เสขิยธรรมฉบับที่ ๔๙
ภิกษุณีสงฆ์
ทางเลือกที่เลี่ยงได้ยาก พระไพศาล วิสาโล
เครื่อข่ายชาวพุทธเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคมไทย
การบังเกิดภิกษุณีสงฆ์ขึ้นในเมืองไทย ดูเหมือนเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เสียแล้ว หากเป็นเมื่อ ๗๐ ปีก่อน คงไม่สามารถพูดเช่นนี้ได้ แต่ปัจจุบันนี้สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปจนกล่าวได้ว่าอะไร ๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น คณะสงฆ์ทุกวันนี้อ่อนแออย่างมาก จนยากที่จะขัดขวางมิให้มีสามเณรีหรือภิกษุณี ดังที่ได้เคยทำสำเร็จมาแล้วเมื่อปี ๒๔๗๐ ไม่ว่าคณะสงฆ์จะใช้มาตรการใด ๆ มาสกัดกั้นห้ามปราม ก็มิพึงหวังว่าจะได้รับความสนับสนุนจากผู้คนดังแต่ก่อน ทุกวันนี้คณะสงฆ์ได้สูญเสียศรัทธาจากมหาชนไปมาก จนยากที่จะนำประชาชนให้เห็นคล้อยตามได้ง่าย ๆ มิใยต้องเอ่ยว่า กี่ครั้งกี่หนแล้ว ที่คณะสงฆ์ได้ทำสิ่งที่สวนทางกับความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในสังคม จนทำให้เกิดความระอากันไปทั่วหน้า กรณีธรรมกายเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน
ใช่แต่เท่านั้น การที่คณะสงฆ์จะยืมมือรัฐมาจัดการกับผู้ที่บวชเป็นสามเณรีหรือภิกษุณี ดังเมื่อ ๗๐ ปีก่อนก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว ไม่มีรัฐบาลใดในเวลานี้ที่สนใจหรืออยากจะมายุ่งเกี่ยวกับเรื่องศาสนาและพระสงฆ์ ตราบใดที่ไม่มากระทบกับความมั่นคงของรัฐและรัฐบาล ยิ่งเป็นประเด็นที่มีคนเห็นด้วย และสนับสนุน เป็นจำนวนมากด้วยแล้ว ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับรัฐบาลคือ ให้คณะสงฆ์จัดการแก้ปัญหาเอาเอง และก็เป็นที่คาดเดาได้ไม่ยากว่าหากมหาเถรสมาคมไม่นิ่งเงียบอยู่เฉย ๆ ดังที่มักทำเป็นอาจิณ สิ่งที่ทำได้อย่างมากคือ มีมติและออกคำสั่งที่ไร้ผลในทางปฏิบัติ
แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ใช่สาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้ภิกษุณีสงฆ์เกิดขึ้นได้ในเมืองไทย สาเหตุสำคัญเหนืออื่นใดก็คือ การสนับสนุนของผู้คนในสังคมที่อยากเห็นภิกษุณีเกิดขึ้น นี้เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่เป็นตัวชี้ขาดว่าภิกษุณีสงฆ์จะเกิดขึ้นได้ในเมืองไทยหรือไม่ ถึงแม้คณะสงฆ์และรัฐบาลจะไม่ยอมรับว่ามีสามเณรีหรือภิกษุณี แต่ถ้าประชาชนให้ความเคารพนับถือ สามเณรีหรือภิกษุณีก็เกิดขึ้นแล้วในความรู้สึกนึกคิดของประชาชน ไม่ว่าจะเรียกด้วยชื่ออะไรก็ตาม
ความเป็นพระนั้นไม่ได้ถูกกำหนดด้วยกฎหมาย (หรือการรับรองของรัฐและคณะสงฆ์) เท่านั้น หากยังขึ้นอยู่กับพระธรรมวินัยและการยอมรับของประชาชนด้วย ถึงจะเป็นพระที่ถูกต้องตามกฎหมาย (เช่น บวชถูกต้องตามระเบียบคณะสงฆ์ และยังไม่ถูกจับสึกเพราะต้องปาราชิก) แต่ถ้าได้ต้องปาราชิกแล้ว และญาติโยมไม่นับถือว่าเป็นพระ ตามพระธรรมวินัยก็ไม่ถือว่าเป็นพระแล้ว ขณะเดียวกัน ก็มิใช่พระในความรู้สึกนึกคิดของชาวบ้านด้วยเช่นกัน ในอีกด้านหนึ่ง ถึงแม้จะไม่ได้เป็นพระตามที่กฎหมายรับรอง (เช่น ไม่ได้บวชกับอุปัชฌาย์ที่รัฐและคณะสงฆ์รับรอง) แต่บวชและประพฤติตนถูกต้องตามพระธรรมวินัย อีกทั้งประชาชนยอมรับ ก็ถือว่าเป็นพระวันยังค่ำ (ดังที่คนไทยมักให้ความเคารพแก่พระนิกายอื่นซึ่งบวชจากต่างประเทศ ดุจเดียวกับพระไทย)
คนไทยที่อยากเห็นภิกษุณีสงฆ์เกิดขึ้นในเมืองไทยนับวันจะมีมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะว่า ภิกษุณีสงฆ์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเผยแผ่ธรรมและส่งเสริมการปฏิบัติ โดยเฉพาะในหมู่ผู้หญิง ความจำเป็นดังกล่าวปรากฏให้เห็นเด่นชัดขึ้นเมื่อพบว่า ในระยะหลังมีผู้หญิงเป็นจำนวนมาก ที่ไม่ได้สนใจแค่การทำบุญ(ให้ทาน)เท่านั้น หากยังสนใจการทำสมาธิวิปัสสนา และการศึกษาธรรม เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาชีวิต กลุ่มคนที่เข้าวัดเพื่อปฏิธรรมดังกล่าวบ่อยครั้งจะพบว่ามีข้อจำกัดในการฝึกฝนเรียนรู้กับพระ เงื่อนไขทางพระวินัยเป็นเพียงสาเหตุหนึ่งเท่านั้น ที่สำคัญไม่น้อยก็คือ ภูมิหลังและประสบการณ์ อันเนื่องจากความแตกต่างระหว่างเพศ ซึ่งทำให้พระมีข้อจำกัดในการชี้แนะแก้ปัญหาของโยมผู้หญิงได้ตรงจุด ใช่แต่เท่านั้นพระที่มีความสามารถในการสอนธรรมให้แก่ผู้หญิง (หรือแม้แต่คนทั่วไป) ก็มีอยู่น้อยเมื่อเทียบกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นทุกที
ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ระยะหลังมีผู้หญิงจำนวนมากขึ้น หันมาฝึกฝนปฏิบัติธรรมกับผู้หญิงด้วยกัน สำนักปฏิบัติธรรมที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าสำนัก หรือหลักสูตรการปฏิบัติธรรมที่มีผู้หญิงเป็นครูบาอาจารย์ผุดขึ้นไปทั่ว ขณะเดียวกันการที่มีผู้หญิงเป็นครูบาอาจารย์ทางพุทธศาสนากันมากขึ้น ทั้งที่เป็นฆราวาสและนักบวช (แม่ชี) ก็เป็นเครื่องชี้ถึงความรู้และความสามารถของผู้หญิงที่เพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลจากการมีโอกาสได้รับการศึกษามากขึ้น ผิดกับแต่ก่อนที่ผู้หญิงถูกปิดโอกาส ในอดีตจึงมีบทบาทเพียงแค่เป็นโยมอุปัฏฐากหรือผู้รับใช้พระเท่านั้น
