราณไปยังห้องกลาง ล่ามบอกว่า เพื่อให้เราได้คารวะและระลึกถึงอาจารย์ผู้ล่วงลับคนก่อน ๆ จากนั้นก็ถูกพาไปยังอีกห้องหนึ่งเพื่อรอที่จะพบท่านเจ้าอาวาสไดชูอินคนใหม่

          การนั่งกับพื้นของชาวตะวันออก นอกจากจะเป็นการสำรวมด้วยท่วงท่าของร่างกายแล้ว ยังหมายลึกถึงประเพณีของการสื่อสาระของใจด้วยการนั่ง ดังที่เรารู้กันว่าคำว่าอุปนิษัทที่ใช้เรียกยุคทองของปรัชญาอินเดีย ๒๕๐ ปีก่อนและหลังพุทธกาลนั้น รากลึก ๆ แปลว่านั่งใกล้ นั่งใกล้ครูผู้สอนสั่งหรือนั่งใกล้สัจธรรมที่โน้มนำใจ ตรงกลางห้องในขณะที่นั่งรอคอยนี่เอง เราเห็นการนั่งด้วยใจที่ปรากฏเป็นความงามในท่าทางของสุภาพสตรีวัย ๔๐ ที่กำลังชงชาอยู่ตรงห้อง เพลินอยู่กับการชงชาของเธอจนกระทั่ง ประตูโชจิ* ด้านหลังของห้องเลื่อนเปิดออกจากกัน ผู้ที่ก้าวเข้ามาคือ ผู้ที่นำขนมมาให้ในปีก่อนโน้น และผู้ที่เพิ่งจะต้องรับเราเข้ามาในตัวเรือนนั่นเอง บัดนี้อยู่ในเครื่องแต่งกายเต็มรูปแบบ ด้วยเสื้อคลุมตัวนอกหรือโอเกสะผ้าค่อนข้างหนาสีคราม และจีวรคล้องคอสีเขียวเข้ม “ทามูระ โซกัน” เราเพิ่งจะรู้จักฉายาท่านผ่านล่าม ท่านบวชที่ไดชูอินเมื่อ ๑๕ ปีที่แล้ว ครั้งยังอายุ ๒๑ และอยู่เป็นศิษย์ของท่านอาจารย์โซโก โรชิที่ไดชูอินมาโดยตลอดแม้จะต้องไปเรียนและฝึกฝนตนในวัดเซนที่ใหญ่กว่าที่มีชื่อว่า เมียวชินจิ นับว่าอายุท่านยังน้อยเมื่อนึกถึงว่าท่านรับภาระหน้าที่แทนท่านอาจารย์ในตำแหน่งเจ้าอาวาสไดชูอิน และอธิการบดีมหาวิทยาลัยฮานาโซโนที่สอนพุทธศาสนาด้วย แต่ท่านทามูระ โซกันได้ใช้ชีวิตนักบวชตามวิถีเซน คือ เรียนรู้จากครูผู้ถ่ายทอดจากใจหนึ่งถึงอีกใจหนึ่งซึ่งพร้อมรับ ถึงวันนี้ศิษย์ต้องยืนอยู่ด้วยตัวเองไม่มีอาจารย์คอยประคับประคอง ยังมีการสอนซาเซนอยู่ที่ไดชูอิน แต่ด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิที่ต่างจากท่านโซโกโรชิจึงทำให้ท่านพบว่า การสอนซาเซนเช่นอาจารย์นั้นเป็นความยากยิ่งสำหรับท่าน แต่ก็มีศิษย์ชาวตะวันตกของอาจารย์แวะเวียนมาปีละ ๑ ครั้ง เราสนทนากันหลายเรื่อง การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในญี่ปุ่น พุทธศาสนาในญี่ปุ่นที่คลายความสำคัญ อิทธิพลของเซนที่ยังคงแทรกซึมอยู่ในชีวิตเล็กๆ ของผู้คนจำนวนไม่มากแต่มีพลังเรื่อง “ซาโตริ” หรือสัมโพธิ ซึ่งคือ ญาณที่เป็นคำฮิตติดปากคนเมื่อเอ่ยถึงพุทธศาสนานิกายเซน ซึ่งท่านบอกว่าเอามายึดเป็นที่พึ่งไม่ได้ อีกทั้งไม่แน่ใจนักว่ามีจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงมายา เรื่องเล็กที่สุดที่ท่านตอบสนองความใคร่รู้จากเบื้องลึกของใจผู้เขียนคือ อาจารย์ท่านสั่งเสียอะไรในลมหายใจสุดท้ายของชีวิต ท่านมูระ โซกันเล่าให้ฟังว่า อาจารย์ไม่ได้บอกกล่าวสาระสำคัญอันใดไว้ เพียงยกมือขึ้นวางแนบลงตรงหัวใจเท่านั้นเอง และท่านก็ยกมือทำท่าสาธิตให้ดู เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งต้องจดไว้ในบันทึกหน้าขนบแห่งชีวิตของครูตอนก่อนหมดลมหายใจ

          ครั้งหนึ่งเคยกราบลาพระสงฆ์ไทยรูปหนึ่งแล้วท่านบอกว่าถ้าท่านเป็นพระฝ่ายมหายาน หรือธิเบตก็จะได้ไหว้ตอบกันไป ไหว้ตอบกันมา แต่วันนั้นหลังกราบลาท่านทามูระ โซกันแล้ว ท่านไม่เพียงแต่ก้มลงตอบการคารวะของเราเท่านั้น พอเดินลงถึงหัวบันไดแล้ว ท่านยังก้มลงกลับรองเท้าของเราให้หันหน้าพร้อมที่จะใส่ ตามธรรมเนียมของเจ้าบ้านชาวญี่ปุ่นอีกด้วย ทำให้เราผู้ไม่คุ้นเคยไม่ทราบจะวางตัวอย่างไรถูก ได้แต่ไหว้ท่านอย่างนบน้อมตามแบบไทย ๆ ที่เราปฏิบัติกันต่อพระสงฆ์และผู้ใหญ่ แล้วท่านก็เดินไปส่งเราถึงประตูใหญ่และยืนอยู่ตรงนั้นจนเราลับตา

          ท่านทามูระ โซกัน สร้างความประทับใจให้กับผู้มาเยือนจากประเทศที่มีประเพณีทางพุทธศาสนาที่แตกต่างอย่างแน่นอน แต่นั่นเป็นเพียงรูปแบบภายนอกที่สะท้อนจากการฝึกปฏิบัติภายในที่เป็นผลทำให้ใจใสบริสุทธิ์ ท่านผู้นี้ทำให้เราเกิดความหวังต่อโลกสมัยใหม่อีกนานัปการ เรื่องราวของการสื่อธรรมะจากครูถึงศิษย์ด้วยใจต่อใจที่สืบสายกันมาในไดชูอิน ทำให้เข้าใจซึ้งถึงความหมายของคำว่า อันเตวาสิก ที่ไม่หมายความผิวเผินเพียงแค่ศิษย์ก้นกุฏิที่ชิดใกล้ แต่ตามรากความเดิมคือ ผู้อาศัยอยู่ภายใน ล่วงรู้ใจของกันและกัน นอกจากนี้ยังรู้สึกยินดีที่ได้พบว่า บรรยากาศอุปนิษัทนั้นมิใช่อยู่แต่ในประวัติศาสตร์อันห่างไกลสุดไขว่คว้า หากเป็นเรื่องจริงที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน แม้จะเกิดขึ้น ณ มุมเล็ก ๆ บนผืนแผ่นดินโลกอันกว้างใหญ่ เรื่องวัฒนธรรมประเพณีก็สำคัญ แม้ไม่ใช่สาระอันยิ่งใหญ่ แต่เรื่องใจนั้นยิ่งยวดกว่ายากจะหาอะไรเสมอเหมือน


*ประตูบ้านญี่ปุ่นที่ทำด้วยไม้ตีเป็นช่อง ๆ และบุด้วยกระดาษสีขาว
หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :