สมภารผู้จัดการวัด
สุวิทย์ รุ่งวิสัย
มหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา เชียงใหม่
คอลัมน์กระแสทรรศน์ มติชน วันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๙๒๕๗ หน้า ๗
วันเข้าพรรษา ...
ในกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้คนในสังคมได้มีค่านิยมยึดมั่นในวัตถุมากขึ้น
ทำให้ความสัมพันธ์ด้านจิตใจ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ต่อกันลดน้อยลง
การติดต่อกันของคนในสังคม ชาวบ้านกับวัดในหลายๆ เรื่องเป็นไปในทางผลประโยชน์
บางครั้งทำให้เกิดความขัดแย้งนำไปสู่ความรุนแรงถึงขั้นฆ่ากันก็มี
การมรณภาพของพระครูนันทาภิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดกู้ ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ในกลางเดือนมิถุนายน ๒๕๔๖ ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการถูกครอบงำจากเรื่องผลประโยชน์ทางวัตถุนั่นเอง
ตามพจนานุกรมไทย สมภาร หมายถึง บุญที่สะสมไว้และหมายถึงพระผู้ที่เป็นเจ้าอาวาส
ส่วนคำว่า วัด หมายถึงสถานที่ปฏิบัติธรรมและที่สำนักของภิกษุสามเณร
มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า คำว่าวัดน่าจะมาจากคำว่า วต (อ่านว่า วะตะ แล้วเปลี่ยน ต เป็น ด เช่น ดุสิด เป็นดุสิต และใส่ไม้ -ั เช่นคำว่า วนะ แปลว่า ป่า ก็เป็น วันในคำว่า ไพรวัน) หมายถึง ข้อปฏิบัติ ความประพฤติ
ดังนั้น ผู้อยู่ในวัดจะต้องประพฤติตามข้อปฏิบัติทั้งที่เป็นพระธรรมวินัยด้วย ผู้เป็นเจ้าอาวาสวัดจึงเป็นพระที่สั่งสมบุญบารมี บรรลุเถรภูมิ มีความรู้ความสามารถและเป็นที่เคารพนับถือจากศาสนิกชน
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม ๒๕๓๕ มาตรา ๓๖ บัญญัติว่า วัดหนึ่งให้มีเจ้าอาวาสรูปหนึ่ง และถ้าเป็นการสมควรจะให้มีรองเจ้าอาวาสหรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสก็ได้
ในมาตรา ๓๖ เจ้าอาวาสมีหน้าที่ บำรุงรักษาวัด ปกครอง และให้การศึกษาอบรมและสั่งสอนพระธรรมวินัย แก่บรรพชิตและคฤหัสถ์ด้วย
สำหรับวัด มาตรา ๓๑ ระบุไว้ ๒ อย่าง คือ วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และสำนักสงฆ์ ให้ถือว่าวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล และเจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไปด้วย
มาตรา ๓๓ วัดหมายถึง ที่ตั้งตลอดถึงขอบเขตของวัด ที่ธรณีสงฆ์คือสมบัติของวัดและที่กัลปนาที่มีผู้อุทิศผลประโยชน์ให้วัดด้วย
ข้อความมาตรา ๓๑, ๓๓ และ ๓๖ กฎหมายบัญญัติว่าเจ้าอาวาสวัดเป็นผู้จัดการทั้งด้านบุคลากรและทรัพย์สินของวัด
สมภารหรือเจ้าอาวาสวัดจึงมี ๒ สถานภาพในตัวของท่านเองคือ
๑.เป็นปัจเจกชน ที่อาจมีทรัพย์สินส่วนตัวและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยเพื่อวิมุติหลุดพ้น จากสังสารวัฏอันเป็นเป้าหมายหลักของบรรพชิต
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ยอมรับการมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของพระภิกษุในมาตรา ๑๖๔๖ ว่า ทรัพย์สินที่มีก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุเป็นสินส่วนตัว ท่านจะจัดการจำหน่ายจ่ายโอนอย่างให้เป็นไปตามอัธยาศัย
ส่วนมาตรา ๑๖๒๓ ทรัพย์ที่ได้มาในระหว่างครองสมณเพศอยู่ เมื่อท่านมรณภาพก็ให้ตกเป็นของวัดที่ท่านอยู่ก่อนมรณภาพ
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสมภารเจ้าอาวาสทั้งหลายก็คือ ท่านไม่สามารถแยกแยะระหว่างปัจจัยไทยทานที่มีผู้นำมาถวาย ว่าส่วนใดเป็นของน้อมนำมาถวาย เฉพาะเจาะจงตัวท่านตามมาตรา ๑๖๒๓ และส่วนใดเป็นของถวายวัดส่วนกลางที่เป็นเจ้าอาวาสวัด
จึงปรากฏว่ามีเจ้าอาวาสบางวัดมีทรัพย์สินในระดับมหาเศรษฐี
ผู้เขียนเห็นว่า ปัจจัยที่ได้ในงานกฐินมีผู้ร่วมทำบุญ และผ้าป่าสามัคคีเป็นต้น ถือว่าเป็นรายได้หรือทรัพย์สินของวัดมิใช่ของเจ้าอาวาส จะเป็นของเจ้าอาวาสเฉพาะผ้ากฐินและเครื่องไทยทานเท่านั้น
๒.เป็นผู้จัดการวัด สมภารเจ้าอาวาสมีฐานะเป็นผู้แทนนิติบุคคล หรือองค์กรที่มีทั้งบุคลากร และทรัพย์สินที่จะต้องจัดการปกครองดูแล ดังนั้น เจ้าอาวาสจะต้องเข้าใจระบบการทำงานของนิติบุคคลดังต่อไปนี้
