เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรมฉบับที่ ๔๙

บทเรียนจากสักขีพยาน
ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์

อยู่ ๆ เธอก็มา
อยู่ ๆ เธอก็จากไป
ทำให้เราอาลัยหา

เสียงเพลงอำลาของชาวปกากญอ ทำให้หลาย ๆ คน ต้องหลั่งน้ำตา คณะธรรมยาตราของเราเดินทางร่วมกันมากว่า ๑๒ วันแล้ว ความยากลำบากของเส้นทางป่าเขา น้ำใจที่ใสบริสุทธิ์ของชาวดอย และความสัมพันธ์ที่เราร่วมกันสร้างขึ้นมา ทำให้เรากลมเกลียวกันเป็นดั่งครอบครัวใหญ่ การจากลาเป็นสิ่งที่กระทำได้ยากยิ่งนัก

          สำหรับฉันแล้ว เหตุการณ์ที่หมู่บ้านสุดท้ายที่คณะเราไปค้างแรม ยังคงกรุ่นอยู่ในความทรงจำ แม้จะไม่มีน้ำตาหลั่งออกมาภายนอก แต่น้ำตาภายในนั้นเอ่อท่วมท้น

          …ในวันสุดท้ายนั้น คณะของเราได้มีโอกาสร่วมงานบวชป่ากับชาวบ้าน ตามด้วยงานสานสัมพันธ์ระหว่างหมู่บ้านบนดอย ครูคนพื้นราบในแต่ละหมู่บ้านเป็นพ่องานใหญ่ร่วมกันจัดงานนี้ขึ้น มีคนมาร่วมงานมากมายหลายร้อยคน ทั้งที่เป็นชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ทางการ

          งานบวชป่าและแข่งกีฬาตอนกลางวันผ่านไปด้วยดี เมื่อเริ่มมืด การแสดงบนเวทีก็เริ่มต้นขึ้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นการแสดงของเด็กสาวชาวดอย นุ่งกางเกงยีนส์ ใส่เสื้อรัดรูป กระโดดโลดเต้นไปมาตามจังหวะเพลงสมัยใหม่ เป็นที่ชอบใจแก่หนุ่ม ๆ ด้านล่างเวทียิ่งนัก

          ฉันหวังว่าจะมีการแสดงวัฒนธรรมสักชุด แต่ผ่านไปชุดแล้วชุดเล่าก็ไม่เห็นมี ผู้เฒ่าคนหนึ่งแต่งตัวตามแบบโบราณงดงาม เดินมาทักมายฉัน แกว่า แกเตรียมการแสดงรำดาบและร้องเพลงโบราณไว้แล้ว แต่ครูที่คุมเวทียังไม่ให้คิวแกแสดง

          ฉันถามแกว่า รู้สึกอย่างไรต่อการแสดงของเด็ก ๆ

          แกตอบว่า “ลุงอยากจะร้องไห้ ถ้าเด็ก ๆ รุ่นใหม่ไม่รักษาวัฒนธรรมของเราแล้ว อีกหน่อยเราจะไม่เหลืออะไรเลย ป่าก็จะพลอยหมดไปด้วย”

          เริ่มดึก อากาศเริ่มเย็น ฉันเฝ้าดูการแสดงต่อไป มีนักร้องสาวสายเดี่ยวขึ้นไปร้องเพลง หนุ่ม ๆ ชอบใจกันมาก พากันซื้อพวงมาลัยไปคล้องคอให้ ครูที่เป็นโฆษกอยู่บนเวที พูดจาและทำท่าเกี้ยวพาราสีสาวคนนั้น

          หัวใจฉัน เย็นวาบ

          ด้านล่างเวที เด็กหนุ่มเมาหนักขึ้นเรื่อย ๆ จากเด็กที่เคยสุภาพเรียบ--ร้อย เปลี่ยนเป็นเด็กก้าวร้าว หลายคนเกี้ยวพาราสีเด็กสาว จนสาว ๆ ต้องพากันเดินหนี

          ถ้าไม่เป็นเพราะต้องการชมการแสดงของผู้เฒ่าคนนั้น ฉันคงกลับไปนอน และไม่ได้เห็นฉากสุดท้ายของงานนี้ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นด้วยการประกวดสาวดอย

          ครูผู้จัดตั้งใจจะให้การประกวดสาวดอยเป็นจุดเด่นที่สุดของค่ำคืนนี้ เด็กสาวแต่ละคนจากหลากเผ่าหลายหมู่บ้าน ใส่ชุดประเพณีงดงามเดินโชว์ตัวบนเวที หนุ่ม ๆ ถ้าถูกใจ สามารถไปซื้อพวงมาลัยที่เจ้าภาพเตรียมไว้มาคล้องคอสาวนั้น

          อากาศเย็นจัด เด็กสาวใส่ชุดประเพณีบาง ๆ เดินโชว์ตัวไปมาบนเวที เด็กหนุ่มตะโกนเชียร์สาวที่ตนชอบใจ

          แล้วความรุนแรงก็เริ่มต้นขึ้น เมื่อเด็กหนุ่มคนหนึ่ง เอาพวงมาลัยไปคล้องคอสาวที่เป็นแฟนของหนุ่มอีกคน หนุ่มคนนั้นเกิดไม่พอใจขึ้นมา จึงเข้าไปชกหนุ่มที่คล้องพวงมาลัยแฟนตน เกิดความชุลมุนวุ่นวายไปทั่ว กลุ่มอื่น ๆ ที่เคยผิดใจกันมาก่อน ยกพวกเข้าตะลุมบอนกัน เด็กสาวบนเวทีกระโจนหนีไปคนละทิศละทาง เด็กสาวที่มาชมการแสดงต่างตกใจกลัว ครูบนเวทีประกาศว่า ให้คนที่ชกต่อยไปเคลียร์กันเองกับผู้ใหญ่บ้าน เราจะประกวดสาวงามกันต่อไป และเรียกให้สาวงามกลับขึ้นมาบนเวที

          ไม่มีสาวใดกลับขึ้นไป ครูจึงเล่นดนตรี ร้องเพลง ให้ความบันเทิงแก่งานต่อไป ขณะที่ทั้งหมู่บ้านตกอยู่ในความโกลาหลวุ่นวาย

          ผู้เฒ่าคนนั้นเดินกลับมาอีกครั้ง

          “ลุงไม่มีอะไรจะพูดอีกแล้ว” แกกล่าวทั้งน้ำตา

          เสียงของครูยังคงก้องผ่านไมโครโฟน ดังไปทั่วหุบเขาเล็ก ๆ นั้น

          “สาวใดก็ได้ที่ขึ้นมาบนเวที จะได้รับตำแหน่งธิดาชาวดอยไป”

          ความรุนแรงในคืนนั้น ทำให้มีคนบาดเจ็บถึงเลือดตกยางออก แม้จะไม่มีใครเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่มันก็สร้างรอยแผลให้กับหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งนั้นไม่น้อย เป็นความเจ็บปวดที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้รับการเยียวยา…

          เดือนกว่าผ่านมาแล้ว ฉันยังคงหวนระลึกถึงเหตุการณ์คืนนั้นเสมอ คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่คณะของเราไปอยู่ที่นั่น ในคืนนั้น เพื่อเป็นสักขีพยานต่อความรุนแรง หน้าที่ของสักขีพยานที่ยังเหลืออยู่ก็คือ บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้สังคมได้รับรู้

          ฉันคิดถึงต้นไทรกาฝาก ที่เราพบตลอดทางเดินธรรมยาตรา ผู้เฒ่าชาวดอยเล่าให้ฟังว่า นกหนูจะกัดกินผลลูกไทรนี้ แล้วทิ้งเมล็ดไว้บนไม้ใหญ่ ๆ ในป่า เมล็ดไทรจะเจริญเติบโตขึ้น โดยอาศัยไม้ใหญ่เป็นที่ยึดเกาะ แรกเริ่มไม้กาฝากนั้นต้นเล็กเพียงนิดเดียว เมื่อเทียบกับไม้ใหญ่ที่มันพึ่งพิง แต่ทันทีที่รากมันหยั่งลงพื้นได้ กิ่งก้านสาขาจะแตกขยายอย่างรวดเร็ว คลุมทับจนไม้ใหญ่นั้นตายไปในที่สุด พวกเราได้เห็นต้นไทรขนาดต่าง ๆ ตั้งแต่เป็นต้นเล็ก ๆ จนถึงระยะที่มันงอกเงยถึงขีดสุด แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า จากต้นเล็กนิดเดียว มันจะสามารถเจริญเติบโต กลืนกินไม้ใหญ่ผู้ให้ที่พึ่งพิงแก่มันจนหมดสิ้นได้ ผู้เฒ่าสรุปตบท้ายว่า นี่แหละคือการถูกกลืนกินทางวัฒนธรรม!

          เหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้ คงสรุปได้เช่นเดียวกัน วัฒนธรรมอันสันติของชาวดอยกำลังถูกวัฒนธรรมแห่งความรุนแรงกล้ำกลืน มันแฝงตัวมาอย่างแยบยลในคราบของความทันสมัย ซึ่งดูดีเสียจนไม่น่าเชื่อว่าจะสามารถทำร้ายผู้คน และทำลายวัฒนธรรม ที่หยั่งรากลึกบนขุนเขามาช้านานได้ นกหนูที่เป็นตัวแพร่กระจายวัฒนธรรมนี้ กำลังแพร่ระบาดอยู่ทั่วไป ทั้งทีวี วิทยุ โฆษณา หนัง เพลง สื่อเหล่านี้จำนวนมาก สนับสนุนให้เราเห็นผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุทางเพศ ที่ต้องมาตอบสนองความต้องการของผู้ชาย ก้าวร้าวขึ้นเรื่อย ๆ โฆษณาเหล้า เบียร์ ช่วยเพิ่มดีกรีแห่งความรุนแรงให้มากขึ้นไปอีก

          และเมื่อความรุนแรงที่สั่งสมไว้มีโอกาสแสดงตัวมันออกมา เช่นดังในหมู่บ้านนี้ ผลที่มันจะทิ้งไว้ให้เรา คือ ความเจ็บปวด ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณ ซึ่งยากนักจะเยียวยา

          ไม่ว่าคุณจะเป็นคนพื้นราบหรือคนดอย เราต่างตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงด้วยกันทั้งนั้น อย่าปล่อยให้วัฒนธรรมเช่นนี้ หยั่งรากลึกลงในจิตใจของเราอีกต่อไปเลย มิฉะนั้นแล้ว เราอาจจะถูกกลืนกินจนไม่มีอะไรเหลือ ดังคำของผู้เฒ่าคนนั้น หรือเราอาจต้องมานั่งร้องบทเพลงอำลา ของชาวปกากญอ ด้วยความอาลัยหาสิ่งดีงามในครั้งอดีต ที่จากไปอย่างไม่มีวันหวนคืน.

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :