สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ)
เหยื่ออธรรมผู้หาญกล้า คอลัมน์ มงคลข่าวสด
ข่าวสด วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๖ ปีที่ ๑๓ ฉบับที่ ๔๗๒๘ หน้า ๑
เป็นตำนานเล่าขานกันมากว่า ๔๐ ปีที่ฟังไม่มีเบื่อ ชีวิตการต่อสู้อันยิ่งใหญ่เพื่อความเป็นธรรมของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) ช้างเผือกเมืองขอนแก่น ลูกอีสานขนานแท้
จากสามัญขึ้นสู่สูงสุดและลงต่ำสุด เอาชีวิตเป็นเดิมพัน ฝ่าฟันอุปสรรคอันตราย ศัตรูทั้งการเมืองและวงการศาสนจักร จนแทบจะเอาชีวิตไม่รอด
แต่ก็ไม่ยอมพ่ายแพ้ ไม่ยอมละทิ้งอุดมคติ อุดมการณ์อันสูงส่ง ต่อสู้ด้วยอหิงสธรรมเฉกเช่นมหาตมะ คานธี และศรีเยาวหราล เนรูห์ ผู้นำยิ่งใหญ่ของอินเดีย
สมเด็จพระพุฒาจารย์ บุกเบิกและสร้างตำนานประวัติศาสตร์หน้าใหม่คณะสงฆ์ ทั้งด้านการปกครอง การศึกษา เผยแผ่
โดยเฉพาะการทุ่มเทแรงกาย และสติปัญญาให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแห่งคณะสงฆ์ไทย ฝ่ายมหานิกาย จนมีความเจริญรุ่งเรืองในปัจจุบัน ที่สามารถผลิตพระบัณฑิตที่มีความรู้และคุณธรรมตอบสนองศาสนจักรและอาณาจักรรุ่นแล้วรุ่นเล่า
ท่านเป็นยอดคนที่ทนอดและแข็งกล้า มุ่งมั่น อาจหาญ และเด็ดเดี่ยว ทุกวิถีแฝงเร้นด้วยความจริงใจเป็นที่ตั้ง พ้นจากคดีความใส่ร้ายรุนแรงจากรัฐบาลเผด็จการจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ข้อหามีการกระทำเป็นคอมมิวนิสต์
ต้องอธิกรณ์ว่ามีพฤติกรรมบ่อนทำลายชาติและพระศาสนา ถูกกล่าวหาว่าต้องอาบัติปาราชิก ช่วงสมัยดำรงสมณศักดิ์ที่พระพิมลธรรม ถูกอำนาจมืดถอดยศ ปลดจากเจ้าอาวาสกลางอากาศ ถลกจีวร แต่ท่านก็หาได้ทิ้งความอาจหาญลงไม่ กลับมีใจเข้มด้วยเมตตาจิต ไม่คิดร้าย
จนคดีความกระจ่างแจ้ง ดำรงตนอยู่อย่างองอาจ
นามเดิมท่านชื่อ "คำตา" ต่อมาเปลี่ยนเป็น "อาจ" ได้ถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๘ พ.ย. ๒๔๔๖ ตรงกับวันอาทิตย์แรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๒ ณ หมู่บ้านโต้น อ.เมือง จ.ขอนแก่น เป็นบุตรของโยมพ่อพิมพ์ โยมแม่แจ้ ดวงมาลา
อายุ ๑๔ ปีได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดศรีจันทร์ โดยมีเจ้าอธิการหน่อ เจ้าอาวาสวัดศรีจันทร์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พอบวชเสร็จก็ได้ร่ำเรียนอักษรลาว และอักษรไทยควบคู่กันไป โดยพระอาจารย์หนูเป็นครูสอน
ปีรุ่งขึ้น ทางราชการได้ประกาศให้พระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ที่มีความรู้ภาษาไทย ให้เข้าศึกษาอบรมวิชาครูที่โรงเรียนประจำจังหวัด ๑ ปี ท่านติดอันดับที่ ๔ ในจำนวนผู้สอบ ๗๐ กว่าคน และเป็นครูสอน ๓ ปี แล้วลาออกเพื่อมาศึกษาพระปริยัติธรรมในกรุงเทพฯ
ช่วงแรกได้มาพำนักที่วัดพระยายังแล้วย้ายไปอยู่วัดชนะสงคราม สมัครเรียนบาลี-นักธรรม ในมหาธาตุวิทยาลัย วัดมหาธาตุ แล้วย้ายมาอยู่วัดมหาธาตุในความปกครองของสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมไตรโลกาจารย์
ลุถึงปีพ.ศ. ๒๔๖๖ อุปสมบทเป็นพระ ณ พัทธสีมาวัดมหาธาตุ โดยมีสมเด็จพระวันรัต (เฮง) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า" อาสโภ" อันมีความหมายว่า ผู้กล้า,ผู้องอาจ
จากนั้นก็พยายามฝึกฝนตนเองอย่างเต็มที่เพื่อให้สายเลือดแห่งมหาธาตุวิทยาลัยเข้มข้น ทั้งบุคลิกลักษณะ ความประพฤติปฏิบัติ ความเคารพในระเบียบ และความขยันหมั่นเพียรอย่างจริงจัง จนสอบได้เปรียญธรรม ๘ ประโยค