อย่างไรก็ตามศักยภาพของผู้หญิง ในการศึกษาและเผยแผ่ธรรมยังมีมากกว่านี้ ชีวิตอย่างคฤหัสถ์หรือแม้แต่แม่ชี ยังเป็นเงื่อนไขอันจำกัดในการพัฒนาศักยภาพดังกล่าว สิ่งที่จะเพิ่มพูนศักยภาพให้มากขึ้นก็คือ ชุมชน และวิถีชีวิตอย่างพระ นี้เป็นสาเหตุที่พระพุทธองค์ทรงตั้งชุมชนของพระที่เรียกว่า สงฆ์ ขึ้นมา โดยมีระบบชุมชนและระเบียบชีวิตที่เรียกว่า วินัย ซึ่งเอื้อต่อการฝึกฝนพัฒนาตนและการเผยแผ่ธรรม จริงอยู่การปฏิบัติธรรมนั้น จะอยู่ในสถานะไหนก็ทำได้ทั้งนั้น ไม่จำเป็นต้องบวชพระ แต่พระพุทธองค์ทรงตระหนักดีว่า การฝึกฝนพัฒนาตนนั้น ลำพังปัจจัยภายใน (เช่นความตั้งใจ) อย่างเดียวยังไม่พอ ควรอาศัยปัจจัยภายนอกหรือสภาพแวดล้อมมาช่วยด้วยเพื่อให้ศักยภาพได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ จนไม่เพียงแต่บรรลุประโยชน์ตนเท่านั้น หากยังสามารถบำเพ็ญประโยชน์ท่านได้ด้วย นี้คือเหตุผลที่ทรงเชิญชวนให้คฤหัสถ์ที่บรรลุธรรมถึงขั้นอรหัตตผล มาบวชเป็นภิกษุและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสงฆ์ ทั้ง ๆ ที่ท่านเหล่านั้นหมดกิจที่จะต้องฝึกฝนตนเองแล้ว
เป็นเวลาช้านานแล้วที่ผู้ชายมีชุมชนสงฆ์รองรับเพื่อฝึกฝนพัฒนาตนได้อย่างเต็มที่ ถึงเวลาแล้วที่ผู้หญิงพึงได้รับโอกาสดังกล่าวด้วยเช่นกัน พึงตระหนักว่า การเปิดโอกาส หรือส่งเสริม ให้มีภิกษุณีสงฆ์เกิดขึ้นในเมืองไทยนั้น ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ความเสมอภาคทางด้านสิทธิระหว่างเพศ หรือการยกสถานะของผู้หญิงให้เท่าเทียมชาย หากอยู่ที่การส่งเสริมให้ผู้หญิงมีโอกาสได้รับการฝึกฝน พัฒนาตนอย่างเต็มที่ เพื่อความเจริญงอกงามแห่งธรรม ตราบใดที่ยังมองไม่เห็นจุดนี้ แต่ไปเข้าใจว่านี้เป็นเรื่องการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของผู้หญิง ภิกษุณีสงฆ์ก็จะกลายเป็นประเด็นที่สร้างความเข้าใจผิดได้มาก
นิมิตดีสำหรับวงการพุทธศาสนาก็คือ บัดนี้ภิกษุณีสงฆ์ได้เกิดขึ้นแล้วในประเทศศรีลังกา และนับวันจะตั้งมั่นแม้จะถูกต่อต้านคัดค้านจากพระผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อย แต่ก็ไม่สามารถขัดขวางได้ เนื่องจากภิกษุณีสงฆ์ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมาก โดยมีพระผู้ใหญ่ให้การช่วยเหลือด้วย จนบัดนี้มีภิกษุณีแล้วกว่า ๒๐๐ รูป
ไม่มีใครในศรีลังกาที่คัดค้านภิกษุณีด้วยเหตุผลง่าย ๆ (ซึ่งมักได้ยินในเมืองไทย) ว่า มาบวชเพราะอกหัก ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะแม่ชีที่นั่น (ซึ่งเรียกว่า ทศศีลมาตา เนื่องจากถือศีลสิบ) เป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของผู้คน ว่าเป็นผู้มีศีลาจารวัตรงดงาม มีความรู้ดีทางพุทธศาสนา อีกทั้งอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนา จนมีสถานภาพแทบไม่ต่างจากพระ ดังนั้นเมื่อมาบวชเป็นสามเณรีและภิกษุณี จึงเป็นที่ยอมรับของสังคมได้ง่าย
