เสขิยธรรม -
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

ยกเครื่องการศึกษาพระ-เณร
คลอดกฎกระทรวง-ปฏิรูปใหญ่

คอลัมน์ รายงานพิเศษ
นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๖ ปีที่ ๑๓ ฉบับที่ ๔๕๓๑ หน้า ๒๔

          ในเร็ว ๆ นี้ กฎกระทรวงว่าด้วยการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของสถาบันพระพุทธศาสนา จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองกระทรวงศึกษาธิการชุดที่ ๒ ซึ่งมีนายจำลอง ครุฑขุนทด ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ก่อนที่จะชงเรื่องเข้า ครม.ต่อไป

          ทั้งนี้ได้ผ่านการพิจารณาปรับปรุงจากคณะกรรมการการศึกษาระดับหัวกะทิของสงฆ์ ซึ่งมีพระธรรมวโรดม พระธรรมกิตติวงศ์ ครูสอนป.ธ. ๙ พระธรรมโมลี รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ พระธรรมวรเมธี เลขานุการแม่กองธรรมสนามหลวง พระเทพมุนี เลขานุการแม่กองบาลีสนามหลวง พระเทพโสภณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ ไปเมื่อต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมตึกเมตตาพุทธิ วัดปากน้ำภาษีเจริญ

          กฎกระทรวงดังกล่าวนี้มีความสำคัญต่อคณะสงฆ์ไม่ยิ่งหย่อนกว่าพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พระผู้ใหญ่ระดับสมเด็จ รองสมเด็จ ชั้นธรรม ชั้นเทพที่มีชื่อเสียงหลายรูปออกโรงเร่งปั่นงานนี้ให้ลุล่วงโดยเร็ว กะให้ทันใช้ปีการศึกษา ๒๕๔๖ ซึ่งจะเปิดเทอมในเดือนพ.ค.นี้

          หลังจากเกิดพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนดการศึกษาขั้นพื้นฐานไว้ที่ ๙ ปี คือ ตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ ๑-๖ และมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๓ ทำให้เด็กอายุระหว่าง ๑๒-๑๕ ปี ที่เคยโกนหัวบวชเรียนต้องลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย จากการประเมินเด็กที่บวชภาคฤดูร้อนปีละประมาณ ๒ แสนคนจะอยู่ในผ้าเหลืองไม่ถึง ๒ หมื่น ยิ่งพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติยืดการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็น ๙ ปี

          คณะสงฆ์ต้องระส่ำ เพราะ ๑.จำนวนประชากรสงฆ์ซึ่งมีประมาณ ๓ แสนกว่ารูป ๓ หมื่นกว่าวัด ไม่รวมวัดร้างอีก ๕-๖ พันวัดที่ยังไม่มีเจ้าสำนัก จะลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย

          ๒.สามเณรที่จบ ป.ธ. ๙ คงไม่มีให้ชื่นชมอีกต่อไป เพราะเด็กจะบวชได้อายุจะเลย ๑๕ ปี ซึ่งจะทำให้จำนวนสามเณรนาคหลวงที่มีอายุเฉลี่ยราว ๒๐ ปี สูงกว่านี้ก็ ๒๒ ปี ต้องลดจำนวนลงแทบไม่มีเลย และ

          ๓.ผู้สืบศาสนทายาทรุ่นต่อไปจะเป็นอย่างไร จำเพาะเวลานี้วัดต่างๆ มีแต่พระหลวงตาเป็นเสาหลัก แทบไม่รู้หลักธรรมของศาสนาเลย แล้วจะเสี้ยมสอนญาติโยมได้อย่างไร

          ทั้ง ๓ ประเด็นนี้เป็นเรื่องหนักใจที่พระผู้ใหญ่กุมขมับ และพยายามหาวิธีแก้ไขมานาน ยิ่งเวลานี้ใกล้จะเปิดเทอม ปัญหาเริ่มส่อเค้าวุ่น เมื่อผู้บริหารโรงเรียนบางแห่ง แจ้งแกมข่มขู่ผู้ปกครองนักเรียน มิให้นำเด็กไปบวชเรียน โดยอ้างว่าผิดกฎกระทรวง พระผู้ใหญ่ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติรับเผือกร้อนไปเต็มๆ

          ทั้งที่ความจริงมิได้ผิดกฎหมายแม้แต่น้อย ลำพังคณะสงฆ์ได้เปิดโอกาสให้เด็กได้บวชเรียนทั้งสายนักธรรม บาลี และปริยัติสามัญ ม.๑-๖ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย บางวัดมีทุนการศึกษา ส่งเรียนถึงปริญญาตรี-โทให้อีก ซึ่งส่งผลให้ผู้ปกครองที่อยากจะส่งบุตรหลานเข้าเรียนโรงเรียนวัด ต้องแขวนชะตากรรมเด็กไว้ จำยอมส่งเรียนต่อโรงเรียนเดิมโดยที่ไม่มีเงินส่งเรียน ซึ่งหนักใจเป็นที่สุด ชนิดกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก

          สำหรับกฎกระทรวง ว่าด้วยการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของสถาบันพระพุทธศาสนา ที่จะนำออกใช้ในปีการศึกษานี้ มีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจ เช่น ข้อ ๓ ให้การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกนักธรรม แผนกบาลี ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการการศึกษาของสงฆ์ และการศึกษาปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานของสถาบันพระพุทธศาสนา และ

          ข้อที่ ๕ ให้แบ่งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานตามข้อ ๓ เป็นสองระดับ คือ ให้การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม (นักธรรมตรี-โท-เอก) และแผนกสามัญ (ม.๑-๓) เป็นการศึกษามัธยมศึกษาตอนต้น ให้แผนกบาลี ชั้นประโยค ๑-๒, เปรียญธรรม ๓ ประโยค และแผนกสามัญ (ม. ๔ - ๖ เป็นการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งนี้ให้ผู้สำเร็จการศึกษาดังกล่าวมีสิทธิศึกษาแผนกบาลีได้ โดยให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของมหาเถรสมาคม และให้เขตพื้นที่การศึกษาส่งเสริมสนับสนุนอีกด้วย

          นอกจากนี้ยังกำหนดเรื่องการดำเนินกิจการของสถานศึกษา หลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การวัดผลประเมินผล และมาตรฐานการศึกษา เป็นไปตามอำนาจหน้าที่คณะกรรมการการศึกษาสงฆ์ กำหนดตามอำนาจหน้าที่ ว่าด้วยวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา อนุโลมตามพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติอีกด้วย

          สำหรับคณะกรรมการการศึกษาสงฆ์นั้น มีมหาเถรสมาคมรูปหนึ่งเป็นประธานกรรมการ แม่กองบาลีสนามหลวง แม่กองธรรมสนามหลวง อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์ เลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ผู้แทนกลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญไม่เกิน ๑๕ รูป เป็นกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกิน ๖ รูป/คน เป็นกรรมการ ให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ มีวาระในตำแหน่งคราวละ ๔ ปี มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนการจัดการศึกษา เห็นชอบหลักสูตร ฯลฯ

          ซึ่งเมื่อกฎออกมาอย่างนี้ เท่ากับแก้ปัญหาตรงจุดและถูกจุด จากนี้ไปจำนวนประชากรสงฆ์คงไม่ลด แถมมีเณรเปรียญ ๙ ให้ชื่นชมอีกนาน .. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
> นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :