เสขิยธรรม -
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์
เสียงจากชุมชนตะโหมด
กรุงเทพธุรกิจ จุดประกายปริทัศน์
วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖

          หลายคนคงเคยได้ยิน และรับรู้เรื่องราว ของชุมชนเข้มแข็ง สภาลานวัดตะโหมด อ.ตะโหมด จ.พัทลุง พวกเขาจะมารวมตัวกัน ที่ลานวัด เพื่อสร้างสรรค์กิจกรรม และแก้ปัญหาต่างๆ ในชุมชน

          สภาลานวัดมีการจัดตั้งคณะกรรมการฝ่ายบริหาร โดยมี พระครูอุทิตกิจจาทร เจ้าอาวาสวัดตะโหมด เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน พวกเขาจะมาพบปะกันเดือนละครั้งเพื่อหาแนวทางพัฒนาหมู่บ้านร่วมกัน ในปี ๒๕๓๘ สภาลานวัดตะโหมด มีสมาชิก ๕๐ คน และปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน ๑๕๐ คน

          นอกจากช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในชุมชนแล้ว ชุมชนตะโหมดยังรวมตัวกันทำโครงการป่าชุมชนให้สมาชิกช่วยกันดูแลรักษาป่า ไม่ให้ป่าถูกทำลาย เพราะเท่าที่ผ่านมามีการบุกรุกพื้นที่ป่า ตัดไม้และทำสวนยางพารา

          ปัจจุบันชุมชนลานวัดตะโหมดกำลังมีปัญหา เนื่องจากหน่วยงานรัฐกำลังจะสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ป่าชุมชน หากพื้นที่ป่าบางส่วนถูกสร้างเป็นอ่างเก็บน้ำ ระบบนิเวศน์ในป่าจะถูกทำลายไปด้วย

          ผมจำได้ว่าเมื่อปี ๒๕๒๕ ป่าเขาหัวช้างเริ่มถูกทำลาย ทำให้น้ำในห้วยแห้งขอด เราจึงมาคิดกันเรื่องป่าชุมชน มีการจัดการป่าร่วมกันประมาณปี ๒๕๔๓ พื้นที่ป่าแถบนี้ยังมีปัญหาแนวเขตป่าสงวนทับที่ทำกินของราษฎร วรรณ ขุนจันทร์ ผู้นำชุมชนชาวตะโหมด วัย ๗๐ ปี เล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

          อย่างไรก็ตาม ชุมชนตะโหมด กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ปี ๒๕๔๗ คาดว่าจะมีการสร้างอ่างเก็บน้ำที่เขาหัวช้าง เพื่อเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระหว่างอำเภอ ซึ่งชุมชนเห็นว่า อ่างเก็บน้ำไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพราะคนในชุมชนอาศัยแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่ไหลจากภูเขา มีทำนบเล็กๆ กั้นน้ำเพื่อประโยชน์ในการใช้สอย

          เรามีปัญหาเรื่องน้ำ เพราะการทำนาปรังต้องการน้ำทั้งปี กว่าน้ำจะไหลมาสู่พื้นที่ อ.บางแก้ว โดยเฉพาะฤดูแล้งมีปริมาณน้ำน้อยมาก เราเคยประชุมหารือกับชุมชนตะโหมดเกี่ยวกับปัญหาการใช้น้ำ แต่ก็ไม่มีข้อสรุป ประกอบ แดงปรก ผู้นำเกษตรกร อ.บางแก้ว จ.พัทลุง กล่าว

          นี่คือตัวอย่างหนึ่งของความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรน้ำระหว่างชุมชน ซึ่งกรณีดังกล่าว ระบบการจัดการน้ำของชลประทาน ไม่อาจแก้ปัญหาให้ชุมชนได้

          ในอดีตชุมชนบางแก้วใช้ระบบน้ำตามธรรมชาติ กระทั่งเข้าสู่ระบบการจัดการน้ำของชลประทาน และปัจจุบันกำลังมีปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการกสิกรรม

          ขณะที่ชุมชนบางแก้ว ต้องการอ่างเก็บน้ำเพื่อใช้ในฤดูแล้ง แต่ชาวตะโหมดไม่ต้องการน้ำ เพราะพวกเขาเชื่อว่า หากดูแลรักษาป่าให้สมบูรณ์ ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องน้ำ

          ถ้าใช้ระบบกั้นน้ำตามแบบภูมิปัญญาชาวบ้านจะไม่เดือดร้อนแบบนี้ เพราะแบบแผนของราชการทำให้พื้นที่นาต่างอำเภอไม่ได้รับน้ำอย่างทั่วถึง ตอนที่รัฐสร้างทำนบก็ไม่อาจเก็บน้ำได้ ก็เลยสร้างฝาย จากนั้นมาทำอ่างเก็บน้ำ วิธีการแบบนี้ทำลายพื้นที่ป่า ทำลายทรัพยากร ถ้าชุมชนไม่จัดการป่าเอง ก็จะอยู่ไม่ได้ วรรณ ผู้นำชุมชนตะโหมด กล่าว

          จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ชุมชนตะโหมดพยายามออกตรวจตราพื้นที่ป่าชุมชนที่พวกเขาปลูกป่าให้เขียวชอุ่มมาตลอดหลายปี เพราะเห็นว่าป่าคือที่พึ่งของชุมชน

          มีคนเอาพืชเศรษฐกิจพวกทุเรียน และอีกหลายชนิดมาปลูกในป่าชุมชน มีคนภายนอกเข้ามาพยายามตักตวงผลประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่องเอกสารสิทธิที่ดิน คนในชุมชนไม่เคยมีใครรู้ว่ารัฐจะสร้างอ่างเก็บน้ำ ถ้ามีการตัดไม้ใหญ่เพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำในอนาคต พวกเราไม่เห็นด้วย เสียงสะท้อนจากคนในชุมชนสภาลานวัดตะโหมด