๒.๑ นิติบุคคล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕ ถึง ๗๗ คือ องค์กรมีคณะกรรมการเป็นผู้บริหารงาน วัดในฐานะเป็นนิติบุคคลจะต้องมีคณะกรรมการเป็นผู้บริหารงานเกี่ยวกับกิจการของวัด โดยมีเจ้าอาวาสเป็นผู้ทั้งจัดการและเป็นผู้แทนของวัด
การบริหารงานองค์กรที่ประสบผลสำเร็จและเป็นที่ยอมรับก็จะต้องเป็นการบริหารแบบธรรมาภิบาล(good governance) คือ (๑) มีความสุจริตยุติธรรม (๒) โปร่งใส (๓) ตรวจสอบได้ และ (๔) การมีส่วนร่วมของคนในวัด ศรัทธาวัดและชุมชนของวัด
คณะกรรมการวัด จะต้องมีเจ้าอาวาสเป็นประธาน โดยตำแหน่งประกอบด้วยพระลูกวัดบางรูป ญาติโยมที่เป็นศรัทธาวัดที่ได้รับการคัดสรร ผู้แทนชุมชนที่ได้รับการคัดสรรจากชุมชนไวยาจักร และผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นกรรมการ
การจัดการของเจ้าอาวาส ก็ต้องกระทำภายในกรอบของมติคณะกรรมการวัด ที่อยู่ในหลักธรรมาภิบาลดังกล่าว
๒.๒ ทรัพย์สินของวัด
ในฐานะวัดเป็นนิติบุคคลการจัดการทรัพย์สินก็ให้เป็นไปตามมติที่ประชุมของคณะกรรมการ ซึ่งเจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัด เจ้าอาวาสต้องบริหารจัดการแบ่งแยกทรัพย์สินออกเป็น ๒ ส่วน คือ
ก. ทรัพย์สินส่วนตัว ตามที่กล่าวมาแล้ว หากมีปัจจัยที่เป็นเงินเก็บรักษาไว้ หรือฝากธนาคารในนามของเจ้าอาวาสเอง ก็จะทำให้ไม่เกิดความสับสน
ข. ทรัพย์สินของวัด โดยเฉพาะเงินที่บริจาคเข้าวัดก็จัดแยกบัญชีในนามของวัด ซึ่งเจ้าอาวาส กรรมการวัดที่เป็นเหรัญญิก เลขานุการ และไวยาจักร เป็นผู้ลงชื่อในสมุดฝากเมื่อจะถอนจำนวนมากต้องผ่านมติที่ประชุมกรรมการ ถ้าจำนวนน้อยอาจมอบให้เจ้าอาวาสและกรรมการอื่นอีก ๑ หรือ ๒ คน ลงชื่อถอนจึงจะเป็นการถูกต้อง การบริหารจัดการทรัพย์สินอื่นของวัด ที่ธรณีสงฆ์หรือที่กัลปนาก็เช่นเดียวกัน หากเจ้าอาวาสจัดการทรัพย์สินของวัดในฐานะนิติบุคคล โดยกระบวนการของคณะกรรมการวัด เหตุการณ์ร้ายที่เจ้าอาวาสต้องรับเคราะห์ถึงมรณภาพก็คงไม่เกิดขึ้น
๒.๓ ความรับผิดของผู้จัดการวัด พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา ๔๕ บัญญัติว่า "ให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครอง คณะสงฆ์และไวยาจักรเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา" ดังนั้น สมภารเจ้าอาวาสจึงเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ว่าด้วยความผิดต่อเจ้าพนักงานและความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่มาตรา ๑๓๖-๑๖๖ กล่าวคือ หากมีผู้กระทำความผิดไม่ว่าเป็นการดูหมิ่นต่อสู้ขัดขวาง บังคับขู่เข็ญเจ้าอาวาสก็จะเป็นความผิดอาญา
ในขณะเดียวกัน หากสมภารเจ้าอาวาสในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือทำให้เกิดความเสียหายหรือกระทำโดยทุจริตก็มีโทษจำคุกตั้งแต่ ๑ ปี ถึง ๑๐ ปี หรือปรับตั้งแต่สองพันถึงสองหมื่น หรือทั้งจำทั้งปรับ(ป.อาญา มาตรา ๑๕๗)
หากมีการใช้เงินของวัดในฐานะเป็นนิติบุคคลไปเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น เจ้าอาวาสก็อาจจะเข้าข่ายกระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามมาตรา ๓๕๒ มีโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี
การกระทำกิจกรรมของสงฆ์ ยึดถือหลักการบริหารจัดการที่บริสุทธิ์ยุติธรรม โดยกลุ่มคนผู้มีความรู้ความสามารถและมีคุณธรรม สังฆกรรมต่างๆ ก็มีองค์ประกอบ ผู้ร่วมกระทำตั้งแต่ ๔ รูป ถึง ๒๐ รูป แล้วแต่กรณีล้วนชี้ให้เห็นถึงการยึดถือการบริหารงานโดยคณะกรรมการ
คือ กลุ่มพระภิกษุ เป็นผู้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของวัดทั้งนั้น
สมภารผู้จัดการวัดจะต้องทำความเข้าใจถึงความเป็นปัจเจกชนของตน
การเป็นเจ้าพนักงาน
การเป็นนิติบุคคลของวัด
การแยกทรัพย์สินส่วนตัวออกจากทรัพย์สินรวมของวัดอย่างชัดแจ้ง
และหากมีการบริหารงานบุคคลและทรัพย์สินตามหลักธรรมาภิบาลแล้ว ท่านสมภารจะมีแต่ความสงบสุขภายในวัดของท่านตลอดไป..
|