เพียง ๑๒ พรรษาก็ได้รับโปรดเกล้าฯสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่"พระศรีสุธรรมมุนี" ก่อนขึ้นเป็นชั้นราชในราชทินนามเดิม ชั้นเทพที่"พระเทพเวที" ชั้นธรรมที่"พระธรรมไตรโลกาจารย์" และชั้นรองสมเด็จที่พระพิมลธรรมเมื่อปี ๒๔๙๒
ด้วยวัย ๔๖ ปี ๒๖ พรรษา เป็นพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏหรือรองสมเด็จที่อายุน้อยที่สุด และมีอำนาจการบริหารกิจการทางคณะสงฆ์สูง เป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง เทียบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ห้วงนี้ก็พ่วงตำแหน่งแม่กองธรรมสนามหลวง และองค์ทุติยสภามหาวิทยาลัยต่อจากพระอุปัชฌาย์ด้วย
ดวงของท่านยามนี้ถือว่ารุ่งสุดๆ แต่แล้วก็มาสะดุดเพราะความอิจฉาริษยาที่มีกลาดเกลื่อนในโลกนี้ ไม้เว้นแม้คนในผ้าเหลืองและคนศีลธรรมบกพร่อง
ดังข้อความที่ระบุไว้ในหนังสือ"ผจญมาร" ท่านกล่าวมูลเหตุที่ถูกจับกุมคุมขังว่า"การงานที่ ๓ ประการที่ข้าพเจ้าสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ คือ ๑. การส่งพระภิกษุนักเรียนพุทธศาสตรบัณฑิตไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ๒.ขอพระอาจารย์ชั้นธรรมาจาริยะจากประเทศพม่ามาให้ช่วยสอนพระอภิธรรมปิฎก ๓.ฟื้นฟูวิปัสสนาธุระ คือตั้งสำนักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานขึ้นที่วัดมหาธาตุเป็นแห่งแรก แล้วขยายไปเกือบทั่วประเทศ"
การงานทั้ง ๓ ประเภทนี้ไม่มีใครสร้าง จึงเป็นแรงจูงใจให้เกิดข้ออิจฉา กอปรกับท่านเป็นแม่กองธรรมสนามหลวงได้เปิดในต่างประเทศเป็นรูปแรก และเป็นพระธรรมทูตรูปแรกที่นำพระศาสนาไปเผยแผ่ต่างแดน ทั้งลาว กัมพูชา อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ อินเดีย พร้อมกันนั้นก็แลกเปลี่ยนการเผยแพร่ศีลธรรมกับคณะฟื้นฟูศีลธรรมระดับโลก ชื่อย่อ เอ็มอาร์เอ และเดินทางไปทำฉัฏฐสังคายนาที่ประเทศพม่า สมัยฯพณฯ อูนุ เป็นนายกรัฐมนตรี จนได้รับแต่งตั้งเป็นอัครมหาบัณฑิต เป็นองค์แรกของประเทศไทย
มูลเหตุที่กล่าวมาเป็นเหตุให้รัฐบาลเผด็จการยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พร้อมกับแรงยุของพระผู้ใหญ่บางรูป กล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จับกุมคุมขัง ถูกปลดจากตำแหน่ง ถอดจากสมณศักดิ์ ใช้ชีวิตนุ่งขาวห่มขาวในห้องขังบริเวณกรมตำรวจนานถึง ๕ ปี ระหว่างปีพ.ศ. ๒๕๐๕-๒๕๐๙
ตลอดเวลาที่ถูกคุมขัง ท่านยังรักษาความเป็นพระไว้อย่างเคร่งครัด เอาสถานที่คุมขังของตำรวจสันติบาลต่างอาราม จนกระทั่งกลับคืนสู่สมณเพศได้อย่างสง่างามและหมดจด
แล้วก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ และมรณภาพด้วยโรคหัวใจล้มเหลวเมื่อวันที่ ๘ ธ.ค. ๒๕๓๒ รวมสิริอายุ ๘๖ ปี ๖๖ พรรษา
วิถีชีวิตของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ) ท่านผ่านโลกธรรม ๘ ขึ้นสูงสุดและลงต่ำสุด แล้วกลับสง่างาม ไร้มลทิน อีกครั้ง ท่ามกลางเสียงร่ำไห้ด้วยความตื้นตันใจและสาธุการจากสงฆ์ผู้ภักดี เพราะความเข้มแข็งและบรรลุสัจธรรมอันมาดมั่น
แม้จะละสังขารไปนานแล้ว แต่คุณงามความดีที่จีรังยังคงอยู่ และเรื่องราวการต่อสู้เพื่อความถูกต้อง ยังเข้มในความทรงจำของชาวเลือดสีชมพูอีกนานแสนนาน สมชื่อ "อาจ"
ที่องอาจ อาจหาญกล้า สง่างามในธรรมจนวินาทีสุดท้าย
ห้วงวันที่ ๘-๑๐ พ.ย. ๒๕๔๖ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ร่วมกันจัดงาน ๑๐๐ ปีชาตกาลขึ้นที่บริเวณลานอโศก วัดมหาธาตุ เพื่อรำลึกถึงคุณูปการอันใหญ่หลวงที่ท่านฝากไว้ในวงการสงฆ์
เชิญศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนไปร่วมรำลึกกันอีกวาระหนึ่ง ..
บทความเกี่ยวข้อง ... พระพิมลธรรมผจญมาร : อำนาจและความชอบธรรมในสถาบันสงฆ์?
|