กระนั้นก็ตามมีเหตุผลหนึ่งที่มักอ้างกันและน่ารับฟังก็คือ ภิกษุณีสงฆ์ได้ขาดสายไปนานแล้ว จึงไม่สามารถที่จะบวชภิกษุณีให้ถูกต้องตามพระวินัยได้ เนื่องจากในการบวชภิกษุณีนั้นจะต้องมีสงฆ์ทั้งสองฝ่ายคือ ภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์รับรอง เมื่อสงฆ์ไม่ครบสองฝ่ายจึงไม่สามารถบวชภิกษุณีได้ แต่ทางออกของฝ่ายสนับสนุนภิกษุณีในศรีลังกาก็คือ การอาศัยภิกษุณีสงฆ์ที่ไต้หวัน มาทำพิธีอุปสมบทตามแบบเถรวาทเมื่อปี ๒๕๔๑ โดยบวชท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายานอีกชั้นหนึ่งด้วย แม้จะมีข้อโต้แย้งว่า ภิกษุณีสงฆ์มหายาน สามารถบวชภิกษุณีเถรวาทได้หรือ แต่ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้ก็คือ เมื่อสืบสายไปให้ถึงที่สุดแล้ว ภิกษุณีมหายานก็ถือกำเนิดมาจากภิกษุณีเถรวาทนั่นเอง ดังมีหลักฐานว่า มีภิกษุณีสงฆ์จากลังกาไปบวชภิกษุณีในจีน เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๐ และนับแต่นั้นก็มีการสืบต่อไม่ขาดสายจนถึงปัจจุบัน ใช่แต่เท่านั้น วินัยปาฏิโมกข์ของภิกษุณีมหายาน ก็ตรงกับของเถรวาทแทบทุกข้อ ซ้ำกลับมีจำนวนสิกขาบทมากกว่าด้วย
ประเด็นเรื่องพระวินัยนั้นเป็นเรื่องที่ยังถกเถียงกันได้มาก แต่การพิจารณาเรื่องภิกษุณีสงฆ์ หาควรไม่ที่จะเริ่มต้นด้วยประเด็นพระวินัย ข้อที่ควรพิจารณาเป็นประการแรกสุดก็คือ ควรหรือไม่ที่จะมีภิกษุณีสงฆ์ในเมืองไทย ทั้งนี้โดยคำนึงถึงประโยชน์อันเกิดแก่พระศาสนา และสังคมไทย เป็นสำคัญ และไม่ควรนำเอาอคติส่วนตัวมาเป็นอารมณ์ (รวมทั้งควรหักห้ามใจไว้ก่อน ในกรณีที่ยังทำใจไม่ได้ หากผู้หญิงจะมาเป็นพระ หรือทนไม่ได้ที่ผู้ชายจะกราบไหว้ผู้หญิง) ต่อเมื่อเห็นว่าควรมีภิกษุณีสงฆ์ในเมืองไทย จึงค่อยพิจารณาถึงพระวินัยว่า เอื้ออำนวย หรือเปิดช่อง ให้มีการบวชภิกษุณีในปัจจุบันได้หรือไม่ นั่นหมายความว่าหากสรุปว่าควรมีภิกษุณี ก็น่าจะมีการตีความพระวินัยใหม่ ให้เอี้อต่อการบวชภิกษุณี ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องคิดค้นรูปแบบใหม่สำหรับนักบวชหญิง ซึ่งก็คือภิกษุณีในชื่อใหม่นั่นเอง โดยที่ยังคงปฏิบัติตามวินัยปาฏิโมกข์ของภิกษุณีที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติ
สามเณรีธัมมนันทา คือจุดเริ่มต้นของการสถาปนาภิกษุณีสงฆ์ขึ้นในเมืองไทย แม้ปัจจุบันมีหญิงไทยบางคนที่บวชเป็นภิกษุณีแล้ว แต่ก็ยังไม่ครบองค์สงฆ์ ความรู้ความสามารถและการอุทิศตน เพื่อพระศาสนาของสามเณรี และภิกษุณีไทยในปัจจุบันและที่จะตามมาในอนาคต เป็นตัวกำหนดสำคัญที่สุดว่า สังคมไทยจะยอมรับภิกษุณีสงฆ์หรือไม่ หากสังคมไทยยอมรับและสนับสนุน ไม่ว่ารัฐและคณะสงฆ์ก็ไม่อาจขัดขวางได้.
|