          กรณีดังกล่าว ชุมชนพยายามสะท้อนให้เห็นว่า รัฐไม่ได้ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำ ประกอบกับความไม่โปร่งใสในการจัดการที่ดิน ทำให้ชุมชนตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น

          ถ้าคิดจะเอาน้ำจากป่าต้นน้ำชุมชนตะโหมด เพื่อมาใช้ปลายทางต่างอำเภอเพียงอย่างเดียว อาตมาคิดว่าเป็นมุมมองที่แคบ อาตมารู้สึกเป็นห่วงเรื่องการหาผลประโยชน์ในเชิงนโยบาย เราอยู่ที่นี่ เรารู้ดีว่าใครรุกล้ำเข้ามาในป่าชุมชน มีคนเข้ามาปลูกทุเรียน เพื่อแปรสภาพพื้นที่ให้มีราคา ทั้งๆ ที่ชาวตะโหมดไม่เคยแตะต้องพื้นที่ตรงนี้ พระครูอุทิตกิจจาทร กล่าว

          สืบเนื่องมาจากชุมชนต่างเฝ้าระวังพื้นที่ป่าชุมชนมาตลอดหลายปี พวกเขาไม่อยากให้ใครเข้ามาทำลายพื้นที่ป่า เพราะป่าเป็นแหล่งอาหารและสมุนไพรเพื่อใช้สอยในชุมชน แต่พื้นที่ดังกล่าวกำลังถูกคนภายนอกพยายามครอบครองสิทธิเพื่อผลประโยชน์

          หากป่าชุมชนกลายเป็นสวนผลไม้ จะเป็นเรื่องง่ายในการถือสิทธิในการครอบครองส่วนบุคคล ถ้าพื้นที่ดังกล่าวไม่เป็นป่าชุมชนจะดูแลค่อนข้างยาก บางคนบอกว่า ชาวบ้านตื่นเกินไป มันน่าตื่นเพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่ใกล้แค่นี้ คนที่ได้ประโยชน์จากการสร้างอ่างเก็บน้ำ พยายามเข้ามาจับจองพื้นที่ป่า อาตมาอยู่ในพื้นที่เห็นเรื่องนี้มาโดยตลอด

          อย่างไรก็ตาม พระครูได้แสดงความเป็นห่วงเพราะเห็นผู้บุกรุกป่ามากขึ้นเรื่อยๆ อีกประการหนึ่ง ก็คือ การแปรสภาพป่าให้กลายเป็นที่ดินส่วนบุคคล กรณีดังกล่าวผู้นำทางธรรมบอกว่า เคยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจชายแดนเข้ามาที่นี่ดูพื้นที่ป่า แล้วสารภาพว่ามีคนชวนให้มาจองพื้นที่ป่าแถวเขาหัวช้าง เพราะอยากทำเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล

          พระครูกล่าวเตือนไปว่า นั่นเป็นการทุจริต ซึ่งคนนอกชุมชนอาจไม่เข้าใจความรู้สึกของคนในชุมชน พวกเขารู้ดีว่า กลุ่มไหนจะเข้ามาสร้างปัญหาให้ชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอิทธิพลในตัวจังหวัด พยายามชักจูงคนในหมู่บ้าน ทำให้ทางสภาลานวัดต้องประชุมหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

          อาตมาทราบมาว่า ที่ดินแปลงเดียวกันในป่าผืนนี้ มีเจ้าของเป็นสิบๆ คน มีการแย่งชิงผลประโยชน์ ทั้งๆ ที่เป็นป่าชุมชน แต่มีคนพยายามจับจอง ถ้าจะสร้างอ่างเก็บน้ำ ก็จะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ ไปพิสูจน์ได้เลยว่า ทุกคลองทุกฝายที่ทำขึ้นมา มีปัญหาทั้งนั้น ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ น้ำในคลองแห้ง อาตมาจึงเห็นว่าการทำคลองหรืออ่างเก็บน้ำไม่มีประโยชน์ในระยะยาว

          ปัจจุบันวิธีการจัดการน้ำของชุมชนกำลังมีปัญหา เพราะไม่มีการดึงภูมิปัญญามาใช้เพื่อเก็บรักษาน้ำ ซึ่งเรื่องนี้ชุมชนตะโหมดพยายามจะจัดการน้ำตามธรรมชาติ

          เท่าที่ผ่านมา ไม่ว่าหาดใหญ่ พัทลุง สงขลา ประสบปัญหาน้ำท่วม ต้องใช้เงินทุนไม่รู้กี่ล้านบาท ส่วนปัญหาการขาดน้ำในพื้นที่ต่างๆ อาตมามองว่าแก้ปัญหาไม่ถูกจุด มีการสร้างกระแสการขาดน้ำเพื่อสร้างระบบน้ำขนาดใหญ่ เพราะชุมชนไม่รู้วิธีจัดการน้ำ กลุ่มการเมืองก็พยายามแสวงหาผลประโยชน์จากงบส่วนนี้ พระครูกล่าวทิ้งท้าย

          เพื่อให้เห็นว่าวิธีการจัดการน้ำของหน่วยงานรัฐ ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชน และที่น่าเป็นห่วง ก็คือ การทำลายป่าเพื่อสร้างระบบชลประทานขนาดใหญ่.. .


หมายเหตุ :เว็บบ้านตะโหมด
หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
> นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :